ภาษาอังกฤษจำเป็นก็จริง ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็หวังว่าถ้าพูดภาษาเขาไม่ได้ อย่างน้อยก็พูดภาษาอังกฤษได้น่ะ แต่บนโลกนี้ภาษามากมายถึง 5,000 ภาษา ที่รอให้เราไปเรียนรู้ และบางครั้งสิ่งที่เราสนใจก็นำเราไปสู่การฝึกฝนภาษาใหม่ๆ เพื่อที่จะเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้น
บางคนอาจไปลงเรียนอย่างจริงจัง บางคนอาจเรียนเองฝึกเองที่บ้าน โดยเริ่มจากการหาอ่านเอง ฝึกใช้เอง หรือดูซีรีส์ต่างๆ หรือต่อให้เรียนมา ไม่ใช้ ไม่ฝึก มันก็พาลจะลืมไปได้ง่ายๆ The MATTER เลยไปสอบถามคนที่ฝึกภาษาต่างๆ ด้วยตัวเอง ทั้ง จีน เกาหลี ฮินดี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน ไปจนถึงภาษาละติน ว่าพวกเขามีวิธีการเรียนรู้และฝึนด้วยตัวเองอย่างไรบ้าง
ณัฐพร เจริญสินธุ์
อาชีพ : กองบรรณาธิการ
ภาษาเกาหลี
“ตอนนั้นเราได้ฟังเพลงเกาหลีจากแชแนลลวี แล้วรู้สึกชอบดนตรีเขา แต่เราไม่เข้าใจเนื้อเพลงค่ะ คือสมัยที่เริ่มฟังเพลงเกาหลี เทรนด์เกาหลียังไม่แพร่หลายเท่าตอนนี้ พวกคำแปลเอย อะไรเอยหาที่ถูกต้องค่อนข้างยาก เราเลยเริ่มเรียนง่ายๆ ก่อน จากพวกตัวอักษร บวกกับตอนนั้นได้ทุนไปเรียนที่เกาหลี เลยยิ่งมีแรงฮึดค่ะ มีความฝันว่าเราจะต้องฟังโอปป้าพูดในรายการและฟังเพลงเข้าใจโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น
“เราเริ่มจากพยายามจำตัวอักษร จำวิธีการออกเสียงค่ะ ช่วงแรกๆ พยายามท่องศัพท์ด้วย เพราะเราไม่มีพื้นฐานเลยและคิดว่าถ้าไม่ได้ศัพท์เลย ก็จะไม่สามารถพูดหรือฟังเข้าใจได้ ซึ่งตัวเราเองค่อนข้างไม่ชอบท่องศัพท์เท่าไหร่ ความจำก็ไม่ค่อยดี เลยอาศัยว่าฟังบ่อยๆ พูดบ่อยๆ ทำความเข้าใจให้มากขึ้นแทนการท่องจำ สังเกตว่าศัพท์ตัวนี้หมายถึงอะไร หรือประโยคนี้พูดยังไง เขาตอบยังไง ใช้ในรูปแบบไหนได้บ้าง ไปพร้อมๆ กับการหารูปแกรมม่าที่ถูกต้องประกอบ มันทำให้เราจำได้และเข้าใจง่ายมากขึ้นค่ะ”
นบกมล ธนยากร
อาชีพ : พิสูจน์อักษร
ภาษาฮินดี
“เราหลงใหลในวัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศอินเดีย และเราก็ไปอินเดียบ่อย หลายๆ ครั้งอยากถามอะไรให้ลึกซึ้ง ก็ดันมีกำแพงภาษากั้นอยู่ ขัดใจ เพราะคนอินเดียที่พูดอังกฤษได้มีแค่ในเมืองหลวงรัฐต่างๆ
“เราเลยเริ่มเรียนรู้ภาษาฮินดีและใช้หลักการเดียวกับตอนเราเรียนภาษาไทย คือไม่ใช่ท่องว่าคำต่างๆ ในภาษาฮินดีแปลว่าอะไรในภาษาไทย เราจะจำเป็นอารมณ์ เป็นภาพของสิ่งนั้นๆ ไปเลย เช่น คำว่า gobi (गोबी) แปลว่ากะหล่ำดอก เราก็จะไม่ท่องว่า โกบิ = กะหล่ำดอก แต่เชื่อมภาพของกะหล่ำดอกเข้ากับคำว่า โกบิ แทน ซึ่งคิดว่าพอจำแบบนี้มันเร็วดี เราไม่ต้องไปนั่งท่องว่าคำนี้แปลว่าอะไรให้ซับซ้อน”
ปณิตา เรืองปราชญ์
อาชีพ : นักศึกษา
ภาษาสเปน
“เราคิดว่าสเปน เป็นภาษาที่น่าสนใจและมีประโยชน์ในอนาคต เพราะมีหลายประเทศที่ใช้ภาษาสเปน เราฝึกจากเรื่องที่ชอบ เช่นฟังเพลงสเปน จริงๆ เพลงที่ฮิตช่วงนี้ก็มักมีเพลงสเปนด้วย คนอื่นก็อาจเอาความบันเทิงอย่างเดียวแต่ถ้าเราสามารถแปลและเข้าใจความหมายได้ก็น่าจะดีกว่า ซึ่งเวลามีศัพท์ไหนที่ไม่รู้ก็จะพยายามหาความหมายเสมอ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ”
หนูคุด
ภาษาญี่ปุ่น
“ตอนแรกเราไม่ได้จะฝึกด้วยตัวเอง แต่เราตามนักร้องญี่ปุ่น เวลาฟังเพลงก็ร้องตามได้ ดูรายการ ฟังวิทยุทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่อง จนวันนึงไปลงคอร์สเรียนแล้วรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ว่าอ้าว คำนี้แปลว่าแบบนี้นี่ คำนั้นอยู่ในเพลงนั้นไง คำนั้นที่เขาชอบพูดบ่อยๆ ทำให้เราเรียนได้เร็วมากๆ หรือเวลาดูซีรี่ส์ ถึงไม่ได้เรียน อย่างน้อยก็ต้องมีสักคำที่เราจำได้ไปตลอดเพราะตัวละครในเรื่องนั้นพูดบ่อยมาก ถ้าเป็นซีรีส์สืบสวน เราก็จำคำว่าคนร้าย คดี ตำรวจ อะไรพวกนี้ได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นศัพท์ยาก
“การดูซีรีส์ทำให้เรารู้ศัพท์ที่พูดในชีวิตประจำวัน หรือภาษาพูดเยอะมาก เพราะในห้องเรียนก็สอนแค่รูปทางการ ภาษาเขียน หรือภาษาที่เขาไม่ได้พูดกันในชีวิตจริง แล้วเราฟังเยอะมากๆ เลยมั่นใจทักษะการฟังมาก แต่เรียนด้วยตัวเองก็มีข้อเสีย คือรู้ว่าสำเนียงที่ดีเป็นยังไง แต่เราพูดไม่ได้เลย ถ้าไปพูดกับคนญี่ปุ่นจริงๆ ก็อ้ำอึ้งนานอยู่ เพราะไม่มีคนให้ฝึกพูดด้วย 5555”
ภูวิศ ลิมวิภูวัฒน์
อาชีพ : Reporter
ภาษาจีน
“ผมมีเชื้อจีนแต่ไม่รู้ประวัติครอบครัวตัวเอง การฝึกภาษาจีนเหมือนทำให้เราได้ใกล้ชิดกับส่วนหนึ่งของ identity ตัวเองที่หลงลืมไป
“วิธีการฝึกคือฟังเพลงจีนแล้วแปลเนื้อเพลงจากจีนเป็นไทย ดูหนังจีน คุยกับคนจีนออนไลน์ พยายามคิดเป็นภาษาจีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไปประเทศที่พูดภาษาจีนเมื่อมีโอกาส แต่ครั้งแรกที่ไปไทเปก็ยังไม่ค่อยได้ฝึกภาษาจีนเท่าไหร่เพราะมีคนพูดภาษาอังกฤษได้เยอะ สุดท้ายผมก็กลัวที่จะใช้ภาษาจีนที่ยังอ่อนแล้วไปใช้ภาษาอังกฤษในการเดินทางเป็นหลักอยู่ดี
“แต่พอมีโอกาสไปไทเปครั้งที่สอง ผมรู้ว่านี่เป็นโอกาสฝึกภาษาจีนที่ดีมาก เลยสัญญากับตัวเองว่าครั้งนี้จะพูดแต่ภาษาจีนอย่างเดียว ถ้าคำไหนไม่รู้ก็สื่อสารด้วยการใช้นิ้วเอา ต้องบอกเลยครับว่ากลับมาแล้วรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ถึงแม้ภาษาจีนจะยังไม่เก่ง แต่เราก็ได้เอาสิ่งที่ตัวเองเรียนมา มาเอาตัวรอดได้จริงๆ ทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะฝึกฝนภาษาจีนต่อไป การได้พูดคุยภาษาจีนกับคนท้องถิ่นยังจะทำให้เราเก่งมากขึ้นเยอะด้วยครับ”
Amy
ภาษาฝรั่งเศส
“เราชอบทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น ภาษา คน วัฒนธรรม การใช้ชีวิต เพลง สำเนียง วิธีการฝึกของคือ ฟังเพลง อ่านบล็อก นำความรู้ คำศัพท์ รูปประโยคไปพูดกับเจ้าของภาษา มีเพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษา ก็พยายามพูดกับเขาเวลาเจอกัน คือหลายแบรนแฟชั่นที่สนใจก็เป้นภาษาฝรั่งเศส เราเลยอยากเรียกให้ถูก ใช้ให้เป็นค่ะ”
Swish and Flic
ภาษาละติน
“เราคลั่งแฮร์รี่ พอตเตอร์มากๆ เลยอยากเข้าใจภาษาละตินที่เป็นรากฐานคำศัพท์มากมายของจักรวาลนี้ ตอนเด็กๆ เราเริ่มรู้ว่าหลายๆ คาถามาจากรากศัพท์ภาษาละติน จากการอ่านหนังสือเจาะลึกต่างๆ แล้วก็เข้าใจไปเองว่าคาถาในเรื่องทั้งหมดคือภาษาละตินแล้วก็แปลตรงตัวเลย เช่น Avis (อา-วิส) แปลว่านก คำอื่นๆ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน ก็คือมองง่ายๆ แบบเด็กๆ จนพอเริ่มโตก็จริงจังขึ้นมา
“เริ่มจากการโหลดแอพพจนานุกรมละตินในโทรศัพท์ แล้วลองถอดคำเล่นๆ แบบหั่นเป็นส่วนเอาเอง แล้วก็เดาว่าบริบทโดยรวมมันน่าจะเป็นงี้แน่ๆ วันไหนเกิดนึกสงสัยอันไหนก็ด้นเองมั่วเอง สรุปเอง และสุดท้ายตอนช่วงปีสี่ นึกอยากจะจริงจังแบบรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาๆ มั่วๆแบบนี้ เลยไปซื้อตำรา wheelocklatin มาอ่าน ผลคืองงมาก แต่ด้วยความที่จิตใจมันอยากรู้ ก็จะมีความพยายามบางอย่างมากกว่าปกติ
“เราเริ่มใหม่ด้วยการไปอ่านพื้นฐานที่มีคนไกด์ไว้ในอินเทอร์เน็ต และเริ่มทำความเข้าใจใหม่อีกครั้งช้าๆ และลองเอามาประยุกต์เองบ้าง ซึ่งก็สนุกดีที่บางคำตอนแรกเราอ่านไปแบบไม่รู้ความหมายแต่พอเริ่มรู้กลไกทางภาษาแล้วเราก็รู้ว่ามีที่มายังไง มันฟินมากเลย
“แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าภาษาละตินเป็นภาษาที่ยากมากและเราก็อยู่ในระดับที่เริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นพอมีแรงบันดาลใจ มีความอยากรู้ มันก็ทำให้เราอยากเรียนรู้และฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ ครับ”