ตราบใดที่เรายังดูละครรีเมคได้อยู่ หรือละครเก่าๆ ที่ทางช่องเอามาฉายซ้ำวนไป หาค่าโฆษณาเยียวยาช่วงเศรษฐกิจไม่ดี หนังและหนังสือการ์ตูนแนวซอมบี้ก็ยังคงขวัญผวา ชวนให้ตื่นเต้นลุ้นระทึกได้อยู่เสมอ ไม่มีวันคิดว่ามันจะน่าเบื่อแต่อย่างใด หรือถ้าเราสามารถชินชากับการแก้ไขปัญหารัฐบาลแบบลูบหน้าปะจมูกวันต่อวันมาเกือบ 10 ปี เคยมีประสบการณ์โดนสลิ่มด่าบ่อยๆ ซอมบี้หรือซากศพไร้สมองแต่เดินได้ บ้าคลั่งได้ ทำร้ายเราได้ ก็ยังอยู่คู่แผ่นดินนี้ คงอยู่ร่วมกับเราไม่ได้ไปไหน สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยแต่จะหนีเท่าไรก็หนีไม่พ้น
ซอมบี้ผีดิบสัมพันธ์กับทั้งวัฒนธรรมและการเมืองทั้งการเมืองเชิงอัตลักษณ์และการเมืองภาครัฐ ครั้งหนึ่งซอมบี้คือสภาวะทาสรับใช้ที่ไม่ถูกให้ค่าว่าเป็นมนุษย์ เป็นแต่แรงงานที่ไร้สมองและจิตวิญญาณ ผอมโซอิดโรยและไร้คุณค่าความเป็นคน และซอมบี้ก็ยังเป็นตัวแทนคนชนบทผิวดำที่เป็นภัยและเป็นอื่น กลายเป็นความน่าหวาดกลัวของชาวคริสเตียนผิวขาวเจ้าอาณานิคม ก่อนสำนึกนี้จะเข้าสู่วัฒนธรรมอเมริกัน ขณะเดียวกันฝูงซอมบี้ยังถูกอุปมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ถูกฝังหัวบางอย่างที่ไม่เพียงไร้ความคิดของตัวเอง แต่ยังไร้ความสามารถในการควบคุมสติสัมปชัญญะ และพร้อมจะใช้ความรุนแรงอย่างบ้าคลั่งกับคนอื่นที่คิดต่างจากเขา ซอมบี้กลุ่มหลังจึงต่างจากขนบซอมบี้ยุคเก่าที่เดินตุปัดตุเป๋โซซัดโซเซหิวโซเข้าหาเรา แต่กลุ่มหลังนี้เป็นหมู่คณะพุ่งเข้าชาร์จอย่างเกรี้ยวกราดและกระหายเลือด
ซอมบี้ผีดิบกลายเป็นที่สนใจมากขึ้นในวัฒนธรรมอเมริกันในต้นศตวรรษที่ 20 ภาพยนตร์ซอมบี้เริ่มปรากฏในช่วงทศวรรษ 1930 – 1940 อย่างเรื่อง ‘White Zombie’ กับ ‘I Walked With the Zombie’ กระทั่งในทศวรรษ 1960 ได้เกิดการปฏิวัติหนังซอมบี้และสร้างต้นแบบใหม่ให้กับซอมบี้ให้แพร่หลายในวัฒนธรรมสมัยนิยมในนาม ‘Living Dead’ ที่จินตนาการถึงบริบทการดำรงอยู่เพื่อเอาตัวรอดในกลียุคที่รัฐและอารยธรรมของมนุษยชาติล่มสลาย มนุษย์จะต้องพยายามเอาตัวรอดจากมวลมหาประชาซอมบี้ที่ไล่ล่า และมีลักษณะของการแพร่ไวรัส ครั้นเมื่อถูกซอมบี้กัดแล้วก็จะต้องกลายเป็นซอมบี้ตามไปด้วย
ทศวรรษ 1950 ตัวละครหญิงในหนังสยองขวัญมักถูกขับเน้นภาพลักษณ์
ให้เป็นหญิงสาวพรหมจรรย์ผู้ทุกข์ยากเคราะห์ร้าย
ที่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชาย เธอก็จะฉิบหายขายตัว ซึ่งตรงข้ามกับโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเธอทำมาหากินเอง อยู่ในตลาดแรงงานสร้างรายได้ เรียนมหาวิทยาลัย อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน และสามารถคุมกำเนิดด้วยการตัดสินใจของตัวเธอเอง หนังประเภทนี้จึงพยายามเสนอว่า บ้านคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเธอ เพื่อที่หนังจะผลักไสให้ผู้หญิงกลับเข้าไปอยู่กับบ้านและครอบครัว พึ่งพาผู้ชายอย่างแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
หนังเหล่านี้พยายามกล่อมเกลาผู้ชมหญิงให้เลือกระหว่างจะเป็น ‘หญิงดี’ ที่อ่อนน้อมเชื่อฟังอยู่ในขนบดั้งเดิม หรือ ‘หญิงเลว’ ที่ก้าวร้าวสำส่อน ทั้งๆ ที่อันที่จริงพวกเธอแค่ตั้งคำถามท้าทายอำนาจชายเป็นใหญ่ และมีอำนาจในการตัดสินใจเนื้อตัวร่างกายและเพศวิถีของเธอเองเท่านั้น และแน่นอนในตอนจบ ‘หญิงเลว’ มักถูกลงโทษทางสังคมอย่างไม่ปราณีปราศรัยไม่ว่าจะด้วยผีดิบ ฆาตรกรโรคจิต หรืออมนุษย์ ตัวละครซอมบี้กึ่งผีกึ่งคนเหล่านี้ในหนังสยองขวัญจึงมีคุณูปการอย่างมากต่อระบอบชายเป็นใหญ่ในการควบคุมกำกับสอนใจหญิง
เมื่อหนังสยองขวัญสั่นประสาทได้รับอิทธิพลสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ผู้หญิงก็ได้เป็นฮีโร่บ้างในการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แต่นั่นก็เป็นการสวมบทบาทแบบตัวละครพระเอกของตัวละครหญิงมากกว่าจะเป็นตัวของเธอเองหรืออยู่ในร่องในรอยขนบสังคม ขณะเดียวกันก็เริ่มมี ‘หญิงเลว’ ที่เอาตัวรอดจนจบเรื่องได้ แต่ก็นั่นแหละ หลายเรื่องพวกเธอก็ตายไปกันเยอะ
ในหนังซอมบี้ พวกเธอเริ่มบู๊มากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับหนังซอมบี้ที่ไม่ใช่หนังสยองขวัญชวนผวาอย่างเดียวอีกต่อไป ซอมบี้ถูกขายในหนัง action หนัง comedy อีกเช่นกัน เช่น Resident Evil, Planet Terror, Pride and Prejudice and Zombies ที่เป็นการปราบปรามฝูงผีดิบในวันจวนจะสิ้นโลก ก่อนที่พวกเธอจะกลับสู่โลกเดิม ซึ่งนั่นก็คือโลกปิตาธิปไตยอยู่ดี
อย่างไรก็ดี หนังซอมบี้ก็ได้ถูกตีความให้สภาวะผีดิบเท่ากับการสร้างอำนาจให้กับผู้หญิงอย่าง ‘Life After Beth’ การตายแล้วฟื้นขึ้นมาเป็นผีดิบช่วยเปลี่ยนหญิงสาวน่ารักน่าทะนุถนอมอย่างที่ผู้ชายปรารถนา ให้มีพละกำลังวังชา หรือ ‘iZombie’ ที่เล่าถึงหญิงเก่งนักศึกษาแพทย์สาว ทว่ากลายเป็นซอมบี้ต้องคอยกินสมองมนุษย์และได้รับความทรงจำต่างๆ จากสมองที่เธอกิน จนสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจชายในการสืบคดีฆาตรกรรม
ขณะเดียวกันก็มีหนังบางเรื่องที่ใช้ภาวะซอมบี้
ในการต่อสู้แก้แค้นกับ toxic masculinity
เช่น ‘Zombie Strippers’ ที่นักระบำเปลื้องผ้าสาวยอมเป็นซอมบี้ดีกว่าเป็นมนุษย์แล้วถูกผู้ชายกดขี่ข่มขืนทำร้าย การที่เธอกลายเป็นปอบกินผู้ชายถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของอุตสาหกรรมเซ็กซ์แบบชายเป็นใหญ่นี้ได้ เมื่อผู้ชายเข้ามาเพื่อจะกินตับเธอ เธอก็กินพวกผู้ชายคืนบ้างเช่นกัน
เช่นเดียวกับหนังอินดี้เรื่อง ‘Deadgirl’ ที่เล่าเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นชายวัยคะนองเป็นชู้กับผีด้วยการรุมข่มขืนร่างของซอมบี้สาวสวยหุ่นดี ที่ถูกกักขังไว้ในชั้นใต้ดินของโรงพยาบาลบำบัดจิตร้าง สุดท้ายบรรดาเด็กหนุ่มที่ล่วงละเมิดทางเพศใช้ความรุนแรงกับเธอก็พลอยกลายเป็นซอมบี้ไปด้วย แต่กับเธอก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีพลังมากขึ้น จนสามารถจัดการกับเด็กหนุ่มเหล่านี้ได้ในที่สุด
ขณะที่หนังสยองขวัญหนังผีดิบก่อนหน้านั้นต้องการสอนหญิงไม่ให้ออกนอกขนบ หนังผีดิบกลุ่มหนึ่งกำลังจะสอนใจชายไม่ให้เป็น toxic masculinity เช่นทั้ง 2 เรื่องนี้ ไม่เพียงมีฉากซอมบี้สาวกัด ‘เจ้าโลก’ ขาด ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายปิตาธิปไตย แต่ยังนำไปสู่การนิยามให้เป็นหนังประเภท Zombie Feminism
เพราะในอีกมิติ หนังซอมบี้ได้ปลุกปลอบกลุ่มบุคคลที่ถูกทำให้บุคคลที่ ‘เป็นอื่น’ คนนอกคอก ผู้ที่ถูกตีตราว่าไม่ได้มีคุณค่าความเป็นคนได้ลุกขึ้นสู้กับอำนาจกดขี่ เช่นผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อข่มขืนได้กลับมาล้างแค้น เพราะการข่มขืนก็อาจมีความหมายเท่ากับการฆ่าให้ตายทั้งเป็น และซอมบี้ก็ฆ่าไม่ตายสักทีเช่นกัน
แม้จะช่วยปลดปล่อยเยียวยาได้ แต่นั้นก็เท่ากับว่าพวกเธอต้องแลกมาด้วยการกลายเป็นตัวประหลาด อมนุษย์ ยอมถูกทำร้าย ข่มขืนวนไปมา และก็ใช่ว่า feminist มีความหมายว่าต้องการแก้แค้นเกลียดผู้ชาย อยากเจื๋อนไอ้จ้อนเท่านั้น
Zombie Feminism จึงเป็นแนวคิดกระแสย่อยที่ไม่ค่อยน่าซื้อนัก ราวกับว่าผู้หญิงจะสร้างอำนาจต่อรองกับการกดขี่ของปิตาธิปไตย หรือจะได้แก้แค้นผู้ชายได้ก็ต่อเมื่อเธอเป็นผีห่าซาตาน จะรอดจากการตกเป็นเหยื่อผู้ชายได้ก็เมื่อเธอเป็นผีดิบ ราวกับว่าชีวิตผู้หญิงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก อยู่ระหว่างปอบครึ่งผีครึ่งคนเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ กับหญิงสาวสวยเชื่องๆและสยบยอมผู้ชาย ราวกับอยู่บนทางแพร่งให้เลือกว่า ถ้าไม่เป็นซอมบี้ ก็เป็นบาร์บี้แทน
อ่านเพิ่มเติม