สถานที่นัดหมายอันดับหนึ่งของดิฉันกับบรรดาชาวไทยที่จะมาเที่ยวลอนดอนเป็นครั้งแรกนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก บิ๊กเบน ไม่มีที่ไหนที่จะได้ยินเสียงภาษาไทยชัดแจ๋วเท่าบิ๊กเบน “เร็วๆ สิแก” “เฮ้ย ข้ามถนนแล้ว” “อย่าบังๆ” “แล้วพี่เขามาไม่ได้เหรอ” สารพัด นัดที่บิ๊กเบนไม่มีทางหลง ไม่มีทางพลาด ให้คนไทยแถวนั้นช่วยหาคนที่เรานัดยังได้เลย
มุมบังคับที่ทุกคนชอบถ่ายภาพคือการไปยืนบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Bridge) แล้วหันหลังให้บิ๊กเบน ให้รัฐสภาอังกฤษ หรือ Palace of Westminster เพื่อเป็นภาพยืนยันว่ามาถึงอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ถ่ายรูปไปก็ต้องระวังมิจฉาชีพไปด้วย เพราะแถวนั้นก็พอมีอยู่ เนื่องจากเป็นจุดยอดฮิตของนักท่องเที่ยว
ทุกครั้งที่เราหันหลังให้บิ๊กเบน หันหน้าให้กล้อง แล้วเดินออกจากสะพานเพื่อจะไปเที่ยวที่อื่นต่อ บางคนก็อาจจะข้ามไป ลอนดอน อาย (London Eye) บางคนก็อาจจะเดินย้อนไปโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ หลายๆ คนคงอาจจะไม่ได้สังเกตแผ่นโลหะแผ่นหนึ่ง ที่แปะอยู่บนราวสะพานเวสต์มินสเตอร์ เขียนกลอนประกอบกับชื่อกวีคนหนึ่งที่ชื่อ วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) กลอนชื่อ Composed upon Westminster Bridge, September 3, 1802 (หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ประพันธ์บนสะพานเวสต์มินสเตอร์ 3 กันยายน พ.ศ. 2345) หลายคนอาจจะอุ๊ย กลัวจัง กลอนภาษาอังกฤษ จะยากไหม กลอนภาษาไทยยังอ่านไม่รู้เรื่องเลย ถ้าอย่างงั้น ยากค่ะ แต่กลอนบทนี้ค่อนข้าง (ย้ำว่าค่อนข้าง) จะตรงไปตรงมา และแน่นอน แปะอยู่ตรงนี้ ก็ต้องพูดถึงลอนดอน พูดถึงแม่น้ำเทมส์ ชื่อกลอนก็บอกว่าเขียนบนสะพานนี้แหละ ลองดูนะคะ ภาษาอาจจะโบราณหน่อย (th ทำหน้าที่เหมือน s ที่ตามท้ายกริยาที่เป็นเอกพจน์ ใน present simple tense ‘doth’ ก็คือ ‘does’ นั่นเอง) เดี๋ยวจะถอดความประกอบ
Earth has not anything to show more fair:
Dull would he be of soul who could pass by
A sight so touching in its majesty:
This City now doth, like a garment, wear
The beauty of the morning; silent, bare,
Ships, towers, domes, theatres, and temples lie
Open unto the fields, and to the sky;
All bright and glittering in the smokeless air.
Never did sun more beautifully steep
In his first splendour, valley, rock, or hill;
Ne’er saw I, never felt, a calm so deep!
The river glideth at his own sweet will:
Dear God! the very houses seem asleep;
And all that mighty heart is lying still!
ถอดความ (อาจสลับบางคำไว้คนละบรรทัดเพื่อให้เนื้อหาของกลอนต่อเนื่องกันและเป็นไปตามไวยากรณ์ภาษาไทย)
โลกหาได้มีสิ่งใดงามกว่า
จิตใจผู้นั้นคงหม่นมัวหากเห็น
ทิวทัศน์อันตระการจับใจแล้วผ่าน
เลยไป บัดนี้พระนครได้ห่มคลุม
ความงามยามเช้า ราวภูษา เงียบและเปล่าเปลือย
เรือ หอคอย โดม โรงละคร และวิหาร ทอด
ตัวสู่ท้องทุ่ง สูงเสียดฟ้า
ทุกสิ่งล้วนเจิดจ้าส่องประกายในอากาศไร้ควัน
ดวงตะวันไม่เคยขึ้นลับเหลี่ยมหุบผา โขดเขา
หรือเนินแล้วงามในยามเช้าได้เท่านี้
เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้สึก ถึงความสงบอันลึกเช่นนี้
แม่น้ำนั้นก็ล่องไปตามใจปรารถนา
พระเจ้า บ้านเหล่านั้นก็ล้วนแต่ดูหลับใหล
และหัวใจอันทรงพลังอำนาจก็ยังคงแน่นิ่ง
อ่านจบอาจจะพอเข้าใจแล้วว่ามีกลอนบทนี้ไว้ทำไม แน่นอน นี่คือกลอนชมโฉมกรุงลอนดอน ที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1802 ทิวทัศน์ที่มองจากสะพานเวสต์มินสเตอร์ หลายๆ คนก็คงชอบชมวิวริมแม่น้ำของกรุงลอนดอนเหมือนกัน ในกลอนก็เป็นวิวตอนเช้า งดงาม กลอนบทนี้เคยเป็นกลอนที่ชาวลอนดอนจำนวนมากชื่นชอบ และกลายเป็นบทกลอนที่ชาวลอนดอนหลายคนยกไปแชร์ในทวิตเตอร์ และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย บางคนใช้ต้นฉบับเพื่อเน้นย้ำว่าลอนดอนยังคงเป็นเมืองที่งดงามสำหรับพวกเขา แต่บางคนก็ปรับกลอนบทนี้นิดหน่อย บอกว่าความงามของลอนดอนเกิดจากการช่วยเหลือของผู้คนอาชีพต่างๆ ที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข แทนที่จะบอกว่ามีตึกรามบ้านช่องสวยงาม
แต่รู้สึกไหมว่าทำไมลอนดอนในกลอนบทนี้แปลกๆ …ชาวลอนดอนอยู่ที่ไหน?
ลอนดอนอันงดงามของเวิร์ดสเวิร์ธไม่มีชาวลอนดอนเลยแม้แต่น้อย ความงามของลอนดอนในสายตาของเวิร์ดสเวิร์ธคืออะไรกันแน่ สรุปแล้วลอนดอนงามหรือไม่งาม ความไม่งามเหล่านั้นมาจากไหนกันแน่
อีกอย่าง หลายๆ คนที่สนใจกลอนหรือเคยเรียนวรรณคดีอังกฤษมาบ้างก็คงจะงงๆ ว่า เอ… วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ กวีผู้บูชาธรรมชาติ ทำไมมาเขียนกลอนถึงลอนดอน เมืองใหญ่ ศูนย์กลางจักรวรรดิอังกฤษในสมัยนั้นเสียได้ แถมชื่นชมอีกต่างหาก เวิร์ดสเวิร์ธไม่ได้เขียนถึงลอนดอนแค่ครั้งเดียวนะคะ ลองดูอีกสักตัวอย่าง ขออนุญาตตัดตอนแรกๆ ของกลอนบทนี้มา กลอนบทนี้ชื่อ London, 1802 เวิร์ดสเวิร์ธขึ้นต้นกลอนด้วยชื่อมิลตัน ซึ่งหมายถึง จอห์น มิลตัน กวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่สิบเจ็ด และได้กล่าวว่า
Milton! thou shouldst be living at this hour:
England hath need of thee: she is a fen
Of stagnant waters: altar, sword, and pen,
Fireside, the heroic wealth of hall and bower,
Have forfeited their ancient English dower
Of inward happiness. We are selfish men;
Oh! raise us up, return to us again;
And give us manners, virtue, freedom, power.
…
มิลตัน! ท่านควรมีชีวิตอยู่ ณ โมงยามนี้
อังกฤษต้องการท่าน เธอนั้นเป็นที่ชื้นแฉะ
เต็มไปด้วยน้ำเน่าขัง แท่นบูชา ดาบและปากกา
เตาผิง เคหาสน์ห้องหับมโหฬาร รางวัลจากวีรกรรมใหญ่
ได้ปิดกั้นมรดกแห่งความสุขสงบในจิตใจ
จากแผ่นดินอังกฤษโบราณ เรานั้นเห็นแก่ตัว
ได้โปรด ปลุกเราเถิด กลับมาหาเราอีกครั้ง
แล้วมอบมารยาท ศีลธรรม อิสรภาพและอำนาจให้แก่เรา
….
เอาจริงๆ เวิร์ดสเวิร์ธต้องพึ่งพาผู้อ่านชาวลอนดอนและได้เรียนรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมจากลอนดอนมามากมาย ลอนดอนก็ถือเป็นดินแดนแห่งประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับเขา เพราะแบบนี้หรือเปล่า ลอนดอนถึงทั้งสวยงามและทั้งอัปลักษณ์สำหรับเขา สำหรับดิฉันเอง ดิฉันก็คิดว่าใช่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เราอาจอ่านกลอนบทแรกของเวิร์ดสเวิร์ธได้ในหลายๆ ทาง และทางหนึ่งก็คือ ลอนดอนไม่ได้สวยงามอย่างเดียว และความไม่สวยงามของลอนดอนนั้นซ่อนแฝงอยู่โดยการจงใจไม่บอกว่าไม่สวย สิ่งที่ไม่ปรากฏดูเหมือนจะปรากฏชัดเจนเกินไป หากมองด้วยบริบท (เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปนะคะ) การพิจารณากลอนของเวิร์ดสเวิร์ธ ที่แปะอยู่ข้างๆ สะพานเวสต์มินสเตอร์อาจช่วยให้เราเห็นด้วยว่า ความอัปลักษณ์ของเมืองต่างๆในโลกนี้ มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง การอ่านและตีความกลอนตรงนี้อาจทำให้ทุกท่านมึนงงและประหลาดใจบ้าง แต่กวีภาษาอังกฤษหลายๆ คนมักจะเล่นกับรูปคำ บรรทัด ความต่อเนื่อง คนละรูปแบบกับกวีนิพนธ์ไทย ไม่ใช่ว่ากวีนิพนธ์ไทยไม่เล่นนะคะ แค่คนละแบบกันเฉยๆ
เราลองมองย้อนกลับไปที่ ค.ศ. 1802 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เวิร์ดสเวิร์ธกล่าวถึง แน่นอนว่ายังไม่มีลอนดอนอาย และยังไม่มีตึกอะไรบังให้เรามองไม่เห็นโบสถ์เซนต์พอล (โบสถ์ในกลอนน่าจะเป็นเซนต์พอล) ณ บริบทปี 1802 อังกฤษนั้นได้รวมตัวกับไอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวกัน ใช้ชื่อว่า บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อต่อสู้กับนโปเลียน ศัตรูตัวฉกาจที่แทบทั้งยุโรปต่อต้าน การสู้รบกับนโปเลียนไม่ได้ทำไปเพื่อปราบนโปเลียนอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง รวมทั้งการต่อสู้แย่งชิงฉกฉวยดินแดนอาณานิคมต่างๆ การรบจึงไม่ใช่การปราบผู้ร้าย แต่เป็นการแสดงอำนาจและหาทางเจรจาตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ หลังจากรุมกินโต๊ะ ‘ศัตรู’ ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ช่วงเวลานี้ อังกฤษได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว กรุงลอนดอนกลายเป็นมหานครที่มีผู้คนขวักไขว่ คนงานจากต่างจังหวัด ต่างประเทศเดินทางเข้าออกกรุงลอนดอนกันเป็นปกติ
เวิร์ดสเวิร์ธกำลังบอกเราหรือเปล่าว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ลอนดอนจะสวยงามมาก
ลองดูจากกลอน ซึ่งไม่ได้บรรยายคนเลย ประโยคหนึ่งที่สะดุดตามาก คือ “แม่น้ำนั้นก็ล่องไปตามใจปรารถนา” หรือ “The river glideth at his own sweet will:” ประโยคนี้จะเขียนทำไม แม่น้ำที่ไหนจะไม่ไหลเอง ราวกับว่า ปกติแล้ว แม่น้ำเทมส์จะโดนดันให้ไหลไปในทิศทางต่างๆ อย่างงั้นแหละ แต่ถ้าเราคิดว่าแม่น้ำเทมส์เป็นส่วนสำคัญของกรุงลอนดอน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่สิบเก้า กรุงลอนดอนก็ไม่ได้อยู่ไกลทะเลเลย ติดทะเลด้วยซ้ำในบางจุด ฉะนั้นแล้ว แม่น้ำเทมส์ก็ย่อมต้องมีเรือแล่นเข้าออกอยู่เสมอๆ เรือย่อมเต็มไปด้วยสินค้า ผู้คนมากมายเดินขวักไขว่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือมาเลย์ การบอกว่า “แม่น้ำล่องไปตามใจปรารถนา” ก็อาจหมายถึงการไม่มีเรือเหล่านี้แล่นไปแล่นมาเต็มลำน้ำหรือเปล่า ความงามที่เกิดจากการไม่มีเรือสินค้า อาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างมากจนส่งปัญหาแบบที่เวิร์ดสเวิร์ธเองได้บอกไว้ในกลอนถึงมิลตันหรือเปล่า
คำต่อไปที่ดิฉันสนใจคือคำว่า mighty หรือที่ดิฉันแปลว่า ทรงพลังอำนาจ นั้น เป็นคำที่ยิ่งใหญ่และแสดงอำนาจ หากมองในบริบทของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เวิร์ดสเวิร์ธบอกว่าหัวใจอันทรงอำนาจนั้นยังหลับใหล นั่นอาจแปลว่าอำนาจในการคุกคาม ยึดครอง หรือเอาชนะผู้อื่นยังไม่ตื่นขึ้นในยามเช้านี้ คำนาม might ที่กลายเป็นคำวิเศษณ์ mighty นั้นอาจเชื่อมโยงกับการทหารได้ด้วย เพราะฉะนั้นลอนดอนที่งดงามคือลอนดอนที่พลังอำนาจแห่งการกดขี่ข่มเหงคนอื่นนั้นหลับใหลอยู่ เราอาจมองว่าเวิร์ดสเวิร์ธให้ความสำคัญกับพลังของผู้คนที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศให้ยิ่งใหญ่งดงามก็ได้ แต่… ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ใส่คนเข้าไปในกลอนตั้งแต่แรก
วลีที่บอกว่า “smokeless air” หรือ “อากาศไร้ควัน” นั้นเป็นที่งุนงงสงสัยของนักวิจารณ์หลายคนว่าเวิร์ดสเวิร์ธไปเห็นภาพแบบนี้ตอนไหนกันแน่ หรือเห็นได้อย่างไร ความเห็นของดิฉันคือ เขาอาจไม่ได้เห็นมันเป็นแบบนั้นก็ได้ ในเชิงประวัติชีวิตส่วนตัวของเวิร์ดสเวิร์ธนั้น เขากล่าวว่ากลอนบทนี้เขียนขึ้นเมื่อกำลังเดินทางกับน้องสาว ซึ่งมีชื่อว่า โดโรธี เวิร์ดสเวิร์ธ (Dorothy Wordsworth) ด้วยรถม้า ไปยังโดเวอร์ ซึ่งเป็นทีต่อเรือไปยังฝรั่งเศสในสมัยนั้น เพื่อไปหาลูกสาวนอกสมรสชาวฝรั่งเศส และแจ้งเธอว่าเขากำลังจะแต่งงานกับผู้หญิงอังกฤษ เวิร์ดสเวิร์ธนั้นเป็นเจ้าของคำพูดที่ว่า All good poetry is the spontaneous overflow of powerful feelings หรือ กวีนิพนธ์ที่ดีงามทุกบทนั้นคือการไหลล้นเฉียบพลันของอารมณ์อันทรงพลัง ฟังดูเหมือน เห็นปุ๊บ รู้สึกปั๊บ คว้าสมุด เขียนกลอนเลย แต่หลายๆ บท เวิร์ดสเวิร์ธก็ใช้วิธีรำลึกถึงประสบการณ์นั้น ใช้ความทรงจำ ที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนจะเขียนลงไป ไม่ว่าจะบทกลอนดอกแดฟโฟดิลอันโด่งดัง (“I wandered lonely as a cloud.”) หรือบทกลอนเขียนขึ้นเหนือโบสถ์ทินเทิร์นสองสามไมล์ ว่าด้วยการย้อนกลับไปยังตลิ่งแม่น้ำวายระหว่างเดินทางท่องเที่ยว 13 กรกฎาคม 1798 (Lines written a few miles above Tintern Abbey, on revisiting the banks of the Wye during a tour, 13 July 1798)
งานเขียนของเวิร์ดสเวิร์ธหลายๆ ชิ้นไม่ได้ฉับพลันจริงๆ มักจะเขียนหลังจากที่ได้ประสบพบเจออะไรอย่างน้อยหนึ่งถึงสองเดือน อย่างชิ้นนี้ก็เป็นได้ว่าเวิร์ดสเวิร์ธอาจจะเขียนหลังจากที่เห็นเหตุการณ์ได้สักพัก แถมกลอนบทนี้ยังสัมพันธ์กับบันทึกของน้องสาว ผู้ซึ่งเวิร์ดสเวิร์ธมองว่าเป็นดวงตาให้เขามาตลอด เวิร์ดสเวิร์ธจึงอาจประกอบกลอนบทนี้ขึ้นมาจากหลายแหล่ง และอาจไมได้เขียนจากภาพที่เขียนตรงหน้า (แน่นอนว่าการเขียนอะไรก็ตาม มันไม่มีทางที่จะออกมาอย่างฉับพลันทันทีอยู่แล้ว แม้แต่การเขียน ณ เดี๋ยวนั้น มันก็ต้องผ่านการหยิบปากกา ดินสอ การใช้ตามอง ใช้ภาษาเขียน ผ่านอุดมการณ์ความคิดความเชื่อ พอเถอะ ยาวจัง 555) การบอกว่าลอนดอนนั้นไร้ควันนั้นแทบเป็นไม่ได้ หากพระอาทิตย์กำลังขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นหกโมงหรือเจ็ดโมงเช้า ร้านรวงหรือตลาดน่าจะเริ่มทำงานกันแล้ว ต้องมีควันจากเตาผิงบ้างไม่มากก็น้อย เป็นไปไม่ได้ที่จะไร้ควัน หรือสิ่งที่เวิร์ดสเวิร์ธเห็นนั้นอาจเป็นเพียงชั่วขณะเดียว เมื่อรถม้าแล่นผ่านไปเท่านั้น
ใช่ว่าลอนดอนจะไม่งามเลย แต่เวิร์ดสเวิร์ธอาจจะยังแสดงความกังขาเกี่ยวกับการเป็นเมืองมายาของลอนดอน (นำแสดงโดยชาคริต แย้มนาม คัทลียา แมคอินทอช และนุสบา วาณิชอังกูร #ผิด) เหมือนว่าเป็นเมืองแห่งแสงสี หลอกลวง มีผู้อ่านคนหนึ่งเคยถามเวิร์ดสเวิร์ธว่า ถ้ากรุงลอนดอนสวมเสื้อผ้าแล้ว ทำไมถึง ‘เปล่าเปลือย’ (bare) ได้อยู่ เราอาจตอบคำถามนี้โดยบอกว่า อ๋อ silent กับ bare มันขยาย Ships อะไรพวกนั้นไง มันข้ามบรรทัด บรรทัดอื่นๆยังข้ามเลย แต่การจงใจจัดวางให้คำว่า ‘bare’ ที่แปลว่าเปลือยเปล่า สัมผัสกับคำว่า ‘wear’ ที่แปลว่าสวมใส่นี่ตั้งใจเกินไปหรือเปล่า ทำไมเอาคำที่มีความหมายตรงข้ามกันวางไว้ด้วยกันล่ะ สำหรับดิฉันแล้ว นี่อาจเป็นการสะท้อนความกังขาในใจเวิร์ดสเวิร์ธที่อาจมีอคติกับกรุงลอนดอนไม่มากก็น้อย แต่ก็พิศวงกับความนิ่ง (ในชั่วขณะเดียว) ของเมือง ราวกับว่าเมืองนั้นทั้งห่มคลุม ปกปิด ไม่จริงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็เงียบสงัด เปลือยเปล่า ราวกับจะบอกว่าสิ่งที่เราเห็น คือความจริง คือแก่นแท้ของกรุงลอนดอน การมีมายาแต่ก็เหมือนไร้เดียงสา หรือความไร้เดียงสาที่เหมือนมีมายา ย่อมชี้ให้เห็นความกังวลใจเกี่ยวกับกรุงลอนดอน ว่างามจริงบริสุทธิ์จริงอย่างที่เห็นหรือไม่
การสร้างภาพกรุงลอนดอนที่สวยงามแต่ไม่มีคนในกลอนบทนี้จึงอาจมองได้สองอย่าง มองว่าเวิร์ดสเวิร์ธดัดจริต รับความสกปรกของเมืองและชนชั้นแรงงานไมได้ หรือจะมองว่า เวิร์ดสเวิร์ธกำลังตั้งคำถามกับความสกปรกของลอนดอน ณ ขณะปัจจุบันก็ได้ ไม่ได้ต้องการจะบรรยายความงามของกรุงลอนดอนเฉยๆ ดิฉันเห็นว่า กลอนบทนี้ก็ชื่นชมความงามของกรุงลอนดอน แต่ก็ตั้งคำถามกับอุดมการณ์และระบบต่างๆ ที่ทำให้กรุงลอนดอน ‘ไม่งาม’ ความงาม สงบนิ่งและบริสุทธิ์ของกรุงลอนดอนนั้นคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้วในสายตาเวิร์ดสเวิร์ธ การสร้างภาพความงามเกินจริงขึ้นมา คงจะชวนให้เราตั้งคำถามไม่มากก็น้อย
ณ เบื้องหลังความสวยงามที่เราทุกคนถ่ายรูปกันเป็นไฟล์ทบังคับสำหรับนักท่องเที่ยว (จนบางทีมีมิจฉาชีพมาดักรออยู่) มีความรุนแรงโหดร้าย หรือความสกปรกซ่อนอยู่ กรุงลอนดอน หรือกรุงเทพมหานครอาจสวยงามในสายตานักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่เมืองอันสวยงามสำหรับผู้อยู่อาศัย ความอัปลักษณ์ของเมืองนั้นอาจไม่ได้แก้ไขได้ด้วยการนิยามสิ่งสกปรกและตามกำจัดมันอย่างเดียว หรือขับไล่สิ่งสกปรกนั้นออกไปอย่างเดียว แต่ความสกปรก หรือความโหดร้ายเหล่านั้นอาจมาจากระบบ หรือโครงสร้างที่เราทุกคนร่วมสนับสนุนมันอยู่ก็เป็นได้ ขยะที่อุดตันท่อจนน้ำท่วมอาจไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการด่าว่าคนนั้นคนนี้มักง่าย แต่เราอาจต้องถามถึงระบบสาธารณูปโภคและการหลั่งไหลของประชากรชาวไทยสู่กรุงเทพมหานคร รวมถึงแนวคิดอื่นๆ ที่พ่วงมากับขยะเหล่านั้นด้วยซ้ำ
ดิฉันอดนึกถึงวันที่ดิฉันไปฉลองปีใหม่ริมแม่น้ำเทมส์เมื่อปี 2012 ไม่ได้ ดิฉันก็ยืนไม่ห่างจากสะพานนี้เท่าไร ถึงจะห่างไปหนึ่งสถานีรถไฟใต้ดินก็เถอะ (ถ้าคุณรู้ทางในลอนดอน บางสถานีเดินเอาก็พอได้ค่ะ) สภาพเมืองหลังจากฉลองปีใหม่คือความรกเละเทะของแท้ ขยะเอย ผู้คนเอย บ้าบอกันได้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะผิวสีอะไร ดิฉันก็ตกใจ แต่แล้วก็ถามตัวเองว่านี่ฉันมีมายาคติอะไรกับเมืองนี้หรือ นี่ก็อีกด้านหนึ่งของกรุงลอนดอนไง แค่เธอไม่เคยคิดถึง หรือคิดไปไม่ถึง
กลอนบทนี้ก็ได้นำเสนอใบหน้าอันหลากหลายของกรุงลอนดอนอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่เคยรับรู้ถึงความหลากหลายนั้น กลอนบทนี้อาจเป็นเหมือนเครื่องประดับที่ทั้งเสริมความงามของกรุงลอนดอน และตั้งคำถามกับกรุงลอนดอนในเวลาเดียวกัน