ยอมรับเถอะ! บางครั้งคุณก็เกลียดกรุ๊ปไลน์ที่เหล่าชาวสว. (สูงวัย) อวยพรให้ทุกเช้า
คุณอาจอึดอัดกับภาพพรรณไม้นานาชนิด วิวทิวทัศน์สุดเฉิ่ม และการให้กำลังใจสุดปรารถนาดีราวกับโลกนี้ไม่มีความเลวร้ายเจือปนอยู่เลย ทำไมพวกผู้ใหญ่โลกสวยกันจัง? เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร?
แล้วในฐานะลูกหลาน เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? จะบอกว่า “แม่คะ หยุดส่งค่ะ” หรือหนีออกจากกรุ๊ปไลน์ไปเลยก็ดูใจร้ายไส้ระกำไปหน่อย The MATTER จึงรับหน้าที่อาสาหาคำตอบนี้ให้คุณ
พลังของ Positive Effect
งานวิจัยถูกพัฒนาขึ้นหลายชิ้นสอดคล้องกับแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนสังคมในหลายประเทศ (ในประเทศไทยต้องเรียกว่า Hyper Aging ด้วยซ้ำ เพราะเราเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วสุดๆ ในแบบที่ไม่มีมาตรการดีๆ มารองรับ) นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงพยายามไขปริศนาที่ดูเหมือนจะง่าย แต่กลับลึกลับซับซ้อนพิกล ของการใช้ชีวิตที่ว่า “เมื่อมนุษย์อายุเพิ่มขึ้น ร่างกายเสื่อมถอยตามกาลเวลา แต่ทำไมคนสูงอายุกลับสงบขึ้น มีความสุขขึ้น และเดินเข้าหาความสุขอย่างง่ายๆ โดยที่คนหนุ่มสาวไม่มีวันเข้าใจ”
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกัน “คนสูงอายุเลือกความสุขด้วยความเต็มใจไงล่ะ”
กรณีคลาสสิคที่สุดคือชุดงานวิจัยในปี 1995 โดยกลุ่มนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Fordham ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุจำนวน 32,000 โดยมี 38% เป็นผู้มีอายุระหว่าง 68 ถึง 77 ปี เมื่อตอบคำถามเชิงสุขภาพจิต คนสูงอายุมักตอบว่าตนเอง “มีความสุขดี” แตกต่างจากคนหนุ่มสาวที่รู้สึกไม่พึงพอใจกับชีวิตและออกจะตัดพ้อด้วยซ้ำ
และต้นปี 2016 ที่ผ่านมาทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern Denmark ปลุกผีการทดลองที่คล้ายคลึงนั้นอีกครั้ง โดยมีอาสาสมัครจำนวน 10,000 คนที่มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป (สูงสุดอายุ 100ปี) ก็ได้ผลวิจัยที่ออกมาคล้ายกันแม้กาลเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 21 ปีก็ตาม ‘คนยิ่งแก่ ยิ่งมีความสุข’
สวัสดี…ขอให้โชคดี…
คำอวยพร ภาพสวยๆ และถ้อยคำปรารถนาดี ถูกแชร์ให้กันเต็มกรุ๊ปไลน์จนอาจทำให้คุณเบื่อหน่าย แต่ขอให้ทราบว่า ภาพที่ดีไซน์กะโหลกกะลา กลับเติมเต็มความรู้สึกเชิงบวกให้กับผู้สูงวัยด้วยกันเอง และพวกเขาก็อยากมอบให้คุณเช่นกัน (ทนๆ ไปเถอะน่า)
งานวิจัยของนักจิตวิทยา Derek M. Isaacowitz และ YoonSun Choi จากมหาวิทยาลัย Brandeis ก็สงสัยประเด็น ‘การเลือกรับรู้’ ของกลุ่มผู้สูงอายุเช่นกัน จึงออกแบบงานทดลองโดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้สูงอายุจำนวน 77 คนที่มีอายุ 60 – 92 ปี และกลุ่มที่สอง คือวัยรุ่นจำนวน 78 คนที่มีอายุ 18 – 25 ปี ซึ่งคนทั้งสองช่วงวัยจะต้องดูชุดภาพที่สื่อความหมายที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน และทีมวิจัยมีการวัดดวงตาด้วย Eye Tracking Device ว่าพวกเขามองภาพเหล่านี้อย่างไร
- ภาพบาดแผล สงคราม การจลาจล และความตาย
- ภาพทิวทัศน์ ดอกไม้ แมวเหมียว และการเกิด
ผลปรากฏว่าผู้สูงอายุใช้เวลามองภาพที่มีความหมายเชิงบวกมากกว่ารูปอื่นๆ และเมื่อให้ทบทวนความจำ พวกเขาก็นึกถึงภาพความหมายดีๆ ได้มากกว่า แต่หากฉายภาพเลวร้าย พวกเขากลับรู้สึกไม่พึงพอใจและเลี่ยงสายตาไป หรือไม่ก็หลับตาปี๋ไม่ดูเลย ตรงกันข้ามกับกลุ่มวัยรุ่นที่ดูมีปฏิกิริยากับภาพความหมายเชิงลบมากกว่า พวกเขาสนใจความขัดแย้ง สงคราม ซึ่งทำให้หัวใจเต้นเร็ว
แฮปปี้เพราะสมองสั่ง
คุณไม่ชอบภาพ Positive ก็โทษกันไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากเซลล์สมองของมนุษย์มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย ในวัยหนุ่มสาวพวกเราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่มีเป็นปัจจัยในการอยู่รอด (ของคุณและครอบครัว) เป็นเดิมพัน เราต้องเฝ้าระวังการถูกเอาเปรียบและการถูกช่วงชิงทรัพยากร ยิ่งในสังคมที่คุณต้องระวังตัวเป็นระวิงก็ยากที่จะ Stay Positive ตลอดเวลา
แต่ในกรณีผู้สูงอายุ พวกเขาจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกเชิงบวกง่าย ไม่ชอบการถูกเร่งเร้า ซึ่งในปี 2013 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California พบว่าสมองของผู้สูงอายุจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อถ้อยคำที่มีความหมายดี เมื่อทำการตรวจกิจกรรมสมองด้วยเทคนิค fMRI พบบริเวณสมองส่วน Medial Prefrontal Cortex และ Amygdala มีหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจและอารมณ์จะตอบสนองสูงกว่าคนวัยอื่นๆ ทำให้คนสูงอายุมีแนวโน้มช่างเห็นใจ ปรารถนาดี และอยากแชร์อะไรดีๆ ต่อไปให้คุณ
ระวังคนแก่จะโดนหลอก
ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อสื่อที่ชักชวนให้เห็นอกเห็นใจ สร้างความวิตกกังวลต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกหลาน มีโฆษณาประกันหลายชิ้นที่มี Target Group เป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เหมือนได้พูดคุยกับคนวัยเดียวกัน มีการเตือนภัยแบบละมุมละม่อม ถ้ามาไม้นี้คนแก่ที่บ้านเสร็จทุกราย (คนทำ Campaign เองก็คง Research มาอย่างดีแล้วเช่นกัน) มีแนวโน้มว่าคนสูงอายุทั่วโลกจะถูกหลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นกว่า 18% จากสถิติปี 2008 ส่วนหนึ่งมาจากสมองผู้สูงอายุมีทักษะการ ‘จับผิด’ และ ‘ระวังภัย’ น้อยลง มองไม่ออกว่าใครกำลังตีสนิทและหวังผลประโยชน์อยู่ คนสูงอายุจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายของเหล่าอาชญกรต้มตุ๋นสารพัดรูปแบบ
แม้คุณจะเบื่อกรุ๊ปไลน์พ่อแม่ลุงป้าน้าอาแค่ไหน เบื่อการเห็นภาพซ้ำๆ เบื่อฟอนต์เชยๆ เพียงใด แต่ขอให้รู้ว่าพวกเขาทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเมื่อถึงเวลาคุณแก่ คุณอาจส่งภาพรัวๆ โดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Linking Process and Outcome in the study of emotion and aging