ข่าวเศร้าในวงการบันเทิงยังมีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะฝั่งไทยหรือฝั่งเทศก็ตาม เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ก็มีข่าวเศร้าอีกข่าว กับการจากไปของ George A. Romero ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังที่หลายคนน่าจะรู้จักในฐานะ ‘เจ้าพ่อหนังซอมบี้’ ผู้สร้างหนัง Night of the Living Dead และ หนังชุด “…of the Dead”
หลายท่านอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้กำกับชื่อดังคนนี้ถือว่าเป็น ‘บิดาของภาพยนตร์ซอมบี้ยุคโมเดิร์น’ แต่ใช่ว่าผู้กำกับท่านนี้จะวนเวียนอยู่แค่หนังซอมบี้ของตัวเองเท่านั้น ยังมีหนังอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตของ Romero รวมถึงชวนให้คิดว่าถ้าผู้กำกับคนนี้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว หนังเรื่องนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร
The Tales of Hoffmann จุดประกายให้เข้าวงการภาพยนตร์
George A. Romero เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า หนังที่เป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากสร้างหนังของตัวเองก็คือ หนังของทีมผู้สร้างหนัง The Archers (Michael Powell กับ Emeric Pressburger) ที่ถูกฉายในปี 1951 ซึ่งเป็นการนำเอาการแสดงโอเปร่ามาดัดแปลงเป็นหนังสไตล์แฟนตาซี เนื้อหาฉบับหนังโรงเกี่ยวกับฮอฟแมนที่เล่าเรื่องของผู้หญิงสามเรื่อง เพื่อสะท้อนมุมมองความรักของเขา
ผู้กำกับผู้ล่วงลับเคยพูดติดตลกว่า คนจะบอกว่า “อะไรนะ” เวลาที่เขาตอบว่าหนังเรื่องนี้ “เป็นหนังที่เขาชอบที่สุดตลอดกาล และเป็นเรื่องที่ทำให้ผมอยากทำหนัง” ส่วนเหตุผลที่เขาชอบก็เพราะตัวหนัง The Tales of Hoffman ใช้ทุนสร้างต่ำมากแล้วใช้เอฟเฟ็กต์แบบไม่เก็บงานมากนัก แต่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างดี ซึ่งเหมือนเรื่องราวเหล่านี้จะส่งผลต่อการทำงานของ Romero ไปตลอดชีวิตการทำงาน
Night of the Living Dead (1968) กำกับหนังครั้งแรกก็เปลี่ยนซอมบี้ที่โลกรู้จักไปโดยสิ้นเชิง
The MATTER เคยย้อนวิวัฒนาการของซอมบี้ในสื่อบันเทิงมาแล้วครั้งหนึ่ง อย่างที่เราเคยบอกเล่าไปว่า George A. Remero ได้นำเอาแรงบันดาลใจจากนิยาย I am Legend มาตีความ ‘ซอมบี้’ ที่เริ่มเป็นที่นิยมในฝั่งฮอลลีวูด ให้กลายเป็นศพคืนชีพที่น่ากลัวแทนที่จะเป็นคนโดนมนต์สะกดจิต
การกำกับ การถ่ายทำ และการตัดต่อ ของ Romero ทำให้สไตล์ของหนังซอมบี้อินดี้ ณ เวลานั้น สร้างความน่ากลัวและกดดันได้ดี แม้ว่าจะถูกถ่ายทำในแบบขาวดำ อีกส่วนหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ได้รับการชื่นชมอยู่เสมอ คือการที่ตัวหนังเลือกที่จะให้ตัวพระเอกเป็นดาราชายผิวดำที่มีมาดเยือกเย็นและฉลาด ต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น ที่มักจะให้ดาราเชื้อสายแอฟริกัน เป็นตัวประกอบโง่ๆ ทื่อๆ เรื่องนี้ได้ส่งผลให้หนังซอมบี้กลายเป็นหนังสะท้อนสังคมมากยิ่งขึ้น
Romero ออกมาสัมภาษณ์ในภายหลังหลายครั้งว่า ถึงเขาจะตั้งใจร่วมเขียนบทให้หนังเรื่องนี้แฝงข้อความของชนชั้นที่ต่างกัน แต่ตัวเอกในเรื่องแรกนี้เขาเขียนบทเป็นแค่ ตัวละครชายผิวขาว แต่พอดีว่านักแสดงที่เก่งที่สุดใกล้ๆ ตัวของผู้กำกับ และสามารถผ่านการคัดเลือกก็คือ Duane Jones ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ดังนั้นข้อความของหนังที่สะท้อนภาพของสังคมทับไปอีกชั้นหนึ่งนั้นจึงเป็น ‘อุบัติเหตุที่ดี’ และในทางกลับกันก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องหลังๆ ของ Romero มีตัวละครหลากหลายแบบมากขึ้นไปโดยปริยาย
Dawn of the Dead (1978) รุ่งอรุณแห่งคนตาย กับเรื่องมากมายที่ตามมา
หลังจากหนังเรื่องแรกประสบความสำเร็จ Romero ก็ข้ามไปทำหนังแนวอื่นบ้าง ทั้งแนวโรแมนติกเรื่องเดียวในชีวิต There’s Always Vanilla (1971), แนวทริลเลอร์ไซไฟ The Crazies (1973), และการตีความแวมไพร์ให้แหวกไปจากเดิมใน Martin (1978) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องหลังเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของ George Romero กับ Tom Savini นักแสดงและ เมคอัพอาร์ตติสต์ (Make-Up Artist) ที่รับผิดชอบการออกแบบและแต่งหน้าตัวละครชื่อดังอย่าง เจสัน
ไอเดียของการสร้างหนังซอมบี้ภาคต่อมาจากการที่บริษัทที่ดูแล Monroeville Mall พาผู้กำกับคนดังนี้ไปเดินชมห้างรวมถึงพาไปลัดเลาะพื้่นที่เฉพาะสำหรับพนักงาน ก่อนจะพูดติดตลกกันว่าถ้ามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นก็คงจะเอาตัวรอดได้ถ้าอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แบบนี้ และนั่นก็กลายเป็นไอเดียสำหรับบทหนังขั้นต้นไป
Tom Savini ที่เคยทำงานร่วมกันในหนังเรื่อง Martin ก็ได้มาปล่อยของแบบสุดๆ ทั้งการดีไซน์ซอมบี้ให้หลายหลาย อย่าง ซอมบี้โดนปังตอปักหัว ซอมบี้พยาบาล ฯลฯ รวมถึงฉากรุนแรงอีกหลายฉากที่ทำให้ภาพยนตร์ได้รับเรต X จากหน่วยงาน MPAA (หน่วยงานการจัดเรตหนังของอเมริกา) แต่ทาง Romero ก็ตัดสินใจเอาหนังเรื่องนี้เข้าฉายแบบไม่จัดเรต แม้ว่าจะเสี่ยงกับการที่โรงภาพยนตร์ในอเมริกาหลายโรงอาจจะไม่ยอมให้ฉาย แต่ในฐานะคนทำหนังอินดี้ (ใช่ครับ หนังเรื่องนี้ก็ยังเป็นหนังอินดี้) เขาจึงยอมเสี่ยง และความเสี่ยงนั้นก็ผลิดอกออกมาสวยงามเมื่อหนังเรื่องนี้ทำรายได้สูงถึง 55 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้างเพียงแค่ 1.5 ล้าน เหรียญ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้ George A. Romero อย่างมาก
ถึงอย่างนั้นความดังก็ก่อปัญหาขึ้นเล็กน้อยด้วยความที่ว่าหนัง Night of the Living Dead นั้นเป็นการนำบทจากนิยายของ John A. Russo มาดัดแปลง (ซึ่งเจ้าตัวก็ร่วมเล่นในหนังภาคแรกเป็นซอมบี้ที่ถูกแทงหัวตาย) และในเวลาต่อมา Russo ก็เขียนนิยายภาคต่อที่ใช้ชื่อว่า Return of the Living Dead ซึ่งมีคนซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนังต่อ ทำให้ซีรีส์หนังซอมบี้ถูกแยกเป็น “…of the Dead” ของ Romero และ “Living Dead” เป็นอีกซีรีส์หนึ่ง ซึ่งมีภาคต่อทั้งหมด 5 ภาค
John A. Russo ยังอำนวยการผลิตหนังอย่าง Night of the Living Dead: 30th Anniversary Edition ที่มีการใส่เพลงใหม่ถ่ายฉากเพิ่มเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของหนังเรื่องดัง ก่อนที่เขาสร้าง Children of the Living Dead ออกมาอีกหนึ่งภาค (ซึ่ง Tom Savini มารับบทเป็นตัวเอก) กระนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นดราม่าเท่าใดนักเพราะ Russo กับ Romero ค่อนข้างสนิทสนมกัน
จุดที่น่าจะดราม่าและวุ่นวายก็คงเป็นการฉายในต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ว่า Night of the Living Dead ไม่ได้ฉายในประเทศอื่นมากนัก จึงมีการเปลี่ยนชื่อ Dawn of the Dead เป็น Zombi/Zombie สำหรับการฉายในหลายๆ ประเทศ เพื่อให้เข้าใจง่าย เรื่องมันตามมาตอนที่หนังดังไปแล้ว ทางผู้ขายฝั่งอิตาลีที่พอจะมีคอนเนกชั่นการทำหนังอยู่บ้างจึงเอาบทร่างที่หมายจะให้ Romero กำกับมาสร้างใหม่เองแล้วตั้งชื่อเป็น Zombi 2 เนียนเป็นภาคต่อของ Zombi (หรือ Dawn of the Dead) แถมความวุ่นวายยังไม่จบเพราะ Zombi/Zombie เวลาไปฉายในประเทศอื่นก็จะโดนแปลงชื่อเป็นอีกเรื่องไป แบบในไทยก็เคยมีการใช้ชื่อ “ซอมบี้คนกัดคน” แล้วก็พ่วงเอาหนังเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกันมาทำเป็นภาคต่อ
ถึงเรื่องยุ่งอีรุงตุงนังจะตามมาเพียบแต่สุดท้ายเราก็บอกได้ว่า กระแสซอมบี้กินคนได้กระจายไปทั่วโลกอย่างสมบูรณ์ได้ด้วยหนัง Dawn of the Dead นี่เอง
Knight Rider (1982) – Monkey Shines (1988) โต้คลื่นบนค่ายหนังใหญ่
หลังจากปล่อยพลังจนกลายเป็นกระแสระดับโลกไปใน Dawn of the Dead แล้ว George A. Romero ก็ยังลองทำอะไรแปลกใหม่ Knight Rider (1982) หนังแนวกึ่งดราม่าเกี่ยวกับกลุ่มนักแสดงที่แต่งตัวเป็นนักรบยุคกลางแล้วดวลการแทงทวนบนมอเตอร์ไซค์แทนการขี่ม้า / Creepshow (1982) การทำหนังกับค่ายใหญ่และได้ร่วมงานกับนักเขียนนิยายสยองขวัญชื่อดังอย่าง Stephen King ซึ่งทั้งสองก็ได้เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกันและกัน
Day of the Dead (1985) ภาคที่ 3 ของหนังซอมบี้ยอดนิยมที่ภาคนี้นอกจากจะมีฉากรุนแรงอันน่าจดจำอย่างฉาก ‘ซอมบี้ฉีกร่างมนุษย์ขาดครึ่ง’ กับพล็อตเรื่องที่คุยเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นที่ไม่ใช่เรื่องระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังข้ามมาพูดถึงวิวัฒนาการของซอมบี้ กับความแตกต่างของมนุษย์กับซอมบี้มากขึ้น
และหนัง Monkey Shines (1988) ที่เล่าเรื่องของลิงที่ผ่านการทดลองจนเกิดความฉลาดล้ำมากพอจะรักและหวงมนุษย์จนยอมก่อเหตุสยองได้ แม้ว่าตัว George A. Romero จะไม่มีปัญหามากในการทำงานร่วมกับสัตว์ที่คนทำหนังหลายคนขยาด แต่การที่หนังโดนตัดต่อใหม่แถมยังเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากบทที่ตัว Romero เขียนเอาไว้ ความ ‘เผือก’ ของค่ายหนังนี้เองทำให้ผู้กำกับคนนี้พยายามไม่ร่วมงานกับค่ายหนังใหญ่อีกถ้าเป็นไปได้
เรื่องราวช่วงยุค 90 ของ George A. Romero
ถึงจะกลับไปทำหนังอิสระเป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้น George A. Romero ก็เป็นที่จดจำของวงการหนังไปเรียบร้อยแล้ว งานหลังจากนั้นของเขาจึงกลายเป็นงานร่วมมือกับมิตรสหายในวงการอย่าง Two Evil Eyes (1990) ที่กำกับหนังร่วมกับ Dario Argento ผู้กำกับหนังสยองขวัญชื่อดังจากอิตาลี / The Dark Half (1993) กับการกลับมากำกับหนังจากงานเขียนของ Stephen King อีกครั้ง และไปเป็นแขกรับเชิญในหนังหลายๆ เรื่อง อย่าง The Silence of the Lambs และในปี 1990 Romero ก็ส่งให้ Tom Savini ไปกำกับหนัง Night of ohe Living Dead ฉบับรีเมค แม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมเท่าต้นฉบับก็ตาม (ว่ากันว่าเพราะเปลี่ยนฉากจบไปพอตัว)
ในช่วงปลายยุค 90 เจ้าพ่อหนังซอมบี้ยังมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับค่ายหนังใหญ่ในการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ Resident Evil และก็อย่างที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้ว่า Romero ไม่ได้มีโอกาสกำกับหนังจากเกมดัง แต่ก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ทิศทางของหนังอาจเป็นแนวสยองขวัญเอาตัวรอดมากกว่าที่จะเป็นหนังบู๊ระห่ำของมิลลา โยโววิช แบบที่เราคุ้นเคยกันวันนี้
กลับมาอีกครั้งกับการสร้างหนังซีรีส์ “…of the Dead” ในยุค 2000
จังหวะที่หนังฮอลลีวูดกระแสหลักเริ่มตีบตันจนมีการรีเมคหนังเก่าจำนวนมาก Dawn of the Dead ในปี 2004 (ที่ปรับให้พี่ซอมบี้ของน้องๆ วิ่งเร็วแบบ 4 คูณ 100 แล้ว) Romero ก็กลับมาอีกครั้งกับ Land of the Dead (2005) ภาคนี้เหล่าซอมบี้มีทักษะมากขึ้น แต่พล็อตเรื่องยังขยี้ซ้ำเรื่องความต่างของชนชั้น แต่พลิกมาเป็นเรื่องคนรวยกับคนจนแทนที่จะเป็นเรื่องเชื้อชาติหลากหลาย และถือว่าเป็นหนังซอมบี้เรื่องแรกของ Romero ที่ผ่านการตรวจเรตติ้งจาก MPAA ด้วย
ในปี 2007 Romero ก็สร้างหนังซอมบี้ภาคใหม่ Diary of the Dead ที่นอกจากจะกลับมาทำหนังแบบหนังอินดี้อีกครั้ง ตัวหนังภาคนี้ก็ไม่ใช่ภาคต่อ แต่เป็นเรื่องราวข้างเคียงระหว่างที่เชื้อไวรัสซอมบี้ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งตัวละครในหนังใช้กล่องของตัวเองเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมา ก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ออกมาตามเทรนด์เป็นช่วงที่หนังฮอลลีวูดนิยมการเล่าเรื่องด้วยกล้องมือถือ (กับการส่ายไปมาของกล้อง)
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ George A. Romero กำกับก็คือ Survival of the Dead ที่ขยายความตัวละครใน Diary of the Dead มาเป็นเล่าเป็นหนังฉบับเต็ม แม้ว่ากระแสของนักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะไม่โอเคกับหนังเรื่องนี้ที่บทภาพยนตร์ไม่คมหรือเข้มข้นแบบภาคก่อน แต่แฟนหนังซอมบี้บางท่านบอกว่าเรื่องนี้กลับสนองแฟนๆ ได้ครบ ทั้งฉากตลกร้าย ฉากสยองขวัญ ยังอยู่อย่างครบถ้วน
ในยุค 2000 เขาก็ยังเป็นดารารับเชิญในหนังอีกหลายๆ เรื่องรวมถึงไปเป็นตัวละครระดับบอสของโหมดยิงซอมบี้ในเกม Call Of Duty : Black Ops สมกับฉายา ‘บิดาของภาพยนตร์ซอมบี้ยุคโมเดิร์น’
ถึงจะทำหนังศพคืนชีพแบบสยองขวัญมาตลอด แต่การทำหนังของ Romero ก็ส่งผลต่อวงการหนังอย่างมากทั้งยังทำให้คนทำหนังหลายๆ คนตัดสินใจเดินเข้าวงการจากการดูหนังของเขา แบบเดียวกับที่ตัว Romero เคยชื่นชมหนังเรื่อง The Tales of Hoffmann มาก่อน
ตามตำแถลงการณ์ของเพื่อนคู่คิดอย่าง Peter Grunwald ระบุว่า วาระสุดท้ายของ George A. Romero จบลงอย่างสงบระหว่างที่เขาฟังเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Quiet Man โดยที่มีภรรยาและสมาชิกครอบครัวคนอื่นอยู่เคียงข้าง และเราคงจะคิดถึงการทำงานของเขาผู้นี้ไปอีกนานต่อนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Time – 10 Questions for George Romero