บทหนึ่งใน The Merchant of Venice ของวิลเลียม เชกสเปียร์ กล่าวว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” สะท้อนสังคมเมืองผู้ดีที่ชื่นชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากนักดนตรีระดับโลกที่ทยอยแจ้งเกิดกันจากเกาะแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างที่น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีก็เช่น วงเต่าทอง (เดอะบีเทิลส์) สุดคลาสสิกในยุค 60 หรือโอเอซิส ที่โด่งดังในยุค 90 ก็ต่างเป็นวงเชื้อสายอังกฤษทั้งคู่ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ศิลปินชาวอังกฤษอย่าง อาเดล (Hello from the other side ~) หรือ แซม สมิธ (Can I lay by your side ~) ก็ถือว่ายึดหัวหาดนักร้องสไตล์ดิโวดิวาคุณภาพสูงไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และที่ดังสุดๆ ฉุดไม่อยู่ในตอนนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) ที่ซิงเกิล Shape of You ดังพลุแตกไปแล้วทั่วโลก ตอนนี้นี่เรียกว่าแม้แต่เดินไปซื้อกล้วยแขกหน้าปากซอยก็อาจจะได้ยินป้าร้องเพลงพี่เอ็ดอยู่ก็เป็นได้
นักดนตรีอังกฤษหลายคนได้ดีจากการเป็นนักร้องเปิดหมวกข้างถนน ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘busking’ และเรียกคนที่ทำแบบนี้ว่า ‘busker’
การได้ฝึกฝนการร้องและการแสดงต่อหน้าผู้ฟังซ้ำไปซ้ำมาได้ขัดเกลาทักษะทั้งการร้องและเล่นดนตรีของพวกเขาให้เก่งขึ้น พร้อมกับฝึกฝนประสบการณ์เล่นดนตรีสดต่อหน้าผู้ฟังในสถานการณ์ที่บีบคั้นสุดๆ ในขณะที่ชาวเมืองลอนดอนกำลังเร่งรีบเดินไปขึ้นรถไฟใต้ดินและพวกเขามีเวลาเดินผ่าน busker เหล่านี้เพียงแค่ไม่กี่วินาที ความสามารถในการตรึงพวกเขาให้หยุด ยืน ฟัง เอนจอย หรือสละเงินที่มีอยู่เป็นค่าตอบแทนให้กับบทเพลงที่ไพเราะนั้น การันตีได้ว่า busker คนนั้นมีความสามารถในการแสดงสดขั้นเทพเลยทีเดียว
ตัวอย่างการแสดงของ busker ชื่อ Ali Köse
นักดนตรี busker เหล่านี้หาเลี้ยงตัวเองจากเงินที่ชาวเมืองหรือนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านโยนใส่กระเป๋ากีตาร์หรือกล่องรับเงินของพวกเขา และจะโชคดีกว่านั้น ถ้ามีผู้ชมที่ชอบใจจนแชร์รูปหรือวีดีโอจนไปเตะหูเตะตาแมวมองจากค่ายดนตรี ก็เป็นโอกาสที่ busker คนนั้นจะได้เข้าสู่วงการดนตรีอย่างเต็มตัว เอ็ด ชีแรน เป็นตัวอย่างของ busker คนหนึ่งที่ออกมาใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีเร่ร่อนตั้งแต่วัยรุ่นก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูงจนทุกวันนี้
การแสดงของ เอ็ด ชีแรน ก่อนประสบความสำเร็จ
Busking in London Tube Station
แม้ว่านักดนตรีเปิดหมวกเหล่านี้จะพบเห็นได้ทั่วไปตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งช้อปปิ้งสำคัญๆ กลางกรุงลอนดอน และแม้ว่าคุณจะเดินลงมายังสถานีรถไฟใต้ดินลอนดอนแล้ว คุณก็ยังสามารถเจอพวกเขาได้ด้วย! หรือว่านี่คือต้นตำรับของเพลงใต้ดินของแท้ (ฮา) นักดนตรีเหล่านี้ประจำอยู่ตามตำแหน่งที่ทางการกำหนดไว้จำนวน 40 จุด ในสถานีรถไฟใต้ดิน 27 แห่งใจกลางกรุงลอนดอน
แต่ไม่ใช่ว่าใครนึกจะเล่นก็มาเล่นในสถานีรถไฟใต้ดินได้ ทีมของ Transport for London ผู้ดูแลระบบรถไฟใต้ดินเขามีระบบการคัดเลือกแบบออดิชั่น คือต้องมาเล่นสดให้ฟังก่อนว่าเก่งพอหรือไม่ ซึ่งกระบวนการก็มีตั้งแต่เริ่มสมัครไปจนถึงได้รับใบอนุญาต (ใช่ครับ ต้องมีใบอนุญาตด้วยถึงจะไปเล่นได้) ก็ใช้เวลาประมาณครึ่งปีเลยทีเดียว แต่ก็ถือว่าคุ้มทีเดียวเพราะหากได้ไปเล่นที่จุดดีๆ คนเดินผ่านเยอะๆ ก็อาจทำรายได้ถึงชั่วโมงละ 60 ปอนด์ หรือประมาณ 2,600 บาทแหน่ะ
การสมัครไปขอออดิชั่นก็ไม่ได้ง่ายกว่าการไปสมัครเข้าประกวดเดอะสตาร์ (หรือ BNK48) เลยแม้แต่น้อย เริ่มจากอายุขั้นต่ำที่ 16 ปี (แต่ไม่กำหนดอายุสูงสุดนะครับ เคยมีคุณลุงอายุ 65 ที่ผ่านการออดิชั่นก็มี) และเนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดภายในสถานี ผู้สมัครจะต้องเล่นดนตรีและร้องเพลงคนเดียวได้หรือหากจะมาเป็นวงก็ได้แค่ไม่เกินสองคนเท่านั้น ต้องโชว์หลักฐานว่าเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแถมยังขอลิงก์ไปดูผลงานที่เคยแสดงมาแล้วใน YouTube หรือ Vimeo อีกต่างหาก!
หากคุณได้ไปต่อจากรอบเอกสาร ก็ยินดีด้วยที่คุณได้เข้าไปสู่รอบการแสดงสดต่อหน้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสามท่าน ซึ่งทีมงานของ Transport for London จะเป็นคนจัดหามา ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการดนตรี แถมมี busker บางคนไม่ได้เป็นคนอังกฤษแต่ลงทุนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อออดิชั่นเลยก็มี
การออดิชั่นรอบสดต่อหน้ากรรมการ
ถ้าคุณเจ๋งพอและสามารถแสดงความสามารถได้โป๊ะเช๊ะเข้าตากรรมการ คุณก็จะได้รับใบอนุญาตให้ไปอวดความสามารถต่อหน้าคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่เดินทางด้วยรถไฟใต้ดินลอนดอนทุกวัน เนื่องด้วยพื้นที่ที่มีจำกัดเพียง 40 จุด และแต่ละจุดก็มีความป๊อปปูลาร์ไม่เท่ากัน แน่นอนว่าสถานที่ที่อยู่ใกล้ใจกลางเมืองที่สุดจะดีกว่า เพราะมีนักท่องเที่ยวเยอะ ทำให้มีคนดูเยอะกว่า ซึ่งก็แปลว่าจะได้เงินมากกว่าตามไปด้วย นักดนตรีแต่ละคนจึงต้องแย่งกันจับจองพื้นที่การแสดงของตนทุกอาทิตย์โดยการโทรไปเพื่อจองที่ในทุกๆ เช้าวันอังคาร
แฮรี เพน หนึ่งในอดีตพนักงานประจำในบริษัท ที่ตัดสินใจออกมาเป็น busker โดยเขาบอกว่ารายได้จากการแสดงในสถานีรถไฟของเขานั้นมากกว่ารายได้จากงานประจำทั้งวันของเขาเสียอีก เพราะเมื่อไหร่ที่เขาสามารถจองที่เจ๋งๆ อย่างเช่นสถานี Tottenham Court Road ที่อยู่ติดถนนช้อปปิ้งใจกลางกรุงลอนดอนได้หล่ะก็ เขาสามารถได้เงิน 100 ถึง 120 ปอนด์ในสองชั่วโมงเลยล่ะ (ดูวิดีโอสัมภาษณ์แฮรี)
นักดนตรีเหล่านี้ทุกคนต่างก็มาออดิชั่นเป็น busker เพื่อทำความฝันของตนให้เป็นจริง ไม่ว่าฝันนั้นจะแค่อยากแสดงความสามารถให้คนอื่นได้ยินได้ฟังดนตรีของพวกเขา หรือฝันที่อยากจะได้เป็นซูเปอร์สตาร์โด่งดังสักวันในอนาคต การได้เข้ามาเป็น busker ใน London Tube ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลวเลยทีเดียว