ถ้าไล่ชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าชื่อของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี น่าจะติดอยู่ในลิสต์ของใครหลายคน
นับถอยหลังไปห้าปีก่อนหน้านี้ เขามีผลงานเข้าโรงภาพยนตร์ปีละเรื่อง ไล่ตั้งแต่ แต่เพียงผู้เดียว (2555) ตั้งวง (2556) เอวัง (2557) และ Snap แค่…ได้คิดถึง (2558)ผลงานเหล่านี้ได้รับคำชื่นชมทั้งจากนักวิจารณ์และคนดู บางเรื่องคว้ารางวัลจากเวทีประกวดได้ด้วยซ้ำ
แต่หลังจากที่ทำหนังมาติดๆ กัน คงเดชก็เงียบหาย คล้ายเหมือนคนที่เหยียบคันเร่งมามิด แล้วอยู่ดีๆ ก็หักรถหลบเข้าข้างทาง
เขาเสียหลักหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ เรายังเห็นคงเดชโลดแล่นในฐานะนักเขียนบท (ล่าสุด เขารับบทเป็นคนนำ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายชื่อดังของ วีรพร นิติประภา มาดัดแปลงเป็นหนัง) นักเขียน และนักร้องประจำวงสี่เต่าเธอบ้างเป็นครั้งคราว
ทำไมเขาถึงไม่มานั่งหลังกล้องมอนิเตอร์ แล้วทำหนังของตัวเองอีกครั้ง
บางทีคนที่จะให้คำตอบเราได้อาจไม่ใช่แค่คงเดช
The MATTER : ช่วงหลังนี้ดูเหมือนคุณหายไปจากวงการหนัง คุณกำลังทำอะไรอยู่บ้าง
คงเดช : ทำทุกอย่างที่เป็นเงินฮะ ผมไม่ได้ทำประจำที่ไหน แล้วก็ยังไม่ได้เริ่มโปรเจกต์ตัวเอง กำลังหาไอเดีย หาความอยากทำอยู่ เพราะทำหนังแต่ละครั้งไม่ค่อยได้เงินได้ทอง ใช้เวลาก็เยอะ ระหว่างนี้ผมก็ต้องทำงานหาตังค์ไปเรื่อยๆ มีทำโฆษณาบ้าง เขียนบทหนังให้คนอื่นบ้าง ล่าสุดมีหนังจีนเรื่องหนึ่งติดต่อมาให้เขียนบท เขาจะมาถ่ายทำในไทย เป็นหนังแอ็กชั่น กำกับโดยพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผมไม่รู้เหมือนกันว่าใครแนะนำมา ตอนแรกเขาจะให้เป็นแค่ที่ปรึกษา เพราะเขาก็มีนักเขียนบทจากจีน แต่ปรากฏว่าพอทำงานจริงๆ แล้วไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร
ต้องเข้าใจก่อนว่าตอนนี้อุตสาหกรรมหนังของจีนใหญ่มาก เขาพยายามจะเป็นฮอลลีวูดสุดๆ อย่างการทำหนังแอคชั่นโดยมีฮอลลีวูดเป็นตัวตั้งต้นนี่ก็ใช่ แต่นักเขียนบทบ้านเขายังไม่ได้มีทักษะมาก ผมกับเขาเห็นตรงกันว่ามันไม่เวิร์ก เขาเลยเสนอให้ผมเขียนเป็นหลักแทน ซึ่งผมก็ไม่มีทักษะหรอกนะ แถมไม่ถนัดหนังแอคชั่นอีก (หัวเราะ) แต่หลายครั้งเลยที่ผมทำงานด้วยความรู้สึกว่ามีคนจ้างให้ฝึกเขียนบท เพราะนอกจากได้เงินแล้ว เราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย
The MATTER : การทำงานกับคนจีนเป็นอย่างไร
คงเดช : ตอนแรกมึนมาก เพราะมันคือการไปทำความรู้จักวัฒนธรรมใหม่ๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มตลก
การเขียนบทเรื่องนี้ทำให้ผมรู้ว่ากฎหมายเซ็นเซอร์จีนมีอะไรแปลกๆ เยอะมาก เช่น ผู้ร้ายมีปืนเยอะไม่ได้ แต่มีระเบิดได้ …เชี่ย ไม่มีปืนแล้วจะทำหนังแอคชั่นกันยังไงวะ มึงจะข่วนกันเหรอ หรือมึงจะทำแนวกังฟู ผมงงมาก จนทีมงานฝั่งจีนบอกเหตุผลว่ากองเซ็นเซอร์จีนห้าม เพราะมันเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย คือถ้าในหนังมีปืนเยอะเกินไป นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหละหลวม แถมปืนยังผลิตในจีนไม่ได้ ถ้ามี แปลว่าคุณนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่หละหลวมอีกแล้วนะ แต่มีระเบิดได้ ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นของที่ผลิตในเมืองจีนได้ (หัวเราะ) ตัวละครในหนังจีนเลยทำอะไรนอกลู่นอกทางมากไม่ค่อยได้ เขาเลยแก้ปัญหาด้วยการมาถ่ายเมืองไทย หรือสร้างให้ตัวละครนั้นเป็นคนฮ่องกงไปเลย ก็ปวดหัวนิดหน่อย แก้ปัญหากันไป
แต่เรื่องของเรื่องคือเงินดีมากเลย ดีแบบที่เมืองไทยไม่เคยคิดจะจ่ายกันในราคาแบบนี้ คนเราต้องหาเลี้ยงปากท้องว่ะ ผมลูกสอง โตแล้วด้วย ค่าใช้จ่ายมหาศาล (หัวเราะ)
The MATTER : คุณใช้เวลาในการเขียนบทแต่ละเรื่องนานมั้ย
คงเดช : แล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นงานรับจ็อบเขาจะมีเดดไลน์มาให้ ผมก็หาทางจัดการเวลาไป แต่ก็มีบางงานที่ให้ระยะเวลาแบบ…มึงคิดว่าจะได้ของดีในเวลาเท่านี้เหรอ เวลาน้อยจนทีมเขียนบทต้องเขียนกันแบบไม่ดูหน้าดูหลัง คือมึงจะรีบกันขนาดนั้นจริงๆ เหรอ ดังนั้น ถ้าเป็นงานรับจ้าง ผมจึงพยายามให้งานที่ส่งจากมือ ไม่ใช่งานที่ผมรู้สึกแย่กับมัน แต่หลังๆ ถ้าเกิดเร่งมากๆ ผมก็ไม่รับนะ ถ้าเงินไม่มากพอ
The MATTER : แล้วเวลาเขียนบทหนังของตัวเอง
คงเดช : อีกแบบเลย เพราะคนตั้งเดดไลน์คือผมแล้ว ส่วนเรื่องไอเดีย เอาจริงผมมีเรื่องอยากเล่าเต็มไปหมดเลยนะครับ มีเป็นสิบ แต่ผมกำลังเกิดคำถามกับตัวเองว่าช่วงที่ผ่านมา ผมทำหนังติดกันเกินไปหรือเปล่า แล้วพอมองไปที่อุตสาหกรรมหนังบ้านเราตอนนี้ก็ไม่ค่อยอยากทำเลย (เสียงอ่อย) คือผมต้องทำด้วยความรู้สึกยังไง
ทุกครั้งที่ผมทำหนัง มันเป็นเพราะเกิดคำถามในชีวิต กำลังสงสัยอะไรบางอย่าง แล้วไอเดียของหนังแต่ละเรื่องทำให้ได้สำรวจด้านนั้นของชีวิต ผมเลยทำ และอีกอย่างคือผมต้องการความรู้สึกที่ว่าถ้าได้ทำหนังเรื่องนี้คงดีมากๆ เพราะอย่างตอนทำ แต่เพียงผู้เดียว หรือ Snap ทั้งสองเรื่องนี้ส่งเสียงเรียกให้ผมต้องทำมันอยู่ตลอด ไม่ว่าทำอะไรก็คิดถึง แต่ตอนนี้ยังไม่มีไอเดียอันไหนเรียกร้องให้ผมต้องทำเลย นั่นแปลว่าชีวิตผมยังไม่ได้จะเป็นจะตายกับประเด็นนี้เท่าไร ตอนนี้ชีวิตผมคงจะเป็นจะตายกับเรื่องอื่นอยู่
ที่จริง ตอนทำ Snap ผมอยากทำ P-048 ด้วยนะ (แต่เพียงผู้เดียว มีอีกชื่อว่า P-047) ผมขึ้นโครงสองเรื่องนี้พร้อมกันเลย แต่พอทำ Snap เสร็จแล้ว ความอยากทำ P-048 หายไปเลย ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน
The MATTER : เป็นเพราะความเหนื่อยรึเปล่า
คงเดช : ไม่เชิงนะ ความจริงผมอยากทำหนังมาก ให้ทำทุกปีเลยก็ได้ เพียงแต่ผมคิดว่ายังหาเส้นทางที่ถูกต้องไม่เจอ
พูดอย่างนี้ดีกว่า ตอนนี้ผมจะทำหนังก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ทำแล้วจะขาดใจตาย เพราะผมเห็นสภาพวงการหนังทุกวันนี้แล้วรู้สึกว่าทำไมมันแย่ขนาดนี้วะ คือถ้าให้ผมทำเลยก็คงทำได้ ผมคงชอบมัน คงแฮปปี้ แต่มันก็จะกลายเป็นแค่หนังอีกเรื่องหนึ่ง อาจเพราะผมทำหนังมาสี่เรื่องติดด้วยมั้ง ผมเลยไม่ได้ต้องการแค่หนังอีกหนึ่งเรื่อง ผมต้องการหนังที่ยอมตายเพื่อมัน
The MATTER : ต้นเหตุเกิดจากอะไร
คงเดช : อาจมาจาก Snap เพราะมันเป็นหนังที่ผมรู้สึกโอเค แต่ผมเสียใจกับมันมาก
Snap เป็นหนังที่ค่อนข้างออร์แกนิก แต่ดันอยู่ใน condition ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สภาพไม่ค่อยดีตั้งแต่ต้น ผมต้องถ่ายหนังทั้งเรื่องในเวลาแค่สิบวัน หรือการที่นายทุนหลักให้ตังค์ไม่พอ แต่ผมก็ยังจะทำ ซึ่งทำทำไม? ทำแล้วก็ต้องวิ่งหาเงินต่อ
กระบวนการแบบนี้ ผมเคยทำมาแล้วตั้งแต่ ตั้งวง หรือ แต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่คราวนี้สิทธิ์หนังไม่ใช่ของผม ดังนั้นการวิ่งเต้นหาเงินทำ จนถึงช่วงที่หมุนเงินไม่ทันต้องเอาบ้านไป O/D เพื่อเอาเงินมาหมุนเป็นอะไรที่ไม่เมคเซนส์ที่สุด แม่งไม่ถูกต้อง แถมเรื่องสิทธิ์ต่างๆ ก็ไม่ลงตัว เลยไม่รู้จะทำดีวีดีไปทำไม ผมเลยสงสารหนังเรื่องนี้ รู้สึกว่าควรจะดูแลมันให้ดีกว่านี้
ตอนนี้ผมเลยคิดถึงเรื่องที่ว่าคนทำหนังจะทำหนังกันใน condition ที่ถูกต้องกว่านี้ได้ยังไงมากกว่า และอีกเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญคือการจัดจำหน่าย
The MATTER : การจัดจำหน่ายหนังในบ้านเรามันเป็นยังไง
คงเดช : ช่วงปลายปี 2559 ผมเห็นหนังอินดี้เข้าฉายชนกันสี่เรื่อง (ปั๊มน้ำมัน, ดาวคะนอง, โรงแรมต่างดาว, มหาสมุทรและสุสาน) หนึ่งในนั้นได้รางวัล แต่พอได้ก็เกิดกระแสว่าทำไมฉันไม่รู้จักหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นแบบนี้มาสามสี่ปีแล้ว สมัยที่ ตั้งวง ได้รางวัลก็มีคนพูดแบบนี้
ผมเลยรู้สึกว่าจะทำยังไงไม่ให้มันกลายเป็นอย่างนี้อีก บางทีเรื่องนี้อาจสำคัญกว่าการทำหนังอีกก็ได้นะ ถ้าผมรู้วิธีหาคำตอบที่เคลียร์โจทย์นี้ ผมอาจไม่ต้องทำหนังแล้วก็ได้ ให้คนอื่นทำเลย ผมอาจไปโปรดิวซ์หรืออยู่เบื้องหลัง เพราะผมต้องการให้กระบวนการจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่หนังในบ้านเรามันเมคเซนส์สักที ผมไม่อยากโทษคนที่บ่นว่าไม่รู้จักหนัง เพราะฝั่งคนทำหนังก็ไม่มีตังค์จะโปรโมตจริงๆ โรงก็ไม่ให้พื้นที่ คุณจะไปรู้จักได้ยังไง แล้วพอมีคนออกมาขอโควต้าก็โดนด่าอีก
แต่ต้องพูดด้วยว่าทุกวันนี้พฤติกรรมคนก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าคนทำสื่อเองนี่แหละที่ต้องหาทางออกจากเรื่องเหล่านี้ เพราะผมว่าสิ่งที่เรายังดิ้นกันไม่หลุดคือกูจะเอาหนังเข้าโรง ซึ่งคนดูไม่ได้เข้าโรงหนังน้อยลงนะ แต่สิ่งที่จะทำให้คนเดินเข้าโรงหนังมันเปลี่ยนไปแล้ว
ถ้าคุณดูรายได้บอกซ์ออฟฟิศหนังที่ฉายในเมืองไทยทั้งหนังบ้านเราและหนังฮอลลีวูด คุณจะเห็นว่าไม่มีหนังที่ได้รายได้กลางๆ เลยนะ เอาง่ายๆ คุณลองคิดว่าพวกหนังฮอลลีวูดคือหนังไทยสิครับ หนังดีๆ อย่าง Manchester By the Sea รายได้ไม่ถึงหนึ่งล้าน แบบนี้คือเจ๊งนะครับ เจ๊งฉิบหายเลยด้วย หรือ La La Land ถ้าเป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างบ้านเรา ต่อให้ได้สามสิบกว่าล้านก็คือเจ๊ง หนังแบบ John Wick ถ้าได้ไม่ถึงหกสิบล้านก็เจ๊ง
ทุกวันนี้ เราเลยไม่ได้ดูหนังสเกลกลางๆ หรือหนังแนว Romantic Comedy เหมือนแต่ก่อน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เป็นแค่ในไทยนะครับ เมืองนอกก็ไม่มีพื้นที่ให้หนังแบบนี้เหมือนกัน นี่หมายความว่าคนไม่เข้าโรงหนังเพราะหนังทำนองนี้อีกแล้ว หรือต่อให้ไปลงดีวีดี หนังที่มันกลางๆ เหล่านี้ก็ขายไม่ได้อีก
สิ่งที่คึกคักที่สุดตอนนี้คือสื่อต่างๆ หันมาทำหนังเอง เช่น amazon หรือ netflix พวกเขาประกาศว่าตัวเองไม่ใช่ดิสทริบิวเตอร์ที่ซื้อมาฉายเฉยๆ กูไม่ใช่แค่ดิสเพลย์ แต่เป็นเจ้าของคอนเทนต์เองด้วย แล้วสื่อเหล่านี้เขามีตลาดอยู่ทั่วโลกนะครับ สิ่งที่เขาทำมันเลยใหญ่ขึ้นๆ แม้แต่ผู้กำกับดังๆ ก็หันมาทำหนังเพื่อลง netflix กันแล้ว
ทีนี้เมื่อหันมามองบ้านเรา จะพบว่าขนาดตลาดมันเล็กกว่ามากๆ แล้วผู้เล่นกระแสหลักในบ้านเราก็น้อยเกินไป ไม่มีผู้เล่นขนาดกลาง มีแต่รายใหญ่หรือไม่ก็เล็กไป และผู้เล่นรายเล็กก็ทำหนังด้วยความเข้าใจอีกแบบ จะพูดว่าไงดี คือเหมือนหลับหูหลับตามากเลย
หนังอินดี้บ้านเราดีๆ ทั้งนั้นนะครับ แต่ประเด็นคือต่อให้ฉายยาวนานหลายสัปดาห์ หนังเหล่านี้จะมีคนดูมากขึ้นสักเท่าไหร่กัน คือผมรู้สึกว่ายอดคนดูหนังอินดี้ในบ้านเราจะไม่มากไปกว่านี้อีกแล้วหรือเปล่า เราจะแก้ปัญหานี้ยังไงโดยที่คนทำหนังไม่ต้องใช้ความอดทนสูงขนาดนี้
The MATTER : แปลว่าวงการฝั่งเมนสตรีมมีแนวโน้มดีกว่า
คงเดช : ไม่ใช่ว่าดีนะ แย่เหมือนกัน หนังเจ๊งเยอะกว่ามาก มีไม่กี่เจ้าหรอกครับที่วิน แต่ที่แย่กว่านั้นคือพอมีหนังแบบไหนวิน ทุกคนก็พยายามทำตามๆ กันไป ซึ่งในยุคที่ทุกอย่างมันเร็วขนาดนี้ ค่ายหนังเองก็ควรไวและต้องใหม่กว่านั้นแล้วหรือเปล่า?
ปัญหาของหนังเมนสตรีมตอนนี้คือ เขาเชยกว่าคนดู แต่เอาเข้าจริง การจะก้าวนำคนดูยุคนี้ก็ยาก เพราะทุกอย่างอายุสั้นลง หนังหนึ่งเรื่องใช้เวลาในการทำนาน ลองสังเกตสิครับว่าหนังที่เราคิดว่าดีในตอนนี้เป็นหนังที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระแสนิยมทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ คนที่ทำแบบนี้จะเป็นฝั่งอินดี้แหละ ในขณะที่ฝั่งเมนสตรีม พอเห็นว่าอะไรมาก็จะทำตามกันเป็นพรวน เลยทำให้ไม่เกิดสิ่งใหม่ นานทีถึงจะมีโผล่มา ซึ่งผมก็จะเชียร์นะ เอาใจช่วยมากๆ แต่จำนวนของหนังแปลกๆ เหล่านี้จะไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่
The MATTER : สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคของอุตสากรรมหนังเมืองไทยมั้ย
คงเดช : ตอนนี้บ้านเราไม่เรียกว่าอุตสาหกรรมนะครับ เพราะคนทำหนังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองจากการทำสิ่งนี้อย่างเดียวได้ ขนาดนายกสมาคมผู้กำกับฯ ยังไม่ได้ทำหนังมาตั้งกี่ปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ แต่เพราะอย่างนี้ ผมถึงคิดว่าอุตสาหกรรมหนังไม่ใช่อุตสาหกรรมที่แท้จริง อุตสาหกรรมที่มีอยู่คืออุตสาหกรรมโรงหนัง ขยายกันไม่รู้เท่าไหร่ แต่หนังที่เข้าฉายไม่ได้หลากหลายเลย
ช่วงก่อนประกาศผลรางวัลออสการ์ ผมรู้สึกทึ่งมากที่เห็นโรงภาพยนตร์อย่างลิโด้ สกาลาที่มีแค่ 4 โรง มีหนังเข้าฉายถึง 12 เรื่อง ในขณะที่โรงกระแสหลักแทบไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย พวกนั้นมีประมาณ 12 โรง แต่มีหนังเข้าฉาย 4 เรื่อง
ผมว่าวงการภาพยนตร์มีปัญหาแหละ และปัญหาก็อยู่ที่ตัวระบบอุตสาหกรรมนี่เอง
The MATTER : ในฐานะของคนทำหนังที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสตูดิโอ คุณรู้สึกอย่างไร
คงเดช : ที่จริง ผมเองก็อยู่กึ่งกลางนะ เพราะสามเรื่องแรก (สยิว, เฉิ่ม, กอด) ก็ทำกับสตูดิโอ แต่มันเป็นสตูดิโอที่ไม่เหมือนปัจจุบัน ส่วนการทำหนังแบบอินดี้ ผมคงไม่หลับหูหลับตาทำหนังเหมือนช่วงเริ่มทำเองอีกแล้ว ถ้าไม่ได้ทำหนังที่จะเป็นจะตาย ก็ขอทำหนังที่ condition มันโอเค อย่าให้ต้องเวทนาหนังตัวเอง ต้องเอาบ้านไป O/D อีกเลย การทำแบบนั้นมันถูกต้องแล้วเหรอวะ?
กับคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไร ผมอยากให้คนทำหนังอินดี้เริ่มมองการตลาดด้วย คือต่อให้เราบอกว่าตัวเองเป็นคนทำหนังอินดี้ แต่ท้ายที่สุด พอหนังเข้าฉายเราก็อยากให้คนเข้ามาดูหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันจะพอมีสิ่งไหนที่ช่วยให้หน้าหนังเราดีขึ้นมั้ย เช่น มีดารา หรือว่าจะเอาจุดไหนมาตั้งต้นทำการตลาดได้บ้าง
ขณะเดียวกัน สตูดิโอหรือค่ายหนังต่างๆ ก็ควรเสี่ยงตายมากขึ้น เพราะไหนๆ หนังที่ทำกันอยู่ก็เจ๊งเกือบ 80% อยู่แล้ว ถ้างั้นทำไมไม่ทำให้มันเกิดความหลากหลาย สร้างความเปลี่ยนแปลงกันสักหน่อย เพราะถ้าผลลัพธ์คือเจ๊งเหมือนกัน คุณก็ควรท้าทายคนดูด้วยเรื่องเล่าแบบอื่นบ้างมั้ย ถ้ามันเกิดขึ้นได้ ผมว่าระยะห่างระหว่างเมนสตรีมกับอินดี้จะเข้าใกล้กันมากขึ้น แล้วภาพของหนังไทยที่มีแค่แบบเดียวก็จะค่อยๆ หายไป ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนดูแล้วว่าจะรับสิ่งเหล่านี้มั้ย
ผมว่าสตูดิโอต้องอดทน และมีความใจกว้างหน่อย คือคุณมีเงินแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องมี vision คุณจะมาเล่นเกมแบบเดิมแล้วทำตามกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว แบ่งเงินไปให้หนังแนวอื่นบ้างเถอะ มันไม่แพงหรอกนะ หนังแบบที่ผมทำกันอยู่งบน้อยกว่าหนังที่คุณสร้างกันตั้งเยอะ ปันเงินมาทางนี้หน่อย แล้วระยะยาวมันจะดีขึ้น
The MATTER : กระแสปากต่อปากช่วยหนังอินดี้บ้างมั้ย
คงเดช : ช่วย แต่มันไม่ค่อยทัน คือโลกเรามันไม่ได้มีแค่สื่อภาพยนตร์ มันมีคลิปในเฟซบุ๊ก มีเอ็มวีออกใหม่ มีคลิปไวรัล มีข่าวสารบ้านเมืองมาแย่งความสนใจตลอดเวลา พอมีคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบขนาดนี้ หนังก็เลยถูกลดความสนใจลงไป
อีกอย่างคือเราก็ต้องการการซัพพอร์ตจากโรงหนังด้วยนะ บางทีก็อยากบอกว่า เฮ้ย รอหน่อยได้มั้ย กูพยายามทำการตลาดมากขึ้นแล้ว แต่มึงช่วยให้เวลาเพิ่มขึ้น หรือให้พื้นที่มากกว่านี้ได้หรือเปล่า (หัวเราะ)
เอาเข้าจริงก็รู้แหละครับว่ามันเป็นเรื่องธุรกิจ ผมแค่รู้สึกว่าอุตสาหกรรมหนังกับอุตสาหกรรมโรงหนังมันไม่ควรแยกขาดจากกัน เพราะถ้าอุตสาหกรรมหนังไทยแข็งแรง อุตสาหกรรมโรงหนังก็จะดีขึ้นด้วย คืออย่ามองแต่เรื่องของที่นั่งในโรงหนัง ผมว่าโรงต้องมีความอดทน บางรอบคนแม่งน้อยจริงๆ หรือบางอย่างมันก็ต้องใช้เวลา นี่ยังไม่รวมถึงการพาหนังไปฉายตามจังหวัดต่างๆ อีกนะ ซึ่งผมอยากไป แต่บางครั้งก็ไปไม่ได้ด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง
The MATTER : คุณจะกลับไปทำหนังในระบบสตูดิโออีกมั้ย
คงเดช : ต้องถามว่าสตูดิโอใจกว้างพอจะให้ผมไปทำอีกรอบหรือเปล่า (หัวเราะ) ผมไม่ได้รังเกียจสตูดิโอนะครับ เพียงแต่สตูดิโอต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันได้แล้ว ต้องศึกษากันบ้างว่าค่ายที่สำเร็จเขาสร้างคาแรคเตอร์ยังไง แล้วก็อย่าไปทำตามเขาดื้อๆ ศึกษาเพื่อมาสร้างคาแรคเตอร์ตัวเองให้ชัดจะดีกว่า หนังไทยจะได้มีความหลากหลายกันสักที ผมว่าอยู่ที่ผู้ลงทุนแล้วแหละครับว่าจะยอมเสี่ยงมั้ย
ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ได้เลยนะครับว่าหนังจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ทุกคนเดิมพันกันทั้งนั้น แล้วเดี๋ยวนี้ หนังสตูดิโอทุนก็ไม่ได้เยอะกว่าหนังอิสระมากมาย บางเรื่องถ่ายกันแค่เก้าวัน เฮ้ย นี่มึงกำลังแข่งกันถ่ายน้อยอยู่เหรอ คือถ้าจะต้องบีบคั้นกันขนาดนี้แล้ว ก็ช่วยสลับไปทำอะไรเสี่ยงๆ บ้าง อุตสาหกรรมหนังจะได้แข็งแรงขึ้นสักหน่อย
The MATTER : อุตสาหกรรมเป็นแบบนี้ ผู้กำกับหน้าใหม่จะเป็นยังไง
คงเดช : ตอนนี้ผู้กำกับหน้าใหม่ส่วนหนึ่งไปเติบโตกับการทำออนไลน์ ฝีมือดีๆ แทบทั้งนั้น ซึ่งบางคนก็ไม่มีความฝันว่าต้องทำหนังเข้าโรงเลย แต่บางคนก็ฝันอยากมีหนังเข้าโรงฉิบหาย จนยอมเอาตัวเองไปอยู่ใน condition ที่ไม่ค่อยดี หรือบางคนขอแค่ได้ทำก็พอแล้ว ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองก็ไม่เป็นไร พอเป็นแบบนี้เลยไม่เกิดอะไรใหม่ๆ สุดท้าย ทุกอย่างก็ไปตกอยู่ที่ผู้เล่นรายใหญ่เช่นเดิม คนตัวเล็กๆ หรือเด็กหน้าใหม่จึงต้องพยายาม ต้องอดทนมากๆ ที่จะเขย่าโครงสร้างใหญ่ยักษ์พวกนี้
The MATTER : เรายังถือว่ามีความหวังกับวงการหนังไทยหรือเปล่า
คงเดช : ไม่รู้ว่ามีความหวังหรือเปล่า เพราะผมเองก็ทำเท่าที่ทำได้ ทำแบบที่ไม่เดือดร้อนชีวิตลูกเมีย เพราะค่าเทอมลูกก็ไม่ได้อินดี้ตามหนังที่ผมทำ ค่าข้าวทุกวันนี้ราคาก็เท่ากับค่าตั๋วหนังบล็อกบลัสเตอร์ ทุกครั้งที่ไปโรงหนังก็ยังต้องซื้อป๊อปคอร์นอยู่ เพราะลูกอยากกิน แต่แม่ง…ทำไมป๊อปคอร์นมันแพงอย่างนี้วะ (หัวเราะ)
The MATTER : ข้ามจากวงการหนังไปที่วงการเพลงบ้าง ในโลกของตัวโน้ตถือว่ามีความหวังมากกว่าหรือเปล่า
คงเดช : บัดซบอีกแบบ (หัวเราะ) ผมว่าก็แย่นะ แต่ไม่รู้ต้องแก้ยังไง คือเมืองนอกโอเคกว่าเยอะ ยังมีการออกอัลบั้ม ไวนิลเป็นที่นิยม คาสเซตต์ถูกนำกลับมาผลิตอีกครั้ง อาจเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมการออกซิงเกิลของเขาแข็งแรงมาแต่ไหนแต่ไร แล้วเพลงไม่ใช่สื่อที่ต้องการสถานที่เฉพาะอย่างโรงหนัง ตัวแปรก็เลยน่าจะน้อยลง
ส่วนของไทย ถ้าคุณไม่ใช่พวกอิสระที่จะทำเองขายเอง คุณแทบไม่ได้ออกอัลบั้มเลยนะครับ ค่ายไม่ให้ออก ได้แต่ปล่อยเพลงออกมาเรื่อยๆ ศิลปินมีชีวิตอยู่กับการเล่นสด ซึ่งก็บัดซบไปอีกแบบ เพราะการเล่นสดบ้านเราคือเล่นในร้านเหล้า และศิลปินไม่ได้เล่นเพลงของตัวเองทุกเพลง ต้องคัฟเวอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหี้ยมากสำหรับเรา เพราะถ้าต้องการให้คัฟเวอร์ คุณให้ใครเล่นก็ได้หรือเปล่า จะมาจ้างเราทำไม คือไม่ใช่ว่าผมบอกว่าเพลงที่ต้องคัฟเวอร์ไม่ดีนะครับ เพียงแต่มันไม่ใช่เพลงของวงนั้นเท่านั้นเอง แล้วการเล่นสดทุกวันนี้น่าเศร้าอีกอย่างตรงที่แต่ละวงมักถูกขายกันเป็นแพคๆ พ่วงกันไป แล้วเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีคนจ้างไปเล่นสิบเพลงแล้วนะครับ ส่วนใหญ่ก็ 5-6 เพลง เล่นเพลงตัวเองสักสอง คัฟเวอร์สักสาม ซึ่งยังดีที่ สี่เต่าเธอ ไม่เคยต้องทำอะไรอย่างนั้น เวลามีคนจ้าง เขาก็มักจะระบุมาเลยว่าธีมเรโทร ก็เลยไม่ค่อยต้องคัฟเวอร์เท่าไหร่
แต่ที่อยากบอกคือ เวลาที่ผมไปเล่นดนตรี ผมไปในฐานะของสี่เต่าเธอ ผมอยากเล่นเพลงตัวเองนี่แหละครับ ซึ่งผมว่าวงอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกัน
The MATTER : คิดว่ายังจะทำเพลงอยู่มั้ย
คงเดช : ทำ แต่สี่เต่าเธอค่อนข้างลอยตัวจากวงการ นานๆ ถึงจะออกงานสักที
The MATTER : กับวงการหนังคุณก็อยู่กึ่งกลาง พอมาวงการเพลง คุณก็ลอยตัว แบบนี้ถือว่าดีหรือไม่ดี
คงเดช : ไม่ดี (นิ่ง) ไม่รู้สิ คือนี่เป็นปมของผมเลยนะ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับอะไรทั้งสิ้น ผมไม่ใช่คนทำหนังอินดี้ที่อินดี้จ๋า ไม่ได้มาจากการทำหนังสั้น ไม่ได้ประกวดมูลนิธิหนังไทย ไม่รู้จักใครเลย ผมดันทำหนังกับค่าย แต่ก็ดันคุยกับผู้กำกับตามค่ายไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นมนุษย์คนละแบบ ซึ่งก็ไม่ได้ว่าใครไม่ดี เพียงแต่ผมไม่ค่อยได้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
วงการเพลงนี่ไม่ต้องพูดถึง เล่นเพลงตัวเองยังมือเย็นตีนเย็น เวลาเจอใครมาบอกว่าให้ไปแจมกันนี่ไม่รู้จะไปแจมยังไงไหว เพราะสี่เต่าเธอไม่ใช่วงที่ทรีตว่าเป็นนักดนตรีด้วยนะครับ เป็นแค่เพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ชอบเล่นดนตรีด้วยกัน ทำเพลงด้วยกัน ไม่เคยคิดถึงคนฟังแม้แต่วินาทีเดียว ไม่เคยคิดว่ามันจะฮิตด้วย สี่เต่าเธอเป็นเหมือนการบำบัด คือถ้าไม่ได้นัดซ้อม ไม่มีคิวเล่น ก็ต้องนัดกินชาบูบ้าง เพราะเราต้องการเจอกัน
หรือผมไปเขียนหนังสือ เขียนการ์ตูน ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นนักเขียนนะครับ ที่เดียวที่ผมรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวด้วยคือที่บ้าน ลูกกับเมียเท่านั้น บางทีงอนกันก็จะแบบ…เชี่ย กูไม่มีที่ไหนในโลกแล้ว (หัวเราะ)
ผมมีเพื่อนและคนรู้จักมากมายนะครับ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะไรขนาดนั้น น้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ The Matter หรือเปล่าล่ะ
The MATTER : เอ่อ…ก็ไม่นะครับ ผมแค่มาของานเขาทำ
คงเดช : ตอนนี้ ผมรู้สึกว่าทุกคนมีวงศ์วาน มีสำนักของตัวเอง ผมเลยอยากมีทีมที่จริงจังกว่านี้เหมือนกันนะ คือผมก็มีทีมที่ทำหนังที่ลงตัว ทำกันมาตั้งแต่ แต่เพียงผู้เดียว ติดอยู่แค่ว่าเป็นแก๊งที่ไม่ได้ยืดหยุ่นนัก หมายถึงเป็นทีมที่เหมาะกับการทำหนังมาก แต่งานประเภทอื่นอาจไม่เหมาะ แล้วผมก็เป็นฟรีแลนซ์ เวลาเขาจ้างไปทำโฆษณาหรืออะไร ทีมก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่ะ คงทำสำนักเองยากแล้วมั้ง ทุกวันนี้ก็ยุ่งจนไม่มีเวลาอะไรมากมาย เรื่องในชีวิตก็เยอะเกินไปแล้ว หรือผมควรจะลดลง ไม่ควรทำอะไรหลายๆ อย่าง
(นิ่งไปสักพัก) อยากดูหนังใหม่ตัวเองเหมือนกัน
The MATTER : หนังของคุณมักถูกโยงเข้ากับการเมือง หนังเรื่องถัดไปของคุณจะมีประเด็นนี้อีกมั้ย
คงเดช : จริงๆ ผมเบื่อมากเลยนะ และพยายามคิดว่าเรื่องหน้าจะไม่แตะการเมืองอีกแล้ว แต่ผมว่ามันยาก เพราะตอนนี้ชีวิตของเราทุกคนมันถูกโยงอยู่กับสิ่งนี้มากขึ้นโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
การเมืองคุกรุ่นในบ้านเรามาสิบปีได้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ตัวละครของผมจะไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ เพราะตัวละครของผมเป็นคนที่อยู่ในสังคม มันไม่ใช่พวกที่พบรักกันโดยไม่ต้องถามเรื่องฐานเงินเดือน ต่อให้ผมทำหนังรัก ตัวละครของผมก็จะไม่ได้คุยกันแต่เรื่องความรัก มันต้องมีเรื่องรอบตัวด้วย หนังของผมเลยมีสิ่งเหล่านั้นโดยธรรมชาติ
แต่ผมก็เบื่อ เพราะกลายเป็นคนมาตีความผม แล้วคิดว่าผมเป็นแบบนั้นแบบนี้ พูดก็พูดเถอะ ผมไม่ได้มองการเมืองแบบการเมืองด้วยซ้ำ ผมสนใจมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะเอาจริง เราทุกคนโดนผลกระทบหมดนะ ดังนั้นต่อให้ Snap เหมือนจะพูดเรื่องเหล่านั้น แต่ผมโฟกัสว่าคนในช่วงเวลานั้นรู้สึกอะไรมากกว่า คนนี้เลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เพราะอะไร ผมสนใจเรื่องพวกนี้
ผมไม่รู้หรอกว่าหนังเรื่องถัดไปจะมีเรื่องการเมืองมั้ย แต่สิ่งที่กระทบผมในทุกวันนี้ยังเป็นเรื่องของคนเหมือนเดิม
ปัจจุบัน คนชอบผลักไสกัน ซึ่งผมว่ามันเกิดจากธรรมชาติที่ตอนนี้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนมันยังต้องพยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อจะได้ไม่รู้สึกเป็นแกะดำ แต่ยุคนี้ ทุกคนมีพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง เวลาเจอใครสักคนจึงไม่ได้ชวนมาเป็นพวกแล้ว เราอาจผลักเขาออกไปมากขึ้น หรืออย่างผม พอทำหนังออกไปแล้วมีอะไรไปกระทบใจใคร ถูกเขาเอาไปเป็นพวกเลยก็มี
ผมเลยเบื่อที่คนผลักผมไปฝั่งนั้นฝั่งนี้ เพราะผมเป็นพวกที่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง เจอแบบนี้ก็ยากเหมือนกัน แต่เข้าใจนะ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ชอบจัด type กันอยู่แล้ว