ถ้าเลือกได้ ใครๆ ก็อยากทำงานกับคนที่ตัวเองสบายใจ แต่โลกของการทำงาน ไม่ได้เลือกได้ขนาดนั้น บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องร่วมงานกับบุคคลไม่พึงประสงค์ จะปฏิเสธว่าขอไม่ทำงานด้วย ก็ดูไม่เป็นมืออาชีพ
The MATTER จึงไปสอบถามมาว่าหากคุณต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับงานให้ได้ แล้วมุมมองหรือวิธีการของแต่ละคนเป็นอย่างไร ไปดูกัน
ณิชชา บุญวิสิฐกุล
อาชีพ : พนักงานออฟฟิศ
“ต้องแยกแยะระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว แต่หากระหว่างการทำงานมีปัญหากันก็แค่ ignore คนๆ นั้นไป ปล่อยให้คำพูดหรือการกระทำที่เราไม่ชอบเป็นอากาศไป”
กันต์พจน์ เบญจพลธรรม
อาชีพ : ครูสอนพิเศษ
“เราก็ต้องทำใจเป็นกลางให้มากที่สุดครับ ถ้าร่วมงานกันระยะยาว การเกลียดเขาก็จะทำให้การทำงานเป็นทุกข์มากๆ เราจึงควรคิดว่าเขาก็นิสัยแบบนี้ ในเมื่อเราบังคับให้เขาเปลี่ยนไม่ได้ ก็ให้มองข้ามและสนใจแต่เรื่องงานเท่านั้น”
อภิปภา ยกย่อง
อาชีพ : Marketing Communication
“อย่างแรกก็พยายามคิดอยู่เสมอ ว่างานทำที่ที่ทำงาน ไม่เก็บไปคิดต่อที่บ้าน ถ้าไม่ชอบเรื่องที่เขาทำงานไม่ดี ก็จะพูดตรงๆ ว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดผลเสียอะไรตามมา ถ้ายังแก้ไม่ได้ หรือไม่แก้ ในส่วนที่เราต้องรับผิดชอบร่วมด้วยก็จะแจ้งกับหัวหน้าอีกทีถึงปัญหาที่เจอ แต่ถ้าไม่ชอบเรื่องส่วนตัว ก็จะปลีกตัวห่างๆ ไม่สุงสิงเรื่องส่วนตัวของอีกฝ่าย”
สรณัฐ พรนิคม
อาชีพ : Front office
“จริงๆ เราต้องแยกก่อนว่าเรื่องไหนงาน เรืองไหนส่วนตัว หากเราไม่ชอบเขาเพราะเขาทำงานไม่เก่งหรือทำงานไม่ถูกใจเรา เราก็บอกกล่าว และแนะนำเท่าที่เราจะทำได้ แต่หากเป็นเรื่องส่วนตัว เราควรจะหยุดความคิดนั้นและโฟกัสเรื่องงานมาก่อน มองข้ามข้อเสียไป แล้วงานจะออกมาดีเอง”
ปวรนันท์ หิรัญทวิรุจิลาม
“อันดับแรก แยกแยะงานกับเรื่องส่วนตัว ถ้าเค้าไม่ได้ทำงานแย่ พอที่จะร่วมงานกันได้ ก็ทำ พอจบงานก็จบกัน”
ธนพล อาชาพิทักษ์
อาชีพ : Marketing
“ก็ทำงานด้วยกันปกตินะครับ เราต้องแยกแยะให้ออกว่างานก็คือส่วนงาน ต่อให้เราไม่ชอบหน้ากัน แต่ในเมื่อเราได้รับมอบหมายงานให้ทำด้วยกัน เราก็ต้องตัดปัญหาส่วนนั้นออกไป เพื่อให้งานผ่านไปอย่างลุล่วง ก็ต้องกองอคติไว้ก่อนแล้วมาร่วมทำงานกันให้เสร็จ”
ธนัญธร พรพจน์รัตนะกุล
อาชีพ : media planner assistant
ถ้าต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบ อย่างแรกเลยคือต้องทำใจ งานก็คืองาน อารมณ์ก็คืออารมณ์ ก็เข้าใจแหละว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ ให้มองเป็นการชาเลนจ์ตัวเองในการทำงาน เป็นการเพิ่มอรรถรสให้ชีวิตการทำงานไม่น่าเบื่อ หรือถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็คงเลี่ยงๆ จะคุยด้วย หรือคุยแค่ในเรื่องงานเท่านั้น อย่างน้อยก็ต้องแยกแยะให้ได้นั่นแหละ ไม่งั้นคงพังไปหมดแน่ๆ