กาลครั้งหนึ่งไม่นานนัก ราวปี 2012 นี่เอง ในปีนั้นเพจ VRZO ได้รับคะแนนโหวตอันดับ 1 ของ ’10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012′ / เพจ สมรักษ์ พรรคเพื่อเก้ง ยังไม่แปรสภาพเป็น อีเจี๊ยบ เลียบด่วน / วลี ‘เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่’ เป็นคำพูดที่เดือดดาลฝุดๆ / พี่โจ นูโว ยังพูดคำว่า “มันเป็นศิลปะ” และที่สำคัญสุดๆ ก็คงไม่พ้นว่าปีนั้นเป็นปีที่คุณจะต้องได้ฟังเพลง ‘Gangnam Style’ ไม่ว่าคุณจะไปยืนอยู่ที่ไหนของมุมโลกก็ตาม
อีกกระแสหนึ่งในปีนั้นที่ร้อนแรงจนกลายเป็นดราม่าระดับสังคมเกิดขึ้นใน Facebook ที่เข้าสู่ช่วงฟีเวอร์หลังจากเริ่มต้นมาได้พักใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่มีการพัฒนาระบบให้สมัครง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น เผือกคนอื่นได้สะดวกๆ ยิ่งขึ้น จนสังคมขนาดย่อยในนั้นได้เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กระแสที่ว่านั้นก็คือ … ภาษาสก๊อย
ภ๊ษ๊สก๊อยเริ่มฏ๊ฯเฒื่อไหร่มรั๊ล์ยมริ๊ใครธร๊บไฎ๊ บ๊งเจ๊๊กํว่มริ๊เริ่ฒฏ๊ณกัลม่ณษ์าฯเร่รฬบ์ฬต่มรั๊ล์ยแภร่หล๊ย ต่ธิ๊ฆ์ยืฯยัลษ์ไฎ๊แณ่ชัฎกํคืฮมริ๊ษื่อเริ่ฒเซ์ฬ่ณฆ่๊วฏ่อว่กร๊แษก๊รใช๊พ๊ษ๊เช่นณิ๊นั๊บ์ยปิ๊ 2012 หรือ ปิ๊ พ.ศ. 2555 หร์ฌ์ฬจ๊กธิ๊ฆ์มริ๊แฟนเภจชื่อ “ษฒ่ค่ล์มณิ๊๋ญมสก๊อย” เปิฎฏัวฆึ๊น เณื๊อห๊ษ์าพ๊ยนั๊บ์ยณั๊นเฬอ่าเฬอื่บ์ลงชิ๊วิฏฆองกลุ่ฒษังค่ล์มธิ๊ฆ์เริ๊ยกว่ “เฎ็กแว๊ฯ” กั๊ผ “เฎ็กสก๊อยบ์” ธิ๊ฆ์พ๊ษ์กเฆ๊ไฎ๊ษร๊๊งภ๊ษ๊ฆึ๊นม่ใหฒ่เภื่ฮใช๊ษื่ฮษ๊รกัห์ลเองนั๊บ์ยกลุ่ม
ลากคลุมเพื่ออ่านคำแปล ‘ภาษาสก๊อยเริ่มต้นเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบได้ บางเจ้าก็ว่ามีเริ่มต้นกันมานานแล้วแต่ไม่แพร่หลาย แต่ที่ยืนยันได้แน่ชัดก็คือมีสื่อเริ่มเล่นข่าวต่อว่ากระแสการใช้ภาษาเช่นนี้ในปี 2012 หรือ ปี พ.ศ. 2555 หลังจากที่มีแฟนเพจชื่อ “ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย” เปิดตัวขึ้น เนื้อหาภายในนั้นเล่าเรื่องชีวิตของกลุ่มสังคมที่เรียกว่า “เด็กแว้น” กับ “เด็กสก๊อย” ที่พวกเขาได้สร้างภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อใช้สื่อสารกันเองในกลุ่ม‘
แฒ๊ว๊ร์า น ฏอฯนั๊ฯก่เห็นไฎ๊ชัฎเจฯว๊ร์าแฟณเพจฎังกล่๊วพญ๊ญ๊ฒล๊อเฬิ๊ญฯวิถิ๊ชิ๊วิฏฆอง เฎ็กแว๊ฯ หรืฮ กลุ่มเฎ็กช๊ยธิ๊ฆ์ฆิ๊่มฮเฏฮร์ไซค์ฆับซิ่งปั๊บ์ยม่นั๊บ์ยเวล๊กล๊งคืฯ กั๊บ์ผกลุ่ม เฎ็กสก๊อยป์ ฮัลเป็ฯแฟนษ๊วฆองเฎ็กแว๊ณธิ๊ฆ์มัขจ่มริ๊รอญแผลเป็นฏรงน่องฆ๊หรือหน๊๊แฆ๊งอับ์ลเกิฎม่จ๊กก๊รนั่งรถเร่รฬฬห์แนบฆ๊ปั๊บ์ยกั๊ผห์ธ่ฮไอเษิ๊ญฆองฒฮเฏอร์ไซค์
ลากคลุมเพื่ออ่านคำแปล ‘แม้ว่า ณ ตอนนั้นก็เห็นได้ชัดเจนว่าแฟนเพจดังกล่าวพยายามล้อเลียนวิถีชีวิตของ เด็กแว้น หรือ กลุ่มเด็กชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์ขับซิ่งไปมาในเวลากลางคืน กับกลุ่ม เด็กสก๊อย อันเป็นแฟนสาวของเด็กแว้นที่มักจะมีรอยแผลเป็นตรงน่องขาหรือหน้าแข้งอันเกิดมาจากการนั่งรถแล้วแนบขาไปกับท่อไอเสียของมอเตอร์ไซค์‘
การมาของเพจดังกล่าวพร้อมด้วยภาษาลึกลับที่ทำให้หลายคนถึงกับอยากเอาหัวโขกเต้าหู้กันนี่เองที่ทำให้กระแสเรื่องนี้เตะตาสื่อหลักในสมัยนั้น จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาษาไทยกำลังถูกย่ำยี (อีกแล้ว) เลยทีเดียว แต่ความเห็นของนักวิชากลับไม่ได้เห็นสอดคล้องกับสื่อและผู้คนทั่วไปเท่าไหร่นัก
อย่างบทความ ‘ภ๊ษ๊สก๊อยป์ (ภาษาสก๊อย) : วัฒนธรรมอุบัติการณ์’ ของคุณ ชวิตรา ตันติมาลา ในวารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เรื่องภาษาสก๊อยนี้เป็นเรื่อง ‘การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงภาษา’ และเป็น ‘วัฒนธรรมย่อยเป็นพลวัตทางสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย’ ซึ่งหมายความว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มคนที่พูดจาภาษานี้ตรงกัน
แล้วถ้าจะพูดถึงภาษาเฉพาะกาลนั้น ในบทความข้างต้นก็ได้อ้างถึง ‘ภาษาเอ็ม’ หรือภาษาแชทที่เกิดขึ้นในสมัย MSN Messenger รุ่งเรือง ซึ่งนักภาษาศาสตร์ได้กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น “เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษา ภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะมีแนวโน้มการใช้ที่ยืนยาวมากกว่าภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย หรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย” และสำหรับคำต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามสมัยนิยมก็มีสิทธิ์ “ตกรุ่นและหมดความนิยมไป เช่น คำว่า ‘จ๊าบ’ ที่เคยนิยมใช้กันในหมู่วัยรุ่น และต่อมาไม่มีใครใช้คำนี้กันแล้ว”
ซึ่งก็จริงที่ตามคำพูดด้านบน เพราะในวันนี้ที่เวลาดำเนินผ่านไป 4 ปี ภาษาสก๊อยและแฟนเพจสก๊อยก็ลดน้อยถอยลงจนแทบจะไม่มีผู้ใช้กันแล้ว
เรื่องภาษาสก๊อยนี้เป็นเรื่อง
‘การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงภาษา’
และเป็น ‘พลวัตทางสังคม
ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย’
กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าภาษาที่ดูแล้วชวนขัดหูขัดตาคนทั่วไปเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ย้อนไปปี พ.ศ. 2485 ในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีความพยายามเปลี่ยนแปลงภาษาไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ชวนให้นึกถึงภาษาสก๊อยที่กล่าวถึงเมื่อครู่อย่างมากทีเดียว
ณ เวลานั้น จอมพล ป. เสนอการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น งดใช้ สระ – ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ กับ พยัญชนะ – ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ / อะไรที่เคยใช้ สระ ใ ไม้ม้วน ก็ให้ใช้ สระ ไ ไม้มลายแทน / ญ หญิง ก็ให้ตัดเชิง (ตัวอักขระด้านล่างออก) ฯลฯ
ตัวอย่างประโยคเช่น “สวัสดีทุกท่าน ฉันขอลองไช้ภาสาไทยไนยุครัถนิยมเพื่อไห้อ่านง่ายขึ้น ตามประกาสของคนะรัถมนตรีที่ไห้ไช้ตัวสกดแบบไหม่ไฉไลกว่าที่เคย” (…ผู้เขียนเสียเวลาเขียนประโยคนี้นานกว่า 15 นาที)
ด้วยความมึน พิมพ์ยาก แล้วก็เพราะขัดใจคนใช้งานที่คุ้นเคยกับภาษาเดิมกว่าร้อยปี ทำให้ภาษาไทยในยุคจอมพล.ป (นักภาษาศาสตร์บางท่านหยอกเอินว่าเป็น “ภาษาสก๊อยยุคจอมพล ป.”) ถูกเลิกใช้งานไปหลังจากจอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี #บาย
อีกกรณีที่ทำให้เห็นว่า ภาษาสามารถดิ้นขยับไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีและยุคสมัยก็คงจะเป็น รหัสหว้ากอ (Wahkor Code) รหัสที่ถูกคิดค้นขึ้นในเว็บไซต์พันทิป ห้องหว้ากอ
แรกเริ่ม สมาชิกที่ใช้ชื่อว่า jkpanu ได้ตั้งกระทู้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 โดยหมายจะใช้รหัสนี้เพื่อเล่นสนุกกับสมาชิกห้องหว้ากอ โดยดัดแปลงมาจาก Tap Code และเมื่อมีคนที่สามารถไขรหัสนี้ได้ก็ทำให้ช่วงหนึ่งในห้องหว้ากอใช้เจ้ารหัสนี้แทนภาษาในการพูดคุยกันจริงๆ ไประยะใหญ่ จนกระทั่งถึงจุดที่เจ้ารหัสตัวนี้มันชักจะยาวเกินไปในบทสนทนา ทำให้ความนิยมลดลงและเริ่มใช้กันเฉพาะกลุ่มเฉพาะกาลมากขึ้น
ก็อย่างที่นักภาษาศาสตร์กล่าวไว้ว่า ภาษาที่ยังไม่ตายจะมีการเปลี่ยนแปลง วิบัติ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนิยมเรื่อยๆ อย่างปัจจุบันนี้ก็มี ‘พาสาทิพ’ เพิ่มเข้ามาอีกภาษาหนึ่งแล้ว ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าจะเข้าใจพาสานี้ได้ไม่จำเป็นต้องเก่งภาษาเลย แค่ขอให้เชื่อในองค์ท่านและชายาก็จะมีแต้มบุนมากเพียงพอ แต่เราว่าถ้าใครทำเว็บแปลภาษาได้ก็จะขอบคุนหลายขอสาทุบุนโยเรด้วยจ้ะ :.: …… ……: …….. …… ….. .. ……… . …… …….. ……: :.: …… …….. ……… …… .. …….. .. … . ……..: ……: …….. …… ….. .. :.: …… …… .. ……. …….. … . …..: …….. ……. … . … … ….. ..
อ้างอิงข้อมูลจาก
“ภ๊ษ๊สก๊อยป์” (ภาษาสก๊อย): วัฒนธรรมอุบัติการณ์
โปรแกรมแปลภาษาไทยเป็นภาษาสก๊อย
ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ ๓๕ เล่ม ๕๙ หน้า ๑๑๓๗ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๕