ถ้าออกกำลังกายแล้วได้เงินจะมีคนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นไหม? แล้วถ้าการออกกำลังกายไปเรื่อยๆ สามารถแลกเป็นของรางวัลอย่างตั๋วหนัง คูปองร้านอาหาร รองเท้ากีฬา gadgets ต่างๆ ไปจนถึง iPhone X และ ทีวีจอโค้งขนาดห้าสิบนิ้ว ใครล่ะจะไม่ทำ?
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาหน้าสเตตัสบนเฟซบุ๊กเต็มไปด้วย New Year’s Resolutions ที่เพื่อนๆ ตั้งเป้าหมายว่าอยากทำให้ได้ในปี 2018 และทุกปีเป้าหมายเหล่านี้ก็เหมือนถูกนำกลับมารีไซเคิล บิดเปลี่ยนรูปประโยคเพื่อใช้งานใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง “ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น” ตามสถิติจากเว็บไซต์ statisticbrain.com บอกว่านี่คือเป้าหมายอันดับหนึ่งที่คนมักต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเอง (เกือบ 22%) แต่ผลสำรวจก็พบว่ามีประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่ ‘รู้สึก’ ว่าตัวเองทำได้แบบนั้น ส่วนที่เหลือก็วนกลับมาตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ กันใหม่ในปีถัดไป
เหตุผลหลักอย่างหนึ่งของความล้มเหลวคือการตั้งเป้าหมายไม่ชัดเจน หรือพูดอีกอย่างคือไม่มีภาพในหัวว่าตัวเองต้องการอะไรจากการลงมือทำสิ่งนั้น สมัยมัธยมเคยได้ยินเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นฟุตบอลเก่งมากบอกว่า เขาติดภาพของ David Beckham ไว้ที่ประตูห้องเพื่อช่วยจินตนาการว่าตัวเองเป็นแบบนั้น แม้ตอนนี้เขาไม่ได้โด่งดังเป็นดาวเตะระดับโลก แต่ในตอนนั้นเขาคือเบคแฮมประจำโรงเรียนเลยทีเดียว ฉะนั้นการตั้งเป้าหมายโดยไม่มีปลายทางที่แน่นอนมันก็คล้ายกับการเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อหาสมบัติโดยไม่มีลายแทง
Sweatcoin บริษัท Startup สัญชาติอังกฤษที่ติดชาร์ตท็อปดาวน์โหลดแอพสุขภาพของทั้ง iOS และ Android กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนเหล่านี้ พวกเขากระตุ้นให้คนออกกำลังกาย มีสุขภาพดี เสียเหงื่อเพื่อแลกเป็น ‘เงิน’ และของรางวัล
บริษัทสตาร์ทอัพดาวรุ่งแห่งนี้มีผู้ใช้บริการเกือบห้าล้านคนตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2015 และในช่วง Q4 ของปี 2017 ที่นี่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 266% มี active users (กลุ่มคนที่ใช้งานตลอด) ประมาณ 2 ล้านคนต่ออาทิตย์ โดยตัวเลขที่ค่อยๆ ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Sweatcoin เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มสุขภาพของ App Store และอันดับสองในกลุ่มฟรีแอพ (ตามการจัดอันดับใน App Store ของอเมริกา)
ขั้นตอนการทำงานของมันคือ หลังจากที่ผู้ใช้โหลดแอพและทำการสมัคร แอพนี้ก็จะเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพพร้อมกับตำแหน่งที่ตั้ง GPS กับของแอพ Sweatcoin จากนั้นแอพตัวนี้จะคอยติดตามนับ ‘จำนวนก้าว’ ที่เราเดินหรือวิ่งในวันนั้นและคำนวณออกมาเป็นเงินดิจิทัล โดยทุกๆ 1,000 ก้าว จะถูกแปลงเป็น 0.95 sweatcoins (SWC) หลังจากนั้นเราก็เอาเจ้าเงินดิจิทัลตรงนี้ไปแลกเป็นอุปกรณ์กีฬา บัตรของกำนัล และของรางวัลอื่นๆ ตามที่ทางบริษัทกำหนด ซึ่งก็มีเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมเรื่อยๆ
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของแอพนี้คือเราจะได้เหรียญดิจิทัลก็ต่อเมื่อออกไปเดินข้างนอก ฉะนั้นการวิ่งบนลู่วิ่งในยิมก็ถือเป็นโมฆะและไม่นับ (แต่ก็มีบางคนบอกว่าแอพมันนับจำนวนก้าวในที่ร่ม อย่างในบ้านหรือบริษัทด้วย) อีกอย่างที่อาจทำให้คนไม่อยากใช้แอพตัวนี้เท่าไหร่ เพราะแอพเวอร์ชั่นไม่เสียเงินนั้นมีการสร้างลิมิตให้รับได้ 5 SWC ในแต่ละวัน (ประมาณ 5 พันก้าว) ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคนที่พยายามรักษาสุขภาพคือประมาณ 5000 – 10,000 ก้าวต่อวัน ซึ่งหลายคนก็พอใจกับลิมิตนี้ แต่หากคุณรู้สึกว่าเสียโอกาส อยากได้เหรียญมากกว่านี้ก็สามารถจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนด้วย SWC ที่หามาได้ด้วยหยาดเหงื่อ (จริงๆ) เช่นเดียวกัน (5 SWC สำหรับ 10,000 ก้าว, 20 SWC สำหรับ 15,000 ก้าว และ 30 SWC สำหรับ20,000 ก้าว)
แม้ขั้นตอนการทำงานของ Sweatcoin จะแตกต่างจากแอพเพื่อสุขภาพอื่นๆ แต่โดยพื้นฐานแล้วมันคือไอเดียของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างหนึ่ง (Behavioral Economics) ที่การตัดสินใจในการทำอะไรสักอย่างหนึ่งของเรา (ในกรณีนี้คือการออกกำลังกาย) เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาและอารมณ์ร่วมด้วยกัน โดยเป้าหมายของแอพนี้คือทำให้ผู้ใช้ มองภาพเป้าหมายปลายทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและมองข้ามผลตอบแทนแบบทันทีไป (อย่างเช่นการซื้อ KFC มานั่งกินระหว่างดูซีรี่ย์) เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราอดเปรี้ยวไว้กินหวานในรูปแบบดิจิตอลก็ว่าได้
Anton Derlyatka (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง) ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “สมมุติฐานแรกของ Sweatcoin คือการเคลื่อนไหวทางกายภาพนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์”
Sweatcoin ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทประกันและบริษัทใหญ่ๆ ที่พยายามผลักดันให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะถ้าสุขภาพแข็งแรงพนักงานก็ทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียค่าประกันที่สูง เป็น win-win ของทั้งตัวบริษัทและพนักงานไปในเวลาเดียวกัน
ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินลงทุนกว่า 5.7 ล้านเหรียญจากบริษัทลงทุนหลายเจ้า โดยผู้ก่อตั้งบริษัทมีเป้าหมายว่าจะใช้เงินจำนวนนี้เพื่อขยายตลาดออกไปให้กว้างกว่าแค่อเมริกาและอังกฤษ Anton Derlyatka บอกว่ามีแพลนว่าต่อไปอยากให้คนจ่ายภาษีด้วย SWC ด้วยซ้ำ ส่วน Oleg Fomenko (ผู้ก่อตั้งอีกคนหนึ่ง) ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่าเป้าหมายต่อไปของบริษัทคือการพัฒนาเทคโนโลยีของ Sweatcoin ให้คล้ายกับ Bitcoin ที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดเหมือนกับเงินดิจิตอลตระกูลอื่นได้
แต่ด้วยกระแสของ Cryptocurrency ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า sweatcoin จะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่นัก ก็เริ่มมีเว็บไซต์เพื่อการแลกเปลี่ยน SWC ให้เป็นเงินได้จริงๆ เกิดขึ้นมาบ้างแล้วอย่าง sweatcoinguide.com ที่เป็นตัวกลางรับซื้อ SWC โดยมีราคาประมาณ $0.0508 ต่อ 1 SWC (ประมาณ 1.6 บาท ต่อ 1000 ก้าว) ซึ่งทางเว็บไซต์รับซื้อตั้งแต่ 250 SWC ขึ้นไปและส่งเป็นเงินกลับมาทาง Paypal เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากสุขภาพที่ดีถ้าได้ของรางวัลหรือเงินตอบแทนด้วยก็คงดีไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีผู้ใช้บ่นกันอยู่บ่อยๆ คือการนับจำนวนก้าวตามความเคลื่อนไหวที่เป็นจริง แต่กลับนับจำนวนก้าวได้ไม่แม่นยำ แถมยังหัก 5% ของ SWC ที่เราหาได้เป็นค่าคอมมิชชั่นอีกด้วย การทำงานของแอพ Sweatcoin คือการเก็บรวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหวและตำแหน่ง GPS ของเราตลอดทั้งวัน และต้องห้ามเปิดโหมดประหยัดพลังงานและอนุญาตให้แอพนี้เปิดอยู่ใน background ตลอดเวลา (ถ้าพยายามจะปิดก็จะมีกล่องข้อความขึ้นมาเตือน) ซึ่งเจ้าแอพตัวนี้ก็กินแบตเตอรี่เอาเรื่องพอสมควร แต่ความความแม่นยำของการนับจำนวนก้าวนั้นกลับไม่แน่นอน มีรีวิวจากลูกค้าหลายรายที่บอกว่า Sweatcoin ไม่ได้นับจำนวนก้าวหลายพันก้าวเลยทีเดียวต่อวัน อย่างมีผู้ใช้คนหนึ่งชื่อ Ian Wynne ในประเทศอังกฤษบอกว่าแอพลืมนับก้าวของเขาวันนี้ไปกว่า 3000 ก้าว แถมนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นด้วย
ในประเด็นนี้ทางผู้บริหารก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตัวแอพยังต้องมีการพัฒนาอีกเยอะ และเพื่อป้องกันการโกง SWC ของผู้ใช้ (อย่างเช่นเอาผูกไว้กับสุนัขแล้วพาไปวิ่ง) และเจ้าระบบป้องกันความปลอดภัยนี้เองที่ทำให้ก้าวบางก้าวไม่ผ่านการตรวจสอบและไม่ถูกนำมานับรวมสำหรับการเดินในครั้งนั้น ถ้าไปอ่านข้อมูลในส่วนของ help สำหรับ app จะเห็นว่าระบบโดยปกติแล้วจะให้ผ่านแค่ประมาณ 65% เท่านั้น จึงทำให้การเดินที่ไม่ปกติ (เช่นเดินกับเด็กเล็ก หรือ เข้าๆ ออกๆ wifi ระหว่างเดิน) ได้จำนวนก้าวในแต่ละวันลดลง ซึ่งก็ดูขัดแย้งในตัวมันเองที่ว่าเป็นแอพเพื่อสุขภาพแต่กลับทำหน้าที่ตรงนั้นไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก
ปัญหาอย่างที่สองคือของรางวัลที่สามารถแลกได้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สมมุติตั้งเป้าว่าอยากได้รองเท้าไนกี้คู่หนึ่งโดยใช้ทั้งหมด 250 SWC ซึ่งถ้าเป็น free user ก็ต้องใช้เวลากว่า 50 วันที่เดินครบ 5000 ก้าว เพื่อรองเท้าคู่หนึ่ง อันที่จริงแล้วระยะเวลาประมาณนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่ผู้ใช้มักเจอบ่อยๆ คือเมื่อแต้มครบ ของกลับไม่มีเหลือแล้ว หรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่ไม่อยากได้แทน หรือบางอย่างเช่น iPhone X ต้องใช้กว่า 20,000 SWC ที่แปลงเป็นตัวเลขจำนวนวันคือ 4000 วัน (ในโหมด free user) ซึ่งก็คือระยะเวลาประมาณ 11 ปีและก้าวประมาณ 20 ล้านก้าว
ลองคิดกันเล่นๆ ว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาพี่ตูนวิ่งไป 2,191 กิโลเมตร จากเบตงไปแม่สาย
1 กิโลเมตร = 1000 เมตร
1 เมตร = 100 เซนติเมตร
ระยะก้าวของพี่ตูน = ส่วนสูง (175) x 0.415 = 72.625 เซนติเมตร/ก้าว
พี่ตูนวิ่งไปทั้งหมด 2,191 x 100,000 = 219,100,000 เซนติเมตร / 72.625 = 3,016,867 ก้าว
สรุปพี่ตูนต้องวิ่งประมาณ 7 รอบกว่าจะได้ iPhone X ถ้าใช้แอพ Sweatcoin
เพราะขึ้นชื่อว่าเงินใครจะไม่อยากได้? แต่อย่าลืมว่าเราออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น จริงอยู่ว่าการใช้แอพแบบนี้จะสร้างแรงจูงใจและทำให้เห็นเป้าหมายของการออกกำลังกายที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ในขณะเดียวกันมันอาจทำให้เราลืมเหตุผลที่เริ่มต้นหันมาสนใจสุขภาพตัวเองได้เช่นกัน แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แอพนี้ก็ถือเป็นของขวัญเล็กน้อยเพื่อหยาดเหงื่อที่เสียไป แต่ถ้ามองเป็นแอพสำหรับหาเงินสร้างรายได้ก็คงต้องผิดจุดประสงค์ตั้งแต่แรก
llustration by Kodchakorn Thammachart