การทำความเข้าใจกลไกของวิวัฒนาการสมอง อาจช่วยให้ห้องเรียนสามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กๆ ได้ดีกว่าเมื่อรู้ว่าสมองในช่วงเติบโตต้องการอะไร แต่สถานศึกษาส่วนใหญ่ล้วนละเลยทักษะการเรียนรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (Innate leaning skill) จึงจับมันแยกกับโลกวิชาการอย่างสิ้นเชิง
ส่วนหนึ่งมาจากอคติที่ฝังรากลึกอย่างยาวนานเกี่ยวกับวิวัฒนาการการและการแข่งขัน ที่ทำให้เรามองทักษะการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างดูแคลน และเรามักทำอะไรสวนทางกับธรรมชาติของสมองเด็กๆ เสมอ
การคัดสรรโดยธรรมชาติที่ผิดบริบท
พ่อแม่ที่มีลูกในวัยเรียนมักกลุ้มใจกับผลการเรียนของลูกๆ และพยายามลุ้นให้เจ้าตัวน้อยได้เกรดดีๆ กับเขาบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่เมื่อห้องเรียนมีเพียงกระดานดำเท่านั้นที่เป็นเสมือนช่องทางสื่อสาร และเกรดเฉลี่ยเป็นเครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ผลในการเรียน เด็กๆ จึงมักต่อสู้อย่างสิ้นไร้ไม้ตรอกในห้องเรียน พวกเขาดิ้นรนในการศึกษาที่ขัดแย้งกับวิวัฒนาการทางสมองสิ้นเชิง
เด็กเรียนดีควรได้ไปต่อ เด็กเรียนโหล่ก็ไล่ไปอยู่หลังห้อง
ในสถานศึกษาเอง อาจเป็นที่แรกๆ ด้วยซ้ำที่ปลูกฝัง ‘ทฤษฎีการคัดสรรโดยธรรมชาติ’ (Natural Selection) ที่ออกจะเป็นอคติเสียหน่อย โดยอนุมานเอาจากแนวคิดของ Charles Darwin ที่สังคมในศตวรรษที่ 20 มักหยิบมาเป็นกรอบในการจัดระเบียบและทำความเข้าใจวิธีเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเสียทั้งหมด ซึ่งออกจะผิดวัตถุประสงค์ของ Charles Darwin ไปมาก
หากสถานศึกษาดันเป็นที่แรกๆ ที่เด็กๆ เรียนรู้รสชาติของการแข่งขันและการ ‘กลายเป็นผู้แพ้’ พวกเขาก็จะเติบโตอย่างโหยหาการแข่งขัน และบีบคั้นให้คนอื่นตกอยู่ในสถานะผู้แพ้เช่นกัน หลายคนอาจแย้งว่า มันก็ถูกต้องมิใช่หรือตามทฤษฎีการคัดสรรโดยธรรมชาติ ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด แต่เปล่าเลย กรอบความคิดอันเป็นอคตินี้ไม่สามารถนำมาตอบความมหัศจรรย์การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตได้ สมองของเราพวกเรายืดหยุ่นและลื่นไหลกว่านั้นมาก
ดังนั้นหากมองในกรอบของการศึกษาแล้ว ‘การแข่งขัน’ ดูจะเป็นเพียงเครื่องมือเดียวเท่านั้นที่ผลักดันการเรียนรู้ของนักเรียน แล้วละทิ้งวิวัฒนาการการเรียนรู้ของสมองของเด็กๆ ไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย
สมองและวิวัฒนาการ
แก่นของการดำเนินชีวิตแห่งความสามัญที่สุด คือการที่เราต้องเผชิญกับความเคยชินของวิถีชีวิตนั้นซ้ำๆ ทุกวัน แต่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าในหลายร้อยปี พันปี หรือล้านปี ซึ่งสมองของเราส่วนหนึ่งจะรับหน้าที่ทำให้ความเคยชินเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเป็นพลวัตร เพราะมันคาดเดาได้ว่า แต่ละวันคุณตื่นขึ้นมาจะเจอกับอะไร และสมองจะมีชุดความคิดในการคาดเดาล่วงหน้าไว้เสมอ
นอกเหนือไปจากความเคยชิน มันจะมีตัวแปรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงความสามัญนี้ที่อย่างกะทันหันและหนักหนาพอตัว เช่น เหตุสงคราม โรคระบาด ความหิวโหย ความขัดแย้งในสังคม เข้ามาท้าทายของมนุษย์โดยคาดเดาไม่ได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อการอยู่รอดอย่างยิ่งยวด ใครที่สามารถแก้ไขหรือวางชีวิตให้อยู่ในกลไกแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ก็มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบกว่า
ดังนั้นเองสมองของมนุษย์จึงมี 2 ส่วนในการจัดสรรข้อมูล คือ การจัดสรรข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Autopilot) ที่รับมือกับข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นสากลในการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและโลกภายนอก
และการจัดสรรข้อมูลผ่านการตระหนักรู้ (Conscious engagement) ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และทำให้เรามี ‘ดวงตา’ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงอันแตกต่างแม้เพียงน้อยนิดก็ตามในสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย
การทำความเข้าใจการเรียนรู้ทั้ง 2 ระบบของสมอง อาจช่วยให้เราทำความเข้าใจรูปแบบความคิดของเด็กๆ วัยเรียนรู้ พวกเขาคิดอย่างไร แสดงออกอย่างไร จะเห็นได้ชัดว่าทำไมเด็กบางคนถึงเรียนรู้ได้อย่างลื่นไหล ตอบสนองต่อโจทย์ใหม่ๆ ได้ดี แต่ทำไมเด็กอีกคนถึงต้องดิ้นรนมากกว่าเพื่อเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน ตรงนี้เองที่องค์ความรู้ด้านวิวัฒนาการสมองเข้ามาตอบ มันทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้ครูข้ามไปพบกับเด็กๆ ได้โดยมองข้ามบรรยากาศของการแข่งขันที่ถูกสร้างมาจากระบบการศึกษา อคติเกี่ยวกับการคัดสรรโดยธรรมชาติ และมองผู้เรียนเป็นปัจเจกที่มีความแตกต่าง ไม่ใช่ผู้เข้าแข่งขันในกระบวนการแพ้คัดออก
ปรารถนาที่จะเรียนรู้
เมื่อมองการศึกษาผ่านสายตาของวิวัฒนาการแล้วอาจทำให้เรามอง มนุษย์เป็นธรรมชาติมากขึ้น นักทฤษฎีหลายท่านก็นิยมชมชอบกระบวนทัศน์นี้อยู่ไม่น้อย และเห็นว่าหากมนุษย์เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่กระหายหรือปรารถนาที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำไมจะเราคาดคะเนทักษะเด็กมนุษย์ของเราบ้างไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำได้ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้เสียอีก
เด็กบางคนกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมที่มักผูกกับทักษะความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (Innate competencies) โดยการเล่นกับเพื่อนใหม่ๆ ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วพวกเขาปรารถนาที่จะพัฒนาทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการเติบโต ผู้ใหญ่สามารถสนับสนุนและเสริมแรงเชิงบวกกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ
เด็กๆ มักมีความสุขลดลงจากการทำการบ้าน และไม่กระตือรือร้นนักหากเทียบกับการให้พวกเขาพูดคุยกับเพื่อนๆ เพราะในวิวัฒนาการสมองและช่วงวัยนั้นกำลังขับดันให้เด็กๆ ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับมนุษย์ในวัยเดียวกัน
แต่การศึกษามักใช้ระเบียบหรือกรอบที่เข้มงวดจัดเข้ามากดทับบริบทนี้จนเกินไป และไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำความรู้จักกับตนเองหรือเข้าใจโครงสร้างประสบการณ์ต่อตน (self-schema) ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนได้เลย
มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนไม่ใช่น้อย หากเด็กยังไม่มีแนวคิดหรือความเชื่อใดๆ ต่อภาพลักษณ์ของตัวเอง พวกเขาจะไม่มีทางสื่อสารหรือเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมๆ ของเขา เหมือนกับไม่มีหลักที่มั่นคงที่จะถอยหลังหากเกิดความผิดพลาด เด็กๆ จึงกลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว กลัวความพ่ายแพ้ และกลัวถูกดีดออกจากสังคมที่เขาพยายามทำความเข้าใจ
ทั้งที่ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาและสามัญอย่างมาก หากมองในสายตาของวิวัฒนาการชีวิต มิใช่การแข่งขันที่ใครเข้มแข็งถึงจะอยู่รอด หากเป็นดังนั้นแล้วเราจะเรียนรู้กันไปทำไม
โครงสร้างประสบการณ์ต่อตน (self-schema) จึงตัดไปไม่ได้เลย หากเด็กไม่เห็นตัวเองอยู่ร่วมในการเรียนรู้ พวกเขาจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ในการทำความเข้าใจตนเองและเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งของแบบนี้ไม่มีคะแนนสอบมาตัดสินได้
กระนั้นเอง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากเราให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์แบบเรียนรู้เป็นกลุ่มดั่งที่นักทฤษฎีวิวัฒนาการนำกรอบความคิดนี้มาจับ เด็กๆ ก็คงถอยห่างจากพื้นที่วิชาการ และกลายเป็นการจับกลุ่มนินทาที่ไร้แก่นสาร แต่นักทฤษฎีฯกลับมองว่า การทำกิจกรรมกลุ่มก็ส่งอิทธิพลต่อการเรียนรู้ในพื้นที่วิชาการได้เช่นกัน ซึ่งจำเป็นในช่วงประถมศึกษาที่เด็กต้องเรียนผ่านการร่วมกิจกรรมกลุ่ม แต่ทำให้เราสามารถคาดคะเนแนวโน้มที่เด็กๆ จะเรียนรู้เพิ่มเติมในการศึกษาระดับที่สูงขึ้นได้
เราอยู่ในจุดที่สังคมต้องการกระบวนทัศน์แห่งการเรียนรู้ใหม่ที่ตอบสนองต่อสังคมปัจจุบัน และแน่นอนต้องตอบสนองต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ โดยผ่านประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ และรื้อโครงสร้างบางประการที่ไม่ตอบสนองจากการศึกษาที่ล้าสมัยโดยบรรพบุรุษที่ยังไม่ได้เข้าใจตัวเองมากนัก
พ่อแม่และโรงเรียนจำเป็นต้องเป็นผู้บุกเบิกที่กล้าหาญรายแรกๆ ที่มองเห็นลูกๆ และนักเรียนอย่างเข้าใจกลไกของธรรมชาติและวิวัฒนาการ ตั้งคำถามกับการแสดงออกของผู้เรียนรู้มากกว่ามองเห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขหรือปรามให้เข้าระเบียบ
มนุษย์เองกระหายที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่กระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่เรามีค่อนข้างสวนทางกับธรรมชาติอยู่มาก
เราตกอยู่ในวงจรการแข่งขันที่ร่วมกันสร้างอย่างไม่รู้ตัวจากสังคมที่อคติต่อวิวัฒนาการ จริงๆ เรายังเรียนรู้อะไรได้อีกมาก หากมองด้วยตาที่ปราณีปราศรัยต่อสรรพชีวิตอื่นๆ และตัวเราเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Educating the Human Brain. Michael I. Posner and Mary K. Rothbart. American Psychological Association, 2006
The Origin of Mind: Evolution of Brain, Cognition, and General Intelligence. David C. Geary. American Psychological Association, 2005.