From the Other Side of the World จากประเทศอังกฤษในเดือนนี้ ผมจะชวนเพื่อนๆ มาคุยกันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การวิ่งมาราธอน พร้อมทั้งเก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากลอนดอนมาราธอน 2017 (London Marathon 2017) มหกรรมวิ่งที่มีนักกีฬาน่องเหล็กทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นเข้าร่วมเป็นหมื่นคน และจัดแข่งกันไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2560 ที่ผ่านมาครับ โดยที่ผมก็ได้ไปเกาะรั้วเชียร์นักวิ่งกว่า 40,000 คนกับเขาด้วย
ก่อนจะคุยกันเรื่องลอนดอนมาราธอน เผอิญผมลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของคำว่ามาราธอน (marathon) และระยะทางที่สุดแสนประหลาด 42.195 กิโลเมตร แล้วพบว่ามีประวัติศาสตร์น่าสนใจทีเดียว เพราะฉะนั้นเรามาดูเกร็ดน่าสนใจของกำเนิดการวิ่งแข่งมาราธอนกันก่อนซักนิดนึงนะครับ
ต้นกำเนิดการวิ่งมาราธอน (และทำไมถึงชื่อ Marathon ล่ะ?)
ว่ากันว่าที่มาของการวิ่งมาราธอนนั้นมาจากตำนานกรีกโบราณ 490 ปีก่อนคริสศักราช เรื่องราวเกิดขึ้นในสงครามระหว่างกองทัพกรีกและเปอร์เซียน ณ เมือง Marathon (หรือ Battle of Marathon นั่นเอง) ในประเทศกรีซในปัจจุบัน เมื่อกองทัพกรีกพิชิตชัยเอาชนะกองทัพเปอร์เซียนได้ กองทัพกรีกได้ส่งผู้นำสารชื่อ Philippides ให้นำข่าวดีนี้ไปส่งให้กับเมืองหลวงเอเธนส์ เขาออกวิ่งจากมาราธอนไปยังเอเธนส์โดยไม่หยุดพัก ด้วยระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรจากมาราธอนไปยังเอเธนส์ และเมื่อไปถึงเมืองหลวง Philippides ก็ได้ตะโกนว่า nenikikamen ซึ่งแปลว่า “เราชนะแล้ว!” ก่อนเขาที่จะสิ้นใจลงตรงนั้นเอง (โถ พ่อคุณ วิ่งมาตั้งไกล เพื่อจะได้พูดแค่ประโยคเดียวเนี่ย)
ทำไมต้อง 42.195 กิโลเมตร?
ในปี 1896 ซึ่งได้มีการวิ่งมาราธอนเกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ผู้จัดเลือกระยะทางการวิ่งไว้ที่ 40 กิโลเมตร (หรือ 24.85 ไมล์) เพื่อให้ตรงกับระยะทางที่ Phidippides ได้ทำไว้ในอดีต อย่างไรก็ดีระยะทางของการวิ่งมาราธอนนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง มาราธอนในปารีสโอลิมปิก ปี 1900 ใช้ระยะทาง 40.26 กิโลเมตร และในโอลิมปิก ปี 1904 ก็กลับมาใช้ระยะทางที่ 40 กิโลเมตรอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการจัดกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอน ปี 1908 ผู้จัดก็ได้มีการปรับเปลี่ยนระยะทางอีกครั้ง ให้การวิ่งมาราธอนใช้ระยะทางเป็นเลขไม่ลงตัวที่ 42.195 กิโลเมตร เหตุผลก็เพราะว่าต้องการจะเริ่มการวิ่งที่พระราชวังวินด์เซอร์เพื่อให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ของอังกฤษในขณะนั้นได้ชม ณ จุดปล่อยตัว และเพื่อให้ไปจบในสนามกีฬา White City Stadium ตรงหน้าพระที่นั่งของพระองค์พอดี ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนี้ก็ได้รับเลือกให้เป็นระยะทางมาตรฐานของการวิ่งมาราธอนโดย International Amateur Athletic Federation (IAAF) ในเดือนพฤษภาคม 1921 และใช้กันเป็นมาตรฐานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เกร็ดน่าสนใจจากโอลิมปิกมาราธอน 1908
ในโอลิมปิกมาราธอน 1908 ที่ใช้ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก ผู้ชนะอย่างเป็นทางการ คือ John Hayes จากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ว่าจริงๆ แล้วคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกไม่ใช่เขา! แต่คือ Dorando Pietri จากประเทศอิตาลีที่มาถึงก่อน Hayes แต่เนื่องด้วยความเหนื่อยล้า Pietri ล้มลงและไม่สามารถเข้าเส้นชัยได้ด้วยตนเองเจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขันจึงเข้ามาช่วยพยุงเขาเข้าเส้นชัย อย่างไรก็ Pietri ถูกปรับแพ้และ Hayes ผู้เข้าเส้นชัยเป็นที่สองจึงได้รับชัยชนะไปแทน ถึงกระนั้น Dorando ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมจำนวนมากรวมถึงพระราชินีอเล็กซานดร้า เขายังมีเพลงชื่อเดียวกับตัวเขาเอง “Dorando” ที่แต่งโดยนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน Irving Berlin จากเหตุการณ์นี้อีกด้วย
เอาหล่ะ เล่าเรื่องประวัติมาราธอนกันไปพอหอมปากหอมคอ ก็มาต่อด้วยเรื่องเก็บตกน่าสนใจจากลอนดอนมาราธอน 2017 กันครับ
หนึ่งใน World Marathon Majors
ลอนดอนเป็น 1 ใน 6 เมืองที่ได้รับการบรรจุอยู่ในการแข่งขัน World Marathon Majors (การแข่งขันที่ใช้เพื่อเก็บคะแนนสำหรับนักกีฬาวิ่งมาราธอนมืออาชีพในแต่ละปี) โดยอีก 5 เมืองได้แก่ โตเกียว, บอสตัน, เบอร์ลิน, ชิคาโกh และนิวยอร์ค ผู้ชนะการแข่งขัน World Marathon Majors จะได้รับเงินรางวัล $500,000
ผู้เข้าร่วมกว่า 40,000 คน
ผู้จัดงานรายงานว่ามีผู้มารับชุดแข่งเป็นจำนวนถึง 40,382 คนในปีนี้ ทำลายสถิติของปีที่แล้วที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 39,140 คน
สปิริตของนักกีฬาพิการ
ลอนดอนมาราธอนเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของนักกีฬาวีลแชร์ทั้งชายหญิง และนักวิ่งพิการ (เช่น ตาบอด) อีกด้วย เราจะได้เห็นนักวิ่งหลายคนที่มีคนนำทาง (guide runner) ที่ได้รับเสียงเชียร์ล้นหลามจากผู้ชมตลอดเส้นทาง สำหรับการแข่งขันวีลแชร์หญิง ผู้ชนะคือ Manuela Schar จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฝ่าชาย ผู้ชนะคือ David Weir จากประเทศอังกฤษ ที่คว้าแชมป์ไปแล้วถึง 7 ครั้งจากรายการนี้
เคนยาครองแชมป์ทั้งชายหญิง
Mary Keitany จากประเทศเคนยาเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกของการแข่งขันสำหรับนักกีฬามืออาชีพหญิง พร้อมทำลายสถิติโลกที่เวลา 2 ชม. 17 นาที 1 วินาทีอีกด้วย
สำหรับฝ่ายชาย Daniel Wanjiru จากเคนยาเช่นกันที่เวลา 2:05:48 เบียดนักวิ่งจากเอธิโอเปียไปเพียง 9 วินาทีเท่านั้น
รางวัลสำหรับผู้ชนะ
ผู้ชนะการแข่งขันทั้งชายและหญิงจะได้รับเงินรางวัล 55,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณเกือบๆ สองล้านบาท) ในขณะที่อันดับ 2 3 และ 4 จะได้ 30,000; 22,500; และ 15,000 เหรียสหรัฐ ตามลำดับ นอกจากนี้หากสามารถทำเวลาได้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ (2 ชม. 5 นาที สำหรับผู้ชาย และ 2 ชม. 18 นาที สำหรับผู้หญิง) ก็จะได้เงินเพิ่มอีก 100,000 ดอลล่าร์!
นักวิ่งคอสเพลย์
สิ่งที่เป็นสีสันอย่างหนึ่งของลอนดอนมาราธอนคือ จะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันที่แต่งกายด้วยชุดคอสเพลย์หรือชุดแฟนซีฮาๆ เยอะแยะมากมาย หากท่านไปยืนให้กำลังใจนักวิ่งระหว่างเส้นทางการแข่งขันก็จะพบนักวิ่งอารมณ์ดีเหล่านี้ผ่านมาเป็นระยะๆ นี่เป็นตัวอย่างของชุดคอสเพลย์และชุดแฟนซีที่ผมและคนอื่นๆ เจอในการแข่งขันครั้งนี้ครับ
เจ้าชายมาเชียร์
เจ้าฟ้าชายวิลเลี่ยมกับพระชายาเคต และเจ้าชายแฮรี่ มาร่วมพิธีเปิดการแข่งขันและยังคอยให้กำลังนักแข่งระหว่างเส้นทางอีกด้วย
นักกีฬาและดาราก็มาร่วมแจม
ลอนดอนมาราธอนเรียกว่าเป็นรายการที่รวมคนจากทุกหมวดหมู่เลยทีเดียว นอกจากนักกีฬามืออาชีพและนักวิ่งมือสมัครเล่นแล้ว เรายังมีโอกาสได้เจอดาราและนักกีฬาสาขาอื่นมาร่วมวิ่งกะเขาด้วย ตัวอย่างคนดังที่มาร่วมการวิ่งครั้งนี้คือ
Quinton Fortune อดีตนักฟุตบอลสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด วิ่งเพื่อหาเงินบริจาคให้กับ Manchester United Foundation
ลอนดอนมาราธอนจัดขึ้นทุกปี ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิและอากาศไม่ร้อนมาก ใครอยากมาร่วมสัมผัสบรรยากาศการแข่งขัน โดยเข้าร่วมการวิ่งหรือแค่จะมาเกาะรั้วร่วมเชียร์นักวิ่งน่องเหล็กเป็นหมื่นๆ คนก็เตรียมตั๋วเครื่องบินสำหรับปีหน้ากันได้เลยจ้า สำหรับคนที่จะเข้าแข่งปี 2018 ต้องเสียใจด้วยเพราะเขารับสมัครคัดเลือกที่เว็บไซต์ virginmoneylondonmarathon.com และเพิ่งหมดเขตไปเมื่อถึงวันที่ 5 พ.ค. 2017 นี้เอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
marathons.ahotu.com
quora.com
nytimes.com
bbc.co.uk
mirror.co.uk
dailymail.co.uk