ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีอาการอยากจะลองย้ายถิ่น ลองไปอยู่ในต่างประเทศบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น หากไม่ได้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไปอยู่ใน ‘ต่างโลก’ แบบที่เป็นเทรนด์ฮิตในฝั่งนิยายแปลภาษาญี่ปุ่นช่วง 2-3 ปีหลังนี้ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเหมือนกัน
นิยายแนว ‘ไปต่างโลก’ หรือ Isekai (異世界) ของทางญี่ปุ่นโดยหลักแล้วมักจะเล่าถึงเรื่องราวที่ตัวเอกจะถูกส่งไปอยู่ในโลกใหม่ ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกใช้เวทมนตร์ดึงตัวไป การติดอยู่ในเกมแบบโลกเสมือน การตายแล้วไปเกิดในโลกใหม่ แล้วก็ต้องไปเจออะไรผิดปกติจากโลกเดิม ต้องทำความเข้าใจกฎกติกาของโลกใบใหม่ที่ยุ่งยาก แต่จริงๆ ก็อาจจะดีกว่าเจอความซับซ้อนของโลกใบเดิมที่มีคนไม่ยอมเล่นตามกติกาก็ได้
แล้วทำไมหนังสือประเภทนี้ถึงได้รับความนิยม? จนถูกนำมาแปลจำหน่ายเป็นภาษาไทยอยู่หลายเรื่อง หรือได้รับการดัดแปลงเป็นงานอนิเมะอีกจำนวนมาก หรือเป็นเพราะคนอ่านเบื่ออะไรเดิมๆ ที่เคยเห็นหรือเปล่า? เหตุผลมันคืออะไรกันแน่?
จินตนาการสู่ต่างโลกนั้นมีมาแต่กาลก่อน
ถึงจะเป็นเทรนด์ในช่วงนี้ จนหลายคนอาจจะเผลอคิดไปว่านิยายแนว Isekai คงจะเพิ่งเกิดอย่างรวดเร็วในช่วงปี ค.ศ. 2000 ที่หลายอย่างบนโลกความเป็นจริงมันวุ่นวายชวนหงุดหงิด แต่โลกเสมือนอย่างโลกออนไลน์กลับมีอะไรที่น่าไปอยู่อาศัยมากขึ้นแถมยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้
กระนั้นในความเป็นจริงแล้ว แนวคิด ‘เดินทางไปโลกที่แตกต่าง’ นั้นมีมานานมากแล้วทีเดียว ถ้าเอาเรื่องเล่าในญี่ปุ่นเองก็มีเรื่องปรัมปราทำนองนี้ก็มีไม่น้อย อย่างเรื่องราวที่อยู่ใน โคะจิกิ (古事記) ตำนานเทพและพงศาวดารของญี่ปุ่นที่ระบุว่าเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 712 ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ เทพอิซานางิ (Izanagi) ที่พยายามเดินทางข้ามโลกไปยังโลกหลังความตายเพื่อไปพบเทพอิซานามิ (Izanami) ที่เสียชีวิตจากการให้กำเนิดเทพเจ้าอีกองค์หนึ่ง ทว่าเมื่อเทพอิซานางิไปถึงโลกหลังความตายก็พบว่าเทพอิซานามิร่างกายเน่าเปื่อยไปแล้ว เทพอิซานางิจึงเอาก้อนหินยักษ์มาปิดทางเชื่อมต่อระหว่างสองโลก และกลายเป็นปมที่ทำให้เกิดสังสารวัฏขึ้นบนโลก
แต่หลายท่านอาจจะมองว่าเรื่องในโคะจิกิ นั้นอาจจะมีความเป็นเทพปกรณัมมากไป จึงขอยกตัวอย่างนิทานปรัมปราของญี่ปุ่นอย่าง ‘อุราชิมะ ทาโร่’ อีกหนึ่งเรื่องที่มีคอนเซปท์เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างโลก เรื่องก็คือ อุราชิมาะ ทาโร่ เด็กหนุ่มจิตใจดี ได้ช่วยเหลือเต่าทะเลจากการถูกเด็กกลั่นแกล้ง ทำให้เขาได้รับเชิญจากตัวแทนของวังมังกร (Ryugu-Jo) จากใต้ท้องสมุทร พาไปเลี้ยงขอบคุณและมีเจ้าหญิงโอโตฮิเมะ (Otohime) มาคอยดูแล พร้อมจัดการแสดงที่อุราชิมะ ทาโร่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกให้ได้รับชม จนกระทั่งเวลาผ่านมา ราว 4-5 วัน เด็กหนุ่มก็ขอตัวลากลับบ้านโดยที่เจ้าหญิงได้มอบกล่องอัญมณี (Tamatebako) ไว้ให้ โดยกำชับว่าอย่าเปิดออก เมื่อกลับไปถึงฝั่งเขากลับพบว่า เวลาผ่านไปหลายร้อยปีแล้ว ด้วยความร้อนรนที่ทุกอย่างแปรเปลี่ยน เขาจึงเปิดกล่องที่ถูกห้ามปรามไว้ และเมื่อเปิดออกชายหนุ่มก็แก่ขึ้นทันทีเพราะกล่องนั้นเป็นกล่องกักเก็บอายุของเขาเอาไว้ เรื่องก็จบลงเพียงเท่านี้
นิยายปรัมปราความยาวไม่มากนี้กล่าวกันว่าถูกเล่ามายาวนาน แถมยังมีการพูดถึงในหลายๆ ประเทศ แต่สำหรับฝั่งประเทศญี่ปุ่นมีการบันทึกเรื่องนี้ในฐานะวรรณกรรมแบบลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในยุคมุโรมาจิ (ราวปี ค.ศ. 1392 – 1573) แม้ว่าจะไม่ได้มีอรรถรสใกล้เคียงกับแนว Isekai ของยุคนี้ แต่ก็น่าจะทำให้เห็นว่าแนวคิด ‘เดินทางไปต่างโลก’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวอาทิตย์อุทัย
วรรณกรรมอีกเรื่องที่นักข่าวสายอนิเมะหลายท่านเชื่อว่าส่งอิทธิพลต่อการสร้างงานแนว Isekai ในญี่ปุ่นก็คือ Alice’s Adventures In Wonderland ของ Lewis Carroll ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1865 เรื่องราวโดยหลักของตัวนิยายต้นฉบับเล่าเรื่องของ อลิซ เด็กหญิงวัยเจ็ดขวบ ที่ออกมาเที่ยวเล่นริมแม่น้ำกับพี่สาวก่อนจะสังเกตเห็นกระต่ายขาวที่ถือนาฬิกาวิ่งผ่านไป เด็กหญิงจึงตามกระต่ายตัวนั้นแล้วตกลงไปในรูของกระต่าย กลายเป็นการเดินทางสู่โลกมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด กับกิจวัตรอันไม่ธรรมดา เธอต้องเข้าปะทะกับราชินีโพแดงที่มีทหารไพ่อยู่ในบังคับบัญชาด้วย
หลายคนอาจจะคุ้นเคยวรรณกรรมเรื่องนี้จากภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Disney ในปี ค.ศ. 1951 ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘Alice In Wonderland’ ซึ่งได้เอาเนื้อหาบางส่วนของ ‘Through The Looking-Glass’ นิยายภาคต่อมาผสมปนเปในตัวอนิเมชั่นด้วยเล็กน้อย และถ้ามองผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากนิยายต้นฉบับก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
แต่ถ้าให้ชี้เป้าว่า วรรณกรรมร่วมสมัยเรื่องใดของประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มทำให้เกิดนิยามของแนวเรื่องประเภท Isekai ก็คงเป็นนิยายที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1981 เรื่อง Isekai No Yusha ซึ่งเขียนโดย Takachiho Haruka นิยายเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กมัธยมปลายที่ถูกเรียกตัวไปยังโลกต่างมิติและได้ครองดาบในตำนานเพื่อช่วยเหลือเจ้าหญิงในโลกนั้น
การมาถึงของนิยายเรื่องนี้ทำให้คำว่า Isekai กลายเป็นคำศัพท์ที่คนอ่านวรรณกรรมของญี่ปุ่นคุ้นเคยว่า นิยายแนวนี้จะมีลักษณะที่ตัวเอกต้องประสบเหตุบางอย่างจนได้เดินทางไปต่างโลก แต่การที่นิยาย Isekai เฟื่องฟูนั้นเราต้องบอกว่า มันเป็นผลพวงจากวรรณกรรมในกลุ่ม ‘ไลท์โนเวล’ นั่นเอง
ไลท์โนเวล เวทีสำคัญของเรื่องแนว ‘ไปต่างโลก’
ด้วยความที่วรรณกรรมญี่ปุ่นถูกแยกออกเป็นหลายแขนง อย่างเช่น วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ จะหมายถึงกลุ่มวรรณกรรมที่เริ่มเขียนตั้งแต่ยุคเมจิ (ปี ค.ศ. 1868) ขึ้นไป (อาจจะดูงงๆ เล็กน้อยเพราะอ่านแล้ว ‘ไม่รู้สึกใหม่’ เท่าใด) และวรรณกรรมแต่ละประเภทก็มีกลุ่มคนอ่านที่ชัดเจน เมื่อมาถึงช่วงปี ค.ศ. 1970 ที่วัฒนธรรม มังงะ กับ อนิเมะ เริ่มเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไปแล้ว แต่หลายครั้ง ผลงานเหล่านั้นก็อาจจะบอกเล่าได้ไม่ละเอียดพอ และในทางกลับกัน กลุ่มลูกค้าช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยเริ่มทำงานที่เติบโตมากับ มังงะ และ อนิเมะ ก็อาจจะไม่ได้พร้อมที่จะกระโจนสู่การอ่านวรรณกรรมแบบเต็มพิกัด เลยมีการสร้างสินค้าในกลุ่มวรรณกรรมขึ้นอีกกลุ่มที่ใช้ชื่อเรียกว่า ไลท์โนเวล (light novel) ขึ้นมา
ถึงจะมีชื่อว่า Light แต่ความจริงเนื้อหาหรือรูปเล่มของวรรณกรรมกลุ่มนี้ ไม่ได้ ‘เบา’ หรือ ‘ราคาถูก’ เสมอไป ความจริงออกจะเป็นแนวคิดว่า เรื่องที่ถูกจัดหมวดหมู่นี้มักจะเป็นวรรณกรรมที่มีเรื่องคล้ายกับมังงะหรืออนิเมะ และอาจจะมีภาพประกอบให้ดูบ้าง หรือมีความย่อยง่าย แต่ก็จะมีความเหนือจริงที่หวือหวาสมกับเป็นชาติที่สร้างมังงะกับอนิเมะขึ้นมามากมาย
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เอง เรื่องราวที่ถูกจับมาเล่าในไลท์โนเวลโดยส่วนมากจึงมักจะเป็นแนวแฟนตาซี ที่มีโครงสร้างเข้าใจไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกเกินความจำเป็นเพื่อไม่ให้กลุ่มนักอ่านที่เป็นเป้าหมายหลักเกิดอาการมึนจนไม่รู้เรื่อง
การมาถึงของ Isekai No Yusha ก็ทำให้มีการเขียนนิยายในลักษณะคล้ายๆ กันตามมาอีกหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นการเขียนเรื่องขึ้นมาใหม่หมด แต่บางเรื่องก็เป็นการดัดแปลงเอาสื่อบันเทิงแนวอื่นมานำเสนอในแบบนิยายที่มีความละเอียดมากขึ้น จนทำให้ตอนนี้ไลท์โนเวลกลายเป็นประเภทหนึ่งของวรรณกรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยอย่างชัดเจน ในช่วงปี ค.ศ. 1990 ก็มีไลท์โนเวลเแนว Isekai หลายเรื่องที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน อาทิ Higaeri Quest, 12 อาณาจักรเทพยุทธ์ ฯลฯ
และในช่วงปี ค.ศ. 1990 ก็มีอนิเมะหลายเรื่อง ทั้งที่มาจากไลท์โนเวล หรือเป็นอนิเมะสร้างใหม่ที่ได้รับความนิยม ซึ่งเล่าเรื่องแนวเดินทางไปต่างโลกเช่นกัน อย่างเรื่อง Vision Of Escalowne, Magic Knight Rayeart ฯลฯ พอดีกับที่ว่าเรื่องที่ดังๆ ในยุคนั้นมีตัวเอกเป็นตัวละครหญิง ทำให้ภาพลักษณ์ของแนว Isekai ในช่วงนั้นถูกเหมารวมไปว่าเป็นแนวที่วาดฝันให้กับสาวๆ มีโอกาสได้ไปผจญภัยในดินแดนแปลกใหม่ในระยะหนึ่ง
จนกระทั่งในช่วงยุค ค.ศ. 2000 ที่อินเตอร์เน็ตกับเกมออนไลน์ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จึงเริ่มมีคนนำเสนอเรื่องราวของการ ‘ไปต่างโลก’ ที่ไม่ใช่โลกแฟนตาซีแล้ว แต่กลายเป็นเข้าไปอยู่ในโลกของเกมมากขึ้น กับมีนักเขียนที่เกิดจากโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนที่เกิดจากเว็บไซต์ Shousetsuka Ni Narou เว็บไซต์สำหรับเขียนนิยายออนไลน์ (ประมาณเว็บ Dek-D หรือ Joylada ของไทย) ที่มีนักเขียนสมัครเล่นจำนวนมากมาอัพโหลดผลงานของตนเองไว้ ซึ่งผลงานยอดฮิตในเว็บนี้ก็จะถูกทางสำนักพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นซื้อสิทธิ์มาทำการตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มต่ออีกทอดหนึ่ง และแนวเรื่อง Isekai ก็เป็นแนวที่ได้รับความนิยมในเว็บดังกล่าว เลยทำให้ไลท์โนเวลในยุคปัจจุบันมีแนวเรื่องตามความนิยมของเว็บไปโดยปริยาย แล้วก็ได้รับการขายแบบเล่มจริง รวมไปถึงมีการสร้างเป็นอนิเมะออกมาในภายหลัง จนทำให้ในทุกวันนี้เกิดภาวะ ‘ไปต่างโลก’ ค่อนข้างเต็มตลาดนั่นเอง
พอจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ถ้าไม่มี ไลท์โนเวล ซึ่งมักจะมีการทำตลาดแบบสื่อผสมหลายชนิด (Mix Media) คือมีไลท์โนเวลแล้วก็ทำมังงะควบด้วย ถึงจุดหนึ่งก็สร้างของเล่นของสะสม จัดทำอนิเมะ ทำให้แนวเรื่อง Isekai มาไกลจากเรื่องสำหรับกลุ่มลูกค้าเล็กๆ กลายเป็นงานแมสไปในที่สุด
ความนิยมของ ‘ไปต่างโลก’ ที่ขยายตัวไปไกลเกินคาด
อย่างที่บอกไว้เมื่อช่วงตอนต้นว่า ไลท์โนเวลนั้นทำให้เรื่องแนว Isekai กลายเป็นกระแสแมสขึ้นมาได้ในญี่ปุ่น แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ นอกญี่ปุ่น อาจจะคุ้นเคยจากอนิเมะมากกว่า เพราะนับตั้งแต่ก่อนที่ Isekai จะกลายเป็นกระแสนิยมโดยสมบูรณ์ อนิเมะหลายเรื่องก็เล่าคอนเซปต์ของการข้ามโลกมาบ้างแล้ว อาทิ Aura Battler Dunbine, เกราะเทพเจ้าชูราโตะ, วาตารุ เทพบุตรสองโลก ฯลฯ
แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คงไม่มีอนิเมะเรื่องอื่นใดที่ปลุกกระแส Isekai ได้ดีไปกว่าการมาถึงของ Sword Art Online ที่ดัดแปลงมาจากไลท์โนเวลของ Kawahara Reki มีนักข่าวสายอนิเมะหลายเจ้าวิเคราะห์กันไว้ว่าการที่อนิเมะเรื่องนี้ดังได้สุดๆ เพราะตัวเรื่องนั้นมีพื้นเพมาจากเกมออนไลน์ ซึ่งคนยุค 1980-2000 เข้าใจโครงสร้างดี และการที่ตัวทีมงานสร้างอนิเมะทำการดัดแปลงเนื้อหาให้เข้าเรื่องส่วนเข้มข้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนดูอินกับเรื่องได้แทบจะทันที
แล้วก็เป็นจังหวะของอุตสาหกรรมอนิเมะในยุคนั้นที่มีคนหยิบจับเอาไลท์โนเวลแนว Isekai มาสร้างกันมาก (จากที่ช่วงก่อนหน้านี้ก็หยิบมาดัดแปลงเป็นอนิเมะอยู่แล้ว) กอปรกับช่วงเวลาดังกล่าวทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็เข็นให้วัฒนธรรมโอตาคุกลายเป็นสินค้าส่งออกพอดิบพอดี กระแสความนิยมเรื่องแนว Isekai จึงเบ่งบานไปทั่วโลกในแบบที่ไม่เคยคาดคิด
ความดังนั้นทำให้มีการแปลไลท์โนเวลแนว Isekai ออกไปหลายภาษา (ซึ่งหลายๆ ที่ที่คนเข้าแถวกันยาวๆ ในงานหนังสือก็คือมาซื้อไลท์โนเวลฉบับแปลภาษาไทยนี่ล่ะครับ) อนิเมะแนวดังกล่าวก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในหลายช่องทาง ทั้ง Netflix หรือ Amazon Prime นอกจากนี้ก็มีการสร้างเกมจากเรื่องแนว Isekai ด้วย
รวมไปถึงว่ามีการพยายามพัฒนาไลท์โนเวลในรูปแบบภาษาอื่นๆ ตามมาอีก อย่างในบ้านเราจะมีทางสำนักพิมพ์พะโล้ ที่วางตัวเองผลิตไลท์โนเวลสไตล์คนไทย ก็มีเรื่องเด่นของสำนักพิมพ์เป็นแนว Isekai ที่มีชื่อกับโครงเรื่องที่น่าจดจำอย่าง เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ได้หรือเปล่านะ ที่เล่าเรื่องของเลขาธิการนักการเมืองในประเทศแห่งหนึ่งที่ถูกยิงตาย แต่ได้กลับไปเกิดใหม่ในต่างโลก ที่มีลักษณะละม้ายคล้ายวัฒนธรรมล้านนา และคราวนี้เขาก็ตั้งใจจะใช้ทักษะที่ติดตัวมาจากชีวิตเดิมสร้างประเทศที่เป็นปึกแผ่นให้สำเร็จ แหม่… รู้สึกใกล้ตัวพิกลๆ
ทิศทางต่อไปของเรื่องแนว ‘ไปต่างโลก’
ถึงตอนนี้เรื่องแนว Isekai จะฮิตมากๆ ระดับที่ว่ามีหนังสือหลายสิบปกที่เล่าเรื่องด้วยวิธีการนี้ แต่จำนวนที่มีมากเกินไปก็เริ่มทำให้เกิดอาการเบื่อเพราะมัน ‘เฝือ’ อยู่เช่นกัน ที่ประสบปัญหาชัดๆ ก็คงเป็นในวงการไลท์โนเวลญี่ปุ่นเองที่เริ่มมีงานประกวดนักเขียนหน้าใหม่ แล้วออกกฎกติกามารยาทมาว่า ห้ามเขียนเรื่องแนว Isekai เข้าประกวดไปเลย และในทางกลับกันก็มีเวทีประกวดบางเวทีจัดให้เข้าแข่งเฉพาะเรื่องแนว Isekai ไปเสียเลย
ส่วนฝั่งสำนักพิมพ์ที่ยังหยิบจับงานเหล่านี้มาตีพิมพ์ (ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศที่จัดทำฉบับแปล) ก็ต้องเริ่มเฟ้นหาเรื่องที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น จนหลายครั้งเกิดแนวเรื่องแยกย่อยลงไปอีก อย่าง Reverse Isekai คือแทนที่ตัวละครหลักจะเดินทางไปต่างโลก แต่กลายเป็นว่าตัวละครจากต่างโลก เข้ามาในพื้นที่ของตัวละครหลักแทน
หรือบางทีก็เป็นเรื่องเล่าต่างโลกแต่ไม่ได้มีการต่อสู้ อาจจะเน้นการทำอาหาร เน้นเรื่องเศรษฐศาสตร์ เน้นการเดินทาง หรือ เน้นเรื่องแบบอื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครเขียนถึง
แล้วถ้าเกิดมีเหตุการณ์ที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอีก อย่างที่เทรนด์สื่อสังคมออนไลน์กับเกมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของปี 2000 ก็น่าจะทำให้มีปัจจัยการแต่งเรื่องแนว Isekai พลิกแพลงได้อีก
แต่แม้ว่านิยายแนวไปต่างโลกอาจจะพาผู้อ่านเดินทางไปถึงอีกโลกไม่ได้จริงๆ (ซึ่งก็อาจจะเป็นการดีเพราะส่วนใหญ่นิยายแนวนี้ในระยะหลังมักจะบังคับให้ตัวละครเอกที่ได้ไปต่างโลกต้องจบชีวิตในโลกเดิมเสียก่อน) แต่อย่างน้อยนิยายประเภทนี้ก็ยังสามารถพาคุณหนีไปพักผ่อนจากโลกแห่งความจริงอันแสนวุ่นวายได้สักระยะหนึ่งก่อนที่จะต้องตั้งสติกลับมาสู้ต่อไป
อ้างอิงข้อมูล