“ทำไมบ้านเราถึงไม่มีเทศกาลดนตรีต่างประเทศกับเขามั่งนะ” เป็นคำถามที่ทั้งตัวเรา และเพื่อนรอบข้างบ่นกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะศิลปินที่ไม่ได้มีฐานแฟนเพลงล้นหลาม ไม่ได้มีซิงเกิ้ล หรืออัลบั้มติดชาร์ตจนโด่งดังไปทั่วโลก เราจะยังพอมีหวังได้ดูพวกเขาเล่นสดๆ แบบที่ไม่ต้องเก็บตังบินไกลไปเชียร์ถึงต่างประเทศหรือเปล่า?
คำถามมากมายในวันนั้น มีคำตอบให้แล้วในวันนี้ 2 วันเต็มกับศิลปินนอกกระแสจากต่างประเทศกว่า 11 วง และวงดนตรีอินดี้จากไทยอีก 9 วง บนเวที ‘Very Festival’
มู้ดของวงดนตรีทั้ง 2 วันจะค่อนไปในโทนคล้ายๆ กัน คือ มีการนำเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซาวด์เอฟเฟกต์ และการออกแบบมิติของเสียงที่แปลกใหม่ เข้ามาเป็นลูกเล่น-เพิ่มความน่าสนใจให้ตัวเพลงมากขึ้น รวมถึงกลิ่นอายของโฟล์กก็ถูกหยิบมาปรับจูนให้ล้อไปกับพาร์ตดนตรีหนักๆ อย่างพังก์หรือร็อคได้อย่างลงตัวด้วย
ปรากฎการณ์ความนิยมของดนตรีกระแสรองเช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ city pop หรือ vaporwave หวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แต่คลื่นลูกนี้ยังพัดไปถึงฝั่งยุโรป-อเมริกาด้วย synth pop จึงกลายเป็นแนวดนตรีที่ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาจากดนตรีอินดี้กระแสรอง สู่เพลงกระแสหลัก ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็แฝงตัวอยู่ทุกๆ ที่ของวงการเพลงทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว
วงดนตรี head line up ของวันแรกถือเป็นมาสเตอร์พีซของงานเลยก็ว่าได้ พวกเขาเคยมีโชว์เดี่ยวของตัวเองไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นก็นับว่า สร้างเซอไพรส์ให้คนดูไปไม่น้อย เพราะแม้วงจะเดบิวต์ได้ไม่นาน แต่มาตรฐานการเล่นสดกลับดีงาม-พุ่งพล่านตลอดทั้งโชว์ เราเป็นหนึ่งในแฟนวงที่ได้ดูโชว์ครั้งก่อน และในครั้งนี้ก็ยิ่งเป็นการปูพรม-ตอกย้ำอนาคตในวงการเพลงของ ‘Nothing But Thieves’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ความดีงามในเรื่องเสียงอันทรงพลังของ ‘Conor Mason’ ฟรอนต์แมนของวง บวกกับมาตรฐานการเล่นสดที่ดีมากๆ ถึงมากที่สุด ทำให้เพลง alternative rock ที่ฟังผ่านสตรีมมิ่งก็โยกหัวตามแล้ว แต่พอได้มาฟังโชว์สดๆ ที่ครั้งนี้สถานที่เป็น outdoor อีก ก็ยิ่งส่งให้ทุกๆ เพลงมันส์ทะลุปรอทไปไกลกว่าที่คิด
จริงๆ แล้วแง่หนึ่งที่ outdoor ก็ถือว่าปราบเซียนอยู่เหมือนกัน แต่สำหรับ Nothing But Thieves ทั้งพาร์ตร้อง และพาร์ตดนตรีเอาคนดูทั้งลาน Show DC Arena อยู่กับโชว์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบเลย ไม่ว่าจะเป็นแฟนเดนตายของวง หรือแฟนๆ วงก่อนหน้าที่มาดูโชว์ในค่ำคืนนี้ของพวกเขา ก็คงจะเห็นตรงกันว่า Nothing But Thieves คือ วงดนตรีร็อคที่น่าจับตามองมากๆ อีกวงในยุคนี้
แต่ถ้าให้พูดถึงวงที่สร้างเซอไพรส์ที่สุดก็น่าจะเป็น ‘Shame’ วง alternative rock/post-punk จากอังกฤษ ที่ไม่เคยโชว์ในบ้านเรามาก่อน หรือเอาเข้าจริงวงเองก็ยังไม่ได้มีทัวร์นอกบ้านตัวเองมากขนาดนั้น เพราะเพิ่งฟอร์มวงและเปิดตัวไปเมื่อปี 2014
สิ่งที่เซอไพรส์แฟนๆ ก็คือ ความสดใหม่ของวงนี่แหละ ทักษะการเอนเตอร์เทนของฟรอนต์แมนสูงมาก มีการเล่น crowd surfing อย่างดุเดือด ทั้งที่เวลาที่วงได้ขึ้นเล่นแดดยังแทบจะตั้งฉากกับคนดูอยู่เลย แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ และสนุกกับวงมากๆ นี่ยังไม่นับรวมที่มือเบสอาเจียนระหว่างเล่นด้วยนะ (ฮ่า)
วงอื่นๆ ที่เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรกอย่าง ‘Pale Waves’ และ ‘The Marias’ ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง แต่ละวงมีเวลาเล่นต่ำๆ ประมาณหนึ่งชั่วโมงนิดๆ ทำให้สามารถเล่นเพลงเสิร์ฟแฟนๆ ได้เต็มอิ่ม The Marias เป็นแนว indie pop เบาๆ ใสๆ ส่วน Pale Waves นิยามแนวเพลงตัวเองว่า gothic pop แนว gothic pop จะมีกลิ่นของ punk rock ที่หม่นๆ ดาร์กๆ ขึ้นอีกเลเวล
ในวันที่สองเดิมทีทาง Very วาง head line up เป็น ‘The Kooks’ ซึ่งจริงๆ วงนี้น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญของแฟนเพลงชาวไทยเลยก็ว่าได้ แต่ไม่กี่วันก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มก็ดันมีข่าวร้ายว่า ฟรอนต์แมนอย่าง ‘Luke Pritchand’ จำเป็นต้องรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง วงจึงต้องยกเลิกทัวร์ทั้งหมดที่มีในปีนี้ออกไปก่อน ซึ่งก็รวมถึงที่ไทยด้วย ทำให้ head line up ของวันนี้เหลือเพียง ‘Sticky Fingers’ และ ‘FKJ’ แทน
FKJ หรือ Vincent Fenton มีกิมมิคในการโชว์ด้วยการอิมโพรไวส์เครื่องดนตรีหลากชนิด เท่าที่กวาดสายตาดูคร่าวๆ บนเวที ก็มีทั้งซินธิไซเซอร์, กีตาร์, เบส, เปียโน และแซกโซโฟน ตลอดทั้งโชว์ FKJ วาดลวดลายทั้งร้องและ hold เครื่องดนตรีที่ว่ามาทั้งหมดด้วยตัวเขาเพียงคนเดียว ทำให้การแสดงบนเวทียิ่งน่าติดตามมากขึ้นไปอีก
ตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยตามเพลง หรือดูโชว์ของ FKJ มาก่อน พอได้ดูโชว์วันนั้นก็ทำให้เห็นเลยว่า คนที่มีความสุขในการเล่นดนตรีจริงๆ เป็นอย่างไร มวลรวมของโชว์นี้จึงมีเสน่ห์ และดึงเอาคนดูข้างล่างให้ตื่นเต้น-จับตาดูโชว์ของเขาไปเรื่อยๆ จนจบ จากกระแสตอบรับในโชว์นี้เราเชื่อเหลือเกินว่า จะต้องมีโชว์เดี่ยวของ FKJ ครั้งต่อไปที่ไทยอีกแน่นอน
วงที่เป็นน้องใหม่และเข้ามาเล่นที่ไทยเป็นครั้งแรกอย่าง ‘Fur’ ก็น่าจะได้แฟนเพลงเพิ่มไปอีกเยอะ เพราะแนวเพลงของวงค่อนข้างตรงกับความนิยมของแฟนๆ อินดี้ไทยตอนนี้มาก ถ้าไทยมี Polycat ที่ดึงเอาเพลงยุค 80s กลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง Fur ก็คือ ตัวแทนการกลับมาของยุค 60s ได้อย่างลงตัว
ความแตกต่างจากวงอื่นๆ ในตลาดเพลง คือ Fur ดึงเอาซาวด์เท่ๆ แบบ garage rock ที่วงทำในช่วงแรกๆ ผสมผสานกับ retro pop ทำให้กลิ่นอายของเพลงไม่ได้ดูเก่า หรือเข้าถึงยากจนเกินไป แต่ยังคงความเท่ๆ คูลๆ ไม่ตกยุคไว้ด้วย ยิ่งบวกกับการเล่นสด และสกิลการเอนเตอร์เทนที่น่ารักมากๆ เราก็ขอเดาต่ออีกว่า Fur น่าจะเป็นอีกวงที่ได้กลับมาเปิดคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเองที่ไทยด้วยเหมือนกัน (หวังว่านะ)
สองวันเต็มกับศิลปินอีกมากมายที่เราอาจจะยกมาพูดไม่หมดอย่าง ‘Sticky Fingers’ ที่ยังคงเส้นคงวาตามมาตรฐานได้ดีเช่นเคย, วงอิเล็กทรอนิกส์-พ็อพ ‘JOAN’ ที่มาพร้อมกับดนตรีและเสียงร้องนุ่มๆ ของพวกเขา ก็พอจะทำให้แดดร้อนๆ ใจกลาง SHOW DC Arena เบาบางลงไปได้บ้าง หรือความน่ารักของศิลปินสายเลือดออสซี่เหมือนกันอย่าง ‘Sun Rai’ ก็ร่วมแจมกับ Sticky Fingers ในช่วงท้ายของคอนเสิร์ตด้วย
ท่ามกลางความเฟื่องฟูของตลาดคอนเสิร์ตเมืองไทยช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ การมีมิวสิก เฟสติวัล ที่รวบรวมศิลปินหลาย 10 ชีวิตมาไว้บนเวทีเดียวกัน ด้วยราคาบัตรที่จับต้องได้ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับแฟนเพลงนอกกระแสบ้านเรา ซึ่งในปีหน้าทาง Very จะมี Festival แบบนี้ในช่วง summer ด้วย ต้องมารอลุ้นกันอีกทีตอนประกาศ line up ว่า จะมีศิลปินที่หลายคนถามถึงกันไหม แล้วเจอกันใหม่นะ ‘Very Festival : Spring-Break’