ถึงแม้ในปีนี้ Oxford English Dictionary เลือกคำว่า Post-Truth เป็นคำแห่งปี จนเป็นกระแสว่าเราอยู่ในยุค ‘หลังความจริง’ กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ในบรรดารายชื่อคำที่ติด Short-list หรือคำที่ ‘พิเศษ’ แห่งปี นั้นก็มีคำอีกคำหนึ่งที่สะดุดสายตาเรา
คำคำนั้นคือคำว่า Hygge ที่ Oxford ให้นิยามไว้สั้นๆ ว่าเป็น ‘คุณภาพของความน่าสบายและความสุขสบายที่มักมาพร้อมกับความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจหรือความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมักเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของเดนมาร์ก’ – A quality of cosiness and comfortable conviviality that engenders a feeling of contentment or well-being (regarded as a defining characteristic of Danish culture) คำคำนี้จะเป็นนาม หรือเป็นคุณศัพท์ก็ได้
ตัวอย่างเช่น ‘ทำไมไม่ลองทำตามคนเดนมาร์กเพื่อช่วยให้ตัวเองมี hygge มากขึ้นบ้างล่ะ’
(‘why not follow the Danish example and bring more hygge into your daily life?’)
หรือ ‘ประสบการณ์แสน hygge’ (special hygge experience)
ก่อนอื่น ไอ้คำว่า hygge นี้อ่านออกเสียงว่าอย่างไร
คนส่วนใหญ่มักบอกว่าคำนี้อ่านออกเสียงว่า ‘ฮูก้า’ (hoogah) ที่พ้องกับ cougar แต่หลายคนก็บอกว่า จะอ่านอะไรก็อ่านไปเถอะ เพราะถ้าไปเน้นมากว่าอ่านแบบไหนถึงจะถูก ก็ไม่ค่อยจะ hygge เลย
แต่ Hygge หมายถึงอะไรกันแน่?
ในบทความที่เกี่ยวกับ Hygge มักพูดกันว่ามันมีความหมายในเชิง ‘ความอุ่นสบาย ไม่ต้องพยายามอะไร’ ในขณะที่ภาพประกอบบทความก็มักจะใช้ภาพเท้าสองคู่ ใส่ถุงเท้าลวดลายเทศกาล นอนเคียงกัน เรียงกันข้างเตาผิงในฤดูหนาว ดู ‘คอมฟี่’ สุดๆ ซึ่งดูเป็นภาพที่เรามักจะจินตนาการภาพในหัว เมื่อพูดถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะประเทศเดนมาร์กที่มักจะถือกันว่า เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก (www.telegraph.co.uk/travel/news/Denmark-the-worlds-happiest-country/)
อีกความหมายหนึ่งจาก Telegraph บอกว่า Hygge คือ ‘สภาวะไร้สิ่งกังวล และเราก็มีความสุขจากสิ่งเล็กน้อยปลอบโยนใจ’ (คือประมาณว่า ‘ดีต่อใจ’ นั่นเอง)
หรือถ้าเราจะเทียบเคียงเป็นภาษาไทยก็คือ ‘ความสุขง่ายๆ’
เช่นนั้นแล้ว Hygge จึงไม่มีนิยามตรงตัว มันเป็นคล้ายๆ กับสภาวะทางจิตที่อ่อนโยน สุขสบาย ไร้กังวล แฮปปี้ แต่ไม่ใช่แฮปปี้ที่เปี่ยมไปด้วยความสุขจนล้นเอ่อ เป็นแฮปปี้ที่สุขกำลังพอดีและนิ่งสงบ
Meik Wiking ผ.อ. ของสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกนพูดถึง Hygge ว่า “คุณจะได้ยินคำนี้ตลอดแหละครับ ทุกคนพูดถึงมัน พวกเรามักจะพูดว่าเรากำลังรอ hygge เรากำลังรู้สึก hygge และเหตุการณ์ที่ผ่านมามันช่าง hyggelit (มีความ hygge) จังเลย” “สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับ hygge ก็คือ มันเป็นความสุขที่เกี่ยวกับประสบการณ์ มากกว่าแค่สิ่งของรอบกาย”
เมื่อมันดู ‘เป็นสุข’ ‘สบาย’ ‘อิ่มเอิบ’ แบบนี้ จึงไม่แปลกที่ใครๆ ในโลกก็อยากที่จะมีความ hygge มันจึงถูกแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย ในสหราชอาณาจักรที่เดียว ก็มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มากถึง 9 เล่มออกในปีนี้ (เช่น Hygge – the Danish Art of Living Cosily, The Little Book of Hygge : The Danish Art of Living Well, Hygge: A Celebration of Simple Pleasures)
ในอังกฤษ มีการเรียนการสอนเรื่อง hyggeเปิดขึ้นที่วิทยาลัย Morley ในกรุงลอนดอนเลยทีเดียวนะครับ เป็นคอร์สสอนภาษาที่พร้อมๆ กับสอนคำเดนิชแล้ว ยังจะสอนวัฒนธรรมแบบ Hygge เข้าไปในหลักสูตรด้วย และในลอนดอน ร้าน John Lewis ก็มีการขายเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องนอนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้อย่างเข้มข้น โดยใช้จุดขาย “ฤดูหนาวแสนอบอุ่น”
จะว่าไปก็ฮิตเหมือนตอนที่หนังสือเรื่องทิ้งข้าวของของ ‘มาริ คอนโด’ ฮิตขึ้นมานั่นแหละครับ หรือคล้ายๆ กับกระแส ‘ญี่ปุ่นมินิมอล’ ในบ้านเรานั่นเอง
ไม่นานมานี้ The Guardian ลงบทความชื่อ Hygge Conspiracy หรือ ทฤษฎีสมคบคิดฮูก้า ว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นเพียงตัวล่อทางการตลาด ที่ถูกโหมกระพือขึ้นมา เพื่อผลลัพธ์ทางการขายสินค้าเท่านั้นเอง (หมายถึงว่าแนวคิด Hygge นี้มีจริงๆ แต่ว่าการกระพือกระแสนี้ขึ้นมานั้นเกิดขึ้นจากความต้องการขายหนังสือ)
แคโรไลน์ แซนเดอร์สัน นักเขียนเกี่ยวกับหนังสือในนิตยสาร Bookseller Magazine บอกว่า “Hygge เป็นเทรนด์การขายหนังสือที่ฉูดฉาดที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย ถ้านับกันว่ามีกี่ปกที่พิมพ์ออกมาในระยะเวลาสั้นๆ นะคะ” และในบทความดังกล่าวยังเปิดเผยวิธีการสร้าง ‘กระแส Hygge’ ของบรรณาธิการหรือนักเขียนบางคนด้วย เช่น จัสติน พาร์คินสัน นักเขียนที่ต้องการเรื่องมาแปลงเป็นบทความฮิต เขาได้อ่านเรื่อง Hygge จากหนังสือ The Year of Living Danishly และได้ยินคำนี้จากรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ และคิดว่าคำคำนี้มีศักยภาพพอที่จะกลายเป็นกระแสหลัก หรือ แอนนา วาเลนไตน์ ผู้ได้อ่านเรื่อง Hygge จากบทความในเว็บไซต์ BBC และตัดสินใจว่าจะหานักเขียนมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Hygge โดยเฉพาะ เพราะมันต้อง ‘ขายได้แน่ๆ’
ในตอนนี้ Hygge จึงเป็นวัฒนธรรมที่ย้อนแย้งในตัวมันเองอยู่เหมือนกัน นั่นคือมันควรเป็นวัฒนธรรมเรียบง่าย สุขสบาย น้อยแต่ดี ความสุขง่ายๆ แต่มันกลับถูกกระพือกระแสขึ้นมา
จนมันกลายเป็นเรื่อง ‘ไม่ง่าย’ แต่ ‘ขายได้’ เพราะทุกคนต้องการ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.theguardian.com/lifeandstyle