ซับไทยเรื่องนี้แปลดีจัง!
ความสนุกและสาระของหนังแต่ละเรื่องถูกกำหนดด้วยบท การแสดง งานภาพ ไปจนถึงสุ้มเสียงและดนตรี ทว่าองค์ประกอบเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันคงหนีไม่พ้นคำบรรยาย หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า ‘ซับไทย’ นั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘Subtitles’ หรือ ‘บทบรรยาย’ คือส่วนสำคัญของการบอกเล่าเรื่องราวในสื่อนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากผู้แปลสามารถเรียบเรียงถ้อยคำออกมาได้อยากถูกต้องและตรงความหมาย คนดูก็จะเพลิดเพลินไปกับความบันเทิงบนหน้าจอได้โดยไม่สูญเสียอรรถรส แต่ถ้าผู้ที่ทำหน้าที่มีความสะเพร่า สะกดผิด หรือแปลแล้วความหมายคลาดเคลื่อน คนดูก็คงตะขิดตะขวงใจขณะเสพสื่อ จนอาจนำไปพูดถึงกันต่อบนโลกออนไลน์หลังดูหนังจบ
จะว่าไปผู้แปลบทบรรยายหนัง (ที่ส่วนหนึ่งก็ข้ามไปแปลซีรีส์และรายการด้วย) ก็ดูจะเป็นอาชีพที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเราจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของบุคคลเบื้องหลังตัวอักษรสีขาว 2 ครั้ง หนึ่งคือคราวที่หนังฉายจบ แล้วมีข้อความขึ้นว่า ‘บทบรรยายไทยโดย…’ และสองคือฉากที่มีความผิดพลาดปรากฏแก่สายตา พูดง่ายๆ ว่าเป็นงานที่ทำดีแล้วคนไม่ค่อยสนใจ แต่หากพิมพ์ผิดหรือแปลพลาดไป คนจึงจะมองเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกของการส่งสาร
ด้วยเหตุนี้เราจึงแทบไม่รู้เลยว่า หน้าที่แท้จริงของอาชีพ ‘Subtitler’ หรือ ‘ผู้แปลบทบรรยายภาพยนตร์’ มีอะไรบ้าง ที่ผ่านมาเรารู้จักพวกเขาผ่านสำนวนภาษาและลีลาการใช้คำแปล แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปเห็นภาพอาชีพนี้ชัดเจนขึ้น ผ่านการพูดคุยกับนักแปลที่แปลสื่อมาแล้วกว่า 1,000 เรื่อง…
นี่คือมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนของยุทธนา งามเลิศ เจ้าของนามปากกาที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตาอย่าง เจไดยุทธ
4 วินาที 33 ตัวอักษร
“เราทำงานในช่วงรอยต่อระหว่างยุคหนังฟิล์มกับหนังดิจิทัล ตอนยังเป็นหนังฟิล์ม เราเอาหนังมาดูเองที่บ้านไม่ได้ ต้องไปดูที่แล็บอย่างเดียว ดูเสร็จก็จำภาพกลับมาแปล”
หนุ่มแว่น เจ้าของบุคลิกร่าเริงเป็นกันเอง เริ่มต้นย้อนความหลังถึงครั้งแรกที่ได้แปลหนังเป็นภาษาไทย เขาเล่าว่าตัวเองจะได้รับบทหนังเป็นภาษาอังกฤษ และต้องไปชมหนังเรื่องนั้นที่แล็บซึ่งจัดการดูแลเรื่องการใส่คำบรรยาย ก่อนจะนำภาพที่ได้เห็นทั้งหมดมาประมวลประกอบขณะเริ่มเรียบเรียงบทบรรยาย
“โห สมัยนั้นนะ เราต้องเซฟคำบรรยายลงแผ่นดิสก์แล้วส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไปให้บริษัท ไม่รู้ว่าเด็กยุคนี้ยังรู้จักแผ่นดิสก์กันอยู่ไหม” นักแปลพูดพลางหัวเราะ
หนึ่งในความท้าทายที่คนดูอย่างเราอาจคาดไม่ถึง แต่คนทำบทบรรยายทุกยุคต้องเจอ คือการรังสรรค์ความหมายของบทสนทนาให้อยู่ในประโยคที่สั้นที่สุด โดยเจไดยุทธเล่าว่า คำบรรยายหนึ่งประโยคจะฉายให้เห็นบนจอเพียง 0-4 วินาทีเท่านั้น และประโยคที่ยาวที่สุดที่พิมพ์ได้จะต้องไม่เกิน 33 ตัวอักษร เป็นเหตุให้หลายครั้งผู้แปลก็ต้องจำใจลดทอนความสละสลวยของคำ ยอมใช้คำที่สั้นและเข้าใจง่าย เพื่อให้ความหมายของเรื่องยังคงอยู่ ให้คนดูอ่านทันและคิดตามได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที
“แต่ถ้าเป็นนักแปลที่เก่งมากๆ ก็ทำได้หมดนะ แปลเข้าใจ กระชับ สละสลวย หรือบางครั้งคนแปลก็เก่งมากแล้ว แต่เวลาในการทำงานไม่เอื้อให้คิดประโยคที่สละสลวย หัวเราอาจจะไม่ไวพอ”
รูปแบบการจัดทำคำบรรยายที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัท ก็เป็นอีกความซับซ้อนที่นักแปลต้องเอาชนะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือกรณีที่ต้องแปลคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งปรากฏในฉากแต่ไม่อยู่ในบทสนทนา ถ้าเป็นหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ผู้แปลบทบรรยายจะใช้เครื่องหมายอัญประกาศ (“-“) เพื่อแยกแยะความแตกต่างของถ้อยคำ
อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีเดียวกันนี้ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ บริษัทจะให้ใช้เครื่องหมายนขลิขิตหรือวงเล็บแทน ซึ่งสิ่งนี้สร้างความสับสนให้กับผู้แปลไม่น้อย
“ช่วงแรกๆ ก็งง เราชินกับแบบหนึ่งไปแล้ว หรือบางครั้งเขากำหนดด้วยนะว่า ตรงนี้ต้องมีกี่จุด หรือตัวย่อนี้ห้ามใส่จุด แถมจำนวนตัวอักษรต่อบรรทัดของแต่ละเจ้าก็ไม่เท่ากันอีก เราต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอด”
นอกจากลักษณะการแปลแล้ว ประเภทของหนังที่ได้ดูขณะแปลก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน เพราะหลายครั้งผู้แปลบทบรรยายก็ต้องดูในเวอร์ชั่นที่มีลายน้ำพาดจอ บ้างก็เป็นเวอร์ชั่นขาวดำ หรือบางครั้งก็ได้ดูด้วยขนาดเพียง 1 ใน 4 ของขนาดจริง เพราะอีก 3 ส่วนที่เหลือมีโปรแกรมทำคำบรรยายเปิดทาบอยู่
“บางทีเราไม่รู้ว่าที่ตัวละครพูดว่า Blue คือสีอะไร มันเป็นไปได้ทั้งฟ้า น้ำเงิน และเขียว พอไฟล์หนังที่ได้ดูเป็นขาวดำ เราก็แปลไม่ถูกจนต้องโทรสอบถามจากค่าย” เจไดยุทธอธิบาย
เล่นแร่แปลซับ
ข้ามฝั่งจากความท้าทายมายังเสน่ห์ของการทำงาน และเท่าที่ฟังก็พอจะเห็นว่าความสนุกสนานของอาชีพนี้ คือการได้เนรมิตคำศัพท์ต่างๆ ที่หลายครั้งก็กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างมีนัยสำคัญ
เจไดยุทธเผยว่า นอกจากจะต้องแปลความหมายแล้ว ผู้แปลจะต้องพิจารณาถึงบริบทตัวละครและประเภทของหนังด้วย หากอยากใช้คำศัพท์ที่ร่วมสมัยก็ต้องขบคิดอย่างถี่ถ้วนว่า คำศัพท์หรือประโยคนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะยังเป็นที่รับรู้อยู่หรือไม่ ต้องแปลให้คนยุคนี้มองว่าทันสมัย และคนในอนาคตเข้าใจความหมาย แต่ในอีกมุมคือการใช้คำก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสามารถบันทึกประวัติศาสตร์ของภาษาได้ กลายเป็นภารกิจที่นักแปลต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความเข้าใจของคนยุคใหม่กับบทบาทในการบันทึกถ้อยคำในแต่ละยุค
“ล่าสุดที่แปล John Wick 4 คนก็ชอบที่เราเลือกใช้คำว่า ‘กัดหำ’ เราไม่คิดเลยนะว่าคนดูจะชอบ”
“ได้แรงบันดาลใจจากอะไร ทำไมเลือกแปลคำที่ตัวละครใช้สั่งสุนัขว่า ‘กัดหำ’” เราถามไปยิ้มไป
“เรารู้สึกว่า John Wick เป็นหนังแอ็กชั่นที่มีกลิ่นอายตลกร้าย มีความขบขำในการเล่าเรื่อง เพราะงั้นถ้าแปลตรงๆ ผู้ชมก็อาจจะไม่ได้รับสารที่ผู้สร้างตั้งใจสื่อ เราจึงต้องออกแบบคำที่น่าจะให้ทั้งความหมายและความรู้สึกอย่างที่ผู้สร้างตั้งใจ” นักแปลมากประสบการณ์ตอบ
อีก 2 คำจากการบัญญัติของเจไดยุทธที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ ‘สภาสูง’ ที่แปลมาจากการแปล ‘High Table’ และ ‘อัปเปหิ’ ซึ่งมีรากศัพท์คือ ‘Excommunicado’ โดยเฉพาะคำหลังนี้ ผู้แปลจงใจใช้คำจากภาษาบาลีที่เกี่ยวข้องกับแวดวงศาสนา เพื่อรักษากลิ่นอายของคำต้นฉบับที่หยิบยืมมาจากภาษาละติน ซึ่งนับเป็นความละเมียดละไมในการเลือกคำที่เอื้อให้ผู้ชมอินกับตัวหนังมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าตัวยังเล่าอีกว่าระยะเวลา 26 ปีในอาชีพคนแปลซับฯ เขาทุ่มเททำการบ้านเพื่องานแปลหลายร้อยชั่วโมง อาทิ หากต้องแปลหนังแนวต่อสู้ เขาก็จะกลับไปหาดูหนังเก่าๆ ของฉลอง ภักดีวิจิตร หรืออ่านนิยายกำลังภายใน แบบฝึกหัดเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ที่เหมาะสมกับหนังแต่ละประเภท เพราะหนังแต่ละแนวมีภาษาเฉพาะตัว การเสาะหาศัพท์ที่บอกเล่าตัวตนและบรรยากาศของหนัง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
นอกจากนี้เจไดยุทธยังเล่าด้วยว่า มีหลายครั้งที่เขาต้องใช้กลวิธี ‘Localization’ ในงานแปล คือพยายามแปลให้สอดคล้องกับรสนิยมและวัฒนธรรมของคนดูหนังชาวไทย อย่างในฉากที่ตัวละครพูดถึงนักร้องที่มีชื่อเสียงในอเมริกาของหนังตลกเรื่องหนึ่ง ถ้าคนดูไม่รู้จัก ความเฮฮาที่ควรจะเกิดขึ้นก็ไร้ผล ผู้แปลจึงต้องหาทางเปลี่ยนชื่อนักร้องที่ตัวละครพูดให้เป็นชื่อที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“มีครั้งหนึ่ง เราเลือกแปลชื่อนักร้องเป็น เบิร์ด—ธงไชย แมคอินไตย์ กับ ติ๊นา—คริสติน่า อากีล่าร์ แล้วก็มีคนส่งจดหมายมาถามว่า ทำไมไม่ใช้ชื่อที่ตัวละครพูด เปลี่ยนทำไม นั่นมันคือความยากของเราว่าจะเลือกแปลแบบไหน ควรปรับเพื่อให้คนส่วนมากเข้าใจ หรือยึดคำเดิมเพื่อความหมายที่ถูกต้อง”
เวลาและค่าตอบแทน
เพราะอาชีพคนแปลซับฯ เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและอาศัยการค้นคว้าค่อนข้างมาก เราจึงถามเจไดยุทธถึงระยะเวลาที่ได้รับในการทำงานให้หนังแต่ละเรื่อง
เขาตอบว่าโดยปกติมักจะขอเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ แต่ก็มีเรื่องที่บทพูดเยอะมากจนต้องใช้เวลาประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำจนทะลุ 3 สัปดาห์เช่นเดียวกัน
“ที่เร่งสุดคือทำเสร็จก่อนหนังฉาย 3 วัน ตอนดูรอบสื่อยังนั่งจ้องอยู่เลยว่ามีจุดไหนผิดอีกบ้าง พอเจอก็รีบบอกให้แล็บแก้อีกรอบ ก็เดือดร้อนคนที่แล็บพอสมควร แต่เราก็ทำเร็วที่สุดแล้ว”
สถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจกระทบต่อความช้าและความเร็วในการจัดทำคำบรรยาย คือการเปลี่ยนแปลงวันฉายหนังแบบปุบปับ ยิ่งถ้าเป็นการขยับหนังมาฉายเร็วกว่าที่แจ้งในทีแรก ผู้แปลก็ต้องรีบกระหน่ำแป้นพิมพ์เพื่อให้หนังฉายได้ทันตามกำหนดการใหม่ หรือหากเป็นกรณีที่หนังเลื่อนฉายออกไป ก็อาจส่งผลต่อแผนการทำงานระยะยาวที่นักแปลวางแผนไว้ก่อนแล้ว
“ถ้าจัดคิวดีๆ ก็น่าจะไม่มีปัญหา ก่อนรับงานเราต้องประเมินให้ดีว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน พอวางแผนและรับงานมาแล้วก็ต้องไม่รับงานอื่นซ้อน ไม่งั้นก็อาจจะทำได้ไม่ดีสักเรื่อง”
เมื่อถามถึงค่าตอบแทน เจไดยุทธอธิบายสั้นๆ ว่าส่วนมากจะเป็นราคาแบบเหมาจ่ายต่อเรื่อง ซึ่งตัวเขาเองได้รับในเรตที่น่าพอใจ ไม่ถึงกับมากมาย แต่ก็อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ทว่าก็มีบ้างที่ผู้จ้างให้ราคาในเรตต่อนาที แต่วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย
“พอเป็นเรตเหมา เรื่องไหนพูดเยอะก็มีบ้างที่รู้สึกอยากได้ตังค์เยอะกว่านี้ แต่ถ้าเรื่องไหนพูดน้อยก็จะรู้สึกโชคดีหน่อย” นักแปลเล่ายิ้มๆ
หน้าที่วิจารณ์เป็นของผู้ชม
“ล่าสุด ใน Past Lives เราก็แปลผิด”
เจไดยุทธเกริ่นถึงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในคำบรรยายของหนัง ซึ่งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- การสะกดผิด
- การตีความ Tense ผิด
- การใช้สรรพนามไม่ตรงกับผู้พูด
- การแปลคำผิดบริบท
- การแปลประโยคผิดความหมาย
- ฯลฯ
“ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตให้หาข้อมูล เราเคยแปลหนังแนวพิศวาสฆาตกรรม ในหนังมีคำว่า ‘Vibrator’ เราเห็นปุ๊บก็แปลทันทีเลยว่า ‘เครื่องปั่นอาหาร’ คือเราเห็นตัวละครพูดว่า เมื่อคืนใช้เวลากับ Vibrator นานไปหน่อย ก็ต้องคิดว่าเธอทำอาหารสิ พอได้รู้ว่าจริงๆ มันคือเครื่องที่ผู้หญิงใช้ช่วยตัวเอง เราก็ขำมากๆ”
ในการแปลหนังแต่ละเรื่องมักจะมีคนอีกคนหนึ่งทำหน้าที่ตรวจทานการใช้ภาษา เป็นดั่ง Second Opinion หรือ Final Checker ที่คอยเช็กตัวสะกด คำแปล ไปจนถึงความเหมาะสมในการใช้คำ เพื่อให้ผลลัพธ์ของทุกประโยคมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด หรือทางที่ดีคือต้องไม่มีเลย
ถึงอย่างนั้น ข้อบกพร่องก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่ดี และเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะเคยเห็นคำแปลที่คลาดเคลื่อนมาบ้างอย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง ซึ่งตัวเจไดยุทธเองแสดงออกชัดเจนว่า ไม่ต้องการพูดถึงการทำงานของเพื่อนร่วมอาชีพ เพราะการชื่นชมและตำหนิไม่ใช่หน้าที่ของเขาแต่อย่างใด
“เราไม่อยากวิจารณ์งานคนอื่น เพราะตัวเองก็เคยแปลผิด เราว่าหน้าที่นี้ควรเป็นของผู้ชมมากกว่า แต่แน่นอนว่าเราก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ใส่ใจและทำการบ้านอย่างดีที่สุดในหนังทุกเรื่องที่เราแปลเสมอ”
เพราะนี่ไม่ใช่การแปลบทบรรยายหนัง บทความนี้จึงขอจบว่า ‘ให้สัมภาษณ์โดย เจไดยุทธ’