เริ่มต้นจากบทสนทนาในห้องตรวจ เมื่อคุณหมอพยายามซักประวัติคนไข้ว่าทำไมผื่นที่ขึ้นตามตัวจึงไม่หายไป แต่ผู้หญิงสองคนที่พาคนไข้มากลับพูดแทนตลอดเวลา พวกเธอเอาครีมอะไรก็ไม่รู้มาทาให้คนไข้แทนครีมของหมอที่หมด คนไข้ชายหนุ่มได้แต่นั่งยิ้ม จนหมอต้องบอกว่าให้คนไข้พูดเอง แต่แม่สองสาวก็ยังจะพูดแทน อันที่จริงที่พวกเขาต้องการคือใบรับรองแพทย์ แต่หมอไม่ยอมให้เพราะคนไข้ไม่เอาบัตรประชาชนมา แม้จะรู้จักกันหมอก็ไม่ให้อยู่ดี หมอชวนคุยไปเรื่อยทั้งเรื่องยานอนหลับหรือการทำอพาร์ทเมนต์ห้องเช่า
คนไข้คนต่อไปเป็นลูกสาวกับพ่อที่เริ่มหูตึง พ่อบอกหมอว่ามีเสียงจี่ในเครื่องช่วยฟัง ลูกสาวบอกว่าพ่อเปิดทีวีเสียงดัง พอเธอไปลดก็โดนว่า แล้วพอเธอเพิ่มเสียงให้พ่อก็บอกว่าประชด พวกเขาทะเลาะกันต่อหน้าหมอ คนหนึ่งบอกว่าอย่ามีลูกสาวอีกคนบอกว่าพ่อแค่งอแงอยากได้เครื่องใหม่ โดยมีหมอคอยฟังและเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตา
นี่คือฉากเปิดสั้นๆ ของ ‘สุดเสน่หา’ ภาพยนตร์โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ตัวหนังนั้นว่าด้วยยามบ่ายแสนสุขของ มิน หนุ่มกะเหรี่ยงที่เข้าเมืองมาแบบผิดกฏหมาย รุ่ง สาวโรงงานที่เป้นคนรักของมิน และ ป้าอร หญิงวัยกลางคนที่มีสามีรับราชการ และเป็นทั้งเพื่อนและเหมือนผู้ดูแลคนทั้งคู่
ภายใต้สายตาของอภิชาติพงศ์ ซึ่งเสมอมามักจับจ้องมองชนบทของไทย
เมืองและหมู่บ้านของเขามักค่อยๆ กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ลึกลับ
ความนิ่งช้า เรียบเฉย และบทสนทนาเกือบไร้สาระของผู้คนประกอบขึ้นเป็นบรรยากาศพิเศษที่ทั้งตลก สบาย ขณะเดียวกันก็ฉายส่องลงไปในสังคมถือผี ที่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เจ้าพ่อเจ้าแม่ คนเป็นคนตายล้วนแนบอยู่กับชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันจนแยกไม่ออก เช่นเดียวกันกับที่ความทรงจำของผู้คนปะทะเข้ากับประวัติศาสตร์บาดแผลของชาติ ในภาพยนตร์ที่เหมือนไม่เล่าอะไร จึงกลายเป็นการฉายส่องการสังเกตสังกาทุกอย่างลงบนจออย่างงดงาม
“ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ ท้าทาย ‘สามัญสำนึก’ ของประเทศไทยในฐานะของประเทศประชาธิปไตยโดย ชี้ให้เห็นว่าสถาบันการแพทย์และการทหารมีอำนาจเท่าเทียมกันในกำกับดูแลกฏระเบียบ ที่ครอบงำขอบเขตของสิ่งที่สามารถคิด พูด ได้ยิน และแสดงออก ตามลำดับของชนชั้นต่างๆ ในเวลาเดียวกัน การเน้นยำถึงการดูแลและเชื่อมโยงกันเองในระดับชีวิตประจำวัน ก็เป็นเหมือนการแก้ปัญหาขององค์กรระดับประเทศแบบจากล่างขึ้นบน ความไม่ลงรอยกันนี้คือกุญแจของความเข้าใจในรูปแบบของอำนาจในหนังของอภิชาติพงศ์ ซึ่งเคลื่อนย้ายไปมาระหว่าง ผู้ดูแล(คนป่วย-ขยายความโดยผู้แปล) หมอ, ทหาร, พระสงฆ์, ผู้จัดการโรงงาน , ภาพมุมต่ำของอนุสาวรีย์ท่ามกลางบรรยากาศของเมือง และบรรดาผู้คนที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องส่วนตัว” *1
ดังที่ Noah Viernes นักวิชาการภาพยนตร์ได้เขียนไว้ หากเรามองย้อนกลับไปในบรรดาภาพยนตร์ของเขาสิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเสมอมาในงานของเขาคือการล้อเล่น ตั้งคำถามท้าทายกับอำนาจและการบังคับใช้อำนาจของสถาบันทางสังคมโดยเฉพาะสถาบันทหารและสถาบันการแพทย์ ที่เป็นเหมือนสองสถาบันที่รัฐใช้ในการจัดระเบียบผู้อยู่ใต้ปกครอง ทั้งในระดับร่างกาย และในระดับชาติ สองสถาบันที่ได้อำนาจเกือบสัมบูรณ์ในการออกคำสั่งประชาชนทั้งในการควบคุมร่างกาย และการควบคุมความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในหนังเกือบทุกเรื่องของอภิชาติพงศ์มักมีตัวละคร หมอ และ ทหาร มากพอๆ กับการมีผีสาง เจ้าแม่ ตำนานพื้นบ้าน ราวกับว่ามีรัฐสองแบบที่กำกับควบคุมผู้คน คือรัฐราชการที่เป็นทางการ แข็งเกร็ง กดทับ และรัฐไสยศาสตร์ ความเชื่อที่ชาวบ้านเข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อรองกับรัฐแบบแรก
มองกลับมาที่สุดเสน่หาและฉากเปิดของมัน ที่เราได้เห็นอำนาจของสถาบันทางการแพทย์ที่บังคับ กดทับ จับจ้อง ลงบนเรือนร่าง การต่อรองของพี่อรในเรื่อง การขอใบรับรองแพทย์(ซึ่งมีสถานะเหมือนกับใบรับรองการได้รับการยอมรับของรัฐ) กลายเป็นการต่อรองที่เปล่าประโยชน์ และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของแพทย์ที่อยู่ในสถานะเหนือกว่า หรือคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนไข้ไปตลอด จนแม้แต่ในคนไข้คนที่สอง หมอไม่ต้องพูดอะไรออกไปมาก แต่การให้คำแนะนำเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าไปจัดการ ตัดสิน และควบคุมความสัมพันธ์ของพ่อลูกได้ในทันที ในขณะเดียวกันอำนาจทางการแพทย์ที่ดูเหมือนมีอำนาจ มีอำนาจเฉพาะในคลินิกเท่านั้น อำนาจทางการแพทย์หมดลงพร้อมกับครีมที่หมดลง และจะมีอำนาจใหม่อีกครั้งเมื่อคนไข้มาหาหมอตามนัด เราจึงอาจบอกได้ว่า ครึ่งแรกของสุดเสน่หาเป็นการต่อสู้ /ต่อรองกันระหว่างครีมของหมอกับครีมทำเอง
หากไม่ได้มีแต่ในคลินิคเท่านั้นที่ผู้คน ร่างกายโดนกดทับโดยอำนาจ หนังติดตามตัวละครจากคลินิค ไปยังสถานที่ราชการ (อบต. หรืออะไรสักอย่าง) และโรงงาน ในสถานที่ราชการ ขณะที่พี่อรแวะเยี่ยมสามี เพื่อบ่นเรื่องไม่ได้ใบรับรองแพทย์ มินถูกลวนลามโดยข้าราชการหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อไปโรงงาน มินเข้าไปนั่งกับพวกยามที่เป็นแรงงานต่างด้าวเช่นเดียวกัน ขณะที่รุ่งถูกผู้จัดกาเรียกไปต่อว่าทั้งเรื่องที่ว่าไม่ให้มินมาที่นี่อีกและเรื่องของการลาหยุดงานครึ่งวันของรุ่ง
รุ่งกับมินจึงกลายเป็นภาพแทนของแรงงานไร้ชื่อ ไร้อำนาจ ไร้ใบหน้าที่ถูกกดทับ/ควบคุม จำกัดการมีชีวิตในแทบทุกมิติพื้นที่ของชีวิต การแสวงหาความเพลิดเพลินของพวกเขาจึงยืนอยู่บนพื้นฐานของการละเมิด เพราะพวกเขาถูกควบคุมทั้งจากเวลาทำงาน ใบอนุญาติให้ทำงาน และจากความยากจน ให้มีชีวิตตามที่ทุนต้องการให้มี ไม่มีทางที่พวกเขาจะได้เป็นตัวเองในที่ทำงาน รัฐาชาติที่มองพวกเขาเป็นเพียงจำนวนนับ หรือแรงงานที่จะได้หรือเสียไป การละเมิด (แอบหยุดงาน) การหลอกลวง(เพื่อขอใบรับรองแพทย์) การหลบหนี (เข้าไปปิคนิคในป่า) จึงเป็นหนทางเดียวที่พวกเขามี เพื่อไปยัง ‘พื้นที่’ ที่พวกเขาจะสามารถเป็นตัวเองได้ ที่จะพบความเพลิดเพลินได้ หายใจได้ มันคือสถานที่ที่ลับตาจากการควบคุม ครึ่งหลังพวกเขาจึงเข้าไปอยู่ในป่า
เราจึงสามารถแบ่งหนังเรื่องนี้ได้เป็นสองส่วน คือ เมือง
ในฐานะของพื้นที่ที่ถูกกำกับควบคุมตลอดเวลา จากมือของรัฐ
ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ในเมือง
มินคือแรงงานต่างด้าวไม่มีใบรับรอง รุ่งเป็นสาวโรงงานที่เป็นคนชั้นล่าง โดยมีพี่อรเป็นเสมือนข้อต่อ ตัวเชื่อมกับรัฐ แต่สถานะของพี่อรก็ไม่ใช่สถานะที่มั่นคง เธอเป็นเพียง ‘เมียของข้าราชการ’ ที่ไม่น่าจะเป็นระดับสูงอะไร พี่อรเป็นข้อต่อของมินกับหมอ ของรุ่งกับผู้จัดการโรงงาน แต่เธอก็ทำอะไรได้ไม่มาก เธอคือผู้บริหารการต่อรองอำนาจ เป็นคนที่พูดแทนคนที่พูดไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เธอคือล่าม คือผู้ช่วยเหลือ เพราะเธอมีปรารถนาและความริษยาของตัวเธอเอง เธอช่วย ในขณะเดียวกันก็ฉวยใช้ประโยชน์จากทั้งมินและรุ่ง
หนังบอกเป็นนัยๆ เกี่ยวกับปรารถนาทางเพศของพี่อร ทั้งในแง่ที่รัฐยอมรับเช่นเป็นไปเพื่อสืบพันธุ์ และนอกการยอมรับของรัฐคือปรารถนาเพื่อตัวของความปรารถนาเอง ในแง่นี้ ป่าที่กลายเป็นพรมแดนปรารถนาจึงเป็นพื้นที่ของความเสน่หาอันเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
ในครึ่งหลังเมื่อตัวละครเข้าป่า เราพบว่าป่าที่ตัวละครเข้าไป ไม่ได้เป็นแค่ป่าแค่ป่า หากป่ายังเป็นป่าที่เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ป่าเลยมีความเป็นทั้งรอยต่อจุดบอดของอำนาจรัฐภายใน และความเป็นชาติภายนอกอีกด้วย
เมื่อเข้าไปในป่า ร่างกายที่ถูกกดทับของมิน ถูกเปิดเผย มินถอดเสื้อและกางเกงออก ร่างเกือบเปลือยในป่าของเขาทำให้เขากลายเป็นวัตถุปรารถนาของรุ่งและพี่อร ในเมือง มินเป็นเพียงผิวหนังที่ป่วยไข้ แรงงานที่น่ารังเกียจ เป็นร่างกายที่ไม่ถูกรับรอง แต่ในป่า มินกลายเป็นร่างที่ถูกยื้อแย่งเพื่อครอบครอง เป็นร่างที่ถูกจ้องมองอย่างถึงที่สุด เราเห็นแผ่นหลัง หน้าอก เห็นไปจนถึงเครื่องเพศของเขา
ไม่เพียงแต่ร่างกาย หากยังรวมถึงเสียง ตลอดเวลที่มินเงียบหรือพูด เสียงพูดของมินจะงึมงำอยู่ในลำคอ ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ในขณะที่หนังกลายเป็นเพื้นที่ที่เดียวที่มินพูดได้ ด้วยการพูดภาษาของตัวเอง (ผ่านซับไตเติ้ล) และผ่านภาพวาด มินเล่าเรื่องการเรียนภาษาไทย เรื่องการที่เขาอาจจะมีครอบครัวอยู่ที่อีกฟากของป่า ในป่า ในหนังที่เป็นเหมือนป่า (ภาพยนตร์กลายเป็นพื้นที่ชายขอบที่ไม่ถูกกดทับจากอำนาจรัฐ เพราะผู้ชมมีโอากาสได้จ้องมองโดยไม่รับรู้ ผู้ชมเข้าโรงหนังมาเพื่อเสพความเสน่หาจากป่ามืดทึบของแสง) เสียงของมินถูกพูด ถูกได้ยินจากผู้ชม
ถ้ามินคือที่สุดของความเสน่หาของรุ่งและพี่อร คำว่าเสน่หามีความหมายโดยนัยเชิงลบในฐานะของการการเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นสิ่งที่รัฐควบคุมไม่ได้ เสน่หาเป็นรูปแบบของการตอบสนองตนเองเพื่อความเพลินที่อาจไม่มีประโยชน์โภชน์ผล ในขณะเดียวกัน นำไปสู่ความเสื่อมศีลธรรมของการไม่อาจควบคุมไม่ยอมให้ถูกควบคุม หากเสน่หาในป่าก็ไม่ได้ไปสุดทาง คำว่าสุดเองแปลได้สองแบบในตัวมันเอง กล่าวคือเป็นจุดสุดยอดเป็นปลายทาง
แต่ในขณะเดียวกันมันอาจแปลในอีกนัยยะว่า
มาได้สุดแค่นี้สุดทาง แต่ไม่ถึงปลายทาง
เสน่หาของรุ่งกับพี่อรดูจะเป็นควาหมายอย่างหลังมากกว่า เมื่อพี่อร ร่วมรักกับชายคนที่ทำท่าเหมือนจะก้อร่อก้อติกกับมิน ในป่าเพศเลื่อนไหลไป ชายคนที่เป็นข้าราชการ ก่อนหน้านี้ปลดปล่อยความปราถนาทั้งต่อชายหนุ่มและหญิงวัยกลางคน เขาเป็นคนที่พี่อรไม่ชอบหน้าเพราะขัดขวางความสุขของเธอกับมินขณะขับรถ เขาพยายามจะเข้าหามิน แต่ถึงที่ ‘สุด’ สุดทางความเสน่หาที่มีต่อมินของเขาและพี่อรก็จบตรงที่การได้กันเองเพื่อทดแทนสน่หาที่ไม่ถึงที่สุด จนเมื่อเขาถึงที่สุดของความเสน่หากับพี่อร และถูกขโมยมอเตอร์ไซค์ เขาก็จากไปแต่เสน่หาของพี่อรอยังไม่สุดสิ้น
ในขณะเดียวกันการมาถึงของพี่อรก็ทำให้เสน่หาของมินและรุ่งถูกขัดขวาง รุ่งอาจจะใช้ปากให้มิน แต่เสน่หาของรุ่งกลับไปไม่ถึงที่สุดเมื่อพี่อรมาร่วมด้วย ในฉากนี้เอง คนทั้งสามเล่นน้ำกัน ร่างของมินลอยอยู่เหนือลำธารขณะที่พี่อรและรุ่งบรรจงทาครีมสูตรพิเศษ ไปพ้นจากครีมเพื่อรักษาของหมอ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ฉากนี้ก็ชวนให้นึกถึงภาพเขียน Ophelia ที่ขึ้นชื่อว่าเขียนภาพของธรรมชาติได้อย่างงดงามที่สุด เช่นกันกับที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บันทึกภาพของป่า แสงระหว่างช่องใบไม้ การเปลี่ยนของแสงและเงายามหมู่เมฆเคลื่อนผ่าน และลำธารที่ทอประกาย ป่ากลายเป็นทั้งดินแดนแห่งความฝันและความจริง เป็นอาณาเขตและชายแดน เป็นที่ซึ่งไม่มีทั้งพื้นที่ (ไม่ถูกครอบครอง) และกาลเวลา (ยามบ่ายที่ยืดยาวออกไปไม่สิ้นสุด)
ในวาระสุดท้ายของหนัง หนังจับจ้องมองพี่อรที่นอนร้องให้ เธอไม่ได้เป็นข้อต่อให้ใครอีกแล้ว หากเป็นส่วนเกินที่ถูกคัดทิ้ง โดดเดี่ยวและเสน่หาของเธอสิ้นสุดลงตรงการไม่ได้ถูกเติมเต็มไม่ว่าจะในเมือง หรือในป่า ในทางตรงกันข้ามรุ่งที่ค่อยๆ หลับไหลไปท่ามกลางเสียงของป่าและลำธาร มือข้างหนึ่งกุมกำลำลึงค์ของมินไว้ หนังให้เวลายาวนานเชื่องช้ามองดูหญิงคนหนึ่งค่อยๆ หลับไป มองเห็นสน่หาและการปลดปล่อยตัวเองของเธอจากการกดขี่ทั้งมวล
การย้อนกลับมาดูหนังเรื่องนี้อีกครั้งในระยะเวลา 19 ปีต่อมา หนังยังคงสดใหม่ทั้งในแง่มุมทางศิลปะ และในแง่มุมทางสังคม ท่ามกลางความเข้มข้นของการตั้งคำถามต่อระบบสาธรณสุขและอำนาจของแพทย์ ในวาระนี้ กระทั่งการถูกกดทับของแรงงานต่างด้าวก็ยังคงสดใหม่และฉายชัดมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนล้วนถูกกักกัน กักเก็บในห้องหับของตัวเอง ปรารถนาแห่งป่าที่ไม่ถูกควบคุมเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ได้แค่ในโลกดิจิตัลและในความฝัน ที่สุดทางของเสน่หาซึ่งไม่มีสิ่งใดนอกจากความป่วยไข้ความตาย และเสียงร้องให้ที่แผ่วเบาของพี่อร
อ้างอิงข้อมูลจาก