วุ้นแปลภาษา (น.) เพจสำหรับค้นหาความหมายของคำ เป็นเพจเปิดใหม่ที่ต้องการยอดไลก์ไปเพื่อเลี้ยงปากท้องเป็นพิเศษ
หลายๆ คนคงรู้จักวุ้นแปลภาษาในฐานะของวิเศษของโดเรมอน ที่เมื่อกินวุ้นนี้เข้าไปก็จะสามารถเข้าใจและใช้ภาษาอื่นๆ ได้ แต่สำหรับเพจวุ้นแปลภาษา เพจน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน กับยอดไลก์ 2.2 แสน (นับเมื่อเดือนกรกฎาคม 62) เพจนี้ไม่ได้มาขายวุ้น ไม่ได้มาให้กินแล้วเข้าใจความหมายแบบในการ์ตูน แต่จะมาแปลความหมายแบบฮาๆ ของคำต่างๆ รอบตัว ด้วยความหมายที่ไม่เหมือนในพจนานุกรม
The MATTER คุยกับแอดวุ้น แอดมินเพจวุ้นแปลภาษา ถึงการทำเพจแปลความหมายแบบฮาๆ ด้วยคำศัพท์แบบเป็นกันเอง พร้อมทั้งวิธีคิด วิธีแปล วิธีเลือกคำศัพท์แต่ละคำ รวมไปถึงความตั้งใจของแอดวุ้นที่อยากจะทำพจนานุกรมวุ้นแปลภาษาออนไลน์
อะไรคือไอเดีย และจุดเริ่มต้นของการทำเพจวุ้นแปลภาษา
เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆ แล้ววันนึงเราก็เห็นในพจนานุกรม เราก็ไปดูคำแปล ไปอ่านๆ ดู เราก็รู้สึกว่าคำศัพท์ที่พจนานุกรมแปล กับที่เราเดาไว้ก่อนเปิดว่ามันน่าจะแปลว่าอย่างนั้น มันกลับไม่เหมือนกัน อย่างเช่นถ้าเราเปิดคำว่า ‘หมา’ ในพจนานุกรม กับเราบอกเพื่อนว่า ‘มึงแม่งหมา’ มันกลายเป็นคนละความหมายกันเลย
เราเลยรู้สึกว่า น่าจะดี ถ้าเกิดมีการรวบรวมคำเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าเราอยากทำเว็บไซต์เลย เพราะก่อนหน้านี้เราก็เคยคิดเรื่องนี้มาเมื่อ 5-6 ปีก่อนแล้ว แต่ว่าเราทำเว็บไซต์ไม่เป็น แล้วความคิดนี้ก็ยังวนอยู่ในหัวเรามาเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ชอบนั่งคิดเล่นว่า คำนี้มันแปลว่าอะไร แล้วจริงๆ พจนานุกรมแปลมันว่าอะไร แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แล้วมีอยู่วันหนึ่ง เราก็ลองเปิดเพจขึ้นมา แล้วมันก็บูมขึ้นมา ซึ่งมันกลายเป็นเหมือนมีอีกงานนึงเข้ามา แต่เราก็ตั้งใจอยู่แล้วว่า อยากให้เพจนี้เป็นงานที่เลี้ยงปากท้องได้ เราก็เลยให้เวลากับมันเยอะพอสมควร ตั้งใจเอาวุถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้มันได้เป็นเว็บไซต์ วุ้นแปลภาษาดอทคอมไปเลยด้วย
แอดวุ้นบอกว่า ตั้งใจว่าอยากให้สิ่งที่เราทำกลายเป็นพจนานุกรม นิยามเพจตัวเองว่าเป็นพจนานุกรมอะไร
น่าจะสังคมไทย แล้วก็อาจจะเหมาะกับเด็กๆ หรือคนวัยรุ่นหน่อย แต่จริงๆ เราก็อยากจะให้คนอายุ 50-60 ปี เข้ามาอ่านด้วย เค้าจะได้รู้ว่าลูกเขากำลังคุยอะไร ถ้าลูกเขาพิมพ์มาแบบนี้ มันแปลว่าอะไร ก็คงเป็นพจนานุกรมคำศัพท์ที่วัยรุ่นใช้ แต่ก็อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจด้วย
คิดว่าถ้ากลายเป็นพจนานุกรมแล้ว ทำไมคนต้องรู้ความหมาย เข้ามาอ่านคำศัพท์ในพจนานุกรมศัพท์นี้ด้วย
สำหรับวัยรุ่น มันจะมีบางคำที่มีกระแสมา แล้วอาจจะหาจุดเหนี่ยวที่ว่าคำนี้มันแปลว่าอะไร อันนี้ก็สำหรับวัยรุ่นทั่วไป แต่ถ้าสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ก็อย่างที่บอก ไว้ได้ดูว่า การที่ลูกๆ พูดคำนี้ จริงๆ ความหมายมันคืออะไร
เพจนี้ บางทีมันไม่ได้แปลความหมายอย่างเดียว แต่บางคำ เราก็ยกตัวอย่างคำออกมาด้วย และพ่อแม่ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ลูกเขาที่เป็นอย่างนี้ คุยกันอย่างนี้ แต่วัยรุ่นเขาก็เป็นกัน ทำให้เข้าใจกัน เข้าใจลูกๆ มากขึ้น
คิดยังไง กับการเห็นคนอินกับความหมายที่เราคิดขึ้นมา
ความหมายบางอันเราก็คิดขึ้นมาแหละ แต่หลักๆ ที่ยึดถือก็คือ เราเอา insight ของคน ที่เขารู้อยู่แล้ว แต่เขาไม่คิดว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน แล้วมันก็ลอยอยู่กลางอากาศเป็นความเจ็บปวดที่คนเราชินกับสิ่งเหล่านั้น โดยที่เราไม่รู้ตัว เพจเราเลือกจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเขียน ให้จับต้องได้มากขึ้น
เราคิดว่าที่เพจดังได้ขึ้นมา เพราะว่ามัน touch คน มันจะมีคอมเมนต์เยอะมากประมาณว่า ‘อันนี้คือกูเลย’หรือไม่ก็ ‘อันนี้คือเพื่อนกูเลย’ แล้วก็แท็กเพื่อนมา เราก็รู้สึกดีเวลาเราจับคำเหล่านั้นได้ จับ insight พวกนี้มาเขียนเรียงได้เ รู้สึกดีเหมือนเราจับปลาได้เลย
แสดงว่าคำที่เราเลือกมา เป็นคำที่เราคิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องรู้สึกเหมือนเรา
ใช่ๆ เราเคยบอกลูกเพจว่า เวลาเสนอคำ ไม่ต้องคิดให้มันตลกมาก แต่เอาที่มันจริงก็พอ อันที่มันจะเอนเกจเมนต์เยอะ คืออันที่จริง ไม่ใช่ตลก
พจนานุกรมฉบับวุ้นแปลภาษาใช้เทคนิค หรือวิธีอะไรในการแปลภาษาแต่ละคำ
อย่างแรกสุดคือ พยายามจะเขียนให้เป็นความจริง เป็น insight ของสิ่งนั้น เป็นความเจ็บปวดที่เราชินโดยไม่รู้ตัว เราขุดให้เจอตรงนั้น แล้วเอามาใส่ พอใส่เสร็จแล้ว สเต็ปต่อมา เราก็ตบคำ ให้มันอ่านเข้าใจง่าย ให้เร็วที่สุด แล้วก็ให้ตลกด้วย
แปลว่าวันๆ นึง แอดวุ้นต้องมองสิ่งต่างๆ ตลอดเวลาเลยหรือเปล่า ว่าอะไรเอามาเป็นคำได้
ใช่ เราก็คอยพยายามมองดูตลอด ตอนทำเพจวันแรกๆ มันยังไม่ซ้ำ คำก็จะมีเต็มไปหมด ทุกวันนี้ก็คือ อันนี้ก็ไปแล้ว อันนั้นก็ไปแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องโฟกัสกับการหาคำมากขึ้น ปกติถ้าเพื่อนพูดอะไร เราก็จะเอามาแต่คำเด็ดๆ ของเพื่อน แต่ตอนนี้ บางทีเราต้องหาตั้งแต่ต้นประโยคด้วย ว่ามันมีเรื่องอะไรที่เราเจ็บปวดกับมัน แล้วเราชิน ไม่รู้ตัวด้วยหรือเปล่า เราก็ต้องหาให้ละเอียดขึ้น
หรือเวลาเล่นเฟซบุ๊กที เราก็ต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ หาว่ามันมีคำอะไรไหมที่โผล่มา เพราะบางทีคำนั้น มันก็ไม่ได้เด็ดมาก แต่มันก็เป็นคำที่เจ็บปวด และลึกกว่านั้นอีก คำแบบนั้นมันจะหายาก
คิดว่าถ้าทำเพจไปเรื่อยๆ จะตันไหม จะหมดคำเอามาเล่นหรือเปล่า
ประมาณเดือน 2 เดือนแรก เรายังคิดว่ามันไม่มีทางตันเลยนะ แต่ตอนนี้เราก็ต้องหาคำมากขึ้น ถึงอย่างนั้น เรายังเชื่ออยู่ว่ามันไม่มีทางถึงทางตัน เพราะภาษามันมาใหม่ตลอด มันก็ดิ้นไปดิ้นมาของมันเรื่อยๆ สมัยก่อนคำว่ายิ้ม ก็คือแค่การยิ้ม แต่สมัยนี้ ยิ้มมันเป็นอย่างอื่นไปด้วย ถ้ามีคนชวนเราไปยิ้ม ความหมายมันก็ไม่เหมือนยิ้มในสมัยก่อนแล้ว
แต่ในแง่ของการทำเพจ มันก็ยากขึ้นในทุกๆ วัน เพราะเราคิดอะไรใหม่ๆ ออกมา บางอย่างคิดได้ มันก็จะมีอยู่แล้วตลอดเลย แต่เชื่อว่ามันไปได้เรื่อยๆ ของมัน แต่ใน 1 วันมันอาจจะมีคอนเทนต์ได้น้อยลง
คำไหน ยากสุดตั้งแต่แปลมา
คำของสปอนเซอร์ อันนี้ยาก เพราะว่าคำมัน fix มาแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่คำของสปอนเซอร์ เราว่ามันไม่มีแปลยาก หรือง่าย เพราะพอมันเป็นคำนั้นที่มันโดน คนก็จะรู้ว่าความหมายของมันคืออะไร การแปลยากในที่นี้ของเราก็คือ คนเรามันไม่ค่อยมีคำเจ็บปวดกับคำต้นนั้น แล้วเราก็ต้องขุดๆๆ ลงไปเรื่อยๆ มันจะยากตอนหาคำมากกว่า ถ้าคำมันมาแล้ว คำแปลมันก็จะรู้อยู่แล้วว่าเราต้องพิมพ์แบบนี้
คำไหน อินสุดตั้งแต่แปลมา
มันมีคำที่ทำให้เพจดังขึ้นมา ก็คือคำว่า ‘เด็กเอแบค’ มันไปดังมากในหมู่เด็กเอแบค แล้วก็มันคือความเจ็บปวดของตัวเราในฐานะเด็กเอแบคที่เราเอามาเขียน ซึ่งนี่คือความลับของเรา ว่าเราเป็นเด็กเอแบค ที่เราตั้งใจเอามาเปิดเผยในบทสัมภาษณ์นี้ที่แรก
นอกจากทำเพจแล้ว เราเห็นว่าแอดมินยังตั้งกลุ่มลังใส่วุ้นแปลภาษาด้วย ทำไมถึงสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมา
เราทำกลุ่มขึ้นมา เพื่อให้คนเสนอคำเข้ามา เราว่ามีหลายๆ คนช่วยกันคิดก็น่าจะดีกว่า เพจของเราน่าจะเป็นเพจที่เราให้เครดิตคนส่งมุกมาเยอะอันนึงเลย เท่าที่ตัวเราเห็นมาเอง และในเกือบทุกๆ วันก็จะมีคำที่คนเสนอมาเรื่อยๆ
ตอนแรกๆ ที่ยังไม่ได้ตั้งกลุ่ม ก็จะมีคน inbox เข้ามาเยอะมากว่า ขอคำนี้ ขอคำนั้น เสนอกันมาเยอะ แล้วเรารู้สึกว่ามันเหมือนการละเล่นอะไรซักอย่างไปเลย ที่มาหากันว่าคำนี้ จริงๆ มันควรจะแปลว่าอะไร คำนั้นแปลว่าอะไร มันจะมีกฎของมันไปเลย กลายเป็นการละเล่นแบบเป่ายิงฉุบ
เราเลยคิดว่า เราตั้งกลุ่มขึ้นมาให้คนได้เล่นอันนี้กันโดยเฉพาะเลยดีกว่า เหมือนเกมหาความหมาย เป็นสิ่งที่เรานันทนาการด้วยตัวเองได้ วันนึง คุณนั่งอยู่คนเดียว คุณก็มองไปรอบตัว และคิดว่า คุณจะแปลคำนี้ยังไง ไม่ให้เหมือนกับที่พจนานุกรมแปล
เวลาเห็นคนมาคุยกันเรื่องภาษา ความหมายต่างๆ ในเพจ และในกลุ่ม เห็นอะไรบ้างจากการพูดคุยเรื่องภาษา และคำแปล
เราเห็นสังคมแบบที่เราทั้งผ่านมาแล้ว และยังไม่เคยไปอยู่ อันนี้คือสิ่งที่เราชอบมาก มันจะมีกลุ่มคนที่เขาอยู่ในสังคมอื่น ส่งคำเข้ามา แล้วมันได้ยอดไลก์เยอะ แล้วตัวเราเองอ่าน เราก็รู้สึกว่า ‘อะไรวะ กูไม่เห็นรู้จักเลย’ เราก็สงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมคนเขาอินกับคำเหล่านี้ มันก็ค่อนข้างเปิดโลกว่า มันมีคนที่อยู่ในสังคมนี้เยอะมาก แล้วทุกวันจะมีคำในสังคมอื่นๆ โผล่มาใหม่เสมอ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างตกใจ ที่เปิดโลกเรามาก
ยกตัวอย่างเช่น คำๆ นึงที่เราเห็นมานาน และเราไม่คิดว่าจะมีคนพูดถึงเยอะขนาดนี้ คือตัวย่อ ‘ลท’ (ล.ลิง-ท.ทหาร) คือ ไลก์ทัก มันคือการที่ถ้าเราอัพสเตตัสในเฟซบุ๊กว่า ลท แล้วคนอื่นๆ มากดไลก์ เราจะทักเขาไปในอินบ็อก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการคุยกัน คำนี้จะเห็นบ่อยในหมู่น้องๆ ที่ชอบขี่มอร์เตอร์ไซค์ เขาจะ ลท กันเยอะ แต่ทุกวันนี้มันเริ่มโผล่มาในเด็กมัธยมฯ และเด็กประถมฯ ก็ชอบคำนี้กันมาก แล้วก็ใช้กันเป็นเหมือนปกติ ที่เราใช้กันในสังคมของเรา
แต่ว่าคำนี้ เราก็ยังไม่เคยทำคำแปลของมันจริงๆ เพราะว่าเราไม่รู้ insight ของมันจริงๆ แล้วก็ไม่รู้จะแปลยังไงออกมา แต่ก็จะมีคนส่งคำนี้ ‘ลท’ มาเกือบทุกวันเลย
การทำเพจ และกลุ่มลังวุ้นแปลภาษา ทำให้เราได้เห็นศัพท์วัยรุ่น ศัพท์ใหม่ๆ เกิดความหมายใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลาด้วยใช่ไหม
นอกจากวัยรุ่นมันก็จะมีกลุ่มอื่นๆ ทั้งคุณครู นักเรียน โปรแกรมเมอร์ แต่ละสังคมก็จะมีคำของเขา มีความเจ็บปวดของเขา แล้วเขาก็เหมือนมาระบาย
นอกจากทำเป็นคำๆ เห็นว่าเพจยังทำเป็นซีรีส์ของคำด้วย
เป็นเรื่องความไม่ซ้ำของเนื้อหาด้วย อย่างคำว่ามึง บางทีสมมติมี 20 มึง แล้วถ้าเราลงทีละโพสต์ คนที่ไม่ได้อินกับคำๆ นี้ เขาอาจจะรำคาญก็เลยรวมเป็นอันเดียว ทั้งยังมีคนเสนอคำว่ามึงเข้ามาค่อนข้างเยอะ ด้วยความหมายที่มันไม่เหมือนกันด้วย เราก็เลยจับรวมเป็นซีรีส์เลย
คำที่เพจเลือกเอามาทำ ก็มีทั้งภาษาไทยทั่วไป และภาษาวิบัติด้วย แอดวุ้นมองว่าภาษามันควรต้องเป็นไปตามหลักภาษาไหม
ภาษามันคือการส่งต่อแมสเซจไปเรื่อย และแน่นอนว่าภาษามันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เหมือนรายการเกมโซน ที่เราส่งคำต่อไปเรื่อยๆ คำมันก็จะเพี้ยนกันไปเรื่อยๆ ถ้าเราบอกว่าเราควรจะอนุรักษ์ภาษาไทยตามหลักภาษาไว้ เราจะไปห้ามยังไงไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง เราไปหยุดมันไม่ได้อยู่แล้ว
คิดว่าภาษาวัยรุ่น ความหมายใหม่ๆ ที่เราคิดขึ้นมา นับเป็นภาษาไทยไหม
ถ้ายังมีคนพูด คนใช้อยู่ มันก็จะไปอยู่ในพจนานุกรมของ 100 ปีข้างหน้า ที่ถูกรับรองโดยเหล่าอาจารย์ทั้งหลายเอง เหมือนกับที่ 100 ปีที่แล้วเขาก็ไม่ได้พูด หรือใช้คำเหมือนกับเราทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ เรากำลังจะชินกับคำว่า ‘นะค่ะ’ เราเจ็บปวดมาก ไม่อยากให้มันเกิด แต่ก็ไม่รู้จะห้ามยังไง นอกจากนะค่ะ ทุกวันนี้ บางคำเราก็หงุดหงิดกับมัน แต่เราก็ห้ามมันไม่ได้จริงๆ
คิดยังไงกับการจับผิดทางการใช้ภาษาไทย หรือกลุ่มคนที่เป็นตำรวจภาษา
คนกลุ่มนี้ น่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางภาษามันไม่ผันผวนเกินไป แล้วคอยบาลานซ์ด้วย หรือถ้าไม่มีใครห้ามเลย คนเราก็จะนะค่ะกันมากขึ้น เราก็จะยิ่งชินกันมากขึ้น
จริงๆ เราก็ควรจะใช้ภาษาไทยกันให้ถูกต้อง แต่สมัยนี้ ก็มีการพิมพ์เล่นกันอย่างคำว่า ‘เปง’ เราก็นับนะว่ามันเป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง แต่มันเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องในบริบทของสังคมนั้นๆ จะให้เรียกคำที่ถูกเหมือนในพจนานุกรมตลอดเวลามันก็ไม่ได้ มันก็จะมีคำที่เข้ากับสังคมนั้นๆ ต่อให้เราคุยกับพ่อแม่ หรือเราคุยกับเพื่อน หรือแฟน มันก็เหมือนจะกลายเป็นคนละภาษาด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น เราคิดว่า คนที่เป็นตำรวจภาษา คอยเตือนการใช้ภาษา ก็ต้องรู้ขอบเขตในการตักเตือนเหมือนกัน เช่นถ้าพิมพ์กับเพื่อน จะเตือนอย่างจริงจังก็อาจจะเป็นการแหกหน้าเขาไปหน่อย มันก็เป็นเรื่องที่ต้องดูมารยาท และเจตนามากกว่า
พูดถึงพจนานุกรม เราก็อยากขอให้แอดวุ้น ให้ความหมายกับ ‘ราชบัณฑิตสถาน’
พจนานุกรมมันยังมีความหมายอยู่ ถ้ามันหายไป เหลือแต่วุ้นแปลภาษา โลกคนจะวุ่นวายมาก เราคิดว่ายังไงเราก็ยังต้องมีสิ่งที่ถูกต้องตามหลักภาษา และทางการอยู่