** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง ควรดูภาพยนตร์ก่อนอ่านบทความนี้ครับ **
TENET กลายเป็นหนังที่เกิดกระแสอย่างมากในช่วงนี้นับแต่เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในประเทศไทยไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ผู้เขียนคาดว่ายังมีหลายคนที่งงและมึน ถึงขั้นตีตั๋วดูซ้ำในวันถัดมาเพื่อจะทำความเข้าใจมากขึ้น เรื่องความสนุกตื่นเต้นเร้าใจนั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่าเป็นหนังแอ็กชั่นจัดเต็มเรื่องหนึ่ง มีฉากใหญ่ๆ ให้คนดูอิ่มเอม มีฉากระทึกหวือหวาให้ได้ดูทุกรูปแบบ แต่ส่วนที่มึนตึ้บสุดๆ กลับเป็นพล็อตว่าด้วย ‘เวลาที่ย้อนกลับ’ ในเรื่องนั่นแหละ ส่งผลให้หนังเกิดเสียงวิจารณ์แตกเป็นสองในหมู่นักวิจารณ์ ทั้งว่านี่เป็นงานที่โคตรจะถึงขีดสุด กับเป็นงานที่ฟอร์มตกสุดๆ
ตกลงอันไหนมันผิดหรือถูกกันแน่? ไหนจะการเกิดปรากฏการณ์ดูซ้ำเพื่อจับความและอธิบายหนังให้ได้นี้นับว่าเป็นความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับที่มักเล่นกับความวางใจของคนดูเสมอ ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเข้าใจหนังเรื่องนี้และตัวโนแลนดีแล้ว แสดงว่าคุณยังไม่รู้จักโนแลนดีพอครับ และผมก็กล้าพูดว่าไม่รู้จักเขาพอๆ กับทุกคนนั่นแหละ (ฮา)
บทความนี้พยายามแกะสิ่งละอันพันละน้อยในจักรวาลรอบๆ ตัวโนแลนและตัวหนัง เพื่อลองหาคำอธิบายว่าตกลง TENET มันเล่าเรื่องอะไรกันแน่ เวลากับคนสองคนในเรื่องสำคัญกันยังไง ไปลองไขปริศนาทีละข้อกันครับ
TENET
คำคำนี้เป็นประโยคที่ตัวละครชื่อวิกเตอร์ (มาร์ติน โดโนแวน) หัวหน้าของพระเอกพูดกับเขาบนเรือก่อนจะรับภารกิจใหม่ว่า “ผมบอกคุณได้คำเดียว TENET” ซึ่งคำต่อสร้อยข้างหลังนี้ต่างหากที่สำคัญ “มันจะเปิดบานประตูที่ถูก และบานประตูที่ผิด” ถ้าสังเกตดีๆ คุณจะพบว่าไม่ว่าเราจะอ่าน TENET จากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย (อีกนัยหนึ่งคืออ่านไปข้างหน้า และอ่านย้อนกลับ) เราก็จะได้คำคำเดิม TENET คำนี้มีความหมายว่า ความเชื่อ หลักการทฤษฎี ข้อคิดเห็น
สิ่งที่ตัวละครวิกเตอร์พูดกับพระเอกก็คือกุญแจในการไขประตูภารกิจนี้อยู่ที่ความเชื่อ
ความเชื่อว่าอะไร? ความเชื่อว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นนั้นเป็นจริงเสมอ เวลาเดินไปข้างหน้าไม่อาจเปลี่ยนแปลง นี้คือชุดความเชื่อเดิมที่พระเอกและคนดูรับรู้ร่วมกันตั้งแต่แรก การดูหนังเรื่องนี้ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกก็ดูจะเป็นแบบนั้น ทุกอย่างดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งหนังอธิบายชุดความเชื่อใหม่เข้ามา มันมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้สสารในโลกสามารถย้อนกลับได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่ผมเองก็จำไม่ได้ หนังอธิบายชุดความเชื่อใหม่ผ่านกระสุนย้อนกลับ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ฉลาดมากในหนังแอ็คชั่น เพราะกระสุนเป็นสิ่งที่เมื่อถูกยิงออกไป มันจะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงและไม่หวนคืน
แต่ในหนังเรื่องนี้ ‘เรา’ หมายถึงตัวละครที่ถือปืนแทนคนดู ไม่ใช่คนที่ยิงกระสุนออกไปจากปืน แต่เราเป็นคนรับกระสุนเข้าสู่ปืนในมือต่างหาก! ฉะนั้นกุญแจที่วิกเตอร์ให้พระเอก(และคนดู) เอาไว้ก็คือคุณจะยึดความเชื่อเดิม (TENET ที่อ่านจากหน้าไปหลัง) หรือพยายามทำความเข้าใจความเชื่อใหม่ (TENET ที่อ่านจากหลังไปหน้า) เพราะเมื่อใดที่คุณเริ่มยอมรับและเข้าใจชุดความเชื่อใหม่นี้ คุณก็จะเข้าใจโลกของหนังที่พระเอกกำลังเดินหน้าพาเราเข้าไปพัวพันได้เร็วยิ่งขึ้น
รับภารกิจ
TENET วางโครงสร้างหนังเหมือนหนังเจมส์ บอนด์ ถ้าใครเคยดูหนังเจมส์ บอนด์ มาก่อนจะรู้สึกได้ว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นและเดินหน้าเหมือนหนังเจมส์ บอนด์ ทุกระเบียดนิ้วยังไงยังงั้น แต่สำหรับคนที่อาจจะลืมๆ ไปแล้วว่าหนังเจมส์ บอนด์ เดินเรื่องยังไง ผมมีโน้ตย่อๆ ที่แปลสรุปความจากข้อเขียนวิเคราะห์โครงสร้างนิยายบอนด์ในหนังสือชื่อ The Bond Affair (1966) ในบท ‘The Narrative Structure in Fleming’ อุมเบอโต เอโค นักวิชาการ-นักประวัติศาสตร์-นักเขียนนิยายคนดัง (ผู้แต่ง The Name of The Rose-สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ) มาให้ทบทวนกันก่อนครับ
เอโคอธิบายว่า “เอียน เฟลมมิ่ง (ผู้แต่งนิยายเจมส์ บอนด์) ใช้แค่ 9 ฉากหลักเท่านั้นในการเดินเรื่องในนิยายทุกๆ ตอนของบอนด์ (นิยายเล่มแรกก็คือ Casino Royale) โดยโครงสร้างดังกล่าวมีตัวละครหลักเพียงสามฝ่ายที่ทำหน้าที่เสมือนหมากบนกระดาน คือ บอนด์, วายร้าย และสาวบอนด์ เพียงแค่สองตัวหลังเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ตามแต่ละตอน” คำอธิบายของเอโค เปรียบโครงสร้างหนังเจมส์ บอนด์ ด้วยหมาก 9 หมากนี้ตามลำดับตัวอักษ A ถึง I ดังนี้
A – เอ็ม (หัวหน้าเจมส์ บอนด์) มอบภารกิจให้กับบอนด์
B – เปิดตัววายร้าย
C – บอนด์ หรือ วายร้าย หยั่งเชิงกันเป็นครั้งแรก
D – เปิดตัวสาวบอนด์
E – บอนด์พิชิตใจสาวบอนด์สำเร็จ (เขาเป็นฝ่ายรุกหรือเธออ่อยเหยื่อเขาก็ได้)
F – บอนด์พลาดท่าเสียทีให้วายร้าย (อาจเสียท่าพร้อมๆ กับสาวบอนด์หรือไม่ก็ได้)
G – บอนด์ ถูกวายร้ายทรมานสาหัส (พร้อมกับสาวบอนด์หรือไม่ก็ได้)
H- บอนด์ รุกฆาต เอาชนะวายร้ายได้สำเร็จ
I – บอนด์ ทำภารกิจสำเร็จ อาจจะได้ครองคู่กับสาวบอนด์อีกรอบ แต่คราวนี้เขากำราบเธออยู่หมัด
ตัวละครพระเอก (จอห์น เดวิด วอร์ชิงตัน) ใน TENET นั้นไม่มีชื่อนะครับ เครดิตใน IMDB ขึ้นชื่อว่าเขาคือ The Protagonist ผมจึงเรียกว่า ‘พระเอก’ นั่นแหละถูกต้องแล้ว และเส้นทางที่พระเอกเดินก็เป็นไปตามหนังบอนด์ข้างต้นแทบทุกหมาก นับจากเขารับภารกิจ TENET และเริ่มเปิดตัวผู้ร้ายให้คนดูรู้จัก อังเดร (เคนเนธ บรานาห์) พ่อค้าอาวุธตัวเอ้ชาวรัสเซีย ที่ตามสูตรหนังเจมส์ บอนด์ ผู้ร้ายจะต้องครอบครองอาวุธมหาประลัยหรือแผนการทำลายโลกซักอย่าง เพื่อให้พระเอกของเราไปยับยั้งใช่ไหมครับ ตามสูตรแล้วผู้ร้ายหนังบอนด์จะครอบครองขีปนาวุธ (You only live twice), ดาวเทียม (Goldeneye), ข้อมูลราชการ (Skyfall) แม้กระทั่งสื่อ (Tomorrow Never Dies) บางสิ่งที่มีพลานุภาพสั่นสะเทือนโลกได้
สิ่งที่อังเดรครอบครองและถือไพ่เหนือกว่าพระเอกตลอดทั้งเรื่อง
ไม่ใช่อาวุธร้ายแรง, อำนาจล้นฟ้า แต่เป็น ‘เวลา’ ครับ
ตัวร้ายสามารถท่องไปในเวลา ย้อนกลับไปในอดีตเพื่อรู้ว่าพระเอกซ่อนของสำคัญไว้ที่ไหน มีข้อมูลมากกว่าพระเอกพอจะเล่นงานในปัจจุบันได้ การท่องเวลาใน TENET ไม่ใช่การวาร์ปทะลุมิติหรืออะไรเทือกนั้น หากเป็นการทำให้เราเห็นว่าทุกอย่างย้อนกลับถอยหลัง เหมือนเรากรอเทปฟังเพลงหรือกรอวิดีโอเพื่อดูทุกอย่างเคลื่อนกลับหลัง นี่เป็นชุดความเชื่อใหม่ในหนังเรื่องนี้ที่บ้าระห่ำมากของโนแลน
เพราะตามจุดมาร์กข้างต้น คุณจะเห็นว่าทุกจุดที่ TENET เดินตามหนังเจมส์ บอนด์ นั้น ผู้ร้ายอย่างอังเดรเดินนำพระเอกอยู่ 1 ก้าวเสมอ อังเดรควบคุมเวลาได้เพราะเข้าใจในกฎเวลาย้อนกลับ จนสามารถล่วงรู้ความลับของพระเอกในฉากก่อนหน้าได้ ก่อนอังเดรจะย้อนเวลากลับไปอยู่ในชุดเหตุการณ์อดีตเพื่อเอาชนะพระเอก ในขณะที่พระเอกเสียเปรียบเพราะยังใช้ชีวิตด้วยการเดินไปข้างหน้า ทำภารกิจมุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น
ถามว่าทำไมความเชื่ออย่างการเดินไปข้างหน้า ถึงเป็นจุดบอดของพระเอกในเรื่อง ก็เพราะชุดความเชื่อเรื่องเวลาใน TENET ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง ไม่ใช่ อดีต มาสู่ ปัจจุบัน มาสู่ อนาคต เวลาในหนังนั้นเดินคู่กันไปทั้ง 3 เส้นต่างหาก คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านชุดเหตุการณ์ซ้ำๆ ที่ครั้งแรกคนดูจะดูมันด้วยชุดข้อมูลและความเชื่อขั้นต้น ก่อนฉากเหล่านั้นจะวนกลับมาให้ดูซ้ำ พร้อมกับรายละเอียดใหม่ที่เพิ่มข้อมูลใหม่เข้ามา ทำให้เราได้รู้ข้อมูลเพิ่มขึ้น ไขปริศนางงๆ ที่ดูครั้งแรกจับต้นชนปลายไม่ถูกขึ้นบ้าง
คำอธิบายนี้อยู่ในฉากที่ตัวละคร ‘นีล’ (โรเบิร์ต เพตตินสัน) พยายามอธิบายให้พระเอกเข้าใจถึงชุดความเชื่อเก่าที่ว่า “ถ้าหากเราย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ของเรา ตัวเราในปัจจุบันก็จะไม่มีอยู่ ..นั้นไม่จริง” ชุดความเชื่อใหม่ที่หนังนำเสนอนี้คือเวลาทั้ง 3 (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) เดินไปพร้อมๆ กัน โดยมีเส้นเหตุการณ์หลักๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกๆ เส้น นี่เป็นคำอธิบายที่หนังโน้มน้าวให้เราฟังมาตลอดสองชั่วโมงครึ่ง อย่างน้อยๆ มันก็ตอบได้ว่า คนในอนาคตทำไมถึงสื่อสารกับคนในปัจจุบันได้ และยังมีแผนการทำลายปัจจุบัน (ในระดับล้างโลกเสียด้วย) ซึ่งถ้าคนในอนาคตเชื่อในชุดความเชื่อเก่า เขาก็คงไม่กล้าสั่งฆ่าคนในปัจจุบัน ที่อาจจะเป็นพ่อหรือปู่หรือทวดของพวกเขาในอนาคตก็เป็นได้
ด้วยแนวคิดเรื่องชุดเวลาที่ไม่เดินเป็นเส้นตรงนี้เอง เราจึงเห็นในขณะที่พระเอกพยายามเดินจากจุด C ไป D ผู้ร้ายสามารถเดินย้อนกลับจาก D มา C ไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้พระเอกในอดีต (จุด C) ไม่สามารถเดินทางไปจุด D ได้ แต่ทำให้พระเอกในปัจจุบันที่อยู่จุด D แล้ว ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปจุด E (หรือสร้างอุปสรรคให้เดินทางช้าลง) ต่างหาก
ทริคหนึ่งที่ผมชอบมากคือการให้ตัวละครที่อยู่ในห้วงย้อนกลับนั้น ‘พูดกลับประโยค’ เหมือนเวลาเรากรอเทปฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นเทป หรือกรอม้วนวิดีโอย้อนกลับไปดูฉากที่ชอบ จังหวะที่ทุกอย่างมันย้อนกลับนั้นฟังเผินๆ ดูเผินๆ ก็ตลกดี แต่พอมันถูกทำด้วยความจริงจังและเป็นโลกอีกใบที่เดินคู่ไปกับโลกของเวลาเดินไปข้างหน้าใน TENET มันจึงสั่นสะเทือนทั้งตัวละครและคนดูอย่างมาก ทั้งการพูดกลับประโยคนั้นทำให้เราเข้าใจการมีอยู่ของโลกนี้ง่ายขึ้น
อย่างที่บอกว่าสิ่งที่ผู้ร้ายมีเหนือกว่าพระเอกมาตลอดทั้งเรื่องคือ ‘เวลา’ และภารกิจของหนังทั้งเรื่องนี้คือการช่วงชิง ‘เวลา’ ของกันและกัน เวลาส่วนต่างเพียงไม่กี่วินาที ก็อาจจะเปลี่ยนชะตากรรมของตัวละครในเรื่องไปได้เลย
พระเอก กับ พระรอง
หนังสายลับหรือหนังแอ็กชั่นใดๆ ก็ตามส่วนมากมักจะให้ตัวละครตามพระเอกตั้งแต่ต้น พระเอกคือคนนำคนดูเข้าสู่ภารกิจ สิ่งที่ TENET ตั้งคำถามก็คือถ้าตัวเอกรับภารกิจด้วยความยังไม่เข้าใจชุดความเชื่อใหม่ที่จำเป็นในภารกิจนั้นๆ ดีพอ (เวลาย้อนกลับ) แล้วเขาจะทำภารกิจสำเร็จหรือไม่? คำตอบอยู่ในหนังแล้วครับ
ปรียา (ดิมเปิ้ล คาปาเดีย) สาวใหญ่ที่เป็นนักค้าอาวุธชื่อดัง เป็นคนกลางระหว่างพระเอกกับอังเดร เธอคอยพูดย้ำกับพระเอกอยู่สองสามหนว่าเรื่องนี้เธอน่ะไม่ใช่ตัวเอก และอาจจะมีคนอื่นเป็นตัวเอกก็ได้ ในความหมายแฝงของบทพูดโต้ตอบระหว่างสองคนนี้คือ อาจมีคนอื่นที่รู้เรื่องและเข้าใจ ‘เวลาย้อนกลับ’ และเป็นคนคอยเดินเกมอยู่หลังฉาก ผลักให้ภารกิจเดินหน้าต่อไปมากกว่าพระเอกอยู่ก็ได้ ซึ่งทำให้พระเอกของเรางงและโมโหมาก (คนดูเองก็งงครับจุดนี้) อย่างที่ได้บอกไปข้างต้น เราตามพระเอกคนนี้ตั้งแต่ต้น เราเห็นเขาก่อนตัวละครอื่นๆ เราจึงวางใจว่าเขาคือพระเอก คือเจ้าของเรื่องนี้
ทั้งที่ความจริงหนังค่อยๆ เผยให้เห็นว่ามีตัวละครไม่น้อยกว่าสองตัว
ที่เข้าใจกฎเวลาย้อนกลับมากกว่าพระเอก และคอยผลักดันเรื่อง
ให้เดินไปข้างหน้าไม่น้อยไปกว่าเขา
คนแรกคืออังเดร เพราะทุกหมากที่อังเดรก้าวนำพระเอก ทำให้พระเอกต้องคอยแก้เกมเพื่อจะตามให้ทัน ในขณะที่อีกตัวละครก็คือ นีล สายลับหนุ่มผู้มีประวัติลึกลับที่ดูเหมือนจะไม่ได้รู้เรื่องราวอะไร แล้วค่อยๆ เผยความลับออกมากลางเรื่องว่าเขารู้เรื่องเวลาย้อนกลับนี้พอตัวทีเดียวแหละ (มากกว่าพระเอกก้าวหนึ่ง) แต่พอเดินไปถึงท้ายเรื่อง จุดพลิกผันใหญ่สุดหลังทำภารกิจสำเร็จ ดูเหมือนว่านีลจะรู้เรื่องมากกว่าพระเอกมาตลอด?
เป็นอีกครั้งที่โนแลนเล่นกลกับคนดู ‘ทริค’ คล้ายๆ กันนี้เคยถูกใช้แล้วเมื่อครั้งเรื่อง ‘The Prestige’ โนแลนล่อหลอกให้คนดูตามตัวละครที่เราคิดว่าเป็นพระเอก ในกรณีของ The Prestige คือตัวละคร โรเบิร์ต แองเจียร์ (ฮิวจ์ แจ็คแมน) ถูกวางตัวให้เป็นคนเดินเรื่องที่คนดูตามไปตลอด ในขณะที่ อัลเฟรด บอร์เด็น (คริสเตียน เบล) เป็นคู่ปรับและมีสถานะเสมือนพระรองกลายๆ และทริคนี้ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน สุดท้ายตัวละครที่ได้ชัยชนะจริงๆ ไม่ใช่พระเอก
คำถามก็คือแล้ว ‘นีล’ ใน TENET คือใคร? หนังทิ้งท้ายตัวละครให้เราพอเดาๆ ว่า เขาเคยเจอพระเอกมาก่อน และมีสถานะความสัมพันธ์เหมือนเจ้านาย-ลูกน้องกันมานาน ภารกิจนี้เป็นแค่ภารกิจหนึ่งที่นีลต้องทำเพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาต่อไปในอนาคต คำอธิบายอย่างง่ายที่สุดคือนีลมาจากอนาคต แต่นั่นอาจจะตามมาด้วยคำถามอีกมากมายว่าแล้วนีลปรากฎตัวในช่วงไคลแม๊กซ์สองแห่งในเวลาเดียวกันได้อย่างไร หนังบอกใบ้เราว่านอกจากนีลที่ขับรถช่วยดึงพระเอกขึ้นมาจากเหมืองใต้ดิน ยังมีนีลอีกคนที่เข้าไปช่วยพระเอกในเหมืองในจังหวะคาบลูกคาบดอก
ชุดคำอธิบายนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ชุดความเชื่อเรื่องเวลาใน TENET ถ้าหากเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เดินไปพร้อมๆ กันทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต อย่างที่หนังสาธิตให้เห็นว่า ในขณะที่ตัวละครเดินทางย้อนกลับ เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้วก็ยังคงเกิดขึ้นเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน กลับมีรายละเอียดของชุดเหตุการณ์เดิมเพิ่มเติมขึ้นมาเพราะเราเห็นมุมมองอีกด้านจากคนที่ย้อนกลับไปต่างหาก
เป็นไปได้ว่า นีลที่เราเห็นในไคลแม็กซ์มีทั้งนีลที่เดินอยู่บนเส้นเวลาปัจจุบัน (ปัจจุบันของเหตุการณ์) กับนีลที่เดินย้อนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ตั้งแต่แรก ให้ลองนึกเทียบกับฉากในโรงเก็บของในสนามบินที่ตัวละครพระเอกพบความจริงว่าชายลึกลับในชุดคอมมานโดนั้นคือใคร ก็อาจจะอธิบายการปรากฎตัวสองที่ในห้วงเวลาเดียวกันของนีลได้ เพราะเขาเดินอยู่บนคนละเส้นเวลากัน
สิ่งที่หนังย้ำคนดูเสมอคือ ทั้งเรื่องเป็นภารกิจช่วงชิง ‘เวลา’ กันระหว่างพระเอกกับผู้ร้าย ดูเหมือนเวลาจะเป็นประเด็นที่โนแลนสนใจอย่างมากในช่วงหลัง นับจาก ‘Interstellar’ ที่พูดถึงมิติของเวลาในแง่มิติอวกาศ จุด A ในอวกาศมีเวลาของตัวเองที่ต่างจากจุด B มากในระยะขนาด 1 ชั่วโมงของจุด A อาจยาวนานเท่า 10 ปีของจุด B ต่อมาใน ‘Dunkirk’ โนแลนพูดถึงรูปแบบของเวลาที่เทียบกันระหว่าง 1 สัปดาห์ / 1 วัน และ 1 ชั่วโมง ผ่านเหตุการณ์ 3 ชุดคือ เหล่าทหารที่เคลื่อนทัพไปยังดันเคิร์ก เรือแตก แล้วถูกกองทัพนาซีโจมตีจนเรือแตก ต้องหนีตายหาทางรอดเพื่อรอการช่วยเหลือภายใน 1 สัปดาห์, ชาวประมงที่ตัดสินใจออกเรือไปช่วยทหารที่ดันเคิร์กใน 1 วันหลังได้รับประกาศจากเชอร์ชิล, นักบินที่ขับเครื่องบินไล่ล่านักบินนาซี จนตัวเองถูกยิงตกใน 1 ชั่วโมง โนแลนมองว่าระยะของเวลาไม่สำคัญเท่ากับชุดเวลาเหล่านั้นเล่าเหตุการณ์อะไร เหตุการณ์ที่ใช้เวลาจริง 1 สัปดาห์ สามารถเล่าให้อยู่ในคาบเวลาเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดและจบลงใน 1 ชั่วโมงได้ไหม ผลก็คือได้
กลับมาที่ TENET เป็นไปได้ไหมว่าการดูหนังเรื่องนี้ในรอบที่ 2 และ 3
เราอาจจะลองสังเกตตัวละครรอบข้างที่ถือข้อมูลชุดเวลาเหนือกว่าพระเอก
โดยเฉพาะนีลที่กลายเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาคำว่า TENET ของเรื่อง
และเป็นไปได้ไหมว่านีลจะเป็นคนเดียวที่รู้มาตลอดว่าชุดเหตุการณ์ในเส้นปัจจุบัน (ที่หนังดำเนินไป) จะมุ่งหน้าไปอย่างไร นีลจึงพยายามทั้งเป็นคนคอยช่วยเหลือพระเอกให้ทำภารกิจสำเร็จ เป็นคนให้ชุดข้อมูลเรื่องเวลาย้อนกลับที่สำคัญมากๆ พอจะช่วยให้พระเอกเข้าใจเงื่อนไขของเวลาในภารกิจมากขึ้น และในไคลแม็กซ์ก็เป็นคนที่พลิกสถานการณ์ทำให้ภารกิจสำเร็จ
ภารกิจของนีลจึงไม่ได้อยู่ที่การยับยั้งอังเดร (นั่นเป็นภารกิจของพระเอกครับ) แต่ภารกิจแท้จริงของนีลคือทำให้พระเอกรอดชีวิตต่างหาก เพื่อที่พระเอกจะได้มีชีวิตอย่างเข้าใจชุดความเชื่อเรื่องเวลาย้อนกลับนี้ นีลพูดเป็นนัยๆ ในตอนท้ายว่าพระเอกเป็นคนชวนเขาเข้ามาร่วมทีมนี้เอง เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ของทั้งเรื่องนี้ เป็นชุดเหตุการณ์หลักในเส้นเวลาที่กำลังจะเดินไปสู่อนาคต (ที่รออยู่) เป็นการกลับหัวกลับหางฉากเรียกน้ำตาใน Interstellar ที่เฉลยแก่คนดูว่า พ่อพยายามส่งข้อความจากมิติอนันต์ในอวกาศ กลับมาเตือนตัวเองบนโลก ยับยั้งไม่ให้เขาตัดสินใจเดินทางไปสู่อวกาศ
บทส่งท้าย
การเดินทางย้อนเวลาเป็นสุดยอดความฝันของทุกคน เพราะทุกคนมีอดีตที่อยากเปลี่ยน แต่โนแลนกับ TENET กำลังบอกเราว่าอดีตเปลี่ยนไม่ได้ “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือสิ่งที่เป็นจริง” ทว่าการรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นว่าเกิดเพราะอะไร เพราะใคร จะมีผลทำให้เกิดเหตุอะไรต่อไปต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญของหนัง
หลังจากการไล่ล่าวายร้าย ทำภารกิจเพื่อยับยั้งโลก แต่บทสรุปสุดท้ายที่เราได้รับจาก TENET กลับเป็นประเด็นอันไม่ซับซ้อนเลย ทุกคนล้วนทำเพื่อปกป้องคนที่ตัวเองรักทั้งนั้น นีลทำทุกอย่างเพื่อปกป้องพระเอก พระเอกทำทุกอย่างเพื่อปกป้องแคท (เอลิซาเบธ เดบิคกี้) แคททำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกชายเธอ ทั้งสามคนนี้มีผู้ร้ายคนเดียวกันคืออังเดร เพราะถ้าหากอังเดรทำภารกิจของเขาสำเร็จ คนทั้งโลก(ในเส้นเวลาปัจจุบัน) จะตายหมด นั่นหมายความว่า พวกเขาจะไม่เหลือใครให้ปกป้องอีก