“A wizard is never late Frodo Baggins, nor is he early. He arrives precisely when he means to”
“พ่อมดไม่เคยมาสาย โฟรโด แบกกินส์ มาก่อนก็ไม่เคย แต่จะมาตรงเวลาดังที่ตั้งใจ”
บทสนทนาต้นเรื่องของแกนดัลฟ์ พ่อมดเทาผู้โด่งดังจากเรื่อง The Lord of the Rings ที่แฟนพันธุ์แท้ล้วนจำขึ้นใจ ถูกนำกลับมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อรถทัวร์ชมหมู่บ้านฮอบบิทตันเลี้ยวเลาะไปตามเนินเขาสีเขียวขจีกว้างสุดลูกหูลูกตา เป็นทัศนียภาพที่แฟนหนังล้วนจำได้ดีว่านี่แหละ คือ ‘ไชร์’ อาณาจักรของเหล่าฮอบบิท
ดินแดนแสนมหัศจรรย์ในโลกแฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง มีอยู่จริงในประเทศนิวซีแลนด์
แต่ไม่ใช่แค่ไชร์เท่านั้น ริเวนเดลล์ หนึ่งในอาณาจักรของเผ่าเอลฟ์, เหมืองมอร์เรีย, อาณาจักรโรฮัน, อาณาจักรกอนดอร์, ดิมโฮลท์ หุบเขาที่อารากอน กิมลี และเลโกลัสเดินทางไปหากองทัพคนตายให้มาร่วมสู้ในภาคสุดท้าย ไปจนถึงมอร์ดอร์ จุดหมายปลายทางที่โฟรโดจะต้องนำแหวนไปทำลาย – ทั่วทั้ง ‘มิดเดิลเอิร์ธ (Middle-Earth)’ นั้นมีอยู่จริงในประเทศนิวซีแลนด์
เวลาล่วงเลยมา 20 ปีหลังหนังภาคแรกของ The Lord of the Rings เข้าฉายในโรง แม้ภาพความเป็นมิดเดิลเอิร์ธจะยังคงตราตรึงในใจใครหลายคน แต่ทุกวันนี้ นิวซีแลนด์กลายเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง – ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นการเดินทางสู่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวนั้น มาจากอิทธิพลที่หนังแห่งแหวนได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ แล้วภาครัฐก็นำมาสานต่อ จนกลายเป็นสุดยอดตัวอย่าง soft power ที่น่าสนใจให้กับที่อื่นๆ ทั่วโลก
ที่มาของการสร้างหนังในตำนาน ณ นิวซีแลนด์
แม้ทุกวันนี้หลายคนอาจนึกภาพประเทศนิวซีแลนด์คู่กับทัศนียภาพสุดอลังการ แต่ต้องบอกก่อนว่า เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น นิวซีแลนด์ยังไม่ได้เป็นที่จับตามองในสายตาชาวโลกมากนัก ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่สุดขอบแผนที่ (บางแผนที่ตัดขอบจนนิวซีแลนด์หายไปเลยด้วยซ้ำ) และจำนวนประชากรที่มีน้อยกว่าแกะเสียอีก
แต่เมื่อกองถ่ายทำของผู้กำกับชื่อดัง ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) แพนกล้องมาถ่ายทำหนังเรื่อง The Lord of the Rings (2001) นิวซีแลนด์ก็กลายเป็นที่มุดหมายของนักเดินทางทั่วโลกขึ้นมา
บางคนอาจยังไม่ทราบว่า ผู้กำกับชื่อดังคนนี้เป็นชาวกีวี่ขนานแท้ เขาเติบโตที่อ่าวพูเครัว (Pukerua Bay) ชายฝั่งใกล้กับเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศนิวซีแลนด์ ปีเตอร์หลงใหลในการทำภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก และพิสูจน์ผลงานในแวดวงฮอลลีวูดมาแล้วหลายเรื่อง จนปี 1997 ที่เขาได้รับลิขสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์จากนิยายของ เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน (J.R.R Tolkien) ปีเตอร์ก็เลือกที่จะใช้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ทั้ง 3 ภาค
หลังจากนั้นก็อย่างที่เราทราบกัน The Lord of the Rings กลายเป็นหนังไตรภาคที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ และภาคสุดท้าย The Return of the King ถือเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นที่จับตาของชาวโลก ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และสถานที่ท่องเที่ยว
“เราจะมองทิวทัศน์จากมุมมองทางศิลปะ อย่างแรกคือดูว่ามันเหมาะสม และดูราวกับหลุดออกมาจากหนังสือของโทลคีนไหม จากนั้น ก็ค่อยมองในมุมมองทางเหตุผล เพราะว่าสิ่งที่สองที่เราต้องพิจารณาคือ เราจะจอดรถบรรทุกกันไว้ที่ไหน เราจะเลี้ยงดูทีมงานกันยังไง มีถนนไหม – ซึ่งบางทีก็ไม่มีหรอก – แต่สิ่งเหล่านั้นก็หยุดเราไม่ได้ ดังนั้น ในขณะที่มีหลายอย่างที่เราต้องคำนึงถึง สิ่งแรกที่เราจะพิจารณากันหลักๆ ก็คือ ‘สถานที่นี้เหมือนกับคำบรรยายในหนังสือไหม?’” คำอธิบายถึงการเลือกสถานที่ถ่ายทำหนังจากแจ็กสัน
ขณะที่เหล่านักแสดงคนอื่นๆ ก็มองว่า นิวซีแลนด์คือดินแดนอันเหมาะสมกับการสร้างมิดเดิลเอิร์ธมาเช่นกัน อย่าง เอไลจาห์ วูด (Elijah Wood) ผู้รับบทเป็น โฟรโด ตัวเอกของเรื่อง ก็เคยกล่าวไว้ว่า การจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สำเร็จ คงต้องเดินทางไปทั่วโลก แต่ทุกๆ องค์ประกอบของมิดเดิลเอิร์ธกลับมารวมกันอยู่ที่นิวซีแลนด์แล้ว
“นิวซีแลนด์มีภูมิทัศน์ที่แตกต่างหลากหลายมากๆ
ตั้งแต่ภูเขา ป่าไม้ บึง ทะเลทราย ทิวเขา และทะเล
ทุกสิ่งทุกอย่างถูกพรรณนาไว้ใน The Lord of the Rings”
ไม่เพียงแต่หนังไตรภาคของ The Lord of the Rings ในจักรวาลเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง The Hobbit ซึ่งฉายใน 2012 ก็ถ่ายทำในประเทศเกาะแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน บางสถานที่ก็เป็นโลเคชั่นที่เคยใช้ไปแล้วใน The Lord of the Rings ซึ่งโดยรวมแล้ว จักรวาล The Lord of the Rings ใช้สถานที่ถ่ายทำในนิวซีแลนด์ไปมากถึง 150 แห่งเลยทีเดียว
ยินดีต้อนรับเหล่านักเดินทางสู่มิดเดิลเอิร์ธ
ก่อนหน้านี้ คนมาเที่ยวนิวซีแลนด์เพราะรู้กันว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ในตำนาน แต่หลังจากนั้น มันก็กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่อยากมาเยี่ยมชมสถานที่สวยๆ งามๆ โดยทั่วไปแล้ว
“เราเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 50% นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring ออกฉายในปี 2001” เกรก แอนเดอร์สัน (Gregg Anderson) ผู้จัดการทั่วไปด้านตลาดการท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Forbes เมื่อปี 2012
อย่างไรก็ดี เกรก แอนเดอร์สันมองว่าภาพยนตร์สุดโด่งดังนั้นไม่ใช่เพียงแค่สาเหตุเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์เติบโต
“นักท่องเที่ยวประมาณ 1% กล่าวว่าลอร์ดออฟเดอะริงส์คือเหตุผลที่พวกเขามา เป็นเพียง 1% เท่านั้น แต่นั่นมีมูลค่า 33 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ราว 7.11 ร้อยล้านบาท) ต่อปี และอีก 6% ของนักท่องเที่ยว อ้างว่า The Lord of the Rings เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พวกเขามา แต่สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือเป้าหมายของเรามากกว่า 80% เข้าใจว่า The Lord of the Rings และ The Hobbit มาถ่ายทำในนิวซีแลนด์”
หนึ่งในสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์และกลายเป็นแลนด์มาร์กสุดฮอตฮิตก็คือ ฮอบบิทตัน (หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า มาทามาทา) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของเหล่าฮอบบิทที่ถูกเนรมิตขึ้นมาจริง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เกรกมองว่าดึงดูเทรนด์การท่องเที่ยวขนาดใหญ่เทรนด์หนึ่งมาได้ นั่นคือ การท่องเที่ยวข้ามรุ่น หมายถึงการเที่ยวกันของของครอบครัวแบบ 3 รุ่น ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หรือไปจนถึงหลาน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การท่องเที่ยวตามรอยหนังดังเรื่องนี้ กลายเป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ไปอย่างปฏิเสธไม่ได้
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าแค่หนังอย่างเดียวจะทำให้คนแห่มาเยือนประเทศแห่งนี้หรอกนะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสนับสนุนของภาครัฐ ที่ดึงเอาภาพยนตร์เรื่องนี้มาช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวต่างๆ ตั้งแต่ แอร์นิวซีแลนด์ สายการบินแห่งชาติของประเทศที่สาธิตความปลอดภัยบนเครื่องบินด้วยธีมมิดเดิลเอิร์ธ ไปจนถึงการแสตมป์ตราตรวจคนเข้าเมืองลงบนพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวว่า “Welcome to Middle-Earth”
ไม่เพียงเท่านั้น ฮอบบิทตัน หมู่บ้านที่โฟรโดและบิลโบอาศัยอยู่ ก็ถือกำเนิดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นกัน ไกด์ประจำฮอบบิทตันเล่าให้เราฟังเมื่อครั้งไปเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ว่า รัฐบาลเองก็มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการสร้างหมู่บ้านดังกล่าว ด้วยการลดหย่อนภาษีให้ ขณะเดียวกัน บริเวณโดยรอบของฮอบบิทตันนั้นไม่มีถนนตัดผ่าน จึงยากต่อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ก่อสร้าง กองทัพนิวซีแลนด์จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างและขนย้ายสิ่งต่างๆ ด้วยเช่นกัน
เดิมที หลังจากสร้างหนังไตรภาค The lord of the Rings จบ กองถ่ายทำพยายามจะรื้อถอนหมู่บ้านของเหล่าฮอบบิทออกไป แต่ก็ยังมีส่วนหน้าบ้านที่เป็นไม้อัดเปลือยอยู่ 17 หลัง บ้านเหล่านี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชน จนในที่สุดก็เกิดเป็นธุรกิจทัวร์ชมหมู่บ้านชาวฮอบบิทขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 และในปี 2009
เมื่อต้องกลับมาถ่ายทำภาพยนตร์ไตรภาคเรื่อง The Hobbit ปีเตอร์ แจ็กสันก็เลือกที่จะทิ้งฉากประกอบของหมู่บ้านฮอบบิทเอาไว้ โดยคราวนี้กองถ่ายสร้างบ้านขึ้นใหม่อย่างถาวร 44 หลัง แต่ละหลังยังคงประกอบไปด้วยรายละเอียดต่างๆ แบบเดียวกับที่เราเห็นในภาพยนตร์
แม้ว่านิวซีแลนด์จะไม่ได้เพิ่งเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่องนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของภาพยนตร์ในตำนานดังกล่าวทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นหนึ่งในมุดหมายของเหล่านักเดินทางทั่วโลก
วงการภาพยนตร์เฟื่องฟูตามหนังในตำนาน
ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเท่านั้น อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เฟื่องฟูขึ้นด้วยอิทธิพลของหนังเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในนิวซีแลนด์
กระบวนการทำหนังของปีเตอร์ แจ็กสัน สร้างอาชีพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งสตูดิโอของปีเตอร์เอง อย่าง Weta Workshop Stone Street Studios และ Park Road Post Production ก็ล้วนมีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์เช่นกัน
ประเด็นนี้ เกรก แอนเดอร์สันกล่าวว่า อุตสาหกรรมจอภาพยนตร์มีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 64 พันล้านบาท) ซึ่งสะท้อนว่า นิวซีแลนด์ไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ถึงอย่างนั้น อุตสาหกรรมนี้สนับสนุนธุรกิจ 2,700 แห่ง
“นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ประกอบด้วยธุรกิจขนาดเล็กและในจำนวนนั้น 95% มีส่วนร่วมในงานการผลิตและงาน post production และจากทั้งหมดนั้น 80-90% ของรายได้จากจอนั้นมาจากโปรดักชั่นในอเมริกาเหนือ”
ยิ่งกว่านั้น ทีมงานในการถ่ายทำก็เป็นคนท้องถิ่นเสียส่วนใหญ่
ตั้งแต่ฝ่ายเทคนิค ยันนักแสดงเอ็กซ์ตรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างฐานทักษะ
ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์อย่างมหาศาล
ขณะเดียวกัน ในกระบวนการสร้างหนังดังกล่าวนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ให้การสนับสนุนด้วยการลดหย่อนภาษีให้กับเงินทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในการสร้าง The Lord of the Rings ที่นิวซีแลนด์ด้วยเช่นกัน หรือในซีรีส์ของ Amazon อย่าง Rings of Power ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อปี 2022 ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งแต่ขั้นตอนการถ่ายทำจนถึง post production (แม้ว่าซีซั่นสองกองถ่ายจะย้ายไปที่สหราชอาณาจักรแทนก็ตาม)
ไม่เพียงแต่ The Lord of the Rings เท่านั้นที่ได้เป็นหนังในตำนานและมาถ่ายทำที่นิวซีแลนด์ ยังมีภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่องอื่นๆ เช่น The Last Samurai (2003), The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) และ Avatar (2009) ที่มาถ่ายทำที่นี่ด้วยเช่นกัน
มากไปกว่าการสร้างทักษะและการจ้างงาน ภาพยนตร์เหล่านี้ยังช่วยเติมเต็มความฝันของชาวกีวี่รุ่นใหม่เองให้เติบโตตามไปด้วย โดยมีหลักฐานจากหลักสูตรภาพยนตร์และจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นั่นยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า อิทธิพลของหนังเมื่อถูกผลักดันอย่างถูกที่ถูกทาง ก็กลายเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจ ความฝัน และแรงบันดาลใจให้กับคนในประเทศได้เหมือนกัน
แม้เวลาจะผ่านมานาน 20 ปี แต่เพราะการสนับสนุนและส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้อิทธิพลของแหวนยังคงปกคลุมทั่วมิดเดิลเอิร์ธในโลกแห่งความเป็นจริง
อ้างอิงจาก
Ian Brodie. (2003). The Lord of the Rings: Location Guidebook. HarperCollinsPublishers