ถ้าเวลาเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เรื่องของเส้นเวลาก็เป็นสิ่งที่พาให้เรางงงวยได้เหมือนกัน…
เรื่องราวของ ‘เวลา’ ได้ถูกใช้ในการดำเนินเรื่องราวในภาพยนตร์มานักต่อนัก ไม่ว่าจะในฐานะของตัวหลัก ปม หรือกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ที่ใช้ความเป็นไปของเวลามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องย่อมตามมาด้วยคำถามและการดูอีกหลายๆ รอบ (เพราะอะไรแบบนี้ดูครั้งเดียวอาจไม่เข้าใจ) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการนำเวลามาใช้ในการเล่าเรื่อง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เกิดความน่าสนใจมากขึ้น
และเนื่องในโอกาสที่ TENET เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ The MATTER เลยจะมาแนะนำส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ที่หยิบเอา ‘เวลา’ ในแบบต่างๆ มาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวสู่ผู้ชม
(คำเตือน: เนื้อหาต่อไปนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์)
Memento (2000)
Memento หนึ่งในผลงานของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ที่ใช้ ‘การเรียงลำดับความทรงจำ’ ในการเล่าเรื่องราวของ ‘ลีโอนาร์ด เลนเนิร์ด’ รับบทโดยกาย เพียร์ซ (Guy Pearce) ชายหนุ่มความจำสั้นจากการที่เขาถูกคนร้ายบุกมา ใช้ไม้ทุบหัวและข่มขืนภรรยาของเขา จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขากลายเป็นคนความจำเสื่อมและไม่สร้างความทรงจำใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เขาจึงต้องใช้การถ่ายภาพและรอยสักเป็นตัวเตือนความจำว่าตัวเองคือใคร และกำลังทำอะไรอยู่
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องด้วยการปะติดปะต่อความทรงจำของลีโอนาร์ด เลนเนิร์ด ที่ขาดๆ หายๆ จาก 2 เส้นเวลา เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดไปจนถึงบทสรุปเหตุการณ์ ณ จุดเริ่มต้นของเรื่องอีกครั้ง
Cloud Atlas (2012)
Cloud Atlas เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายเรื่อง ‘Cloud Atlas’ ของเดวิด มิทเชล (David Mitchell) ที่เล่าตั้งแต่ในยุคสำรวจโลกปี ค.ศ.1850 จนไปถึงยุคอนาคต เรื่องราวของผู้คนมากมายที่ชีวิตเกี่ยวข้องและส่งอิทธิพลถึงกันเสมอ รวมถึงการที่ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปกี่ยุคสมัย รุ่งเรือง หรือถดถอย มนุษย์ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ มีดีมีชั่วในตัวเอง และย่อมต้องได้รับผลจากการกระทำของตนเองอยู่เสมอ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ช่วงเวลาที่แตกต่างกันเพื่อเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ โดยไม่ลืมที่จะแสดงให้เราได้เห็นว่า การกระทำของคนคนหนึ่ง ย่อมกระทบต่อคนอื่นเสมอ และการกระทำนั้นๆ ย่อมเชื่อมโยงต่ออนาคตด้วยเช่นกัน
Edge of Tomorrow (2014)
Edge of Tomorrow ใช้ ‘การวนลูปของเวลา’ เป็นตัวแปรและปมสำคัญของเรื่อง โดยเล่าเรื่องราวในอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และมีเอเลี่ยนบุกโจมตีโลกอย่างหนัก พันตรีวิลเลียม เคจ รับบทโดยทอม ครูซ (Thomas Cruise) นายทหารที่ไม่เคยผ่านการต่อสู้มาก่อน ถูกโยนเข้าสู้สนามรบ แน่นอนว่าคนที่ไม่เคยสู้มาก่อนย่อมยืนอยู่ในสนามรบได้ไม่นาน แต่เมื่อเคจคิดว่าเขาได้ตายไปแล้ว เขากลับตื่นขึ้นมาในเวลาก่อนเข้าสู่สนามรบอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกหลายๆ ครั้ง
เคจต้องวนเวียนอยู่ในลูปของเวลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเพราะการวนเวียนฟื้นแล้วตายซ้ำแล้วซ้ำอีกนี่เองทำให้เขามีประสบการณ์ในการต่อสู้มากขึ้น และเข้าใกล้การกำจัดเอเลี่ยนเหล่านี้ได้เรื่อยๆ
Source Code (2011)
Source Code ใช้เรื่องของเทคโนโลยี ‘การย้อนเวลา’ มาเป็นจุดเด่นและตัวหลักในการเล่าเรื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีการย้อนเวลาครั้งละ 8 นาทีเพื่อสืบคดีคดีหนึ่งของรัฐบาล เรื่องราวจะถูกเล่าผ่าน ทหารยศร้อยเอก ‘โคลเตอร์ สตีเว่นส์’ รับบทโดยเจค็อบ จิลเลนฮอล (Jacob Gyllenhaal) ผู้ร่วมโปรเจ็กต์ ‘Source Code’ โปรแกรมซึ่งสามารถส่งคนเข้าสู่ร่างของอีกคนได้ ครั้งละ 8 นาที เพื่อทำภารกิจตามหาระเบิดในรถไฟเที่ยวไปกลับชิคาโก้
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะให้เราได้เห็นว่าในการเข้าใช้เวลา 8 นาทีแต่ละครั้งของโคลเตอร์ เมื่อเป้าหมายในการตามหามือวางระเบิดก็มีให้ตามหา เขาจะทำอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งเบาะแสบ้าง
Deja Vu (2006)
Deja Vu เป็นการนำความรู้สึกที่เราเรียกว่า ‘เดจาวู’ ความทรงจำชั่ววูบในตอนที่เราเจอคนแปลกหน้าซักคน แต่กลับรู้สึกเหมือนเคยรู้จักกันมาก่อน มาใช้ในการดำเนินเรื่อง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่เอทีเอฟ ‘ดั๊ก คาร์ลิน’ รับบทโดยเดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ที่ต้องมาสืบคดีวางระเบิดเรือโดยสารที่ต้องแข่งขันกับเวลา ด้วยการสืบหาเบาะแสคนวางระเบิดจากศพของ ‘แคลร์ คุชเชเวอร์’ รับบทโดยพอลลา แพ็ทตัน (Paula Patton)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนดูจะต้องสืบหาเบาะแสไปตามการร้อยเรียงเรื่องราวผ่านเส้นเวลาต่างๆ ที่ถูกเล่าออกมากจากประสบการณ์เดจาวูของดั๊ก คาร์ลิน เพื่อไปสู่การแก้ไขคดีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่
About time (2013)
About time หยิบเอาความสามารถ ‘การย้อนเวลา’ มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่อง เพื่อสร้างหรือแก้ไขปมปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น
โดยจะเล่าถึง ‘ทิม เลก’ รับบทโดยโดห์นัลล์ กลีสัน (Domhnall Gleeson) ที่ได้รู้ความจริงจากพ่อของตนเองว่า ผู้ชายในครอบครัวพวกเขาจะมีความสามารถในการ ‘ย้อนเวลา’ ติดตัวมาเสมอ แม้จะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ (อะไรแบบนั้น) แต่พวกเขาก็สามารถย้อนเวลาเพื่อไปเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเองได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการที่ทิมใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้ในการสร้างเรื่องราวดีๆ ให้กับชีวิตของตัวเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความสามารถนี้จะทำให้หลีกหนีจากความความเศร้า ความไม่สมหวัง หรือเรื่องดี-ร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะทำให้ได้เรียนรู้ว่า ในการย้อนเวลาไปแก้ไขบางสิ่งในอดีต บางสิ่งในอนาคตย่อมต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน
Tomorrow I Will Date with Yesterday’s You (2016)
Tomorrow I Will Date with Yesterday’s You เป็นเรื่องราวความรักของคนสองคนที่มีอุปสรรคคือ ‘เวลาที่เดินทาง’ โดยเป็นเรื่องราวของ ‘มินามิยามะ ทาคาโตชิ’ รับบทโดยโซตะ ฟุคุชิ (Sota Fukushi) นักศึกษาหนุ่มที่ไปตกหลุมรัก ‘ฟุคุจุ เอมิ’ รับบทโดยนานะ โคมัตสึ (Nana Komatsu) หญิงสาวที่อยู่อีกมุมหนึ่งของรถไฟฟ้า ก่อนที่ทั้งสองจะได้พบว่าเวลาของเขาและเธอนั้นเดินทางต่างกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเล่าผ่านเรื่องของ ‘โลกคู่ขนาน’ และ ‘เวลาที่เดินทางต่างกัน’ เมื่อทั้งสองมาจากโลกคู่ขนานที่จะวนเวียนกลับมาพบกันในทุกๆ 5 ปี ทำให้ทั้งสองคนสามารถเจอกันได้เพียงหนึ่งใครในรอบ 5 ปี และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเวลาของทาคาโตชิในเดินไปข้างหน้า และเวลาของเอมินั้นเดินไปข้างหลัง
ทวิภพ (2004)
ทวิภพ ภาพยนตร์ไทยสร้างจากนิยายเรื่องดังของทมยันตี ที่ใช้ ‘การย้อนเวลา’ มาเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่ปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายที่ตามมาทั้งในอดีตและอนาคต เมื่อ ‘มณีจันทร์’ รับบทโดยวนิดา ฟลอเรนซ์ เฟเวอร์ ได้ย้อนเวลากลับไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้เธอได้เข้าไปพบเห็นร่วมถึงมีส่วนร่วมในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนอาจจะเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อเป็นการที่คนจากอนาคตซึ่งรู้บทสรุปในอดีต ได้ย้อนเวลากลับไปในอดีต ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เองอาจส่งผลไปถึงอนาคตด้วยเช่นกัน เมื่อความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง อาจจะทำให้ได้เห็นหอไอเฟลตั้งอยู่กึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้
ถ้าใครมีเรื่องอื่นๆ ในดวงใจก็แชร์กันมาได้เลยนะ!