14 นาฬิกา เรามาถึงห้างสรรพสินค้าตามเวลาที่นัดหมาย สมองสั่งร่างให้ย่างกรายเข้าสู่ตู้สี่เหลี่ยม มือขวาบรรจงแตะไปยังหมายเลข 5 ส่งสัญญาณให้ลิฟต์แก้วเคลื่อนตัวสู่เบื้องบนของสยามพารากอน
ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิดออก สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ทำเราตกใจจนบอกไม่ถูก มนุษย์กว่า 40 ชีวิตยืนเรียงแถวโดยชูสมุดสีแดงขึ้นปิดหน้า ทุกคนยืนตรงท่าเดียวกัน ถือสมุดแบบเดียวกัน เป็นภาพซึ่งชวนให้รู้สึกราวกับว่าเราได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์บางอย่าง
ที่ตั้งเด่นอยู่กึ่งกลางโถงหน้าโรงภาพยนตร์พารากอน ซินิเพล็กซ์คือศาลาหลังย่อมที่มีเสียงบทสวดสุดสะพรึงลอยอื้ออึงมาแต่ไกล ทำเอาขนลุกได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า หน้าศาลามีชายในเสื้อยืดสีขาวบรรจุข้อความ ‘Home For Rent’ รอเราอยู่
จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ คือผู้กำกับบ้านเช่า..บูขายัญ (Home For Rent) ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคดีสุดหลอนที่เคยเกิดขึ้นจริงในบ้านเช่า
หลังแจ้งเกิดเต็มตัวในฐานะผู้กำกับร้อยล้านจากลัดดาแลนด์ เมื่อปี 2554 จิมก็สั่งสมบารมีในวงการ ปลุกปั้นทั้งฝากไว้..ในกายเธอ เพื่อนที่ระลึก แวะไปร่วมงานกับเน็ตฟลิกซ์ในซีรีส์เคว้ง แล้วจึงวนกลับมาทวงคืนบังลังก์เจ้าพ่อหนังสยองขวัญแห่งจีดีเอช (GDH) อีกครั้ง
มาคราวนี้ เขาดึงนักแสดงแถวหน้าของสองช่องใหญ่อย่าง เวียร์—ศุกลวัฒน์ คณารศ มาประกบคู่กับ มิว—นิษฐา คูหาเปรมกิจ เพื่อถ่ายทอดความน่ากลัวรสชาติใหม่ที่คนไทยอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน
“ขอโทษนะครับ อันนี้เขาทำอะไรกันเหรอครับ” จากสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า เราไม่ถามไม่ได้จริงๆ
“อ๋อ ลัทธิซ้อมทำพิธีกรรมสำหรับโชว์ก่อนฉายรอบกาล่าคืนนี้ครับ ขนลุกดีเนอะว่ามั้ย” จิมตอบยิ้มๆ
ท่ามกลางเสียงบทสวดซึ่งคละคลุ้งไปทั่วลานหน้าโรง เราขอชวนทุกคนไปร่วมเปิดโปงความลับของหนังผีฉบับจิม โสภณ พร้อมๆ กัน
จากเด็กที่อยากเป็นหมอกลายมาเป็นผู้กำกับหนังได้ยังไง?
(หัวเราะ) ตอนเด็ก เราก็โตมากับหนังสือการ์ตูนเนอะ สมัยนั้นจะมีการ์ตูนชื่อซูเปอร์ดอกเตอร์เค เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับหมอ เขาเถื่อนๆ นิดนึง แต่เก่งมาก ก็เลยคิดว่า เออ เป็นหมอนี่เท่ดีว่ะ ก็เลยอยากเป็นหมอตอน ม.ต้น แต่พอ ม.ปลาย เขาจะมีการตัดเกรดว่าเกรดเท่าไหนถึงจะได้เรียนสายวิทย์ ปรากฏว่าเกรดเราไม่ถึง เรียนสายวิทย์ไม่ได้ ต้องเรียนสายศิลป์-คำนวณ สุดท้ายเลยไม่ได้เป็นหมอ
ตอนนั้นก็เคว้งเหมือนกันนะ จะเรียนอะไรต่อดีวะ จนมีวันหนึ่ง น่าจะตอน ม.6 วิชาสังคมให้ทำงานฝีมือ ตัดแปะกระดาษนู่นนี่ เราก็ทำไป ฟังวิทยุไป แล้วตอนนั้นก็ดันเข้าใจไปเองว่า คณะที่ชื่อนิเทศคงจะสอนอะไรประมาณนี้แหละ ทำงาน ฟังเพลง ฟังวิทยุ ถ่ายรูป เราก็เลยเลือกคณะนิเทศไว้อันดับ 1 โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จริงๆ เขาเรียนอะไร ยังไม่มีคำว่าหนังอยู่ในหัวเลยด้วย
แล้วคำว่า ‘หนัง’ เข้ามาอยู่ในหัวตั้งแต่เมื่อไหร่?
ตั้งแต่ปี 1 คณะเราจะมีพวกงานรับน้อง งานแต๊งพี่ต่างๆ เนอะ เขาก็ให้น้องปี 1 ทำหนังส่งฉายในงานแต๊งพี่ได้ เราก็เลยชวนรุ่นพี่ปี 2 ปี 3 ปี 4 มาเล่นหนัง ก็ได้ลองยืมกล้องคนในคณะ ฝึกตัดต่อ ทำเล่นๆ กัน ซึ่งเราตั้งใจทำออกมาเป็นหนังตลก แต่เลือกเล่าแบบทริลเลอร์หน่อยๆ เป็นเรื่องประมาณว่า จู่ๆ คนที่นั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกันก็หายไปทีละคน ก่อนจะมาเฉลยทีหลังว่าจริงๆ ทุกคนไม่มีตังค์จ่ายก็เลยแอบหนีไป ซึ่งตอนฉาย ทุกคนเฮมาก สนุกมาก ก็อาจจะเพราะเอาคนในคณะมาเล่นด้วย แต่มันกลายเป็นว่าเราชอบภาพวันนั้นสุดๆ บรรยากาศการทำหนังแล้วมีคนหมู่มากมาดู
อยู่ปี 1 ก็ทำหนังเป็นแล้วเหรอ?
เรามั่วมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย ถ่ายเอง ตัดเองทุกอย่าง ในหนังจะมีเพลงประกอบใช่มั้ย เรายังเข้าใจอยู่เลยว่า ถ้าอยากให้มีเพลงก็ต้องเปิดเพลงตอนถ่ายด้วย ตลกมาก เราก็ตั้งวิทยุข้างๆ กล้อง แล้วเอาไมค์จ่อ มันไม่มีใครสอน ต้องลองผิดลองถูกเอง แต่ก็สนุกดี ก็เลยทำหนังรับน้องส่งตลอดจนถึงปี 4
ชอบทำหนังขนาดนี้ แทนที่จะเลือกเรียนด้านภาพยนตร์ ทำไมถึงเลือกเรียนวิทยุและโทรทัศน์ล่ะ?
ยุคนั้นเป็นยุคก่อนแฟนฉัน วงการหนังยังไม่บูม ใครจะเป็นผู้กำกับได้ต้องเป็นผู้ช่วยอยู่หลายปี ต้องมีประสบการณ์นานๆ มันยากมาก ยังไม่ใช่ยุคของคนรุ่นใหม่ที่ใครก็ขึ้นมาเป็นผู้กำกับได้เหมือนสมัยนี้ ตอนนั้นครูป๋อม—ไศลทิพย์ จารุภูมิ บอกเราว่า ‘จิม ถ้าจิมอยากทำหนังนะไม่ต้องเรียนหนังก็ได้ ไปเรียนวิทยุโทรทัศน์สิ เผื่อจะมีวิชาชีพติดตัว จบไปเผื่อจะไม่ตกงาน’ เราก็โอเค เรียนภาคนี้ก็ได้วะ พอว่างค่อยแวะไปทำหนัง (ยิ้ม)
ต้องแวะไปทำหนังท่าไหนถึงได้เข้าสู่แวดวงผู้กำกับ?
ตอนปี 3 ปี 4 นี่แหละ เราทำหนังสั้นแล้วบังเอิญได้ไปฉายในงานประกวด พี่โต้ง—บรรจง ปิสัญธนะกูล มาเห็นพอดี ตอนนั้นพี่โต้งกำลังทำชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ อยู่ ก็เลยชวนเราไปเขียนบทด้วย
แปลว่าหนังที่คุณส่งประกวดก็ต้องเป็นหนังผี?
ใช่ครับ คือจริงๆ ตั้งแต่ปี 1 หนังที่เราทำจะมาแนวๆ ตายๆ เสมอ ปี 2 ทำหนังรักนะ แต่ก็เป็นหนังรักเกี่ยวกับคนที่ตายไปแล้ว ปี 3 ทำหนังผีจริงๆ ส่วนปี 4 ก็เป็นหนังจิตๆ หลอนๆ พี่โต้งอาจจะเห็นตรงนี้ก็เลยชวนไปทำ
ถามจริง หนังผีมีอะไรให้คุณติดใจมากขนาดนั้น?
ตอนเด็กเนอะ เราก็น่าจะเหมือนทุกคนที่ไม่ได้เลือกดูหนังเอง แต่ต้องดูตามพ่อแม่ ถูกมั้ย ซึ่งพ่อแม่เราดันชอบดูหนังสยองขวัญ แนวเฟรดดี้ ครูเกอร์ (Freddy Krueger) เรารู้สึกว่า บรรยากาศตอนดูหนังผีด้วยกันในครอบครัวมันดีมาก คือกลัวนะ แต่ทุกคนก็กอดกัน ซบกัน คลุมโปงกัน พอมองย้อนกลับไป ตอนนั้นมันอบอุ่นมาก ซึ่งภาพนี้ก็เกิดขึ้นที่คณะด้วย คนกรี๊ด สนุกสนาน บางทีกรี๊ดแล้วก็มีเสียงหัวเราะตามมา เราก็ยิ่งติดใจเข้าไปอีก ก็คงเหตุผลเดียวกับที่เรากลัวผี แต่ก็เข้าบ้านผีสิง กลัวความสูง แต่ก็อยากเล่นรถไฟเหาะนั่นแหละ
การได้เป็น 1 ในทีมเขียนบทของหนัง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ ให้บทเรียนอะไรกับคุณบ้าง?
อืม (นิ่งไป 5 วินาที) ต้องบอกก่อนว่า เป้าหมายของการทำชัตเตอร์ฯ คือทำอะไรก็ได้ให้น่ากลัวที่สุด เป็นการปล่อยของครั้งแรกของพี่โต้ง พี่โอ๋—ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ แต่พอหนังถ่ายเสร็จก็มีการฉายภายในกับทีมโปรดิวเซอร์ เราค้นพบอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำงานกับคนไม่ใช่แค่ซีนที่มีผี แต่ความดราม่าของมันก็ทำให้คนอินมากๆ ความรักที่อยากอยู่ด้วยไปตลอดชีวิต กลายเป็นหนังมีประเด็นที่ทรงพลังมากกว่ามีแค่ความน่ากลัว
เราได้เรียนรู้ว่าดราม่าก็สำคัญ เราว่าความแตกต่างระหว่างหนังผีที่คนดูอินกับไม่อินอยู่ที่เรื่องราวที่ตัวละครพบเจอนี่แหละ เพราะมันคือสิ่งที่คนดูอยากติดตามเอาใจช่วย มากกว่าแค่ดูแล้วกลัวผีอย่างเดียว
พูดถึงเรื่องนี้แล้ว หลายคนก็น่าจะสังเกตได้ว่าหนังผีของจิม โสภณจะมาพร้อมกับเส้นเรื่องที่เข้มข้นมากกว่าแค่ยัดฉากสยองเสมอ ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ?
จริงๆ แล้วไอประเด็นดราม่าทั้งหลาย เราเพิ่งตกตะกอนได้หลังจากทำลัดดาแลนด์นะ คือตอนทำลัดดาแลนด์ เป้าหมายก็คือทำหนังผีสยองขวัญแหละ แต่เพราะเป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัว ความดราม่าเลยมาสอดคล้องไปกับเรื่องโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจใส่มันขนาดนั้น แอบกังวลด้วยว่าจะออกมาเป็นหนังผีที่ดราม่าเยอะไป กลัวจะไม่เวิร์กเหมือนกัน เพราะเรื่องถูกขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งของคนกับคนมากกว่าคนกับผีด้วยซ้ำ แต่พอฉายกลายเป็นว่าประสบความสำเร็จมาก มีคนทวิตมาบอกว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้วหนูรักพ่อมากขึ้นค่ะ เข้าใจแล้วว่าทำไมพ่อถึงเหนื่อยขนาดนี้ เราถึงรู้ว่า เห้ย หนังผีให้อะไรมากกว่าแค่ความกลัวได้ ประเด็นกับผีก็เลยมาคู่กัน
เราชอบคำหนึ่ง น่าจะเป็นคำพูดของพี่ต่อ—ธนญชัย ศรศรีวิชัย เขาบอกว่า จริงๆ ทุกคนรู้หมดแหละว่าผักสลัดมีประโยชน์ แต่ทุกคนก็รู้อีกเหมือนกันว่ามันไม่อร่อย การทำหนังที่ยัดเยียดประเด็นก็เหมือนการบังคับให้คนกินสลัด บังคับให้เขากินสิ่งที่ไม่อยากกิน เอาใหม่ งั้นเราทำแฮมเบอร์เกอร์ดูมั้ย ทำหนังกินง่ายที่มีผักอยู่ในนั้น ให้อย่างน้อยคนเปิดใจกินก่อน ถ้ากินแล้ว เขาจะได้ประโยชน์ไปเองโดยไม่ต้องยัดเยียด เราก็เลยตัดสินใจ งั้นเอาสิ่งที่อยากจะเล่า เรื่องคน ประเด็นสังคมต่างๆ มาห่อด้วยผี กลายเป็นเบอร์เกอร์ ผักหรือสัดส่วนความดราม่าอาจจะน้อยหน่อย แต่ถ้าคนกินได้ มันก็น่าสนใจกว่า เข้าถึงคนได้มากกว่า
หลังจากทำชัตเตอร์ฯ คุณได้ลองกำกับหนังใหญ่เป็นครั้งแรกใน ‘โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต’ ที่อาจจะไม่สำเร็จเท่าที่คาดหวัง คุณคิดว่าตัวเองในตอนนั้นทำพลาดตรงไหน?
ไม่เคยรู้มาก่อนว่างานผู้กำกับคืออะไร (หน้านิ่ง) เพราะสมัยเรียน เวลาทำหนังคือเราถ่ายเอง เขียนบทเอง ซึ่งบทที่เขียนก็เขียนแบบให้แค่ตัวเองรู้ว่าต้องถ่ายอะไร ทำสตอรี่บอร์ดทุกครั้งนะ แต่ก็ทำไว้ดูเอง ถ่าย ตัด ก็ทำเองหมด เราไม่เคยรู้ว่าการทำหนังใหญ่จริงๆ เป็นยังไง เคยออกกองหนังใหญ่แค่ครั้งเดียวคือตอนชัตเตอร์ฯ ซึ่งหน้าที่เราคือผู้ช่วยตีสเลต ว่ากันตรงๆ ก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรขนาดนั้น
พอได้มาทำเองจริงๆ ถึงเข้าใจว่างานผู้กำกับคืองานสื่อสาร เรารู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรไม่พอ เราต้องสื่อสารให้ได้ว่าเราจะเอาอะไรด้วย บางทีอยากได้แบบนี้ แต่เราพูดได้ไม่ตรง ภาพที่ออกมาก็เลยไม่เหมือนสิ่งที่คิด จริงๆ แล้วผู้กำกับไม่ต้องถ่ายเก่ง ไม่ต้องจัดแสงเก่ง ไม่ต้องคอสตูมเก่ง แต่ต้องรู้ว่าจะเลือกอะไร ซึ่งตอนทำโปรแกรมหน้าฯ เราไม่รู้เลย ตัวเรื่องออกมาเหมือนที่ตั้งใจนะ แต่ภาพที่ได้ไม่เหมือนที่คิด
แต่เรื่องถัดมาของคุณอย่าง ‘ลัดดาแลนด์’ ทำเงินเกินร้อยล้าน เราพูดได้มั้ยว่านี่คือผลงานที่คุณภูมิใจมากที่สุด?
เราว่ามันคงเป็นหนังที่คนอินที่สุดมั้ง คือถ้าสังเกตดีๆ คนอาจจะชอบพูดว่า ไทยมีหนังผีเยอะมาก แต่หนังผีที่ประสบความสำเร็จจริงๆ มีคนดูเยอะจริงๆ มีน้อยมากนะ มีหนังผีเกินร้อยล้านไม่ถึง 10 เรื่อง เพราะกลุ่มคนดูหนังผีนั้นแคบ แต่ด้วยความที่ลัดดาแลนด์มีประเด็นอื่นๆ มีพาร์ทครอบครัว มีความน่าสนใจของชื่อลัดดาแลนด์ ก็เลยได้คนดูวงกว้างมากกว่าหนังผีทั่วไป แต่ใจจริง ถ้าถามว่าภูมิใจที่สุดมั้ย เราว่าเราภูมิใจในทุกเรื่องที่ตัวเองทำนะ อันนี้ไม่ได้พูดให้ดูดีด้วย (หัวเราะ)
กระทั่งโปรแกรมหน้าฯ ก็ยังนับเป็นผลงานที่คุณภูมิใจเหรอ?
แต่ละเรื่องเราก็ชอบแตกต่างกันไป ตอนทำเรื่องแรกที่รู้สึกไม่ได้ดั่งใจมากมาย เราได้ค้นพบอย่างหนึ่งว่า หนังหนึ่งเรื่องไม่สามารถทำให้ทุกคนถูกใจได้ โปรแกรมหน้าฯ มีสิ่งที่เราชอบ เพราะมันมาจากเรื่องที่เราสนใจจริงๆ ถึงแม้คนจะดูน้อย แต่มันมีกลุ่มของมัน
ตอนหนังฉายใหม่ๆ เราเฟลมาก ตั้งใจจะเลิกทำหนังเพื่อไปเรียนต่อด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นเราดันได้ยินเด็กประถมคุยกันกับเพื่อนว่าหนังที่ชื่อโปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาตน่ากลัวมาก เราตกใจนะ เด็กวัยแค่นี้เข้าโรงหนังด้วยเหรอวะ แล้วน้องๆ ชื่นชมอย่างกับหนังเราเป็นหนังออสการ์
นอกจากนั้นก็มีคนฮ่องกงทักเรามาในอินสตาแกรม บอกว่าชอบโปรแกรมหน้าฯ มาก เป็นแฟนคลับของหนังเรื่องนี้ ผ่านมาหลายปี พอลัดดาแลนด์เสร็จ เราส่งข้อความไปถามว่าได้ดูหนังใหม่ของเรารึยัง เขาตอบว่า ก็ดีนะ แต่เขาไม่อิน ชอบโปรแกรมหน้าฯ มากกว่ามากๆ แล้วก็ชอบที่สุดในทุกผลงานของเรา เราถึงเข้าใจว่าหนังเรื่องหนึ่งไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อทุกคน มันมีทั้งคนชอบ คนเกลียด สำคัญคือตัวเราชอบมันรึยัง ถ้าเราชอบแล้ว ถึงจะมีคนชอบหรือไม่ชอบ สุดท้ายมันก็เป็นสิทธิของเขา
ลัดดาแลนด์น่าจะเป็นหนึ่งในผลงานที่ส่งให้คุณได้ทำงานร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ในซีรีส์เรื่อง ‘เคว้ง’ อยากถามแทนแฟนๆ ทุกคนว่า คุณอยากกลับไปทำซีรีส์นี้ต่อให้จบรึเปล่า?
ต้องบอกก่อนว่า เคว้งเป็นโปรเจ็กต์เฉพาะกิจมากๆ ทีแรกเราติดอีกงานหนึ่ง แต่เรายกเลิกงานนั้นพอดี จึงมีโอกาสมาทำเคว้ง ซึ่งเราเข้าไปร่วมก่อนถ่ายแค่ 2 เดือน ทันทีที่เข้าไปก็รู้เลยว่าบทนี้ต้องแก้ มีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนเยอะมาก แต่ด้วยความที่จะต้องเปิดกล้องแล้ว บางอย่างจึงแก้ไม่ทัน เราก็เลยวางทุกอย่างแล้วบอกตัวเองว่า ‘เอาวะ งั้นซีซั่น 1 ปูไว้ แล้วไปเฉลยทุกอย่างในซีซั่น 2 แล้วกัน’
จริงๆ สิ่งที่ปูไว้ในภาคแรกมีคำตอบหมดทุกอย่างในซีซั่น 2 นะ เพียงแต่เราเอาไปใส่ในซีซั่น 1 ไม่ทัน เพราะเขาล็อกไว้ทุกอย่างแล้ว เราทำได้แค่ปรับให้พอจะสมเหตุสมผลกับประเทศไทย เพราะเดิมทีฉากของเรื่องเกิดในต่างประเทศ คือเด็กโรงเรียนเอกชนที่รวยมากๆ อยู่บนเกาะห่างไกล มันมีที่ไหนล่ะในไทย ไม่มี ทีแรกจะเป็นซีรีส์ที่อินเดีย แต่สุดท้ายด้วยงบที่สูงมาก ยอดผู้ชมทั่วโลกก็ไม่สูงพอจะเอื้อให้สร้างภาคต่อจริงๆ
ว่ากันตามตรง เส้นทางการเป็นผู้กำกับของจิม—โสภณก็มีทั้งรุ่งและร่วง จีดีเอชเห็นอะไรในตัวผู้ชายคนนี้ถึงขนาดยื่นโอกาสให้กำกับหนังเรื่องใหม่เสมอมา?
ไม่มีคนทำหนังผีแล้วมั้ง (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ
เอาจริงๆ จีดีเอชให้ทุกคนทำงานที่ตัวเองอยากทำนะ สมมติเราชอบทำหนังผี ตราบใดที่เราคิดเรื่องได้ แชร์ให้เขาฟังได้ หรือเขามีเรื่องผีๆ ที่เราเห็นภาพและคลิก ถ้าเขาอ่านแล้วโอเค ผ่านโปรเจ็กต์ ก็ทำได้เลย เขาไม่ได้จำกัดว่าให้ใครทำ ไม่ให้ใครทำ มันอยู่ที่ใครขึ้นโปรเจ็กต์ แล้วเขาเห็นว่ามีศักยภาพที่จะไปต่อ จีดีเอชก็พร้อมให้โอกาส เป็นแบบนี้หมดเลย
แปลว่าคุณมีไฟในการขึ้นโปรเจ็กต์?
เป็นเรื่องของจังหวะโอกาสมากกว่า อย่างเรื่องบ้านเช่า บูชายัญ พี่เก้ง—จิระ มะลิกุล เคยชวนคุยตั้งแต่ก่อนทำเคว้งอีกนะ แต่ตอนนั้นไอเดียเป็นคนเช่าบ้านน่ากลัว อันตราย ดูคุกคามเจ้าบ้าน เราลองเขียนอยู่ 3-4 เดือน รู้สึกมองไม่เห็นทาง ก็เลยคืนโปรเจ็กต์เขาไป ไปทำเคว้งก่อน
ผ่านมา 2-3 ปี ทำเคว้งเสร็จสรรพ เพิ่งมาคลิกไอเดียตอนเห็นข่าว เจอว่า เห้ย ปกติเราไม่กลัวคน คนแบบเดียวที่เราจะกลัวคือคนที่มีพลังไสยศาสตร์ ก็เลยเสนอไอเดียเขาไป เป็นบ้านเช่ากับลัทธิดีมั้ย เขาก็สนใจ ก็เลยได้เริ่มทำกัน
บ้านเช่า..บูชายัญต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องก่อนหน้าของคุณยังไง?
ต่างมากเลยนะ บอกไงดี อันดับแรก ทุกเรื่องที่เราทำมา ถ้าเป็นผีจ๋าๆ มีแค่โปรแกรมหน้าฯ กับลัดดาแลนด์ ตอนฝากไว้..ในกายเธอ หรือเพื่อนที่ระลึก เราพยายามจะหามุมใหม่ๆ ในการเล่าผี ก็เลยออกมาเป็นหนังที่ไม่ใช่ผีขนาดนั้น บ้านเช่าฯ ก็เหมือนกัน แน่ๆ ล่ะ พอเป็นผู้เช่า เป็นลัทธิก็ไม่ใช่ผีแล้ว ความน่ากลัวอยู่ที่คน อยู่ที่ความเป็นลัทธิประหลาด เราหยิบวิธีการเล่าแบบนึงที่หนังผีทั่วไปไม่ใช้ แต่มันโปรโมตไม่ได้น่ะว่าคือแบบไหน (หัวเราะ)
คือสิ่งนี้ไม่ได้ใหม่ในวงการภาพยนตร์นะ แต่มันใหม่กับการทำหนังผี ก็ซับซ้อนหลายอย่างตอนทำ วางหมากยากพอสมควร คนดูก็น่าจะเซอร์ไพรส์อยู่นะ บอกเลยว่าตัวอย่างเป็นแค่จุดเริ่มต้น
ตั้งใจทำขนาดนี้ กังวลมั้ยว่าหนังจะโดนลดรอบฉาย?
รู้สึกว่าถ้าโรงหนังแฟร์ๆ และคนชอบหนังเราก็ไม่ได้กังวล สุดท้าย ถ้าหนังยังมีคนดู เขาก็คงไม่ลดรอบเราขนาดนั้นหรอก ก็หวังว่ามันจะโอเค
รู้มั้ยว่ามีคนตั้งฉายาให้คุณว่าเป็น ‘เจ้าพ่อหนังผีอสังหาริมทรัพย์’ ?
เจอประจำฮะ (หัวเราะ)
เจอแล้วรู้สึกยังไงบ้าง?
เอาจริง แอบขำเหมือนกันนะ แต่ไม่ได้รู้สึกรังเกียจและไม่คิดว่าเป็นความเห็นเชิงลบ รู้สึกว่า เออ มันก็คิดแบบนั้นได้เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา อสังหาฯ ก็เป็นเหมือนตัวละครสำคัญในหนังเราจริงๆ แต่เราไม่ได้ตั้งใจแบบนั้นแต่แรก ตอนคิดงานกับพี่ๆ โปรดิวเซอร์ เราไม่เคยเริ่มจาก คิดหนังผีบ้านเช่ากันมั้ย ไม่ได้มีสถานที่เป็นเป้า มักจะหามากกว่าว่าเรากลัวอะไร มองเห็นคนแบบไหน ถึงค่อยๆ สร้างเป็นเรื่อง
แต่ถามว่ามีคิดจากสถานที่บ้างมั้ย ก็มีบ้าง เออ หนังผีหมู่บ้านไม่เคยมีแฮะ บ้านผีสิงมี แต่ผีในหมู่บ้านไม่มีนะ ในลัดดาแลนด์ ผีอยู่รอบหมู่บ้านเลย แต่ในบ้านไม่มีผี เป็นเงื่อนไขใหม่ๆ ให้ตัวละครเผชิญหน้า เออ ถ้าผีไม่อยู่ในบ้าน แต่อยู่รอบบ้านเต็มไปหมด จะยังกล้าอยู่บ้านนั้นมั้ย แต่เราไม่ได้ตั้งใจขนาดที่ว่าต้องเป็นอสังหาฯ หนึ่ง สอง สาม อะไรแบบนั้น
หลายคนบอกว่าดูหนังผีได้แค่ความตกใจ ไม่ได้แง่คิดอะไรเลย คุณเห็นด้วยมั้ย?
เราว่ามันอยู่ที่คุณมองเห็นรึเปล่ามากกว่า โอเค ส่วนหนึ่งหนังผีไม่ใช่หนังที่จะเอาแง่คิดมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง หนังผีคือความบันเทิงที่ปล่อยให้คนดูสนุกกับความน่ากลัว แต่มันก็มีสิ่งที่พูดถึงของมัน อย่างหนังเราเองก็มีประเด็นที่เล่าแตกต่างกันไป อยู่ที่ว่าใครจะมองเห็นมั้ยมากกว่า ก็ไม่แน่ใจว่าคนพูดพูดในบริบทไหนด้วย
ทำหนังมาจนถึงวันนี้ ชีวิตผู้กำกับให้อะไรและเอาอะไรไปจากคุณบ้าง?
เอาเวลา (หัวเราะ) คือเวลาทำหนังไม่เหมือนกับทำโฆษณาหรือเอ็มวี งานพวกนั้นอาจจะทำเป็นกิจวัตรได้ มีตารางเวลาชัดเจน วีคนี้ทำวันนี้ถึงวันนี้ โฆษณาก็ทำแล้วจบไป แต่หนัง อาจจะด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่ตัวเราอยากจะสื่อสารเองด้วย พอเราตั้งโจทย์ว่านี่คือ ‘ผลงาน’ ของเรา มันเลยไม่เคยมีเวลาเลิกงาน คิดอยู่เรื่อยๆ จะกรุ่นๆ ในหัวตลอดต่อให้เลิกประชุมไปแล้ว ถ่ายเสร็จ 1 วัน คนอื่นอาจจะพักผ่อน แต่เราจะคิดต่อว่า พรุ่งนี้ถ่ายอะไรดีวะ วันนี้พลาดอะไร ต้องไปถ่ายซ่อมเพิ่มรึเปล่า เป็นงานที่กินเวลาชีวิตเยอะมากจนไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลาว่างและเวลาจริง ทุกวันนี้ก็พยายามแบ่งเวลาอยู่
แล้วให้อะไรกลับมาบ้างมั้ย?
ที่เราได้มากๆ คือผลงาน หนังทุกเรื่องที่ทำไม่ได้จบแล้วจบเลย มันมีผลลัพธ์บางอย่างให้เราเห็นเสมอ เวลาหนังฉาย เราชอบไปยืนดูหลังโรง ดูคนเอนจอยกับหนัง บางอาชีพไม่มีโมเมนต์แบบนี้ เป็นความพอใจบางอย่าง เห็นคนดูสนุกกับมัน อย่างที่บอก แค่มีเด็กคนหนึ่งบอกเราว่าเขาเข้าใจพ่อมากขึ้น เห้ย มันรู้สึกดีมากเลย รู้สึกว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไปได้ผลลัพธ์กลับมาแล้ว
เหมือนเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่าใช่มั้ย?
ใช่ ทุกวันนี้ยังมีคนมาบอกเราอยู่เลย ‘ชอบเรื่องนี้มากค่ะ หนูดูตอนอยู่ ป.5’ ฟังแล้วแก่มาก (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในหมุดหมายบางอย่างของชีวิตเขา หรือเวลาเรากลับไปดูงานเก่าๆ ของตัวเอง มันก็ได้เห็นการเจริญเติบโตของสิ่งที่เราทำมาด้วย
ถ้าจิม—โสภณไม่ได้เป็นผู้กำกับ วันนี้เขาจะทำอะไรอยู่?
โห ยากมากเลยอะ ไม่เคยมีความตั้งใจอย่างอื่นนะ อ๋อ แต่ค้นพบอย่างหนึ่งว่า นอกจากคิดบทแล้ว ตัวเองเป็นคนชอบชอบคิดฟังก์ชันบ้าน ถ้าผันตัวเองได้ก็คงจะอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับบ้าน คือเราโตมากับบ้านขนาดเล็ก เมื่อก่อนอยู่ตึกแถวที่นางเลิ้ง พอได้ที่ใหม่ เรามักจะได้เป็นที่เล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายให้ใหญ่ขึ้น จะไม่ใช่การซื้อบ้าน แต่เป็นการได้ที่มาแล้วต้องคิดว่าอยากสร้างบ้านแบบไหน มีฟังก์ชั่นแบบไหน ซึ่งเราเอนจอยกับอะไรแบบนี้ สนุกกับการคิดว่า เออ มีห้องตรงนี้สิ ตรงนั้นสิ เพลินมาก อยู่ได้ทั้งวัน
สุดท้าย ถ้าคนอ่านกำลังจะไปดูบ้านเช่า บูชายัญ คุณอยากแนะนำเขาว่าอะไร
เราขอฝาก 2 อย่าง อย่างแรก ไลฟ์สไตล์คนเราเปลี่ยนไปก็จริง เดี๋ยวนี้เราดูหนังที่บ้านได้มากขึ้น แต่เราว่าหนังผีหรือหนังสยองขวัญต้องดูในโรงภาพยนตร์ ดูกับคนหมู่มาก ซึมซับบรรยากาศแบบนั้น เพราะถ้าพลาด ไม่ทันดูโรง ต่อให้ได้ดูที่บ้าน ความสุขในการดูก็อาจจะหายไปครึ่งหนึ่ง
สองคืออยากให้เข้าไปดูแบบไม่รู้อะไรเลย เพราะเนื้อเรื่องบางอย่าง ถ้ารู้ก่อนคงเสียดายมาก จะทำลายบรรยากาศที่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าอยากดู อยากให้หลับหูหลับตา อย่าอ่านสปอยล์จะเวิร์กที่สุด
5 ชั่วโมงหลังจากนั้น เราก็มีโอกาสรับชมบ้านเช่า..บูชายัญ รอบปฐมทัศน์ สิ่งที่โดดเด่นออกมาจนต้องเอ่ยชมคือทักษะการแสดงของสองตัวนำที่ทำให้เรารู้สึกร่วมได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ในส่วนของเนื้อเรื่องและการกำกับเองก็น่าตื่นตาไม่แพ้กัน เรื่องราวอาจมีส่วนที่ขาดเกินบ้าง ทว่าด้วยกลวิธีที่จิม—โสภณบอกใบ้ตอนให้สัมภาษณ์ก็ช่วยให้หนังน่าติดตามตั้งแต่เปิดเรื่องจนถึงเอนด์เครดิต ต้องลุ้นตัวเกร็งกันจนวินาทีสุดท้ายว่าความสะพรึงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเจ้าของบ้านเช่าจะคลี่คลายอย่างไร
และแม้จะใส่ไว้เพียงเล็กน้อย แต่เราก็พอจะมองเห็นประเด็นหลักผักชิ้นที่แทรกตัวอยู่ในแฮมเบอร์เกอร์แห่งความสยองขวัญที่ผู้กำกับตั้งใจมอบให้คนดู บ้านเช่า บูชายัญอาจเต็มไปด้วยความน่ากลัวในจอก็จริง แต่เมื่อเราถอยสายตาออกมาหนึ่งระยะ เราก็จะเห็นบรรยากาศภายในโรงซึ่งอบอวลไปด้วยความอบอุ่นที่เกิดจากความใกล้ชิดของผู้ชม…
นี่คงเป็นเสน่ห์ซึ่งเจ้าพ่อหนังผีอย่าง จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฏ์หลงรักไม่เคยเปลี่ยน