คนเราห้ามความคิดกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดในแง่บวกหรือแง่ลบ และหลายครั้งเราก็พบว่า ยิ่งห้ามเท่าไหร่ ก็เหมือนยิ่งยุเท่านั้น ทำให้การจะยับยั้งความคิดใดความคิดหนึ่ง แทบจะเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย
ไม่แปลกเลยที่เราจะมีความคิดใดความคิดหนึ่งปรากฏขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่เราให้ความสนใจ หรือแม้ว่าเราจะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นก็ตาม ความคิดนั้นก็หาทางแวบมาเข้าในหัวได้อยู่ดี
ซึ่งถ้าหากเป็นความคิดทั่วๆ ไป ก็คงไม่มีผลอะไรกับจิตใจเรามากนัก แต่ความคิดนั้นดันเป็นความคิดที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้เราว้าวุ่นใจพอสมควรเลยน่ะสิ ในทางจิตวิทยาเรียกความคิดนี้ว่า Intrusive thoughts หรือ ‘ความคิดแทรกซ้อน’ ซึ่งเป็นความคิดที่รบกวนจิตใจ การใช้ชีวิตประจำวัน และยากที่กำจัดทิ้ง แล้วเราจะเอาชนะมันได้ยังไงกันนะ?
ความคิดที่ไม่ได้รับการเชื้อเชิญ
“เขาพูดแบบนี้แปลว่าฉันไม่ดีแน่เลย!”
“เขามองมาเพราะฉันทำอะไรน่าอายหรอ?”
“ฉันไม่เก่ง ฉันมันแย่ ฉันมันหน้าตาไม่ดี ฉันไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง!”
“ทำไมเพื่อนมาช้าจัง เขาต้องเกิดอุบัติเหตุแน่ๆ!”
“เขาไม่รับฉันเข้าทำงาน เพราะฉันมันไร้ความสามารถ!”
ความคิดสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นเสียงพูดดังขึ้นในหัว ข้อความบางอย่าง ภาพที่เผลอจินตนาการ หรือความทรงจำที่ถูกดึงกลับมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งความคิดเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เราไม่สบายใจ ว้าวุ่นใจ หรือวิตกกังวล มันก็คือความคิดที่ไม่พึงประสงค์ (Unpleasant thoughts) ที่ไม่มีใครอยากจะเชื้อเชิญมันเข้ามาในหัวมากนัก เพราะมันอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่ความคิด แต่อาจสานต่อจนเกิดพฤติกรรมตามมาได้ หากไม่ยับยั้งความคิดนั้นให้ดี
เมื่ออธิบายถึงตรงนี้ก็เกิดข้อสงสัยว่า ความคิดแทรกซ้อนสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะที่ไม่ปกติทางจิตใจ หรือสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวชได้หรือเปล่า?
“ความคิดแทรกซ้อนอาจเป็นสัญญาณของภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคเครียดหลังเกิดบาดแผล (PTSD) ภาวะผิดปกติทางการกิน โรควิตกกังวลทั่วไป โรคตื่นตระหนก หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า” นาตาลี ดัทติโล (Natalie Dattilo) ผู้อำนวยการด้านจิตวิทยาที่ Brigham & Women’s Hospital Department of Psychiatry กล่าว
สิ่งที่ทำให้ความคิดที่ไม่พึงประสงค์แตกต่างไปจากความคิดแทรกซ้อน ก็คือความคิดไม่พึงประสงค์นั้นสามารถจัดการได้ง่าย เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และไม่ทำให้เกิดความทุกข์มากเกินไป เช่น เวลาเราโกรธ เราอาจเกิดความคิดอยากเข้าไปต่อยหน้าคนคนนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหรือใจเย็นลง หากเราไม่ได้จดจ่อหรือติดอยู่กับความคิดนั้นนาน มันก็จะค่อยๆ หายไป ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่สานต่อจนเกิดการกระทำที่ไม่ดีตามมา
แต่ถ้าหากเสียงหรือภาพที่ปรากฏนั้น ดันเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ วนไปวนมา ไม่สามารถแกะออกจากหัวได้ จนเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดยั้ง แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่ดีหรือทำให้เสียใจในภายหลังก็ตาม และยิ่งบอกให้ตัวเองหยุดเท่าไหร่ ก็ยิ่งสานต่อมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น มันก็คือความคิดแทรกซ้อนที่เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือให้ได้ เพราะบางครั้ง ความคิดนั้นอาจมีลักษณะรุนแรง เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม อาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นได้ ซึ่งตัวอย่างของ intrusive thoughts ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ขับรถชนกระจกหรือหน้าต่าง
- ขับรถออกนอกถนน
- วิ่งหรือพุ่งชนชนวัตถุบางอย่าง
- ทำร้ายคนรักหรือคนในครอบครัว
- เปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ให้น้ำทิ้ง
- พังของบางอย่าง
- จินตนาการถึงเซ็กซ์ที่ไม่เหมาะสม
- เชื้อโรคที่เกาะอยู่ลูกบิดประตู
- เดินเข้าไปด่าผู้มีอำนาจ
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความคิดในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนไม่ดี ฆาตกร หรืออาชญากรนะ เพราะเราไม่สามารถทำตามสิ่งที่อยู่ในความคิดได้ทุกอย่างหรอก มนุษย์ยังคงมีความละอายใจหรือความรู้สึกผิด เพื่อคอยยับยั้งการกระทำที่ไม่ดีอยู่เสมอ แต่การมีความคิดในลักษณะนั้น สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตเราได้แน่ๆ ตรงนี้ไม่อาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้เลย
เมื่อห้ามไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ
ลองสังเกตตัวเองดูว่าอาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมั้ย? เมื่อเกิดความคิดที่ไม่พึงประสงค์ เราไม่สามารถหันเหความสนใจออกจากความคิดนั้นได้ แม้จะเพ่งไปที่สิ่งอื่นหรือทำกิจกรรมอื่นแล้ว แต่มันก็หายไปเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ทั้งยังปรากฏต่อไปเรื่อยๆ จนขัดขวางหรือรบกวนไม่ให้เราโฟกัสการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ เกิดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่ยากจะระงับ หรือเกิดความวิตกกังวลจนไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง แม้แต่งานอดิเรกที่ชื่นชอบก็ตาม
ถ้าในใจตอบว่า ‘ใช่’ ไปเกินกว่าครึ่งทางแล้ว เป็นไปได้ว่าเรากำลังมีความคิดแทรกซ้อนอยู่ และอาจได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงถึงขั้นชีวิตได้ หากยังคงมีความคิดแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ
แต่อย่างที่กล่าวไปว่า เราไม่สามารถห้ามความคิดตัวเองได้มากนัก แม้ว่าจะพึงประสงค์หรือไม่ก็ตาม เพราะสมองของมนุษย์เราจินตนาการถึงเหตุการณ์และปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ เป็นเรื่องที่ธรรมชาติมากๆ และความสามารถนี้ก็ทำให้เกิดความสำเร็จมากมายขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการไปดวงจันทร์ คิดค้นดาวเทียม อินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ตโฟนเครื่องเล็กๆ แต่ก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่ย่อมมีสองด้าน หากเราจินตนาการสิ่งดีๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหรือมีประโยชน์ได้ การจินตนาการถึงสิ่งแย่ๆ ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน
การรักษาหรือการบำบัดเกี่ยวกับ intrusive thoughts จึงไม่ได้เน้นไปที่การกำจัดเพื่อไม่ให้เกิดความคิดที่ไม่พึงประสงค์ เพราะมันไม่เวิร์กเท่าไหร่นัก แน่นอนว่ายิ่งถ้าเราบอกใครสักคนให้อย่าไปนึกถึงสิ่งนั้น เขาก็จะยิ่งนึกถึงมันมากขึ้นไปอีก หรืออาจจะเก็บไปคิดต่อทั้งวันทั้งคืนเลยก็ได้
ดังนั้น วิธีการรักษา intrusive thoughts จึงเป็นการที่ ‘เมื่อเราเกิดความคิดนั้นแล้ว เราจะรับมือกับมันยังไงให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด?’ ซึ่งเราจะเห็นได้ในการบำบัดที่เน้นปรับความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive-behavioral therapy (CBT) ที่ส่วนใหญ่จะบำบัดผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล โรคกลัว หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือความสกปรก มักจะเดินไปล้างมือบ่อยๆ เพราะ intrusive thoughts ของพวกเขาคิดว่ามือของตัวเองกำลังสกปรกอยู่ แม้ว่า 5 นาทีที่แล้ว เขาเพิ่งจะเดินไปล้างมือมาเอง แต่ก็มีความคิดที่ว่ามือสกปรกแทรกซ้อนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนเขาลงเอยด้วยการล้างมือจนแห้งเหี่ยวและผิวลอก
กรณีนี้ นักจิตบำบัดจะแนะนำให้ใช้วิธีการฝึกหายใจ หรือ Relaxation เพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายหรือกล้ามเนื้อ จนเกิดความผ่อนคลายและใจเย็นลง ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลที่มาจากความคิดนั้นได้ หรืออีกวิธีที่เรียกว่า Exposure and response prevention (ERP) ที่ช่วยให้บุคคลนั้นค่อยๆ เปิดใจต่อสถานการณ์ที่กระตุ้นให้พวกเขาเกิดความคิดแทรกซ้อน เพื่อเรียนรู้หรือปรับเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องตอบสนองทางความคิดหรืออารมณ์ในระดับทีรุนแรงเท่าเมื่อก่อน เช่น คนที่เป็นโรคกลัวสุนัข กลัวรู หรือกลัวความมืด ซึ่งมีความคิดแทรกซ้อนที่ ‘เกินจริง’ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากลัว วิธีนี้จะทำให้บุคคลสามารถทนต่อสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น และลดความวิตกกังวลในจิตใจได้
ที่สำคัญเลยคือ การฝึกมี ‘สติ’ อยู่เสมอ เพื่อรับรู้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าตรงหน้าหรือในความคิดของเรา อะไรคือจินตนาการ อะไรคือความจริง หรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าสัมพันธ์กับความคิดมากน้อยแค่ไหน การที่เขามองเรา แปลว่าเราทำอะไรน่าอายจริงมั้ย? หรือการที่คนในโซเชียลกดไลก์รูปเราน้อย แปลว่าเราหน้าตาไม่ดีจริงหรือเปล่า? หากเป็นไปได้ลองเบรกตัวเองสักครู่หนึ่ง เพื่อพิสูจน์หลักฐานเชิงประจักษ์ดูก่อนว่า สิ่งที่เราคิดเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็นการค้นหาข้อมูล สอบถามความเห็นของคนรอบข้าง หรือพูดคุยกับคนที่สนิทใจที่สุด เพื่อให้ความคิดและการกระทำของเราสามารถหลอมรวมกัน หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
และอย่าลืมว่าความคิดเหล่านี้ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นแล้ว ก็เป็นไปได้สูงว่าความคิดดังกล่าวอาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้นะ
“การกำจัดความคิดแทรกซ้อนไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะผู้ที่เข้ารับการบำบัดจะยังคงมีความคิดนั้นต่อไป เพียงแต่พวกเขาจะไม่ทุกข์ทรมานกับความคิดนั้นเท่าเมื่อก่อนแล้ว” ลอว์เรนซ์ นีเดิลแมน (Lawrence Needleman) นักจิตวิทยาคลินิกที่ Ohio State University กล่าว
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะกำจัดรูปแบบความคิดหนึ่งที่เรามีมาตลอดหลายปี ให้หายไปทันทีภายในไม่กี่วัน เพราะรูปแบบความคิดนั้นทำให้เราสามารถใช้ชีวิตมาได้จนถึงวันนี้ เพียงแต่อาจจะทำให้เราทุกข์ใจไปหน่อย ไม่สบายใจไปบ้าง ซึ่งการหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอ หรือลอง ‘เอะใจ’ กับความคิดนั้นดูว่าใช่ความจริงมั้ย ก็จะค่อยๆ ช่วยให้ความคิดนั้นลดน้อยลงไปได้ และไม่รบกวนการใช้ชีวิตของเรามากเท่าเมื่อก่อน
อ้างอิงข้อมูลจาก