“ต้องคิดอะไรอยู่ ถึงจะคิดสูตรอาหารนี้ออกมาได้นะ?”
เป็นคำถามที่มักโผล่ขึ้นมาบ่อยๆ เวลาเห็นสูตรอาหารสักสูตร โดยเฉพาะอาหารที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน คนในห้วงเวลานั้นยังไม่มีแม้แต่เครื่องมือการทำครัวร่วมสมัยแบบเรา หรือแม้แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แบบที่พวกเรามี อะไรทำให้เกิดอาหารเมนูต่างๆ ขึ้นในโลกที่เราอาศัยอยู่?
คำตอบของคำถามนั้นมีมากมาย ทั้งการลองผิดลองถูก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และอีกหลากหลายเหตุผล หากจะพูดโดยสรุปคือ อาหารนั้นไม่เคยเป็นแค่อาหาร แต่การกำเนิดขึ้นของมันบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบริบทที่ให้กำเนิดพวกมันขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือในหลายๆ กรณี การเกิดขึ้นของอาหารบางอย่างนั้นก็เกิดขึ้นจากประเด็นที่การเมืองมากๆ
แป้ง 1 ถ้วยตวง
ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ ½ ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า ½ ถ้วยตวง
นม ½ ถ้วยตวง
นำแป้ง ผงฟู และเกลือผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นค่อยๆ เทนมผสมน้ำเปล่าใส่ลงในส่วนผสมที่แห้ง สลับกับนวดให้ทั้งหมดเข้ากัน บางสูตรอาจใส่เบอร์รี่เข้าไปหลังจากนวดส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็แบ่งแป้งออกเป็นชิ้นแบนขนาดราวฝ่ามือ และนำมันทอดลงในน้ำมันหมูให้มีสีเหลืองอมน้ำตาลสุกอย่างทั่วถึง
สูตรอาหารง่ายๆ ดังกล่าวคือ แบนนอค (Bannock) อาหารที่กำเนิดขึ้นราวๆ ปี 1800 โดยผู้ให้กำเนิดนั้นไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร อาจเป็นกะลาสีจากสก็อตแลนด์ หรืออาจจะเป็นคนอะบอริจินจากประเทศออสเตรเลีย ทว่าอาหารดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในฐานะอาหารพื้นบ้านของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือและแคนาดา แม้ว่าวิธีการทำจะเปลี่ยนแปลงจากการทอดไปเป็นการย่างและเป็นการอบ หากแต่ละเผ่าในบริเวณดังกล่าวก็มักจะมีสูตรแบนนอคสักรูปแบบเป็นของตัวเอง
ฉะนั้น หากมองในเลนส์บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าอาหารจะเกิดจากไหน ก็ถูกต้องแล้วที่จะเรียกมันว่าอาหารพื้นบ้านของชนพื้นเมือง? แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการเรียกนี้ เพราะต่างจากหน้าตาและวิธีการทำของแบนนอค จุดกำเนิดและวิธีการของมันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในชนเผ่าฝั่งเหนือของสหรัฐอเมริกานั้น ซับซ้อนและกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกว่าที่คิด
ในบทความจากสำนักข่าวออนไลน์ The Walrus มีการพูดคุยเกี่ยวกับที่ทางของแบนนอคในฐานะอาหารพื้นบ้านของชนพื้นเมือง โดยพวกเขาคุยกับ เคซี อดัมส์ (KC Adams) ศิลปินเชื้อสายเผ่า Cree และ Ojibway สำนักข่าวอธิบายว่า ห้องครัวของเธอเต็มไปด้วยวัตถุดิบพื้นเมืองของชนเผ่า เช่น เนื้อควายไบซัน เนื้อกวาง ไข่จากไก่งวง และสควอช แต่สิ่งที่เธอไม่มีอยู่ในห้องครัวเลยคือ น้ำตาล น้ำมันหมู นม เกลือ และแป้ง วัตถุดิบในการทำแบนนอค และสิ่งที่เธอเรียกว่า “ห้าของขวัญจากคนขาว”
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนักที่การเกิดขึ้นของแบนนอค จะเป็นห้วงเวลาใกล้เคียงกันกับห้วงเวลาการบังคับย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมือง โดยเมื่อปี 1876 รัฐบาลแคนาดาได้แบ่งเขตแดนที่เคยเป็นของชนพื้นเมืองออกใหม่ เปิดช่องให้คนผิวขาวเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด พร้อมทั้งตัดขาดชนพื้นเมืองออกจากบริเวณการล่าสัตว์และตกปลา พื้นที่ที่เคยปลูกพืชพื้นเมืองถูกยึดโดยผู้ที่ไม่กินมัน
ตัวเลือกเดียวที่เหลืออย่างแท้จริงจึงเป็นเสบียงที่ทางภาครัฐจัดให้ทั้ง เบคอน เกลือ น้ำตาล แป้ง ผงฟู และน้ำมันหมู ของขวัญจากคนขาว และการสิ้นสุดของอาหารการกินพื้นบ้านอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการหักมุมที่ตลกร้าย เพราะแม้แต่ในเมนูอาหารคนขาวก็ยังสร้างอาณานิคมของตัวเองเอาไว้
หากดูจากส่วนผสมของแบนนอคแล้ว น่าจะเป็นอาหารที่รู้แน่ๆ ว่าไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพผู้กินอย่างแน่นอน แต่ว่าใครกันที่เป็นคนเลือกอาหารที่เรากิน?
หอมแดง 1-2 หัว
เกลือ 1 หยิบมือ
ซอสมะเขือเทศราว ½ แกลอน
กระดูกไก่เหลือๆ ที่หาได้จากกองขยะ
กระดูกไก่ที่เพิ่งซื้อมาในตอนเช้ามืดจากคนขายขยะ นำมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาดเป็นจำนวน 4 รอบ หั่นและผัดหอมแดงลงไปในกระทะเหล็กใบใหญ่ให้สีเริ่มใส หลังจากนั้นค่อยๆ นำกระดูกที่มีเนื้อติดใส่ลงไปผัดจนหมด ใส่เกลือและใส่ซอสมะเขือทั้งหมดที่เตรียมไว้เพื่อกลบกลิ่น และเคี่ยวต่ออีก 15 นาที
สูตรอาหารดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดผ่านวิดีโอสารคดี ร้อยเรื่องรอบโลก โดย กรุณา บัวคำศรี ตอนที่ 58 ซึ่งเป็นอาหารที่ดัดแปลงมาจากเมนูพื้นเมืองของฟิลลิปปินส์ ชื่อว่า อะโดโบ โดย มีนา เวรา แม่ค้าที่ดัดแปลงเมนูสำหรับร้านอาหารในสลัมของเธอ เรามักรู้จักอาหารรูปแบบนี้ว่า Pagpag หรืออาหารปัดฝุ่น อาหารที่ประชนชาวฟิลลิปปินส์ทุกเพศทุกวัยผู้อาศัยในสลัมกินกันเป็นปกติ
สำนวน You Are What You Eat เป็นสำนวนที่ชนชั้นกลางได้ยินอยู่เป็นประจำ การเลือกอาหารให้เข้าไปในร่างกายของเรา แทบจะฟังดูเหมือนตัวเลือกทางศีลธรรมเลยด้วยซ้ำ และบ่อยครั้งตัวเลือกทางศีลธรรมก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องขาวกับดำ ทำไมถึงกินเลวๆ ล่ะ? ทำไมไม่กินดีๆ? แต่ว่าแท้จริงแล้วใครกันที่เลือกว่าเราจะกินอะไร? เพราะในกรณีของ Pagpag เองก็คงไม่มีใครเลือกจะกินอาหารที่มาจากกองขยะแน่นอน
ในคำนำของแบบเรียนภาษาพาที ชุดภาษาเพื่อชีวิต ประถมศึกษาปีที่ 5 สำหรับหลักสูตรปีการศึกษา พ.ศ. 2551 เขียนไว้ว่า นอกจากการเรียนเกี่ยวกับความงาม ภูมิปัญญา และทักษะภาษาแล้ว ยังสอนให้ “ปลูกฝังวัฒนธรรมทางภาษา ความเป็นไทย ความเป็นคนดีของสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งนำความรู้และความคิดไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตต่อไป” เช่นนั้นแล้วความคาดหวังเมื่อใครก็ตามที่เปิดหนังสือเล่มนี้ คือเราต้องได้เห็นว่าผู้เขียนมองการดำเนินชีวิตที่จะนำไปปรับใช้ได้ในโลกจริงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
บทแรก “ครอบครัวพอเพียง” ที่พาครอบครัวจากกรุงเทพฯ ไปยังบ้านป้านิดในจังหวัดปากช่อง โดยป้านิดแตกต่างจากคนกรุงเทพฯ ป้านิดสามารถใช้คนสวนไร้ชื่อไปเก็บผักและผลไม้นานาชนิดมาประกอบอาหารให้กับพวกเขากินได้ นอกจากนั้นในบริเวณใกล้เคียงยังมีเล้าไก่และบ่อน้ำไว้ใช้งาน “ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้ชื่นชมกับธรรมชาติ ได้กินอาหารปลอดสารเคมี เมฆและฝนอยากให้เพื่อนๆ มาเที่ยวชมธรรมชาติอย่างนี้บ้าง” หนังสือปิดท้ายเรื่อง
อ่านโดยตีความแล้ว สิ่งที่หนังสือต้องการจะบอกคือ “ชีวิตต่างจังหวัด” ของป้านิดนั้นเป็นชีวิตที่ดีและควรเอาเยี่ยงอย่าง แต่คำถามคือเราคนไหนกันจะมีโอกาสสร้างพื้นที่ของตัวเองได้เท่าที่ป้านิดทำ? การมีที่ดินและมีบ้านเองก็เป็นเรื่องยากแล้ว คำถามที่ตามมาคือใครจะดูแลสวน? ป้านิดมีงานอื่นนอกจากชีวิต 5 หน้ากระดาษนี้หรือไม่? เพราะในโลกจริงเราทุกคนมีแน่นอน และเชื่อว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ปลูกสวนดอกไม้และนำมาทำไข่เจียว
อาหารไม่มีสารเคมี อาหารคลีน อาหารที่ถูกสุขลักษณะ ถึงแม้ว่าการกระทำตักอาหารเข้าปากจะเป็นของเรา แต่แท้จริงแล้วบ่อยครั้งเหลือเกินที่มีอย่างอื่นมาเลือกอาหารให้กับเรา เราอาจจะอยากทำอาหารกินเอง แต่แล้วเวลาว่างล่ะ? กำลังที่เราต้องใช้ในการทำอาหารไปอยู่กับการทำงานเลี้ยงชีพหมดแล้วหรือเปล่า? ที่อยู่อาศัยของเราอนุญาตให้เราทำได้หรือเปล่า? ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องเสียเราเอาไปทำอะไรได้? เราเข้าถึงวัตถุดิบที่อาหารเรียกร้องได้ขนาดไหน? เราจะเลือกกินได้อย่างไร ถ้าการกินสำหรับเราเป็นการเอาชีวิตรอด?
ข้อจำกัดเหล่านี้ต่างหาก ที่กำหนดอาหารของเรา
ไข่ไก่/เป็ด 1 ฟอง
น้ำปลาตามชอบ
ต้มน้ำให้เดือด หลังเดือดแล้วใส่ไข่ลงไปในน้ำ หากชอบแบบยางมะตูม ไข่เป็ดจะใช้เวลาต้ม 7 นาที และไข่ไก่จะใช้เวลาต้ม 5 นาที แต่หากชอบไข่สุกเต็มใบต้องเพิ่มระยะเวลาในการต้มไปแบบละราวๆ 2 นาที หลังครบเวลาแล้วให้นำไข่ขึ้นและน็อกน้ำแข็งทันที เมื่อไข่เย็นพอหยิบได้ จึงนำมาปอกเปลือกแล้ววางบนข้าวสวย
ในภาษาพาทีเล่มเดียวกันกับประเด็นก่อนหน้า ข้าวปุ้นได้บี้ไข่กินกับข้าวพร้อมเหยาะน้ำปลาตามชอบ “บ้านข้าวปุ้นอยู่กินอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง” ใยบัวเด็กหญิงบ้านรวยที่เพิ่งบ่นว่าอยากตายไปในหนังสือ 2 หน้าก่อน คิดในใจหลังจากได้กินอาหารร่วมกับเพื่อนๆ และนั่นคือแว่นตาที่หนังสือเล่มนี้มองไปยังจุดตัดของอาหาร ชนชั้น และความเหลื่อมล้ำ ในบ้านที่เด็ก 6 คน มีอาหารเพียงผัดผักบุ้ง 1 จานและไข่ต้มคนละครึ่งฟอง แล้วสรุปความว่านี่คือมื้อที่สุขที่สุดของพวกเขานั้นเป็นการย้อมสีจากประเด็นเรื่องการขาดสารอาหารให้กลายเป็นเรื่องสวยหรู
เหตุผลที่กล่าวถึงหนังสือหน้านี้อย่างกว้างขวางและแพร่หลายนั้นไม่ได้มาจากว่าเพราะไข่ต้มเป็นอาหารที่แย่ หรือเพียงเพราะการกินเช่นนี้ทำให้เกิดการขาดสารอาหาร หรือเพราะเป็นสารเกี่ยวกับความพอเพียงจากมุมมองที่ไม่เป็นไปตามโลกจริง แต่เป็นเพราะว่ามันเป็นตัวแทนของมือบางมือที่มาแตะไหล่ของเราแล้วพูดว่า “ไม่เป็นไรนะ ชีวิตที่เธอมีน่ะดีอยู่แล้ว และมันไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย”
อาหารไม่ได้เป็นแค่อาหาร มันพูดบางอย่างเกี่ยวกับชนชั้น การเมือง และสถานการณ์บางอย่างเสมอ ฉะนั้นเราควรมองมันอย่างพิจารณาว่าความหมายของการกินไข่ต้มครึ่งฟองคืออะไร และเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา
ไม่ใช่บอกว่าให้กินมันไปเพราะแค่นั้นคือความสุขแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก