เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ดีต่อใจ น่าน้อยใจแทนอวัยวะอื่นๆ เสียจริง โดยเฉพาะไตซึ่งเป็นหัวเรี่ยงหัวแรงหลักในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ถ้าไม่มีไต เราก็ไม่น่าจะอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าไตมีศักดิ์ศรีทัดเทียมหัวใจเลยทีเดียว
เราจึงขอเป็นหนึ่งเสียงที่ช่วยทวงคืนความยุติธรรมให้กับไต ถ้าคุณเห็นด้วย ไม่ต้องไปลงชื่อในแคมเปญใดๆ ให้วุ่นวาย แค่ตามเราไป ‘7 สถานที่ดีต่อไต’ ก็พอ!
1. เล่นน้ำจืดที่ สวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ
จริงๆ ทุกคนก็รู้แหละว่าของเค็มๆ ไม่ดีต่อไต แต่หลายคนก็อดใจไม่ไหวทุกที ทางออกง่ายๆ คือไปเที่ยวสวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ เพราะที่นี่มีแต่ทะเลน้ำจืด แถมไม่ใช่ทะเลน้ำจืดธรรมดาๆ แต่เป็นทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาด 13,600 ตารางเมตรเชียวนะ รับรองว่าไตปลอดภัยหายห่วงแน่นอน!
…โธ่ ไม่ขำเหรอ แต่เอาเป็นว่าถ้าอ่านแล้วอยากไปขึ้นมาจริงๆ ช่วงนี้มีโปรโมชั่น ‘Big October 2016’ บัตรผู้ใหญ่ลดราคาจาก 900 เหลือ 500 บาท/คน/วัน ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาลดออนท็อปได้อีก 50 บาท เหลือแค่ 450 บาท/คน/วัน ด้วยล่ะ เล่นได้ทั้งสวนน้ำและทุกเครื่องเล่นในสวนสนุกเลย ถึงจะจั่วหัวว่าตุลาคมแต่โปรฯ มีถึงวันที่ 11 พ.ย. เน่อ
*เนื่องจากเป็นช่วงไว้ทุกข์ ทางสวนสยามจึงงดกิจกรรมบันเทิงและรื่นเริงในบางพื้นที่ รวมทั้งระงับการใช้งานเครื่องเล่นบางประเภท ตรวจสอบเครื่องเล่นที่จะเปิดในวันนั้นๆ ได้จากหน้าเพจ
203 ถ.สวนสยาม / เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.
2. อิ่มอร่อยกับอาหารรสธรรมชาติที่ Greenmade Cafe
เราขอแก้ตัวกับข้อนี้ก็แล้วกัน ประเด็นคือไตเป็นอวัยวะที่ไม่ถูกกับอาหารรสจัดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ดังนั้นเวลากินข้าวก็เพลาๆ พริกน้ำปลาบ้าง หรือหัดกินก๋วยเตี๋ยวแบบไม่ปรุงบ้างก็ดี ไม่งั้นไตจะทำงานหนักมาก เอ้อ แล้วก็ต้องงดของแปรรูปทั้งหลายด้วย เช่น ไส้กรอก เพราะแม้เราจะกินไม่จิ้มซอส แต่ในตัวมันเองก็มีเครื่องปรุงรสเยอะมากอยู่แล้ว
แต่ถ้าทำใจกับอาหารรสจืดๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลองไปฝากท้องกับ Greenmade Cafe ร้านอาหารซึ่งเสิร์ฟเมนูเพื่อสุขภาพอย่างสลัดผัก ยำส้มโอ สปาเก็ตตี้ ซุป และอาหารจำพวกคอมฟอร์ทฟู้ดต่างๆ มีตั้งแต่กินเล่นเบาๆ ไปจนถึงมื้อหนักอยู่ท้อง ด้วยความที่หนึ่งในเจ้าของร้านเป็นพยาบาลมาก่อน จึงให้ความสำคัญกับวัตถุดิบสดใหม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตผลออร์แกนิก) แล้วปรุงรสอาหารทุกจานแต่น้อย เน้นให้รสธรรมชาติของวัตถุดิบชั้นดีเป็นตัวชูโรง คือสุขภาพดีด้วยแล้วก็อร่อยด้วย แม้กระทั่งน้ำผลไม้ปั่นบางสูตรก็ไม่ใส่น้ำเชื่อมเพิ่มเลย กินแล้วสบายไตสุดๆ ขอบอก
ชั้น 2 โซนพลาซ่า AIA Capital Center ถ.รัชดาภิเษก / เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 09.00-21.30 น. และเสาร์-อาทิตย์ 10.00-21.30 น. / MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ
3. ดื่มน้ำผลไม้ที่ Peef Juice Bar & Fruit Cafe
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับไตคือเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด คาเฟอีนแอดดิคและแอลกอฮอล์เลิฟเวอร์ทั้งหลายเราเข้าใจคุณ! อาจจะงดไม่ได้ทั้งหมด แต่ลดปริมาณหรือความถี่ในการดื่มลงบ้างเนอะ ไตจะได้ไม่งอน หัดนอนเร็วตื่นเช้า แล้วเรียกความสดชื่นให้ร่างกายด้วยน้ำเปล่าและน้ำผลไม้แทนดีกว่า
จริงๆ ย่านออฟฟิศทุกย่านก็น่าจะมีร้านน้ำผลไม้แยกกากอยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนอยากปรนเปรอตัวเอง ลองไปชิลที่ร้าน Peef Juice Bar & Fruit Cafe คาเฟ่บรรยากาศดีในซอยเอกมัย 19 ที่นี่มีน้ำผลไม้สกัดเย็นหลากหลายสูตรให้เลือกดื่มตามไตชอบ ไม่ว่าจะสั่งสูตรไหนก็รับประกันว่าคั้นสดๆ วันนั้นและไม่มีน้ำตาลหรือสารกันเสียใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าอยากกินอะไรรองท้องก็มีเมนูสุดเฮลตี้อย่าง smoothies bowl และ chia pudding ไปจนถึงเมนูอยู่ท้องอย่างคอหมูย่างจิ้มแจ่ว
ซอยเอกมัย 19 / เปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร
09.00-20.00 น. / BTS เอกมัย
4. งดเนื้อซักมื้อที่ Bonita Cafe and Social Club
ดูเหมือนว่าไตจะชอบให้เรากินมังสวิรัติมากกว่า อาจจะไม่ถึงกับตลอดชีวิต แต่ 1 วันหรือ 1 มื้อในสัปดาห์ลองงดโปรตีนให้ไตได้พักผ่อนบ้างก็น่าจะดี
นอกเทศกาลกินเจแบบนี้อาจหาร้านอาหารมังสวิรัติยากหน่อย เราขอชี้เป้า Bonita Cafe and Social Club ร้านมังฯ แบบวีแกน (คือไม่มีพวกนม เนย ไข่ เป็นส่วนประกอบ) บนถนนสีลม ที่นี่เสิร์ฟอาหารประเภทคอมฟอร์ทฟู้ด เช่น สปาเก็ตตี้ คลับแซนด์วิช ซุป ฯลฯ ซึ่งรสชาติดีจนลืมไปเลยว่าไม่ได้ใส่เสื้อสัตว์ ส่วนเมนูที่ไปแล้วต้องสั่งให้ได้คือพิซซ่าและเบอร์เกอร์เทอริยากิ
ซอยปราโมทย์ (สีลม 26) *ร้านเพิ่งย้ายที่ตั้ง ระวังอย่าไปโลเคชั่นเดิมที่ซอยวัดแขกนะ* / เปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร 11.30-15.30, 18.00-21.30 น. / BTS สุรศักดิ์
5. ออกกำลังกายให้เหงื่อท่วมที่สตูดิโอทั่วกรุงเทพฯ
อย่าลืมช่วยไตทำงานโดยการออกกำลังกายให้เหงื่อออก เพราะสารพิษต่างๆ นานาสามารถออกมาทางเหงื่อได้ด้วย เราไม่แน่ใจว่าจะชี้เป้าฟิตเนสหรือสตูดิโอที่ไหนดี เพราะแต่ละคนก็คงชอบออกกำลังกายไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ Guava Pass ก็แล้วกัน ในราคา 3,699 บาทต่อเดือน เจ้าพาสนี้คือบัตรผ่านให้คุณไปเข้าคลาสออกกำลังกายกับสตูดิโอในเครือข่ายซึ่งมีอยู่เกือบ 100 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ปั่นจักรยาน มวยไทย ครอสฟิต พิลาทิส ฯลฯ มีข้อแม้แค่ว่าใน 1 เดือนจะไปเล่นที่สตูดิโอเดิมได้เพียง 3 ครั้ง เหมาะกับคนที่ชอบออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ หรืออยากทดลองวิธีเวิร์กเอาท์แบบใหม่ๆ ลองเข้าไปดูรายชื่อสตูอิโอในเว็บไซต์ได้เลย
6. แวะไปส่องสินค้าในร้าน ‘ไตเย็บใหม่’
ถ้าไตคุณพังเกินจะเยียวยา เราแนะนำให้แวะไปร้าน ‘ไตเย็บใหม่’ ในย่านพาหุรัด เพื่อเปลี่ยน…. เอ้ย ล้อเล่น! เราขอสาบานว่าร้านชื่อแปลกหูนี้ไม่ไช่ตลาดมืดค้าอวัยวะมนุษย์แต่อย่างใด แต่เป็นร้านกระดุมเก่าแก่อายุอานามหย่อน 100 อยู่ไม่กี่ปี
คำว่า ‘ไตเย็บ’ คือชื่อเจ้าของร้านรุ่นแรกซึ่งเป็นคนอิหร่าน ส่วนคำว่า ‘ใหม่’ นั้นเจ้าของร้านรุ่นสองเติมเข้าไปอีกที (สมมติถ้าเจ้าของร้านเป็นคนไทยก็คงได้ชื่อ ‘สมศรีใหม่’ ‘สมชายใหม่’ อะไรเทือกนี้)
ส่วนใหญ่กระดุมที่นี่เป็นของอิมพอร์ตจากประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมนี ออสเตรีย เชคโกสโลวาเกีย ฯลฯ ร้านรุ่งเรืองสุดๆ ในช่วงที่คนยังนิยมสั่งตัดเสื้อผ้ากันเองอยู่ ประมาณว่าซื้อผ้าในพาหุรัดเสร็จก็เดินมาเลือกซื้อกระดุมต่อก่อนไปสั่งตัดนั่นเอง
612 ถนนจักรเพชร / เปิดทุกวัน 09.00-17.00 น.
7. ตรวจเช็กสุขภาพไตที่โรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ
โอเค กลับมาจริงจังส่งท้ายเสียหน่อย ถ้าเริ่มรู้สึกว่าไตมีปัญหา สถานที่ที่ดีต่อไตที่สุดก็คงหนีไม่พ้นโรงพยาบาลนี่แหละ โรคที่เกี่ยวกับไตบางโรคสังเกตได้จากความผิดปกติของปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเจอก็อย่านิ่งนอนใจ ควรไปปรึกษาหมอ หรืออาจเฝ้าระวังไว้ก่อนด้วยการไปตรวจสุขภาพไตที่โรงพยาบาลก็ได้ แพ็คเก็จส่วนใหญ่ราคาแค่พันกว่าบาทเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้ต้องมาถึงจุดที่ไปโรงพยาบาลเลยเนอะ ดูแลไตดีๆ จะได้ไม่ต้องเสียใจที่ไตเสีย!