สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หรือก็คือ ‘วันวาเลนไทน์’ นั่นเอง หวังว่าผู้อ่านคงจะสมหวังกันไม่น้อยนะครับ ส่วนคนที่ผิดหวังก็ไม่ต้องเสียใจ ชีวิตยังมีเวลาให้สู้ต่อไปครับ
หลายท่านคงคุ้นกับธรรมเนียมวันวาเลนไทน์แบบญี่ปุ่นที่เรามักจะได้อ่านในมังงะหรือดูในหนัง ซึ่งก็แตกต่างไปจากชาติอื่นๆ ตรงที่เป็นเทศกาลที่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนให้ช็อกโกแลตกับฝ่ายชายที่ชอบ คล้ายกับเป็นการสารภาพรักไปในตัว (ซึ่งประเทศอื่นๆ จะเป็นการฉลองของคู่รักตามความหมายดั้งเดิมเสียมากกว่า) วันนี้ก็เลยเป็นเหมือนกับวันสารภาพรักนั่นแหละครับ แล้วก็จะมี ‘White Day’ คือวันที่ 14 มีนาคม เป็นวันที่ฝ่ายชายจะตอบรับคำสารภาพของฝ่ายหญิงด้วย
แต่นอกจากการมอบช็อกโกแลตให้ในแง่ความสัมพันธ์แบบชายหญิงแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีการให้ช็อกโกแลตในความหมายอื่นอีก นั่นคือ ‘ช็อกโกแลตตามธรรมเนียม’ หรือที่เรียกว่า ‘กิริช็อกโกะ’ (義理—กิริ แปลว่า ธรรมเนียม) ซึ่งเป็นการให้ช็อกโกแลตธรรมดาๆ กับผู้ชายในสถานที่ทำงานหรือในโรงเรียนตามมารยาท ซึ่งกิริช็อกโกะนี่แหละครับที่กลายมาเป็นปัญหาในสังคมญี่ปุ่น
ก่อนอื่นคงต้องขอแยกชนิดช็อกโกแลตให้เข้าใจนิดนึง อย่างที่บอกไปว่า กิริช็อกโกะ คือช็อกโกแลตตามมารยาท แต่ถ้าจะให้คนที่ตัวเองชอบ คนที่อยากสารภาพรัก เขาจะเรียกว่า ฮงเมช็อกโกะ มาจากคำว่า 本命—ฮงเม ที่แปลว่า ‘คนโปรด’ หรือ ‘ตัวจริง’ ก็คงได้ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นช็อกโกแลตที่สาวๆ ตั้งใจเลือกสรรหรือปรุงแต่งเอง เพื่อให้ชายคนที่จะมอบให้รู้สึกประทับใจเต็มที่ แต่กิริช็อกโกะ ก็สมกับคำว่า ‘ธรรมเนียม’ ครับ คือส่วนใหญ่จะเป็นช็อกโกแลตสำเร็จรูป ราคาไม่แพง เป็นการซื้อมาเพื่อแจกให้คนนั้นคนนี้ในที่ทำงานเท่านั้นเอง
ซึ่งช็อกโกแลตทั้งสองอย่างนี้ ก็ไม่ได้เป็นธรรมเนียมอะไรมาแต่ดั้งเดิม การมอบช็อกโกแลตเพื่อสารภาพรักกับฝ่ายชายก็เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว เนื่องจากมันคือแผนการของห้างสรรพสินค้าในอดีต ที่อยากจะขายช็อกโกแลตให้ได้มากขึ้นเท่านั้น ในเมื่อไม่มีอุปสงค์ ก็สร้างมันขึ้นมาสิ ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แล้วถ้าอยากให้คนซื้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก ก็โปรโมทธรรมเนียมใหม่ๆ อย่าง กิริช็อกโกะ เข้าไปเลย แค่นี้คนก็ซื้อช็อกโกแลตมากขึ้นแล้ว
ซึ่งการให้กิริช็อกโกะในที่ทำงาน
ก็เป็นเหมือนการแสดงความขอบคุณกับการช่วยงานที่ผ่านมาเสมอ
บางคนก็ชอบเพราะบอกว่า เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อร่วมงานที่อาจจะไม่เคยคุยกันมาก่อน และเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานอีกด้วย จะว่าไปก็คล้ายๆ หนึ่งในกิมมิกที่ช่วยให้การทำงานในบริษัทลื่นไหลไปได้เหมือนกัน
แต่ไปๆ มาๆ เมื่อโลกเปลี่ยนไป ค่านิยมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นกระแสยกเลิกกิริช็อกโกะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายคนก็มีเหตุผลต่างกันไป แต่หลักๆ แล้ว ฝ่ายหญิงก็เริ่มคิดว่า การที่ต้องซื้อช็อกโกแลตให้ทุกคนในที่ทำงาน มันไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย แถมยังเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีพนักงานหญิงน้อยกว่าพนักงานชายก็คงหนักจริงๆ แหละครับ แต่ที่ยังทำกันอยู่ก็เพราะว่าปีก่อนเขาทำกันมา เลยกลายเป็นธรรมเนียมไปโดยปริยาย ซึ่งก็กลายเป็นธรรมเนียมที่สร้างภาระชวนให้พนักงานหญิงปวดหัวไปด้วยเช่นกัน
ยิ่งไล่อ่านความเห็นไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งสนุก จริงๆ หลายคนก็มองว่า ถ้าให้ทุกคนก็เปลืองเงิน จะให้แค่บางคนก็กลายเป็นว่าไม่เท่าเทียม คนไม่ได้ก็จะไม่พอใจ คนได้ก็อาจจะคิดว่าตัวเองพิเศษกว่าคนอื่นอีก ก็เล่นเอาเหนื่อยใจอีก หรือบางทีผู้หญิงในแผนกไม่ได้คุยกันให้ดี เกิดมีใครให้กิริช็อกโกะในที่ทำงาน แต่คนที่เหลือไม่ได้ให้ ก็จะกลายเป็นว่าถูกเปรียบเทียบกันอีก เฮ้อ ในขณะที่บางคนก็มองว่ามันเชยไปแล้ว บางคนยิ่งหนักคือบอกว่า ถ้าจะให้เพื่อเป็นการขอบคุณล่ะก็ หัวหน้างานไม่ได้ทำอะไรให้สมกับการขอบคุณเลย ถ้าจะให้ ก็คงให้เพื่อจะบอกว่า ‘พยายามให้มากขึ้นนะ’ ก็เท่านั้น ซึ่งก็พอเข้าใจกันได้
ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายหญิงเท่านั้นที่หนักใจ ฝ่ายชายเองก็หนักใจไม่แพ้กันครับ เพราะฝ่ายชายที่ได้รับช็อกโกแลต แม้จะไม่ใช่ฮงเมช็อกโกะ แต่ก็ต้องตอบแทนฝ่ายหญิงกลับไปในวัน White Day เช่นกัน ซึ่งก็เป็นวันที่เกิดจากการตลาดอีกนั่นแหละครับ (ลองไปถามชาวตะวันตกเจ้าของธรรมเนียมวันวาเลนไทน์ก็คงงงว่า ไวต์เดย์ อะไรวะ) ซึ่งก็ชวนให้พนักงานชายปวดหัวอีก เพราะว่า White Day มันไม่ได้มีอะไรกำหนดชัดเจนว่าควรให้อะไรตอบกลับเหมือนกิริช็อกโกะนี่สิครับ
ลองเสิร์ชเรื่อง กิริช็อกโกะ กับคำว่า White Day ก็จะพบบทความมากมายที่แนะนำว่าควรให้อะไรตอบกลับกิริช็อกโกะในวัน White Day ดี ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันหลายเว็บคืองบส่วนใหญ่ของสิ่งที่จะให้เป็นงบที่ต้องมีราคาอย่างน้อยก็ 3 เท่าของกิริช็อกโกะ อย่างบางเว็บก็เลือกให้ผงแช่น้ำอาบ (Bath Salt) หรือช็อกโกแลตที่เป็นสีขาวหรือสีชมพูแซม หรืออาจจะเป็นขนมต่างๆ ที่พอต้องตอบแทนด้วยงบแบบนี้ก็เล่นเอาหนักใจเหมือนกัน แถมเท่าที่อ่านประสบการณ์ของคนทำงาน บางคนให้กิริช็อกโกะแล้วบอกฝ่ายชายว่า อยากได้ของแบรนด์เนมตอบแทน ซึ่งก็ดันได้ผลด้วยครับ แต่อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปในทางอื่นรึเปล่า แต่เอาจริงๆ ก็คือ ฝ่ายชายเองก็ใช่ว่าจะดีใจที่ได้รับนั่นแหละครับ
พอเป็นแบบนี้ ในหลายบริษัทก็เริ่มมีการตกลงกันเองว่า
เอ้อ ไม่ต้องให้กิริช็อกโกะกันหรอก
บางแห่งก็เปลี่ยนวิธี เช่นพนักงานสาวรวมเงินกันซื้อของมาให้พนักงานชาย หรือบางทีก็เลือกแบบ ซื้อมาวางไว้ตรงพื้นที่ส่วนกลาง สามารถหยิบได้ตามใจชอบ ก็จัดว่าน่ารักกำลังดีนะครับ แต่บางบริษัทก็ประกาศไปเลยว่า ห้ามให้กิริช็อกโกะกันในบริษัท เพราะไม่ใช่แค่ชวนปวดหัวเรื่องงบหรือจะให้ใคร แต่การที่พนักงานชายหรือหัวหน้างาน รบเร้าพนักงานหญิงให้ซื้อกิริช็อกโกะให้กับตัวเอง ก็มีโอกาสจะโดนร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจกดขี่ (Power Harassment) ในที่ทำงานได้อีกด้วย ก็งดให้ไปเลย จบเรื่อง ซึ่งก็มีคนไปสัมภาษณ์พนักงานในบริษัทที่ใช้แนวทางนี้ เขาก็บอกว่า โล่งใจ ไม่ต้องมาปวดหัวกันอีกต่อไป
กระแสการยกเลิกกิริช็อกโกะมาแรงแค่ไหน ก็ขนาดที่ว่า ‘Godiva’ แบรนด์ช็อกโกแลตเจ้าดังยังลงโฆษณาชักชวนให้เลิกมอบกิริช็อกโกะกันเลย งงไหมล่ะครับ ขนาดบริษัทช็อกโกแลตยังชวนให้คนหันมายกเลิกการให้ช็อกโกแลตแบบนี้
แต่จริงๆ แล้ว ก็เป็นการเดินหมากที่ฉลาดของ Godiva ก็ว่าได้ เพราะช่วงสองปีที่ผ่านมา ยอดขายช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ต่อให้ Godiva ไม่ออกมาพูด คนก็คงซื้อกิริช็อกโกะน้อยลงเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมปัจจุบัน แต่ Godiva ออกมาพูดแบบนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะกระตุ้นให้คนซื้อฮงเมช็อกโกะหรูหราราคาแพงให้ฝ่ายชาย (เพราะส่วนใหญ่เขาทำเองมากกว่า) แต่เป็นการโปรโมทเทรนด์ใหม่ที่แพร่หลายมากขึ้นในหมู่สาวๆ นั่นคือ จิบุงช็อกโกแลต หรือเรียกย่อๆ ว่า จิบุงช็อกโกะ ซึ่ง 自分—จิบุง ก็แปลว่า ‘ตนเอง’ พูดง่ายๆ คือ เป็นการซื้อช็อกโกแลตให้ตัวเองนั่นแหละครับ
สาวๆ ยุคใหม่ ถ้าไม่มีฝ่ายชายที่อยากจะบอกรัก แทนที่จะเอาเงินไปซื้อกิริช็อกโกะให้คนอื่น ก็ทุ่มเอาเงินตรงนั้นมาซื้อช็อกโกแลตพิเศษที่ออกวางขายในช่วงวาเลนไทน์มากินเองคงจะฟินกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ใหม่อะไรหรอกครับ แต่ที่มันกลายมาเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงหลังๆ ก็เพราะบทบาทของโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะ Instagram ที่สาวๆ ชอบเล่นกัน วันวาเลนไทน์ก็เลยกลายเป็นวันที่จะได้โชว์ว่าซื้อช็อกโกแลตอะไรให้ตัวเองไปโดยปริยาย
ยิ่งบริษัทไหนทำช็อกโกแลตน่ารัก ดูหรู ถ่ายรูปขึ้นกล้อง ก็ยิ่งเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ นี่แหละครับ บริษัทช็อกโกแลตทั้งหลายก็เลยมองเห็นตลาดใหม่ตรงนี้ ทำให้พยายามผลิตสินค้ามารองรับตลาด ทุกๆ ที่ก็มีโอกาสเสมอครับ หลังๆ นี้อีเวนต์ขายช็อกโกแลตจึงกลายเป็นการซื้อช็อกโกแลตแบบนี้ไปแทนซะอีก (ยังไม่นับช็อกโกแลตที่ผู้หญิงเขาซื้อให้เพื่อนเพื่อตอบแทนที่คบกัน ซึ่งเรียกว่า ‘โทโมช็อกโกแลต’ อีก)
อย่างว่าแหละครับ ธรรมเนียมต่างๆ มันก็คือสิ่งที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นเองทั้งนั้น จะไปยึดอะไรไว้ตลอด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามโลก เดี๋ยวมันก็ถึงจุดจบเอง อย่างกิริช็อกโกะ ที่แม้จะเริ่มต้นเป็นเหมือนธรรมเนียมการสร้างความสัมพันธ์ในบริษัท แต่พอกลายมาเป็นธรรมเนียมที่สร้างความเหนื่อยหน่าย ก็เลยคิดใหม่ว่าเอามาใช้กับสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองน่าจะดีกว่า ไม่ว่าธรรมเนียมจะมีมานานแค่ไหนก็เปลี่ยนได้ทั้งนั้นแหละครับ อย่าไปยึดถืออะไรเกินจำเป็นเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก