“It’s such a beautiful evening to say goodbye คือแสงสุดท้ายที่งดงาม ควรค่าแก่การจากลา…”
หากจะมีเพลงสักเพลงหนึ่งที่เราจดจำเนื้อร้องได้ขึ้นใจตั้งแต่ฟังครั้งแรก เพลงนั้นก็คงจะเป็น ‘Evening’ ของวงศศิ ที่ได้ยินจากการเล่นสดในค่ำคืนหนึ่งที่บาร์สักแห่ง และตั้งแต่ตอนนั้น ศศิก็กลายเป็นหนึ่งในวงไทยที่เราชื่นชอบที่สุดและรู้สึกว่าต้องคุยกับพวกเขาให้ได้
ศศิ คือวงอินดี้ที่โดดเด่นด้วยน้ำเสียงสวยงาม กับเนื้อร้องของ เดือน จงมั่นคง เสียงกีตาร์และท่วงทำนองจาก แบงค์—ศรุต พร้อมกับเสียงกลองทรงพลังทั้ง 2 ชุดโดย โบ๊ต—สหราช และ ปอม—ทอฝัน รวมถึงความช่วยเหลือทางเทคนิกจาก นิก ผู้เป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์กลายๆ ของวง
พวกเขาทั้งหมดพบกันที่ Bamsha Cafe ร้านกาแฟเล็กๆ ของแบงค์ บนถนนพระสุเมรุ จากที่ต่างคนต่างเล่นดนตรีกันในแนวทางของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาทั้งหมดมารวมตัวกันด้วยประทับใจในดนตรีของเดือน จงมั่นคง จนเกิดเป็นวงศศิ ที่เลือกปล่อยอัลบั้มเต็มออกมาอย่างที่น้อยวงนักเลือกจะทำ ในชื่ออัลบั้ม Bampola ที่รวมเอาเพลงเพราะๆ และเนื้อเพลงเอกลักษณ์เอาไว้อย่างเช่น ใจ, ละเมอ, เมนส์, Bang Bang หรือแสงแดดที่ผิดกฎหมาย และอื่นๆ ที่อัดแน่นอยู่ในแผ่นซีดีที่มีหน้าปกเป็นรูปพระจันทร์สีเงินดูโรแมนติก
ในซีนดนตรีบ้านเราเอง แม้จะเป็นวงอินดี้จ๋า แต่พวกเขาไม่ได้ซ่อนตัวมืดมิด โดยเมื่อแรกเปิดตัวอัลบั้ม ศศิได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสีสันอวอร์ด และไม่นานมานี้ก็เพิ่งเล่นเป็นวงเปิดให้กับ Japanese Breakfast รวมถึงตระเวนเล่นในอีเวนต์ต่างๆ ในฐานะงานอดิเรกที่สำคัญที่สุดต่อใจทุกคนในวง อย่างที่พวกเขาจะได้เล่าถึงในบทสนทนาครั้งนี้
และหากคุณเปิดเพลงของพวกเขาคลอไปด้วยขณะอ่าน เราจะรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะเขียน เราก็ฟังเช่นกัน
Life MATTERs : วงศศิก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร
แบงค์ : งานโชว์แรกเป็นผมกับเดือนไปเล่นที่หอศิลป์ โดยเล่นเพลงที่เดือนแต่งเอาไว้อยู่แล้ว ผมก็ขอไปเล่นด้วย แล้วเราก็เลยคิดว่าชวนมือกลองมาดีมั้ย มาทำวงกัน ก็เลยชวนโบ๊ท และเล่นด้วยกันครั้งแรกที่ Speedy Grandma
ปอม : วงก็เล่นกัน 3 คนไปสักพัก พอผมเห็นคลิป ได้ฟังเพลงเค้าแล้วก็สนใจ เลยถามพี่แบงค์ว่าพี่อยากได้มือกลองอีกสักคนมั้ย เป็นกลอง 2 ชุดไปเลย ทดลองกันดู
แบงค์ : ซึ่งเราเคยคุยกันขำๆ นานแล้วนะ ว่ามีวงเมืองนอกที่ใช้มือกลองสองคน เราก็น่าจะลองทำอะไรดูได้
เดือน : ก็เลยถึงจุดที่ต้องมีชื่อวง ก็มีคนบอกว่าเอาชื่อเดือนเลยสิ เป็น ‘วงเดือน’ เราก็เลย จะไปใช้ชื่อกูคนเดียวได้ไงล่ะคะ มันเป็นวงที่ทำด้วยกันก็ควรจะเป็นชื่อใหม่ แต่ในเมื่อจะเอาคำว่าเดือนเป็นที่ตั้ง ก็เลยลองไปดูว่าเดือน ที่แปลว่าพระจันทร์ มันยังเป็นคำไหนได้บ้าง ก็เลยไปกูเกิ้ลคำที่มันพ้องความหมายกัน
แบงค์ : วงเราอยากได้ชื่อผู้หญิง ซึ่งคำว่าศศิ พอเขียนเป็นภาษาต่างๆ มันก็ออกเสียงง่าย
เดือน : แต่คนต่างชาติเค้าก็ไม่ได้อ่าน ศศินะ ก็อ่านเป็น ซาซี่ เซซี่ อะไรไม่รู้
Life MATTERs : การมีมือกลองสองคน มันยากขึ้นไหม ในการทำเพลง
ปอม : จริงๆ สมาชิกทั้ง 3 คนทำเพลงไว้กว่า 80% แล้ว พอผมเข้ามาก็มีไลน์กลองที่โบ๊ทเล่นเอาไว้ชุดหนึ่ง ผมก็จะเสริมในจุดที่คิดว่ายังเติมได้อีกนิด แล้วผมจะเล่นย่านต่ำๆ แทนเสียงเบส
Life MATTERs : เวลาแต่งเพลง พวกคุณเริ่มจากอารมณ์แบบไหนก่อน
แบงค์ : เพลงของศศิจะมีสองแบบ คือเพลงที่เดือนทำมาเสร็จแล้วทำเนื้อร้องและทำนอง และอีกแบบคือเดือนเอาทำนองของผมไปเขียนต่อ ส่วนทำเพลงในอารมณ์ไหนเหรอ ก็ในอารมณ์ผู้หญิงมั้ง (หัวเราะ)
เดือน : จะเอาคำตอบแบบธรรมดา หรือตอบแบบเทเลอร์ สวิฟต์
ทั้งวง : (หัวเราะ)
เดือน : จริงๆ อย่างเพลงหน้าต่าง ก็จะเป็นเพลงในวันที่ฝนตกแบบวันนี้ แล้วเรามองไปตรงหน้าต่างแล้วก็รำลึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เวลาเขียนเพลงมันก็จะมีความเวิ่นเว้อ วอแว กับอะไรบางอย่างอยู่
แบงค์ : ส่วนทำนองที่เราแต่ง ด้วยความที่เราเล่นดนตรีบรรเลงมาก่อน ก็พยายามจะคิดคอร์ดหรือทำนองที่มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับการมีเนื้อร้องซะทีเดียว แต่ก็เป็นความสามารถพิเศษของเดือนที่ใส่เนื้อร้องในทำนองที่มันไม่ปกติได้
ซึ่งถ้าพูดถึงเพลงในอัลบั้มที่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ Evening เป็นเพลงที่ผมแต่งทำนองเป็นแจ๊ซเอาไว้ แล้วเดือนก็พิมพ์เนื้อร้องส่งมา ก็เลยเอามาสวมกัน แล้วเดือนเอาไปเดเวล็อปต่อ เพลงนี้ก็จะไม่ใช่ตีคอร์ดธรรมดา แต่มันเกิดจากที่เราใช้วิธีแต่งเพลงบรรเลง
Life MATTERs : แล้วคำตอบแบบเทเลอร์ สวิฟต์ล่ะ?
เดือน : (หัวเราะ) ก็ไม่ขนาดนั้นหรอก เวลาแต่งเพลงส่วนใหญ่มันก็หยิบมาจากชีวิตตัวเองบ้าง ชีวิตคนอื่นบ้างนั่นแหละ
Life MATTERs : ด้วยตัวเพลงที่มีความเป็นผู้หญิงมากๆ สมาชิกวงที่เป็นผู้ชายรู้สึกต้องจูนอารมณ์เยอะไหม
โบ๊ท : สำหรับผม ไม่ต้องจูนเลย ผมชอบเพลงของวงอยู่แล้ว อย่างผมก็อินเพลงที่ดูเป็นผู้หญิงมากๆ ก็คือเพลง ‘เมนส์’
เดือน : ทำไมอินเพลงแบบนี้วะ (หัวเราะ)
โบ๊ท : เพราะคนใกล้ตัวก็เป็นเหมือนกัน แล้วด้วยเนื้อเพลงที่พี่เดือนแต่งมันโอเคอยู่แล้ว
แบงค์ : เราว่าเราไม่ได้แคร์ความเป็นผู้หญิง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคอนเซปต์ของวงเราคือผู้หญิง เราก็คิดว่าเอาที่นักร้องนำชอบ แล้วที่เหลือพวกเราก็มาจัดการในส่วนของเรา เราไม่ได้แบบ มึงห้ามแต่งเพลงเมนส์นะ เพราะกูไม่มีเมนส์ กูไม่เก็ต
ปอม : ส่วนตัวผมคิดว่าเนื้อร้องเป็นผู้หญิง แต่ดนตรีเป็นผู้ชายนะ บางเพลงก็จะมีความดุเดือดนิดนึง
Life MATTERs : เวลาเล่นสด ศศิเล่นค่อนข้างเดือดทีเดียว แต่พอฟังในแผ่นซีดี ทุกอย่างฟังดูซอฟต์ เสียงเบาลงเป็นความตั้งใจของพวกคุณไหม
นิก : เพลงของศศิ เวลาดังก็จะดังไปเลย เวลาเบาก็เบาไปเลย คือ range มันจะกว้างมาก ลองนึกภาพดนตรีคลาสสิคัล ที่มันจะมีช่วงที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปจนพีค แล้วก็เบาลง เราต้องการให้เป็นแบบนั้น
เดือน : วิธีอัดเนี่ย เราก็มีคุยกับพี่ป๊อก (วง Stylish Nonsense) เราเลือกอัดในเทปคาสเซ็ต แล้วไม่ได้อัดแยก แต่อัดเครื่องดนตรีพร้อมกัน
แบงค์ : มันเป็นวิธีแบบโบร่ำโบราณนะ ด้วยความที่เรามีงบจำกัดด้วย ก็เลยลองคิดว่าวิธีนี้เป็นไปได้มั้ย ถ้าอัดคนละไลน์ เราอาจจะเล่นกันไม่เป๊ะแล้วมันจะกินเวลานาน คือเราอยากอัดทีเดียวให้มันเสร็จไปเลย ตอนทำก็เลยอัดกันแค่ 2 วัน ทั้งหมด 11 เพลง
จริงๆ ก่อนที่จะอัดเพลง วงเราก็เล่นมาเยอะ เล่นมาปีหนึ่ง ถึงจะเริ่มอัด ดังนั้นเราก็ค่อนข้างชัวร์กับเพลงเราประมาณหนึ่ง ก็เลย เอาวะ ลองอัดวิธีนี้แหละ คือทำเหมือนตอนเล่นสดทุกอย่าง แล้วเดือนก็เอาไปทำต่อ แล้วย้อนกลับไปที่คำถามว่าทำไมในซีดีเราถึงเสียงเบา เพราะเวลาฟังจากซีดี เราคิดว่าคนจะฟังได้หลายรอบ ดังนั้นในการฟังเพลงมันควรเบาๆ กล่อมๆ ไม่ต้องเครียด แต่พอเล่นสด มันคือเหตุการณ์ตรงนั้นรอบเดียว เราเลยใส่ให้เต็มที่
ปอม : ผมรู้สึกว่าเวลาเล่นสด ตรงไหนที่เน้นขึ้นมาได้ก็จะเน้นขึ้นมา อย่างเพลง ‘ใจ’ ตอนท้ายที่เป็นกลอง 2 ชุดอาละวาด เราก็จะเน้นมันขึ้นไปอีก ตรงที่มันเดือดอยู่แล้วก็จะเดือดไปอีก ให้โชว์มันต่างไปจากตอนฟังออดิโอ
Life MATTERs : ความรู้สึกของพวกคุณหลังจากเล่นไลฟ์อันดุเดือดจบ เป็นยังไงบ้าง
แบงค์ : ผมว่ามันก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้นนะ แล้วแต่ครั้ง เพียงแต่มันก็รู้สึกว่าเวลาได้เล่นเพลงของตัวเองมันก็โอเค ส่วนตัวเรานะ เมื่อก่อนจะไม่ค่อยมั่นใจเวลาเล่น แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้คิดเรื่องนั้นแล้ว การได้เล่นเพลงตัวเองมันก็ดี ส่วนผลตอบรับมันก็อยู่ในดีเทลอีกทีหนึ่ง
โบ๊ท : ส่วนผม เวลาเล่นนี่จะรู้สึกมั่นใจ มีความสุขทุกครั้ง เพราะมันเป็นเพลงเรา จะเล่นผิดเล่นถูกก็ไม่เป็นไร แต่มันจะมีความรู้สึกที่อยากเล่น อยากทำให้มันดีทุกๆ คอนเสิร์ต จะไม่ค่อยมีอารมณ์แทรกซ้อนเข้ามาในดนตรีของเรา
แบงค์ : ต้องบอกก่อนว่าโบ๊ทกับปอมจะเป็นนักดนตรีอาชีพ เล่นกลางคืนอยู่แล้ว จริงๆ มันก็น่าจะเป็นคำถามที่ดีว่ามันแตกต่างกันยังไง กับการเล่นดนตรีเพื่อหาเงิน กับการเล่นในวงของตัวเอง ที่มันได้ทำเงินอะไรมากมายเลย
ปอม : ส่วนตัวผม เวลาเล่นเสร็จ อย่างแรกเลยก็คือภูมิใจเวลาเห็นคนเอนจอยกับมัน อีกอย่างหนึ่งคือมันต่างกับเวลาเราเล่นเพลงคนอื่น พอเล่นเพลงตัวเองมันได้เป็นตัวเองเต็มที่ ก็จะรู้สึกปลดปล่อย
เดือน : สำหรับเราก็คงจะมีคำตอบที่ว่า ดีใจที่ได้เล่นเพลงที่ตัวเองมีส่วนสร้างมันขึ้นมา แล้วก็มีคนมาฟัง อีกอันหนึ่งที่เพิ่งค้นพบคือเวลาที่เราโมโหหรืออะไร เวลาผ่านการเล่นดนตรี มันคือการดีท็อกซ์ หายเลย (หัวเราะ) คือมันก็เป็นที่ทางที่ดีในการปลดปล่อยอารมณ์ คือเราก็ไม่ได้ไปโมโหใส่คนดูอ่ะนะ แต่มันก็เป็นที่ที่ได้แปลงอารมณ์ของเราได้ดีเหมือนกัน หรือบางครั้ง เล่นเสร็จก็จะหิว
Life MATTERs : วงศศิเลือกงานที่จะไปเล่นไหม
ปอม : เลือกนะครับ เช่น รายการทีวีบางรายการเคยติดต่อมา เราก็ไม่ได้ไป เพราะเราไม่รู้แนวทางเขา อย่างรายการวาไรตี้ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะถูกทาร์เก็ตเขาไหม หรือให้ความสำคัญกับดนตรีเราแค่ไหน
แบงค์ : ส่วนใหญ่ 80% เราก็ไม่ได้ปฏิเสธนะ เราว่างานก็เลือกเราด้วยแหละ อย่างร้านเหล้าที่ต้องการความเอนเตอร์เทน ก็แทบจะไม่มีติดต่อมาเลย
Life MATTERs : งานที่แปลกที่สุดที่เคยเล่นคือที่ไหน
แบงค์ : ก็ที่บาร์อะโกโก้ รูดเสา ตรงพัฒน์พงษ์
เดือน : คือตอนนั้นมีฝรั่งคนหนึ่งไปทำอีเวนต์ เขาไปเช่าห้องหนึ่งในนั้น ซึ่งคิดว่าเขาน่าจะเคยจัดงานอื่นๆ มาก่อนแหละ ก็มีคนตามๆ เขามา ส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่งเหมือนกัน โดยสปอนเซอร์ของเขาเป็นร้านพวก luxury sexy อะไรแบบนี้
แบงค์ : ก่อนหน้านั้นเขาก็มีเวิร์คช็อปสอนมัดเชือก มันก็น่าสนุกดี เพราะโดยปกติเราไม่ได้ไปในที่แบบนี้กันอยู่แล้ว แต่พอมีดนตรี มันก็เหมือนดนตรีพาไปเที่ยว
เดือน : แต่เราไม่ได้มัดนะคะ
Life MATTERs : เวลาไปเจองานที่สถานที่ค่อนข้างยาก ต่อการเล่นสด ด้วยระบบเสียงหรืออะไรก็แล้วแต่ ซาวด์เอนจิเนียร์ของวงทำงานลำบากไหม
นิก : หน้าที่ของเราจะไม่ใช่ซาวด์เอนฯ จริงๆ ซะทีเดียว แต่หน้าที่เราคือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งงานศศิส่วนใหญ่จะเป็นร้านสเกลเล็กอยู่แล้ว งานสเกลใหญ่นี่เรานับครั้งได้ ดังนั้นเราก็จะดูว่า พื้นที่ไซส์เล็กๆ ขนาดนี้ แล้วเรามีกลอง 2 ชุด ในขณะที่นักร้องเป็นนักร้องโฟล์ก ร้องเบา เราก็ต้องจับแยก บางงานต้องให้กลองอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เพื่อเซฟคอนักร้อง
งานเราจะเป็นประมาณนั้น คือทำยังไงก็ได้ ให้พวกเขาเล่นดนตรีแล้วมีความสุข เพื่อที่จะส่งผ่านอะไรบางอย่างออกไปได้ เราเชื่อว่าถ้านักดนตรีไม่มีความสุข มันก็ยากที่จะส่งผ่านสิ่งที่อยู่ข้างในออกไป
Life MATTERs : แล้วเวลามีชาวต่างชาติมาฟังเพลง มีความรู้สึกเสียดายมั้ยที่เขาจะไม่เข้าใจเนื้อเพลงของวง
เดือน : มันก็แปลก อย่างมันจะมีคนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เขาชอบเพลงวงเรามาก โดยที่เค้าก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อเพลง แต่ในฐานะคนแต่งเนื้อร้องก็จะเสียดายนิดนึงนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดที่เค้าชอบอาจจะไม่ใช่ความหมายในเนื้อร้องก็ได้ แต่เป็นส่วนผสมของดนตรีมากกว่า
แบงค์ : อันนี้ส่วนตัวมากๆ คือบางทีเราฟังเพลง Bjork เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันหมายความว่ายังไง หรือเวลาฟังเพลงญี่ปุ่น เราก็ไม่รู้ความหมายเหมือนกัน แต่เสียงดนตรีมันเป็นสากลมากกว่านั้น ภาษาที่ถูกร้องเป็นทำนอง มันก็กลายเป็นเสียงดนตรีอีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นเสียงที่ถูกจริตเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายทั้งหมดของมันก็ได้ ผมว่านี่เป็นความพิเศษของดนตรี
Life MATTERs : ที่ที่ศศิอยากไปเล่นเป็นพิเศษ คือที่ไหน
ปอม : ผมอยากไปเล่นในเทศกาลดนตรีต่างประเทศ ที่ไหนก็ได้ครับ คืออยากให้เป็นเทศกาลที่เราได้ไปเจอวงคนอื่น แล้ววงคนอื่นก็ได้เจอวงเรา อยากลองเจอผู้ฟังที่อื่นๆ บ้าง
แบงค์ : มันก็ตอบยากเหมือนกันนะ เพราะบางทีเราก็ไม่ได้รู้จักทุกที่ ที่เราจะอยากไป อย่างเช่นงานล่าสุดไปเล่นที่ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) เชียงใหม่ เราก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พอไปถึงแล้วสถานที่มันดีมาก ดีใจที่ได้ไป
เดือน : ของเราคงไม่ได้เป็นสถานที่ว่าเป็นที่ไหน แต่ถ้ามีคนอยากฟัง ซื้อตั๋วเครื่องบินให้เรา แล้วเราก็จะไปเล่น
โบ๊ท : ผมอยากเล่นในที่ทุ่งหญ้า ที่กว้างๆ สุดลูกหูลูกตา อะไรแบบนี้ครับ
เดือน : แล้วต้องมีคนฟังมั้ย
โบ๊ท : ต้องมีครับ
Life MATTERs : มองว่าโอกาสและที่ทางของวงอินดี้ในบ้านเรามีมากน้อยแค่ไหน
แบงค์ : รู้สึกว่าที่ทางของวงอย่างเช่นไลฟ์เฮ้าส์บ้านเรายังมีน้อย และก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ไลฟ์เฮ้าส์เองก็ต้องเลือกวงเบอร์ใหญ่ๆ มาก่อนเพราะเขาเองก็ต้องอยู่รอด ดังนั้นวงเล็กๆ ก็ต้องตระเวนเล่นตามงานต่างๆ ไปก่อน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
เดือน : ทุกวันนี้หลายๆ คนยังอยากฟังเพลงคัฟเวอร์ การที่เรามีโอกาสได้เล่นเพลงตัวเองมันรู้สึกดีนะ
ปอม : ผมรู้สึกว่า มันก็ยังมีที่ทางสำหรับวงอินดี้นะ อย่างวงเราก็ถือว่ายังเฮง ที่พอมีโอกาส
เดือน : เราว่าคำว่าเฮงมันก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกรรมนะ อาจจะเป็นผลของการตั้งใจทำเพลง ผลของการสร้างคอนเนคชั่นเอาไว้ หรือผลของอะไรบางอย่าง
Life MATTERs : จากอัลบั้ม Bampola เพลงโปรดของแต่ละคนในวง คือเพลงไหนกันบ้าง เพราะอะไร
เดือน : เราชอบเพลงเมนส์ ซึ่งจริงๆ เนื้อเพลงนี้มันแอบมีความลักไก่นิดนึง คือมันมาจากสเตตัสของน้องคนหนึ่งในเฟสบุ๊ก ที่มันก็มีฟังก์ชั่นในการบ่นน่ะนะ แล้วเขาอยู่บนแท็กซี่ รถติด เป็นเมนส์ด้วย เขาก็บ่นมา เราเห็นแล้วก็สะดุด เลยหยิบเอาสเตตัสของเขานี่แหละมาแต่งเป็นเพลง
แบงค์ : จริงๆ ชอบเพลง ใจ แต่ว่าบางทีพอเล่นแล้วมันก็จะเอะอะมะเทิ่งไปนิดนึง เอาไปเอามาก็เลยชอบ Evening เพลงนี้มันแปลกสำหรับผมนะ มันเป็นเพลงที่ครบโดยไม่ต้องพยายาม มีท่อนที่กลองโซโล่ ที่เพลงทั่วไปจะไม่ค่อยมี มีไลน์กีต้าร์ที่ชัดเจน รู้สึกว่าเป็นเพลงที่ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างพอดีพอดี แล้วก็มีการสื่อสารในเพลงนี้ค่อนข้างสูงที่สุดแล้ว
ปอม : ผมก็ชอบ ใจ ครับ นี่เป็นเพลงที่ฟังครั้งแรกแล้วก็ชอบ จินตนาการตัวเองเข้าไปอยู่ในวงนี้ได้เลย รู้เลยว่าเราจะตีอะไร เห็นไลน์ของตัวเอง แล้วเนื้อเพลงก็พูดกับตัวเองได้ตรงดี ถ้าเรารู้สึกแบบนั้นก็คงพูดกับตัวเองแบบนี้แหละ อีกเพลงก็คือละเมอ ซึ่งเพลงนี้เราชอบในฐานะที่เพลงนี้ไม่พูดอะไรตรงๆ เลย รู้สึกว่า โห แต่งเนื้อแบบนี้ได้ยังไง ผมเองก็เคยทำเพลงนะ แต่คงไม่สามารถแต่งเพลงแบบนี้ได้เลย
เดือน : เพลง ละเมอ นี่ตอนแรกเราทำกับนที (วง Selina and Sirinya) เขาเป็นคนทำทำนองเพลงนี้ ซึ่งเราก็เขียนๆ เพลงไปนั่นแหละ แล้วก็มีเพื่อนนักดนตรีมาช่วยทำ ถ้าไม่ได้พวกเขาเราก็คงไม่ได้มาเล่นตรงนี้ เพราะเราเองมองว่าตัวเองก็ไม่ได้เป็นนักดนตรีที่เก่งกาจอะไร
โบ๊ท : ส่วนผม ตอนแรกผมคิดว่าผมชอบเพลง แอนดรอยด์ เพราะเราไม่ค่อยได้เล่นเพลงนี้ ตอนที่เล่นก็เลยรู้สึกดีมากๆ เอาไปเอามา ผมเลยผมว่าจริงๆ ผมชอบเพลงที่เราไม่ได้เล่นมันมานานแล้วมากกว่า เราคิดถึงมัน …รู้มั้ยว่าคำตอบนี้ผมคิดมาตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์เลย พอเจอคำถามนี้นี่แบบว่า รีบชาร์จเลย…
Life MATTERs : สำหรับคนที่คอยสนันสนุนวงอยู่ ในเรื่องซาวด์และเทคนิก คุณมองศศิอย่างไรบ้าง
นิก : มันดีที่เราได้เห็นความฝันที่ก่อมาจากภาพรางๆ จนกลายเป็นตัวเป็นตน ได้เห็นนักดนตรีอาชีพ ยอมแบกกลองขึ้นภูเขาเพื่อไปเล่นดนตรีในงานที่ไม่ได้เงินเลย เหมือนเราเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความฝันใหญ่ๆ
Life MATTERs : สเต็ปต่อไปของวงศศิคืออะไร
ปอม : คิดว่าเราคงยังไม่มีแผนของอัลบั้มต่อไป แต่อยากปล่อยทีละซิงเกิลไปก่อน เพราะคราวก่อนที่เราปล่อยอัลบั้มทีเดียว ตูม มันเลยยังไม่ค่อยมีพื้นที่โปรโมทสำหรับเพลงเป็นรายเพลงเท่าไหร่ เราก็อยากให้ทุกเพลง
แบงค์ : ไม่รู้จะเป็นไปได้แค่ไหน แต่เราอยากทำซีนที่เป็นอาร์ตมิวสิก ก็มีแอบหาทุนไปเล่นที่ญี่ปุ่น คือถ้าขอทุนเฉยๆ จาก Japan Foundation ก็คงจะยาก เพราะเราไม่ได้เป็นอาร์ตขนาดนั้น เราก็เลยอยากทำงานอาร์ตเกี่ยวกับเสียง เดือนเองก็มีความสามารถในการทำงานวิชวล ก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะทำงานอาร์ตบางอย่างเกี่ยวกับเสียงและสิ่งที่เราชอบ มันอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่คนมีต่อดนตรีของเราก็ได้.
Photos by Adidet Chaiwattanakul