SOLD OUT! SOLD OUT! SOLD OUT!
เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่คอนเสิร์ตเกาหลีเท่านั้น ที่ขึ้นชื่อว่าปราบเซียนขายหมดในเวลาไม่กี่นาที บัตรคอนเสิร์ตทั้งไทยและเทศ หรือแม้แต่บัตรดูแมชกีฬายอดฮิตหลายงาน ก็ SOLD OUT แบบไม่ต้องรอให้ครบชั่วโมง
สองปีก่อนบัตรคอนเสิร์ต Taylor Swift ขายหมดเกลี้ยงในเวลา 10 นาที แม้เทย์จะเทคอนเสิร์ตในเวลาต่อมา ปีที่แล้ว Maroon 5 บัตรหมดตั้งแต่ 2 นาทีแรก พ่วงด้วยกระแสเอมมี่ 25 ใบ บันเทิงฝั่งไทยก็ไม่น้อยหน้า บัตรคอนเสิร์ต 6.2.13 สี่รอบ ขายหมดในแค่ครึ่งชั่วโมง บัตรคอนเสิร์ต D2B Encore Concert 2015 ที่จัดเป็นรอบที่สองกว่า 1 หมื่นใบ ขายหมดใน 7 นาที มาดูฟากกีฬาความฮิตก็ไม่แพ้กัน บัตรชมการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง เวิร์ด กรังปรีซ์ 2015 หมดภายใน 5 นาที ล่าสุดบัตรบอลโลกรอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้าย นัดไทยเจอญี่ปุ่นกว่า 5 หมื่นใบ ขายหมดเกลี้ยงภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมง
ทุกวันนี้ถ้าอยากจะเสพความบันเทิงฮิตๆ ฮิปๆ มีแค่เงินค่าตั๋วไม่พอ ต้องเตรียมตัวอย่างดี งัดกลยุทธ์สารพัด ฝึกฝนจองให้ทัน อย่าลืมแผนสำรองไว้กันพลาด เพราะต้องต่อสู้แย่งชิงกับคนนับพันนับหมื่นในเวลาไม่กี่นาที ถ้าพลาดอาจต้องยอมซื้อบัตรผีในราคาสูงลิ่ว
หลายคนก่นด่าระบบการจัดจำหน่าย สาปแช่งคนขายตั๋วผี กล่าวโทษดวงชะตา แล้วถามหาระบบที่ดีกว่า ระบบซึ่งคนอยากดูได้ดู โดยไม่ต้องเหนื่อยกับสงครามชิงตั๋วแบบที่เป็นอยู่ แต่ระบบที่ว่าจะมีจริงไหม และถ้าความฮิตแบบนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราวแต่เป็นเทรนด์ที่จะอยู่ยาวๆ ถ้ายังอยากจะเกาะทุกกระแสความฮิปจะมีทางออกอื่นอีกไหม
มันคือสงคราม
ทุกวันนี้การซื้อตั๋วชมการแสดงสดทำได้ง่ายขึ้นเยอะ จากออฟไลน์สู่ออนไลน์ จากกระดาษสู่ดิจิทัล คุณแทบจะไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถซื้อและชำระเงินได้สบายๆ ผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือ แต่ถึงแม้ระบบจะพัฒนาไปแค่ไหน การจะได้ตั๋วการแสดงยอดฮิตมาครองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ความไม่สมดุลกันของ Demand – Supply ถ้าดังมากคนอยากดูมากยังไงเสียตั๋วก็มีไม่พอปริมาณความต้องการที่มากมายมหาศาลแน่นอน ไหนจะมีตั๋วจำนวนหนึ่งถูกกันไว้ให้สปอนเซอร์อีก ทำให้จำนวนตั๋วมีจำกัดมาก ต้องแย่งกันมาก ต่อให้คุณตื่นเช้ามาจองแค่ไหน หรืออินเทอร์เน็ตคุณจะเร็วเพียงใด ก็มีโอกาสไม่ได้ตั๋วอยู่ดี
เทรนด์โลกตอนนี้ ความต้องการเข้าชมการแสดงหรือกิจกรรมแบบสดๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไลฟ์สไตล์ของคน Gen Y ที่ให้คุณค่ากับ ‘ประสบการณ์’ ในฐานะสิ่งสำคัญที่เติมเต็มชีวิต มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกาโดย Eventbrite ในปี 2014[1] พบว่า Gen Y ร้อยละ 78 จากการสำรวจ เลือกจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์ชีวิต เช่น ท่องเที่ยว ดูคอนเสิร์ต ดูกีฬา หรือร่วมงานเทศกาล มากกว่าจ่ายซื้อสิ่งของอื่นๆ ที่อยากได้ในมูลค่าเดียวกัน พวกเขาถูกกดดันด้วยความรู้สึก ‘กลัวหลุดกลุ่มตกกระแส’ หรือที่เรียกว่า ‘FOMO – Fear of Missing Out’ ไม่ยอมพลาดถูกทิ้งไว้บ้านคนเดียว กลายเป็นเทรนด์ ‘GOMO – Going out More Often’ ต้องออกไปหากิจกรรมทำเสมอแล้วแชร์โชว์ให้โลกรู้ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ผลลัพธ์ก็คือพวกเขาใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์มากขึ้นและมากกว่าคนยุคก่อน
นอกจากความไม่สมดุลด้านปริมาณแล้ว ราคาตั๋วกับราคาที่คนดูยินดีจะจ่ายก็ไม่สมดุลอีกด้วย ราคาหน้าตั๋วมักถูกกำหนดมาให้ไม่สูงเว่อร์จนเกินไปเพื่อให้ตั๋วขายหมดอย่างรวดเร็ว ทั้งที่จริงๆ แล้วคนดูจำนวนไม่น้อยยอมควักเงินซื้อตั๋วผีที่แพงกว่าตั๋วจริงได้หลายเท่าตัวเพื่อให้ได้เข้าชม เมื่อมีช่องว่างด้านราคาแบบนี้ เลยมีคนเห็นโอกาสเข้ามาร่วมสงครามชิงตั๋วเพื่อเอาไปเก็งกำไรเพียบ ยิ่งทำให้ปรากฏการณ์ SOLD OUT เร็วขึ้นกว่าเดิม
สงครามยังไม่จบแค่นี้ ในต่างประเทศนักเก็งกำไรค้าตั๋วผียังติดอาวุธใช้ bot หรือ โปรแกรมดักซื้อตั๋วในปริมาณมากๆ ที่กดจองตั๋วได้รวดเร็วกว่าคนหลายเท่าตัว ในไทยยังไม่เจอกรณีนี้ แต่ที่ปัญหานี้หนักไม่เบา ตอนปี 2012 มีการใช้ bot กว้านซื้อตั๋ว U2 ถึง 1,021 ที่นั่ง ในเวลาไม่ถึงนาที จนรัฐ New York ต้องออกมาประกาศเพิ่มโทษการกระทำผิดนี้จากคดีทาแพ่งเป็นคดีอาญา แต่ทุกวันนี้การใช้ bot ก็ยังไม่หมดไปอยู่ แต่พัฒนารูปแบบให้ซับซ้อนจับยากขึ้น และสงครามชิงตั๋วก็เข้มข้นมากขึ้นไปอีกเพราะทั่วไปก็หันมาใช้ bot ช่วยซื้อเช่นกัน
จากสงครามสู่ธุรกิจ
ปรากฏการณ์ SOLD OUT กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในไทย การมีโอกาสได้ดูโชว์ดีๆ แบบสดๆ กลายเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน หลายคนร้องหาการจัดการที่ดีขึ้นเป็นธรรมกับคนดูมากขึ้น ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งเห็นช่องทางแล้วเปลี่ยนมันเป็นโอกาสทางธุรกิจ
ในญี่ปุ่นซึ่งมีระบบฐานแฟนคลับที่เข้มแข็งมาก ความวุ่นวายของสงครามชิงตั๋วนำมาสู้ระบบการขายตั๋วแบบ Presale[2] ที่ใช้ระบบแฟนคลับเป็นฐาน ตั๋วจำนวนหนึ่งซึ่งมักเป็นที่นั่งที่ดีกว่าจะถูกจัดสรรมาขายให้กับแฟนคลับที่ลงทะเบียนในระบบก่อนการเปิดขายรอบทั่วไป (ในกรณีที่เป็นศิลปินต่างชาติต้องสมัครสมาชิกกับบริษัทตัวแทนผู้จัด) การจัดสรรตั๋วมักจะใช้วิธีการสุ่มเข้ามาช่วยเพื่อลดปัญหาการแย่งชิงตั๋วแบบใครมาก่อนได้ก่อน ถ้าใครพลาดรอบนี้ก็รอซื้อตั๋วในรอบทั่วไปได้อีก ทำให้คนดูมีโอกาสหลายรอบ และยังมีตลาดตั๋วมือสองมารองรับอีกด้วย ที่สำคัญทำให้ระบบแฟนคลับที่สนับสนุนศิลปินมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ในสหรัฐอเมริกาหลายรัฐปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป แก้ปัญหาตั๋วผีด้วยการทำให้มันอยู่ในระบบ เกิดเป็นตลาด Resale หรือ ตลาดตั๋วมือสอง แบบถูกกฎหมายขึ้น เช่น eBay สร้างแพลตฟอร์มการขายตั๋วอย่าง Starhub ให้คนเข้ามาใช้ซื้อขายตั๋วกันเองแบบปลอดภัย มีการแข่งขัน ผู้ซื้อเห็นทางเลือกมากขึ้นไม่ถูกเอาเปรียบด้านราคา กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียน Broker ซื้อขายตั๋วอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐต่อปีละ 5,000 เหรียญฯ โดยมีข้อปฏิบัติบางอย่างเช่น ต้องเปิดเผยข้อมูลการขายให้กับรัฐ หรือมีการรันตีว่าจะไม่จำหน่ายตั๋วปลอม เป็นต้น[3] ระบบแบบนี้ช่วยให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น มีแนวโน้มจะถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง ซึ่งในไทยเองก็มีเว็บไซต์อย่าง Thaibis ตลาดขายตั๋วมือสอง ซึ่งล่าสุดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Starhub ไปแล้ว[4]
Future of Concerts and Live Events
ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังจะถูกถึงใส่เข้ามาทำให้ประสบการณ์การดูคอนเสิร์ตและการแสดงสดต่างๆ เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การใช้โทรศัพท์มือถือแทนตั๋ว การใช้ Big Data มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการจัดคอนเสิร์ต การออกแบบประสบการณ์เฉพาะแบบอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยี RFID เข้ามาช่วย แต่ที่มาแรงที่สุดและที่เป็นกระแสอย่างมากตอนนี้คือ การ Live ซึ่งตอบโจทย์คน Gen Y และขยายฐานคนดูจากหลักหมื่นให้เป็นหลักแสนหลักล้านได้
คอนเสิร์ตใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มหันมาสร้างประสบการณ์ Live ให้ได้ลองกันแล้ว อย่างล่าสุดปีนี้ Coachella Festival ก็ได้ Youtube มาช่วยทำ Live Steaming แบบ 360 องศา ถ่ายทอดสดการแสดงของศิลปินบางส่วนในงาน แต่จะ Live เฉยๆ ก็ดูจะธรรมดาไปใครๆ ก็ทำได้ บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี Visual Reality (VR) เช่น Livit และ SteroStitch กำลังจะสร้างประสบการณ์ Live แบบเสมือนจริงให้เป็นจริงในไม่ช้า ผ่านมือถือหรืออุปกรณ์ Head set ที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในคอนเสิร์ตจริงทั้งที่อยู่ที่บ้าน และยังมีระบบการสื่อสารกันระหว่าง Live เพื่อให้คุณรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย
แล้วถ้ากระแสการ Live มาแบบนี้ ใครๆ ก็ดูได้ง่ายๆ ที่บ้าน จะทำให้คนอยากไปดูคอนเสิร์ตหรือการแสดงสดลดลงหรือเปล่า ข้อมูลจากการสำรวจ[5]และความเห็นจากคนในวงการบอกว่า อาจจะไม่! เพราะคน Gen Y ยังให้คุณค่ากับประสบการณ์สดๆ อยู่ หาอะไรมาแทนที่ได้ยาก ยิ่ง Live กันมากจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา การได้ร่วมประสบการณ์สดๆ ก็ยิ่งพิเศษมากขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนี้การ Live ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือชั้นดีในการโฆษณาให้คนอยากมาร่วมคอนเสิร์ตหรือเทศกาลครั้งต่อๆ ไปด้วยซ้ำ และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับคนดูมากขึ้น
ดังนั้นสถานการณ์สงครามชิงตั๋วในอนาคตจะเป็นอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
Illustration by Namsai Supavong
[1] evenrbrite-s3.s3.amaxonaws.com/marketing/Millenials_Research/Gen_PR_Final.pdf
[2] www.japanconcerttickets.com/howto/sales-phases/
[3] thump.vice.com/en_us/article/ticket-scalping-new-technology
[4] การซื้อขายตั๋วผีในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายโดยตรง เพราะบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าควบคุมตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจเอาผิดลงโทษ ที่ผ่านมาจะแจ้งข้อหาก็แค่ในฐานก่อความเดือนร้อนรำคาญเสียค่าปรับสูงสุดแค่ 1,000 เท่านั้น
[5] www.fusemarketing.com/live-event-attendance-contradiction-digital