เราล้วนเป็นเหยื่อที่น่าสงสารในคดีที่เราลงมือก่อเอง คดีอันร้ายกาจที่คุณมีสภาพเป็นเจ้าทุกข์ ผู้ต้องหา ผู้พิพากษา และผู้ถูกจองจำครบครันในตัว พฤติกรรมบั่นทอนตัวเอง (self-sabotage) ที่คุณมักระเบิดต่อหน้าคนอื่นๆ (และคุณก็ไม่ชอบผลที่ตามมาเช่นกัน) กลไกอะไรที่มีอิทธิพลควบคุมเราให้ลงมือซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ผลร้ายมักตกอยู่กับเราในท้ายที่สุด
“นี่เตือนเอ็งแล้ววววว”
เราอาจเห็นเพื่อนลงมือทำอะไรที่เขาเองก็ยังรู้สึกผิด แม้จะแอบเตือนหลายครั้ง พวกเขาก็ยังทำซ้ำๆ ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกลับไปคบกันแฟนเก่าเพื่อลิ้มรสประสบการณ์ถูกทิ้งย้ำแผลใจ ดื่มหนักให้ลืมทุกข์ลืมโศกจนพาลไม่ทำงาน ด่ากราดทุกคนผ่านโซเชียลฯ ด้วยความเดือดดาล แต่พอได้สติก็ค่อยมานั่งลบเงียบๆ หรือกินอาหารขยะบั่นทอนสุขภาพจนรู้สึกพะอืดพะอมเป็นวันๆ
ใครๆ ก็มักสัญญากับตัวเองว่าจะยุติพฤติกรรมเหล่านี้เสียที แต่มันยากเย็นเหลือเกินที่ต้องต่อสู้กับแรงกระตุ้นอันทรงพลัง เพราะมันมักหวนกลับมาภายในไม่กี่วัน หรือในไม่กี่ชั่วโมง หลายพฤติกรรมครอบคลุมไปทุกช่วงชีวิต ทั้งการทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และคนรัก อันเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าผิดหวังทางความสัมพันธ์ที่ประสานงานปะทะรุนแรง
นั่นปะไร มีวิธีการเป็นล้านๆ วิธี เพื่อทำให้คุณบั่นทอนตัวเอง โดยทั่วไปมักมีระดับพื้นฐานอย่าง การกล่าวถ้อยทำหยาบคาย ฟาดงวงฟาดงาราวช้างศึกตกมัน ดื่มหนักหัวราน้ำ กินอาหารมากๆ ด้วยความเครียด หรือสร้างความขัดแย้งกับคนรอบข้าง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ระดับขี้เล็บ แต่มันก็เหมือนกระแสน้ำเซาะโขดหินที่บั่นทอนตัวคุณเองทุกๆ วัน จนท้ายสุดก็สามารถทำให้ภูเขาทั้งลูกซึ่งเป็นตัวตนของคุณถล่มลงมาพินาศ
มีอิทธิพลอะไรบ้างที่ควบคุมให้คุณทำซ้ำๆ ย้ำแผลใจ การหวนไปสำรวจแรงผลักดันภายใต้การกระทำ อาจทำให้คุณแตะเบรกได้ทันก่อนจะทะลุโค้งกลายเป็นหายนะที่แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่อยากยอมรับมันเลย
เพราะรู้สึกว่าไม่คู่ควรกับความสำเร็จ
น่าแปลกที่ คนบั่นทอนตัวเองส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นคนขี้เกียจโดยธรรมชาติ ตรงกันข้าม! พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ทำงานหนัก หวังผลสูง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมกันของสิ่งที่ทุ่มเทไป หรือได้ผลตรงกันข้าม คนเหล่านี้ล้วนเล็งเป้าหมายสูงเหนือหัว แต่กลับยิงถูกเท้าตัวเอง ทำไมเป็นซะอย่างนั้น?
มีแนวคิดหนึ่งที่อธิบายการกระทำนี้คือ Cognitive dissonance (ทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด) เมื่อคนทั่วไปพยายามอยู่กับความคิดที่เขาคาดหวังไว้ แต่กลับรู้สึกขัดแย้งในตัวเองจนเกิดความไม่สบายใจ หรือความเชื่อและค่านิยมที่มีอยู่กลับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น อยากประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกกลัวที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ
รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอจะประสบความสำเร็จ โดยที่ยังไม่ลงมือก่อร่างสร้างอะไรไว้เลย เกิดเป็นช่องโหว่ ทำให้ใจหายทุกครั้งเวลาหวนคิดถึง รู้สึกแย่ต่อความล้มเหลว แต่ความจริงที่ร้ายแรงคือ การไม่ลงมืออะไรเลยยิ่งบั่นทอนกว่า
ดังนั้นคนส่วนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมขัดขวางความก้าวหน้าของคนอื่น พร่ำบอกใครๆ ว่าเขาไม่คู่ควรต่อความสำเร็จที่กำลังตามหา และเผยความล้มเหลวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะรู้สึกไม่ควรค่ากับอะไรเลย
เพราะรู้สึกสูญเสียการควบคุม
คนกลุ่มหนึ่งยินดีจะควบคุมความล้มเหลวด้วยตัวเอง ให้มันพังคามือไปเสียเลย แต่เมื่อความล้มเหลวส่อเค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยแวดล้อมอะไรก็ตาม คุณกลับเลือกจะถือมันไว้เองเพียงคนเดียว แม้อุณหภูมิความพินาศจะแผ่ซ่านเรื่อยๆ ไอความร้อนมักทำลายคุณ คล้ายเนื้อเยื่อชั้นแล้วชั้นเล่า แต่แน่ล่ะ หายนะนี้ฉันจะรับมือไว้คนเดียว
ภาวะบั่นทอนเช่นนี้ไม่ค่อยน่าดูนัก คนกลุ่มนี้จะแสดงให้เห็นว่าเขาพยายามจัดการหายนะ ด้วยการกระโจนไปสู่หายนะ ทั้งๆ ที่ความล้มเหลวล้วนมีปัจจัย 108 เราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมเสียทุกอย่าง ถอยใจออกมาห่างๆในมุมกว้าง คุณจะรู้ว่าไฟยังไม่ปิดล้อมครบทุกองศาเสียหน่อย
เพราะรู้สึกต้องเสแสร้งอยู่ตลอดเวลา
ยิ่งอายุงานนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อความท้าทายก็ยิ่งสูงขึ้น (แน่นอน ผลประโยชน์เพิ่มเป็นทวีคูณ) ตั้งแต่เราพยายามลงทุนลงแรงเรียนสูงๆ เพื่อให้มีการศึกษา รับงานยากสาหัส หรือสร้างชื่อเสียงในระดับสาธารณะจนเดินไปซื้อข้าวแกงแล้วคนจำหน้าได้ คุณมาไกลเกินจะพลาดแล้ว!
ความกลัวโป๊ะแตก ว่าสักวันหนึ่งจะมีคนรู้ว่า สิ่งที่คุณทำมีจุดด่างพร้อย เชื่อมโยงกับอาการยอดฮิต (ที่ยังไม่เป็นทางการในหลักจิตวิทยานัก) คือ Imposter syndrome หรืออาการที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริง กลัวถูกจับได้ว่าพลาด
ผลคือ คุณจะทำอะไรน้อยลงกว่าที่เคย หลีกเลี่ยงงานที่ทำให้เผยด้านอ่อนไหว กลัวเสียหน้าเมื่อต้องล้มเหลวอีกครั้ง จะทำอะไรน้อยลงเพื่อให้คนรอบตัวไม่เห็นหรือจับได้ หรืออีกจำพวกที่ตรงกันข้าม Push Hard Go Big คือเล่นใหญ่เล่นโตไปเลยเหมือนจุดพลุปีใหม่กลบเสียงแก้วแตก ทำเกินกำลังด้วยความรู้สึกเสแสร้ง แต่ก็ยังคงกังวลว่าจะโป๊ะแตกเอาสักวันหนึ่ง ความรู้สึกเสแสร้งที่กุมไว้ ทำให้คุณฉุนเฉลียว มีบุคลิกเปลี่ยนไป ไม่คงเส้นคงวา
เพราะยึดติดกับความเคยชิน
ผู้คนชอบชีวิตที่มั่นคงซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบางคนเลือกความแน่นอนมากกว่าความสุข แต่ความเคยชินเป็นปิศาจที่น่ากลัว เพราะหากคุณเคยชินกับการถูกกระทำ ถูกเอาเปรียบ ถูกรังแกข่มขู่ ถูกเมินเฉย และถูกตักตวงผลประโยชน์โดยไม่ลุกขึ้นมาท้าทายเลย ก็มีแนวโน้มที่คุณจะเคยชินกับบรรยากาศบั่นทอนเช่นนี้ตลอดไป ปล่อยให้มันดำเนินไปเรื่อยๆ อันเป็นวงจรที่ไม่มีวันตาย การสำรวจสิ่งที่พวกเราเผชิญเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งคุณอาจชินชาจนมองไม่เห็นความแตกต่าง ปิศาจที่คุณคุ้นหน้ายังมีพิษสงน้อยว่า ปิศาจที่หลบหลังม่านแล้วบงการคุณทุกอย่าง ม่านแห่งความเคยชินที่วันเวลาต่างปกคลุมอำพรางแนบเนียน
ถึงเวลายุติ “หากอะไรไม่เวิร์ก ก็โยนมันไปที่อื่น” การกล่าวโทษคนอื่นแทน ด้วยการหาแพะรับบาปทุกครั้งเป็นบั่นทอนแบบครบวงจรทั้งคุณเองและผู้ได้รับผลกระทบ มันง่ายกว่าที่เราจะกลืนความรับผิดชอบทิ้งไปที่ทำให้คุณดูบกพร่องในสายตาคนอื่น หลายคนจึงบั่นทอนตัวเองได้ง่ายดายเสมือนมีปุ่มกด พวกเขานิยมสร้างดราม่าให้เกิดขึ้น และพุ่งตรงไปยังหัวใจของความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตามพวกเราล้วนมีธรรมชาติอยู่เช่นนี้เสนอ เป็นกลไกลเอาชีวิตรอดติดตัว ego มักหันวนมาทิ่มแทงได้เสมอ การถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ความล้มเหลว ล้วนนำไปสู่กลไกปกป้องเราจากความสูญเสียและความเจ็บปวด
อย่ากลัวที่จะล้มเหลว ความพ่ายแพ้ และการยอมรับว่าวันนี้อาจจะไม่ใช่วันของคุณโดยไม่กล่าวโทษต่อใครผ่านอะไรใดๆ ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยยุติดราม่าที่ไม่ productive
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Center for Anxiety and Related Disorders (CARD)
- How to Be Yourself : Quiet Your Inner Critic and Rise Above Social Anxiety
- Ellen Hendriksen, Ph.D. St. Martin’s Press