ตอนก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นเราเคยต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกแบบไหนบ้างนะ?
รู้สึกอิจฉาเพื่อนคนนั้น ขี้เกียจออกไปเจอเพื่อนคนนี้ แอบเขินรุ่นพี่คนนู้น หรือวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ตัวเราในวันนั้นรู้ไหมว่าความรู้สึกเหล่านี้ต้องจัดการกับมันยังไง หรือก็ปล่อยเลยตามเลยเพียงเพราะไม่รู้ว่าจะต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านเหล่านี้ได้ยังไง?
แน่นอน เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ทุกๆ การเติบโตเราย่อมต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องของสภาพแวดล้อม ใครบางคนอาจย้ายโรงเรียนครั้งแรกในช่วงเวลานี้ หรือหนักเลยก็คือย้ายบ้าน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอก ที่ยังไม่นับเรื่องของร่างกายเราที่เริ่มมีการเติบโต สิวเริ่มขึ้น ประจำเดือนเริ่มมา ฮอร์โมนเริ่มออกฤทธิ์ และหลายครั้งนั่นก็อาจรวมไปถึงอารมณ์ใหม่ๆ หรือความรู้สึกเดิมที่เคยมีแต่พวยพุ่งยิ่งกว่าที่เคย อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา
พอเป็นแบบนี้ เราในช่วงเวลาเหล่านั้นก็อาจไม่ได้ต่างไปจาก ‘ไรลีย์’ ใน Inside Out เลยนี่!
หลายคนอาจยังพอจำกันได้ ‘Inside Out’ คือชื่อของภาพยนตร์อนิเมชั่น จากค่าย Pixar Animation Studios ที่จัดจำหน่ายโดย Walt Disney Pictures ซึ่งเข้าไปคว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์ประจำปี 2015 กับเรื่องราวที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ ของ ‘ไรลีย์’ เด็กหญิงวัย 11 ปี ช่วงเวลาของการย่างกลายสู่วัยรุ่น กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตที่เรียกว่าการย้ายบ้าน ซึ่งนั่นเองก็ทำให้ไรลีย์ต้องประสบกับภาวะที่ไม่คุ้นเคย จากการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พร้อมๆ กับอารมณ์ต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามา
ในปีนั้น Inside Out พาให้พวกเราเข้าไปรู้จักกับศูนย์บัญชาการทางอารมณ์และบรรดาอารมณ์ทั้งหลายของไรลีย์ ไม่ว่าจะเป็นความสุข (ลั้ลลา: Joy), ความเศร้า (เศร้าซึม: Sadness), ความโกรธ (ฉุนเฉียว: Anger), ความกลัว (กลั๊วกลัว: Fear) และความขยะแขยง (หยะแหยง: Disgust) ที่ผลัดเปลี่ยนกันควบคุมแผงควบคุมอารมณ์ของไรลีย์ พร้อมกับการตั้งคำถามกับตัวเราว่า ชีวิตมีแค่ความสุขอย่างเดียวก็พอ?
“ทุกอารมณ์ความรู้สึกล้วนมีคุณค่า เราควรแสดงออกและไม่ควรกลบกลั้นบางอารมณ์ไว้เพื่อที่จะยอมรับเพียงแค่อารมณ์สุขเท่านั้น” คิม คอลลินส์ (Kim Collins) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง Inside Out 2 กล่าวถึงหนังภาคแรก เมื่อแท้จริง เรื่องราวในภาคแรกก็ได้พาเราไปดำดิ่งถึงอาณาเขตแห่งอารามณ์ พร้อมๆ กับบอกเล่าว่า แต่ละอารมณ์ในตัวเรานั้นมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป การที่เราแอบซ่อนความรู้สึกอื่นๆ แล้วปล่อยให้ความสุขเป็นผู้บัญชาการอารมณ์ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกเสียเท่าไหร่
แต่การเติบโตเป็นวัยรุ่นมันไม่ได้มีแค่นั้น จากปากคำของผู้อำนวยการสร้าง มาร์ค นีลเซน (Mark Nielsen) ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง Inside Out ก็กล่าวว่า ภาพยนตร์ภาคแรกนั้นได้วางรากฐานสำหรับช่วงต่อไปของชีวิตไรลีย์ไว้แล้ว โดยในช่วงท้ายเรื่องราวของภาคแรกที่จบลงด้วยคำพูดกระตุ้นจากลั้ลลาอย่าง “ตอนนี้ไรลีย์อายุ 12 แล้ว มาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น?” พร้อมกับการปรากฎตัวของปุ่มใหม่ที่มีคำว่า ‘วัยหนุ่มสาว’ บนจอควบคุม
ไม่ต่างจากภาคแรก Inside Out 2 นั้นตั้งใจจะพาเราไปสำรวจอารมณ์อันซับซ้อนภายใต้ตัวตนของไรลีย์ ที่สะท้อนถึงอารมณ์ของเราหลายๆ คนเช่นเดียวกัน เพื่อตอกย้ำว่า การเติบโตเป็นวัยรุ่นย่อมมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้นี่จะเป็นอีกครั้งที่ Inside Out และเหล่าคาแร็กเตอร์แห่งอารมณ์จะเข้ามาทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่เข้าใจภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น
ซึ่งนั่นก็คือจุดประสงค์ที่เคลซี่ย์ แมนน์ (Kelsey Mann) ผู้กำกับ Inside Out 2 ต้องการ โดยเขาได้กล่าวว่า “เรานำกลุ่มของ ‘อารมณ์’ ที่ซับซ้อนเข้ามาในสมองของไรลีย์ เพื่อจัดการกับความรู้สึกต่างๆ เช่น ความริษยา ความอาย และความวิตกกังวล โดยความวิตกกังวลที่กลายเป็นเรื่องแพร่หลายไปทั่วในปัจจุบัน มันทำให้คนจำนวนมากทุรนทุราย และเรื่องราวนี้กลับนำเสนอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยความเมตตาและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และในที่สุดก็นำไปสู่ความสุข”
โดยเรื่องราวของอารมณ์ในครั้งนี้ทางทีมผู้สร้างก็ได้หาข้อมูลกันอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อ่านจากหนังสือ หรือพูดคุยกับนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของวัยรุ่นในช่วงเวลาที่ความคิดของพวกเขากำลังขยายตัว เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของอารมณ์ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทและสร้างความปั่นป่วนให้กับอารมณ์หลักทั้งห้าที่เพิ่งจะรู้วิธีทำงานเข้าขากันได้ไม่นาน เพราะเราทุกคนต่างต้องยอมรับว่า การเติบโตเป็นวัยรุ่นมาพร้อมกับอารมณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
มาร์ค นีลเซนได้กล่าวถึงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นเละเรื่องราวของ Inside Out 2 ไว้ว่า “ความวิตกกังวลและว้าวุ่นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเรามาตั้งแต่แรก แต่ผลกระทบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นมีต่อพวกเราทุกคน โดยเฉพาะวัยรุ่น ดูเหมือนว่ามันเป็นเวลาที่ใช่ในประวัติศาสตร์ที่จะพูดถึงเรื่องนี้”
ไม่เพียงข้อมูลทางอารมณ์ของวัยรุ่นที่ทีมผู้สร้างต้องลงแรงหาข้อมูลอย่างหนัก ฟากฝั่งเจ้าของอารมณ์เหล่านั้นอย่างไรลีย์ก็ไม่ต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่นและอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นมีความสมจริงมากที่สุด ทางทีมผู้สร้างจึงมุ่งความสนใจไปที่ผู้ที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด นั่นคือ ‘เด็กสาววัยรุ่น’
พวกเขาจึงได้รวบรวมกลุ่มเด็กสาวอายุระหว่าง 13-16 ปีที่มีภูมิหลังหลากหลายและความสนใจแตกต่างกัน 9 คน จากการแนะนำขององค์กรและสมาชิกในทีมงานสตูดิโอ พร้อมเรียกพวกเธอว่า ‘ทีมของไรลีย์’ ก่อนจะให้สมาชิกในทีมนี้ได้รับชมภาพยนตร์เป็นระยะๆ ตลอดระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2021พร้อมจดบันทึกถึงสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ รวมไปถึงความเข้าใจในเนื้อเรื่องและปฏิสัมพันธ์ของตัวละคร เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นใกล้เคียงกับความรู้สึกของใครหลายคนมากที่สุด
กลับมากันที่เรื่องของเหล่าอารมณ์ จากที่ได้บอกไปว่าในการกลับมาครั้งนี้จะมีเหล่าอารมณ์ใหม่ๆ เข้ามาร่วมแจม(?) กับอารมณ์ดั้งเดิมทั้ง 5 อย่าง ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว กลั๊วกลัว และหยะแหยงด้วย ซึ่งอารมณ์ใหม่ที่ว่าก็ประกอบไปด้วยว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy), เขินอาย (Embarrassment) และ เบื่อหน่าย (Ennui) โดยมีว้าวุ่นเป็นหัวโจกของเหล่าอารมณ์ใหม่นี้
ซึ่งผู้กำกับอย่างเคลซีย์ก็ได้ให้ความเห็นต่ออารมณ์ใหม่ๆ นี้ว่า “มันเป็นสิ่งที่เริ่มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเราเข้าสู่วัยรุ่น ทุกคนต่างเข้าใจได้ ผมจำได้ว่าเราทำการวิจัยอย่างมากในช่วงแรกเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของคนเราในวัยนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นความคิดนี้ให้เกิดขึ้น เหมือนกับลูกตุ้มรื้อถอนพุ่งเข้ามาที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ คนงานก่อสร้างจำนวนมากกรูกันเข้ามาและรื้อถอนทุกอย่างลง มันเหมือนกับการรีโนเวทครั้งใหญ่ นั่นแหละคือความรู้สึกของการก้าวสู่วัยรุ่น มันวุ่นวาย”
พอเป็นแบบนี้ทุกคนน่าจะเริ่มเห็นภาพของ Inside Out 2 คร่าวๆ แล้วใช่ไหม? เรื่องราวบทใหม่ที่ไม่ใช่แค่การยอมรับทุกอารมณ์ของไรลีย์ แต่เป็นเรื่องราวของความคิด ความรู้สึก และความเชื่อที่จะต้องประกอบร่างสร้างตัวตนของไรลีย์ขึ้นมา ซึ่งลั้ลลาในฐานะความสุขของไรลีย์ เธอต้องการปกป้องความรู้สึกมีตัวตน (Sense of Self) ของไรลีย์ รวมถึงช่วยให้เธอยังคงเป็นเด็กที่มีความสุขเหมือนเดิม ด้วยการส่งความคิดลบที่ไม่คุ้นเคยต่างๆ ไปยังส่วนลึกของจิตใจไรลีย์ และมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไป ถ้าไม่มีการเข้ามาของความจริงอันโหดร้ายอย่างการให้ความสนใจกับการมองโลกมากขึ้น ที่หลอมรวมมวลแห่งความคิดอันสลับซับซ้อนกลายเป็นอารมณ์แห่งความว้าวุ่น
ขณะที่ลั้ลลาต้องการปกป้องความรู้สึกมีตัวตนของไรลีย์ไว้ด้วยความสุขจากการขจัดความคิดลบทั้งมวล ทางด้านว้าวุ่นก็ต้องการปกป้องไรลีย์จากอันตรายที่มองไม่เห็น รวมถึงเตรียมไรลีย์ให้พร้อมสำหรับผลลัพธ์เชิงลบทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการวางแผนและจัดระเบียบอย่างพิถีพิถันเพื่อให้แน่ใจว่าไรลีย์จะไม่ทำผิดพลาด เรียกได้ว่า ว้าวุ่นคือตัวละครสำคัญต่อการเข้าสังคมในวัยรุ่นของไรลีย์เลยทีเดียว
เช่นเดียวกับที่ผู้กำกับอย่างเคลซี่ย์ได้กล่าวถึงว้าวุ่นไว้ว่า “เพื่อให้แน่ใจว่าไรลีย์ปลอดภัย ได้รับการปกป้อง และสุดท้ายก็ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ว้าวุ่นจึงผลักดันให้ไรลีย์เปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าวัยรุ่นหลายคนทำแบบนั้น ผมก็ทำ เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปรับเปลี่ยนตัวเองเล็กน้อยเพื่อให้ได้รับการยอมรับนั้น แต่เราควรต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้คนอื่นชอบด้วยหรือเปล่า?”
แน่นอนการเก็บเอาอารมณ์ดั้งเดิมไว้ในส่วนลึก แล้วคิดถึงแต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เข้ากับสังคมใหม่ๆ ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ถ้าจะให้บอกว่า การคิดถึงแค่ความสุขและเรื่องดีๆ จนไม่มองถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิตก็ไม่ใช้สิ่งที่ถูกที่สุดอยู่ดีเหมือนกัน เหมือนกับที่ มาย่า ฮอว์ก (Maya Hawke) ผู้ให้เสียงพากย์บทว้าวุ่นได้กล่าวว่า “ความวิตกกังวล ความเครียด และความคิดในเชิงลบนั้นไม่ดี แต่พวกมันสามารถปกป้องคุณได้ เหมือนกับถ้าคุณมีความสุขตลอดเวลา คุณจะไม่มีวันนึกได้ว่าต้องพกร่มไปด้วย”
ด้วยเหตุนี้ Inside Out 2 จึงเป็นอีกครั้งที่ Pixar จะพาเราไปสำรวจทุกซอกมุมของความรู้สึกที่ไม่ใช่เพียงของไรลีย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนดูอย่างเราๆ ด้วย พร้อมกับการตั้งคำถามถึงมวลอารมณ์แห่งการเติบโตเป็นวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความท้าท้าย และความวิตกกังวล เพื่อที่สุดท้ายไม่ว่าเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร ทั้งเรา ไรลีย์ รวมถึงเหล่าอารมณ์ทั้ง 9 ต่างย่อมได้บทเรียนของความรู้สึกและการเติบโตอย่างแน่นอน
และนี่ก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องราวทางอารมณ์วัยว้าวุ่นที่ไม่ว่าจะไรลีย์หรือพวกเราเองก็น่าจะต้องเคยเผชิญมาก่อน ส่วนใครที่อยากสัมผัสกับมวลแห่งความรู้สึก สุข เศร้า โกรธ กลัว หยะแหยง เขิน อิจฉา เบื่อหนาย และวิตกกังวล รวมถึงหาคำตอบของการจัดการ รับมือกับทุกอารมณ์เหล่านี้ ก็สามารถไปรับชม Inside Out 2 ได้ทางโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนนี้เป็นต้นไปเลย!