เกิร์ลครัช เฟี๊ยส สาวไม่กลัว มั่นใจในตัวเอง กลายเป็นคอนเซ็ปต์สุดฮอตของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีในปัจจุบัน
ซึ่งนอกจากคอนเซ็ปต์ที่เป็นสาวมั่นใจ สาวเท่ เชิดใส่ผู้ชายแล้ว เนื้อเพลงของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลียังการพูดถึงการประเด็นเฟมินิสต์ หรือ empowering ผู้หญิงด้วยกัน เปลี่ยนจากยุคหนึ่งที่เกิร์ลกรุ๊ปขายแต่ภาพลักษณ์เพียงเซ็กซี่ หรือถูกมองว่าเป็นเพียง sex object
เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีมีพื้นที่ และพูดถึงการ empower ผู้หญิงด้วยกันอย่างไร เนื้อเพลง หรือภาพลักษณ์ของเกิร์ลกรุ๊ปเปลี่ยนไปแบบไหน และปรากฎการณ์นี้ ช่วงส่งเสริมผู้หญิง ไอดอล และแฟนคลับอย่างไร ในสังคมปิตาธิปไตยของเกาหลี บทความนี้จะชวนไปดูกัน
เกาหลีใต้เป็นสังคมที่ขึ้นชื่อถึงความเป็นปิตาธิปไตย ซึ่งในวงการไอดอลนั้น ก็หนีไม่พ้นที่จะมีประเด็นเหล่านี้ ไปจนถึงการเปรียบเทียบเกิร์ลกรุ๊ป กับบอยกรุ๊ป ทั้งในเชิงคอนเซ็ปต์ เนื้อเพลง ไปถึงท่าเต้น ทำให้ภาพลักษณ์ของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีในสมัยก่อนนั้น ในบางครั้งถูกมองว่า Disempowering ความเป็นผู้หญิงด้วยกันเอง
บทความของโจนาซ ลิซ (Jonas Liz) เรื่อง Crafted for the Male Gaze: Gender Discrimination in the K-Pop Industry ในวารสาร Journal of International Women’s Studies ปี 2021 วิเคราะห์ถึงความไม่เท่าเทียม และความแตกต่างที่ต้องเผชิญระหว่างวงไอดอลชาย และวงไอดอลหญิงว่า วงไอดอลหญิง มักต้องมีท่าเต้นที่ยั่วบด เช่น สัมผัสหน้าอก เอว บั้นท้าย ส่ายสะโพกกับกล้อง หรือมีท่าคลานไปรอบๆ เวที ในขณะที่ไอดอลชายมักมีการผสมผสานการแสดงผาดโผน การตีลังกา และบีบอย (แม้แต่การเต้นด้วยอาวุธ) โดยบทความถึงกับระบุว่า เป็นโอกาสยากและน้อยมากที่เกิร์ลกรุ๊ปจะสามารถแสดงตัวตน หรือแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาได้อย่างอิสระผ่านเพลงและการแสดง
ผู้เขียนยังวิเคราะห์อีกว่า การสร้างภาพลักษณ์ของเกิร์ลกรุ๊ปในวงการ K-POP ในยุคที่ผ่านๆ มา คือฐานะแฟนสาว ‘ในอุดมคติ’ ที่สามารถตีตลาดกับฐานแฟนคลับชาย และดึงดูดฐานแฟนคลับหญิงที่สามารถเลียนแบบรูปลักษณ์และการกระทำของเหล่าไอดอลเพื่อดึงดูดคู่ชาย ในทำนองเดียวกัน
นอกจากนี้ ในปี 2013 นักเขียนบทความ คิมซูยอง (Kim SooYoung) ยังได้วิเคราะห์ถึงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี ที่จริงๆ แล้วมีการ ลดอำนาจความเป็นผู้หญิงด้วยกันในเนื้อเพลง อย่างเช่น เพลง Gee (2009) หรือ I Got a Boy (2013) ที่เนื้อเพลงได้ลดทอนอำนาจของผู้หญิงในการแสวงหาความสัมพันธ์ โดยชี้ให้พวกเธออยู่กับผู้ชายเพื่อให้ได้รับความสนใจ ซูยองกล่าวว่า Gee มีการพูดถึง “เด็กสาวที่ไร้เดียงสาที่สุดที่โง่เขลาเพื่อดึงดูดคู่ชีวิต” ในขณะที่พวกเขาพูดประโยคซ้ำๆ ว่า “ฉันควรทำอย่างไร” “คนโง่” และ “ฉันไม่รู้” หรือ I Got a Boy ที่พูดซ้ำๆ ว่า Got a boy ซึ่งไม่เพียงแค่ 2 เพลงนี้ แต่ยังมีอีกๆ หลายๆ เพลงที่มีเนื้อหาเช่น การแต่งตัวสวย มั่นใจ แต่ต้องทำให้เป็นที่สนใจของผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายตกหลุมรัก
ซึ่งในส่วนนี้ ซูยองได้มองว่าเนื้อเพลงของ “ศิลปิน K-POP หญิงมักหันไปหาผู้ชายเพื่อที่จะได้รับความสนใจ ไม่ว่าพวกเธอจะร้องเพลงเกี่ยวกับรักครั้งแรก การเลิกรา การกลับไปหาผู้ชายที่นอกใจ หรือการหาคนใหม่ เพลงที่พยายามนำเสนอภาพ ‘ผู้หญิงที่เข้มแข็ง’ มักจะกลับไปกลายเป็นผู้หญิงที่อยู่ใต้บังคับบัญชาแทน”
ถึงอย่างนั้น แม้สิ่งที่ทั้งสองบทความนี้ สะท้อนถึงสังคมวัฒนธรรมไอดอลเกาหลีจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ยุคไอดอลเจน 2 (ไอดอลที่เดบิวต์ช่วงประมาณปี 2000-2012) ก็มีไอดอลที่มีคอนเซ็ปต์ และเนื้อเพลงที่ empowering ผู้หญิงมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น I am the best (2011) ของ 2NE1 ที่มีเนื้อเพลงมั่นใจว่าฉันเลิศกว่าใคร หรือ Miss A กับเพลง I don’t need a man (2011) หรือเพลง Female President (2013) ของ Girl’s day หรืออย่าง Girl’s generation เอง กับเพลงเดบิวต์ Into the the new world (2007) ที่กลายเป็นเพลงขับเคลื่อนทางการเมือง ประชาธิปไตย และเพศในหลายๆ การชุมนุม ไม่เพียงแค่ในเกาหลีใต้ด้วย
แต่แม้จะพอมีเพลงที่ขับเคลื่อน empowering ผู้หญิงด้วยกัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปในยุคก่อนนั้น ไม่มีอำนาจในการวางคอนเซ็ปต์ของวง อัลบั้ม มีส่วนในการแต่งเนื้อเพลงอย่างเกิร์ลกรุ๊ปในยุคนี้ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ที่ ลิซเคยมองว่า เป็นเรื่องยากที่วงผู้หญิง จะพูดถึงมุมมองของพวกเธอ รวมถึงได้เล่าถึงความเป็นผู้หญิงและตัวเองได้อย่างอิสระนั้น มีให้เห็นมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงเท้านั้นคอนเซ็ปต์ ไอเดีย เหล่านี้ก็เป็นการดึงฐานแฟนคลับผู้หญิงด้วยกัน เปลี่ยนมามองไอดอลเหล่านี้มากกว่าเรื่องเพศ แต่มองว่าไอดอลเหล่านี้เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง มีอำนาจ และสะท้อนว่าผู้หญิงด้วยกันนั้นแข็งแกร่งและมีอำนาจเหมือนกับไอดอลของเธอ เห็นได้ชัดที่เนื้อเพลงของวงเกิร์ลกรุ๊ปบางวงกำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงโดยการจัดการกับสายตาของผู้ชายโดยตรง และท้าทายค่านิยมแบบปิตาธิปไตยที่นิยามสังคมเกาหลีใต้มาโดยตลอด
วงที่ทำให้เห็นได้ชัดถึงคอนเซ็ปต์เกิร์ลครัช และการ empowering คือ (G)I-DLE ตั้งแต่การคัมแบ็กของ Tomboy (2022) ที่มีเนื้อหาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นอิสระ กล้าหาญ และละทิ้งความสัมพันธ์ต่างเพศที่เป็นพิษ ซึ่งมีการศึกษาที่จริงจังว่า ไม่ว่าจะมิวสิควิดีโอ เนื้อเพลง และคอนเซ็ปต์ของ (G)I-DLE ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึง Feminist มุ่งเน้นไปที่การเสริมอำนาจร่วมกันของผู้หญิงและความเป็นพี่น้องกันที่ต่อต้านระบอบปิตาธิปไตย ในการคัมแบ็กต่อมา (G)I-DLE ก็ยังปังต่อเนื่อง กับเพลง ‘Nxde’ (2022) ที่เนื้อเพลงยืนหยัดต่อต้านการที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นวัตถุ และเรียกคำว่า ‘นู้ด’ กลับคืนมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความมั่นใจและไม่แคร์แม้ว่าใครจะมอง หรือตัดสินอย่างไร
ไปจนถึงคัมแบ็กล่าสุดของ Queencard (2023) ที่พูดถึงการรักตัวเอง ชื่นชมรูปร่างหน้าตาของตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น และขอให้มั่นใจในตัวเองเหมือนกับตัวเองเป็นไพ่ควีน ซึ่งแน่นอนว่า จอนโซยอน (Jeon SoYeon) หัวหน้าวง (G)I-DLE มีส่วนอย่างมากในการโปรดิวซ์ วางคอนเซ็ปต์ และแต่งเพลงออกมา จึงทำให้ (G)I-DLE สามารถมีคอนเซ็ปต์ empowering ผู้หญิงที่แข็งแรงได้ขนาดนี้
นอกจาก (G)I-DLE แล้ว ก็ยังมี MAMAMOO ที่ชัดเจนไม่ว่าจะเนื้อเพลงที่แสดงความแข็งแกร่งของผู้หญิง และในการแสดงออกของสมาชิกวง ไม่ว่าจะเป็นบนเวที ในไลฟ์ หรือในรายการต่างๆ ที่ต่างพูดถึงการท้าทายบิวตี้แสตนดาร์ดของผู้หญิงในสังคม หรือแม้ว่าจะออกโซโล่แล้ว ก็ยังคงเน้นถึงการให้กำลังใจเพื่อนหญิงพลังหญิง เช่น เพลง Maria (2020) ของฮวาซา ที่พูดถึงว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นพอใจเพราะพวกเธอสวยอยู่แล้ว
และกระตุ้นให้พวกเขารักตัวเองอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงใส่ใจกับผู้ที่ต้องการทำลายพวกเขาให้น้อยลง
ไอดอลวงอื่นๆ เอง แม้จะไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เกิร์ลครัช หรือแสดงภาพของเฟมินิสต์ที่ชัดเจนแต่เนื้อเพลง ต่างก็พูดถึงคุณค่าของการเป็นตัวเอง และมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น LE SSERAFIM ที่มีภาพลุคของวงเป็นสาวเท่ สาวไม่กลัว สาวมั่นใจ โดยอัลบั้ม Unforgiven ล่าสุด ก็เห็นได้ชัดว่า สมาชิกวงมีส่วนในการทำเพลงและวางคอนเซ็ปต์ของวง
โดยฮอ ยุนจิน (Huh YunJin) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเพลง Unforgiven (2023) รวมถึงอัลบั้มนี้ว่า “เราต้องการสร้างพลังให้ผู้คนเดินไปตามทางของตัวเอง แม้ว่าคุณอาจกลายเป็นวายร้ายในสายตาคนอื่นก็ตาม เราจะเดินตามทางของเราเองและทำในสิ่งที่เราต้องการ และเราไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากใคร” ทั้งในเพลงไตเติ้ลที่ผ่านๆ มาของ LE SSERAFIM ไม่ว่าจะเป็น ‘Fearless’ (2022) และ ‘Antifragile’ (2022) ต่างก็แสดงภาพผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ที่มุ่งมั่น และไม่ยอมลดทอนคุณค่าของตัวเอง และบอกว่า พวกเธอสามารถส่งเสียง และมีเสียงที่ดังขึ้นได้ในสังคม
หรือไม่ว่าจะเป็นวง aespa ที่มักถูกเรียกว่านักรบสาวกวังยา จากคอนเซ็ปต์กวังยา ยูนิเวิร์สของค่าย SM Entertainmet แต่เมื่ออัลบั้มออกจากจักรวาลกวังยาแล้ว Aeapa ก็แสดงภาพลักษณ์คอนเซ็ปต์ของสาวแซ่บ สาวเผ็ดร้อน และมั่นใจตัวเอง อย่างเนื้อเพลง Spicy (2023) ที่บอกว่า ‘Cause I am a ten out of ten honestly’ หรือย่าง IVE กับเพลง I AM (2023) ก็พูดถึงการเดินในเส้นทางของตัวเอง และจะส่องประกาย เป็นตัวของตัวเอง
เกิร์ลครัช เพื่อส่งเสริม หรือการตลาด ?
เกิร์ลครัช สาวเท่ เสริมความมั่นใจนั้น แม้จะเป็นเทรนด์ที่ดูทำให้ผู้หญิงมีพื้นที่ และได้พูดเสริมสร้างพลังให้ผู้หญิงด้วยกัน แต่ในมุมหนึ่ง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เทรนด์เหล่านั้น ในมุมหนึ่งเป็นการตลาดที่ดึงแฟนคลับผู้หญิงด้วยกัน มีข้อจำกัด และปกป้องสถานะปิตาธิปไตยที่เป็นอยู่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศที่เป็นรากฐานของอุตสาหกรรม K-POP ด้วย
Aja Romano ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมแฟนด้อมนีกเขียนของเว็บไซต์ Vox เอง ก็มองว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดในวงการ K-POP คือแฟนคลับผู้หญิงมีกำลังซื้อมากกว่าแฟนคลับผู้ชาย “เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่วัฒนธรรมป๊อปและผู้ผลิตสื่อทั่วโลกกำลังพูดว่า ‘เดี๋ยวก่อน ทำไมเราไม่ทำสิ่งที่ผู้หญิงชอบและปล่อยให้พวกเขาใช้เงินกับสิ่งที่พวกเขาชอบ’”
ซึ่งมุมมองของเธอ ก็ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่ มิน ฮีจิน (Min HeeJin) ผู้อยู่เบื้องหลังค่าย ADOR และผู้ปั้นเกิร์ลกรุ๊ป NEWJEANS ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Unanswered ของ SBS Korea ขณะที่เธอยังอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการ Visual & Art ของค่าย SM Entertainment ว่า “เป้าหมายหลักของเราไม่ใช่ผู้ชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น 20 หรือ 30 ปี ฐานแฟนคลับผู้ชายจะติดตามไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยรวมแล้ว เป้าหมายหลักของเราคือผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นและวัยยี่สิบ เพื่อให้ได้รับความสนใจ เราจึงสร้างภาพลักษณ์ที่มั่นใจและทันสมัยให้กับเกิร์ลกรุ๊ปของเรา”
ทั้งในช่วงที่ผ่านมา ที่เกิร์ลกรุ๊ปปล่อยเพลงที่ empowering ความเป็นตัวตน และความสวยในแบบของตัวเอง และเมื่อเรามีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนผู้หญิงชาวเกาหลี ถึงพัฒนาการของเนื้อเพลงในเกิร์ลกรุ๊ปนี้ แต่เพื่อนเกาหลีก็กลับตอบว่า เป็นเรื่องจริงที่เพลงเหล่านี้ดูจะเสริมสร้างความเป็นเฟมินิสต์ และความมั่นใจให้ผู้หญิง “แต่ดูไอดอลพวกนี้สิ สุดท้ายแล้วก็ต้องสวย ผอม และเป็นไอดอลที่อยู่ในบิวตี้แสตนดาร์ดของวงการเคป๊อปอยู่ดี มันก็เลยออกจะย้อนแย้งนิดๆ หน่อยเหมือนกัน” ความเห็นจากเพื่อนชาวเกาหลี
แต่สุดท้ายแล้ว แม้จะมองว่าเป็นคอนเซ็ปต์ หรือการตลาด แต่ตัวผู้เขียนก็มองว่า สังคม โดยเฉพาะทั้งแฟนคลับ และศิลปิน ต่างก็ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กันมากขึ้น เห็นได้จากการที่เมื่อมีเนื้อเพลง disempowering ผู้หญิงกันออกมาในปัจจุบันนี้ แฟนคลับ และผู้ฟัง ก็พร้อมที่จะวิจารณ์ และพูดถึงปัญหาของมัน เช่น เพลง Step back (2022) ของ GOT the Beat โปรเจ็กต์รวมเกิร์ลกรุ๊ปของ SM Entertainment ที่มีเนื้อหาวางผู้ชายไว้เป็นศูนย์กลาง ลดทอนผู้หญิงด้วยกัน โดยเตือนผู้หญิงให้ถอยออกไป อย่ายุ่งกับผู้ชายของเธอ และยกชูว่าผู้ชายสูงส่งกว่าผู้หญิงอีกคน
ไปถึงการวิเคราะห์ในบทความของ Billboard ในปี 2018 ที่พูดถึงคอนเซ็ปต์เกิร์ลครัชว่า ‘เฟมินิสต์’ เป็นเหมือนข้อห้ามในวงการเคป๊อปที่ปราศจากการเมือง และธีมการ empowering women และเนื้อเพลงที่มีความเป็นเฟมินิสต์จะหายไป เพราะอุตสาหกรรมนี้จะพยายามหลีกเลี่ยงความเป็นการเมือง
แต่โดยเฉพาะในปี 2022-2023 นี้ เราก็เห็นชัดแล้วว่า แนวเพลง และเนื้อเพลงที่ส่งเสริมผู้หญิง และเฟมินิสต์นั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางสังคมการเมืองเกาหลี ที่กระแสต่อต้านเฟมินิสต์รุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด เพลงของเกิร์ลกรุ๊ปเหล่านี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านว่า ชาวเกาหลีฟังเพลงเกิร์ลกรุ๊ปเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการติดชาร์ตเพลงต่างๆ และการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ความนิยมในตัววง ลดน้อยลงไปเลย รวมไปถึงเพลงเหล่านี้ ยังเป็นที่นิยมในการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนประเด็นทางเพศ และสังคมต่างๆ เช่น Pride parade ในเกาหลีด้วย
จึงอาจมองได้ว่า แม้จะเป็นการตลาดใดๆ แต่วงการเพลง K-POP และภาพลักษณ์ของเกิร์ลกรุ๊ปในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้วไม่มากก็น้อย และภาพลักษณ์สาวแกร่ง เพื่อนหญิงพลังหญิงนี้ จะยังคงอยู่ต่อไป และส่งผลเอฟเฟกต์มากน้อยอย่างไร ต่อสังคมปิตาธิปไตยในเกาหลี ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
Jonas, Liz (2021). Crafted for the Male Gaze: Gender Discrimination in the K-Pop Industry. Journal of International Women’s Studies, 22(7), 3-18.
Qingyue Sun, Dacia Paje’ & Hyunmin Lee (2022) “Female empowerment is being commercialized”: online reception of girl crush trend among feminist K-pop fans, Feminist Media Studies, DOI: 10.1080/14680777.2022.2154820