บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์หลานม่า
อย่างหนึ่งของการอยู่ในบ้านคนไทยเชื้อสายจีน
คือไม่ค่อยพูดอะไรกันตรงๆ
คำถามว่ากินข้าวหรือยังเป็นตัวแทนของความห่วงใย บางครั้งเป็นคำขอบคุณที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้นเมื่อเราทำอะไรให้ผู้ใหญ่ เส้นหมี่ที่แทนคำอวยพร ความหวังดีในรูปของเครื่องรางและอัญมณี หรือคำรักในต้นไม้มงคลที่หน้าบ้าน นอกจากเรื่องราวการเติบโตของเด็กเจนซีฉิเชาะ ‘เอ็ม’ ผู้เข้าประจบดูแลอาม่าในเดือนปีสุดท้ายของชีวิตเพราะหวังมรดก ภาพยนตร์เรื่องหลานม่ายังมีดีเทลมากมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน และการซ่อนความหมายต่างๆ เอาไว้ บางครั้งมาเป็นองค์ประกอบใหญ่ของเรื่อง หลายครั้งมาในรูปแบบของสิ่งที่เราหลายๆ คนเห็นอยู่จนชินตาในบ้านคนจีน
The MATTER จึงอยากพาไปดูองค์ประกอบต่างๆ ที่ซ่อนไว้ซึ่งความหมายเหล่านั้น ที่ทั้งบอกบางอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายจีน ตัวละครของผู้คนในเรื่อง และประกอบรวมกันเป็นธีมที่ชัดเจนของหนังเรื่องนี้
หนังเปิดเรื่องด้วยบรรยากาศของเทศกาลเชงเม้ง เช่นเดียวกับครอบครัวไทยเชื้อสายจีนมากมาย ครอบครัวของเอ็มเบียดเสียดตัวเองลงในพื้นที่หลุมฝังศพบรรพบุรุษ ซึ่งเชงเม้งในอุดมคติ คือการที่ครอบครัวทั้งหมดมารวมตัวกันด้วยความกตัญญูและเชื่อมสายใยระหว่างกัน ร่วมกันทำความสะอาดและตกแต่งให้ ‘บ้าน’ ของบรรพบุรุษสวยงาม อย่างไรก็ดี ในเชิงการปฏิบัติของยุคปัจจุบันที่บ้านกงสีแตกออก ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไปทำธุรกิจของตัวเอง เทศกาลนี้จึงกลายเปลี่ยนเป็นหน้าที่ที่น้อยคนอยากทำ และพฤติกรรมของคนในครอบครัวเอ็มก็เห็นได้ถึงตรงนั้น
ครอบครัวของกู๋เคี้ยงลูกชายคนโตของอาม่า มาฮวงซุ้ยผ่านเพียงเสียงและภาพในวิดีโอคอล กู๋โส่ยลูกชายคนเล็กมาตรงนี้เพียงเพราะหวังผลประโยชน์บางประการ ส่วนเอ็มหลานชายคนเดียวของบ้าน อาจหวังเพียงจะหลุดพ้นออกจากวัฒนธรรมเหล่านี้เสียที เห็นได้จากการโปรยดอกไม้อย่างลวกๆ หลังถูกพรากตัวออกจากหูฟังและโทรศัพท์ ดูท่าแล้วคนที่มีส่วนร่วมกับการเชงเม้งจะมีเพียงซิว แม่ของเอ็ม และอาม่าผู้สั่งการทุกอย่าง หนึ่งในคนสุดท้ายที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการจัดแจงของไหว้ในเทศกาลเหล่านี้
อาม่าเป็นคนที่เคร่งครัดในหลักการ อย่างน้อยก็เมื่อเราพูดถึงธรรมเนียมปฏิบัติของบ้านคนจีน เมื่อเอ็มย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของอาม่าครั้งแรก สิ่งแรกๆ ที่เอ็มเสนอตัวทำคือการชงน้ำชาให้เหล่ากงและเหล่าม่าบนหิ้งพระ แต่แทนที่จะใช้ป้านชาในการชงชาบนเตา เอ็มกลับเลือกวิธีนำน้ำเปล่าเข้าไมโครเวฟเพื่อความรวดเร็ว เมื่ออาม่ารู้อย่างนั้นเข้า จึงดุว่าเอ็มที่ทำอะไรแบบลวกๆ แล้วไล่ให้กลับบ้านตัวเองไป
ทำไมการชงชาจึงเป็นสิ่งสำคัญขนาดนั้น? เช่นเดียวกันกับอาหารอื่นๆ ในวัฒนธรรมบ้านคนจีน ชาหรือ ‘แต๊’ มีความหมายมากกว่าของที่เรานำใส่ปากเพื่อดับความหิวและกระหาย เพราะมันคือเครื่องดื่มที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และมีบริบททางวัฒนธรรมเชื่อมอยู่ด้วย
ในงานเขียน “แต๊” เครื่องดื่มแห่งชีวิต และมิตรไมตรี โดยเสี่ยวจิว บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม อธิบายว่า การทักทายแขกแบบตามธรรมเนียมชาวจีนนั้น หลายๆ กรณีใช้การพูดว่า “ไหล่เจียะแต๊” ที่แปลว่า มากินน้ำชา ซึ่งในการปฏิบัติดังกล่าวมีมิติของความอาวุโสและบทบาทอยู่ในนั้น โดยเขาว่าคนที่โตกว่าจะไม่รินชาให้คนที่เด็กกว่า นอกจากว่าคนที่โตกว่าจะเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งมิติดังกล่าวสะท้อนออกมาผ่านการรินชาให้แก่บรรพบุรุษ “น้ำชาครั้งแรกรินไหว้พระไหว้เจ้าในบ้าน ที่เหลือไว้กินเองและเลี้ยงแขกไปใครมา” ผู้เขียนเล่าอย่างนั้น
ที่เล่ามาเรื่องของทั้งเชงเม้งและแต๊ ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันยังไง? หลานม่าไม่ได้ใส่ซีนเหล่านี้เข้ามาเพียงเพื่อฆ่าเวลาเท่านั้น แต่ใช้วัฒนธรรมเหล่านี้เพื่อวาดภาพตัวละครถึงเหตุที่อาม่าไม่อาจปล่อยผ่านการโปรยดอกไม้ลวกๆ หรือการชงชาของเอ็มได้ เพราะชาไม่ใช่เพียงน้ำร้อนต้มใบไม้แห้ง แต่เป็นวัฒนธรรมที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา ทั้งยังนำเสนอสายใยระหว่างผู้คน เด็กและคนแก่ ความเป็นและความตาย โดยในหนังที่เล่าถึงครอบครัว ความตาย และความผูกพัน สัญลักษณ์เหล่านี้จึงแข็งแกร่งมากๆ ในการสื่อสารเรื่องดังกล่าว
ขั้วตรงข้ามของอาม่าในกรณีนี้คือเอ็ม แม้จะรั้นในหลักการไม่ต่างไปจากอาม่า แต่จากหลายๆ การกระทำของเอ็มนั้นบอกกล่าววิธีที่หลานมองวัฒนธรรมในบ้านเก่าย่านตลาดพลู คนตายที่ไหนจะสนใจว่าเราทำน้ำชาของเรายังไง? หรือเราต้องโปรยดอกไม้ยังไง? บ้านหลังเก่าและความสนใจของอาม่าจึงเป็นเพียงต้นทุนที่จะนำมาซึ่งมรดก โดยเอ็มมองทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล และไม่มากก็น้อย เราหลายๆ คนมองเช่นนั้นเหมือนกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเมื่อเราพูดถึงเจ้าแม่กวนอิม
“กูนับถือเจ้าแม่กวนอิม กูไม่กินเนื้อ” อาม่าพูดเมื่อเอ็มซื้อเกาเหลาเนื้อมาให้ การพูดถึงเรื่องเจ้าแม่กวนอิมเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากหากมองไปในมุมของประวัติศาสตร์และวิชาการแล้ว จะพบว่าเจ้าแม่กวนอิมที่เรามักเห็นจนคุ้นตานั้น เป็นส่วนผสมของเทพท้องถิ่นมากมาย ซึ่งนำไปสู่การเห็นไม่ตรงกันว่าอะไรกันแน่คือการนับถือเจ้าแม่กวนอิม
การแตกแยกย่อยชิ้นส่วนของเจ้าแม่กวนอิม ปรากฏอยู่ในบทความชื่อคติ “พระโพธิสัตว์กวนอิม” ในจีน ถูกผสมปนเปด้วยเทพท้องถิ่น จนเปลี่ยนให้เป็น “ผู้หญิง” ? โดยฉวี่กวังฮั่น ผู้เขียนพูดเกี่ยวกับเพศว่า การนำเสนอต้นตำรับ เจ้าแม่กวนอิมไม่ใช่ชื่อองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในปางผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วพระองค์เป็นการมีอยู่ที่เหนือเพศไปแล้วมากกว่า มากไปกว่านั้นส่วนที่เรามักเชื่อมโยงกับการนับถือเจ้าแม่กวนอิมอย่างการงดกินเนื้อวัว ยังไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ต้องทำด้วยซ้ำ แต่เป็นการกระทำสำหรับชาวจีนตอนใต้ที่เคร่งครัดมากๆ ที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ตามวันเกิด นั่นแปลว่าในระดับภาพจำและการปฏิบัติต่อการนับถือเจ้าแม่กวนอิมที่คนไทยทำนั้นมักถูกหลายๆ คนตีตราว่าผิดแต่แรก
หลากหลายสิ่งในเรื่อง (และในชีวิตจริง) มักถูกมองด้วยมุมมองนั้นๆ มีเงินแล้วจะเอาไปใช้กับฮวงซุ้ยทำไม? ทำไมไม่ใช้หาความสุขตอนยังมีชีวิต? หรือในดีเทลเล็กๆ เช่น กำไลหยกของอาม่า เครื่องรางที่ผูกกับความเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีที่ช่วยปัดเป่าพิษภัย หากหยกหักหรือแตกร้าวแปลว่ามีภัยร้ายที่มาทำร้ายผู้ใส่ แต่จะหยกรับเอาไว้แทน กำไลดังกล่าวหายไปสักพักหลังจากอาม่าถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และมันไม่หยุด ซิ้มเง็ก หญิงสาวผู้ที่ชื่อมีความหมายว่าหยก ก็เสียชีวิตไปในวันเดียวกันกับที่อาม่ารู้ตัวแล้วว่าตัวเองไม่อาจหายจากมะเร็งได้ ความเชื่อเหล่านี้ไม่มีเหตุมีผลของโลกจริงมารองรับ จึงมักถูกมองว่าเป็นสิ่งงมงาย อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าคุยกันต่อมาคือ เหตุและผลเป็นประเด็นของการเชื่อในอะไรสักอย่างจริงๆ หรือเปล่า?
ในช่วงท้ายของเรื่อง มีการเฉลยถึงเหตุที่อาม่างดกินเนื้อซึ่งเป็นอาหารโปรดของเธอและไปนับถือเจ้าแม่กวนอิม นั่นเป็นเพราะว่าลูกชายคนแรกของเธอเป็นเด็กที่สุขภาพไม่ดี และเธอจะทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้เขาแข็งแรงขึ้นได้ แม้ก่อนนั้นไม่นาน ในการแบ่งมรดก ลูกชายไม่เอาไหนของอาม่ากลับได้รับบ้านหลังเก่าไปทั้งๆ ที่ไม่เคยดูแลอะไรอาม่าเลย ซึ่งหลายๆ สถานการณ์ในเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นถึงความไม่ลงรอยกันของเหตุผล ความเชื่อ และการกระทำ
อาม่าไม่รู้ว่าตัวเองรักใครที่สุดในลูกๆ หลานๆ ทั้งที่มีอยู่แค่คนเดียวที่คอยดูแล ไม่มีเหตุผลอะไรพอจะอธิบายได้ว่า ทำไมเราต้องเสียเงินเท่านั้นในการซื้อหลุมศพของตัวเอง การซื้อหวยที่ไม่เคยถูก การเคร่งในพิธีกรรมที่ไม่มีใครมาติเตียนได้ หรือในสายตาของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ทับทิมเป็นเพียงผลไม้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เมคเซนส์เลย แต่นั่นคือจุดที่ธีมของเรื่องเผยออกมา
อาม่าเลิกกินเนื้อเพราะอย่างน้อยที่สุด เขาจะได้รู้ว่าเขาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือลูกชาย โส่ยได้รับบ้านหลังนั้นเนื่องจากเป็นคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ความรักจึงเป็นสิ่งที่วัดค่าไม่ได้ และการซื้อฮวงซุ้ยสำหรับอาม่า เธอคิดว่าหากบ้านใหม่ของเธอสวยงามกว่าหลังเก่า ทุกๆ คนในบ้านที่แยกย้ายออกจากบ้านไป จะอยากมาอยู่พร้อมหน้ากันบ้างในวันเชงเม้ง หรือกระทั่งต้นทับทิมหน้าบ้าน นอกจากจะเป็นต้นไม้มงคลที่เกี่ยวกับการมีลูกเยอะ และความอุดมสมบูรณ์แล้ว มันยังเป็นผลไม้ที่อาม่าตั้งใจเก็บไว้ให้เอ็มได้กินเป็นคนแรก
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเหตุผลและความเชื่อ แต่ธีมสำคัญของหลานม่า คือ ‘เราล้วนต่างบกพร่องในเหตุผลเพราะความรัก’ ความเชื่อ การจัดลำดับ และเหตุผล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตัวละครต้องลืมเลือนไป จึงจะสามารถเปิดใจแก่กันได้ เช่นเดียวกันกับที่อาม่าเชื่อในความเชื่ออันไม่มีอะไรรองรับ นอกจากเพียงเชื่อว่ามันจะทำให้คนที่อาม่ารักมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ในฉากปิดของเรื่อง เอ็มเดินขึ้นบนฮวงซุ้ยของอาม่า โปรยดอกไม้ด้วยความไม่ตั้งใจดังเดิม แต่ทำด้วยสายตาและเหตุผลที่เปลี่ยนไป เพราะอาม่าเคยบอกว่า ถ้าทำแบบนี้จะมาหลอกในฝัน ตอนนั้นเองเราก็ได้รู้แล้วว่าแม้แต่เอ็มก็เชื่อ ในขณะเดียวกันก็ยังเก็บตัวตนเดิมของตัวเองเอาไว้
ยังเป็นเด็กฉิเชาะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือให้อาม่าเป็นที่หนึ่ง
อ้างอิงจาก