ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย
ถึงจะถูกสร้างมาแล้วกี่เวอร์ชั่นก็ยังกลับมาได้อีก
ที่พูดถึงนี้ก็คือ ซอมบี้ ที่เดินทางมาไกลจากวัฒนธรรมของหมอผีฮูดู (Hoodoo) แถบไฮติ เดินทางข้ามผ่านทวีปมายังอเมริกาจนกลายเป็นความเชื่อหมอผีวูดู (Louisiana Voodoo) ที่เชื่อว่าหมอผีในกลุ่มความเชื่อนี้สามารถสะกดคนให้สูญสิ้นตัวตนและโดนสะกดโดยสมบูรณ์
ก่อนที่ George A. Romero จะเอาแนวคิดสัตว์ประหลาดในร่างมนุษย์ มาพัฒนาเป็นซอมบี้ กินคนในภาพยนตร์ Night Of The Living Dead ที่ออกฉายในปี ค.ศ.1968 และภาพจำของซอมบี้แบบนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ติดตามคน เดินทางไปทั่วโลก โดนตีความไปหลายแบบ จนเหมือนเสน่ห์ของผีดิบคืนชีพบนจอภาพยนตร์น่าจะร่อยหรอลงไปแล้ว
แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ ภาพยนตร์ที่มีซอมบี้เป็นตัวละครเด่น แล้วสร้างความประทับใจ หรือทิ้งให้คนดูต้องตกตะกอนความคิดความรู้สึกได้อย่างต่อเนื่อง ก็คงต้องยกให้หนังจากประเทศเกาหลีใต้ ตัวอย่างเช่น Train To Busan ที่เอาองค์ประกอบซอมบี้วิ่งเร็ว มาผสมกับแนวคิด ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’ จนกลายเป็นเรื่องที่คนดูต้องลุ้นไปตลอดเรื่อง, Rampant หนังดราม่าในวังผสมจอมยุทธ์พลางตีกับซอมบี้ไปด้วย, The Odd Family: Zombie On Sale ที่เอาซอมบี้มากัดบำรุงความฟิตจนมีการใช้ซอมบี้หาเงิน ถึงจะเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายก็ตามที หรือ The Wailing หนังแนวสืบสวนลึกลับผสมเรื่องราวของซอมบี้กับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติมารวมกันในเรื่องเดียว
แล้วถ้าในช่วงปี ค.ศ.2020 ก็มีหนังอย่าง #Alive หนังซอมบี้ยึดเมือง แต่เลือกที่จะโฟกัสสองตัวละครที่ติดอยู่ในคอนโดของตัวเอง กับ Peninsula หนังซอมบี้ภาคต่อให้จักรวาล Train To Busan ที่จะเข้าฉายในไทยด้วย อะไรที่ทำให้ในช่วงที่หนังซอมบี้ยุคปัจจุบันของเกาหลีใต้น่าสนใจกว่าหนังซอมบี้ชาติอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ต้นกำเนิดอย่างอเมริกา เราจะลองหาเหตุกับผลในเรื่องนั้นกันครับ
ผลจากการผลักดันภาพยนตร์เกาหลีใต้จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ถ้าท่านได้ติดตามเส้นทางของภาพยนตร์ Parasite ที่เดินทางไปถึงเวทีรางวัลออสการ์ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของทางภาครัฐของเกาหลีใต้ที่สนับสนุน ทั้งในแง่กฎหมายที่มีการเปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์เกาหลีใต้จะต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เป็นเวลา 140 วัน หรือราว 40% ตลอดทั้งปี และมีกฎหมายส่วนอื่นๆ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านก้อนเงินลงทุนที่ชัดเจน
เมื่อรัฐบาลพยายามผลักดันชัดเจน ภาคเอกชนก็สามารถกระโดดไปโต้กระแสได้ง่ายขึ้น หรือบางทีก็สามารถเข้าไปเจรจากับภาครัฐในการปรับแก้กฎหมายบางประการที่อาจจะทำให้การถ่ายทำหนังยากลำบากมาก่อน ให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งขึ้น และเมื่อมีวันฉายแน่นอน บริษัททั้งเล็กทั้งใหญ่จึงสามารถปั้นหนังได้หลากสไตล์มากขึ้น ซึ่งการทำหนังที่หลากหลายนี้ก็เป็นการสนับสนุนให้ผู้ชมภาพยนตร์ มีโอกาสเลือกรับชมที่หลากหลายยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ชมมีรสนิยมที่หลากหลาย หรือถ้าพูดมากอีกแง่คือผู้ชมเรื่องมากขึ้น ซึ่งก็จะวนเวียนกลับไปให้คนทำหนังในประเทศต้องพัฒนาให้ทันคนดูโดยปริยายอีก
หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการที่เว็บของ Korean Film Council (สมาพันธ์ภาพยนตร์เกาหลี) มีข้อมูลภาษาอังกฤษและภาพของตัวภาพยนตร์มารวมกันให้ค้นหาได้ง่ายว่าตัวหนังโดยขั้นต้นเป็นอย่างไร ก็เป็นการเปิดช่องให้คนรู้จักภาพยนตร์เกาหลีใต้มากขึ้น
และเมื่อภาพยนตร์เกาหลีใต้มีศักยภาพมากพอ บริษัทเอกชนที่เห็นช่องทางเติบโต ทั้งในเชิงรายได้และในเชิงศิลป์ก็พร้อมจะจ่ายเงินทุนในการโปรโมตมากขึ้นตามด้วย อย่างในฝั่งของบริษัท CJ Entertainment ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ Parasite ก็ได้จ้างทีมงานโปรโมตในอเมริกาและให้ทีมผู้สร้างกับนักแสดงมีโอกาสออกสื่อในอเมริกา จนทำให้คนดูแดนอเมริกา (หรืออย่างน้อย ก็ไปถึงคนดูที่มีสิทธิ์ลงคะแนนให้รางวัลออสการ์) กล้าที่จะเดินเข้าไปรับชมภาพยนตร์ดังกล่าว พอหนังได้รางวัลระดับนานาชาติก็จะทำให้ชาติอื่นๆ กล้านำเอาหนังเกาหลีใต้ ที่มีหนังซอมบี้อยู่ในกลุ่มนั้นไปฉายเป็นการต่อไป
วกกลับมาที่ภาพยนตร์ซอมบี้จากทางเกาหลีใต้ หลายเรื่องเองก็ได้รับการดูแลในเชิงนี้เช่นกัน แม้ว่าตัวภาพยนตร์ซอมบี้ อาจจะไม่ได้คว้ารางวัลออสการ์ แต่เมื่อผู้คนนอกประเทศเกาหลีใต้คุ้นเคยกับความเฉพาะของหนังจากเกาหลีใต้มากขึ้น ภาพยนตร์ซอมบี้เกาหลีใต้เลยไม่ใช่แขกแปลกหน้าสำหรับคนดูหนัง และกลายเป็นว่าผู้คนหลายประเทศสนใจในการตีความภาพยนตร์ซอมบี้จากแดนกิมจิมากขึ้นไปโดยปริยาย
ในทางกลับกัน ภาพยนตร์ซอมบี้อย่าง #Alive ก็มีที่มาที่ไปจากการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้เข้มแข็งมากพอ จนมีผู้เขียนบทในฮอลลีวูดที่มีจำนวนไม่น้อย เขียนบทมาเตะตาผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ จนใช้เป็นโครงเรื่องของภาพยนตร์ซอมบี้เกาหลีใต้ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2020
จึงปฏิเสธได้ยากว่า ส่วนหนึ่งที่หนังซอมบี้ กับหนังแนวอื่นๆ ของเกาหลีเตะตาคนดู มาจากการสนับสนุนของภาครัฐกับภาคเอกชนของเกาหลีใต้นั่นเอง
จังหวะการเล่าหนังแนวสยองขวัญ-เขย่าขวัญ ที่แดนกิมจิปรุงจนได้รสเด็ด
เคยสังเกตกันไหมครับว่า หนังที่มีกลิ่นอายสยองขวัญ ระทึกขวัญ ของทางเกาหลีใต้ มักจะมีรสชาติที่ชวนเย็นสันหลังอยู่ไม่เบา แถมความขนลุกหลายครั้งหลายคราวไม่ได้มาจากฉากชวนสะดุ้ง (jump scare) แต่อย่างใด และหนังซอมบี้ของเกาหลีใต้ก็มักจะทำอะไรให้คนดูแปลกใจ แม้ว่าจะมีโครงเรื่องที่ใกล้เคียงกับหนังที่เคยมีมาก่อนแล้วก็ตามที
เหตุที่ทำให้คนดูหนังเกาหลีใต้สะดุ้งกันมากกว่าปกตินั้น เราขอหยิบยกคำอธิบายมาจากยูทูปช่อง Screened ที่แบ่งประเด็นหลักเป็นสามประการก็คือ ความขัดแย้ง (conflict), ความห่างไกลจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (distance from the truth), ฉากจบกับผลที่ตามมาอันหลากหลาย (endings)
ความขัดแย้ง ส่วนนี้หลายท่านที่เคยรับชมภาพยนตร์เกาหลีใต้จะเห็นอยู่บ่อยครั้ง ที่ตัวหนังมักจะเริ่มต้นด้วยอะไรธรรมดาๆ ดราม่าบ้าง ตลกบ้าง ออกมาให้คนดูได้รู้จักก่อนที่จะเข้าเรื่องราวหลัก หรือไม่ก็แทรกฉากทำนองนี้ไว้ก่อนจะเข้าช่วงสำคัญ ซึ่งการทำแบบนี้ยิ่งส่งผลดีต่อหนังซอมบี้มากขึ้น เพราะคนดูหนังสยองขวัญส่วนใหญ่จะตั้งหลักไว้อยู่แล้วว่าหนังจะน่ากลัว การที่มีอะไรที่ขัดแย้งกับประเด็นหลักของหนัง ทำให้คนดูสบายใจขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อฉากสยองขวัญเกิดขึ้นจริง ซอมบี้เริ่มวิ่งมาขึ้นจริง ทำให้โมเมนต์ช่วงต้นหนังที่ดูชิล ดูอบอุ่น ดูดราม่า ขัดแย้ง กับตอนที่ผีดิบอาละวาด ไล่กัดทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก และนั่นทำให้คนดูหลายคนรู้สึกตั้งหลักไม่ทัน จนหนังสยองมากขึ้นจากที่คาดไว้
ความห่างไกลจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ส่วนนี้ไม่ได้หมายถึงว่า ‘หนังเล่าเรื่องเหนือจริงไม่ได้’ แต่เป็นการที่ตัวหนังตั้งใจจะไม่เล่าความจริงทั้งหมดของเรื่อง จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม หรือจะบอกว่าเป็นจุดหักมุมก็น่าจะไม่ผิดนัก ในส่วนนี้ภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องก็ใช้งาน แต่ภาพยนตร์เกาหลีใต้มักจะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้งานได้ผลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อรวมพลังกับ ‘ความขัดแย้ง’ ก่อนหน้านั้น ทำให้ความน่ากลัวของหนังเพิ่มมากขึ้น สำหรับในกรณีหนังซอมบี้เกาหลีใต้ เราขอยกตัวอย่าง Train To Busan ที่ให้ความหวังกับคนดูหลายต่อหลายครั้งว่า คนที่กลายเป็นซอมบี้น่าจะมีเฉพาะคนบนรถไฟสู่ปูซานเท่านั้นล่ะ แถมเราก็ลุ้นจนผู้รอดชีวิตมาถึงจุดที่น่าจะห่างไกลกับภัยพอสมควรแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะลืมไปว่า ตอนต้นเรื่องก็มีกวางซอมบี้ออกมาให้เห็น ดังนั้นการที่จะมีซอมบี้กระจายไปไกลกว่าที่คาดไม่น่าใช่เรื่องแปลกอะไร แต่เพราะคนดูโดนเบนประเด็นออกจากความจริงที่ควรจะเกิดขึ้นในเรื่อง เมื่อเราได้เห็นซอมบี้แห่แหนมาทำร้ายกลุ่มตัวละครหลักอีกจึงกลายเป็นอะไรที่ต้องเอามือจิกเก้าอี้กันแรงๆ ด้วยความลุ้นกันอีกครั้ง
ฉากจบกับผลที่ตามมาอันหลากหลาย ถ้าการใช้งานสองประเด็นแรกได้ผลอย่างยิ่ง สิ่งที่ช่วยทำให้คนดูภาพยนตร์เกาหลีใต้ โดยเฉพาะแนวสยองขวัญ ประทับตราตรึงลงไปในใจของคนดูไปอีกนาน ก็คือ ฉากจบที่มอบผลลัพธ์ที่หลากหลาย ส่วนนี้อาจจะต้องให้ผลประโยชน์ที่คนทำหนังคนทำซีรีส์เกาหลีใต้ เล่าเรื่องแบบเมโลดราม่า (melodrama) หรือเรื่องราวเร้าอารมณ์เหนือจริงกันอย่างคล่องแคล่ว ทำให้หลายครั้งฉากจบของหนังสยองขวัญ หรือหนังซอมบี้จากเกาหลีใต้ ทิ้งตะกอนอารมณ์ไว้มากกว่าก้อนเดียวให้คนดู ตัวอย่างเช่น Train To Busan ที่คนดูไม่ได้ยินดีกับการรอดตายกับตัวละครหลักของเรื่อง แต่ยังต้องระลึกถึงการเสียสละของตัวละครหลักอีกกลุ่มหนึ่งไว้ หรือ The Wailing ที่เหมือนจะปูหนังมาว่าน่าจะหาทางรักษาคนที่กลายเป็นผีดิบได้แล้วกลับมีตัวร้ายที่เหนือกว่าเพิ่มเข้ามา ทำให้เกิดสภาพ ‘หนังจบแต่คนดูไม่จบ’ ได้อย่างดี แล้วความไม่จบของคนดูนี่ล่ะที่อาจจะทำหนังมีความน่ากลัวเพิ่มมากขึ้นกว่าตัวบทที่ฉายในจอภาพยนตร์
ปัจจัยข้างต้นทั้งสามประการนี้ยังสามารถนำไปเขย่าผสมข้ามพันธุ์ได้อีกต่างหาก อย่างเช่นหนังตลกที่ซอมบี้เป็นตัวละครเด่นอย่าง The Odd Family: Zombie On Sale สามารถเล่าประเด็นที่โปกฮาเหนือจริงในเนื้อหาส่วนใหญ่ของเรื่องได้ แต่เมื่อหนังสลับเกียร์เข้าสู่โหมดลุ้นระทึกปนสยอง ตัวหนังก็ใช้หลักการสามประเด็นทำให้อะดรีนาลีนของคนดูพุ่งพล่านมากกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ต้องมีบ้างที่การผสมสูตรทั้งสามในหนังซอมบี้อาจจะไม่ลงตัว จนทำให้หนังจืดชืดลงไปจากหนังที่รสชาติดี แต่ก็เชื่อได้ว่าการปรุงรสชาติแบบนี้จะอยู่กับหนังซอมบี้เกาหลีใต้ไปอีกระยะแน่นอน
ยังคงแฝงนัยยะให้กับหนังซอมบี้เสมอ
ส่วนนี้คงต้องไล่เรียงกันก่อนว่า นับตั้งแต่วันที่ George A. Romero พัฒนา ‘ภาพยนตร์ซอมบี้ยุคโมเดิร์น’ ขึ้นมา เรื่องราวในภาพยนตร์มักจะเป็นการวิพากษ์สังคมทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดผิว หรือการแบ่งชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน เพียงแค่ในช่วงหลังๆ หนังซอมบี้ที่มาจากฟากฝั่งของฮอลลีวูดมักจะถูกใช้งานเป็นแค่สัตว์ประหลาดที่มีแค่สัญชาตญาณกัดกินแทน
แต่การไม่มีนัยยะทางการเมือง หรือทางสังคมเลยนั้น เป็นไปได้ยากนิ่งสำหรับประเทศเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คนทำหนังต้องคิดมากขึ้นในการจะพัฒนาหนังสักเรื่องตามที่เรากล่าวไว้ข้างต้น อีกส่วนมาจากวัฒนธรรมของเกาหลีใต้เองที่เคยติดอยู่ในบ่วงเผด็จการทหารมากว่าสี่สิบปี ทำให้ความคิดหวาดกลัวต่อภาวะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่เป็นอิสระ เป็นอะไรที่แฝงอยู่ในผู้คนที่เกิดทันภาพเหล่านั้น รวมถึงคนรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในระบบการปกครองที่เปิดกว้างให้ส่งคำร้องไปยังทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ และเมื่อมีคนร่วมลงชื่อในเรื่องดังกล่าวเกิน 200,000 คนในหนึ่งเดือน ทางรัฐต้องรับเรื่องเหล่านั้นไปพิจารณา
จากแก่นของสังคมข้างต้น จึงทำให้หนังซอมบี้เกาหลีใต้จะมีการวิพากษ์เรื่องใดๆ อยู่ทุกเรื่อง ไม่ว่าทางผู้สร้างหนังจะตั้งใจใส่ไปแบบชัดๆ หรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจแต่เรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สังคมมวลรวมกำลังพูดถึงอยู่แล้ว ผสมรวมกับการที่มีโรคระบาดเคยแพร่กระจายอย่างรุนแรงในเกาหลีใต้ ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้คุ้นเคยกับการที่หน่วยงานรัฐควรจะรับมือเรื่องโรคภัยให้ทันท่วงที (เหมือนกรณีของไวรัส COVID-19 ที่เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในชาติที่รับมือทั้งการระบาดระลอกแรกและการระบาดระลอกหลังได้ค่อนข้างดี)
ความคุ้นเคยต่างๆ นานานี้เองที่ส่งผลต่อหนังซอมบี้เกาหลีใต้แบบเห็นภาพได้ชัด เราจะได้เห็นว่าตัวละครในหนังซอมบี้เกาหลี มักจะมีหลายตัว หลายมุมมอง อย่าง Train To Busan เราจะได้เห็นตัวละครที่หลากหลาย อย่างเช่น ซอกอู ตัวละครหลักที่ทุ่มชีวิตให้งานแบบที่สังคมเกาหลีใต้อาจจะชื่นชม แต่การกระทำของเขาเกือบทำให้ลูกสาวเสียชีวิตหลายต่อหลายรอบ, คนไร้บ้านที่รอดตายมาในรถไฟ ซึ่งเป็นการวิพากษ์สังคมเกาหลีใต้ที่มักจะมองข้ามปัญหายิบย่อยและดูถูกคนไร้เงิน, ไปจนถึงคู่รักวัยรุ่นกับคนชราที่มีคนตีความนัยยะว่า เวลาเจอคนมีอำนาจกับเงิน คนเหล่านี้ก็โดนทิ้งขว้างโดยง่าย
หรือใน Rampant ที่ตัวร้ายของเรื่องหมายจะใช้ซอมบี้จากชาวต่างชาติเป็นอุปกรณ์ทางการเมืองเพื่อชูอำนาจให้ตัวเองขึ้นเป็นใหญ่ ที่มีการตีความว่า ชนชั้นปกครองที่มีกำลังทหารในมือมักจะเอาชาวต่างชาติมาหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง กับการส่งท้ายที่บ่งบอกโต้งๆ ว่า การส่งอำนาจให้ประชาชนเป็นทางรอดของประเทศ
และด้วยการตั้งใจอยากจะแฝงนัยยะใดๆ ไว้สักอย่าง เมื่อเอาไปผสมกับจังหวะการเล่าเรื่องที่เรากล่าวไว้ก่อนหน้า เลยทำให้คนดูไม่ค่อยได้เห็นตัวละครในหนังซอมบี้เกาหลีที่ส่งสัญญาณว่าเป็นอมตะชัดเจน ที่อย่างน้อยก็ทำให้คนดูต้องนั่งลุ้นกับหนังตรงหน้าจนจบเรื่อง ซึ่งพอมาเทียบเคียงกับหนังซอมบี้หลายชาติที่เน้นให้ซอมบี้มากัดอย่างเดียวกับพระเอกสกิลขั้นเทพ ก็เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าทำไมมิติของหนังซอมบี้จากเกาหลีใต้จึงดู ‘มีอะไร’ มากกว่าไปโดยปริยาย
เราคิดว่าส่วนที่ทำให้หนังซอมบี้จากเกาหลีใต้มีความโดดเด่นขึ้นมาก็เพราะเหตุผลขั้นต้นมาจากเรื่องราวที่พูดถึงไปในบทความนี้ และเชื่อว่าคนทำหนังไม่ว่าจะจากเกาหลีใต้หรือประเทศอื่นๆ ก็ยังพร้อมจะนำเอาซอมบี้มาบอกเล่าในมุมที่สนุกๆ กันอีกในอนาคตด้วย และตอนนั้นการปรุงรสหนังซอมบี้ก็อาจจะมีอะไรซับซ้อนมากขึ้นกว่านี้อีกหลายขั้นด้วยครับ
อ้างอิงข้อมูลชจาก
Macquarie University: The new zombie apocalypse and social crisis in South Korean cinema