“เกือบ 3 สวนลุมพินี เอามาใส่ในนี้ได้” ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้ฟัง ขณะที่เรานั่งรถผ่าน Hyde Park
ท้องฟ้าสีสดใส สายลมพัดโชยอ่อนๆ บรรยากาศเป็นใจให้เราแวะเวียนไปเยี่ยมชม Hyde Park สวนใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่กินพื้นที่ราว 350 เอเคอร์หรือราว 900 ไร่ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ชาวลอนดอนมักจะมาใช้งานเป็นกิจวัตรประจำวันเสมอ
พื้นที่ดังกล่าว เปิดให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าได้ฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 05.00-12.00 น. และกิจกรรมยอดฮิตที่ผู้คนมักมาทำกันที่สวน Hyde Park ก็คือ เดินเล่น ปิกนิก ขี่ม้า ขี่จักรยาน พาน้องหมามาวิ่งเล่น ว่ายน้ำ นอนชมวิว อาบแดด หรือแม้แต่ยืนพูดประท้วงก็ได้
ไหนๆ ก็ได้มีโอกาสไปถึงลอนดอนแล้ว เราเลยอยากพาทุกคนไปชม Hyde Park พร้อมย้อนรอยที่มาของสวนชื่อดัง เพื่อให้เห็นว่าจากสนามล่าสัตว์ของราชวงศ์ กลายมาเป็นสวนสาธารณะของคนทุกหย่อมหญ้าได้อย่างไร และพาไปดูชีวิตของผู้คนที่มีพื้นที่สีเขียวในเมืองแบบเข้าถึงได้ง่ายๆ เป็นอย่างไรบ้าง
กว่าจะมาเป็น Hyde Park ในปัจจุบัน
ก่อนจะมาเป็นสวนให้ประชาชนได้เดินเล่น ชมวิว ทำกิจกรรมต่างๆ กันแบบนี้ พื้นที่ของไฮด์ปาร์กเมื่อราว 900 ปีก่อน เคยเป็นส่วนหนึ่งของคฤหาสน์เอีย และเป็นของนักบวชจาก เวสต์มินสเตอร์แอบบี พระอารามหลวงสำคัญแห่งกรุงลอนดอน พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและต้นไม้ที่เรียงรายสลับกันไป โดยมีฝูงกวาง หมูป่า และกระทิง ใช้ชีวิตกันในละแวกนี้
แล้วในปี 1536 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (Henry VIII) ได้ยึดคฤหาสน์กลับคืนมาจากคณะนักบวช พร้อมขายที่ดินบางส่วนทิ้งไป ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือจะแปลงไปเป็นสนามล่าสัตว์ที่กินบริเวณตั้งแต่เคนชิงตันไปถึงเวสต์มินเตอร์
ในตอนนั้นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ได้ทำรั้วรอบสวนสาธารณะ และยังสร้างเขื่อนเวสต์บอร์นสตรีมขึ้นเพื่อให้เป็นบ่อน้ำสำหรับกวาง แล้วก็จัดประเพณีล่าสัตว์เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชอาคันตุกะและนักการทูตทั้งหลาย ซึ่งประเพณีล่าสัตว์นี้คงอยู่สืบมาจนถึงยุคของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 (ปี 1558-1603)
สภาพของสวนล่าสัตว์นี้ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก จนกระทั่งในปี 1625 หลังจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงจัดแจงให้มีเส้นทางเป็นวงกลมที่ถูกเรียกว่า ‘Ring’ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหล่าสมาชิกของราชสำนักสามารถขับรถม้าของพวกเขาได้
แล้วในปี 1637 สวนแห่งนี้ก็ถูกเปิดเป็นสถานที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ และกลายเป็นแหล่งพักพิงยอดนิยมของผู้คนที่จะมาเยี่ยมชม โดยเฉพาะในวันแรงงาน ซึ่งในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองที่อังกฤษ กองทหารของรัฐสภาได้สร้างป้อมปราการในสวนสาธารณะ พวกเขาขุดกำแพงป้องกันทางด้านตะวันออกเพื่อช่วยปกป้องเมืองเวสต์มินสเตอร์จากการโจมตีของฝ่ายราชานิยม
เสริมแทรกประวัติศาสตร์คร่าวๆ ว่า หลังเกิดสงครามกลางเมือง อังกฤษเคยอยู่ในยุคที่ไร้กษัตริย์เป็นช่วงเวลาสั้นๆ กลุ่มที่ขึ้นมาปกครองอังกฤษนี้เรียกว่ากลุ่มคอมมอนเวลท์ (Commonwealth) ปกครองได้ราว 1 ทศวรรษ สถาบันกษัตริย์ก็กลับคืนอำนาจมาสู่อังกฤษอีกครั้ง
พอพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กลับมาครองราชย์ในปี 1960 ก็ทรงเปลี่ยนจากรั้วไม้เป็นกำแพงอิฐ และนำเหล่ากวางกลับมาอยู่ที่สวนนี้อีกครั้ง พร้อมจัดให้มีขบวนเดินรถอย่างโอ่อ่า จากนั้น ในยุคที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระราชินีแมรี่ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1689 สวนแห่งนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนทัศนียภาพอีกครั้ง ทั้งคู่ซื้อบ้านนอตติงแฮมซึ่งอยู่บริเวณขอบด้านตะวันตกของสวนสาธารณะ และเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชวังเคนซิงตัน รวมถึงสร้างเส้นทางขบวนผ่านไฮด์ปาร์ค พร้อมจุดตะเกียงน้ำมันกว่า 300 ดวงบริเวณถนน กลายเป็นถนนเส้นแรกที่มีไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน ถนนเส้นนี้ถูกเรียกว่า King’s Road ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Rotten Row ในภายหลัง
ความเปลี่ยนแปลงของสวน Hyde Park ยึดโยงกับราชวงศ์อังกฤษอยู่เสมอ อย่างในยุคของพระเจ้าจอร์จที่ 4 (ปี 1820 – 1830) ผู้ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหลงใหลในศิลปะและสถาปัตยกรรม พระองค์ทรงสร้างประตูทางเข้าสวนขนาดใหญ่ที่ Hyde Park Corner หรืออย่างในปี 2004 ก็มีการสร้างอนุสรณ์น้ำพุที่รายล้อมไปด้วยดอกไม้หลากสายพันธุ์ เพื่อรำลึกให้กับเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ด้วยเช่นกัน
นานับกิจกรรมใน Hyde Park
ความครื้นเครงจะมาเยี่ยมเยียนสวนแห่งนี้เป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ แสงแดดสีส้มสาดทอทั้งสนามหญ้าและสวนเล็กๆ ทั่วทั้งพื้นที่ Hyde Park ให้งดงามยิ่งขึ้น
กิจกรรมนานับประเภทเกิดขึ้นภายใต้พื้นที่กว่า 885.5 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งออกกำลังกาย ให้อาหารสัตว์ (ในบางโซน) ขี่จักรยาน ขี่ม้า พาน้องหมามาวิ่งเล่น ปิกนิค ถ่ายภาพ วาดรูป นัดเดท ไปจนถึงการขึ้นกล่าวคำประท้วงในทุกๆ วันอาทิตย์
เราเดินผ่านประตู Victoria เพื่อเข้าไปเยี่ยมชมพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงลอนดอน ถนนหนทางถูกแยกไว้อย่างชัดเจนว่า เลนไหนให้ไว้สำหรับรถยนตร์ขับผ่าน เลนไหนสำหรับผู้ที่ต้องการขี่จักรยานรอบสวน และเลนไหนสำหรับคนที่ต้องการวิ่งหรือเดินออกกำลังกาย
เดินถัดไปไม่ไกล มีพื้นที่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสุสานฝังศพให้กับเหล่าสัตว์เลี้ยงในลอนดอน ซึ่งสัตว์เลี้ยงตัวแรกที่ถูกฝังอยู่ในพื้นที่แห่งนี้คือ ‘เชอร์รี่’ สุนัขพันธุ์มอลตาที่ลาจากไปด้วยเนื่องด้วยความทุพพลภาพในวัยชรา ในช่วงเวลาที่เชอร์รี่ มันมักมาวิ่งเล่นในสวน Hyde Park กับเจ้านายอยู่เสมอ ป้ายหลุมศพของน้องถูกจารึกว่า “Poor Cherry. Died April 28, 1881” จากนั้น แนวคิดนี้ก็แพร่กระจายต่อไปในกลุ่มผู้มีอันจะกินของลอนดอน
แม้แต่ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชื่อดังผู้ประพันธ์เรื่อง 1984 และ Animal Farm ยังเคยกล่าวถึงสุสานแห่งนี้ไว้ด้วย แต่เขามองว่า สุสานสัตว์เลี้ยงในสวน Hyde Park นี้ถือเป็น “ทัศนียภาพที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในสหราชอาณาจักร”
สุสานสัตว์เลี้ยงในสวน Hyde Park เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มาฝังศพสัตว์เลี้ยงคู่ใจกันจนถึงปี 1903 ก่อนที่สุสานจะถูกปิดลงอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยป้ายหลุมศพสัตว์เลี้ยงกว่า 300 แห่ง
ตามข้อมูลที่เราหามาก่อนไปถึงสวนนั้น พื้นที่ดังกล่าวจะต้องรายล้อมไปด้วยป้ายหลุมศพที่ทำจากหินขนาดเล็กๆ เรียงรายกัน เราเปิดกูเกิ้ลแมพพร้อมเดินตามอย่างที่คาดหวังว่าจะได้ชมสุสานแห่งนี้อย่างเต็มตา แต่เดินผ่านไปรอบหนึ่ง แมพก็บอกให้ถอยหลังกลับ พอย้อนเส้นทางกลับไป ก็เลยอีกก้าวหน้าถอยหลังอยู่ 2-3 รอบ ก่อนยอมแพ้แล้วถามข้อมูลกับคนในละแวกเพื่อพบว่า สุสานดังกล่าวไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมแล้ว และแต่หากจะดูให้ได้จริงๆ ก็ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าชมเป็นเวลาเพียง 1 ชั่วโมง โดยรอบนึงจะเข้าได้ 6 คน และมีค่าใช้จ่าย 60 ปอนด์ หรือราว 2,600 บาท
พอได้ยินราคาแล้วก็ไม่อยากจะอาลัยอาวรณ์ต่อ เราส่องผ่านพุ่มไม้ตรงนั้นแล้วโบกมือทักทายเหล่าสัตว์เลี้ยงพอเป็นพิธี ก่อนจะเดินหน้าไปยัง Italian Gardens สวนชื่อดังที่ขึ้นชื่อเรื่องความงดงามและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอายุราว 150 ปี
นักท่องเที่ยวจำนวนมากมักมาถ่ายรูปเล่นที่สวนดังกล่าว ขณะที่ชาวลอนดอนเองก็จะพาสัตว์เลี้ยงมาเดินชม บ้างก็นั่งปิกนิกกับครอบครัวหรือคู่รัก แถมใกล้ๆ กันนั้นยังมีคาเฟ่ Italian Gardens ให้ผู้คนแวะเติมพลังระหว่างใช้เวลาอยู่ในสวนได้อีกด้วย
ส่วนยามเช้า มีผู้คนมาใช้บริการ Hyde Park น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนมากมักเป็นการพาน้องหมามาเดินเล่น ไม่ก็วิ่งหรือขี่จักรยานออกกำลังกายกันเป็นหลัก
มาถึงตรงนี้ก็ขอเสริมเกร็ดเล็กๆ ว่า ที่อังกฤษมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า เจ้าของสุนัขต้องพาน้องไปวิ่งออกกำลังกายในทุกๆ วัน ไม่ว่าวันนั้นจะมีสภาพอากาศอย่างไรก็ตาม เพื่อสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง ดังนั้นแล้ว เราจึงได้เห็นสุนัขหลากสายพันธุ์ถูกจูงสายออกมาเดินเล่นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งลอนดอน และในสวน Hyde Park แห่งนี้ เจ้าของก็สามารถปลดสายจูง (ในบางจุด) เพื่อให้เหล่าสุนัขวิ่งเล่นได้อย่างสบายใจ
พอผู้คนบางตา ก็ทำให้เห็นว่า นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมาใช้สอยแล้ว สวน Hyde Park ยังเต็มไปด้วยสัตว์นานับชนิด ทั้งเหล่ากระรอกที่ยึดจองต้นไม้แทบทุกต้นในพื้นที่สวน สัตว์ปีกหลากหลายสายพันธุ์ เช่น เหยี่ยวทะเลทราย เหยี่ยวเคสเตรล เหยี่ยวนกเขา นกติ๊ดหางยาว หงส์ขาว ห่านป่าอียิปต์ นกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ และนกกระสานวล เป็นต้น
กลางทุ่งโล่งๆ ที่ไร้ผู้คนในช่วงเช้า ฝูงห่านป่าอียิปต์จับจองพื้นที่หาอาหารกันอย่างขะมักเขม้น ต้องยอมรับว่า ความทรงจำจากห่านในไทย ที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุดัน ทำให้เราแอบระแวงฝูงห่านป่าอิยิปต์อยู่ไม่น้อย เราพยายามไม่ทำท่าทีคุกคามแก๊งห่านที่ครองพื้นที่อยู่ตรงนั้น แต่ฝ่ายห่านเองก็ดูจะระแวงเราที่ก้มตัวถ่ายรูปพวกมันอยู่ไม่น้อย ทำให้เราคิดได้ว่า หากเราไม่ไปแหย่อะไร ก็คงไม่โดนโจมตีหรอก (มั้ง)
หลังจากผ่านดงห่านป่าไปแล้ว ก็มาถึงทะเลสาบผืนยาวที่ทอดผ่านพื้นที่ Hyde Park กินพื้นที่ 40 เอเคอร์ หรือราว 101 ไร่ ตรงจุดนี้เราเห็นทั้งคนที่มาให้อาหารหงส์และห่าน คนที่วิ่งออกกำลังกาย พายเรือ และคนที่มาวาดรูปสีน้ำเก็บบันทึกความสวยงามของทะเลสาบเซอร์เพนไทน์
ทะเลสาบเซอร์เพนไทน์นี้ ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์เด่นของสวน Hyde Park ทะเลสาบดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1730-1733 ซึ่งนอกเหนือไปจากทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว ทะเลสาบแห่งนี้ยังเป็นต้นแบบของทะเลสาบอื่นๆ ในสวนสาธารณะทั่วทุกแห่งของประเทศอังกฤษด้วย
เราลัดเลาะตามทางมาเรื่อยๆ ผ่านน้ำพุอนุสรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเจ้าหญิงไดอาน่า ผ่าน Serpentine Lido ซึ่งเป็นจุดพักผ่อนริมทะเลสาบที่ให้ประชาชนไปว่ายน้ำหรืออาบแดดได้ (แต่ตอนเราไป มันยังไม่เปิด จึงไม่ได้เห็นบรรยากาศแบบนั้น) เดินเลียบทะเลสาบมาเรื่อยๆ แล้วมาแวะชมความสวยงามของสวนกุหลาบซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ Hyde Park
สวนกุหลาบแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1994 รายล้อมไปด้วยพืชพรรณดอกไม้นานับชนิด ซึ่งเว็บไซต์ The Royal Parks ระบุว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะชมดอกกุหลาบบานสะพรั่ง คือช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเราได้ไปดูก็ช่วงปลายหน้าร้อนก่อนเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้ว ถึงอย่างนั้น สวนแห่งนี้ก็ยังคงความสวยงามเอาไว้ได้อยู่ดี
น่าเสียดายที่เราไม่ได้แวะมาชมสวน Hyde Park ในช่วงเวลาที่มีคนมา ‘ไฮด์ปาร์ก’ กัน ซึ่งเดวิด ไกด์ท้องถิ่นในอังกฤษเล่าให้ฟังว่า การไฮด์ปาร์ก จะเกิดขึ้นทุกๆ วันอาทิตย์ที่ Speakers’ Corner ซึ่งจะมีซุ้มขายอาหารตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน
“เขาจะมีแท่นหรือเก้าอี้เอามาไว้รองเท้า แล้วก็ใช้โทรโข่งพูด ไม่พอใจใครก็ด่าได้เต็มที่ ไม่มีความผิด เพราะถือว่าเท้าไม่ได้เหยียบบนแผ่นดินอังกฤษ” เดวิดกล่าว
เดวิดเล่าว่า ราว 250 ปีก่อน พื้นที่ตรงนี้จะไว้ให้ลงโทษด้วยการแขวนคอผู้กระทำ ซึ่งก่อนที่นักโทษจะโดนแขวนคอ พวกเขาจะได้รับโอกาสสุดท้ายให้พูดอะไรก็ได้ ขณะที่ผู้คนก็สามารถซื้อตั๋วเพื่อมารอชมการประหารในที่ดังกล่าวได้เช่นกัน
แต่ปัจจุบัน การแขวนคอในจุดนี้ได้หายไปแล้ว ถึงอย่างนั้น ประเพณีประท้วงก็ฝังรากลึกไปแล้ว ซึ่งในปี 1872 กฎหมายว่าด้วยระเบียบสวนสาธารณะ ได้มอบสิทธิในการพบปะและพูดอย่างอิสระในพื้นที่ Hyde Park แม้กฎหมายจะกำหนดพื้นที่ไว้กว้างขวาง แต่ประชาชนจำนวนมากก็มักจะมาไฮด์ปาร์กกันที่ Speakers’ Corner อยู่ดี
แม้ว่า Hyde Park กินพื้นที่กว้างขวางมากๆ ในกรุงลอนดอน แต่สวนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร คือ Richmond Park ซึ่งมีพื้นที่ 2,500 เอเคอร์ หรือราว 6,325 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีสวนเล็กใหญ่ประปรายอยู่ตามที่ต่างๆ เสมอ อย่างเช่น key garden ซึ่งเป็นสวนที่จะล้อมรั้ว ใส่กุญแจเอาไว้ ให้ผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้นๆ ไปใช้สอยได้ โดยแต่ละบ้านจะมีกุญแจสำหรับสวน และผู้ที่มีกุญแจเท่านั้นที่จะเข้าได้
นอกจากนี้ ลอนดอนก็กำลังจะกลายเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ (National Park City) แห่งแรกของโลกด้วย ด้วยแนวคิดที่มองว่า ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ไม่ใช่แค่ว่า ‘มีก็ดี’ เท่านั้น โดยลอนดอนตั้งเป้าจะทำให้ 50% ของเมืองกลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้ได้ภายในปี 2050
เพื่อการนี้ชาวเมืองจะถูกขอความร่วมมือให้ปลูกต้นไม้หรือหญ้าตามพื้นที่ต่างๆ เช่น บริเวณหน้าบ้าน หลังคา และสวนหลังบ้าน รวมถึงต้องมีการขุดหลุมรั้วบ้านเพื่อให้สัตว์ตามธรรมชาติ เช่น เม่น ตัวตุ่น สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระด้วย
“ลอนดอนไม่ใช่แค่เมือง แต่เป็นภูมิทัศน์” แดเนียล ราเวน-เอลิสัน (Daniel Raven-Ellison) หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการเมืองอุทยานแห่งชาติกล่าว
เขายังบอกอีกว่า ภูมิทัศน์ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่ของคนเกือบ 9 ล้านคน (ที่อยู่ในลอนดอน) เท่านั้น แต่ยังเป็นของต้นไม้อีกหลายต้น เราแบ่งปันเมืองนี้กับสิ่งมีชีวิตอีก 15,000 สายพันธุ์ และชีวิตเหล่านี้มีค่าไม่น้อยไปกว่าชีวิตอื่นๆ ที่ผู้คนเห็นในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป
กรุงลอนดอน ถือเป็นอีกหนึ่งมหานครที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 19 ตารางเมตรต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าต้องมี 9 ตารางเมตรต่อคน และพื้นที่สีเขียวของลอนดอนยังกินบริเวณมากกว่า 1ใน 3 ของเมือง ต่างจากพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ที่ WHO ประเมินไว้ว่า น่าจะมีเพียง 2.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้ยังให้ประชาชนเข้าไปใช้งานได้จริงๆ อีกด้วย ต่างจากของไทยที่ไปนับรวมเอาเกาะกลางถนน และไม่ได้นำเอาจำนวนประชากรแฝงมาคิดในการคำนวณพื้นที่สีเขียวด้วย ยิ่งกว่านั้น ระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ราว 4.5 กิโลเมตรด้วย ต่างจากอังกฤษที่แค่เดินไม่ถึงกิโลฯ ก็เข้าใช้พื้นที่สีเขียวได้แล้ว
จะเห็นได้ว่าสวนสาธารณะ ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่ได้เป็นแค่สถานที่ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมหลากหลายที่พลเมืองทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึง ทั้งยังเป็นตัวช่วยเสริมคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับประชาชนอีกด้วย
อ้างอิงจาก