วันหยุดทั้งที ถึงเวลาที่เราจะได้พักผ่อนจากการทำงานเหนื่อยๆ มาตลอดสัปดาห์ เอ๊ะ ซีรีส์เรื่องใหม่มาพอดี นั่งดูสักตอนสองตอนดีกว่า สุดท้ายที่ตั้งใจว่าจะพักก็กลายเป็นไม่ได้หลับได้นอน มัวแต่ติดดูซีรีส์ยาวยันเช้า เวลาเหมือนวาร์ปหายไปต่อหน้าต่อตาอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่มีระบบสตรีมมิ่ง เราก็แทบจะมีหนัง ซีรีส์ หรือสารคดีให้รับชมได้อย่างไม่จำกัด (จะกำจัดก็แค่เวลาที่เรามีเท่านั้น) เราเลือกได้เองว่าจะดูเวลาไหน จะดูอะไร ตัวเลือกของคนดูนี่เองที่ทำให้ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งหลายเจ้าแข่งขันกันผลิตคอนเทนต์ออกมาเรื่อยๆ พยายามเพิ่มความใหม่ให้กับคนดูอยู่ตลอด โดยเฉพาะตอนนี้ที่เจ้าใหญ่อย่าง Netflix กำลังร่วมมือกับผู้กำกับและนักแสดงในหลายประเทศ เพื่อนำเรื่องราวในภูมิภาคมาทำเป็นหนังหรือซีรีส์ให้คนทั้งโลกได้ดู และบ้านเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
แล้วเรื่องแบบไหนล่ะที่คนอื่นจะอินไปกับเรา The MATTER มีโอกาสได้ไปคุยกับ Erika North หัวหน้าฝ่าย International Original and Content จาก Netflix และเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้อำนวยการสร้าง ‘เคว้ง’ ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ออริจินัลของไทยเรื่องแรก ว่าเราจะทำเรื่องเล่าไทยให้เป็นสากลได้ยังไง มีวิธีหยุดตัวเองจาการดูซีรีส์มั้ย และซีรีส์เรื่องไหนที่อยากแนะนำ
ทำคอนเทนต์ไทยให้อินเตอร์
เล่าให้ฟังสำหรับใครที่ยังไม่รู้ ซีรีส์ออริจินัลเรื่องใหม่ที่บ้านเราทำกับ Netflix มีชื่อว่า ‘เคว้ง’ หรือ The Stranded เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ต้องลุกขึ้นเป็นผู้นำเพื่อช่วยเหลือตัวเองและเพื่อนที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิในหมู่เกาะทะเลอันดามันจากเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว
“พอเรานึกถึงประเทศไทยในแง่ของการเป็นคอนเทนต์ที่จะไปได้ทั่วโลก ไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยประเพณี ตำนาน และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แถมยังเป็นประเทศที่มีทิวทัศน์สวยๆ ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงป่า ในแง่ของการถ่ายทำและการเล่าเรื่อง ไทยเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยไอเดีย”
คือคำตอบของเอริก้า เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกมาทำซีรีส์ออริจินัลของไทย และถ้ากลัวว่าแฟนๆ Netflix ทั่วโลกจะไม่อินไปกับเรื่องราวที่มาจากคนไทย ตัวคุณเอกชัยที่เป็นผู้กำกับหนังเรื่อง Beautiful Boxer และคลุกคลีกับการทำหนังในระดับสากล พูดถึงการถ่ายทอดเรื่องราวเฉพาะของคนไทยให้คนอื่นเข้าใจว่า
“ผมคิดว่ามันเป็นคอนเทนต์ที่น่าจะมีความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ชัดเจน ไม่ต้องการว่ามีมวยไทย หรือรำไทยอะไรอย่างนี้นะครับ แต่คิดว่าไลฟ์สไตล์ เรื่องราวของคนไทย ซึ่งผมเรียกว่า locally specific คือมันมีความเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา หรือคนของเรา”
“แต่เราต้องหามุมให้มันเกิดความกังวานระดับโลก ซึ่งจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ emotion อย่าง Beautiful Boxer เรื่องแรกที่ผมเคยทำ เป็นเรื่องของผู้ชายที่ทำสิ่งที่เป็นผู้ชายที่สุดให้เป็นผู้หญิงด้วยการต่อยมวย ซึ่งมันไม่มีในต่างชาติหรือในหนังของโลก แต่เวลาผมนำเสนอในระดับอินเตอร์ ผมจะพยายามคิดว่า ผมกำลังนำเสนอเรื่องของคนที่กำลังพยายามทำตามความฝันของตัวเอง แม้คนทั้งโลกจะไม่เห็นด้วย”
นอกจากวิธีหามุมเล่าเรื่องในระดับอินเตอร์แล้ว เอกชัยยังแนะนำเทคนิคเพิ่มอีกว่า
“ผมคิดว่า ความที่ visual นำมันช่วยเราได้ อาจจะเพราะผมสายละครเวที เวลาทำละครเวทีผมจะพึ่งคำพูด เวลาเป็นหนังผมจะถามตัวเองว่า ผมเห็นอะไร แทนที่จะถามว่าผมได้ยินอะไร การที่ visual นำอาจจะทำให้มันไปในระดับอินเตอร์ได้ ครั้งหนึ่งผมเอา ‘อิน-จัน’ ไปเล่นที่เมืองจีน มันเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ผมทำอยู่ที่สิงคโปร์เลยนะ ผมพยายามคิดว่าถ้าเราฟังไม่รู้เรื่อง อ่านซับไม่ทัน เราจะดูรู้เรื่องไหม เป็นการทำให้มีความคมชัดของ body language ผมว่ามันคือตรงนี้มากกว่า”
ตอนนี้คนชอบดูคอนเทนต์แบบไหน
ด้วยความที่คนดูไม่เคยได้รับประสบการณ์การเข้าถึงหนังและซีรีส์ที่เลือกเองได้และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลามาก่อน เส้นแบ่งระหว่างหนังกับซีรีส์จึงค่อยๆ เลือนรางบนแพลตฟอร์มสตีมมิ่ง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ออริจินัลของไทยเรื่องแรกใน Netflix ถูกทำออกมาเป็นซีรีส์ยาวแทนที่จะเป็นหนัง และยังวางไว้แล้วว่าสามารถทำซีซั่นต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเอกชัยเสริมว่า
“สิ่งที่น่าสนใจของ Netflix คือ เค้าได้สร้าง general ใหม่อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า cinematic series คือมันเหมือนหนังยาวเหยียดเรื่องนึง แทนที่จะเป็นละครทีเดียว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ The Stranded จะเป็น คือมันเป็น cinematic series ที่คนดูต่อได้ ไม่มีโฆษณาเปิด เวลาเราคิดสคริปต์ เราไม่ได้คิดว่าตอนนี้จะตัดเบรก แต่เวลาเราคิดเรื่องโทรทัศน์เราจะคิดแบบนั้น และเราจะต้องย้อน flash back กลับไปให้ดู”
ทีนี้พอจะโกอินอินเตอร์ก็ต้องรู้เขารู้เรา การเข้าใจว่าตอนนี้คนดูเขาดูอะไรกันก็ถือว่าสำคัญ นอกจากจะเลือกว่าควรทำหนังหรือซีรีส์ดีกว่ากันแล้ว เนื้อเรื่องที่คนสนใจก็น่าจะช่วยบอกได้ว่าหนังจะออกมาในแนวไหน แอ็กชั่น สยองขวัญ ไซไฟ ซึ่งตรงนี้เอริก้าบอกว่า
“ถึงจะมองแค่ในไทยเราก็ยังไม่เห็นรูปแบบที่ชัดเจนอยู่ดี เราทำ Netflix บนฐานของผู้ชมทั่วโลก และมีการจัดกลุ่มรสนิยมเอาไว้ (cluster) เช่น กลุ่มรสนิยมของคุณที่เป็นคนไทยอาจจะไปคล้ายกับครอบครัวฉันที่อยู่ฟิลิปปินส์ก็ได้ และในขณะเดียวกัน กลุ่มรสนิยมของคุณก็อาจจะไม่เหมือนกับครอบครัวของคุณเลย ดังนั้นเทรนด์ภายในประเทศก็เหมือนกับทั้งโลก คนจะเลือกดูคอนเทนต์ที่พวกเขาอยากดูในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการ”
หยุดตัวเองจากการดูซีรีส์ได้ไหม ถ้าหยุดไม่ได้ มีเรื่องไหนที่แนะนำ
พฤติกรรมการรับชมเองก็ดูจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดหลังจากมีระบบสตรีมมิ่ง เทรนด์การนั่งดูซีรีส์แบบมาราธอน หรือ binge-watching ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ซีรีส์หลายเรื่องผู้ให้บริการเปลี่ยนมาใช้วิธีอัพโหลดให้เราได้ดูกันทั้งซีซั่น ไม่แยกปล่อยตอนๆ เป็นการให้อิสระคนดูที่จะตัดสินใจ (on-demand) เอาเอง ซึ่งนับว่าดีมากสำหรับใครที่ขี้เกียจรอ
“Netflix เป็นแพลตฟอร์มที่ขึ้นอยู่กับการเลือกของคนดู มันอยู่ที่ว่าคนดูจะใช้เวลาส่วนตัวของพวกเขายังไง”
เอริก้าอธิบายถึงแนวทางที่ Netflix ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนดูกว่า 140 ล้านคน จากทั้งหมด 190 ประเทศ ทีนี้เรื่องใหญ่ก็คือ ถ้าเราติดดูซีรีส์เรื่องนึงมากๆ ถึงอยากจะหยุดตัวเองก็หยุดไม่ได้ ตัวเอริก้ามีทางออกให้รึเปล่า เธอบอกว่า
“ไม่ค่ะ ขอโทษด้วย เพราะฉันก็ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามนั้นเหมือนกัน”
แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะคุณเอกชัยก็ดูจะมีคำตอบที่ช่วยให้คนดูอย่างเราๆ หนีจากวิกฤตนี้ได้ “จริงๆ ผมก็เป็นคนที่ติด binge-watching แต่ผมมีวิธีคือ เก็บตอนสุดท้ายไว้ดูในวันพิเศษ ไม่รู้อธิบายยังไง สมมติดู Stranger Things จะจบละ เหลือตอนสุดท้ายไม่ดู เก็บไว้เพื่อฉลองบางอย่าง สมมติว่าทำงานเสร็จจะมาดู หรือ The Crown ตอนนั้นนะ เก็บตอนสุดท้ายเอาไว้”
“เวลาคอนเทนต์ดีมันก็หยุดไม่ได้แหละ แต่ว่าเราก็ต้องนอนใช่มะ ผมใช้วิธีว่า ถ้าซีรีส์ดีมากๆ ผมจะเก็บเอาไว้ฉลอง เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวแล้วเก็บลูกชิ้นเอาไว้กินทีหลัง”
ไหนๆ ถ้าจะหยุดดูไม่ได้แล้ว เราก็ต้องไปให้สุด The MATTER เลยขอให้คุณเอกชัยแนะนำซีรีส์ที่คิดว่าอยากให้หลายคนได้ดู และเหตุผลที่ต้องไปลองเปิดดูสักตอนสองตอน
“ตอนนี้แนะนำ ‘Polar’ และ ‘The Sinner’ ทั้งสองซีซั่น แล้วก็แนะนำ ‘Animal Kingdom’ ซีรีส์อาจจะดูแมนๆ หน่อย Polar นี่ไม่รู้พวกคุณกล้าดูมั้ยนะ หนังเรื่องนี้ถ้าฉายในโรงจะไม่มีคนดูพอแน่ๆ คือผมคิดว่า Netflix เค้าพยายามหาของที่เราหาไม่ได้จากที่อื่น เราไปดูในโรงหนังก็จะได้อีกแบบนึง”
ในเมื่อระบบสตรีมมิ่งให้โอกาสคนดูได้เลือก ทีนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเลือกแล้วละว่าจะดูต่อ หรือนอนเอาแรงไว้ดูวันอื่นดี …อย่าลืมพักผ่อนกันด้วยนะ