ช่วงนี้แฟนละครได้ย้อนอดีตกลับไปใช้ชีวิตวุ่นวายในสมัยอยุธยากับแม่การะเกด และแม่การะเกดรุ่นถัดๆ ไป
อันที่จริง ซีรีส์ อนิเมะหรือหนังที่ว่าด้วยการย้อนยุคดูจะเป็นกระแสร่วมๆ กันในพื้นที่สื่อบันเทิง คือในช่วงที่ซีรีส์เฟื่องฟูโดยเฉพาะในแถบเอเชีย เราเองก็มีการทะลุมิติกันมาซักพักแล้ว ตั้งแต่ซีรีส์และการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อยมาจนถึงเกาหลีและจีน จนมาเป็นกระแสสำคัญในเรื่องบุพเพสันนิวาส
แต่ถ้าเรามองย้อนไป แนวคิดเรื่องการข้ามชาติข้ามภพ โดยเฉพาะในงานแนวรักโรแมนติกหรือประเภทวรรณกรรมที่เราเรียกว่างานแนวโรมานซ์นั้น นิยายรักของบ้านเราเองก็ดูจะมีการข้ามชาติภพเป็นกระแส และเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่ค่อนข้างเฉพาะตัว คือเป็นส่วนหนึ่งของนิยายรักที่ผูกกับบริบทความเชื่อแบบไทย คือแบบพุทธที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดไปจนถึงเรื่องคู่แท้
ในโอกาสการกลับมาของแม่การะเกดและการกินหมูกะทะในสมัยอยุธยา The MATTER จึงของชวนย้อนดูความเข้าใจวรรณกรรมประเภทข้ามชาติภพจากวิทยานิพนธ์ของภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ และชวนดูประเด็นเรื่องย้อนไปสู่อดีตในบริบทของนิยายรัก อะไรคือข้อสังเกตในกิจกรรมของการเดินทางข้ามภพ อะไรคือความสนุกและจุดร่วมระหว่างอดีตและแกนเรื่องหลักของความสัมพันธ์ในนิยายที่เราเรียกว่างานแนวโรมานซ์ยุคอิเซไก
โรมานซ์แนวข้ามภพชาติ กับความเป็นประเภทวรรณกรรม
พอเราพูดคำว่าโรมานซ์ เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างห่างไกล แต่คำว่าโรมานซ์เป็นแนววรรณกรรมที่บ้านเรารู้จักกันดีอย่างแน่นอน โรมานซ์คือนิยายที่ว่าด้วยความรัก ตัวเรื่องมักมีพระเอกนางเอก มีแกนเรื่องอยู่ที่การพบรักและค่อยๆ ถูกอุปสรรคขัดขวางไปต่างๆ นาๆ งานเขียนแนวรักพาฝันนับเป็นพัฒนาการสำคัญของวงการนิยายไทย บางช่วงมีข้อเสนอว่าวรรณกรรมที่มีนัยทางการเมืองถูกยุคเผด็จการปราบ งานเขียนแนวพาฝัน เรื่องรักจึงเฟื่องฟูขึ้น แน่นอนว่าแกนเรื่องของเรื่องรักเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่สื่อบันเทิงสำคัญของบ้านเราก็คือละครไทย
ทีนี้ ในวงการเขียนวรรณกรรม นิยายรักถือเป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมมาก นักเขียนเองก็เขียนไปในแนวต่างๆ ด้วยบริบทของสังคมไทยที่เชื่อเรื่องคู่แท้และชาติภพ ซึ่งด้วยมุมมองต่อความรัก เป็นการเชิดชูแนวคิดเรื่องความรักที่เข้มข้นขึ้นไปอีก คือเป็นความรักที่ไม่ยุติอยู่ในช่วงชีวิตปัจจุบันของเรา แต่ผูกพันธ์ข้ามชาติภพ ตายแล้วเกิดใหม่ หรือในชาติปางก่อนตัวละครเอกเองก็อาจจะรักต่อเนื่องกันไป
ด้วยความสร้างสรรค์ของนักเขียนไทย เลยถือได้ว่านิยายรักบ้านเราเกิดเป็นประเภทวรรณกรรมย่อยคือ ‘นิยายรักแนวข้ามภพชาติ’ ในปี 2553 มีวิทยานิพนธ์ที่หยิบงานเขียนที่ว่าด้วยการข้ามชาติภพของไทยมาศึกษา เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทชื่อ อัตลักษณ์กับบริบททางสังคมในนิยายโรมานซ์แนวข้ามภพชาติของไทย ของ อนัญญา วารีสอาด ซึ่งถ้าดูชื่อนวนิยายที่ถูกนำมาศึกษาก็จะรู้สึกว่าบ้านเรามีงานเขียนแนวรักข้ามห้วงเวลามานานแล้วและมีเยอะมาก เช่น แต่ปางก่อน เพรงภพ ด้วยแรงอธิษฐาน หรือชุดซีรีส์ผ้า เช่น รอยไหมที่ก็เพิ่งเป็นละครดังไปเมื่อไม่นานมานี้
งานเขียนแนวรักข้ามภพ ด้านหนึ่งถือเป็นความเก่งกาจอย่างหนึ่งของนักเขียนไทย คือถ้าเรามองลักษณะของนิยายรัก นิยายรักมักจะมีประเภทคร่าวๆ คือเป็นนิยายแบบรักสุข คือจบลงด้วยการครองคู่ หรือนิยายแบบรักโศก คือจบลงด้วยการพลัดพราก ไม่สมหวังด้วยเหตุต่างๆ เช่น ตายจากกันบ้าง
แต่ด้วยการเอาความคิดเรื่องชาติภพแบบไทยเข้ามาใช้ การมีชาติภพที่ต่อเนื่องกันทำให้อย่างแรกคือเรื่องความรักยาวออกไปได้ และในนิยายเรื่องเดียวอาจเป็นทั้งนิยายรักโศกและรักสุขได้ในเรื่องเดียวกัน ส่วนใหญ่นิยายรักข้ามภพมักจะเล่าถึงยุคอดีตที่จบลงด้วยความผิดหวัง เมื่อมาเกิดเป็นความรักในภพชาติปัจจุบันแล้ว การฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทำให้ความรักของตัวละครเองจบลงได้อย่างประทับใจ
ไม่นับเรื่องการผสมเรื่องความเชื่อ ที่ผู้เขียนอาจใส่ประเด็นเรื่องความลี้ลับ มีนัยของงานเขียนแนวเหนือจริง มีเรื่องความเชื่อ เวทมนตร์คาถา กระทั่งภูติผีหรือเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ เข้ามาทำให้เรื่องรักอันเป็นแกนหลักของเรื่องสนุกสนาน ตื่นเต้น มีสีสันขึ้น มีกลิ่นอายของนิยายแนวโกธิกสยองขวัญเข้ามาผสมผสาน
ว่าด้วยภพชาติ จากความพัวพันหลังความตายสู่ยุคอิเซไค
ทีนี้ ถ้าดูเราความเกี่ยวข้องกันอย่างสังเขปเราจะเห็นว่างานเขียนหรือละครว่าด้วยการข้ามชาติภพในยุคหนึ่ง ลักษณะการข้ามชาติภพจะเป็นเหมือนการที่กรรมหรือความสัมพันธ์ต่างๆ ติดตัวจากชาติภพอื่นมาแสดงผลในยุคปัจจุบันหรือยุคถัดๆ ไป ลักษณะดังกล่าวสะท้อนความคิดเรื่องกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่เชื่อมโยงตัวละครต่างๆ เข้าหากัน สำหรับตัวละครหลักจะสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องคู่แท้ เรื่องความรักตั้งมั่นด้วย
สำหรับบุพเพสันนิวาสเอง บางส่วนเราก็จะเห็นลักษณะที่ใกล้เคียงกันคือจะมีประเด็นเรื่องบุญ กรรม การเชื่อมโยงของตัวละครเอกเข้าหากันผ่านแนวคิดบุพเพสันนิวาส บางส่วนก็จะว่าด้วยกรรม มีเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เรื่องบุพเพสันนิวาสเองดูจะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสว่าด้วยการทะลุมิติ ทะลุเวลา น่าจะนับได้ว่าเป็นอิเซไกประเภทหนึ่ง เช่น ภาคแรกเกศสุรางค์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและทะลุมิติข้ามเวลาไปอยู่ในร่างแม่หญิงการะเกด เป็นชีวิตใหม่ในฐานะแม่หญิงชนชั้นสูงที่เป็นหญิงร้ายในกายงาม
กระแสแนวเรื่องทะลุมิติหรืออิเซไกเป็นแนวเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก ในหลายพื้นที่ก็ไปเกิดใหม่ในต่างโลก ในต่างเวลา ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปก็น่าจะมีหมุดหมายจากหนังเรื่อง Back to the Future นอกจากหนังแล้ว การ์ตูนสำคัญอย่างโดราเอมอนเองก็ว่าด้วยการท่องมิติเวลา การย้อนกลับไปทำสิ่งต่างๆ ในอดีตซึ่งถือเป็นหนังและการ์ตูนที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก ในระดับวัฒนธรรมเอง ญี่ปุ่นดูจะเป็นต้นตำรับการย้อนอดีต ในตำนานโบราณก็มีเรื่องอุราชิมะทาโร่ การหลงยุคหลงสมัยจากการไปวังบาดาล ในการ์ตูนเราก็มีเรื่องเช่นจิน หมอข้ามศตวรรษ
ทีนี้ เราย้อนอดีตไปทำไม ในงานเขียนแนวข้ามชาติที่ยังไม่ทะลุมิติ งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าบริบทสังคมเป็นประเด็นสำคัญที่อำนวยให้ความรักความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ บริบทความสัมพันธ์ในอดีต เงื่อนไขของชนชั้น ข้อกำหนดต่างๆ ของสังคมทำให้ความรักส่วนใหญ่ผิดหวัง มาจนในชาติภพร่วมสมัย เมื่อเงื่อนไขทางสังคมคลายลง มีอิสรเสรีมากขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ความรักของพระเอกนางเอกก็เป็นไปได้ในชาติภพปัจจุบัน
ทีนี้ถ้าเราดูงานแบบอิเซไก เราจะเห็นว่าการย้อนไปในอดีตหลายครั้งเป็นเหมือนการให้โอกาสอีกครั้งจากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน คือโลกปัจจุบันมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ แต่ในโลกใบอื่นหรือในอดีตกลับเปิดโอกาสให้ตัวละครในบริบทปัจจุบันได้มีตัวตน มีบทบาทใหม่ๆ กระทั่งได้เรียนรู้ปรัชญาบางอย่าง ได้เข้าใจชีวิตจากการย้อนอดีตหรือไปใช้ชีวิตในต่างโลก
เช่นบุพเพสันนิวาสเองก็เช่นกัน เกศสุรางค์ได้หลุดออกจากชีวิตหญิงสาวธรรมดาที่หน้าตาไม่ดี ใช้ชีวิตดิ้นรนเรียนหนังสือ ซึ่งจริงๆ ชีวิตเธอก็ดีแหละ แต่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร ในการทะลุไปสมัยอยุธยา เธอก็ได้กลายเป็นนางเอกอย่างเต็มตัว ได้เข้าสู่บททดสอบความเป็นผู้หญิงที่ดี ได้เอาชนะใจด้วยความดีและความโก๊ะเปิ่นของเธอกับคนรอบข้างที่เกลียดแม่หญิงการะเกดอยู่
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการวางบทบาทของผู้หญิงที่กลับไปมีบทบาทในบริบทโบราณ ยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีบทบาทและถูกกดขี่ เราจะเห็นว่าด้วยความรู้บางอย่างที่เธอนำติดตัวไป เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ภูมิความรู้สมัยใหม่ต่างๆ รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จนทำให้เธอแทบจะมีสถานะเป็นผู้มีญาณทิพย์ หยั่งรู้อนาคตและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างกระจ่างแจ้ง สร้างความอัศจรรย์ให้กับคนรอบข้าง เป็นการให้อำนาจของผู้หญิงและตัวละครเอกที่ด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นตัวแทนของเราๆ ในโลกปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ความเป็นบันเทิงคดีและนิยายแนวโรมานซ์ก็มีเงื่อนไขที่น่าสนใจบางอย่างอยู่ คือในความไม่แน่นอนของตัวเรื่องที่เราต้องลุ้นว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น ก็มีอย่างหนึ่งที่เรารู้แน่นอนว่าในตอนจบ ตัวละครหลักจะต้องได้สมหวังกันในท้ายที่สุด
และความแน่นอนอีกประการที่อยู่ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือการที่เราพอจะรู้ประวัติศาสตร์ที่เป็นภูมิหลังสำคัญอยู่บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างคร่าวๆ ว่า จะผลัดแผ่นดิน ตัวละครหลักที่เป็นตัวละครอิงประวัติศาสตร์จะมีตัวตนอย่างไร เป็นไปอย่างไร ลักษณะบริบทประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นความแน่นอนที่เราผู้ชมหรือผู้อ่านสามารถติดตามการไล่ตามความรักของตัวละครเอกต่อไปได้ ตรงนี้มีความน่าสนใจก็คือการที่ แม้แม่หญิงจะรู้ประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่สามารถแตะต้องเรื่องที่จะทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปได้ บางครั้งการย้อนกลับไปแม้ว่าจะย้อนไปอยู่ในยุคนั้น แต่แม่หญิงในฐานะคนจากโลกปัจจุบันก็ยังต้องรักษาบทบาทการเป็นผู้ดูชมไว้ด้วย
อีกด้านการย้อนอดีตหลายครั้งสัมพันธ์กับความปรารถนา อย่างแรกเลยคือการได้หนีออกจากชีวิตสมัยใหม่และชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อ บริบทอยุธยาลำบากก็จริง แต่การได้จินตนาการถึงชีวิตในอดีต ในโลกที่ยังมีความเรืองรอง มีการต่อสู้ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในระดับรัฐและระหว่างรัฐ การเข้าไปมีบทบาทของคนธรรมดาๆ ก็นับเป็นความสนุกที่สำคัญอย่างหนึ่ง
หลังจากอ่านบทความนี้จบ งานเขียนและซีรีส์รวมถึงบุพเพสันนิวาสเอง ก็นับเป็นอีกความบันเทิงที่นักเขียนและคนทำละครไทยที่สานต่องานบันเทิงคดีโดยทั้งใช้บริบทไทย จากขนบงานโยราณถึงแนวคิดการไปต่างโลก จากแต่ปางก่อนถึงทวิภพ มาจนถึงบุพเพสันนิวาส การย้อนอดีตที่เล่นกับเส้นเรื่อง กับความบันเทิงโรมานซ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เจือกับความคิดดั้งเดิมแบบพุทธ ผสมกับความสนุกสนานชวนหัวจากการปะทะกันของโลกสมัยใหม่ที่กลับไปปะทะกับกรอบคิดแบบโบราณ
อ้างอิงจาก