เรื่องโป๊, โสเภณี, และหญิงขายบริการ เป็นเรื่องที่แวะเวียนเข้ามาบนหน้าข่าวสารของสังคมไทยอยู่บ่อยๆ เร็วๆ นี้มีการแชร์ข่าวสถานบริการอันเป็นความลับแห่งวิกตอเรีย ความสนใจเรื่องโสเภณีก็เลยกลับมาทวงพื้นที่บนโลกออนไลน์อีกครั้ง
ไม่อยากจะอวด.. แต่ว่าผมบังเอิ๊ญเป็น ‘ผู้บ่าวสายตาเลาะ’ ที่สืบค้นประเด็นปัญหาค้าบริการทางเพศในประวัติศาสตร์และวรรณกรรมมาแล้วจนตาแฉะ (ภูมิใจนิดๆล่ะนะ) ก็เลยอยากจะมาโม้ เอ้ย เล่าให้ฟัง ผมขอพา ‘วาร์ป’ ย้อนเวลาไปสู่ประเทศสยามปลายทศวรรษ 2470 เพื่อไปทำความรู้จักงานเขียนชีวประวัติโสเภณีในยุคแรกๆของไทยซึ่งตอนนั้นได้ถูกจัดเป็น ‘เรื่องโป๊’ กัน
ยุคแห่ง ‘เสริณี’ ปลายทศวรรษ 2470
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นักอ่านชาวสยามมีโอกาสสัมผัสงานเขียนประเภทหนึ่งซึ่งโดดเด่นขึ้นมา คือ ‘ความเรียงคำสารภาพของโสเภณี’ ครับ
ท่ามกลางกลิ่นอายบรรยากาศประชาธิปไตยใส่น้ำหอมฝรั่งเศสขณะนั้น หลายต่อหลายใครเชื่อกันว่าจะส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงถูกยกสถานะจนเริ่มมีบทบาททางสังคม ดังกรณีที่พวกเธอมีสิทธิ์เลือกตั้งและสามารถลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร (เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกสุดของไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2476 โน่นล่ะ ส่วนการได้เข้าคูหากาบัตรครั้งถัดไป มิอาจล่วงรู้ว่าเมื่อไหร่ คงต้องถามผู้เชี่ยวชาญทางด้านญาณทิพย์ล่ะมั้ง)
ครั้นพอมองไปยังแวดวงน้ำหมึกในยุคเดียวกัน ก็ปรากฏผู้หญิงที่เป็นเจ้าของหรือบรรณาธิการหนังสือและนิตยสารฉบับต่างๆ
ความสลักสำคัญของสตรีดูเหมือนจะค่อยๆ พรั่งพรู มิเว้นกระทั่งสตรีกลุ่มที่เคยถูกตราหน้าในนาม ‘หญิงคนชั่ว’ พวกเธอได้ชื่อไพเราะเพราะพริ้งไว้เรียกขานใหม่ว่า ‘เสริณี’ หรือหญิงผู้ถือเสรีภาพ ทั้งๆ ที่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โสเภณีถูกเหยียดหยามผ่านถ้อยคำสารพัด ตั้งแต่ ‘หญิงโคมเขียว’, ‘นางโคจร’, ‘ตัวกามโรค’ ไปจนถึง ‘หญิงงามเมือง’ แม้คำหลังสุดจะฟังเสนาะหู หากเปี่ยมล้นน้ำเสียงเชิงประณามทำนองต่อให้เป็นหญิงงาม ก็งามสำหรับปรนเปรอกามารมณ์แก่ผู้ชายทั้งเมือง
จริงอยู่ มีอีกหลายถ้อยคำใช้เรียกโสเภณี ดูเหมือนคำหนึ่งที่แว่วยินกันจวบปัจจุบันย่อมมิพ้น ‘กะหรี่’ ใครหลายคนคงล่วงรู้ถึงที่มาแล้ว เดิมทีมีถ้อยคำแบบแขกๆ อย่าง ‘โฉกกฬี’ หรือ ‘ช็อกกะรี’ ซึ่งแปลว่าผู้หญิง จนเรียกเพี้ยนมาเป็น ‘กะหรี่’ แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือการใช้ ‘กะหรี่’ เรียกแทนโสเภณีนั้นเพิ่งจะแพร่หลายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ช่วงนั้น แขกชาวอินเดียเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมาก พวกเขาเรียกขานผู้หญิงด้วยถ้อยคำแบบแขกๆ เรียกไปเรียกมาคนไทยฟังได้แบบกร่อนคำ ‘ช็อกกะรี’ เลยเหลือเพียง ‘กะหรี่’
ผมเองยังมีอีกข้อสังเกต พร้อมทั้งระริกระรี้อยากจะบอกต่อ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มักพบเห็นหนังสือนำเสนอพฤติกรรมทางเพศของแขกอินเดียผู้ไปเที่ยวโสเภณีอยู่ด้วย เป็นไปได้ไหมครับว่า คำเรียกผู้หญิงแบบแขกๆ พัวพันกับผู้หญิงค้าบริการทางเพศ ก็เพราะอย่างนี้
วกกลับมายัง ‘เสริณี’ ดีกว่าครับ การที่โสเภณีกลายเป็นหญิงผู้มีเสรีภาพช่วงปลายทศวรรษ 2470 นั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์อธิบายว่า “...เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ทำให้ทัศนะที่มีต่อพวกเธอเปลี่ยนไปตามเสรีภาพที่จะท่องเที่ยวไป (หรือตุหรัดตุเหร่ไปก็ตามแต่) กลายเป็นคำว่า ‘หญิงคนเที่ยว’ ครอบคลุมทั้งตัวเธอและลูกค้า คือเธอก็เที่ยวหาทำเลไปคอยรับรองสนองความต้องการของคนที่ไปเที่ยว” สอดคล้องกับลักษณะวิธีทำมาหากินของโสเภณีสมัยนั้นที่พวกเธอมิได้ทำงานประจำยึดโยงอยู่เพียงในซ่อง กลับสัญจรเตร็ดเตร่ไปตามถนนหนทาง
“I เขียน Letter ถึงเธอ Dear John เขียนใน Flat ที่ you เคยนอน จังหวัดอุดร ประเทศ Thailand…” เพลงนี้หลายคนรู้จักในชื่อ ‘จดหมายจากเมียเช่า’ ที่ยกมาเพื่อจะแนะนำว่า อาจินต์ ปัญจพรรค์ซึ่งผมได้เอ่ยอ้างถึงเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง
‘ความเรียงคำสารภาพของโสเภณี’ นับเป็นเครื่องสะท้อนเสรีภาพในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่เคยถูกเดียดฉันท์ อย่างน้อย พวกเธอก็สามารถส่งเสียงไปสู่ผู้อ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ได้ จากเดิมที่มักจะถูกพาดพิงด้วยข่าวคราวทางลบเสมอๆ เฉกเช่นหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เสนอถ้อยความทำนอง ‘ตัวกามโรคเที่ยวพลุกพล่านตามโรงหนัง’ แม้ความเรียงประเภทข้างต้นจะแพร่หลายยิ่งนักช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2476 ทำให้แม่สาวขายร่างมีพื้นที่แสดงออกบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ถูกสายตาทางสังคมจัดให้อยู่ในข่าย ‘หนังสือโป๊’ ซึ่งอันที่จริงพ้องเข้ากับความเป็นมาตามรากศัพท์เดิมในภาษากรีกโบราณของคำว่า ‘pornography’
‘porne’ หมายถึงโสเภณี ส่วน ‘graphos’ หมายถึงการเขียน ดังนั้น ‘pornographos’ จึงเป็นงานเขียนบรรยายเรื่องราวของโสเภณี
ว่าด้วยเสียงโสเภณีที่ส่งผ่านสื่อสิ่งพิมพ์
หมุดหมายแรกสุดของงานเขียนเรื่องชีวิตโสเภณี ได้แก่นวนิยาย ‘หญิงคนชั่ว’ ผลงานของ ก.สุรางคนางค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2480 นั่นคือความเชื่ออันเหนียวแน่นยิ่งกว่าข้าวเหนียวจุ่มลาบเป็ดในแวดวงวรรณกรรมไทยมาตลอด หากแต่ว่าพบหลักฐานยืนยันได้เช่นกัน ว่ามีงานเขียนเรื่องชีวิตโสเภณีปรากฏขึ้นก่อนหน้า ‘หญิงคนชั่ว’ อย่างน้อยสี่ปี มิหนำซ้ำ โครงเรื่องนวนิยายของ ก.สุรางคนางค์ยังคลับคล้ายคลับคลากับงานเขียนชิ้นนั้นจนน่าทึ่ง
เดี๋ยวๆ แล้ว ก.สุรางคนางค์คือใคร
“นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่…” ไม่ทันเฉลย หลายคนร้องอ๋อต่อเพลงบ้านทรายทอง นักเขียนที่สร้างตัวละครพจมาน สว่างวงศ์ก็ย่อมมิพ้น ก.สุรางคนางค์ล่ะ ส่วนนามปากกาไปเชื่อมโยงกาพย์สุรางคนางค์ 28 หรือไม่ ตอบได้เลยว่าแม่นแล้ว เพราะนักประพันธ์เธอชื่นชอบบทร้อยกรองลักษณะนี้
ในหญิงคนชั่ว ‘รื่น’ หญิงสาวบ้านนอกเต็มเปี่ยมความใฝ่ฝันอยากจะเป็นสาวชาวกรุง ที่สุดต้องกลายเป็นโสเภณีเพราะถูกผู้ชายหลอกมาจากต่างจังหวัดแล้วพาไปทิ้งซ่อง สุดท้ายเธอต้องจบชีวิตลงในวัยสาว โดยผู้เขียนเปิดเผยวิถีชีวิตผู้หญิงที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ รวมถึงผู้ชายที่มาเที่ยวแสวงหาความบันเทิงทางกามจากพวกเธอ
เหตุที่ ก.สุรางคนางค์เชื่อไปเองเรื่องยังไม่มีใครเขียนงานเกี่ยวกับชีวิตโสเภณีในเมืองไทยมาก่อนหน้าเธอ คงเพราะ ป.บูรณปกรณ์ สามีของเธอ ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้เริ่มเขียน ‘หญิงคนชั่ว’ ก็เข้าใจผิดไปด้วยเช่นกัน (ป.บูรณปกรณ์ได้เขียนงานถึงโสเภณีไว้มิใช่น้อยในช่วงทศวรรษ 2480) นวนิยายอัตชีวประวัติ ‘กุหลาบแดง’ ที่ ก.สุรางคนางค์เขียนขึ้นโดยเรียกแทนตนเองเป็นตัวละครชื่อ ‘สาย’ ย่อมยืนยันได้ดีถึงความเข้าใจผิดของนักเขียนคู่นี้ ดังความตอนหนึ่งตัวละครสามีได้บอกภรรยาว่า “เรื่องของหญิงโสเภณี ยังไม่มีใครนักเขียนในเมืองไทยคนใดกล้าทำ ถ้าสายทำได้ พี่เชื่อว่าอย่างน้อยเวลาตายไม่มีใครลืมเรื่องนี้ได้”
ก.สุรางคนางค์แสดงความกล้าหาญในการเขียน ‘หญิงคนชั่ว’ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราวจากนักอ่านและถูกตีตราอยู่บ้างถึงการเป็น ‘เรื่องโป๊’ ทั้งๆ ที่ฉากพฤติกรรมทางเพศไม่โจ่งแจ้งเลยสักนิด อย่างไรก็ดี พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ นักวิจารณ์คนสำคัญแห่งยุคนั้นทรงวิจารณ์ว่านวนิยายนี้หาใช่ ‘เรื่องโป๊’ ไม่ เพราะปราศจากความลามกหยาบคาย หนังสือจึงได้รับกระแสความนิยมในเชิงชื่นชมมากขึ้น
ที่ไม่ควรลืมแน่ๆ คือ ‘หญิงคนชั่ว’ เป็นการเก็บข้อมูลของผู้ประพันธ์แล้วมาถ่ายทอดต่อ ว่ากันตามจริง การเขียนงานลักษณะนี้เคยมีผู้ทำมาก่อนหน้า ก.สุรางคนางค์หลายปีเลย นักเขียนคนหนึ่งได้แก่ ‘สลิล ฟูไทย’ เขามักจะนำเสนอเรื่องราวของโสเภณีช่วงทศวรรษ 2470 อาศัยนามแฝง ‘อังศุมาน’ โดยจะตระเวนไปตามย่านต่างๆในกรุงเทพฯ อันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งค้ากามเพื่อพูดคุยกับโสเภณี จากนั้นจะนำเอาคำสารภาพของพวกเธอมาเรียบเรียงด้วยสำนวนภาษาแบบวรรณกรรมลงพิมพ์แทรกไว้ในหนังสือจำพวกตำรากามศาสตร์ที่เขาจัดทำขึ้น (อันที่จริง ตำรากามศาสตร์ของสลิลเริ่มเผยแพร่สู่ตลาดตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเลยทีเดียว)
แหม ถ้าสลิลมีชีวิตอยู่ในสมัยเฟสบุ๊ก บางทีเขาอาจจะลองทำเพจคล้ายๆ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ดูบ้างก็ได้นะ
ในหนังสือ ประเวณีศาสตร์ หรือ เมถุนมรรค ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2477 สลิลบอกเล่าถึงหญิงสาวหลายคนที่ต้องจับพลัดจับผลูมาเป็นโสเภณี ครั้นพอจะเลิกก็มีเหตุให้กลับไปประกอบอาชีพเดิมอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเรื่องของมาเรีย ดิ๊กสัน ลูกสาวเชลยเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1, ครูสาวจากภาคใต้ หรือสาวเหนือชาวลำปางที่เคยมีสามีนายทหาร เป็นต้น ซึ่งพวกเธอล้วนต้องมาขายตัวเพราะการถูกรังแกและทอดทิ้งจากผู้ชาย กระนั้น ผลงานเหล่านี้กลับไม่มีใครเล็งเห็นคุณค่า ทั้งยังถูกผลักไสเข้าไปอยู่ในข่ายของ ‘หนังสือโป๊’ จนผู้เขียนตัดพ้อระคนน้อยใจอยู่หลายหน แม้จะหยิบยกเรื่องโสเภณีมาโลดแล่นตามสื่อสิ่งพิมพ์ ทว่าสลิลหาได้เห็นด้วยกับการมีอยู่ของพวกเธอในประเทศสยามไม่ ฟังจากน้ำเสียงต่อให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่เขายังมองพวกเธอทั้งหลายเป็นปัญหาควรกำจัดออกไปให้สิ้นซาก
ความเรียงคำสารภาพของโสเภณี ชิ้นสำคัญมากๆ ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ซึ่งมิควรละเลยการเอ่ยถึงคือเรื่อง ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวา แผนกข่าวเร็ว ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2476 เขียนโดยผู้ใช้นามแฝง ‘ลอยลม’ ความเรียงชิ้นนี้แหละครับที่ผมมองว่า ก.สุรางคนางค์ ได้ยึดมาเป็นต้นแบบของ หญิงคนชั่ว
หนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวา แผนกข่าวเร็ว นั้น ปัจจุบันจัดเก็บไว้ในรูปแบบไมโครฟิล์ม แต่กลับอยู่ในช่วงซ่อมแซมจากสภาพชำรุด ผมเองเคยเห็นตัวหลักฐานตอนยังมิได้คิดจะใช้งาน ครั้นพอจะลงมือทำงานเลยได้อ่านแค่เพียงหนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวา ในเครือเดียวกัน โชคดีมีนักค้นคว้าท่านหนึ่งที่เคยอ่าน ๑๐ ธันวา แผนกข่าวเร็ว เขาชื่อสก็อต บาร์เม่ (Scot Barmé) และด้วยความที่เขาเขียนชื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า (10 thanwa) phanuak khaw rew จึงทำให้ผู้ที่นำงานของบาร์เม่ไปแปลหรืออ้างอิงต่อในภาษาไทยเข้าใจชื่อหนังสือพิมพ์ผิดกลายเป็น ‘10 ธันวา ผนวกเก้าริ้ว’
ชนะจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งมีแค่ ‘แปดริ้ว’ นะฮะ
สำหรับเนื้อหาที่จะเล่าคร่าวๆต่อไป ต้องยกให้เป็นคุณุปการของบาร์เม่ที่อุตส่าห์ทนอ่านไมโครฟิล์มแล้วได้บันทึกเอาไว้
‘ฉันชั่วเพราะชาย’ เริ่มด้วยการเล่าถึงเกยูร ภาคเสน่ห์ บุตรีขุนสุธาเคหะ ข้าราชการเมืองราชบุรี แม่สาวสวยสะพรั่งวัย 14 ได้หนีตามชายหนุ่มชาวพระนครนามสนิท วงศ์เลิศ ผู้เดินทางมาจัดฉายภาพยนตร์ให้ทางบริษัทพยนต์พัฒนาการ ทั้งสองมีเพศสัมพันธ์เร่าร้อน ร่วมรักกันหลายหนถึงขั้นที่ว่าตอนรุ่งเช้าเกยูรรู้สึกบอบช้ำเรือนกายจนขยับตัวมิได้ (แซ่บ!) พอขุนสุธาฯ ทราบข่าวโกรธจนตัดขาดความสัมพันธ์พ่อลูก ต่อมากิจการบริษัทพยนต์พัฒนาการล้มละลาย สนิทตกงาน เกยูรต้องขายทรัพย์สมบัติ ทั้งสองจึงเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วฝ่ายชายก็ทิ้งฝ่ายหญิงไปขณะหมดตัว มีชายหนุ่มอีกหลายคนเข้ามาพัวพันในชีวิตเธอ เฉกเช่น ลำยอง นักพนันตัวยงผู้ผลาญเงินไปกับการเล่นไพ่และการแทงม้า เกยูรเลือกใช้ชีวิตคู่อีกครั้งกับเขา แต่เขาก็ได้ทำร้ายร่างกายและทอดทิ้งเธอไป จนเมื่อเกยูรพบกับสุดใจสาวชาวราชบุรีเหมือนกัน สุดใจได้พาไปอยู่ที่บ้านซึ่งแท้แล้วเป็นซ่องลับแต่เธอกลับมิได้ล่วงรู้ เกยูรยังคงรักลำยอง เธอย้อนกลับไปหาเขา แต่พบเขากำลังเสพสมกับโสเภณีพร้อมหันมายิ้มเยาะและประกอบกามกิจต่อ (เรียกว่าไม่ยอมเสียจังหวะเลย)
จุดเริ่มต้นการเลือกประกอบอาชีพโสเภณีของเกยูรเริ่มจากเจ้าของซ่องชาวแขกซิกข์สนใจเธอพร้อมช่วยชดใช้หนี้สิน ถึงจะไม่ชอบรูปร่างหน้าตาหากสำนึกต่อน้ำใจ อย่างไรก็ดี เธอตกเป็นของเขาด้วยการถูกข่มขืนโดยสุดใจเพื่อนสาวรู้เห็นเป็นใจ แล้วต่อมาเกยูรจึงถูกข่มขืนอีกหนในรถยนต์ และชายผู้กระทำก็เป็นเพื่อนของสุดใจ ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้บุตรีข้าราชการเมืองราชบุรี ตัดสินใจขายเรือนร่างแลกเงิน เพราะอย่างน้อยยังทำให้เธอมีรายได้ นับแต่นั้น มีบุรุษมากหน้าหลายตาหลายสัญชาติ ไทย แขก ฝรั่ง จีน ได้ร่วมเพศรสจนเกยูรร่างกายทรุดโทรม เธอผ่านซ่องมาหลายสังกัด ไม่ว่าซ่องสะพานผ่านฟ้าของแม่อบ, ซ่องแม่สมศรี และซ่องแม่ยูร บางคราวเกยูรถูกกระทำรุนแรงยิ่งกว่าสัตว์ เธอถึงขั้นกล่าวทำนองว่า ม้ายังได้รับความปรานีจากคนขี่มากกว่าที่เธอได้รับจากชายที่มาซื้อบริการ เกยูรติดเชื้อกามโรคหลายหน รักษาหายแล้วกลับมาเป็นอีก
ในท้องเรื่อง เกยูรอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับชายอีกหลายคน เฉกเช่น ทองดำ คนขับแท็กซี่ที่ดูแลเธอตอนป่วยด้วยอาการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร จนภายหลังเธอต้องขายตัวเลี้ยงดูเขา, เคน หนุ่มธนาคารที่ทำให้เธอตั้งท้อง แต่แท้งไปในที่สุด และอองเส็ง ลุกพ่อค้าชาวจีนที่วิงวอนให้เธอเลิกอาชีพขายตัว แต่เขาถูกพ่อส่งตัวไปฮ่องกง สำหรับอองเส็งนั้นยังมีทีเด็ดในเรื่องเพศ เพราะเขาได้ทำออรัลเซ็กส์ให้กับเกยูร ซึ่งถือเป็นรสนิยมแปลกใหม่ในหมู่ชาวไทยช่วงปลายทศวรรษ 2470 หญิงสาวจากราชบุรีพยายามประคับประคองชีวิตคู่ด้วยความรัก แต่ท้ายสุดชายทุกคนกลับละทิ้งเธอ
‘ฉันชั่วเพราะชาย’ จบเรื่องลงตรงที่เกยูรได้ตกเป็นภรรยาของชายสูงวัยผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่เขากลับไม่สามารถให้ความสุขทางเพศแก่เธอได้เหมือนพวกหนุ่มๆ บางครั้ง เธอจึงลอบออกจากบ้านไปหาความสุขในซ่องแม่ยูร
อ้อ ถ้าสนใจรายละเอียดงานเขียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่จะไม่ยอมอ่านแบบภาษาอังกฤษ ปัจจุบัน มีที่เป็นภาษาไทยแล้วครับ ลองดูได้จากวารสารหนังไทย ฉบับที่ 19 เดือนตุลาคม 2557 สำนวนแปลโดย นันทนุช อุดมละมุล
ข้อสังเกตอีกจุดหนึ่งคือพบความพยายามโฆษณาแหล่งรับรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง ‘โยคีสถาน’ แทรกไว้ด้วยในตอนที่เกยูรเป็นกามโรค (เจ้าของ ‘โยคีสถาน’ ได้แก่ หมอเหล็ง ศรีจันทร์ หลายคนคงพอจะคุ้นชื่อเขาจากการอ่านเรื่องกบฏ ร.ศ. 130 ในหนังสือวิชาสังคมศึกษา)
ท่วงทำนองเล่าเรื่องใน ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ ดูเหมือนราวกับน้ำเสียงโสเภณีกำลังเล่าถึงชีวิตและมุมมองของตนเองจริงๆ ชวนให้ผมปรารถนาสืบค้นต่อไปว่าผู้ใช้นามแฝง ‘ลอยลม’ คือใครกันแน่ เธอเคยเป็นหญิงโสเภณีจริงๆ ด้วยหรือเปล่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ความเรียงชิ้นนี้มิได้มองโสเภณีในฐานะปัญหาสังคมเฉกเช่นงานเขียนของสลิล ฟูไทย แต่กลับชี้ให้เห็นความน่าสงสารของพวกเธอที่ถูกกระทำจากสังคมต่างหาก พร้อมทั้งให้กำลังใจรวมถึงหาหนทางเยียวยาช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มัวเล่าเรื่องโดยอาศัยกรอบศีลธรรมมาตัดสินชีวิตตัวละครโสเภณีอย่างใน หญิงคนชั่ว ที่ยังมองอาชีพนี้ว่าชั่วร้ายผิดบาปอยู่ดี
‘ลอยลม’ จงใจจะเปิดเปลือยเรื่องราวตรงไปตรงมาอย่างถึงแก่น และมีความสมจริง ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนั้น ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ ย่อมไม่แคล้วถูกตีตราหนักหน่วงในฐานะ ‘เรื่องโป๊’
เท่าที่เคยพิจารณาหลักฐานหนังสือพิมพ์ในเครือ ๑๐ ธันวาเอง ได้วางภาพลักษณ์ของตนยึดโยงความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เมื่อลงพิมพ์เรื่องราวผ่านเสียงเล่าแม่สาวโสเภณีก็แสดงถึงการให้พื้นที่ต่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งสายตาสังคมไม่ยอมรับพวกเธอเท่าไหร่นัก ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ จึงนับเป็นความเคลื่อนไหวโดยอาศัยงานเขียนที่พึงสนใจยิ่งในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ และนวนิยายหญิงคนชั่วมีชื่อเรื่องคล้ายกันมากอีกทั้งโครงเรื่องพ้องกันพอสมควรหญิงสาวบ้านนอกหลงรักหนุ่มชาวพระนครจนหนีตามเข้าเมืองหลวงด้วยกันแต่กลับถูกฝ่ายชายทอดทิ้งและต้องกลายเป็นโสเภณี บัดนี้ยังมิอาจสืบทราบได้แน่ ‘ลอยลม’ นั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (แม้เสียงเล่าจะเป็นหญิงสาวก็ตาม) หากเป็นผู้ชายแล้วคงพอจะกล่าวได้ว่า ก.สุรางคนางค์อาจเป็นผู้หญิงคนแรกที่กล้าหาญเขียนเรื่องราวชีวิตโสเภณี
นับแต่ปลายทศวรรษ 2470 เป็นต้นไปคือห้วงเวลาที่กลุ่มผู้หญิงอย่างโสเภณีได้รับการเหลียวแลจนมีงานเขียนสำคัญๆสะท้อนภาพพวกเธออย่างเห็นอกเห็นใจอยู่หลายชิ้น
การที่ความเรียงคำสารภาพของโสเภณีก่อตัวขึ้น จึงหาใช่เพียงแค่เรื่องเล่าทางเพศผ่านปากคำผู้หญิงขายร่าง แต่กลับแฝงนัยยะความเคลื่อนไหวเชิงสิทธิเสรีภาพอันผู้ประกอบสัมมาอาชีพเยี่ยงพวกหล่อนพึงจะมีอย่างเท่าเทียม
Text by อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
ก.สุรางคนางค์. กุหลาบแดง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2530.
ก.สุรางคนางค์. หญิงคนชั่ว. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2531.
น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์). “เรื่องหญิงคนชั่ว,” ใน ผสมผสาน ชุด ๑. พระนคร:บำรุงสาส์น, 2514. น. 303-309
ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว. กรุงเทพฯ : กัญญา, 2531
’รงค์ วงษ์สวรรค์. หัวใจที่มีตีน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เดอะ ไรเตอร์ ซีเคร็ท, 2559
สก็อต บาร์เม่. “บทบาทความสัมพันธ์หญิงชาย ชนชั้น และวัฒนธรรมสมัยนิยมในประเทศสยามยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2476-2483)” ใน วารสารหนังไทย 19 (ตุลาคม 2557). แปลโดย นันทนุช อุดมละมุล. น. 137-181
สลิล ฟูไทย. เรื่องของชีวิต คือเรื่องของฉันและเรื่องของท่าน. พระนคร: ฟูไทย, 2492.
อังศุมาน. ประเวณีศาสตร์ หรือ เมถุนมรรค. พระนคร: โรงพิมพ์ศุภอักษร, 2477 (จัดทำเป็นทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์โดย กรุงเทพฯ: ร้านหนังสือท่าช้าง, 2551)
อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.
ภาษาอังกฤษ
Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular culture in Thailand. Chiang Mai:
Silkworm, 2002.