วัฒนธรรมความเป็นจีน เป็นสิ่งที่เราเห็น กลมกลืนอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลา อย่างการไหว้เจ้า กงสี หรือสถานที่ท่องเที่ยวอย่างไชน่าทาวน์ วัดจีน หรือการนับถือเทพเจ้าต่างๆ ที่ไม่ว่ามีเทศกาลใดๆ เกี่ยวกับจีน เราต้องเห็นภาพครอบครัวลูกจีนโพ้นทะเล ที่เดินทางไปเข้าร่วม อย่างเชงเม้ง รวมญาติ บูชาบรรพชน
แต่จีนแบบลูกจีนโพ้นทะเล ที่ย้ายรกรากถิ่นฐานกันมาอยู่ในประเทศอื่น ถือเป็นจีนแท้ไหม ?ตระกูลจีนในไทยที่ยังปฏิบัติตามประเพณีเหล่านี้ มีความเป็นจีนแค่ไหน ? และคนจีนในแผ่นดินใหญ่ ยังมียึดถือวัฒนธรรมเหล่านี้กันอยู่ไหม?
The MATTER คุยกับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ถึงความเป็นจีนของลูกจีนโพ้นทะเลในไทย การกลืนกลายความเป็นจีนในไทย และอะไรคือความเป็น‘จีนแท้’ ในปัจจุบัน
ความเป็นจีนในไทยเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ มาพร้อมการอพยพของคนจีนโพ้นทะเลหรือเปล่า
คนจีนมาที่เมืองไทยหลายระลอกมาก และก็มีหลักฐานว่าคนจีนมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมีประเทศไทย มีหลักฐานปรากฏอยู่ตามภาพสลักนูนต่ำของปราสาทนครวัด นครธม หรือมีในบันทึกของหลวงจีน ตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน และในประวัติศาสตร์รัฐชาติ ในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาก็มีการส่งสินค้าไปขายที่เมืองจีน ทั้งถ้วยชามสังคโลก มีการรับอิทธิพลจีนชัดเจนมาก กระทั่งมีชุมชนชาวจีนในอยุธยาอย่างชัดเจนด้วย
ถ้าจะดูสมัยรัตนโกสินทร์ หรือในยุคที่เราศึกษา การมาเมืองไทยในระลอกที่ใหญ่ที่สุดคือศตวรรษที่ 19 โดยมาเป็นแรงงานหรือกุลี เพราะว่าสมัยรัชกาลที่5 เป็นช่วงปรับปรุงประเทศให้เป็นสมัยใหม่ จะมีโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ เยอะมาก ทั้งสร้างทางรถไฟ ขุดคลองต่างๆ และเป็นช่วงที่นานาประเทศมองว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ผิด และละเมิดสิทธิมนุษยชน ควบคู่กับการเลิกทาสในสยาม รัฐไทยเองก็ต้องการแรงงานอิสระ จึงใช้แรงงานจำพวกใหม่ที่เกิดขึ้นมา คือแรงงานกุลี ซึ่งไม่ถือว่าเป็นทาส เพราะได้ตังค์ แต่ว่าได้น้อยมาก และถ้าจะเป็นกุลี ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินติดตัวเลยก็ได้ อาจจะเดินทางโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับ ให้ขึ้นเรือแออัด แล้วเดินทางไปสู่ปลายทางที่จะไปใช้แรงงาน
โดยช่วงแรก ก็ต้องใช้แรงงานไถ่ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่ากินอยู่ แล้วถึงจะเริ่มได้ค่าจ้าง หรือเป็นไทแก่ตัว แล้วจะไปทำอะไรอย่างอื่นก็ได้ ดังนั้นกุลีจำนวนมากจะถูกใช้แรงงานที่โหด และหนัก หลายๆ คนก็จะเสียชีวิตก่อนที่จะไถ่ตัวหมดด้วยซ้ำ ซึ่งในเคสของสยาม เราใช้กุลีมากที่สุดในการสร้างทางรถไฟตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต่อไปจะไปเป็นสายเหนือ
ดังนั้นจึงมีความต้องการแรงงานที่มาสนับสนุนความ Modernize ของประเทศ กุลีก็มาจาก 2 ที่ที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งคู่ ก็คืออินเดีย และอีกที่นึงก็คือเมืองท่าเสรีของจีน ที่อังกฤษไปมีอิทธิพลหลังการชนะสงครามฝิ่น พวกเมืองท่าพวกนี้ที่อยู่ทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ซัวเทา ชานโถ เซี้ยเหมิน หรือที่เขาเรียกว่าอามอย และฮ่องกงก็จะเป็นเมืองสำคัญ สำหรับการหากุลี และเป็นเมืองสำคัญที่บรรพชนของคนจีนโพ้นทะเลอพยพมา
นอกจากสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็ยังมีมากันอีกเรื่อยๆ หนีภัยสงคราม ข้าวยากหมากแพงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นพอมาเรื่อยๆ คนที่มาก็มากันหลายชนชั้นวรรณะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ใช่คนชนชั้นนำ จึงเป็นอีกเหตุนึงว่า ความเป็นจีนในดินแดนโพ้นทะเล โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจีนที่ในแง่นึงที่มันสร้างขึ้นใหม่ เพราะเมื่อจำนวนมากมาจากจีน มาเป็นกุลี ที่มาทำงานเป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ที่เขามีเรื่องว่าเสื่อผืนหมอนใบ และก็มาสร้างความมั่งคั่งที่สยาม พอมั่งคั่งขึ้นมาก็จึงอยากจะมีชีวิตตามแบบผู้ลากมากดีในเมืองจีน จึงมีการเรียนรู้มาในสมัยหลังว่าถ้าคนจีนผู้ดีต้องเป็นแบบนี้ ระบบกงสีเป็นแบบนี้
ในแง่นึงมันก็เลยอาจจะมีความต่าง ความเพี้ยน ความไม่ตรงกับเวอร์ชันที่เมืองจีนหลายอย่าง และอีกอย่างนึงก็มีความกลืนกลายกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะว่าคนที่มาจำนวนมากในยุคแรกเป็นชายโสด หรือว่าก็แต่งงานมีลูก มีเมียอยู่ที่จีน พอมาสยามก็มามีเมียที่ 2 หรือว่าเมียไทย และยังได้รับวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงทำให้มีความต่าง
ตอนนี้ ยากที่จะบอกว่าความเป็นจีนคืออะไร เพราะก็มีจีนแบบที่อยู่ในสยาม จีนแบบไต้หวันซึ่งผสมกับความเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นมา 20 ปี จีนแบบฮ่องกงที่เป็นอาณานิคมอังกฤษมา 99 ปี จีนแบบแผ่นดินใหญ่ ที่เขาอ้างว่าเขาเป็นจีนแท้ แต่จริงๆ เขาก็ผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม เผาทำลายทุกสิ่ง และห้ามไหว้เจ้ากันไปเป็น 10 ปี ความเป็นจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นจีนที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งนั้น
ดังนั้น ณ ปัจจุบันนี้มันไม่มีจีนไหนที่เป็นจีนแท้ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างด้วยเงื่อนไขทางการเมือง ทางประวัติศาสตร์ และอะไรหลายๆ อย่าง
อะไรหล่อหลอมให้เกิดรากฐาน วัฒนธรรม ประเพณีในครอบครัวจีน? ลัทธิขงจื้อมีส่วนหรือเปล่า?
จักรวาลในอารยธรรมจีน วัตถุประสงค์ของการเป็นมนุษย์คือ การแต่งงานมีลูก ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกับชีววิทยา และก็มีที่มาที่ไปคือว่า รากฐานอารยธรรมจีนเกิดจากการเป็นสังคมเกษตร และการที่คุณปลูกทุกอย่างที่คุณจะกิน มันต้องใช้แรงงานเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องมีลูกเยอะๆ ทุกคนจึงถูกคาดหวังว่า ต้องแต่งงานและมีลูก ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม
ทีนี้ถ้าเราอยู่บนพื้นฐานว่าทุกคนต้องแต่งงานมีลูก และเราต้องการแรงงานเยอะๆ มันก็นำไปสู่ 2 อย่างคือ 1) ‘ครอบครัวยิ่งใหญ่ ยิ่งดี‘ การอยู่ด้วยกันเยอะๆ จะมีแรงงาน และทรัพย์สินเยอะที่เอามาบริหารร่วมกันได้ 2) เราจะจัดการสินทรัพย์อย่างไร ถ้าเผื่อเราคาดหวังว่ามนุษย์ทุกคนต้องแต่งงานมีลูก และตกลงกันว่าต้องแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ดั้งนั้นถ้าเรามีลูกสาวเกิดมาปุ๊ป เราจะรู้เลยว่าสักวันหนึ่งคนนี้จะต้องไปอยู่บ้านผู้ชาย การแบ่งสินทรัพย์ที่จะไม่ให้ปวดหัวว่าของใครเป็นของใคร ก็จะแบ่งให้ลูกชายอย่างเดียว เพราะลูกสาวจะต้องไปแต่งเข้าบ้านอื่น และใช้สินทรัพย์บ้านอื่น จีนจึงใช้ระบบแบ่งสินทรัพย์ให้ลูกชายทุกคนเท่ากัน ซึ่งไม่เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่แบ่งให้ลูกชายคนโตคนเดียว
การที่แบ่งสินทรัพย์ให้ลูกชายทุกคนเท่ากัน หมายความว่า ถ้าพ่อตายและแบ่งให้ลูก ลูกๆ ก็ต่างคนต่างไป สินทรัพย์มันก็จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ แบ่งไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลายก็ยิ่งลดน้อยลงทุกรุ่น ดังนั้นเขาเลยต้องหาวิธีการให้มันอยู่รวมกัน ก็จึงเป็นที่มาของ‘ระบบกงสี’ที่เวลาแบ่งสมบัติ เขาจะแบ่งในลักษณะของหุ้น คือพ่อมีที่ 100 ไร่ แบ่งให้ลูกชาย 5 คน 20 ไร่ แต่ในทางปฏิบัติ ในเมื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย ก็ถือว่าที่ 100 ไร่ก็ยังอยู่รวมกัน เป็นการบริหารจัดการร่วมกันของครอบครัว และได้กำไรเท่าไหร่ก็มาแบ่งให้ลูกชายตามหุ้น หาร 5 ตามนั้น
และเดี๋ยวนี้ธุรกิจถ้าอยู่ด้วยกันรวมกันดีกว่า ดังนั้นมันก็จะนำไปสู่อีกประเด็นก็คือว่า ยิ่งครอบครัวใหญ่มากก็จะยิ่งดี เพราะมันจะมีสินทรัพย์มารวมกันได้ บริหารได้เยอะ จึงเป็นที่มาของระบบบูชาบรรพชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการแบ่งสินทรัพย์ทั้งหมด ดังนั้นการบูชาบรรพชน มันเป็นพิธีกรรมที่มีไว้เพื่อรักษาโครงสร้างครอบครัวให้มันอยู่รวมกันได้เยอะๆ เพื่อที่จะมีต้นทุนของกงสีที่ใหญ่ๆ ที่จะเอาไปบริหารให้งอกเงย และปันผลได้
ก็สืบต่อมาถึงสถานภาพของผู้หญิงในกงสี เรารู้แล้วว่าผู้หญิงเกิดมาตามหลักก็จะต้องแต่งงาน และไปอยู่บ้านสามี และมีหน้าที่ต้องมีลูก ถ้าสะใภ้มีลูกสาวอีก ก็เลี้ยงไปเพื่อจะไปแต่งงานบ้านอื่นอีก แต่ถ้ามีลูกชาย แปลว่าสะใภ้คนนั้นจะมีสมาชิกครอบครัวที่จะใช้เงินกงสีผ่านได้เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่เดิมแต่งเข้ามาก็ใช้เงินผ่านสามี แต่พอมีลูกชายก็มีจะคนที่รับหุ้นได้มากขึ้น ดังนั้นสะใภ้คนไหนมีลูกชายเยอะ สถานภาพก็จะสูงขึ้น เพราะคุณมีความเกี่ยวดองกับผู้ชายที่จะใช้เงินกงสีได้มากขึ้น แล้วตามหลักการคนที่จะมีอำนาจมากที่สุดในกงสีก็คือ ครอบครัวเพศชายที่อายุมากที่สุด เหมือน CEO ของกงสี และยิ่งสายครอบครัวเดี่ยวที่สร้างในครอบครัวขยายมีลูกชายจำนวนมาก บ้านนั้นก็จะมีสิทธิในกงสีมากกว่าคนอื่นๆ วิธีการที่จะขยายอิทธิพลของตัวเองในครอบครัวก็คือการมีลูกชายเยอะๆ
นี่จึงเป็นเหตุว่า ลูกสาวไม่ได้รับความสำคัญ เพราะเริ่มต้นมาลูกสาวไม่ได้ถูกนับว่าเป็นสมาชิกของบ้านพ่ออยู่แล้ว ชัดเจนมากถึงที่ว่า ถ้าลูกสาวตายโดยที่ยังไม่แต่งงาน ตามหลักแล้ว จะไม่ได้เอาป้ายวิญญาณไว้ที่แท่นบูชาบรรพชนของบ้านพ่อ
เพราะว่าคุณไม่ใช่คนบ้านนี้ คุณต้องไปเป็นคนของบ้านสามี ซึ่งก็เป็นเหตุให้ 99% ของผีจีนเป็นผู้หญิง เพราะไม่มีที่ไว้ป้ายวิญญาณ ไม่มีใครไหว้เจ้าไปให้ ไม่สามารถเป็นบรรพชนของใครได้ ในขณะที่ลูกชายอายุ 1 ขวบ ถ้าตายก็ถือเป็นบรรพชนแล้ว เอาป้ายวิญญาณวางได้ แต่ผู้หญิงจะเป็นบรรพชนได้ จะได้รับการยอมรับวางป้ายวิญญาณคือต้องแต่งงาน
กงสีในไทยปัจจุบันยังเหมือนกับที่จีนไหม หรือมีความเปลี่ยนไป
มีคนทำการศึกษามาพอสมควร ซึ่งจริงๆ แล้วสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่โบราณมาเป็นสังคมที่แต่งเข้าบ้านผู้หญิงเป็นหลัก ผู้หญิงมีอิทธิพลมาก เป็นใหญ่ในครัวเรือน พอคนจีนที่มาอยู่ในเมืองไทย และแต่งงานกับผู้หญิงไทย ไม่ว่าจะมาใช้แรงงาน หรือเป็นกุลี ก็จะได้รับอิทธิพลจากภรรยา ไม่ใช่แค่นั้นอายุขัยผู้หญิงมีแนวโน้มยาวนานกว่าผู้ชาย จึงมีแนวโน้มว่าภรรยาจะเสียชีวิตหลังสามี หมายความว่า คนที่จะเป็นคนจัดการมรดกหลายๆ ครั้งกลายเป็นภรรยา
ในหมู่คนจีนในสังคมไทย ก็มีหลายครอบครัวที่ผู้หญิงได้รับมรดกจำนวนมาก หรือลูกสาวที่ไม่ได้ถูกถือว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพราะว่าคนที่จัดการมรดกท้ายที่สุดกลายเป็นแม่ เพราะพ่อตายไปก่อน ซึ่งก็มีคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เขียนหนังสือสารคดีเรื่อง ‘นายแม่‘ ที่น่าสนใจว่าเป็นครอบครัวของคนจีนที่สืบมรดกผ่านลูกสาว ด้วยเหตุว่าคนจีนมาแต่งงานกับผู้หญิงไทย และตัวเจ้าสัวตายไปก่อน ภรรยาเจ้าสัวก็สืบทอดที่ดินอันนี้ และมีการให้ทรัพย์สินลูกสาว เพราะวัฒนธรรมไทยมีการให้มรดกกับลูกสาว
อีกอย่างนึงที่เห็นแตกต่างชัดเจนมากคือก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน หรือถ้าไปไต้หวัน การบูชาบรรพชนเป็นเรื่องของผู้ชาย คนที่ต้องทำหน้าที่บูชาเป็นผู้ชาย และจะบูชาผู้ชาย หรือบรรพบุรุษเป็นหลัก ภรรยาก็เป็นเหมือนส่วนต่อ ซึ่งพอมาดูที่ประเทศไทย เราจะเห็นว่าคนที่จัดการเรื่องไหว้เจ้าคือผู้หญิง ไม่ว่าป้าหรือแม่ ที่ทำอาหาร จัดโต๊ะต่างๆ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง พอมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าครอบครัวจีนจะเหมือนเดิม เพราะก็มีการรับวัฒนธรรมจากครอบครัวไทย ทั้งในตอนหลังช่วงศตวรรษที่ 20 มีการเข้ามาของคนจีนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นจึงมีการแต่งงานของคนจีนโพ้นทะเลด้วยกันเองมากขึ้น แต่ว่าพอรุ่นที่ 2 ก็ให้ลูกชายแต่งงานกับลูกจีนอื่นๆ ดังนั้นก็มีความกลืนกลายกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในระดับที่ไม่เท่ากัน
ผู้หญิงไทยในครอบครัวจีน มีความลำบากน้อยกว่าครอบครัวในจีนหรือเปล่า
อยู่ที่ว่าคุณจะอยู่ในครอบครัวที่ดั้งเดิมในจีนแบบไหน อย่างในจีนเพิ่งยกเลิกกฎลูกคนเดียว (one child policy) ไปเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นมันก็มีทั้งรุ่นที่เป็นลูกคนเดียวทั้งสิ้นเลย และส่วนใหญ่เป็นลูกสาว ทั้งยังมีการศึกษาว่า สถานภาพของผู้หญิงในจีนแผ่นดินใหญ่ดีกว่าของผู้หญิงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกทั้งหมด อาจจะยกเว้นเกาหลีเหนือเพราะว่าเราไม่รู้ว่าเป็นยังไง แต่เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ถือว่าดีกว่า เพราะเหตุว่าแนวคิดสังคมนิยมต่างๆ มันมาค้านกับระบบครอบครัว และศัตรูหมายเลข 1 ของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในช่วงที่เหมา เจ๋อตุงยังอยู่คือ ‘ขงจื้อ’ซึ่งเขามองว่าเป็นโครงสร้างระบบครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็บอกไม่ได้ว่าเป็นสะใภ้จีนในเมืองไทย กับสะใภ้จีนในจีน อันไหนจะร้ายแรงกว่ากัน เพราะว่าครอบครัวจีนหลายครอบครัวในบ้านเราก็สูญสิ้นความเป็นจีนไปหมดแล้ว ในขณะที่บางบ้านก็ยังเป็นจีนที่หนักแน่นอยู่
อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่าจีนมีปฏิวัติวัฒนธรรม อย่างนั้นแล้ว ในสังคมจีนยังมีระบบประเพณี อย่างกงสี หรือการไหว้เจ้าอยู่หรือเปล่า
เป็นประสบการณ์โดยตรง เพราะว่ามีนิสิตชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่มาทำธีสิสอยู่ในตอนนี้ แล้วก็ทำเรื่องการไหว้เจ้าของสมาคมตระกูลแซ่ในกรุงเทพมหานคร และเขาก็ประทับใจมาก เพราะว่าตอนอยู่ที่จีน เขาไม่เคยไหว้เจ้ามาก่อน และพอพบว่ามีการไหว้เจ้าในไทย และผู้หญิงเองก็ไหว้ได้ด้วย เขาก็พอพ่อแม่ ที่ก็ไม่เคยไหว้เจ้าเหมือนกันมาเมืองไทย เพราะว่าพวกเขามีชีวิตช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่ไม่เคยไหว้เจ้า และเขาก็พบว่าก็มีทัวร์จีนจำนวนมากที่มาเพื่อมาไหว้เจ้า เขาที่มาจากจีนทางตอนเหนือ จึงไปดูว่าคนจีนทางตอนใต้ ที่มักอพยพมาในไทย อย่างกวางตุ้ง และฟูเจี้ยน ว่ายังมีสมาคมตระกูลแซ่และมีศาลเจ้าอยู่ไหม
เขาพบว่าสมาคมตระกูลแซ่ และศาลเจ้าส่วนใหญ่ถูกสร้างในศตวรรษ 1970-1980 คือเพิ่งสร้างหลังช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะตอนนั้นห้ามไหว้เจ้า และคนจำนวนมากที่ไปช่วยสร้างก็คือ คนจีนโพ้นทะเลจากไทย และมาเลเซียที่ไปสอนว่าสมาคมตระกูลแซ่ ไหว้เจ้า และบูชาบรรพชนต้องทำอย่างนี้ เพราะว่าความรู้อันนั้นได้ถูกแบนไปเป็นเวลาหลาย 10 ปี ไม่มีใครที่รู้แล้วว่าไหว้อย่างไร เค้าก็รับวัฒธรรมอันนี้กลับไปจากเรา
มันก็มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับศาลเจ้าตระกูลแซ่ขง คือแซ่ของขงจื้อ ที่เป็นคนมณฑลซานตง ซึ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมมีการเผาทำลายศาลเจ้าใหญ่ไป ญาติๆ ทุกคนก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่บอกใครว่าเป็นญาติกับขงจื้อ เพราะไม่งั้นจะโดนหนัก ปรากฎว่าเครือข่ายของตระกูลขงที่เจริญรุ่งเรืองมาก ส่วนหนึ่งคือไปอยู่ที่เกาหลีใต้ และหลังปฏิวัติวัฒนธรรม แซ่ขงในเกาหลีใต้ก็ต้องมาสอนแซ่ขงในจีนว่าจะต้องไหว้เจ้าอย่างไร เพราะว่าคำสอนและประเพณีปฏิบัติมันไปหลงเหลือในดินแดนโพ้นทะเล หรือประเทศเพื่อนบ้าน และต้องกลับไปสอนใหม่ มันจึงเป็นเหตุการณ์ที่แปลกมากว่า ทุกวันนี้ในศตวรรษที่ 21 สาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามจะรีเคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าของความเป็นจีนที่แท้จริง
คนชอบบอกว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกลืนกลายคนจีนโพ้นทะเลจริงไหม
มันก็จริงว่าสถานการณ์ของเราไม่เหมือนประเทศอื่น สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือ ในศตวรรษที่ 19ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำการค้าผ่านพ่อค้าจีน เพราะว่าเครือข่ายการค้าที่สำคัญที่สุดในแถบนี้คือ การทำการค้ากับจีนผ่านพ่อค้าจีน ที่มีอิทธิพลเหนือเมืองท่าสำคัญทุกเมือง พ่อค้าที่ใหญ่ที่สุดคือพ่อค้าจีน
ชนชั้นนำที่ทำการค้ากับพ่อค้าจีน ยกเว้นในไทย ล้วนแต่เป็นเจ้าอาณานิคม จึงเกิดทำให้คนพื้นเมืองของประเทศเหล่านี้รู้สึกเป็นประชาชนชั้น2เพราะว่าไม่ได้เข้าไปอยู่ในการค้าที่ร่ำรวย ไม่ได้เป็นผู้นำเศรษฐกิจ ไม่ได้มีโอกาสตรงนั้น เพราะเจ้าอาณานิคมเลือกใช้คนจีน และยังมีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกคนในอาณานิคมของตัวเองตามชาติพันธุ์อย่างชัดเจน มีการขึ้นทะเบียนว่าใครเป็นจีน เป็นแขก ดังนั้นพอประเทศเหล่านี้ประกาศเอกราช มีรัฐบาลที่เป็นคนพื้นเมือง จึงเกิดอาการเอาคืน เพราะเป็นประชากรชั้น 2มายาวนานมากใต้ระบบอาณานิคม พอขึ้นมาปกครองตัวเองแล้ว ก็จะมีการรังเกียจ กีดกันคนจีน เป็นผลมาจากการบริหารของรัฐบาลอาณานิคมก่อนหน้านี้
แต่ในสยาม ชนชั้นนำสยามก็ทำการค้าผ่านพ่อค้าจีนเช่นเดียวกัน และก็มีพ่อค้าจีนที่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางอยู่ในราชสำนักสยามเยอะมาก ได้รับพระราชทานนามสกุล และเครือข่ายระหว่างกันก็ใกล้ชิดมาก ทั้งประเทศเรายังไม่มีการเรียกร้องเอกราช ดังนั้นในสยาม คนจีนจึงรวมเป็นกลุ่มเดียวกับชนชั้นนำ ทั้งชนชั้นนำในสยามยังไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์ของประชาชนโดยชัดเจน เพราะไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นคนไทยหมด จะมีความพยายามของรัฐที่บอกว่าคนนี้เป็นคนไทยญวณ ไทยขมุ ไทยอาหม เป็นไทยใหญ่ จะใส่คำว่าไทยไว้ข้างหน้า รวมถึงไทยจีนด้วย ไม่มีการแบ่งแยก หรือระบุในบัตรประชาชนว่าเชื้อสายอะไร และก็มีการแต่งงานข้ามสายชาติพันธุ์เยอะมาก แต่ที่สำคัญที่สุด ที่คนจีนในสังคมไทยอยู่ในสถานภาพที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไป เลยไม่ถูก discriminate
ความเป็นคนจีนจะถูกกลืนกลายไปในที่สุดหรือเปล่า ในอนาคต หรือเป็นการหลอมรวม
พูดลำบากว่า ความเป็นไทยหรือสังคมไทยคืออะไร เพราะว่ามีการผสมกันจนไม่รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร แต่เราจะไม่บอกว่าคนจีนอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วจะกลืนกลายเป็นไทย เพราะคนจีนอยู่ไปเรื่อยๆ แล้ว จะกลืนกลายกับวัฒนธรรมชนชั้นสูง ซึ่งเมื่อกลืนกลายกับวัฒนธรรมชนชั้นสูง แปลว่าจะกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก และจะอยู่ได้โดยที่ไม่ถูกเบียดเบียน ถูกเบียดขับในสังคม
เราก็เห็นตัวอย่างแล้ว อย่างเช่นงานพระราชพิธีบรมศพที่เพิ่งผ่านไป ก็มีพระราชพิธีกงเต็ก มีการไหว้เจ้าในราชสำนักอยู่ เห็นความสัมพันธ์ของความเป็นจีนที่ชัดเจนมากในราชสำนัก และในกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็นชนชั้นนำในประเทศนี้ ก็มีความเป็นจีนหลายอย่างมาก แปลว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยแล้ว ได้รับความยอมรับแน่นอน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลและเป็นกระแสหลัก และวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง
ความเป็นจีนกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในครอบครัวจีนยังต้องเจอความคับคั่งใจจากประเพณีพวกนี้ไหม
ทุกวันนี้ เอกจีนเป็นเอกที่ฮอตที่สุดเอกนึงในคณะอักษรฯ คนเรียนเยอะมาก คนเรียนจีนเองก็เยอะมากตามโรงเรียนมัธยม แต่จีนที่เคยเรียนเยอะมาก เป็นจีนกลาง หรือจีนแมนดาริน ซึ่งมันไม่ใช่จีนของบรรพชน ซึ่งในไทยมีสถาบันขงจื้อที่สอนจีนกลางเยอะมาก หรือในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ เองที่สอน ก็สอนภาษาจีนกลาง
สิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 หรือที่หลายคนเรียกว่าศตวรรษจีน คือว่าการเป็นจีนมันกลายเป็น Social Capital เอามาขายได้ และได้ประโยชน์ในทางการค้า ทุกคนก็อยากไปลงทุนที่จีน ทำงานในบริษัทจีน ไปทำงานที่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ความเป็นจีนทั้งหมดนี้ เป็นความเป็นจีนแบบสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นก็เลยแปลกๆ และน่าสนใจที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเคลมความเป็นจีน ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ความเป็นจีนจากบรรพชน
มันไม่มีวัฒนธรรมจีนหนึ่งเดียวที่จะบอกว่าเป็นยูนิฟอร์มที่ทุกคนเป็นจีนแบบนี้เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้คิดว่ามีจีนแบบเดียวเป็นการประกอบสร้างโดยรัฐจีน ที่บอกว่าสิ่งนี้คือความเป็นจีน ออกมาผ่านสถาบันขงจื้อแบบนี้
แต่ในความเป็นจริง ความเป็นจีนที่แท้จริงของตัวเรา มันเป็นจีนตระกูลแซ่ เป็นจีนสำเนียงต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งไหหลำ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กินอาหารก็ไม่เหมือนกัน แต่งตัวก็ไม่เหมือนกัน มันไม่มียูนิฟอร์ม
ถามว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ต้องอึดอัดคับข้องใจกับประเพณีต่างๆ เหล่านี้ไหม เราก็รู้สึกว่า ก็คงมี ไม่งั้นคนก็คงไม่อินกับละครมากขนาดนี้ แต่ก็อยากให้รู้ว่าความอึดอัดคับข้องใจในความเป็นจีน โดยส่วนใหญ่มีความคิดว่า ฉันเป็นจีนต้องเป็นอย่างนี้ๆ โดยที่จริงๆ แล้วเหล่านี้ก็เพิ่งประกอบสร้างขึ้นมาเหมือนกัน พอผู้ใหญ่มโน มาใส่เด็ก เด็กก็เลยต้องมโนด้วยว่าฉันเป็นทุกข์เพราะความเป็นจีนของฉัน
การเป็นลูกจีนในรุ่นหลังๆ แตกต่างจากรุ่นก่อนๆ ไหม ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีนไหม
ในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเปลี่ยนไปเยอะ มันไม่ได้อยู่ที่ว่า ฉันเป็นจีนรุ่นที่ 4 แล้วความเป็นจีนจะน้อยลงเจือจาง สู้เจนแรกๆ ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ตั้งต้นมาก็ต่างกัน จากจีนมาในตอนที่สถานการณ์ไม่เหมือนกัน มาอยู่ในประเทศปลายทางก็ต่างกัน
เราก็มีความรู้สึกว่า หลายๆ อย่างที่อยู่ในวัฒนธรรมจีน ที่บอกว่าเป็นต้นตอของวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่ มันไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ในโลก หลายๆ อย่างก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ความแท้ก็มีอยู่น้อยมากอยู่แล้ว อย่างเช่น เวลาไปเชงเม้ง บ้านดิฉันเป็นคนโคราช ไปเชงเม้งที่โคราช บางคนก็ไปสระบุรี ชลบุรี ประเด็นคือ ถ้าคุณเป็นจีนจริงๆ คุณต้องไปเชงเม้งเมืองจีน เพราะในความเป็นจริง คุณไม่ควรละทิ้งหลุมศพของบรรพชน และถ้าคุณเป็นคนจีน เชื้อสายจีน หลุมศพของบรรพชนจะไม่มีทางอยู่ทางโคราช หรือสระบุรีแน่นอน อันนี้มันก็เป็นการประนีประนอม เปลี่ยนไปส่วนหนึ่งแล้ว ว่าเราจะอยู่ตรงนี้ หรือเรากลับไปไม่ได้แล้ว มันก็ถือว่าไม่ใช่จีนแท้แล้ว
กระแสที่ตอนนี้เห็น คือกระแสที่สาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมามีอิทธิพลอย่างมาก ในทางการเมือง และโดยเฉพาะเศรษฐกิจ เราเห็นมีทุนจีน มีนักท่องเที่ยวจีนเยอะมาก และทุนจีนก็กลายเป็นเสาหลักที่ค้ำยันเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้นคนก็อยากจะเป็นจีนขึ้นมา เกิดจากการที่ป็อบปูลาร์ ฮิป เป็นสิ่งที่คนอยากเป็น เลยมีการสร้างขึ้นมาว่าฉันเป็นจีน ฉันไปเชงเม้ง มีหัวหมู มีประทัดด้วย เป็นจีนแท้มากด้วย ซึ่งถ้าศึกษาจริงๆ และดูตามตรรกะจริงๆ มันก็ประกอบสร้างทั้งนั้น
ครอบครัวจีนโพ้นทะเลในรุ่นต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร
น่าสนใจมาก มันมีแนวโน้ม 2 อย่าง คือถ้ารัฐจีนชนะ คนจีนโพ้นทะเลทั้งมวลก็จะเป็นแค่ส่วนต่อส่วนหนึ่งของรัฐชาติจีน ทุกคนจะพูดภาษาแมนดาริน ใช้ความเป็นจีนตามมาตรฐานของสถาบันขงจื้อ ซึ่งจะน่าเบื่อมาก เพราะจะเหลือความเป็นจีนหนึ่งเดียวที่ทุกคนเหมือนกันหมด ซึ่งเราก็เริ่มเห็นในหลายๆ ที่แล้ว ที่มีการศึกษาสมาคมตระกูลแซ่ หรือสมาคมจีนต่างๆ ในกัมพูชา ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และมีแนวโน้มจะรับความเป็นจีนตามมาตรฐานรัฐบาลจีน
อีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันก็คือว่า นายทุนจีน นักท่องเที่ยวจีน หรือคนจีนที่มาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเขาก็มาเพราะโหยหายความเป็นจีนที่ไม่มีแล้วในบ้านเขา ที่เราสามารักษาไว้ได้ในช่วงที่ปฏิวัติวัฒนธรรมโดนทำลายไป อย่างที่บอก เช่นการไหว้เจ้า หรืออาหารแต้จิ๋ว หรือฮกเกี้ยนแบบดั้งเดิม ในแง่นั้น ก็อาจจะทำให้เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว หรือนักลงทุนจีน ที่เป็นทุนใหญ่ที่มา ก็จะนำไปสู่การกลับสู่ราก
อย่างที่เซี้ยงไฮ้ เขาก็สร้าง China town เราก็สงสัยว่าเขาจะสร้างไปทำไม แต่ความเป็นไชน่าทาวน์จริงๆ คือ ความเป็นจีนที่ไปอยู่ดินแดนโพ้นทะเล และรักษาความเป็นจีนของตัวเองไว้ มันทำให้คนจีนรู้สึกว่า ความเป็นจีนนี้มันน่าตื่นตา ตื่นเต้นมาก เพราะถึงแม้จะเป็นจีน แต่เป็นความเป็นจีนเมื่อ 300 ปีที่แล้ว เราก็เลยอยากสร้างไชน่าทาวน์แบบนั้นบ้าง
แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ก็เป็นการคัดง้างกันอยู่ 2 ส่วน และเรามองว่าควรจะมีจีนที่หลากหลาย ทั้งการไหว้เจ้าหลายแบบ ทั้งอาหาร ยา เหล้าต่างๆ แต่การที่รัฐบอกว่ามีแบบเดียวเป็นการลดทอนคุณค่าที่น่าเสียดาย ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ได้แต่หวังว่าคนที่จะกู้โลกคือนักท่องเที่ยวจีนที่จะนำวัฒนธรรมพวกนี้กลับไป
การที่ไทยมีลูกจีนเยอะ ทำให้จีนมองไทยต่างจากที่อื่นๆ ไหม
ต่างค่ะ อันนี้ก็มีวิทยานิพนธ์อีกเรื่องนึงที่คนจีนมาทำ เรื่องภาพยนต์เรื่อง ‘Lost in Thailand’ ซึ่งทำให้คนจีนมาเที่ยวเชียงใหม่กันเยอะมาก ถ้าดูหนังเรื่องนี้เราจะเห็นว่าคนจีนมาเมืองไทยเพื่อตามหา สิ่งที่จีนได้สูญเสียไป จากการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งทำลายวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณ สูญเสียไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วมากจน ความเชื่อ ค่านิยมที่เก่าแก่ สัญศาสตร์ต่างๆ หายไปหมดแล้ว และเขาก็จะรู้สึกว่าประเทศไทยมีคนเชื้อสายจีนอยู่เยอะมาก จะเดินทางมาก็สบาย เพราะกินอาหารเหมือนๆ กัน คนก็หน้าตาคล้ายๆ กัน อยากได้อะไรก็หาได้
แต่ในขณะเดียวกันมันมีสิ่งต่างๆ ที่เขาโหยหาในวัฒนธรรมเขา ที่เขาเคยคิดว่าในรุ่นปู่ ย่า ตา ทวด มันดีจริงๆ เลย และมันหายไปหมดแล้ว คนจีนมาเมืองไทย ก็ชอบสักยันต์ นวดแผนโบราณ ไหว้เจ้า แล้วก็ต้องมาเรียนรู้การไหว้เจ้าจากคนไทยด้วย อย่างกทม.เองก็มีออกแผนที่ไหว้เทพเจ้าต่างๆ เช่นพระพรหมเอราวัณ
อีกอันนึงที่น่าสนใจ อย่างในไชน่าทาวน์ที่เยาวราช และหลายๆ ที่ในกรุงเทพฯ เราเริ่มเห็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งผับ บาร์ ร้านกาแฟที่มันเป็นสไตล์จีนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น แต่มันไม่ใช่จีนในปัจจุบัน แต่เป็นจีนสไตล์เซี่ยงไฮ้ จีนแบบคาบาร์เร่ จีนฮ่องกงสมัยin the mood for loveที่ทำขึ้นมา เพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ และจริงๆ ช่วงนึงหนังพีเรียดฮ่องกงก็มาถ่ายที่เยาวราช ที่ไทยหมดเลย มันก็มีแนวโน้มว่า กระแสนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย แฟชั่นเพื่อการท่องเที่ยวมันก็จะมีพัฒนาไปต่อไป
ดังนั้นเค้ามองประเทศเราเป็นเมืองความเป็นจีนในฝัน ยุค 70 ปีที่แล้ว ที่เค้าโหยหา ทำให้เค้าอยากมาเที่ยวเมืองไทย