“ไม่มีกองกำลังใดสามารถสั่นคลอนสถานะของจีน หรือหยุดยั้งประชาชนและชาติจีนในการก้าวไปข้างหน้า” นี่คือสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง ในวันเฉลิมฉลองครบรอบวันชาติ 70 ปี
เรามักรู้จัก และมองจีนในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ จีนเองก็ผ่านประวัติศาสตร์ที่มีทั้งขึ้น และลง มีจุดที่ตกต่ำ ถดถอย และเปลี่ยนแปลงชาติแบบหน้ามือเป็นหลังมือมาแล้วเช่นกัน
และในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันชาติ และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปีนี้ครบรอบ 70 ปีแล้ว The MATTER อยากย้อนพาไปดูอีเวนต์สำคัญในการสร้างชาติของจีน ว่าตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เกิดอะไรขึ้นกับจีนบ้าง มีนโยบายสำคัญอะไรต่อประเทศบ้าง รวมถึงในวันนี้ที่เป็นการเฉลิมฉลอง จีนยังประสบปัญหาทั้งภายในและภายนอกอะไรบ้าง
1949 – สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
หลังจากจีนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนการปกครอง และต้องอยู่ในสงครามกลางเมือง แย่งชิงการปกครองประเทศกันมายาวนานกว่า 20 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 1949 หลังเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋งได้ ‘เหมา เจ๋อตง’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่บริเวณจัสตุรัส ในกรุงปักกิ่ง โดยประกาศว่า ‘ชาวจีนจงลุกขึ้น!’ (The Chinese people have stood up) และขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของจีน
การประกาศสถาปนารัฐประชาชนจีนทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์ ทั้งยังเปลี่ยนแปลงธงชาติ เพลงชาติ วันชาติมาเป็นวันที่ 1 ตุลา รวมถึงยังเปลี่ยนระบบการใช้ตัวอักษร มาเป็นภาษาจีนตัวย่อด้วย
ทั้งเหมายังมีเป้าหมายแรก คือการปรับปรุงระบบกรรมสิทธิ์ และการปฏิรูปที่ดิน จากเดิมที่เป็นระบบศักดินา เจ้าของที่ดินเป็นเข้าของกรรมสิทธิ์ในการเพาะปลูก เป็นการทำนารวม และแจกจ่ายพื้นที่ให้กับประชาชน เป็นการดำเนินการแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์
1966 – 1976 – ปฏิวัติวัฒนธรรม
ปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นหนึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีน ที่สร้างความเสียหายร้ายแรง และความถดถอยแก่ประเทศเป็นอย่างมาก โดยเป็นขบวนการทางสังคมและการเมืองในยุค เหมาเจ๋อตง ที่ริเริ่มจากความขัดแย้งภายในพรรค ซึ่งเหมาอ้างว่ากระฎุมพีกำลังแทรกซึมรัฐบาลและสังคม รวมถึงจะเข้ามาฟื้นระบบทุนนิยมในจีนอีกครั้ง โดยเหมานิยม และเรียกสิ่งที่ต้องกำจัดว่า ‘ลัทธิแก้’ (revisionist)
การปฏิวัติวัฒนธรรมจึงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 หลังคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ออกจดหมายเวียนแสดงถึงแนวคิดในการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา และมีการโค่นล้มวัฒนธรรมจีนเก่าแก่ โค่นล้มแนวคิดทุนนิยม หรือศิลปวัฒนธรรมที่ขัดกับแนวทางมาร์กซ ทั้งยังปฏิเสธวัฒนธรรมต่างชาติด้วย
ในช่วงนี้ คือช่วงกำเนิดของกลุ่ม ‘กองทัพพิทักษ์แดง’ หรือ Red Guards ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มเยาวชน ตั้งแต่นักเรียนมัธยม ถึงมหาวิทยาลัย ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งกลายมาเป็นกองกำลังสำคัญของเหมาในการกำจัดลัทธิแก้
โดยขบวนการนี้ ได้ร่วมกำจัดวัฒนธรรมเก่าๆ ด้วยวิธีรุนแรง ทั้งมีการใช้กำลัง เหยียดหยามต่อสาธารณะ ทรมาน บุกค้นบ้าน และการทำลายสิ่งของไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นยาวนานถึง 10 ปี ก่อนจะสิ้นสุดลงในปี 1976 หลังเหมาเสียชีวิต
มีการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตที่หลากหลาย และแตกต่างกันมาก เพราะเชื่อว่าศพของผู้ถูกข่มเหงในช่วงนี้ มีจำนวนมากที่ไม่ถูกรายงาน และถูกปกปิดจากเจ้าหน้าที่ โดยมีการประมาณว่ามีตั้งแต่ 4 แสน ถึง 10 ล้านคน แต่เป็นที่รู้กันว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ประวัติศาสตร์จีนโบราณ ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกกวาดล้างจนแทบจะไม่เหลือ และยังทำให้มีคนจีนอพยพไปอยู่ฮ่องกง และไต้หวันด้วย
1978 – เติ้ง เสี่ยวผิงกับนโยบายเปิดประเทศ
เติ้ง เสี่ยวผิงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนที่ 2 หลังท่านเหมาเสียชีวิต และเริ่มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะเขาเห็นว่าจีนต้องการพัฒนา ต้องการเทคโนโลยี และการลงทุนจากต่างชาติ หลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยในเดือนธันวาปี 1978 เขาได้ประกาศนโยบาย ‘เปิดประตู’ (Open Door Policy)
นโยบายนี้ ทำให้ทุนนิยมเริ่มกลับเข้ามาในประเทศจีน มีต่างชาติเข้ามาลงทุน และทำธุรกิจกับจีน รวมถึงดำเนินนโยบายค้าขายระหว่างกับต่างประเทศ โดยขั้นแรก จีนได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 4 พื้นที่คือ เซินเจิ้น จูไห่ ซ่านโถว และเซี่ยะเหมิน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับต่างชาติเพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ เติ้งยังดำเนินนโยบาย ‘สี่ทันสมัย’ ที่ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การวิจัย และการป้องกันประเทศ
การปฏิรูปของเติ้ง ทำให้เศรษฐกิจของจีนฟื้นฟูขึ้นมามาก ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมักมีการพูดถึงวลี ‘คนจำนวนหนึ่งจะต้องรวยก่อน’ ของเติ้ง และอีกวลีคือ ‘รวยได้อย่างรุ่งโรจน์’ ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่วลีนี้ไม่เคยมีการระบุแน่นอนว่าเขาได้พูดคำนี้จริงๆ หรือไม่
1989 – การประท้วงประชาธิปไตย ณ เทียนอันเหมิน
การรวมตัวประท้วงประชาธิปไตยในจีน เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง โดยประชาชนเริ่มรวมตัวหลัง ‘หู เย่าปัง’ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในจีน เสียชีวิตลง จึงมีนักเรียนและประชาชนหลายพันคน เดินทางมาบริเวณจัสตุรัสเทียนอันเหมิน ในปักกิ่ง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เพื่อแสดงความไว้อาลัย และเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพของสื่อมวลชน สานต่อแนวคิดของหู
โดยเหล่านักศึกษาได้เรียกร้องการเจรจา และยังใช้วิธีอย่างการอดอาหารด้วย แต่การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ จบลงด้วยการปราบปราม และสลายการชุมนุมที่นองเลือด ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 3-4 มิถุนายน ที่รัฐบาลสั่งให้ทหารจัดการผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 200 คน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการระบุว่าจริงๆ แล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากถึง 3,000 คน
เหตุปราบปรามและจัดการของรัฐบาลกับผู้ชุมนุมในครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศเลือกที่จะคว่ำบาตรจีนในภายหลังด้วย
1997 – ฮ่องกงกลับมาเป็นของจีน
หลังจีนพ่ายแพ่ให้กับอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 จีนจำยอมต้องยกฮ่องกงให้สหราชอาณาจักรปกครองตามสัญญาเช่า 99 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1841 – 1997 จนเมื่อครบตามสัญญาแล้ว จีนก็ได้ฮ่องกงกลับมาอยู่ในการปกครองอีกครั้ง โดยมีพิธีส่งคืนเกาะอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (HKSAR) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการเปลี่ยนผ่านให้ฮ่องกง กลับมาเป็นของจีน จีนได้สัญญาว่าจะให้อิสระกับฮ่องกง ไม่ว่าในทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตอีก 50 ปี ตามแบบที่เรียกว่า ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ (One Countrry, Two System) แต่ถึงอย่างนั้นชาวฮ่องกงเองก็ยังคงหวาดกลัวอิทธิพลของจีน รวมถึงการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพที่จะเกิดขึ้น จนเกิดการประท้วง และเรียกร้องอิสรภาพจากจีนอยู่หลายครั้ง รวมถึงการประท้วงครั้งล่าสุด ที่ยังคงยืดเยื้อมาถึงตอนนี้ด้วย
2008 – Beijing Olympic 2008
การได้เป็นเจ้าภาพการแข่งกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก เป็นหนึ่งในการสะท้อนความสำเร็จของประเทศต่อนานาชาติ และยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และการลงทุนด้วย ซึ่งในปี 2008 เอง จีนก็ได้ประสบความสำเร็จกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และพาราลิมปิกครั้งที่ 29 ใน ‘Beijing Olympic 2008’
โอลิมปิกครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่เจ้าภาพอยู่ในทวีปเอเชีย (ครั้งที่ 1 และ 2 คือญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) โดยครั้งนี้ มีคำขวัญการแข่งขันว่า ‘One World, One Dream’ ซึ่งจีนได้ต้อนรับประเทศอื่นๆ อีก 204 ประเทศ และนักกีฬาอีกกว่า 1 หมื่นคน
และศูนย์กลางการแข่งขันครั้งนี้ คือสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง ที่มีรูบแบบโครงสร้างคล้ายกับรังนก ทั้งครั้งนี้ยังเป็นครั้งที่จีนเป็นเจ้าเหรียญทองอันดับ 1 ที่กวาดเหรียญทองไปได้ถึง 51 เหรียญ
2010 – เศรษฐกิจจีนขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก
เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายเปิดประเทศในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้ในปี 2010 เศรษฐกิจจีนสามารถแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลกได้ โดยพิจารณาจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เอาชนะญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งนี้มายาวนาน 40 ปี และเป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ
การก้าวกระโดดของเศรษฐกิจครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยยากจน มาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยจีนมีอัตราเศรษฐกิจที่เติบโตประมาณ 9% ต่อปี และมี GDP สูงถึง 5.879 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 5.474 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
ในตอนนี้ เศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ก็ยังคงแข่งขันกัน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่เติบโตมากถึงขนาดนั้นแล้ว และมีการชะลอตัวขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2030
2013 – ประกาศนโยบาย Belt and Road Initiative
หลายๆ คนคงเคยได้ยินถึงเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางค้าขายในอดีตที่รุ่งเรืองของจีนกับเอเชียกลาง ยาวไปถึงยุโรป ซึ่งในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้มีความพยายามฟื้นฟูเส้นทางนี้ ด้วยการประกาศนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative)
สี ได้ประกาศนโยบายนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2013 แต่นโยบายมาเห็นเป็นรูปร่างจริงจังเมื่อจีนจัดการประชุม The Belt and Road Forum for International Cooperation ในปี 2017 และมีผู้นำจาก 29 ประเทศเข้าร่วม และประกาศเริ่มโครงการ โดยแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม จะมีเครือข่ายทางบก คือถนน และทางรถไฟ เชื่อมจีน กับยุโรปผ่านเอเชียกลาง ในขณะที่เส้นทางสายไหมทางทะเล จะเชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป
จีนตั้งเป้าหมายกับนโยบายนี้ ไว้ใหญ่โตมาก โดยหวังว่าเส้นทางต่างๆ ในโครงการนี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของโลก ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก ทั้งยังมีเป้าหมายให้เครือข่ายเหล่านี้สนับสนุนความต้องการด้านพลังงานของจีน โดยท่อส่งก๊าซจากเอเชียกลาง
นอกจากนี้ จีนยังสร้างธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank- AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วย
2018 – สภาจีนเห็นชอบให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งตลอดชีพได้
เป็นเรื่องปกติ ที่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะกำหนดวาระของผู้นำประเทศไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้นำจีน ตั้งแต่รุ่นที่ 3 ก็ถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ หรือคือทั้งหมด 10 ปี
แต่ในปี 2018 ได้มีการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการจำกัดวาระของประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งโดยไม่จำกัดวาระ หรือจะอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีพแบบประธานเหมา โดยสี จิ้นผิงที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในปี 2013 นี้ ไม่จำเป็นต้องลงจากตำแหน่ง และหาผู้นำใหม่มาแทนในปี 2023 แล้ว
ไม่เพียงแค่การแก้รัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ยังมีการบรรจุแนวคิดทางการเมืองของสี จิ้นผิง หรือที่เรียกว่า สังคมนิยม กับลักษณะของจีนสำหรับสมัยใหม่ด้วย ทำให้มีคนวิพากษ์วิจารณ์สี จิ้นผิงไปต่างๆ นานา ทั้งมองว่าเขาต้องการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนอย่างประธานเหมาด้วย
2019 – ครบ 70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน
“ไม่มีกองกำลังใดสามารถสั่นคลอนสถานะของจีน หรือหยุดยั้งประชาชนและชาติจีนในการก้าวไปข้างหน้า” นี่คือสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน ในงานฉลองวันชาติ ครบรอบ 70 ปี โดยเมื่อเช้านี้ ได้มีพิธีสวนสนามของเหล่าทหารกว่า 15,000 นาย และการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ
แม้ว่าปีนี้ จะเป็นการครบรอบ 70 ปี ที่จีนฉลองอย่างยิ่งใหญ่ แต่ท่ามกลางการเฉลิมฉลอง จีนก็ประสบปัญหากับต่างประเทศ ทั้งปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่จบลง และมีท่าทีว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มกำแพงภาษีกับจีน หรือปัญหาข้อพิพาททางดินแดน กับทั้งอินเดียในเลห์ลาดักห์ หรือกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ กับทั้งไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน
รวมถึงปัญหาภายในประเทศ อย่างปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในการกักขังผู้คนในเขตซินเจียง ปัญหากับทิเบต และไต้หวัน ไปจนถึงการประท้วง และชุมนุมในฮ่องกงที่เข้าสู่เดือนที่ 4 ที่ยังคงดุเดือด และไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไรด้วย
อ้างอิง