ไม่นานมานี้ เราบังเอิญเลื่อนผ่านโพสต์หนึ่งบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก เนื้อหาของโพสต์ทำให้นิ้วเราหยุดขยับและหันมาจดจ่อกับความประทับใจที่เจ้าของโพสต์ถ่ายทอด
เมเปิ้ล—พณิดา รัตรสาร คือเจ้าของโพสต์ที่ว่า เธอบอกเล่าด้วยท่าทีเริงร่าถึงประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตอย่างการได้ทำงานร่วมกับทีมงานของ พิกซาร์ สตูดิโอ (Pixar Studio)
ย้อนกลับไปต้นปี 2022 ผองเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ใต้ชายคาบริษัทอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเจ้าหนึ่งของโลกทำการคัดเลือกทีมงานที่มีจินตนาการน่าสนใจ ติดต่อไปหา เพื่อชวนมาทำหนังสั้นด้วยกัน
สำหรับอนิเมเตอร์ไทยสักคน การได้ร่วมงานกับทีมงานระดับโลกสักครั้งคงเรียกได้ว่าฝันเป็นจริง และผลงานสั้นเรื่อง Starling ที่เธอช่วยปลุกปั้นก็กำลังจะได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Tribeca Film Festival 2023 ในมหานครนิวยอร์ก
เราอยากรู้จักอนิเมเตอร์ชาวไทยคนนี้ให้มากขึ้น จึงต่อสายตรงหาเธอตอน 22 นาฬิกาตามเวลาไทย ซึ่งตรงกับ 11 โมงเช้าที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เธอต้อนรับเราด้วยอาการขัดเขิน แต่ก็มีร้อยยิ้มเป็นมิตร ดูพร้อมเต็มที่สำหรับการให้สัมภาษณ์
เพื่อผ่อนคลายให้เธอหายเกร็ง ก่อนจะพูดกันถึงเส้นทางการเติบโตในสายอนิเมเตอร์ เราจึงชวนเธอคุยเล่นเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่สุดท้าย เรื่องราวทั้งหมดของเธอจะถูกเรียงร้อยจนเราได้เข้าใจโลกทั้งใบของศิลปิน ไล่ตั้งแต่ความฝัน วันที่ต้องขวนขวาย วินาทีที่ได้โอกาสครั้งสำคัญ และกำแพงที่กีดกันอนิเมเตอร์ไทยจากความสำเร็จในอาชีพ
01 วางโครงเรื่องและวาดสตอรี่บอร์ด
คุยเล่นกันก่อน ตอนนี้คุณเมเปิ้ลทำอะไร อยู่ที่ไหน?
(หัวเราะ) ปกติเมไม่ค่อยได้สัมภาษณ์แบบนี้เลย คราวก่อนที่สัมภาษณ์ก็แค่พิมพ์ถามตอบ ตื่นเต้นเหมือนกันนะคะ ตอนนี้ก็เป็นฟรีแลนซ์อยู่ที่อเมริกา รับงานเป็น Concept Artist Visual Development และทำอนิเมชั่นกับเน็ตฟลิกซ์ แต่เดี๋ยวอาจจะเริ่มหางานบริษัทจริงจังค่ะ
รับทำฟรีแลนซ์จากที่ไทยไม่ได้เหรอ?
อ๋อ เรามีความฝันค่ะ เราอยากทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ อยากเป็นคนหนึ่งที่ได้ทำหนัง มีส่วนร่วมในรางวัลออสการ์ อยากเห็นชื่อตัวเองบนเอ็นด์เครดิต อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ซึ่งอเมริกามีพื้นที่ให้เราทำสิ่งนี้ได้มากกว่า ก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่บอสตันกับพี่สาว
ย้อนเวลากลับไป ด.ญ.พณิดา รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าอนิเมชั่นได้ยังไง
ตั้งแต่เด็กๆ แม่ก็ชอบเอาอนิเมชั่นต่างๆ มาให้ดู ไลออนคิง (The Lion King) อะไรพวกนี้ เราดูการ์ตูนมาตลอด ทั้งดิสนีย์และอนิเมะ การ์ตูนช่วยให้เราเติบโต เราได้อะไรจากมันเยอะมาก ได้แพสชั่นและแง่คิดหลายอย่าง โตขนาดนี้ก็ยังดูการ์ตูน กลายเป็นแรงบันดาลใจว่าวันหนึ่งเราก็อยากสร้างสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นได้ชมบ้างเหมือนกัน
แง่คิดอะไรบ้างที่คุณได้เรียนรู้จากอนิเมชั่น?
โห เยอะมาก ขอยกตัวอย่างเรื่องที่ใหม่นิดนึงนะ อย่างที่บอก เมมีความฝันและความตั้งใจมาตลอด แต่พอได้ดูหนังเรื่อง Soul ของพิกซาร์ ว่าด้วยนักดนตรีที่มีความฝัน เรารู้สึกรีเลทมาก ตัวละครทำทุกอย่างเพื่อความฝัน แต่สุดท้าย โอ๊ะ ขอสปอยล์นิดนึงนะคะ (หัวเราะ) พอตัวเอกได้ทำตามฝัน เขากลับตั้งคำถามว่าแล้วจากนี้จะยังไงต่อ มันตบหน้าเราแรงมาก เรายังไปไม่ถึงฝันเลย ยังไม่เคยร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆ แต่หนังกลับบอกว่า จริงๆ ความฝันอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ทุก ๆ วัน เรากลับมาย้อนคิดว่า ถ้าไปถึงจุดนั้น เราจะมีความสุขในทุกๆ วันได้รึเปล่า จะมองเห็นความสุขเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามามั้ย ขนลุกจริงๆ อนิเมชั่นยังคงสอนเราได้เสมอเลย
จากชอบดูก็เลยชอบวาด?
ค่ะ เราชอบวาดรูปมาก ตอนเด็กก็คลุกคลีกับการประกวด เข้าร่วมตลอด แต่ทางบ้านไม่ได้สนับสนุนมากนัก เขาอยากให้เรามีอาชีพที่มั่นคงมากกว่า
ชอบวาดรูปแล้วเลือกเรียนสายอะไร?
ม.ปลายเรียนวิทย์เข้มข้น ข้นจัดเลย เพราะที่บ้านก็บอกให้เรียนสายวิทย์ไปก่อน เราก็โอเค เรียนไปก่อนก็ได้ ที่บ้านอยากให้เป็นหมอ
แล้วจากหมอกลายมาเป็นอนิเมเตอร์ได้ยังไง?
อืม พูดไปก็ดูอาจจะดูแย่นะคะ (หัวเราะ) คือเรารู้ตัวมาตลอดว่าชอบวาดรูป ตอนปิดเทอม ม.ปลาย ที่พ่อให้ไปเรียนพิเศษที่กรุงเทพ เราจะแอบขอพ่อติวสถาปัตย์ไปด้วย ถ้าเป็นสถาปัตย์ พ่อยอมนะ แต่ถ้าเป็นวาดรูปหรือสายนิเทศไปเลย พ่อจะไม่ยอม เราก็เรียนวิทย์ไปด้วย สถาปัตย์ไปด้วย จนกระทั่งตอนสอบเข้ามหาลัย เราเลือกสอบสถาปัตย์ก็จริง แต่มีแอบเลือกนิเทศศิลป์ของมหาลัยศิลปากรด้วย ซึ่งเราดันติด ก็เลยยืนยัน แล้วค่อยบอกพ่อ พ่อเลยต้องยอม
02 ออกแบบและลองเคลื่อนไหว
คณะนิเทศศิลป์ต่อยอดทักษะอนิเมชั่นให้คุณยังไง
จริงๆ ช่วงแรกเราหลงทาง คือเราชอบวาดการ์ตูนก็จริง แต่เราคิดว่ามันไม่ได้เงิน ทำแล้วจนแน่นอน คนไทยที่ประสบความสำเร็จมีน้อยมาก โอเค มีพี่คำป้อน (คมภิญญ์ เข็มกำเนิด) ที่ทำก้านกล้วยเป็นไอดอลที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีน้อยมาก เราเลยเอาเวลาตอนเรียนไปฝึกแพ็คเกจจิ้ง กราฟิกดีไซน์ ออกกอง เรามองว่าอะไรพวกนี้มั่นคงกว่า ก็เลยหลงทางอยู่นาน จนกระทั่งปี 3 เราถึงมาตื่นรู้ว่า ‘ฉันอยากทำอนิเมชั่น!’ เพราะเราได้เจอวิชาหนึ่งที่บังเอิญคนสอนคือพี่คำป้อนพอดี เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละคร ซึ่งเราก็ทำได้ดี พี่คำป้อนเลยชวนว่า เห้ย ไปฝึกงานมั้ย และเราก็ตกลง
ช่วยเล่าประสบการณ์ฝึกงานกับคนที่เป็นเหมือนไอดอลให้ฟังหน่อย?
โห เปิดโลกมาก พี่คำป้อนสอนอะไรหลายอย่าง ได้รู้ว่าอนิเมชั่นจริงๆ คืออะไร คือ 3 ปีแรกในคณะ เราหักดิบ ไม่วาดรูปเลย ก็เลยต้องมาฝึกสกิลใหม่หมด จะอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ปี 4 ต้องทำธีสิสเกี่ยวกับอนิเมชั่น ต้องมีพอร์ตให้บริษัทเห็นว่าเราก็ตั้งใจนะ มีสกิลนะ เราส่งธีสิสเข้าประกวดตามงานต่างๆ ก็ได้รางวัลมาบ้าง กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ที่ว่า ‘พี่คำป้อนสอนให้รู้ว่าอนิเมชันจริงๆ คืออะไร’ แล้วมันคืออะไรเหรอ?
อืม ตอบยังไงดี (นิ่งไป) เราว่ามันคือเรื่องราวนะ ใช่ อนิเมชั่นคือการเล่าเรื่อง ทำยังไงที่จะเข้าไปถึงจิตใจของผู้ชม พี่คำป้อนไม่ได้เน้นภาพที่สวย แต่เน้นว่าเรื่องราวนั้นสัมผัสใจคนอย่างไร คนเข้าใจมั้ย รู้สึกรึเปล่า ซึ่งก็เหมือนกับที่เราในวัยเด็กเคยรู้สึก
ชมผลงานธีสิสของเมเปิ้ลได้ที่ vimeo.com
เมื่อพูดถึงอนิเมชั่น หลายคนมักมองไปที่การวาดและการสร้างภาพเคลื่อนไหว จริงๆ แล้วอนิเมชั่นมีอะไรนอกเหนือจากนั้นบ้าง?
สำหรับเม อนิเมชั่นไม่ใช่แค่ภาพที่เคลื่อนไหว แต่คือสารที่ภาพเคลื่อนไหวนั้นบอกกับเรา คือมันไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวมากมายก็ได้ ถ้าเราดูแล้วสนุก คิดว่ามันน่ารัก รู้สึกอบอุ่น มันก็คือความหมายแล้ว และจริงๆ อนิเมชั่นก็เป็นศาสตร์ที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง มีเสียง ตัวละคร การลำดับ ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันเพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึก
ปี 2021 ผลงานอนิเมชั่น NFT ของคุณเคยถูกประมูลไปด้วยราคาประมาณ 80,000 บาท ช่วยเล่ารายละเอียดให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด เรายังอยู่ไทย แล้วกระแส NFT ก็กำลังมา เรายังไม่รู้จักมันมาก แต่ค่อนข้างสนใจคอนเซ็ปต์ที่ใช้เลขโทเคนช่วยเก็บงานศิลปะ ดูเป็นมูลค่ารูปแบบใหม่ ก็เลยตัดสินใจทำดู
ช่วงแรกเราเริ่มลงจากผลงานเก่าๆ ซึ่งก็พอขายได้ เริ่มสนุกเลยลองใส่คอนเซ็ปต์ต่างๆ เข้าไปด้วย ตอนนั้นเราชอบโดจคอยน์ (Dogecoin) มาก แล้วก็พอดี มีข่าวว่า อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ชอบโดจคอยน์เหมือนกัน เราเลยนำมาทำพาโรดี้ ทำให้ยิ่งใหญ่กว่างานชิ้นแรก จนออกมาเป็น To the Moon ผลงานว่าด้วยโรงงานน้องหมาผลิตโดจคอยน์ โดยมีนายอิลอน มัสก์นั่งเล่นทวิตเตอร์อยู่ด้านบน เราสนุกกับมันมาก จ้างคนมาช่วยทำเพลงประกอบด้วย เหมือนได้ลองกำกับเรื่องราวของตัวเอง แล้วก็อาจจะเพราะทำด้วยแพสชั่นล่ะมั้ง ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เลยบูมมาก
03 ปั้นโมเดลและใส่เอ็ฟเฟ็กต์
คุณทำยังไงถึงได้เป็นส่วนหนึ่งของงานซึ่งรวมตัวศิลปินอนิเมชั่นระดับโลกอย่าง Lightbox Expo 2022 ?
ต้องเกริ่นก่อนว่านี่เป็นงานใหญ่ที่รวมตัวศิลปินอนิเมชั่น ซึ่งมีทั้งสาย Modeller, Visual Development, Storyboard Artist ไปจนถึง Illustrator ทุกคนมาเจอกันที่อเมริกา เป็นงานที่มีการคัดเลือกทุกปี ต้องส่งพอร์ตไปสมัคร จริงๆ ปี 2021 เราก็ได้เข้าร่วม แต่ปีนั้นจัดในรูปแบบออนไลน์ เสียดายมาก อุตส่าห์ได้แล้ว แต่ทำได้แค่ตั้งบูธแสดงผลงานบนหน้าจอ ปีต่อมาเราเลยตัดสินใจสมัครอีก ซึ่งหลายคนก็เตือนว่าไม่ค่อยมีใครได้ 2 ปีติดกัน พอได้ปุ๊บ ทีแรกเราก็ลังเลว่าจะไปดีไม่ไปดี แต่สุดท้ายก็ไป เพราะปีหน้าเขาอาจจะไม่เลือกเราแล้วก็ได้ และพอไปทุกอย่างก็ดีมากๆ
ดียังไง?
งานนี้มีหลักๆ 3 อย่าง มีตลาดของของเหล่าศิลปิน มีงานสัมนาของบริษัทชั้นนำ และมีการรีวิวพอร์ตฟอร์ลิโอที่เจ้าดังๆ จะช่วยแนะนำว่าผลงานของเราควรพัฒนาตรงไหน ต่อยอดยังไงได้บ้าง เหมือนเป็นงานโชว์ของโชว์ตัวของศิลปินอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าเกิดเขาถูกใจหรืองานใครเป๊ะปังจริงๆ ก็อาจจะนำไปสู่การสัมภาษณ์หรือร่วมงานกันต่อได้ เป็นโอกาสที่ดีมากๆ
ก่อนไปเราเป็นแค่ศิลปินไทยตัวเล็กๆ ไม่ได้มีคนเห็นผลงานเรามากนัก แต่ตอนอยู่ในงาน คนเริ่มมองเห็น หลายคนจำเราได้ เราตกใจมากที่ได้รู้ว่ามีคนอเมริกันเป็นแฟนคลับงานเรา เขามาขอถ่ายรูป เราก็ภูมิใจ ไม่เคยคิดว่าจะมีอะไรแบบนี้มาก่อน เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่ากำแพงสูงที่ขวางกั้นโอกาสโดนทำลายลง แอบอิจฉาคนที่นั่นนะที่อาจจะไม่ต้องตะเกียกตะกายเท่าเรา
เขาตะเกียกตะกายไม่เท่าคุณยังไง?
คือถ้าได้อยู่ในงาน ถึงจะไม่ได้ถีบตัวเองมากก็พอจะมีงาน มีคนรู้จักได้ มันเป็นพื้นที่ที่มีโอกาส เห็นความหวัง ตอนอยู่ไทยเราไม่ได้มีโอกาสขนาดนั้น เราต้องถีบตัวเองเยอะจริงๆ พยายามมาก ฝึกวาด โพสต์รูป ดันตัวเอง แต่ในวันที่ได้ไป Lightbox เราตระหนักได้ว่าโอกาสของคนที่นั่นใกล้แค่ไหน เรียกว่าวันนั้นวันเดียวรู้สึกมีความหวังและโอกาสมากกว่าตลอดเวลาที่พยายามในไทย
คุณได้โอกาสอะไรจากงานนั้นบ้าง?
อย่างน้อยคือคุยกับศิลปินดัง แต่โอกาสที่สุดๆ เลยคือได้สัมภาษณ์กับนิโคโลเดียน (Nickelodeon) บริษัทที่ทำการ์ตูนสพันจ์บ็อบ (SpongeBob) แม้ว่าสุดท้ายเราอาจจะยังไม่ได้ถูกเลือกไปทำงานก็จริง แต่อย่างน้อยเขาเริ่มเล็งเรา จำเราได้ เก็บเราไว้ในลิสต์แล้ว มันเลยเป็นโอกาสที่ดีมากๆ
ทำไมค่ายดังอย่างนิโคโลเดียนจึงเลือกคุณเข้าสัมภาษณ์?
(ยิ้ม) เรื่องนี้ตลกมาก หลังจบ Lightbox จะมีงานปาร์ตี้ จริงๆ เราเหนื่อยมาก แต่ก็ฝืนไป เผื่อได้คุยกับคนดังในแวดวง พอไปถึง เราก็คุยกับทุกคน เต็มที่มาก แล้วบังเอิญได้เจอกับทีมงานนิโคโลเดียนพอดี ซึ่งพอบอกไปว่าเรามีบูธในงาน เขาก็สนใจ ถามเราว่ามีพอร์ตมั้ย เราก็รีบเปิดให้ดู เตรียมไปพร้อมอยู่แล้ว ตั้งใจว่าถ้าเขาเห็นต้องจำได้ วินาทีนั้นเราต้องมั่นใจ ห้ามเขิน ต้องพรีเซนต์ตัวเองให้ดี เขาก็ดูๆ ถามนิดๆ หน่อยๆ ผลงานนี้มีแนวคิดยังไง เราก็ตอบไป ใช้เทคนิคนี้ คิดแบบนี้ ซึ่งเขาดันสนใจ จัดแจงนัดเราสัมภาษณ์วันรุ่งขึ้นเลย
ก็คือนัดสัมภาษณ์ในงานเลี้ยงเลยเหรอ?
ใช่ ทุกคนก็ถือเหล้าถือเบียร์กัน เอาจริงศิลปินส่วนใหญ่ขี้เมามากค่ะ (หัวเราะ)
04 ตัดต่อใส่เสียง
จู่ๆ คุณเข้าไปร่วมโปรเจ็กต์กับทีมงานพิกซาร์ได้ยังไง?
อันนี้คือดวงมาก ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาทำอยู่พิกซาร์ด้วยซ้ำ ทุกคนคงคิดว่าคนที่ทำงานในองค์กรระดับนั้นจะดูทางการ แต่จริงๆ เขาง่ายมาก ช่วงนั้นเราเพิ่งตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต ลาออกจากงานประจำ เรากลัวมาก เพราะการมาทำฟรีแลนซ์ก็เสี่ยง แต่เพื่อให้ได้ออกมาท่องโลกกว้าง มันก็น่าจะถึงเวลาที่เราต้องเดินไปข้างหน้าแล้ว ถ้าทำงานที่เดิม เราคงไม่มีเวลารับงานอื่น เลยตัดสินใจลาออก
ตอนนั้นเราโปรโมตตัวเองหนักมาก บ้าคลั่ง วาดรูปลงในลิงค์อิน (LinkedIn) ทุกวัน ได้งานต่างประเทศเรื่อยๆ งานเล็กงานน้อย จนวันหนึ่งก็มีคนทักเข้ามาว่า สวัสดี เราเป็นอนิเมเตอร์จากพิกซาร์ เรามีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ต้องการศิลปินมาช่วย คุณสนใจมาทำมั้ย เอาจริงนะ สิ่งนี้เหมือนบอตมาก เขาไม่ตั้งรูปโปรไฟล์ด้วย เราเลยคิดว่าโดนหลอกชัวร์ แต่พอเข้าไปเช็ก คนที่ติดตามเขาอยู่ก็เป็นทีมงานพิกซาร์จริงๆ ก็เลยตอบไปว่าสนใจ ถามเขาว่าขอดีเทลเพิ่มเติมได้มั้ย เขาก็ชวนเราประชุมผ่านซูม (Zoom) บอกว่าถ้าไม่ชอบ เราจะไม่ทำก็ได้ ทุกอย่างง่ายมาก
เรื่องราวนี้น่าติดตามมาก เอาไปทำอนิเมชันได้เลยนะ (หัวเราะ) โอเค แล้วหลังจากนั้นเป็นยังไงต่อ?
(หัวเราะ) ก่อนประชุมเขาส่งรายละเอียดของโปรเจ็กต์มาให้ดู ปรากฏว่าไฟล์งานชื่อพิกซาร์ ตอนนั้นเราเริ่มเชื่อแล้วว่าน่าจะพิกซาร์จริง ขนลุกแล้ว และพอเข้าไปดูสตอรี่บอร์ดต่างๆ ทุกอย่างดูเป็นสไตล์พิกซาร์สุดๆ ดูจบเราร้องไห้ออกมาเลย หลายความรู้สึกไปหมด ไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสแบบนี้ ยังคิดว่าเราตัวเล็กและไม่มีใครเห็นผลงานอยู่เลย ยังสงสัยตลอดเวลาว่าหรือเรายังเก่งไม่พอ แต่กลายเป็นว่าจู่ๆ ก็มีเจ้าบิ๊ก มีทีมงานพิกซาร์มาชอบงานเรา ชวนเราทำงาน ดีใจมากจริงๆ
คิดว่าพิกซาร์เห็นจุดเด่นอะไรในงานของคุณ?
ต้องขอออกตัวนิดหนึ่งว่า มันเป็นโปรเจ็กต์ที่ทีมงานพิกซ่าร์รวมตัวกันทำ พิกซาร์ไม่ได้ลงทุนให้โดยตรง แต่โอเค แทบทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานชิ้นนี้ทำงานอยู่ที่พิกซาร์หมด เราว่าเขาน่าจะถูกใจเรื่องสี เขาบอกแต่แรกเลยว่าอยากให้เราเข้ามาช่วยพวกฉากหลัง ภาพประกอบ งานที่เราลงช่วงนั้นส่วนมากก็เป็นสีสัน เน้นฉาก พวกนี้น่าจะไปเตะตาเขา
การทำงานร่วมกับทีมงานพิกซาร์ให้ประสบการณ์แบบไหน?
ตอนแรกเราคิดว่ามันคงยากมาก น่าจะกดดัน แต่จริงๆ ชิลมาก เขาเปิดกว้างและปล่อยให้เราได้ทดลองและจินตนาการหลายอย่าง ช่วงแรกกดดันบ้าง กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ แต่พอทำงานแรกเสร็จ เขาชอบมาก ให้ผ่านทันที แถมบอกด้วยว่าเราเป็นคนแรกที่ผ่านตั้งแต่รอบแรก เรางงๆ แต่ก็ดีใจ
หลังจากนั้นก็ได้คุยเล่นกับคนในทีมมากขึ้น ได้สนิทกับ Story Artist คนหนึ่งหลังจากที่เขาเห็นว่าเราทำงานผ่านตั้งแต่รอบแรก เขาอยากทำความรู้จักเรา ก็ได้พูดคุยกัน ถามเป้าหมายชีวิต ชอบอนิเมชันเรื่องไหน เขาช่วยให้เรารู้สึกกลัวน้อยลง สนุกกับงานชิ้นนี้มากขึ้น กล้าออกไอเดียมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราจินตนาการไว้เยอะมาก จริงๆ ก็เหมือนหนังเรื่อง Soul นะ สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นงานชิ้นหนึ่ง แต่เราแฮปปี้ รู้สึกว่าสิ่งนี้มีคุณค่า ทุกคนที่ถูกเลือกมาเป็นศิลปินที่เก่ง เราได้เรียนรู้จากกลุ่มคนที่มีแพสชั่น ทุกสัปดาห์มีแต่งานดีๆ ที่ช่วยให้เราอยากพัฒนาตัวเอง การได้มาอยู่ตรงนี้เป็นอะไรที่พิเศษจริงๆ แม้จะสั้นแต่ก็ได้มิตรภาพที่ดีมาก
05 เกลี่ยสีพร้อมฉาย
ผลงานหนังสั้นเรื่อง Starling ที่คุณเข้าไปช่วยทำเกี่ยวกับอะไร?
เกี่ยวกับความเชื่อของคนตุรกี เท่าที่เข้าใจคือในวันเกิดของลูกสาวที่เสียชีวิต ถ้าพ่อแม่ขอพร ลูกสาวที่กลายเป็นดวงดาวจะกลับมาหา ซึ่งน้องดาวในเรื่องก็พยายามบินกลับมาเจอพ่อกับแม่ แต่ดันหลงทางซะก่อน จึงต้องหาทางกลับบ้านให้ได้
Tribeca Film Festival ถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากของนิวยอร์ก คุณรู้สึกอย่างไรที่หนังสั้นที่คุณช่วยสร้างจะได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น?
ตื่นเต้นมาก รู้สึกเป็นเกียรติจริงๆ เมก็ตั้งใจว่าจะบินไปร่วม เพราะไม่ได้ไกลมาก ในงานนี้น่าจะมีฉายหนังเรื่องใหม่ของพิกซาร์อย่าง Elemental ด้วย
ก้าวต่อไปของอนิเมเตอร์ที่ชื่อพณิดาจะเป็นอย่างไร?
ความฝันเดิมค่ะ อยากทำในสตูดิโอที่ใหญ่ขึ้น ตอนนี้เป็นก้าวแรกเล็กๆ ที่ได้ทำหนังสั้น แต่เราไม่ได้อยากทำแค่หนังสั้น เราอยากทำหนังยาว อยากไปถึงรางวัลออสการ์ อยากลองสัมผัสเวทีนั้น จริงๆ ก็อยากลองสร้างหนังของตัวเองส่งประกวด เราเห็นที่ Everything Everywhere All at Once ได้ออสการ์ แล้วขนลุก เราอยากถือออสการ์แล้วตะโกนว่า ‘Mom, I’ve got an Oscars.’ อยากพูดประโยคนี้ มันวิเศษจริงๆ เราอาจจะแก่ก่อนได้ทำมันหรืออาจจะไปไม่ถึงฝันก็ได้ แต่สุดท้าย มันคือแพสชั่น แค่ได้เข้าใกล้ก็อาจจะมีความสุขแล้ว
ถ้าวันหนึ่งได้กำกับหนัง เราขอสัมภาษณ์อีกรอบได้ไหม?
ได้ค่ะ แต่น่าจะอีกนานนะคะ (หัวเราะ)
คำถามสุดท้าย คุณคิดเห็นหรือคาดหวังอย่างไรต่อวงการอนิเมชั่นในประเทศไทย?
คำถามสุดท้าย ยากที่สุดเนอะ (ยิ้ม) เมมองว่าถ้าอยากพัฒนาวงการอนิเมชั่นในไทย เราจะพึ่งใครคนหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องช่วยกันทั้งประเทศ เท่าที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มา เมรู้สึกว่า ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน สุดท้ายมันก็ชนกำแพงตลอด เป็นกำแพงที่เกิดจากสาเหตุหลายๆ อย่าง ต่อให้เป็นฟรีแลนซ์รับงานจากต่างประเทศ เวลาอยู่ไทย เราก็ต้องดิ้นรน ต้องสู้ทุกเดือน หางานๆ เราก็สงสัยบ้างเหมือนกันว่าแล้วความฝันของประเทศจะเป็นยังไง
มันไม่ใช่แค่ตัวเรา ถึงแม้ว่าเราจะมีวินัยมาก สู้มาก ๆ เราก็จะชนกำแพงนั้นอยู่ดี ถ้าเด็กไทยมีโอกาสมากกว่านี้ มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถมากกว่านี้ อะไรๆ ก็คงดีขึ้น เพราะจริงๆ การได้ทำงานกับทีมงานพิกซาร์ก็ไม่ได้หมายความว่าเมมีทักษะที่ดีกว่าใคร แต่เมสู้จนมีพื้นที่ให้เขามาเห็นผลงาน เขาตื่นเต้นกับงานเราง่ายมาก ทั้งที่จริงๆ เราก็ทำแบบนี้มาตลอด พอมีคนเห็น เราก็ได้รับโอกาส เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือ ส่งเสริมกัน สร้างพื้นที่ให้คนในวงการสามารถแสดงความสามารถได้มากขึ้น อนิเมชั่นไทยก็คงจะไปได้ไกลกว่านี้ จริงๆ นะ คนไทยฝึกฝนตัวเองจากสมรภูมิที่โหดร้ายมามากแล้วค่ะ (หัวเราะ)
ติดตามผลงานของเมเปิ้ล พณิดาได้ที่ pranidaportfolio.com
และเราเองก็ทำได้เพียงหวังว่าวงการอนิเมชั่นบ้านเราจะเติบโตและมีโอกาสมากกว่านี้ เช่นเดียวกับที่นักฝันที่ชื่อเมเปิ้ลได้จินตนาการ