“ถ้าหมดรุ่นป๊าม๊าไปแล้ว เราว่าที่บ้านคงไม่มีใครไหว้เจ้าอีกแล้วล่ะ”
หนึ่งในประโยคของเพื่อนคนสนิท หลังจากเราคุยกันว่าตรุษจีนที่จะถึงนี้พวกเราน่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง ตั้งแต่ต้องเตรียมทำความสะอาดบ้าน พื้นต้องเงาวิ้ง ผ้าม่านต้องไร้ฝุ่น ประตูบ้านต้องสีสดใส เตรียมซื้อของไหว้ เป็ดพร้อม ไก่พร้อม บัวลอยก็ปั้นพร้อมต้มแล้วเหมือนกัน เตรียมตัวไหว้เจ้า เช็กฤกษ์ให้พร้อม โต๊ะพับต้องกางและตั้งในถูกทิศ นำผลไม้ใส่พานให้เรียบร้อย รวมไปถึงเตรียมตัวกระทั่งต้อนรับญาติๆ ด้วยเดรสและลิปสติกสีแดงสด
“ทุกวันนี้ที่ไหว้ตามเทศกาล ไม่ว่าจะตรุษจีน เชงเม้ง หรือวันสำคัญไหนๆ บอกตรงๆ เลยนะ เราแค่ทำตามผู้ใหญ่ที่บ้านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องลงมือซื้อของ หรือเตรียมของไหว้เองบ้าง เราคงทำไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยเว้ย แล้วมันก็น่าใจหายนะ ถ้าวันหนึ่งที่อากงอาม่าหรือป๊าม๊าเราทำมาตลอดมันจะต้องหยุดไปที่รุ่นเรา”
“บางทีก็คิดว่าเราเป็นลูกคนจีนแท้ๆ ป๊าเรามาจากเมืองจีนเลยด้วยซ้ำ แต่กลับไม่รู้ภูมิหลังของเขาด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เขาให้ทำอะไร เราเหมือนแค่ทำๆ มันไป แต่อินมั้ยก็อีกเรื่อง”
“พอมาลองนั่งนึกถึงข้อดีของเทศกาลแบบนี้ มันก็คงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ญาติพี่น้องได้มารวมตัวกันมั้ง เราได้รู้จักหน้าญาติๆ ของเราก็วันนี้ แต่มันก็ต้องมีบางคนแหละที่เราไม่ได้สนิทอะไรกัน รู้สึกเสียใจเหมือนกันนะ เพราะเราอยากเห็นภาพตัวเองสนิทกับญาติๆ เหมือนรุ่นป๊าม๊าเรา”
“แถมทุกวันนี้เวลาจะไหว้เจ้า เราตีกับตัวเองในหัวตลอดเลยว่าของไหว้เต็มโต๊ะแบบนี้จะกินหมดมั้ย” เธอยังคงกึ่งเล่ากึ่งระบายความในใจออกมาเรื่อยๆ
แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สภาพแวดล้อมและสังคมที่อยู่รายล้อมตัวเราก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ‘ความเป็นจีน’ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายเหมือนในอดีตอีกต่อไป เราหลายๆ คนกล้าที่จะยืดอก และน้อมรับความเป็นจีนด้วยความภูมิใจกันแล้วด้วยซ้ำ คำพูดฝังหู หรือกระทั่งเลือดเนื้อเชื้อไขที่ฝังอยู่ในกายของเรา ก็คอยย้ำให้ใจเราได้รู้อยู่เสมอว่าตัวเองเป็นลูกคนจีน ในขณะเดียวกัน ก็ผสานไปกับความเป็นไทย หรือกระทั่งความเชื่อหลากหลายที่สังคมภายนอก (บ้าน) มอบให้เราเช่นกัน
The MATTER จึงลองรวบรวมความน่าจะเป็น และความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ทำให้เราบางคนรู้สึกไม่กลมกลืนกับธรรมเนียมที่บ้าน รับรู้แต่เข้าไม่ถึง หรือกระทั่งให้ความสนใจต่อคติความเชื่อและหลักปฏิบัติลดน้อยลง มาให้ทุกคนได้อ่านกัน
อาจต่อไม่ติดด้วยปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายในที่พูดถึงนี้ คือปัจจัยภายในบ้าน เรื่องราวภายในครอบครัว การส่งต่อวัฒนธรรม การส่งต่อความเข้าใจแก่ลูกหลาน หรือกระทั่งความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนั่นเอง
สาแหรกไม่ถูกสืบ
ใครหลายคนอาจเคยถามกับที่บ้านว่า อากงอาม่ามาเมืองไทยได้ยังไง? เข้ามาด้วยเรือสำเภาหรือเปล่า? เข้ามาตอนไหน ขึ้นฝั่งมาปักหลักอยู่ที่ย่านเยาวราชเหมือนเรื่องเล่าของคนอื่นๆ หรือเปล่า? แต่น้อยคนนักที่น่าจะถามลึกลงไปต่อว่า แล้วเหล่ากงเหล่าม่าของเราเป็นใคร? ต้นตระกูลแท้จริงแล้วอยู่ที่ไหน?
ส่วนหนึ่งคือความใกล้ชิดกับความเชื่อและวัฒนธรรม ชาวจีนโพ้นทะเลมักมีความเชื่อ พิธีกรรม และการปฏิบัติที่นำติดตัวมาด้วย ดังนั้น สำนึกในความเป็นจีนอย่างเต็มเปี่ยมที่ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง ยิ่งเป็นรุ่นหลานหรือเหลนแล้ว ความรู้สึกร่วมก็อาจจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปตามลำดับได้
อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าไม่รู้จะไปถามใคร คนที่น่าจะให้คำตอบได้ หรือเล่าเรื่องให้เราฟังได้ก็ไม่อยู่แล้ว คนที่อยู่บ้างก็หลงๆ ลืมๆ หรือกระทั่งเป็นเพียงการฟังที่เล่าต่อๆ กันมาอีกที เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่องกระดาษไหว้: คติความเชื่อและความเปลี่ยนแปลงของคนไทยเชื้อสายจีน ชุมชนเจริญไชย ย่านเยาวราช จังหวัดกรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนหนึ่งที่การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีลดลงในสังคมไทย เป็นเพราะผู้อาวุโสเสียชีวิตก่อนลูกหลานเติบโต ลูกหลานจึงไม่มีความเข้าใจต่อความเชื่อและประเพณี ตลอดจนขาดความรู้ในการถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปด้วย
ประกอบกับในปัจจุบัน หลายครอบครัวทำความเข้าใจวิธีคิดของเด็กๆ รุ่นหลังกันมากขึ้น เพื่อต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครอบครัวเป็นความสบายใจ การบีบบังคับให้เชื่อหรือให้เราต้องทำตามจึงลดลง เหลือเพียงการทำเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานดู และซึมซับไปทางอ้อมเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อาจเป็นส่วนที่ทำให้ความรู้และความเข้าใจที่มีต่อธรรมเนียมประเพณีเดิมห่างหายไปตามเจเนอเรชั่นได้
ญาติ (ไม่) สนิท
ในอดีตภาพจำของเราส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงครอบครัวคนจีน คงหนีไม่พ้นภาพของกงสี การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พี่น้องและญาติมิตรร่วมกันแบ่งปันทุกข์สุข ทว่าภาพเหล่านั้นก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป จากครอบครัวใหญ่กลายมาเป็นครอบครัวเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือสังคม เมื่อผู้คนแยกกันอยู่ การรับรู้ความเป็นไปในชีวิตของอีกฝ่ายก็เริ่มห่างหาย ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติจึงอาจไม่แนบชิดดังเก่า
เมื่อวันสำคัญของบ้านคือการรวมตัวอีกครั้งของบรรดาสมาชิก พื้นที่ทำกิจกรรมตรงนี้อาจกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่สบายใจของสมาชิกบางคนในครอบครัว เหตุเพราะเราไม่รู้จัก เราไม่คุ้นเคย กระทั่งการซักถามด้วยความหวังดี (ที่อาจไม่ถูกใจหรือบ้างก็ไม่เข้าหูเราอยู่บ้าง) การแปรเปลี่ยนในระดับครัวเรือนเช่นนี้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ผลักให้เราถอยห่างออกไปจากการความรู้สึกใกล้ชิด และความเป็นหนึ่งเดียวกันได้
โลกเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน
เราอยู่ในยุคที่ไร้ขอบเขตทางพรมแดนด้วยโซเชียลมีเดีย ซึ่งเชื่อมตัวผู้คนหลายร้อยล้านเข้าด้วยกัน ทำให้เรามีโอกาสได้รู้จัก ได้เรียนรู้ พร้อมกับได้เปิดรับเอาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตตามแต่ละวิจารณญาณส่วนบุคคล และความเชื่อก็เป็นหนึ่งในนั้น บางคนอาจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาที่มีความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ขัดกับธรรมเนียมจีน อีกทั้งผลสำรวจทั่วโลกในปี 2020 จาก Pew Research Center ที่พบว่าคนหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีแนวโน้มจะนับถือศาสนาน้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมเดิมแปรเปลี่ยนไป
ประกอบกับแนวคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) ซึ่งฝังรากลึกมาในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ที่กำลังปะทะกับกระแสเฟมินิสต์ เมื่อผู้คนตระหนักและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างกว้างขวางขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่กำลังต่อสู้กับความเชื่อดั้งเดิมบางอย่าง และระบบครอบครัวจีนผ่านการปฏิบัติ
เปลี่ยนแปลงไป ด้วยปัจจัยนอกบ้าน
การปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ไม่เหมือนเดิม ก็เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่ห่างหายไปจากขนบธรรมเนียมจีน ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การเข้ามาของโรคระบาดครั้งใหญ่ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
โรคระบาดคร่าอะไร?
จะไม่พูดถึงโรคโควิด-19 เลยก็คงไม่ได้ โรคระบาดที่เรียกได้ว่าทั้งปั่นป่วน และสร้างแรงสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตประจำของผู้คนตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบันในปี 2024 โรคนี้ก็ยังไม่หยุดพัฒนาหรือกลายพันธุ์
จากความสุขที่ได้รวมตัวของญาติพี่น้องในวันสำคัญตามเทศกาลของชาวจีนเชื้อสายไทย จึงกลายเป็นความหวาดระแวงต่อโรคระบาด ผู้คนเลือกที่จะไม่มาพบปะ หรือพบปะกันน้อยลง เหตุผลหนึ่งก็คือกลัวผู้สูงอายุที่บ้านจะเจ็บป่วย กระทั่งการออกไปจับจ่ายใช้สอยก็ลดลง เพื่อเลี่ยงการสัมผัสกัน ต่างคนจึงเลือกที่จะแยกย้ายกันทำพิธีกรรมตามแต่ที่ตัวเองสะดวก
ประกอบกับช่องทางออนไลน์ที่เข้ามาตอบโจทย์นี้ เราสามารถสั่งซื้อของไหว้ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถพบปะญาติสหายผ่านการวิดีโอคอล แม้แต่การให้อั่งเปาหรือซองสีแดงในวันตรุษจีน ก็ยังทำได้ผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ทั้งหมดนี้นอกจากจะสะดวกรวดเร็ว และลดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคแล้ว เรายังอาจเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของเรากำลังแปรเปลี่ยนไปตามโลกยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
เพราะเงินไม่มี อะไรๆ เลยต้องปรับ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พิธีกรรม หรือการปฏิบัติที่สืบต่อกันมาเนิ่นนานของชาวจีนโพ้นทะเลเปลี่ยนไป คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘การเงิน’ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงจากโรคโควิด-19 ผนวกกับปัญหาพิษเศรษฐกิจที่เรื้อรัง เมื่อเงินคือปัจจัยหลักต่อการดำเนินชีวิต การเก็บหอมรอมริบจึงสำคัญ ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น พิธีกรรมสำคัญอย่างการไหว้ที่ต้องจับจ่ายใช้สอยของครอบครัวจีน ก็อาจถูกลดทอนลงไปด้วย โดยรศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา ได้บอกผ่านรายการมองจีนมุมใหม่ ไว้ว่า ปัจจุบันการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการไหว้ของชาวจีนโพ้นทะเลมีการลดรูปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จากเดิมตามธรรมเนียมจะเฉลิมฉลองถึง 7 วัน และปัจจุบันลดลงเหลือเพียงแค่ 3 วันหรือ 1 วันเท่านั้น
หากลองนึกภาพว่าเราเป็นคนค้าขาย ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้การปิดร้านไป 1 วัน รายได้เหล่านั้นคงหายไปในพริบตา และเมื่อเงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญของผู้คนยุคนี้ นี่จึงอาจเป็นการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ รวมถึงตรุษจีนในปีล่าสุดนี้ เราก็คงเห็นได้ว่าข้าวของนั้นแพงขึ้นค่อนข้างมาก สวนทางกับกำลังซื้อของผู้คนที่ต้องอดออมและเลือกใช้จ่ายแค่เท่าที่จำเป็น
โลกของเราก็สำคัญ
การพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ทั้งปัญหาอุณหภูมิสูงที่ขึ้นเรื่อยๆ ของโลก สภาพอากาศแปรเปลี่ยนไปมา ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันเริ่มหนาแน่น และขยะที่มีแนวโน้มมากขึ้น
ทุกการไหว้ตามธรรมเนียมปฏิบัติในขั้นตอนท้ายสุดจะขาด ‘การเผากระดาษ’ ไปได้ยังไง กระดาษไหว้คือความเชื่อที่ถูกใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน สารทจีน กงเต๊ก หรือแก้ปีชง เป็นต้น ทั้งนี้ธูปก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ควันสะสมและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันก็มีการรณรงค์กันมากขึ้น ยอดขายกระดาษเผาบางแห่งก็ลดลง เหตุเพราะผู้คนต้องการลดปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น
ขยะอาหาร หรือ Food Waste เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จากแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ส่งผลไปถึงของไหว้แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจ และเปลี่ยนจากการซื้อของไหว้ตามธรรมเนียมเดิม เป็นการเลือกซื้อของที่ทุกคนในบ้านอยากกินมาไหว้แทน เพื่อทำให้ของไหว้เหล่านั้นเกิดประโยชน์ได้สูงที่สุด ไม่ใช่เพียงไหว้เสร็จแล้วก็กลายเป็นของเหลือทิ้ง
โลกของเราหมุนไปทุกวัน ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เรานำมาเล่าสู่กันฟังนี้ อาจเป็นเพียงบางส่วนที่ทำให้คติความเชื่อ ความรู้สึกร่วม และวิธีการปฏิบัติบางอย่างในบ้านชาวไทยเชื้อสายจีนสมัยใหม่ (ของบางครอบครัว) แปรเปลี่ยนไป ทั้งจากความตั้งใจหรือความไม่ตั้งใจด้วยมิติทางสังคมและเศรษฐกิจก็ตาม นั่งคิดย้อนกลับไป เราในฐานะลูกหลานคนจีนอาจรู้สึกใจหายอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ต่างๆ เท่าที่ใจและกำลังของเราไหวนั้นก็สำคัญ
นับถอยหลังเข้าสู่อีกหนึ่งวันที่อาจจะยุ่งของวัยรุ่นไทยเชื้อสายจีน ตอนนี้หลายคนในหลายๆ บ้านอาจกำลังเตรียมจับจ่ายใช้สอย เตรียมของไหว้ หรือทำความสะอาดบ้าน บางคนอาจจะยังอินกับวันสำคัญตามเทศกาลต่างๆ เพราะด้วยเห็นว่ามันสำคัญ เป็นความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ หรือเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาจนอยากทำต่อไป บางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ คนทางบ้านว่าไงเราก็ว่างั้นด้วย หรือบางคนอาจจะไม่อินกับมันแล้วก็ตาม
ทว่าการรับรู้วัฒนธรรมด้วยความเข้าใจ รับฟัง เคารพความเชื่อที่แตกต่าง และปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม อาจทำให้ทั้งตัวเราและผู้ใหญ่ในบ้าน ยังคงมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการโอบกอดตัวตน และโอบรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไปพร้อมกัน
เพราะทุกการก้าวเดินไปข้างหน้าล้วนมีสิ่งใหม่ให้เราต้องเผชิญ เราจะปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมเนียมที่เคยมีเพื่อให้มันยังคงอยู่ หรือธรรมเนียมเหล่านี้จะถูกแปรเปลี่ยนไปมากมายขนาดไหน ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
อ้างอิงจาก