วันที่ 25 มิถุนายน ปี 2009 เป็นวันทำธรรมดาๆ ที่ดูจะไม่มีอะไรมากมายนัก จนกระทั่งมีข่าวรายงานออกมาว่า ไมเคิล แจ็กสัน เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน เป็นเวลาเพียงราวๆ ครึ่งเดือนเท่านั้น ก่อนจะถึงกำหนดคอนเสิร์ต This Is It ที่ไมเคิลได้โปรโมตเอาไว้ว่าจะเป็น ‘คอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย’ ของเขา
นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ นี่ก็เป็นเวลา 10 ปีแล้วที่ราชาเพลงป็อปจากเราไปตลอดกาล สิ่งที่เหลือเอาไว้ในตอนนี้ก็คือเสียงเพลงที่เขาเคยบันทึกเอาไว้ กับแรงบันดาลใจมากมายที่มาจากกิจกรรมที่เขาเคยทำให้กับโลก
ด้วยเหตุที่ว่า ไมเคิล แจ็กสันแสดงพรสวรรค์นับตั้งแต่เด็กและเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่วัยเพียงแค่ 5 ขวบ ก่อนจะเป็นนักแสดงเด็กในเวลาต่อมา และกลายเป็นศิลปินเดี่ยวจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เรื่องราวของเขาจึงมีอะไรให้บอกเล่ามากมาย
The MATTER ขอหยิบเรื่องราวส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปมาบอกเล่าให้ฟังในโอกาสครบรอบการจากไปของราชาเพลงป็อป…ไมเคิล แจ็กสัน
เปลี่ยนแปลงการทำมิวสิกวิดีโอของอุตสาหกรรมเพลง
อัลบั้ม Thriller ของไมเคิล แจ็กสัน ที่วางจำหน่ายในปี 1983 เป็นอัลบั้มที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการดนตรีโลกไว้หลายประการ อย่างแรกเลยคือ Thrilller เป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในโลกตามการจัดอันดับของ กินเนสส์บุ๊ค ที่ระบุว่ายอดขายอัลบั้มดังกล่าวอยู่ที่ 65 ล้านชุด ทิ้งห่างตัวเลขอันดับที่สองจากการบันทึกของทางกินเนสส์บุ๊ค (อัลบั้ม Dark Side of the Moon ของวง Pink Floyd) อยู่ราว 10 ล้านชุด เป็นตัวเลขที่ยากจะหาใครมาโค่นได้ และไม่น่าแปลกใจที่เขาจะถูกเรียกขานว่า ‘ราชาแห่งเพลงป็อป’ จากการวางขายอัลบั้มนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่อัลบั้ม Thriller ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกเป็นเรื่องของมิวสิกวิดีโอจากเพลงต่างๆ ในอัลบั้ม นับตั้งแต่ ‘Billie Jean’ เพลงของศิลปินผิวสีกลุ่มแรกๆ ที่ได้ออกฉายในช่อง MTV จนติดอันดับ ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น MTV มักจะไม่ยินยอมเปิด MV ของศิลปินผิวสีด้วยเหตุผลว่า ‘ร็อคไม่พอ’ กับสไตล์นำเสนอของช่อง แต่ด้วยแรงกดดันจากค่ายเพลง กับความนิยมของตัวเพลงที่ดูป็อปร็อคล้ำยุค ทำให้ MV นี้ได้รับความนิยมอย่างสูง และเปิดโอกาสให้ศิลปินผิวสีคนอื่นๆ ได้มีที่ทางในวงการ
(ทั้งนี้ MV ของศิลปินผิวสีที่ได้ลง MTV ตัวแรกมีข้อมูลจากหลายๆ ฝั่งแย้งว่าเป็นเพลง Pass The Dutchie ของวง Musical Youth จากเกาะอังกฤษที่วางจำหน่ายในปี 1982 และได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก อีกทั้งติดอันดับในชาร์ต Billboard ของฝั่งอเมริกาสูงถึงอันดับที่ 10)
ต่อมา MV เพลง ‘Beat It’ ก็ได้เปิดตัวครั้งแรกบน MTV ในวันที่ 31 มีนาคม ปี 1983 และได้รับความสนใจจากผู้ชื่นชอบเสียงดนตรีทั่วโลก สไตล์ของ MV เปลี่ยนไปจากเพลงก่อนหน้าด้วยการใส่สไตล์เล่าเรื่องแบบภาพยนตร์สั้น เกี่ยวกับสองแก๊งที่ตั้งท่าพร้อมจะเข้าปะทะกัน ในขณะที่หัวหน้ากลุ่มของทั้งสองฝั่งมัดข้อมือพร้อมดวลมีดกัน ไมเคิลก็เข้ามาร่วมวงด้วย แต่สิ่งที่เขาทำคือการออกจังหวะเต้นพลิ้วไหว จากนั้นในช่วงเวลาหนึ่งนาทีสุดท้ายของ MV ทุกคนในฉากก็มาเต้นรวมกันเหมือนฉากในละครเพลงมิวสิคัล ซึ่งผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีบางท่านเห็นว่า ช่วงเวลาเพียงหกสิบเอ็ดวินาทีนี้แหละที่ทำให้แนวทางการทำ MV ของโลกได้เห็นว่า MV ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาอัลบั้มเพลงเท่านั้น แต่มันก็สามารถแสดงให้เห็นถึงเรื่องราว รวมไปทั้งยังปรับเป็นสเกลให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกับภาพยนตร์ และในขณะเดียวกันก็ยังแสดงทักษะของศิลปินออกมาให้ชมได้พร้อมกัน
และเหมือนว่า ไมเคิล แจ็กสันจะไม่พอใจกับความสำเร็จของตัวเองเพียงเท่านั้น เพราะ MV เพลงต่อมาอย่าง ‘Thriller’ ได้เพิ่มพลังเข้าไปจากเดิม นับตั้งแต่การที่ราชาเพลงป็อปตัดสินใจติดต่อตรงไปหา John Landis ผู้กำกับภาพยนตร์ An American Werewolf in London ให้มากำกับ ‘แค่’ มิวสิกวิดีโอของเขา ด้วยความที่ว่ายุคนั้นผู้กำกับยังไม่ข้ามสายงานไปมานัก ตัว Landis จึงยื่นข้อเสนอว่า เขายินดีทำให้ในรูปแบบหนังสั้น และแล้วการปลุกผีออกมาเต้นก็เริ่มต้นขึ้น
เมื่อ MV สเกลใหญ่กว่าเก่า สิ่งที่ตามมาคือค่าถ่ายทำงอกเงยไปถึงหลัก 900,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นงบประมาณที่เยอะเวอร์สำหรับราวๆ 35 ปีก่อน แต่เพื่อเซ็ตท่าเต้นที่โดดเด่นและเอฟเฟกต์พิเศษที่ต้องแต่งตัวให้คนจำนวนมาก แม้ว่าจะประหยัดงบด้วยการที่ตัวผู้กำกับหนังกับนักร้องมาเขียนบทเองไปแล้วก็ตาม และจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการระดมทุนขายสิทธิ์การฉาย MV กับสารคดีเบื้องหลัง (หนึ่งในนายทุนมี MTV ด้วย) เรียกได้ว่า MV เพลงนี้ทั้งทุนสูงและใช้แนวทางการทำงานที่แตกต่างจากเดิมไปมาก และความยาวของ MV ก็ทะยานไกลไปถึง 13:42 นาที
ในตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า ความทุ่มเทของไมเคิลกับทีมงาน ได้เปลี่ยนวิธีการสร้าง MV ของโลกไปอย่างสมบูรณ์ ในปัจจุบันผู้กำกับ MV ดังจึงสามารถไปกำกับหนังได้ และในทางกลับกันผู้กำกับหนังก็ลงมาทำ MV บ่อยขึ้น และงบประมาณในการทำ MV นั้นก็เพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะค่าเงินที่เปลี่ยนไป แต่เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่า ถ้าทุ่มเททำอะไรให้ดี งานชิ้นนั้นก็อาจจะกลายเป็นงานที่ส่งผลให้เปลี่ยนโลกทั้งใบได้อย่างที่ Thriller เคยทำ
ทำลายกำแพงที่แบ่งแยก ‘คนส่วนน้อย’ มาโดยตลอด
ไมเคิลช่วยเปิดทางให้กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันได้มีความโดดเด่นขึ้น นับตั้งแต่ที่เขาได้กลายเป็นขวัญใจมหาชนจากการเป็นนักร้องนำตัวน้อยในวง Jackson 5 หรือแม้แต่ในช่วงที่เป็นราชาเพลงป็อป เขาก็นำวัฒนธรรมของกลุ่มแอฟริกันอเมริกันมานำเสนอให้คนหมู่มากได้รู้จัก ทั้งการที่นำเอาสไตล์การร้องเพลงกับทำนองดนตรีของคนแอฟริกันอเมริกันมาปรับใช้ในเพลงของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นท่อนร้องประสาน ท่อนริฟฟ์ของดนตรี สไตล์การร้องแล้วรับ หรือที่ชัดเจนที่สุดการเคาะลิ้นหรือตะโกน (เสียง ‘วู้ว’ ‘บ้าว’ ฯลฯ) ก็เป็นการดัดแปลงสไตล์ของนักร้องคนแอฟริกันอเมริกันรุ่นเก่าอย่าง Cab Calloway, Little Richard หรือ Aretha Franklin และมีบางท่านที่กล่าวว่าเป็นการย้อนกลับไปเอาสไตล์มาจากเสียงเดาะลิ้นที่ปรากฏในภาษาท้องถิ่นหลายๆ ภาษาในทวีปแอฟริกาเสียด้วยซ้ำ
กระนั้นเมื่อเราดูผลงานอื่นๆ ก็เริ่มเห็นได้ว่า ตัวของไมเคิลไม่ได้เปิดโอกาสให้แค่เฉพาะกลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันเท่านั้น ใน MV เพลงต่างๆ เราจะเห็นว่าเขาพยายามทำลายกำแพงที่ใหญ่โตกว่านั้น อย่างใน MV เพลง Beat It ที่มีข้อความแฝงว่าไม่ควรแก้ไขความขัดแย้งด้วยความรุนแรง ซึ่งกลุ่มนักแสดงที่รับบทเป็นสองแก๊งคู่อรินั้น ไม่ได้เป็นแค่แก๊งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นแก๊งรวมคนหลากชาติพันธุ์ ทั้งคนผิวขาว คนผิวสี คนฮิสแปนิก
ถ้า MV เพลง Beat It แสดงออกไม่ชัดแจ้งพอว่าราชาเพลงป็อปต้องการเปิดพื้นที่ให้คนหลายเชื้อชาติ ใน MV เพลง Black or White ไมเคิลจึงแสดงเห็นให้ชัดกว่านั้นด้วยการจำลองพื้นที่โดดเด่นของวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก และดัดแปลงท่าเต้นของเขาให้ไหลลื่นไปกับการเต้นรำในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งของแอฟริกัน ชาวอเมริกันพื้นเมือง ไทย อินเดีย และรัสเซีย (และถ้าเป็น MV เวอร์ชั่นเต็มฉบับดั้งเดิมจะมีฉากที่ไมเคิลออกไปทุบทำลายสัญญะเชิงเหยียดชาติอีกด้วย แต่ MV ที่เราหาชมได้ในตอนนี้ได้ลบสัญลักษณ์เหล่านั้นไปแล้ว)
แนวคิดทุกชาติพันธุ์เท่าเทียมกันของไมเคิลอาจจะเริ่มต้นจากการที่เขาทำงานในวงการดนตรีที่มีคนมากหน้าหลายตา และทำให้เจ้าตัวร่วมงานกับศิลปินต่างชาติต่างพันธุ์หลายต่าอหลายครั้ง อย่างที่เห็นในอัลบั้ม Thriller ที่ได้ Paul McCartney มาร่วมฟีตเจอริงในเพลง The Girl is Mine (ก่อนหน้านั้นไมเคิลไปฟีตเจอริงกับเพลง Say Say Say ของ Paul McCartney มาก่อน)
อีกส่วนที่ทำให้ไมเคิลดูเปิดรับเรื่องเหล่านี้ก็มาจากการที่เจ้าตัวได้เดินทางไปโปรโมตอัลบั้มเพลงของตัวเองทั่วโลกแล้วได้เห็นความงามจากมุมต่างๆ มากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายครั้งไมเคิลได้แต่งเพลงหรือมีส่วนร่วมกับผลงงานเพลงที่รณรงค์ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาในโลก ตัวอย่างชัดๆ ก็คงเป็นการที่เขาตกลงรับคำเชิญในการแต่งเพลง ร้องเพลง และทำท่อนประสานให้กับเพลง We Are The World ที่กลายเป็นซิงเกิลเพลงการกุศลที่ดังที่สุดของยุค
ความตั้งใจของไมเคิลในการเปิดพื้นที่ให้ ‘คนส่วนน้อย’ ได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพยังรวมไปถึงคนที่ทำงานในวงการเดียวกันกับเขาเองด้วย ผู้ร่วมงานกับไมเคิลอาจจะรู้สึกว่าเจ้าตัวคาดหวังความสมบูรณ์และเข้มงวดกับตัวเองและคนที่สนิทสนม แต่สำหรับผู้ร่วมงานทั่วไปจะได้ยินคำพูดส่งเสริมกำลังใจที่ค่อยๆ ปลุกพลังของคนเหล่านั้น จนส่งให้คนทำงานตัวเล็กๆ ได้มีศักยภาพที่สูงขึ้น อย่างที่เราจะได้เห็นฉากนี้อยู่มากในภาพยนตร์บันทึกเบื้องหลังคอนเสิร์ต This Is It หรือนักร้องคันทรี่ชื่อดังอย่าง Sheryl Crow ก็เคยเป็นเพียงแค่นักร้องประสานเสียงในการออกทัวร์คอนเสิร์ตและได้ถูกเลือกมาให้ร้องเพลง I Just Can’t Stop Loving You ในคอนเสิร์ต ซึ่งเธอก็อาศัยจังหวะนี้ผลักดันตัวเองจนได้กลายเป็นนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังไปในที่สุด
หรือถ้าเอาเมื่อครั้งที่ไมเคิลมาจัดคอนเสิร์ตในบ้านเรา เราก็ได้เห็นการออดิชั่นเด็กๆ ให้ไปขึ้นร่วมแสดงบนเวทีกับนักร้องดัง แม้ว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้มีความสามารถอยู่แล้ว แต่การมาแสดงของนักร้องดังนั้นเป็นการทำให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสโลดแล่นบนเวที
นี่ถ้า ไมเคิล แจ็กสัน ยังอยู่เราคงได้เห็นการผลักดัน ‘คนส่วนน้อย’ ของเขาอีกมากมายแน่ๆ
เต้นเก่งไม่ได้มาจากแค่การเรียนรู้และฝึกฝน แต่ยังมีหัวคิดถึงโชว์แบบล้ำยุค
ถ้ามาคุยกันตอนนี้ ไมเคิล แจ็กสัน กับการเต้นหากลีลาคงเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออกแล้ว กระนั้นถ้าย้อนคิดไปถึงจุดเริ่มต้น เขาเป็นเพียงนักร้องเด็กที่ไม่ได้เน้นท่าเต้น นั่นก็หมายความว่าเขาก็ต้องศึกษาแนวเต้นอื่นๆ มาก่อน ซึ่งนั่นก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะอย่างที่พูดไปแล้วในช่วงก่อนหน้าว่าตัวของไมเคิลได้รับอิทธิพลจากนักร้องแอฟริกันอเมริกันรุ่นเก่าจำนวนมาก ศิลปินที่เขาได้รับอิทธิพลการเต้นมามากที่สุดก็คือ James Brown ที่ตัวไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือหลายเล่มว่าเขาจดจำและอยากจะทำตามอาจารย์คนนี้มากที่สุด
และไม่ใช่ว่าเจ้าตัวจะเป็นคนจะสามารถคิดท่าเต้นได้ด้วยตนเองทั้งหมด เขาผ่านการศึกษากับนักเต้น และ นักออกแบบท่าเต้น (choreographer) หลายต่อหลายท่าน ตัวอย่างเด่นๆ เช่น Bruno Falcon หรือฉายา Pop N Taco ที่ถนัดท่าเต้นแนว popping และ robot ก็เป็นทั้งครูสอนเต้นและนักเต้นให้กับไมเคิลถึง 16 ปี (เจ้าตัวร่วมแสดงในหนังของไมเคิลทั้งเรื่อง Captain EO และ Moonwalker ด้วย) หรือ Jeffrey Daniel นักร้องและนักออกแบบท่าเต้นที่ไมเคิลถูกใจเมื่อครั้งที่เห็นในรายการ Soul Train และกล่าวกันว่า เขาได้เป็นผู้สอนท่าเต้น ‘backslide’ ท่าเต้นเดินถอยหลังซึ่งเป็นการเอาท่าเต้นเดิมของ James Brown มาต่อยอด
นอกจากนี้ยังมี นักเต้น Michael Chambers ฉายา Boogaloo Shrimp ที่ถนัดท่าเต้นทั้งแนว boogaloo, robot และ liquid animation ที่ชอบหาอุปกรณ์มาประกอบเพื่อแสดงท่าเต้นต้านแรงโน้มถ่วงได้ แถมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางการเต้นและเป็นโค้ชสอนเต้นให้กับไมเคิลในระยะสั้นๆ จนมีคนอเมริกาส่วนหนึ่งมองว่า ชายคนนี้เป็นคนสอนท่าเต้น ‘Moonwalk’ ตัวจริง แต่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเห็นว่าสุดท้ายแล้วไมเคิลก็นำท่าเต้นไปใช้เป็นสไตล์ของตัวเองซึ่งไม่เหมือนเขาเสียทีเดียว แต่ก็มีระบุไว้ว่าเขาออกจะผิดหวังนิดหน่อยที่เครดิตเวลาออกสื่อต่างๆ จะไม่มีการกล่าวถึงชื่อของเขา
นอกจากที่ไมเคิลจะศึกษาหาความรู้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การเต้นของเขาโดดเด่นคือความชอบที่มีต่อละครแนวมิวสิคัลอย่าง West Side Story ซึ่งไม่เพียงทำให้ไมเคิลชอบเล่าเรื่องใน MV ของตัวเองในลักษณละคร แต่มันยังกลายเป็นรากฐานที่ทำให้เขาชื่นชอบการเต้นอย่างพร้อมเพรียงไปด้วย และเหมือนว่าความชอบนี้ก็ทำให้เขาคิดถึงความตื่นตาในการโชว์มากกว่าศิลปินหลายคนในยุคเดียวกัน
จุดที่แสดงให้เห็นว่าเขาคิดเรื่องนี้แบบจริงจังก็มาจากเพลง Smooth Criminal ที่ถูกใช้ในภาพยนตร์ Moonwalker ที่มีฉากเอนตัวเลียดเกือบขนานกับพื้น ซึ่งในหนังสามารถใช้เคเบิลดึงตัวแล้วเอามุมกล้องหลบได้ ปัญหามันมาเกิดขึ้นเมื่อเพลงนี้ฮิตแบบสุดขีด และการแสดงสดก็ควรจะมีทีเด็ดในการแสดงท่าเต้นเหนือแรงโน้มถ่วง ซึ่งถ้าใช้เทคนิคใช้เคเบิลดึงตัวอาจจะดูไม่สวยงามเท่าใดนัก ไม่เช่นนั้นก็คือถูกจับไต๋ได้ว่าตัวศิลปินแอบไปติดเคเบิลในจังหวะไหน (คือเต้นยับอยู่ดีๆ มีเบรคเปลี่ยนเสื้อก็ไม่สมูธเนอะ)
เพื่อให้การแสดงน่าเชื่อถือและลื่นไหล ไมเคิลกับนักประดิษฐ์อีกสองคนทำการออกแบบพร้อมทั้งจดทะเบียนลิขสิทธิ์รองเท้าพิเศษในปี 1993 ตัวร้องเท้าดังกล่าวสามารถรัดแน่นกับเท้าและขาของนักเต้น ในขณะเดียวกัน พื้นรองเท้าก็มี ‘ร่อง’ ที่สามารถสไลด์เข้าไปยึดกับหมุดขนาดย่อมบนเวทีซึ่งจะมองแทบไม่เห็นจากมุมมของคนดู ส่งผลให้นักเต้นสามารถใช้กำลังขาโน้มตัวไปได้มากกว่าปกติ ก่อนที่รองเท้านี้จะถูกอัพเดตแบบไมเนอร์เชนจ์หลังจากไมเคิลได้รับอาการบาดเจ็บในคอนเสิร์ตปี 1996
ในคอนเสิร์ต This Is It ก็มีการนำเอาเทคนิคต่างๆ มาเสริมความอลังการให้ จนคิดแล้วรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ไมเคิลเสียชีวิตไปก่อนการแสดงรอบจริงจะเริ่มขึ้น เพราะถ้าผู้คนได้เห็นการแสดงแบบเต็มๆ เราคงจะได้เห็นว่าเทคนิคการทำคอนเสิร์ตของเขาจะพลิกโฉมการแสดงของโลกไปอย่างไร
แอบไปแจมวงการเกมมากกว่าที่คาด
เด็กยุค 1990 น่าจะคุ้นเคยกันดีกับเกม Moonwalker บนเครื่อง Sega Mega Drive / Sega Genesis ที่เป็นเกมแนวตะลุยผ่านฉากที่ดึงเอาฉากต่างๆ มาจากตัวภาพยนตร์ Moonwalker ซึ่งไมเคิลเป็นคนนำแสดง ทำให้ผู้เล่นเกมสามารถใช้พลังเต้นพิเศษแบบที่ราชาเพลงป็อปทำได้ในภาพยนตร์ ส่วนนักเล่นเกมยุคหลังอาจจะคุ้นเคยกับอีกเกมหนึ่งคือ Michael Jackson: The Experience เกมเต้นจับจังหวะดนตรีที่เอาเพลงจากทุกยุคสมัยของนักร้องดังมาให้คอเกมได้ออกสเต็ปตาม
แต่ความจริงไมเคิลมีส่วนร่วมกับเกมมากกว่าสองเกมข้างต้น อย่างเกมจากหนัง Moonwalker ยังมีเวอร์ชั่นเกมตู้ที่เราจะได้รับบทเป็นไมเคิล แจ็กสัน ปล่อยลำแสงออกจากนิ้วตะลุยฉากต่างๆ แถมยังเล่นได้สามคนพร้อมกัน (แต่ละคนจะเล่นเป็นไมเคิล แจ็กสันที่ใส่ชุดสูทคนละสี) และมีเป็นเวอร์ชั่นสำหรับคอมพิวเตอร์, MSX, ZX Spectrium, AMSTRAD, Commandore 64, AtariST และ AMIG
จากนั้นไมเคิลก็ไปปรากฎตัวในเกมอื่นในฐานะตัวละครรับเชิญอยู่หลายครั้ง อย่างการปรากฎตัวในเกม Space Channel 5 ของทาง SEGA ที่เล่าเรื่องการแข่งขันของสถานีโทรทัศน์ในยุคอวกาศ ก็มีตัวละครชื่อ Space Michael ซึ่งนักร้องผู้ล่วงลับอนุญาตให้ใช้หน้าตาและทำการพากย์เสียงตัวละครนี้ด้วยตัวเอง
อีกเกมที่ไมเคิลยินยอมให้ใช้รูปลักษณ์กับไปพากย์เสียงให้ก็คือเกมต่อยมวยเชิงโปกฮา Ready 2 Rumble Boxing: Round 2 ที่เจ้าตัวจะขึ้นสังเวียนด้วยชุดที่ใช้ขึ้นคอนเสิร์ต ซึ่งการปรากฎตัวครั้งนี้น่าจะมาจากการที่ช่วงนั้นไมเคิลเริ่มติดเกมแนวต่อสู้แบบ Tekken อยู่นั่นเอง
ถ้าสังเกตดีๆ ไมเคิลจะเกี่ยวข้องกับทาง SEGA เสียเยอะ จนมีคนสังเกตว่าเกมในเพลง Sonic The Hedgehog 3 นั้นมีทำนองที่แตกต่างจากเกมสองภาคแรก แถมมีความคล้ายคลึงกับเพลงของไมเคิล แจ็กสันมากกว่า แต่กลับไม่มีชื่อของไมเคิลลงไว้ในฐานะผู้ทำเพลง
เรื่องนี้ถือว่าเป็นข่าวลืออยู่นานหลายปี จนกระทั่งมีบทสัมภาษณ์ของ Brad Buxer ออกมาว่าตัวของเขากับ ไมเคิลได้มีส่วนร่วมกับการแต่งเพลงในเกม แต่ภายหลังเจ้าตัวไม่ตอบรับว่าเรื่องนี้เป็นความจริง จนกระทั่งมีสื่อสายเกมไปสัมภาษณ์คนวงในจนได้ความว่า ไมเคิลเคยร่วมทีมสร้างเกมในฐานะนักแต่งเพลงจริง ก่อนจะถอนตัวไปด้วยเหตุผลที่ว่าคุณภาพเสียงของเครื่องเกม Mega Drive สมัยนั้นออกมาไม่ดีพออย่างที่ศิลปินดังต้องการ แต่เจ้าตัวไม่ได้ค้านในการให้ใช้เพลงกับตัวเกมจริงเพียงแค่ขอให้ถอดชื่อในฐานะผู้แต่งไป ส่วนที่ผู้บริหารของทาง SEGA ไม่ตอบแบบเต็มๆ ปากว่าเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ มีความเชื่อว่าเป็นการเซฟตัวเองจากการที่โดนติงเรื่องคุณภาพฮาร์ดแวร์ในยุคนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์หรือคดีความอื่นๆ แต่อย่างใด
ก่อนที่ไมเคิลจะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยเข้าไปพูดคุยกับ EA เกี่ยวกับการพัฒนาเกม Moonwalker II ด้วย และทาง EA ก็โอเคกับเรื่องนี้ ทว่าทุกอย่างก็ยุติลงไปเมื่อความตายย่างกรายมาถึงราชาเพลงป็อป
ทำให้โลกคุ้นเคย โรคด่างขาว (Vitiligo)
ข่าวลือหนึ่งที่กัดกินชีวิตของไมเคิล แจ็กสันมาตลอดช่วงที่เขามีชีวิต คือการที่เขาเป็นผู้ป่วยโรคด่างขาว และอาการป่วยของเขานั้นก็เห็นชัดตั้งแต่เด็ก ซึ่งในช่วงที่อาการยังลุกลามไม่มากตัวของไมเคิลก็เลือกที่จะใส่เสื้อผ้าที่ปิดเร้นผิวกายที่ไม่ปกติ พอเริ่มเป็นนักร้อง เขาก็ใช้เครื่องสำอางในการกลบสีผิวให้เท่ากัน
ภายหลังเมื่ออาการลุกลามมากขึ้น การปรากฏตัวของไมเคิลที่เห็นได้ชัดว่าเขามีสีผิวที่ซีดขาวกว่าเดิมในช่วงกลางยุค 1980s ก็ทำให้สังคมเกิดความเห็นที่ต่างกันไป ตั้งแต่เหตุผลที่บอกว่าสีผิวที่เปลี่ยนไปของเขาเป็นผลจากการ depigmentation ซึ่งเป็นวิธีปรับสีผิวให้ขาวขึ้นเพื่อรักษาโรคด่างขาว ไปจนการตีข่าวที่บอกว่าไมเคิลตั้งใจทำการฟอกสีผิวละทิ้งความเป็นคนแอฟริกันอเมริกันมาเป็นคนขาว
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน เจ้าตัวก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงอาการป่วยของตนเองในปี 1993 ทำให้คนอเมริกาได้รู้จักถึงโรคนี้ สร้างความเข้าใจมากขึ้นว่าโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ และมีคนเปิดตัวว่าเป็นโรคนี้ในสังคมมากขึ้น จนปัจจุบันนี้คนที่เป็นโรคนี้สามารถใช้ชีวิตแบบปกติจนถึงขั้นเป็นนางแบบนายแบบได้
น่าเสียดายที่ผู้ปลุกกระแสความเข้าใจโรคนี้อย่างไมเคิล แจ็กสัน ยังต้องทุกข์ทนกับข้อถกเถียงที่สื่อและผู้คนพูดถึงเรื่องสีผิว จนกระทั่งความตายมาพรากชีวิตของราชาเพลงป็อป ก็ได้มีการชันสูตรศพจนพบชัดเจนว่า เขามีอาการป่วยจากโรคด่างขาวจริง รวมถึงมีการพบยาบรรเทาอาการด่างขาวอยู่ในของใช้ส่วนตัวของไมเคิลอีกด้วย
ส่วนเรื่องจมูกกับโครงหน้าไม่เกี่ยวกับโรคด่างขาว แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บไข้อื่นๆ ตั้งแต่การผ่าตัดรักษาอาการกระดูกหัก ก่อนจะมีการผ่าตัดแก้ไขหลังจากพบว่าการผ่าตัดครั้งแรกทำให้เขาหายใจลำบากขึ้น รวมกับการผ่าตัดเมื่อครั้งที่เขาถูกไฟคลอกในการถ่ายทำโฆษณาในปี 1984 ทำให้โครงหน้าบางส่วนเปลี่ยนไปจากเดิม
เวลาผ่านไปจนถึงปี 2011 ได้มีกลุ่มผู้ป่วยโรคด่างขาวและผู้สนับสนุนผู้ป่วยทำการประกาศว่า พวกเขาจะทำการจัดตั้งให้วันที่ 25 มิถุนายน ให้เป็นวันโรคด่างขาวโลก (World Vitiligo Day) โดยระบุว่าตั้งใจเลือกใช้วันดังกล่าวส่วนหนึ่งเพื่ออุทิศให้กับ ไมเคิล แจ็กสันที่ทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจกับความทุกข์ทนกับโรคด่างขาว ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยโรคด่างขาวและผู้สนับสนุนพยายามผลักดันให้ทางสหประชาชาติรับรองวันโรคด่างขาวโลกแบบเป็นทางการอยู่ และเรื่องเหล่านี้อาจจะเกิดไม่ได้ถ้าไมเคิลตัดสินใจเก็บอาการป่วยของตัวเองไว้เป็นความลับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Youtube Channel: Gamestrailers
Youtube Channel: Wisecrack
ขอบคุณภาพจาก WireImage