ชาวมายันจะงงแค่ไหน หากเห็นว่ามนุษยชาติในวันนี้นำเมล็ดโกโก้มาผ่านกรรมวิธีร้อยแปด จนกลายมาเป็นของหวานขวัญใจคนทั่วโลก
ถ้าชาวมายันอุทานได้คงอุทานไปแล้วว่า “นั่นแกกำลังกินของมีค่าที่สุดเข้าไปอยู่นะ” เพราะถ้าหากเมล็ดโกโก้อยู่ในมือของชาวมายัน มันจะไม่ได้ถูกนำไปทำเป็นของหวานอย่างที่เราทำกันในทุกวันนี้น่ะสิ
คงไม่มีอะไรยืนยันความคลั่งรักที่มนุษยชาติมีต่อช็อกโกแลตได้มากไปกว่าภาพยนตร์ชาร์ลี กับ โรงงานช็อกโกแลต (Charlie and the Chocolate Factory) ที่ถ่ายทอดขนมขวัญใจชาวโลกออกมาได้น่ากินยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า (โดยเฉพาะลำธารช็อกโกแลตในโรงงาน) โรงงานที่ผลิตช็อกโกแลตบาร์ยี่ห้อ ‘Wonka’ ในชื่อเดียวกับเจ้าของโรงงานปริศนาที่ไม่มีใครรู้เรื่องราวในชีวิตเขามากนัก
ต่อมาเรื่องราวของวิลลี่ วองก้า (Willy Wonka) กำลังจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องวองก้า (Wonka) นักมายากล นักประดิษฐ์ นักลงทุน และเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์ เราขอชวนทุกคนมาลองแกะรอยช็อกโกแลตในประวัติศาสตร์โลกกันว่า ก่อนจะมาเป็นขนมนั้น ช็อกโกแลตเคยเป็นสิ่งมีค่าที่จักรพรรดิแห่งแอซเท็กเก็บไว้แทนของมีค่าอื่นๆ เลยล่ะ มาสำรวจเส้นทางผ่านกาลเวลาของช็อกโกแลต จากของมีค่าที่ใช้แทนเงินตรา สู่ของหวานขวัญใจคนทั่วโลกกัน
เริ่มด้วยการเดินตามรอยนักโบราณคดี โจแอน บารอน (Joanne Baron) ไปสอดส่องรูปภาพของชาวมายันในช่วงยุคมายาคลาสสิก ตั้งแต่ปี 250 – 900 นับเป็นช่วงที่อารยธรรมมายาในที่ราบลุ่มทางตอนใต้ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่เมล็ดโกโก้ยังไม่ปรากฏให้เราเห็นมากนัก เพราะเพิ่งจะมาแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 8 หลังจากผู้คนเริ่มใช้เมล็ดโกโก้แทนเงินตรา โดยสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หรือใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ได้
ทว่านั่นเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนกันในตลาดของชาวบ้านหรือเปล่า? เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนสินค้าทั่วไป หมูไปไก่มา หรืออาจมีสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่ามากกว่าเมล็ดโกโก้ก็ได้ หากจะว่าแบบนั้นก็ใช่ สินค้าต่างๆ ในยุคนั้น เช่น ยาสูบ และเมล็ดข้าวโพด มักถูกมอบให้เป็นเครื่องบรรณาการ แต่หลักฐานที่พบว่าสินค้านี้เป็นสินค้ายอดฮิตสุดๆ ในสมัยนั้นมีอยู่ 2 อย่างคือ สิ่งทอ และถุงที่เต็มไปด้วยเมล็ดโกโก้ (พร้อมระบุจำนวนชัดเจนหน้าถุง) นั่นทำให้บารอนเชื่อว่า กษัตริย์มายันเก็บภาษีของผู้คนในรูปแบบโกโก้และสิ่งทอ ซึ่งนั่นยังหมายความว่า สินค้าทั้ง 2 อย่างนี้ได้กลายเป็นสกุลเงินด้วย
แม้กระทั่งคำว่า ช็อกโกแลต (Chocolate) ก็มาจากภาษามายัน ‘xocolatl’ แปลว่า น้ำที่มีรสขม บางคนอาจคุ้นตา เพราะชื่อของ Motecuhzoma Xocoyotzin (Montezuma II) จักรพรรดิแห่งแอซเท็กในช่วงศตวรรษที่ 9 บุคคลที่ร่ำรวยและทรงพลังมากที่สุดในขณะนั้น จนได้รับฉายาว่า ‘The Chocolate King’ โดยเชื่อกันว่าเขามีเมล็ดโกโก้มากกว่าพันล้านเมล็ด
ขยับออกมาในปี 1400 อำนาจของชาวมายันลดลง ชาวแอซเท็กจึงเข้าปกครองพื้นที่สูงทางตอนกลางของเม็กซิโก ซึ่งห่างไกลจากป่าฝนของชาวมายัน ทำให้ชาวแอซเท็กไม่สามารถปลูกโกโก้เองได้ พวกเขาเลยต้องค้าขายเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้มา แต่แค่ค้าขายก็อาจจะยังไม่พอ พวกเขาเลยต้องไปยึดพื้นที่ที่ปลูกโกโก้ พร้อมให้จ่ายส่วยเป็นเมล็ดโกโก้ด้วยเสียเลย ดังนั้นช็อกโกแลตจึงยังไม่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ทว่ากลับกลายมาเป็นอาหารเก่าแก่ที่เชื่อว่า เป็นอาหารของพระเจ้า ทำหน้าที่ร้อยแปดตั้งแต่เป็นบรรณาการ ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ดื่มในงานฉลอง ไปจนดื่มเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสนามรบ
หลังจากอร่อยกันเองในแถบเม็กซิโกและอเมริกากลางมานาน ก็ถึงเวลาที่ช็อกโกแลตจะไปแมสในยุโรปกันแล้ว โดยนักสำรวจชาวสเปน เอร์นัน กอร์เตส (Hernán Cortés) ผู้พิชิตจักรวรรดิแอซเท็ก ได้นำช็อกโกแลตกลับไปยังบ้านเกิดที่สเปน แม้ตอนแรกเขาจะคิดเพียงว่าต้องการหอบทองและของมีค่ากลับบ้านแบบฉ่ำๆ หลังจากไปเยือนแอซเท็ก แต่กลายเป็นว่าจักรพรรดิแห่งแอซเท็กที่ว่าร่ำรวยนั้น รวยเพราะมีเมล็ดโกโก้เยอะต่างหาก เพราะงั้นจะกลับบ้านมือเปล่าก็คงไม่ได้ เลยเอาเมล็ดโกโก้ติดมือกลับไป พร้อมแจกจ่ายให้ชาวประชาได้รู้จักสิ่งนี้ไปด้วย
สรุปว่าช็อกโกแลตร้อนจึงแมสมากในชนชั้นสูง แต่ยังไม่แมสสำหรับคนทั่วไป ชนชั้นสูงสเปนก็อร่อยอย่าบอกใครของจริง เพราะไม่ยอมแพร่งพรายออกไปเลยว่ามีสิ่งนี้ในสเปนแล้วนะ จนกินเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ช็อกโกแลตถึงจะได้ออกเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส และไปยังส่วนอื่นๆ ของยุโรป
เมื่อช็อกโกแลตแพร่กระจายไปทั่วยุโรปแล้ว หลายประเทศได้จัดตั้งสวนโกโก้ของตนเองขึ้นในประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นศูนย์สูตร แม้ช็อกโกแลตจะยังคงผลิตด้วยมือ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช้าและลำบาก แต่ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ใกล้เข้ามา สิ่งต่างๆ จึงกำลังจะเปลี่ยนไป จนในปี 1828 เครื่องกดช็อกโกแลตก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นการปฏิวัติการทำช็อกโกแลตไปโดยสิ้นเชิง
จากอาหารที่ต้องพิถีพิถัน และมีขั้นตอนมากมายกว่าจะได้ดื่มในแต่ละแก้ว ก็เริ่มมีอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถบีบ Cocoa Butter จากเมล็ดโกโก้ที่คั่วแล้ว โดยเหลือผงโกโก้ละเอียดที่นำมาผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อนำมาทำช็อกโกแลตแบบแท่ง และด้วยจุดนี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของช็อกโกแลตที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
จากเครื่องบรรณาการที่ใช้บ่งบอกความร่ำรวยของกษัตริย์ เดินทางผ่านกาลเวลามาสู่ของหวานขวัญใจคนทั่วโลก ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช็อกโกแลตร้อนแค่หนึ่งแก้ว แต่กลายเป็นขนมสำหรับเด็กๆ เป็นของหวานในตอนเศร้าใจ เป็นขนมสำหรับการบอกรัก ไปจนถึงของฝากในช่วงเทศกาล จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมช็อกโกแลตถึงได้ชื่อว่า เป็นอาหารของพระเจ้ามาแต่ก่อนกาล
อ้างอิงจาก