จะไปกลัวอะไรกับการที่ผีหรือเอเลี่ยนมีตัวตนขึ้นมาจริงๆ ก็ในเมื่อโลกความเป็นจริงนั้นน่ากลัวอยู่แล้ว
มองจากหน้าฉากแล้ว Dandadan ก็คงเป็นมังงะหรืออนิเมะสายโชเน็น เน้นฉากแอ็กชั่นต่อยตี ผสมด้วยเรื่องรักโรแมนติกของเด็กวัยมัธยมที่เรามักจะเห็นได้ทั่วไป ทว่าสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าสนใจคือการจับเอาเรื่องภูต ผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด ไปจนถึงเอเลี่ยนมายำรวมให้อยู่ในจักรวาลเดียวกัน แถมทำออกมาสนุกและเชื่อมโยงกับคนดูได้อย่างน่าอัศจรรย์
‘โมโมะ อายาเสะ’ คือสาวมัธยมที่เพิ่งจะค้นพบว่าตัวเองมีพลังจิตหลังได้เผชิญหน้ากับเอเลี่ยนต่างดาว สาเหตุก็เพราะเธอไปท้าทายความเชื่อของ ‘เคน ทาคาคุระ’ (หรือที่โมโมะเรียกว่า โอคารุน) เด็กหนุ่มชั้นเรียนเดียวกัน ว่าเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับเพื่อนนอกโลกของเขานั้นไร้สาระ ส่วนไอ้หนุ่มทาคารุระก็ไม่น้อยหน้า ดันพลาดท่าโดนผียายแก่เทอร์โบเข้าสิง และได้ครอบครองพลังวิ่งเร็วแบบผีเข้าผีออก
นอกจากฉากต่อสู้อันดุเดือดและเรื่องรักโรแมกติกใสๆ ของวัยรุ่น Dandadan ยังแทรกประเด็นสังคมในโลกความเป็นจริงเอาไว้ ไม่ว่าจะในการใช้ชีวิตประจำวันของโมโมะและโอคารุน หรือในที่มาของผีและตำนานเมือง The MATTER ชวนไปสำรวจประเด็นเหล่านี้ที่ถ้าได้เจอกับตัวเองจริงๆ แล้ว อาจจะน่ากลัวกว่าผีหรือเอเลี่ยนที่หนุ่มสาวต้องเจอในเรื่อง…ก็เป็นได้
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของอนิเมชั่นเรื่อง Dandadan ตอนที่ 1-7*
ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship)
ก่อนจะต้องมาพัวพันกับโอคารุน โมโมะ อายาเสะ เคยคบกับชายคนหนึ่งมาก่อน เขาคือชายหนุ่มทรงแบ๊ดๆ ที่โมโมะต้องเลิกราตั้งแต่ต้นเรื่อง ถึงจะไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนาม แต่พฤติกรรมของชายคนนี้ก็ทำให้เห็นว่าโมโมะกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นภัยกับเธอแค่ไหน ชัดที่สุดคือการข่มขู่พร้อมคำพูดที่ว่าถ้าเธอไม่ให้ยืมเงิน เขาจะไม่ยอมไปออกเดตด้วย ไหนจะยังคุกคามทางเพศด้วยการบอกว่าจะยกโทษให้ถ้าเธอยอมมีอะไรด้วย และหนักที่สุดคือการทำร้ายร่างกายโมโมะก่อนที่เขาจะเดินจากไป
ถ้าเป็นคนนอก มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าโมโมะกำลังคบกับคนแย่ๆ และอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) แต่นี่แหละคือความอันตราย เพราะหลายครั้ง คนที่ผูกติดอยู่ในความสัมพันธ์ประเภทนี้มักอยู่ในภาวะจำยอม กลัวการอยู่คนเดียว ขาดทางเลือก กระทั่งยอมทนเจ็บปวดโดยหวังว่ามันคงจะมีอะไรดีขึ้นบ้างในอนาคต ที่สำคัญคือเหยื่อมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังอยู่ในความสัมพันธ์พังๆ
ในกรณีของโมโมะ เธอยอมทนอยู่กับชายคนนี้เพราะเชื่อว่า ผู้ชายหน้าแบ๊ดๆ นี่แหละจะเป็นชายในฝันคล้ายกับ เคน ทาคาคุระ ดาราดังของญี่ปุ่นที่เธอชื่นชอบ ทว่าชายที่เธอคบนั้นก็ร้ายถึงขั้นแม้แต่เพื่อนๆ ของเธอยังออกปากเตือน โชคดีที่โมโมะพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้ และได้มาเจอกับโอคารุน (แถมชื่อคือ เคน ทาคาคุระ อีกต่างหาก) ในภายหลัง
การกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ชีวิตเด็กมัธยมของหนุ่มแว่น เคน ทาคาคุระ (โอคารุน) สะท้อนภาพการกลั่นแกล้งในโรงเรียนออกมาได้เป็นอย่างดี โอคารุนมักถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนแกล้งอยู่เสมอ เช่น เอาของขว้างปา ข่มขู่ หลอกหรือบังคับใช้งาน และถ้าไม่โดนแกล้ง โอคารุนก็มักจะถูกละเลยในสายตาของคนอื่น เป็นเหตุให้โอคารุนไม่มีเพื่อนและหมกมุ่นอยู่แต่กับความเชื่อเรื่องเอเลี่ยนและ UAP (หรือ UFO) เพราะคิดเอาว่าเอเลี่ยนอาจจะเป็นเพื่อนกับเขาได้
ในปัจจุบัน การกลั่นแกล้งในโรงเรียนยังเป็นปัญหารุนแรงในหลายประเทศ จากตัวเลขสถิติโดย Nippon.com พบว่า ในปี 2019 ญี่ปุ่นยังมีรายงานตัวเลขการกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 682,000 ครั้ง และมีการรายงานการกลั่นแกล้งอย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 83% ของโรงเรียนทั้งหมดในญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยเอง ในปี 2023 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำแบบสำรวจในกลุ่มเด็กจำนวน 37,271 คน พบว่า 44% เคยถูกกลั่นแกล้งไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ และกว่า 86.9% เกิดขึ้นในโรงเรียน
การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นปัญหาเกิดขึ้นทุกวันและต้องเร่งแก้ไข สาเหตุสำคัญก็เพราะการกลั่นแกล้งนั้นมีผลกระทบโดยตรงกับเหยื่อทั้งในแง่ร่างกาย รวมถึงจิตใจที่อาจส่งผลในระยะยาว นำไปสู่อาการเครียดหรือซึมเศร้า นอกจากนี้ยังส่งผลกับสภาวะแวดล้อมของโรงเรียนในภาพรวม ทำให้การเรียนและการไปโรงเรียนไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมิตร
เราก็ได้แต่หวังว่าหลังจากนี้โอคารุนจะไม่โดนเพื่อนๆ แกล้งอีก
การฆาตกรรม (Murder)
ยายแก่เทอร์โบเป็นคือตัวละครสำคัญของเรื่องและเป็นผีที่ได้รับการเล่าขานในฐานะตำนานเมืองโชโนะ เชื่อกันว่าผียายแก่จะคอยวิ่งหลอกหลอนคนในเมืองด้วยความเร็วถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และในระหว่างทางที่วิ่งนั้น แกก็มักจะไปหยุดเพื่อปลอบโยนวิญญาณหญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมอย่างสยดสยอง ณ จุดเกิดเหตุ
ตรงนี้เองที่จะเห็นถึงความสำคัญของการใช้เรื่องเล่าเช่นเรื่องผี เพื่อสะท้อนถึงสภาวะสังคมหรือปัญหาในสังคมมนุษย์ ในกรณีของผียายแก่เทอร์โบก็คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้หญิง ที่เป็นเหยื่อจากการถูกลอบทำร้ายและฆ่า ความโหดร้ายที่หญิงสาวเหล่านั้นได้รับถูกเล่าด้วยภาพของวิญญาณที่ไม่ได้ไปผุดไปเกิด กลายเป็นวิญญาณติดที่ และเป็นวิญญาณร้ายใน สุดท้ายแล้วก็เป็นการกระทำของมนุษย์ด้วยกันนี่เองที่เป็นบ่อเกิดของปีศาจในเรื่อง Dandadan
การค้ามนุษย์ (Human Trafficking)
ตอนของ ‘สาวกายกรรมผมสลวย’ (Acrobatic Silky) น่าจะเป็นหนึ่งในตอนที่ทำคนดูเสียน้ำตากันเป็นลิตร หลังจากได้ทราบเรื่องราวก่อนตายของผีสาวกายกรรม เพราะก่อนมาเป็นผี เธอคือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเช้ากินค่ำ รับงานถึงสามงานต่อวันเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวตัวเล็กๆ ความสุขของคนเป็นแม่มีเพียงแค่การได้เห็นลูกสาวเติบโตอย่างมีความสุข
งานหนึ่งของคุณแม่คนนี้ทำคือการรับงานค้าบริการทางเพศ แน่นอนว่าเธอไม่ได้รับการปฏิบัติในทางที่ดีเท่าไหร่นัก อาจจะด้วยสาเหตุที่อาชีพนี้มักไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย และไปเกี่ยวพันกับปัญหาใหญ่อย่างการค้ามนุษย์ นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นกับทั้งตัวเธอเองและคนใกล้ตัว
แม้จะเป็นการแตะประเด็นการค้ามนุษย์โดยอ้อมๆ ทว่า Dandadan ก็นำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างสมจริงและเจ็บปวด จนคนดูเองก็ได้แต่หวังว่า ถ้าโลกคู่ขนานมีจริง เราก็อยากให้แม่ลูกคู่นี้ได้ไปอยู่ในโลกที่อ่อนโยนกว่านี้
อ้างอิงจาก
Nippon. (2020, November 19). Bullying Incidents Reported at 83% of Japanese Schools. Nippon.
Sattaburuth, A., Wipatayotin A., & Ngamkham W. (2024, February 4). Halting the student violence cycle.