สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเหล่าบุคคลที่มีเสียงเพลงในหัวใจต่างก็แสดงความกระตือรือร้นกันมากกว่าในหลายๆ ช่วงที่ผ่านมา เพราะคอนเสิร์ตหลายงานได้เปิดให้จับจองตั๋วกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตจากนักร้องขวัญใจมหาชน, นักร้องอิมพอร์ตจากต่างประเทศ, นักร้องที่กลับมาจัดคอนเสิร์ตหลังจากหายไปนาน หรือแม้นักร้องแต่สายอินดี้จำนวนไม่น้อยก็ประกาศตัวว่าพวกเขาเองกำลังจะมีงานแสดงสดออกมา ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่เคยจัดงานคอนเสิร์ตมาก่อนเสียด้วยซ้ำ
ฟังแบบนี้ก็เหมือนจะเป็นข่าวดีอยู่ไม่น้อย แต่หากมองอีกแง่หนึ่งก็เป็นช่าวร้ายหน่อยๆ สำหรับคนดูแบบเราๆ ท่านๆ ที่รู้สึกว่า ศิลปินพวกนี้นี่เหมือนกับนัดหมายกันมาเพื่อกระชากเงินในกระเป๋าของลูกค้าแบบไม่เว้นวรรค กระนั้นก็ยังมีข่าวร้ายยิ่งกว่าสำหรับแฟนๆ นั่นก็คือ การที่ตั๋วคอนเสิร์ตเหล่านี้หมดลงไปก่อนเวลาอันควรแล้วมาปรากฎตัวอีกครั้งในราคาที่แพงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งหลายๆ คนก็ยินดีที่จะจ่ายสียด้วย
ทำไมคอนเสิร์ตถึงยังได้รับความนิยมจากคนดูในยุคนี้อยู่ และทำไมคนถึงยอมซื้อบัตรในราคาที่ค่อนข้างดุดัน รวมถึงว่ามีคนจำนวนหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาสั่งจองตั๋วก่อนที่จะนำมาขายต่อในราคาแพงกว่าเดิมจนกลายเป็นธุรกิจสีเทาขึ้นมา เราคิดว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับไปคุยถึงเรื่องนี้อีกครั้ง รวมถึงลองดูว่าเราจะมีทางป้องกันการขายตั๋วมือสองที่ราคาแพงแบบถาวรหรือไม่
การพบกันของผู้ภักดี ในการสร้างประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น
ในยุคที่คนไทยฟังเพลงด้วย Youtube มากกว่าจะเปิดเพลงแยกบนอุปกรณ์อื่นๆ และการขายแผ่นขายเพลงน่าจะไม่ ได้สร้างรายได้อู้ฟู่อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ทำให้ฝั่งศิลปินต้องเปลี่ยนจุดขายจากยุคก่อนหน้าแล้วมาเน้นการแสดงมากขึ้น อย่างที่สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือเราจะเห็นนักร้องแทบทุกแนวเพลงออกงานกันมากขึ้น เพราะค่าจ้างนั้นมาแน่นอนกว่าการนอนรอยอดขายเพลง หรือรอค่าโฆษณาจาก Youtube ที่วันดีคืนดีอาจจะตัดยอดเงิน หรือปรับ algorithm ให้คนดูเข้าถึงได้ยากขึ้นซะงั้น ดังนั้นการแสดงให้สนุกจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่อาจเป็นก้าวแรกในการนำพาไปสู่รายได้แบบอื่นอีก
ส่วนฝั่งลูกค้านั้นส่วนหนึ่งก็จะนิยมการแสดงสดของศิลปินมากขึ้น ด้วยความที่ว่างานแสดงสไตล์นี้จะทำให้เราได้เห็นการแสดงทักษะของศิลปินคนนั้นว่าเป็นอย่างไร รวมถึงนิสัยบางอย่างที่เห็นได้จากการรับมือเหตุสดๆ ในการแสดง และความนิยมการรับชมการแสดงแบบสดนี้ก็มีผลพวงมาจากฝั่งรายการทีวีที่รายการแนวแข่งขันคัดเลือกหาศิลปิน หรือแม้แต่การ Live สดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของศิลปินที่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นศิลปินรุ่นเก่า รุ่นใหมก็นิยมทำกันมากขึ้น ส่งผลกลับมาให้แฟนคลับส่วนหนึ่งแฮปปี้กับการแสดงสดมาก และสามารถติดตามชมจนกลายเป็นกลุ่มสังคมย่อมๆ ที่มีความภักดี หรือ loyalty ต่อศิลปินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมา
ผลพวงจากการที่คนดูมีช่องทางรับชมการแสดงสดมากขึ้น การจัดงานคอนเสิร์ตที่เป็นการแสดงสดขนาดใหญ่ จะทำเหมือนสมัยก่อนที่จบลงแค่จัดไฟสวยงาม จัดเวทีให้มีกิมมิค แล้วก็เล่นเพลงแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้อีกแล้ว คอนเสิร์ตของศิลปินจึงมาพร้อมกับการดีไซน์อะไรขึ้นใหม่ เล่นเพลงที่คนต้องการได้ฟัง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเซอร์ไพรส์อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม ไม่ว่าในเรื่องการแสดงหรือแขกรับเชิญ หรือบางกรณีศิลปินที่จัดแสดงก็เป็นเพียงแค่การรวมตัวแบบชั่วคราว งานคอนเสิร์ตจึงไม่ใช่แค่งานรวมตัวมาร้องเพลงฮิตอย่างที่เคยเป็นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กลายเป็นงานที่ต้องสร้างโลกใหม่ให้คนดูที่เสียเงินเข้าไปรับชม เพื่อให้ทั้งคนดูที่เป็นแฟนคลับมาเนิ่นนานรู้สึกพึงพอใจ และแฟนหน้าใหม่ที่อาจจะเพิ่งมารู้จักวงไม่นานประทับใจกับสิ่งที่พวกเขาจะได้รับชมกัน และเพื่อให้ทุกคนได้จดจำเรื่องราวเหล่านั้น ในฐานะ ‘ประสบการณ์’ ก็คงมีแค่คอนเสิร์ตเท่านั้นจะมอบให้ได้
และนี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้ช่วงหลังเราได้เห็นคอนเสิร์ตกันถี่ขึ้น บ่อยขึ้น แม้ว่าจะเป็นนักร้องสายเฉพาะทางสุดๆ (อย่าง ริค วชิรปิลันธิ์ หรือ วง BENNETTY) ก็ยังมีโอกาสได้ออกคอนเสิร์ตแบบเก็บค่าตั๋วกันได้ในยุคนี้
เมื่อความต้องการมาปัญหาก็เกิดกับการขายตั๋วมือสอง
พอแฟนๆ ที่ภักดี รวมถึงคนทั่วไปรับรู้แล้วว่า งานคอนเสิร์ตนั้นเป็นการสร้างประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ก็ทำให้มีปัญหาหนึ่งเกิดตามขึ้นมาโดยปริยาย นั่นก็คือการที่มีคนหัวใสส่วนหนึ่งทำการกว้านซื้อตั๋วคอนเสิร์ตที่พวกเขาอาจไม่ได้สนใจนัก กลับมาขายต่อให้กับกลุ่มแฟนคลับที่ภักดีต่อศิลปินในราคาที่แพงกว่าราคาตั้งต้นมากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในบ้านเราก็คงต้องยกให้กรณีของวง Wanna One ที่มาจัดคอนเสิร์ตในไทย ที่คอนเสิร์ตนี้อาจเป็นงานสุดท้ายที่จะมาจัดในบ้านเรา จึงมีคนเล็งไปซื้อตั๋วของงานนี้อยู่จำนวนมาก และก็มีหลายคนที่ตั้งใจซื้อเพื่อเอามาขายต่อ แถมยังขายในราคาที่ดุดันเอาเรื่อง บางคนอาจบวกเงินไปเล็กๆ น้อยเป็นค่าแรงที่กดตั๋วมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ขายตั๋วในราคาที่พุ่งไปมากกว่าราคาตั๋วดั้งเดิมสองถึงสามเท่าเลยทีเดียว
หากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเฉพาะในเมืองไทยก็คงต้องบอกว่าคิดผิดไปพอสมควร ปัญหานี้เกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก อย่างฝั่งอเมริกาเองก็มีปัญหานี้เช่นกัน แถมในยุคนี้ปัญหาการกั๊กตั๋วก็ออกจะดุเดือดกว่าในไทย เพราะปัญหาใหญ่ที่พวกเขาต้องพบเจอก็คือการที่มีกลุ่มโปรแกรมเมอร์ใช้ ‘บอต’ ที่ถูกโปรแกรมให้สามารถเล็ดรอดผ่านการป้องกันของเว็บไซต์สั่งจองตั๋วคอนเสิร์ต ทำให้ที่นั่งดีๆ ไปตกอยู่ในกลุ่มพ่อค้าหัวใส ที่ไปต่อยอดเปิดเว็บขายตั๋วมือสองของตัวเองในภายหลังกลายเป็นช่องทางรวยแบบสตาร์ทอัพไปโดยปริยาย
แต่ในขณะเดียวกันการใช้ชื่อเว็บหรือชื่อกลุ่มบุคคลเดียวก็อาจจะดูชัดเจนและสุ่มเสี่ยง เลยมีคนต่อยอดพัฒนาเว็บไซต์ขายบัตรมือสองที่เปิดให้ ‘บุคคลที่สาม’ มาทำการวางราคาและซื้อขาย โดยที่ตัวเว็บนั้นไม่ใช่ผู้ที่จัดขายเอง จึงทำให้การฟ้องร้องไปถึงตัวเว็บประเภทหลังนั้นยากกว่าเพราะเจ้าตัวทำหน้าที่เหมือนเป็นแค่ลานให้คนมาขายของเท่านั้น
และแน่นอนว่าการขายตั๋วแบบนี้เกิดขึ้นมาเพราะว่ามี อุปสงค์-อุปทาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์นั่นเอง แล้วถามว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนนี้สำหรับบ้านเรานักกฎหมายหลายท่านอ้างอิงในกรณีที่ว่า ถ้าเป็น ‘ตั๋วที่ซื้อมาอย่างถูกต้องโดยไม่มีการระบุชื่อผู้ซื้อไว้ที่หน้าบัตร’ การซื้อขายต่อนั้นก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้เพราะถือว่าเป็นความสมัครใจของผู้ขายและผู้ซื้อเอง
เนื่องจากตั๋วคอนเสิร์ตนั้นยังไม่ใช่สินค้าควบคุมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างสลากกินแบ่ง หรือน้ำมัน ซึ่งถ้าจะแจ้งข้อหาค้ากำไรเกินควรก็จะกลายเป็นการต้องวิเคราะห์ว่า ‘ตั๋วคอนเสิร์ตทั้งงานราคาแพงเกินควรหรือไม่’ เพราะถ้าดำเนินคดีจริงก็คงกินเวลาตัดสินนานอยู่ดี แต่ถ้าเป็นการขายตั๋วปลอมล่ะก็กรณีนี้ก็ผิดอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องลุ้น
แต่เราอาจจะต้องแยกกันเล็กน้อยระหว่างปัญหาของคนกดซื้อตั๋วไปขายมือสอง กับที่นั่งซึ่งถูกกั๊กสำหรับฝั่งสปอนเซอร์อีกด้วย เพราะในกรณีหลังนั้นเป็นการตกลงกันระหว่างศิลปินกับคนที่ให้เงินศิลปินไปลงทุนจ้างสถานที่หรืออะไรอื่นก็ตามแต่ ซึ่งจริงๆ คนดูแบบเราอาจจะต้องขอบคุณพวกเขาเสียด้วยที่เชื่อมั่นในตัวศิลปินที่เราชอบ แต่โดยส่วนใหญ่ทีมจัดงานคอนเสิร์ตจะไม่ออกปากเต็มๆ ว่าที่นั่งของสปอนเซอร์นี้อยู่ตรงไหน เลยทำให้มีดราม่าอยู่เป็นเนืองๆ ว่า ตอนงานคอนเสิร์ตจริงกลับมีที่นั่งโล่งว่างหลายสิบที่เสียอย่างนั้น
ทางออก ทางแก้ ทางกันเพื่อให้ตั๋วคอนเสิร์ตตกสู่มือของแฟนๆ ตัวจริง
เมื่อการซื้อตั๋วของแท้แบบมือสองกลายเป็นเรื่องสีเทา เพราะมันอาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย (อย่างน้อยก็ในไทยนะ) แต่ขัดใจกระแสสังคม หรืออาจจะผิดกฎกติการมารยาทของเว็บขายตั๋วบางแห่ง แต่ในเมื่อมันยังไม่ผิดแบบทั่วทั้งโลกนี้ ก็จึงเป็นธรรมดาที่ธุรกิจการขายตั๋วมือสองนี้จะอยู่ตัวกันไปอีกระยะหนึ่งแบบไม่ต้องลุ้น กระนั้นเราก็เห็นพ้องว่า ถ้าเป็นไปได้ตั๋วคอนเสิร์ตเหล่านี้ก็ควรอยู่ในมือของคนที่อยากดูมากกว่าคนที่มาทำกำไรจากการขายตั๋ว ดังนั้นจึงมีหลายๆ วิธีการที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรับมือและสกัดกั้นไม่ให้ตั๋วเหล่านี้ไปถึงกลุ่มคนที่หวังไปฟันกำไรเพิ่มเติม วิธีการดังกล่าวที่เราพอจะค้นเจอก็คือวิธีเหล่านี้
1. จัดการขายแบบ presale เฉพาะสมาชิกศิลปินแบบเป็นทางการ
วิธีนี้เป็นวิธีการขายตั๋วที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้จะใช้งานเยอะ และการเป็นสมาชิกของศิลปินเหล่านั้นอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งการสมัครแบบนี้มักจะให้ลงข้อมูลส่วนตัวกันไว้ ซึ่งบางประเทศอาจจะต้องมีการจ่ายค่าสมาชิกรายปีด้วย โดยสมาชิกเหล่านั้นจะได้รับสิทธิ์ในการเข้า ‘ชิงสิทธิ์ซื้อตั๋วรอบสมาชิก’ และถ้าสมาชิกคนได้ที่ลงชื่อร่วมชิงสิทธิ์นั้น จนได้รับสิทธิ์มาก็จะได้ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตในมุมที่ค่อนข้างโอเคในราคาไม่เกินที่แจ้งผ่านชื่อ ถ้ามองมุมหนึ่งก็อาจจะดูใจแคบไปหน่อยที่ล็อกสิทธิ์ในคนกลุ่มเล็กลง (อย่างในประเทศญี่ปุ่นตามที่เราอ้างถึงก่อนหน้านั้น การเป็นสมาชิกอาจจะต้องมี เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ในญี่ปุ่น หรือ ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในเกาหลีใต้จะมีการขอหมายเลขประจำตัวในการลงทะเบียน) แต่สำหรับแฟนที่เปย์กันหนักหน่วงกว่านี้ วิธีนี้ก็ดูแฟร์กับพวกเขาไม่น้อย เพียงแค่ต้องอาศัยดวงกันเยอะเสียหน่อย
2. บังคับลงทะเบียนชื่อ-สกุลก่อนทำการซื้อตั๋ว
สำหรับบ้านเราเรื่องนี้อาจจะดูไม่แปลกนักด้วยเหตุที่ว่าผู้จัดจำหน่ายตั๋วแทบทุกเจ้าจะต้องขอ ชื่อ นามสกุล และที่อยู่สำหรับยืนยันตัวตนหรือจัดส่งตั๋วอยู่แล้ว ทว่าในหลายๆ ประเทศที่อาจจะไว้ใจระบบระบบบัตรเครดิตอย่างมาก การลงทะเบียนชื่อแบบนี้ก็ช่วยกรองเหล่าบอตที่กดออนไลน์อาศัยบัตรเครดิตรูดปรื้ดแบบไม่สนใครแล้วหวดตั๋วกลับบ้านไปกว่าหลายสิบใบก่อนจะเอาตั๋วเหล่านั้นไปทำกำไรที่มากกว่า การลงทะเบียนแบบนี้ แม้จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ก็ทำให้การทำงานบางอย่างของฝ่ายผู้จำหน่ายตั๋วทำงานได้ง่ายขึ้น
อย่างการที่พวกเขาจะสามารถกรองกลุ่มบอตออกไปได้บ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือถ้าผู้ซื้อคนไหนมีพฤติกรรมน่าสงสัยมากๆ ผู้จำหน่ายตั๋วก็สามารถตามตัวได้ว่าคนแปลกๆ เหล่านั้นเขาเปย์หนักเพราะมีเงินจริงหรือกำลังสต็อกของไปขายกันต่อแน่ และถ้าพบว่าเป็นอะไรที่ผิดปกติมากๆ ก็พอจะมีบางกรณีที่ผู้ขายตั๋วแจกยกเลิกการจำหน่ายตั๋วที่ต้องสงสัยแล้วกลับเอาตั๋วมาขายอีกครั้งให้กับคนอื่นๆ ต่อแทน กรณีวงดังที่ใช้วิธีนี้แล้วช่วยเหลือได้มากขึ้นก็เป็นกรณีของวง U2 ที่เคยตัดสินใจยกเลิกการแสดงบางรอบเพราะพบว่าเป็นกลุ่มผู้ขายตั๋วมือสองได้ตั๋วไปมากกว่า และเมื่อใช้ระบบนี้พวกเขาก็พึงพอใจมากขึ้น
3. กำหนดจำนวนตั๋วที่คนหนึ่งคนจะซื้อตั๋วได้
คล้ายๆ กับข้อเมื่อสักครู่ครับ หลายประเทศใช้วิธีง่ายๆ แบบนี้กันตั๋วคอนเสิร์ตไปกองอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งมากไป ก็ทำให้ผู้ซื้อตั๋วสามารถหวดตั๋วกลับไปได้ในจำนวนจำกัด แต่วิธีนี้ถ้าใช้เดี่ยวๆ ก็ ไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะถ้าเจอบอตรุมซื้อหรือมีคนที่ดุเดือดพอที่จะกดเปิดเบราเซอร์จากอุปกรณ์หลายๆ ตัวแล้วทำการจองรัวๆ เสีย แต่ถ้าใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ก็ช่วยกันให้ตั๋วอยู่กับคนที่ต้องการตั๋วจริงๆ ได้ดีระดับหนึ่ง
4. เช็คชื่อตั๋วให้ตรงกันกับคนซื้อ
กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับการที่คุณจะต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบินที่จะต้องมีการเช็คชื่อ-สกุล ของผู้ซื้อกับหลักฐานแสดงตน (บัตรประชาชน, พาสพอร์ต ฯลฯ) ตรงกันกับชื่อที่อยู่บนตั๋วคอนเสิร์ตหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ช่วยป้องกันการขายตั๋วมือสองได้ชะงัด เพราะถ้าชื่อไม่ตรงทีมงานจัดคอนเสิร์ตก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการปฏิเสธไม่ให้ผู้ถือตั๋วคนนั้นเข้าร่วมงาน กรณีแบบนี้จะเห็นได้บ่อยๆ ในคอนเสิร์ตของฝั่งญี่ปุ่น แต่เราก็เคยได้ยินอยู่บ้างว่าบางคอนเสิร์ตในประเทศไทยก็มีการตรวจสอบเรื่องนี้บ้างเช่นกัน
5. การจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตแบบไร้กระดาษ (Paperless Ticket)
ยุค 4.0 แล้ว การใช้งานอะไรยืนยันตั๋วกระดาษแล้วรอฉีกหน้างานก็ดู out ไปสักนิดใช่ไหม ตั๋วคอนเสิร์ตแบบไร้กระดาษ หรือ Paperless Ticket จึงกลายเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศเป็นวิธีที่เริ่มได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ว่ากันว่าการซื้อตั๋วแบบนี้สะดวกและปลอดภัยต่อการขายตั๋วมือสองมากขึ้นด้วยความที่ต้องซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งรหัส หรือ QR Code นั้นจะเป็นเอกเทศเฉพาะตัวกันไป หรือถ้ากรณีใช้บัตรเครดิตก็จะผ่านจุดตรวจสอบได้ถ้าข้อมูลบนบัตรเครดิตและบัตรอื่นๆ สอดคล้องกันเท่านั้น ด้วยความง่ายทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้ตรวจสอบก็ทำให้ระบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยปริยาย
6. ใช้บอตปะทะบอต
กรณีนี้มาจากการที่ Ken Lowson อดีตโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งที่เคยวนเวียนอยู่ในวงการขายตั๋วมือสอง ด้วยการออกแบบ ‘บอต’ สามารถผ่านการตรวจจับ Captcha และสามารถเข้าไปยึดที่นั่งตั๋วคอนเสิร์ตจำนวนมาก (บอตแต่ละตัวจะมีรหัสบัตรเครดิตที่ต่างกันแนบไปด้วย) โดยเฉพาะ ทำให้เขาเคยสร้างเงินได้มหาศาลจนกระทั่งถูกจับกุม และเขาก็ได้ทำข้อตกลงกับทางรัฐเพื่อแลกกับการไม่โดนจัดกุม ล้างมือแล้วกลายเป็นที่ปรึกษาในการจำหน่ายตั๋วแบบถึงมือแฟน ทั้งการเขียนบอตต้านบอต ที่ Ken ก็บอกว่าไม่สามารถป้องกันได้ตลอดเวลา
เขายังบอกว่า Paperless Ticket แค่รอวันโดนเจาะทะลวงได้เท่านั้นเอง ปัจจุบันเจ้าตัวพัฒนาระบบการขายตั๋วภายใต้ชื่อแบรนด์ TIXFAN โดยมีเป้าหมายในการขายตั๋วให้ถึงมือแฟนเพลงตัวจริงโดยอาศัยโค้ดดิ้งที่เจ้าตัวเก็บไว้เป็นความลับทางการค้า และกลายเป็นว่าอดีตนักขายตั๋วมือสองได้มาทำงานร่วมกับผู้จัดจำหน่ายตั๋วหลายรายไปแล้ว
7. จัดอัลกอริทึมเช็คว่าใครเคยไปคอนเสิร์ตมาก่อน
อีกด้านหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการด้านการซื้อตั๋วให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ตั้งใจมาซื้อจริง นั่นก็คือการใช้อัลกอริทึมคำนวณปัจจัยหลายๆ ประการอาทิ การที่ผู้ชมคนนี้เคยใช้เมล์ลงทะเบียนซื้อตั๋วคอนเสิร์ตงานที่ผ่านมาหรือไม่ หรือมีกิจกรรมร่วมกับสิ่งที่ศิลปินปล่อยออกไปในโลกออนไลน์ขนาดไหน แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าอัลกอริทึมนี้จะช่วยกันให้แฟนตัวจริงได้ตั๋วมากขึ้นขนาดไหนแต่นักร้องดังอย่าง Bruce Springteen ก็แฮปปี้กับการใช้งานระบบนี้อยู่
8. ต้านไม่ได้ก็เข้าร่วมแบบถูกต้องเสีย
เมื่อห้ามไม่ได้ผู้ให้บริการหลายๆ เจ้าก็จึงใช้วิธีเปิดพื้นที่ในการขายตั๋วมือสองแบบถูกต้องเปิดเผย และมีราคาไม่แพงทะยานฟ้าเกินจริงไปมากนัก ซึ่งเรื่องนี้ Polycephaly เคยเขียนถึงแล้วครั้งหนึ่ง และก็มีเว็บสไตล์ดังกล่าวอยู่หลายเว็บอาทิ Starhub ของทาง eBay
9. วิธีแบบเฉพาะตัวของแม่นางเทย์เลอร์ สวิฟท์
ในหมู่มวลศิลปินคนดังที่รับมือการขายตั๋วมือสองนี้ เทยเลอร์ สวิฟท์ น่าจะรับมือเรื่องเหล่านี้ได้หวือหวาแบบสุดๆ เธอใช้หลายวิธีการในการรับมือพ่อค้าหัวใส ทั้งการยกเลิกการขายตั๋วรอบแรกที่เธอรู้สึกว่ามันผิดปกติบ้าง, ตั้งราคาขายตั๋วแบบตั๋วเครื่องบิน ที่ยิ่งใกล้วันจัดแสดงราคาตั๋วก็จะยิ่งแพงขึ้นบ้าง, ให้แฟนๆ ของเธอโพสต์ในอินเทอร์เน็ตพร้อมแฮชแท็ก เพื่อเป็นการเพิ่มอัลกอริทึม(จากที่อธิบายไปก่อนหน้านี้)ให้สูงขึ้นแบบชัดเจนบ้าง, ตั้งใจกั๊กตั๋วไว้กับตัวเองแล้วค่อยยื่นข้อเสนอให้กับกลุ่มแฟนคลับที่ทำกิจกรรมตามที่เธอกำหนด, ซื้อสินค้าที่เธอจัดจำหน่าย ฯลฯ ด้วยลูกไม้แพรวพราวหลายแบบที่เธอจัดมา ก็ทำให้แฟนตัวจริงที่สะดวกใจจะเชียร์เธอด้วยความภักดีอยู่แล้วได้ตั๋วไปในที่สุด แต่แน่นอนว่าวิธีการหวือหวาแบบนี้คงใช้ไม่ได้กับศิลปินทุกคน แต่ที่ยกตัวอย่างมาเพราะเราก็อยากให้เห็นว่าไม่ใช่ศิลปินไม่รู้ตัวหรอกนะว่ามีการขายตั๋วมือสองอยู่
แต่ถ้าถามว่าวิธีเหล่านี้สามารถป้องกันการซื้อขายตั๋วมือสองได้หรือไม่ เราคงต้องบอกตามตรงว่ากันไม่ได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน ระบบบอตหรือการเจาะระบบความปลอดภัยก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ กระนั้นเราก็อยากให้ทุกท่านซื้อตั๋วตามช่องทางที่ถูกต้องเพราะเราเชื่อว่า ทั้งผู้จัดงานคอนเสิร์ตและศิลปินย่อมแฮปปี้กับการได้เห็นเก้าอี้ในงานคอนเสิร์ตเต็มไปด้วยคนที่ชื่นชอบวงจริงๆ มากว่าการเห็นยอดเงินขายตั๋วแต่กลับมีแฟนคลับมารับชมกันแบบโหรงเหรงนั่นล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก