วิชาภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในวิชาที่พูดถึงกันบ่อยๆ ในวงการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอน การใช้ หรือคำถามว่าทำไมคนไทยไม่เก่งอังกฤษ ไหนจะเรื่องที่ภาษาอังกฤษอาจจะไม่ได้มีแค่สำเนียงอังกฤษหรืออเมริกัน แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเข้าใจแบบนั้น แล้วเราควรมองภาษาอังกฤษแบบไหนเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมและใช้ได้อย่างถูกต้องตามจุดประสงค์ของเรา
เพราะภาษาอังกฤษกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทั้งการใช้คะแนนในการสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน หรือคะแนนการสอบวัดผลต่างๆ ที่มีผลต่อเงินเดือน พ่อแม่หลายๆ คนก็เริ่มมีการให้ลูกเรียนรู้ภาษาอังกฤษรวมไปถึงภาษาอื่นๆ มากขึ้นอีกด้วย แต่ปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยก็ยังมีอยู่อีกมาก เด็กหลายๆ คนก็ยังมีปัญหาในการเรียน ครูหลายๆ คนก็พยายามหาวิธีการที่ดีที่สุดในการสอน Young MATTER จึงไปคุยกับ อนุชิต ตู้มณีจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอแนวคิดเรื่องภาษาอังกฤษแบบใหม่ที่มองภาษาอังกฤษในฐานะภาษาโลกและมีการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง
มองว่าภาษาอังกฤษในปัจจุบันเป็นยังไง?
ภาษาอังกฤษตอนนี้มันกลายเป็นวัตถุแล้ว วัตถุที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากใน 2 ลักษณะ อย่างแรกคือ ในด้านหน้าที่ของภาษาอังกฤษ เรื่องที่สองคือรูปแบบการใช้ภาษา เรื่องหน้าที่ของภาษาอังกฤษ ปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษไม่ได้แค่ถูกกำหนดว่าเป็นภาษาที่ 1 ในบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่ง South Africa แต่ในบางประเทศภาษาอังกฤษอาจมีสถานะเป็นภาษาที่สอง อาจเป็นภาษาราชการ หรือภาษาราชการร่วม โดยเฉพาะประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษมาก่อน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา หรือจาไมก้า และในบางประเทศภาษาอังกฤษอาจมีสถานะเป็นแค่ภาษาต่างประเทศ ที่เป็นวิชาเรียนในชั้นเรียนเฉยๆ หรือมีสถานภาพเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารในบริบทข้ามวัฒนธรรม อย่างเช่นประเทศไทยตอนนี้เมื่อมาดูในด้านรูปแบบภาษา เราต้องยอมรับว่ารูปแบบภาษามันเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยปกติภาษาอังกฤษที่ใช้ในประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาเองก็จะมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ตามพื้นที่ อายุ การศึกษาของผู้ใช้ภาษา แต่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่เห็นได้ชัดเกิดจากการที่ภาษาอังกฤษได้เดินทางไปทั่วโลก ผ่านการล่าอาณานิคม เมื่อภาษาอังกฤษได้ไปสู่ดินแดนใหม่ มันมีกระบวนการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คน ภาษา ภาษาอังกฤษมันเลยยิ่งมีความแตกต่างไปมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาโลก ภาษาอังกฤษจึงมีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยเป็นยังไงบ้าง?
เราก็ต้องยอมรับความจริงบางข้อนะครับว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทย อาจจะไม่ได้ดีที่สุด หรือมีมาตรฐานที่สุด ด้วยข้อจำกัดหลายๆประการ หลายๆ คนอาจสงสัยว่า เรียนภาษาอังกฤษในไทยมาแล้ว 10 ปี ทำไมยังพูดไม่ได้ ผมจึงอยากแชร์ข้อเท็จจริงเรื่องนึงครับ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่งในสี่ขวบแรก จะได้รับข้อมูลป้อนเข้าทางภาษาทั้งหมด 17,000 ชั่วโมง ในขณะที่พวกเราเจอภาษาอังกฤษในชั้นเรียนแค่ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าหนึ่งปีมีทั้งหมด 52 สัปดาห์ แปลว่า เราจะได้รับ input ทางภาษาทั้งหมด 104 ชั่วโมง หมายความว่าถ้าเราอยากได้ input เท่า native speaker หรือเจ้าของภาษา เราจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 163 ปี เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามว่าทำไม 10 ปีถึงพูดไม่ได้ อันนี้ผมว่ามันน่าจะผิดนะครับ เพราะจริงๆ เราต้องมาดูองค์ประกอบว่า ใน 10 ปีนี้เราเจอภาษาอังกฤษกี่ชั่วโมง คุณภาพของภาษาอังกฤษที่เราเจอมันมีคุณภาพมากแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องกลับมาคิด
เรามีโอกาสที่จะเก่งภาษาเหมือน native speaker บ้างมั้ย
อันนี้ต้องยอมรับว่า มันเป็นไปได้ยาก แต่ถามว่าเป็นไปไม่ได้เลยใช่มั้ย ก็ไม่ใช่ เพราะมันมีผู้เรียนภาษาจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถ acquire native-like competence ได้เลย โดยเฉพาะเรื่องของการเขียนครับ อันนี้ผมเห็นได้หลายครั้งแล้วว่า การเขียนถ้าเป็น non-native เนี่ยบางคนเขียนดีมากจนบางคนแยกไม่ออกเลยว่าการเขียนนี้เป็นของ native หรือ non-native แต่เมื่อพูดถึงสำเนียงอันนี้เป็นไปได้ยากมากครับ เพราะเมื่อเราอายุเลย 12 ปีไปแล้วเนี่ย การจะพูดให้ได้สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาอันนี้เป็นไปได้ยากมากครับ
เราควรให้ครูไทยหรือครูที่เป็น native speaker มาสอนถึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน?
อันนี้ผมคงตอบแบบฟันธงไม่ได้ครับ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นครูคนไทยหรือ native speaker ล้วนแล้วแต่มีข้อดีทั้งสิ้น native speaker มีข้อดีคือ เขาจะรู้ว่าจุดหมายปลายทางของผู้เรียนคืออะไร ซึ่งก็คือการจะใช้ภาษาได้เหมือนเขา หรือใกล้เคียงกับเขา แล้วก็จะดีมากถ้า native speaker มาสอน listening และ speaking เพราะทำให้เด็กมีโอกาสได้รับภาษาที่ดีและถูกต้อง ในส่วนของครูไทย มีข้อดีที่ ครูไทยเคยเป็นนักเรียนที่เรียนภาษามาก่อน แปลว่าเขาจะรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ภาษาที่ผ่านมามันยากเย็นแค่ไหน ต้องล้มลุกคลุกคลานเพียงใด และเนื่องจากว่าเขาใช้ภาษาไทยในการสอน แปลว่าแง่มุมยากๆ เช่นการอธิบายกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ จะทำให้ครูไทยได้เปรียบ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ถ้าครูไทยเริ่มต้นด้วยการมีองค์ความรู้ที่ดีมากๆ จะทำให้ครูไทยมีโบนัสหรือทำได้ดีกว่า native speaker อีกครับ
อาจารย์คิดว่ามีวิธีการสอนภาษาอังกฤษแบบไหนที่ดีที่สุดมั้ย?
อันนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะอันไหนจะดี มันขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายของการเรียนไปเพื่ออะไร บางคนบอกว่าจะเรียนเพื่อสอบ การที่ท่องศัพท์ ไวยากรณ์ ทำข้อสอบบ่อยๆ ก็จะเวิร์คแน่ๆ ตอบโจทย์เขา แต่ถ้าเขาบอกว่า เรียนเพื่อนำมาใช้ได้จริง การท่องจำไวยากรณ์จะไม่เวิร์กละ แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้ไวยากรณ์ที่นำมาใช้เพื่อการสื่อสาร อันนี้น่าจะเวิร์กกว่า คำตอบตรงนี้ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เรียนครับ
ถ้าเรามุ่งไปที่ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แกรมม่ายังจำเป็นมั้ย?
แกรมม่าแม้อาจจะไม่สำคัญที่สุด แต่ก็ยังสำคัญ เพราะมันเป็นองค์ประกอบแรกที่เราจะสามารถนำคำศัพท์อะไรต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันเป็นประโยค หลายคนชอบคิดว่าแกรมม่าไม่สำคัญ แต่พอเราไปในระดับลึกๆ เราจะพบเลยว่าแกรมม่าสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเข้าไปสู่แวดวงงานเขียนเชิงวิชาการ อันนี้ขาดไม่ได้เลยครับ ไม่ใช่แค่สื่อสารได้อย่างเดียว ความถูกต้องในการสื่อสารก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องครูไทยที่สอนออนไลน์ของรัฐบาลที่เค้าใช้สำเนียงไทยในการสอน แล้วมีคนพูดเรื่อง pronunciation ว่า มี accent ไทยไม่เป็นไร แต่ pronunciation ต้องถูก อาจารย์มีความเห็นยังไงกับเรื่องนี้บ้างครับ
อันนี้ต้องแยกก่อนว่าคำว่า accent แปลว่าอะไร และ pronunciation แปลว่าอะไรพวกเราคงเคยเจอเหตุการณ์แบบที่เราสามารถรู้ได้ว่า คนๆ นึงมาจากที่ไหน เช่น สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช หรือคนนี้เป็นคนอังกฤษ หรืออเมริกัน ถ้าเราบอกได้แสดงว่า ลักษณะทางเสียงที่เค้าพูดบางอย่างมันเป็นตัวบอกที่มาหรือถิ่นที่อยู่อาศัยเค้า ลักษณะทางเสียงแบบนี้เราเรียกว่า accent หรือสำเนียงครับ
แต่ถ้าดูองค์ประกอบในชุมชนแต่ละภาษาจะพบว่า คนแต่ละคนที่อยู่ในชุมชนภาษา เช่น สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช อังกฤษ หรืออเมริกา ก็จะสามารถสื่อสารได้ไม่เท่ากัน บางคนสามารถพูดจาชัดถ้อยชัดคำได้มากกว่าอีกคนหนึ่ง หรือบางอาชีพสามารถพูดจาชัดถ้อยชัดคำได้มากกว่าอีกอาชีพหนึ่ง และการที่เราพูดถึงคำว่า ชัดถ้อยชัดคำ หรือพูดถูกไม่ถูกเนี่ย อันนี้คือเรื่อง pronunciation หรือการออกเสียงครับ ทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน
ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมนี่ เราต้องบอกว่า สำหรับ accent แบบ native speaker เนี่ย สำหรับคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษปีนึง 104 ชั่วโมง มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับที่เราจะสามารถรับเอาความสามารถในการใช้ภาษาเท่ากับเจ้าของภาษา แต่สิ่งที่เราสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ คือการออกเสียงที่ถูกต้อง และผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องนี้ที่เป็นประเด็นถกเถียงทางสังคม หรือเป็นเรื่องที่คุณครูโดนกระแสต่อต้านหรือวิจารณ์อย่างหนักครับ สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า เราคงได้รับ native accent ไม่ได้ แต่เราสามารถมีการออกเสียงที่ถูกต้องและชัดเจนได้
ถ้างั้นการใช้สำเนียงไทยโอเคใช่มั้ย
การใช้สำเนียงไทยโอเคมั้ย ผมจะไม่ตอบว่าโอเคหรือไม่โอเค แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เราต้องยอมรับก่อนนะว่า เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษในตอนโตเนี่ย เราใช้ภาษาไทยในการเรียนภาษาอังกฤษ แล้วโดยปริยายเราก็ต้องมีภาษาไทย ลักษณะบางอย่างของภาษาไทยติดไปด้วยอยู่แล้วใช่มั้ย แต่ถ้าเป็นการสอบหรือกลับไปในห้องเรียนอันนี้ต้องระวังว่าจะทำยังไงไม่ให้อัตลักษณ์ไทยของเราลงไปในภาษาอังกฤษเยอะ เช่น หากเราสอบข้อเขียน IELTS แล้วเราพยายามบอกว่าเราอยากจะรักษาอัตลักษณ์ไทยเหลือเกิน อันนี้อาจจะเป็นผลเสียต่อคะแนนที่ได้ละ แล้วการสอบแต่ละครั้งเนี่ย ต้องจ่าย 6200-6400 เลยนะครับ ถ้าเราพยายามจะรักษาอัตลักษณ์ไทยเนี่ยเงิน 6200-6400 หายไปทันที พร้อมกับคะแนนที่ไม่เหลืออะไรเลยครับ อันนี้ต้องระวัง
แล้วสำเนียงของอังกฤษกับอเมริกันที่ไทยมันเหมือนมีการเอามาสอนปนๆ คิดว่ามันเป็นปัญหามั้ย?
ปัญหาที่เราเจอก็คือมันชอบมีการสร้างภาพอ่ะ ให้ว่าในโลกนี้มันมี variety แค่ 2 variety คือ US กับ UK ถูกมะ แล้วใครก็ตามที่พูดภาษาอังกฤษก็จะคิดว่าตัวเองพูดแบบ US ถ้าไม่ US ก็เป็น UK ถูกมั้ยครับ แล้วสิ่งที่มากกว่านั้นคือ ถ้าเราพูดภาษาอังกฤษแบบอื่นล่ะ เราจะถูกมองว่าเป็นตัวตลกหรือตัวประหลาดทันทีถูกมั้ยครับ ทั้งที่ความเป็นจริงภาษาอังกฤษในปัจจุบันมันมีความหลากหลายมาก แล้วก็อยากให้จริงๆ แล้วการทดสอบหรือการวัดผลเนี่ยมันสะท้อนการใช้ภาษาอังกฤษในโลกความเป็นจริงเหมือนกัน แต่อะไรแบบนี้มันอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนานเลยทีเดียว
เราต้องยอมรับเลยนะว่า การทดสอบเป็นธุรกิจที่มีค่ามหาศาลนะ เท่าที่ผมคำนวณเนี่ย ETS ที่ควบคุมการสอบของ TOEFL และ TOEIC แล้วก็ British Council ของ IELTS เนี่ย เขาได้รายได้ประมาณที่ผมคำนวณดูประมาณปีละ 18,000 ล้านบาทนะ ในการจัดข้อสอบมาตรฐานแล้วลองคิดดูสิว่า ถ้าเราไม่ใช้การทดสอบแบบ native speaker บริษัทเหล่านี้จะสูญเสียรายได้เท่าไหร่ แล้วลองคิดดูต่อนะว่า เขาจะยอมสูญเสียรายได้มหาศาลขนาดนี้มั้ย อันนี้คืออีกมิตินึงของภาษาอังกฤษที่ถูกซ่อนเอาไว้ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงครับ แล้วก็ต้องยอมรับอีกแหละว่า ตอนนี้เนี่ยเราได้รับสื่อ ทั้งแบบที่เป็นภาษาอังกฤษแบบ UK และ US รวมถึงภาษาอังกฤษแบบอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้อ่ะ แล้วก็อยากให้ทุกคนยอมรับหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อความแตกต่างที่มันเกิดขึ้นด้วยครับ
จำเป็นไหมที่เราจะต้องใช้มาตรฐานเจ้าของภาษาในการสอนหรือการเรียนในไทย
อันนี้เราต้องแยกเป็นสองบริบท ในห้องเรียนส่วนนึง และการใช้ภาษาจริงอีกส่วนนึง ในห้องเรียนสำหรับตัวผมถือว่ายังจำเป็นอยู่ครับ เพราะพอเราไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา เราจะไม่รู้เลยว่า อะไรถูก อะไรผิด และที่สำคัญต่อมาคือ ถ้าเราไม่มีหลักหรือมาตรฐานยึด การสอนในห้องและการวัดผลจะโกลาหลทันที และยิ่งแย่ไปกว่านั้นคือ เด็กถูกควบคุมด้วยมาตรฐานตาม native speaker เช่น ข้อสอบ O-NET GAT-PAT IELTS TOEFL CU-TEP TU-GET แล้วลองคิดดูสิ ว่าถ้าในห้องไม่ใช้มาตรฐาน แล้วเด็กที่ออกจากนอกห้องไปสอบจริง เด็กจะกลายเป็นเหยื่อของความย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่สอนในห้องที่ไม่ใช่มาตรฐาน กับสิ่งที่ไปสอบที่เป็นมาตรฐาน
ส่วนในเรื่องของนอกห้องเรียนที่เป็นการใช้ภาษาจริง อันนี้เรื่องมาตรฐานอาจไม่จำเป็นมากละเพราะว่า การสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผลน่าจะเป็นจุดที่สำคัญมากกว่า ลองคิดดูว่าถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น เกาหลี ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติหรือภาษาที่สอง และเขาก็รู้งูๆปลาๆ แบบเรา เช่น เวลาไปซื้อปลาในตลาดกับอาจุมม่า อย่างเรามีความรู้มากก็ขึ้นต้นว่า “Excuse me, I’m really interested in this fish. It looks really nice. How much is it?” พูดมาทั้งประโยคยาวๆ คิดแกรมม่า เวิร์บ ช่วยอะไรมากมาย สุดท้ายอาจุมม่าเค้าฟังได้แค่ how much ดังนั้นความถูกต้องหรือมาตรฐานนี้ มันถูกต้องเสมอไปมั้ย? ในสถานการณ์แบบนี้สำหรับผมอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ แต่ถ้ากลับเข้ามาในห้องเรียน มาตรฐานยังสำคัญอย่างยิ่งครับ
เด็กไทยมักถูกล้อเรื่องภาษาอังกฤษจนไม่กล้าพูด เราจะแก้ยังไงดี
อันนี้สำคัญเลย เราต้องยอมรับนะว่า ภาษาอังกฤษเป็นต้นทุนทางสังคม และคนส่วนใหญ่ชอบที่จะมองหรือวัดค่าเราจากต้นทุนสังคมอันนี้ โดยเฉพาะในห้องเรียน เมื่ออยู่ในห้องเรียนพอเด็กพูดผิดหรือพูดไม่ถูก เด็กมักจะถูกประเมินค่าจากคะแนนที่ได้ เด็กก็มักถูกหัวเราะเยาะจากเพื่อนในห้องถูกมั้ยครับ แต่คราวนี้ถ้าหากผมมีโอกาสได้พูดกับเด็กผมก็จะบอกว่า เมื่ออยู่นอกห้องเรียน จำไว้นะว่าภาษาอังกฤษคือเครื่องมือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเป็นเครื่องมือแปลว่าอะไร แปลว่าในฐานะที่เราเป็นผู้ใช้เนี่ย เรามีสิทธิอันชอบธรรมเลยนะที่เราจะแก้ไขหรือปรับปรุงเครื่องมือนี้ให้สอดคล้องไปกับความสามารถในการใช้ภาษาของเรา และสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ที่เราจะนำภาษานั้นไปใช้ นั่นแปลว่าอะไร เราสามารถจะทำอะไรกับการใช้ภาษาของเราก็ได้ ตราบใดก็ตามที่มันยังสามารถสื่อความได้ประสบความสำเร็จ นั่นแปลว่าถ้าเราสื่อความสำเร็จปุ๊บ เราก็ประสบความสำเร็จแล้วครับ เครื่องมือนี้แม้มันจะบิ่นไปบ้าง มีสนิมสักหน่อย หรือไม่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้ามันสามารถทำให้เราสื่อความได้สำเร็จ ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วครับ เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกภาษาในห้องเรียนกับภาษาอังกฤษที่ถูกนำไปใช้จริงครับ อันนี้สำคัญที่สุดครับ
อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงมากๆ ในโลกโซเชียล คือ การใช้รูปแทนของเสียงไทยหรืออักษรไทยในการแทนเสียงภาษาอังกฤษไปเลยในการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษได้ถูกต้อง หรือง่ายขึ้น เช่น man แทนเป็น ม-แ-น แมน อาจารย์มีความคิดเห็นว่ายังไงบ้าง
จริงครับที่มันง่ายและสะดวก และอาจจะเป็นประโยชน์ในตอนต้น แต่ในระยะยาว ผมไม่เห็นด้วยจริงๆ ครับ เพราะอย่างแรกต้องยอมรับกันว่า ระบบเสียงในภาษานึง ไม่สามารถไปแทนที่เสียงในอีกภาษานึงได้ ยกตัวอย่าง เสียงของ ท ในไทย กับเสียงของ T ในภาษาอังกฤษ ไม่เหมือนกันนะครับ อย่างเช่นพูดว่า ท่องเที่ยวทั่วไทย อันนี้ผมกำลังใช้เสียงในภาษาไทยอยู่ แต่ถ้าคนอังกฤษหรือคนต่างชาติมาพูดในประโยคเดียวกัน มันจะเปลี่ยนไปครับ ถ้าเป็นคนอังกฤษเค้าจะพูดว่า ท่องเที่ยวทั่วไทย ซึ่งเสียงไม่เหมือนกัน มันอาจจะคล้ายกันก็จริง แต่มันไม่เหมือนกัน เพราะว่าในเสียงนี้ เราใช้อวัยวะในการออกเสียงแตกต่างกัน หรือการการใช้เสียงของ ส ซ แทนการออกเสียงของอักษร Z เช่นในคำว่า zoo zip zero ถ้าผมใช้เสียงของ ส หรือ ซ มันจะได้เสียงเป็น ซู ซิป หรือซีโร่ ซึ่งมันไม่เหมือนกัน แม้จะคล้ายกัน แต่ถ้าเราฟังเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเสียงจะพบว่ามันออกเสียงต่างกัน เพราะฉะนั้นการแทนที่เสียงของภาษานึงไปใช้อีกภาษานึงแบบนี้มันไม่เวิร์กแล้วครับ แล้วที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ บางครั้งรูปเขียนไม่สะท้อนการออกเสียงจริง เช่น ch ในภาษาอังกฤษสามารถออกเสียงได้ถึง 3 แบบ เป็นเสียงแบบ sh ก็ได้ ch ก็ได้ หรือแม้กระทั่งออกเสียง ค ก็ได้ ดังนั้นตรงนี้สัทอักษรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่การเรียนภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่รวมถึงภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วยครับ
อะไรคือสัทอักษร แล้วมันมีประโยชน์ยังไงในการเรียนภาษา
สัทอักษร คือ สัญลักษณ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้แทนเสียง โดยสัญลักษณ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา มันไม่ได้ทำมาเพื่อใช้ในภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ และอาศัยหลักเกณฑ์ตรงที่ว่า หนึ่งสัญลักษณ์ จะแทนเสียงหนึ่งเสียงเท่านั้น ที่สำคัญเพราะ อย่างที่ผมบอกไปแล้วก็คือว่า รูปเขียนสามารถแทนได้หลายๆ เสียง แต่พอมาถึงสัทอักษรเนี่ย หนึ่งสัญลักษณ์ จะแทนหนึ่งเสียงเท่านั้นครับ แล้วมันจะไม่ทำให้เกิดความมึนงงเวลาเมื่อนำสัทอักษรไปใช้
อาจารย์คิดว่าถ้าเราใช้สัทอักษรในการสอนและเรียน จะยากเกินไปสำหรับเด็ก หรือว่ามันจะเข้าถึงยากเกินไปไหม?
สำหรับผม ถ้าเด็กสามารถเขียน A-Z ได้แล้วเนี่ย อันนี้น่าสนใจนะ เพราะว่าที่จริงแล้ว IPA มันคือการเอาตัวอักษรละตินมาใช้ นั่นหมายความว่าถ้าเด็กสามารถเขียน A-Z ได้ เด็กก็น่าจะสามารถเริ่มที่จะใช้ตัวสัทอักษรในการเรียนภาษาได้ แต่สิ่งที่ติดอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ การที่ครูส่วนใหญ่อาจจะขาดเทรนนิ่ง หรือทักษะในการใช้สัทอักษร หรือมีองค์ความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ อันนี้น่าจะเป็นปัญหาเหมือนกันครับ
อาจารย์มีแนวทางการเรียนภาษาอังกฤษฝากให้นักเรียนไทยมั้ย
โห อันนี้ยากเลยนะครับ เพราะว่า นักเรียนมีความหลากหลาย ตัวนักเรียนเนี่ย ต้องยอมรับว่าแต่ละคนเข้ามาเรียนภาษา ด้วยความต้องการที่แตกต่างกัน ถูกมั้ย บางคนอยากใช้เพื่อสอบ ให้ได้คะแนนดีๆ บางคนอยากไปเรียนต่อเมืองนอก บางคนอยากแค่ดูหนังแล้วไม่ต้องดูซับไทย แล้วบางคนก็มีทัศนคติที่ดีกับภาษาแตกต่างกันถูกมั้ย แล้วบางคนคิดว่า เฮ้ย ชอบภาษาจังเลย แต่บางคนอาจจะคิดว่าพ่อแม่บังคับมา พอผู้เรียนมีความหลากหลาย มันก็ยากแล้วที่จะหาวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะตอบสนองเค้าได้ครบทุกมิติ
แล้วตัวผู้สอนเองก็อย่างที่บอกไป ทั้งจุดมุ่งหมายในการมาเป็นครูก็แตกต่างกันแล้ว การเทรนนิ่งที่ได้มาก็แตกต่างกัน ดังนั้นการที่เราจะมุ่งหาวิธีการสอนวิธีการเดียวที่ดีที่สุดเนี่ย อันนี้อาจต้องระวัง เพราะผมไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นการทะเยอทะยานเกินไปรึเปล่า หรือจะมีความเป็นไปได้มั้ย เพราะว่าพอกลับเข้าไปในโรงเรียนเนี่ยพบเลยว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนเอง ก็มีทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาไม่เท่ากันอีก สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวครูครับ ครูอาจจะไม่ได้เป็นแค่ครูสอนภาษาอย่างเดียว แต่ครูอาจจะต้อง จำเป็นต้องเป็นคนที่ เป็นนักวิจัยไปในตัวด้วย ที่จะต้องดูว่า วิธีการไหน หรือทรัพยากรตัวเองมีเท่าไหร่ แล้วจะทำยังไงให้สิ่งที่มันมีอยู่อย่างจำกัดเนี่ย มันก่อให้เกิดผลในด้านการเรียนภาษาให้ได้มากที่สุด
เราต้องยอมรับอีกอย่างนึงว่าทางเลือกที่เราพูดมาเนี่ยมันต้องแลกมาด้วยมูลค่าสูงเหมือนกัน กับต้นทุนที่ต้องเสียไปถูกมั้ยครับ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ผู้ปกครองมีรายได้หรือมีโอกาสที่จะได้เลือกแบบนั้นทุกคนหรือป่าว ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสหรือมีรายได้ที่จะได้เลือกขนาดนั้น อาจจะต้องเลือกในสิ่งที่เรียกว่า the next best thing หรือเปล่า สิ่งที่มันดีรองลงมาได้มั้ย ที่มันจะทำให้เราถึงจุดหมายได้ อาจจะได้ดีไม่เท่า แต่ก็อาจจะไปถึงได้เหมือนกันแบบนี้อ่ะครับ