เด็กยุค 90 เลิกเรียนรีบวิ่งไปร้านเช่าการ์ตูน เก็บสติกเกอร์จากขนม ส่งข้อความหาเพื่อนผ่านเพจเจอร์ ฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดี
หลายๆ คนที่เกิดในยุค 90 ที่คาบเกี่ยวกับความเป็นอะนาล็อก และยุคดิจิทัล คงมีประสบการณ์คล้ายๆ นา ฮีโด และเพื่อนๆ ในซีรีส์เกาหลี Twenty five, Twenty one ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนวัยมัธยม กีฬาฟันดาบ และความฝันของพวกเขา ที่เกิดขึ้นหลังปี ค.ศ.1997 ที่เกาหลีใต้เผชิญวิกฤตการณ์เงิน IMF
แต่ถึงตัวซีรีส์นี้ จะเป็นซีรีส์โรแมนติก คอมมาดี้ ที่มีฉากหลังในยุคนั้น แต่ระหว่างการดำเนินเรื่อง ก็ได้มีการสอดแทรกเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเกาหลีมาไว้อยู่เรื่อยๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง ไปถึงวัฒนธรรม K-Pop ไม่ว่าจะเป็นในฉากต่างๆ เหตุการณ์อีเวนต์ที่ตัวละครผ่านไปพบเจอ เพลงที่พวกเขาฟัง และการแข่งกีฬาที่พวกเขาเข้าร่วม
ก่อนจะถึงวีคสุดท้ายของซีรีส์เรื่องนี้ ที่เราจะมาลุ้นว่าพ่อของคิม มินแชคือใครกันแน่ จะใช่แบค อีจินที่เราเชียร์กันมาตั้งแต่ตอนแรกหรือไม่ The MATTER ขอชวนย้อนไปดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ ของเกาหลีใต้ ที่ปรากฏผ่านซีรีส์เรื่องนี้กัน
วิกฤตการเงิน IMF ในเกาหลีใต้
ซีรีส์ Twenty Five, Twenty one เปิดมาด้วยฉากเกาหลีใต้ในยุคหลังวิกฤต IMF ที่แม้ว่าตัวเรื่องจะไม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินนี้เต็มๆ แต่เราก็ได้เห็นตัวละครทั้งหลาย โดยเฉพาะตัวเอกอย่างแบค อีจิน ที่เป็นหนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้ จนเรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิต ครอบครัว และอนาคต จากหน้ามือเป็นหลังมือ
วิกฤตทางการเงิน IMF ของเกาหลี เริ่มเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1997 โดยวิกฤตนี้ไม่ได้เกิดจาก IMF แต่ใช้ชื่อนี้ เพราะ IMF เป็นผู้เข้ามากอบกู้ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และการเงิน ซึ่งมีการพูดถึงสาเหตุของวิกฤตการณ์การเงินที่เรียกว่าใหญ่ที่สุดของเกาหลีครั้งนี้ว่า เป็นเพราะความล้มเหลวของรัฐบาลในสองด้าน ได้แก่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายอุตสาหกรรม
โดยรัฐบาลพยายามตรึงเงินวอนกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่า เงินวอนก็แข็งค่าตาม จนสุดท้ายเมื่อไม่สามารถรับประกัน และประคองค่าเงินได้ต่อไป ในช่วงเดือนธันวาปี ค.ศ.1997 นั้นเอง รัฐบาลจำต้องปล่อยเงินวอนลอยตัว ทำให้เงินวอนด้อยมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ มูลค่าของค่าเงินที่หายไปนั้นทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถที่จะชำระคืนเงินกู้ได้ ส่งผลให้ธนาคารเกาหลี และธุรกิจผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ จน IMF ได้เข้ามาช่วยเหลือผ่านการเจรจาของรัฐบาล แต่ต้องปฏิบัติตามโครงการรัดเข็มขัด ปฏิรูปทางการเงินของ IMF ซึ่งสุดท้ายใช้เวลาเกือบ 4 ปี ในการจ่ายหนี้ได้สำเร็จ
แต่ถึงรัฐบาลจะจ่ายหนี้ได้ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา แต่หลายๆ คนก็ได้นิยามว่าวิกฤตทางการเงินครั้งนี้ได้เปลี่ยนฉากหน้าของเกาหลีใต้ และคนเกาหลีใต้ไปตลอดกาล บางครอบครัวต้องแบกภาระของการเป็นหนี้ และล้มละลายไปอีกหลายปี ความฝันของวัยรุ่นยุค 90 หลายๆ คนพังทลาย เช่นเดียวกับแบค อีจิน
นอกจากการล้มละลายของครอบครัวแบคแล้ว ฉากเริ่มของซีรีส์ในตอนที่ 1 ยังฉายให้เห็นการควบรวมกิจการของธนาคารโบรัม หนึ่งในธนาคารของเกาหลี ที่ถูกรวมเข้ากับธนาคารฮานา ในปี ค.ศ.1998 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจของสถาบันการเงินของรัฐบาล เพราะวิกฤต IMF เช่นกัน
ในปี ค.ศ.1997 ไม่ได้มีเพียงแค่เกาหลีใต้ ที่ประสบกับวิกฤตทางการเงิน แต่ไทยเองก็คงคุ้นชินกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในเอเชียที่เกิดขึ้นปีนั้นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งเอเชีย โดยไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ถูกบันทึกไว้ว่าเป็น 3 ประเทศที่ได้ได้รับผลกระทบมากที่สุด
การประท้วงปกป้องโควตาระบบฉายภาพยนตร์เกาหลีใต้
นอกจาก IMF ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ และการเงินแล้ว ยังกระทบต่อวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ด้วย โดยเราได้เห็นภาพการประท้วง และลงท้องถนนของคนในวงการภาพยนตร์ในตอนที่ 1 เมื่อนา ฮีโด เดินผ่านจัสตุรัสควังฮามุน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการตะโกนข้อความประท้วงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นว่า “ชุงมูโรตายแล้ว” “วงการภาพยนตร์เกาหลีตายแล้ว” และ “เราต้องปกป้องวงการภาพยนตร์หนังเกาหลี” เป็นต้น
ต้องย้อนก่อนว่า แต่เดิมแล้วเกาหลีใต้ ได้มีระบบโควตาการฉายภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 ที่จะมีเกณฑ์การบังคับจำนวนหนัง และวันในการฉายภาพยนตร์เกาหลีต่อปี และกำหนดจำนวนวันในการฉายในแต่ละปี โดยเป็นระบบเพื่อผลักดันระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ ที่มีส่วนทำให้ตลาดภาพยนตร์เติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่การประท้วงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1998 นั้น ก็เป็นเหตุต่อเนื่องมาจากวิกฤต IMF เมื่อคิม แดจุง ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในขณะนั้น ได้ตกลงเซ็นสนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีระหว่างเกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤต IMF โดยหวังว่าจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จากการช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในการเจรจาข้อตกลงนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกร้องข้อกำหนดหลายประการเกี่ยวกับการเปิดตลาดเกาหลีใต้ รวมถึงการลด และยกเลิกระบบโควตาฉายภาพยนตร์ เพื่อหวังจะขยายตลาดหนังฮอลลีวูดเข้ามาในเกาหลีใต้ โดยในตอนนั้นเกาหลีใต้มีโควตาบังคับฉายหนังเกาหลีอยู่ที่ 146 วันต่อปี
ภายหลังเมื่อรัฐบาลได้ประกาศการตัดสินใจนี้ วงการภาพยนตร์เกาหลีก็คัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรุนแรง มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้และสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และพยายามที่จะต่อต้านการลดโควตา มีการลงถนนของเหล่าบุคคลในวงการ ผู้กำกับ นักแสดงต่างๆ รวมถึงมีการเรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็นแผนที่จะฆ่าวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ และต้องต่อต้านเพื่อปกป้องอธิปไตยทางวัฒนธรรม
สุดท้ายแล้ว ข้อตกลงนี้ที่มีการต่อต้านมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ก็ถูกลดโควตาลงในปี ค.ศ.2006 จาก จาก 146 วันเป็น 73 วัน อันเป็นผลจาก ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาซึ่งแม้ว่าปัจจุบัน เกาหลีใต้จะยังมีระบบโควตาภาพยนตร์อยู่ แต่ก็มีการมองว่าระบบโควตานั้นไม่ได้สำคัญมากนักแล้ว เพราะคนเกาหลีใต้ก็เลือกที่จะดูภาพยนตร์เกาหลี ไม่ได้กลัวส่วนแบ่งของภาพยนตร์ต่างชาติ และหนังเกาหลีเองก็ไปไกลในระดับโลกแล้วเช่นกัน
นอกจากเรื่องการประท้วงที่เกิดขึ้นแล้ว อยากจะเล่าถึงเกร็ดของคำว่าชุงมูโร ที่มีการใช้ในการประท้วงว่า จริงๆ แล้วคำว่าชุงมูโรนั้นเป็นชื่อสถานี และพื้นที่ที่ใกล้อยู่ในเขตจุงกู ในโซล โดยตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ชุงมูโรเป็นถนนแห่งวัฒนธรรม ศิลปิน และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากมีสตูดิโอภาพยนต์จำนวนมาก ทั้งโรงภาพยนตร์แห่งแรกในเกาหลียังก่อตั้งในพื้นที่นี้ด้วย นั้นจึงทำให้ชุงมูโรเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้
ลดชั่วโมงการทำงาน! การประท้วงของแรงงานหลังวิกฤต IMF
ห่างหายกันไปถึง 6 เดือน คงไม่มีซีรีส์ไหนที่โรแมนติกด้วยฉากการให้พระ-นาง อย่าง แบค อีจิน กับนา ฮีโดกลับมาเจอกันในม็อบการประท้วงของหมู่แรงงานที่กำลังชุมนุมเรียกร้องสิทธิ!
แม้ว่าทั้งคู่จะกลับมาเจอกันอีกครั้งในช่วงกลางปี ค.ศ.1999 แล้ว แต่การเรียกร้องสิทธิของแรงงานในเกาหลีใต้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1998 หลังวิกฤตการ IMF แล้ว โดยแน่นอนว่าเมื่อเกิดวิกฤตทางการเงินขนาดใหญ่ บริษัทหลายก็ย่อมได้ผลกระทบตามไปด้วย จึงตามมาด้วยการเลย์ออฟ เลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก ในจำนวนหลักพัน ถึงหมื่นคน ไปถึงการหันมาใช้แรงงานชั่วคราวที่เพิ่มขึ้น จนเกิดการชุมนุมของเหล่าแรงงานทั้งบริษัทเอกชน และโรงงานอุตสาหกรรม ในหลายแห่งไม่ว่าจะเมียงดง โซลสเตชั่น หรือจัสตุรัสควังฮามุน
โดยเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.1998 ไม่กี่เดือนหลังวิกฤตการณ์ IMF รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างใหม่ ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ง่ายต่อการเลิกจ้างคนงาน ซึ่งคีย์เวิร์ดของการประท้วงในช่วงนั้น จะมีคำว่ายกเลิก หรือต่อต้านการปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งในฉากนี้ก็มีการพูดถึงทั้งการประท้วงให้รัฐบาลหางาน ให้หยุดการปรับโครงสร้าง และบอกว่าแรงงานอดอยากจะตายอยู่แล้วด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี ค.ศ.1999 ยังมีประเด็นที่แรงงานได้เรียกร้องถึงการลดชั่วโมงการทำงาน และระบบแบ่งงานกันเพื่อลดการว่างงานที่เกิดจากวิกฤตทางการเงิน โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ โดยเคยมีจำนวนชั่วโมงการทำงานเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ไม่รวมโอที และสุดสัปดาห์) ก่อนจะปรับลงมาเหลือ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ไม่รวมโอที และสุดสัปดาห์) ซึ่งในปี ค.ศ.1999 ในซีรีส์นั้น ได้ระบุบถึงการขอลดชั่วโมงการทำงานมาเหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ถึงอย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงตามการเรียกร้องก็ไม่ได้เกิดขึ้นปุปปับในทันที เพราะกว่าเกาหลีได้จะผ่านกฎหมายที่จำกัดการทำงานได้อีกครั้งในปี ค.ศ.2004 ที่ลดเวลาการทำงานขั้นต่ำเหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้ 12 ชั่วโมงในวันธรรมดาและ 16 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมเป็นทั้งหมด 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งยังใช้เวลานานหลายปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2004-2011 ในการปรับดำเนินการตามกฎหมายเป็นขั้นๆ โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่ก่อน และต่อมาสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
แต่ในยุคของรัฐบาลมุน แจอิน ก็ได้มาปรับลดชั่วโมงการทำงานลงอีกครั้ง หลังจากผ่านร่างกฎหมายในปี ค.ศ.2018 ก็ได้มีการเริ่มปรับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ และตามมาด้วยบริษัทขนาดเล็ก ก่อนจะมีผลอย่างเต็มที่ใรเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2021 โดยลดจาก 68 ชั่วโมง เหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งแบบเป็ร การทำงานปกติ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และชั่วโมงทำงานล่วงเวลา 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนคนทำงานที่อายุต่ำว่า 18 ปี ก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากเดิม 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ถึงอย่างนั้น แม้จะเพิ่งเปลี่ยนกฎหมายมา แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เพิ่งได้ยุน ซอกยอล ผู้นำคนใหม่จากพรรคอนุรักษ์นิยมนั้น ก็ทำให้ต้องมาลุ้นกันว่า จะมีการปรับเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือไม่ โดยยุนนั้น เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมุน แจอินที่จำกัดลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงว่า ระบบควรให้ความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากพนักงานบางคน เช่น นักพัฒนาเกม อาจต้องทำงานเป็นเวลานานขึ้นในช่วงที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด โดยเขาเคยกล่าวว่า “คนงานควรได้รับอนุญาตให้ทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากนั้นพักผ่อนให้เต็มที่” ซึ่งหากนับจำนวนเวลา 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น ก็เท่ากับทำงาน 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วันเลยด้วย
ไม่มีเอเชียนเกมส์ ในปี ค.ศ.1999 และเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าเหรียญทองอันดับ 2 ในกีฬาฟันดาบ
แม้ว่าในซีรีส์ความฝันของนา ฮีโดจะเป็นจริงในเอเชียนเกมส์ปี ค.ศ.1999 ทั้งจากการได้เป็นคู่แข่งโก ยูริม และได้เหรียญทองจากกีฬาฟันดาบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในปี ค.ศ.1999 นั้นไม่มีการจัดแข่งขันเอเชียนเกมส์ แต่ในปีนั้นเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งกีฬาฤดูหนาวเอเชียนเกมส์แทน โดยกีฬาที่มีการจัดทั้งหมดนั้น ไม่มีกีฬาฟันดาบรวมอยู่ด้วย
การแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์ เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยนอกจากครั้งแรกในปี ค.ศ.1951 นั้น ทุกๆ ปีการแข่งนี้ได้จัดขึ้นในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ทั้งหมด โดยการแข่งที่ใกล้เคียงปี ค.ศ.1999 ในซีรีส์มากที่สุด คือเอเชียนส์เกมปี ค.ศ.1998 ที่ไทย และกรุงเทพฯ ได้เป็นเจ้าภาพ และต่อมาในปี ค.ศ.2002 ที่เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปูซาน
อย่างที่เห็นว่าในซีรีส์ เกาหลีใต้สามารถกวาดทั้งเหรียญทอง และเหรียญเงิน ซึ่งในประวัติศาสตร์ และการแข่งขันจริงๆ ของเอเชียนเกมส์ทั้ง 18 ครั้งนั้น เกาหลีใต้ก็การันตีความเป็นเลิศในกีฬานี้ โดยกวาดเหรียญรางวัลในการแข่งฟันดาบทั้งหมด 46 เหรียญทอง 43 เหรียญเงิน และ 33 เหรียญทองแดง รวมทั้งหมด 122 เหรียญ เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ที่กวาดทั้งหมด 124 เหรียญ แต่ถึงอย่างนั้นในการแข่งขันตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ก็คว้าตำแหน่งชาติที่ทำผลงานได้ดีที่สุดตลอดมา มีเพียงปี ค.ศ.2006 ที่จีนครองตำแหน่งนี้ไป
การเดบิวต์ของวงชินฮวา บอยกรุ๊ป K-Pop ที่อายุวงยืนยาวที่สุดในปัจจุบัน
ฝึกกีฬาฟันดาบ แต่ต้องไปเรียนเต้นมา นั่นคือภารกิจที่โค้ชยาง ชานมี มอบให้กับนา ฮีโด จนเธอต้องไปขอให้เพื่อนร่วมห้องอย่างเจ้าน่ารักห้อง 7 มาช่วยสอนเต้น และเพลงที่ทั้งคู่เลือกเต้นคือ Resolver (해결사) เพลงเดบิวต์ของบอยกรุ๊ป เจนเนอเรชั่น 1 อย่างชินฮวา ที่เดบิวต์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 และยังคงเป็นวงที่แอ็กทีฟถึงทุกวันนี้
หลังค่ายตึกชมพู SM Entertainment ค่ายเพลงเกาหลีที่อยู่คู่วงการ K-Pop มาตั้งแต่แรกเริ่มได้ปั้นรุ่นพี่อย่าง H.O.T. และ S.E.S. มาแล้ว ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1998 ค่ายก็ได้เปิดตัวชินฮวา บอยกรุ๊ปที่มีสมาชิก 6 คน แต่ตอนนั้นค่ายก็ไม่ได้ตั้งใจจะปั้นให้เป็นกรุ๊ปจริงจัง จึงไม่ได้โปรโมทโครมคราม รวมถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาหลัง IMF ทำให้เรียกได้ว่าอัลบั้มแรก และเพลง Resolver ทำได้ไม่ดีในชาร์จเพลง วงยังถูกวิจารณ์ว่าเลียนแบบรุ่นพี่ H.O.T. และสไตล์เพลงยังซ้ำกันอีกด้วย รวมไปถึงเพลง Eusha! Eusha! เพลงในอัลบั้มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางไปเที่ยวชายหาดที่แสนสนุก ก็ยังเข้าไปข้องเกี่ยวกับประเด็นเรือดำน้ำซกโช ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นชินฮวาก็ได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ ในงาน Mnet Video Music Awards (ชื่อเดิมของ Mnet Asian Music Awards) ด้วย
หลังจากทั้งแป็กมา จนค่ายเกือบจะไม่ให้ไปต่อ ชินฮวากลับประสบความสำเร็จในอัลบั้มที่ 2 เมื่อเพลง T.O.P.ขึ้นชาร์จอันดับที่ 1 ได้ และมีผลงานอัลบั้ม รวมถึงได้รับรางวัลอีกมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในบอยกรุ๊ปที่โด่งดังในยุคต้นศตวรรษ 2000 แต่ถึงอย่างนั้นวงก็เกือบไม่ได้ไปต่อ และยุบวงอยู่ หลังจากตัดสินใจไม่ต่อสัญญาและออกจากค่าย แต่สุดท้าย ทั้ง 6 คนก็ยังคงคีฟวงชินฮวา ไปพร้อมๆ งานเดี่ยวของแต่ละคน รวมไปถึงการมีครอบครัวของตัวเอง และทยอยแต่งงานกันไปด้วย
ในปี ค.ศ.2018 ชินฮวาได้จัดงานครบรอบ 20 ปีของวง และจนถึงวันนี้ (ปี ค.ศ.2022) วงก็มีอายุยาวนานถึง 24 ปีแล้ว ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดในบรรดาวงไอดอล K-Pop ทั้งหมด โดยถือเป็นไอดอลกรุ๊ปจากเจนเนอเรชั่นที่ 1 วงเดียวที่ไม่เคยยุบวง และยังคงแอคทีฟอยู่ รวมถึงไม่เคยเปลี่ยนแปลงสมาชิกวงด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.screendaily.com/korean-industry-supports-screen-quota-system/408171.article
https://www.koreaexpose.com/imf-economy-south-korea-asian-financial-crisis/
http://www.koreanlii.or.kr/w/index.php/IMF_Crisis
http://www.koreatimes.co.kr/www/news/art/2008/04/203_12165.html
https://www.hankyung.com/life/article/1998120101891
https://edition.cnn.com/2018/07/02/health/south-korea-work-hours/index.html
https://www.kdevelopedia.org/Development-Overview/all/working-hours–129.do
https://www.businessinsider.com/koreas-new-president-people-work-120-hours-a-week-2022-3