งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 เพิ่งจบไปหมาดๆ ในครั้งนี้นอกจากนักแสดงและคนทำหนังที่คุ้นหน้าคุ้นชื่ออย่าง แกรี่ โอลด์แมน กับ กีเยร์โม เดล โทโร จะเป็นผู้คว้ารางวัลดารานำชาย และผู้กำกับยอดเยี่ยมไปหลังจากที่เราเห็นพวกเขาปล่อยของมาหลายต่อหลายปีแล้ว
ทางด้านความเคลื่อนไหวเชิงสังคมภายในงานครั้งนี้ ได้ชูประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของผู้คนที่หลากหลายทั้งทางเพศและเชื้อชาติ จนแซะไม่ได้แล้วล่ะว่าเป็นพื้นที่สำหรับคนชาติพันธ์ใดชาติพันธ์หนึ่งเท่านั้น แล้วมุกที่เล่นกันในงาน หลายๆ อันก็กระทบชิ่งแก้เกมให้กับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน
อีกเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจดีก็คือ การบุกมาของเหล่าผลงานที่ Netflix เป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้ร่วมสร้างได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงสามเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ภาพยนตร์สารคดี Icarus ที่เป็นเจ้าของรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในงานประกวดครั้งที่ 90 นี้ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ Mudbound ที่เข้าชิงอีกหลายรางวัลแม้จะกลับบ้านแบบมือเปล่าก็ตามที
ซึ่งนี่ไม่ใชครั้งแรกของผลงานที่ Netflix เกี่ยวข้องด้วยได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ น่าฉุกคิดอยู่ไม่เบาว่า พวกเขาขยับตัวมาจากไหนและมีผลอย่างไรบ้าง
เส้นทางของ Netflix จากร้านเช่า DVD สู่ผู้ผลิตสื่อที่ไปไกลจนได้รับรางวัลออสการ์
ก่อนจะมาเป็นผู้ให้บริการับชมรายการออนไลน์ที่คนติดกันงอมแงม ในยุคที่ E-Commerce เพิ่งเริ่มตั้งไข่เมื่อปี 1997 Neflix นั้นเป็นบริษัที่เปิดให้เช่า DVD ผ่านทางไปรษณีย์โดยกดสั่งผ่านหน้าเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของธุรกิจให้สอดคล้องกับความสะดวกของผู้บริโภค ก่อนที่จะกลายมาเป็นบริการยอดนิยมของอเมริกันชนเมื่อเปิดให้บริการสมัครสมาชิกรายเดือนที่สามารถเช่าแผ่นได้อย่างไม่จำกัดในปี 1999 และกระโดดข้ามมาเปิดให้บริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ที่มีคุณภาพความคมชัดสูงในช่วงปี 2007
ถึงจะได้รับความนิยมและเดินหน้าการตลาดก่อนยุคก่อนสมัยอยู่เป็นประจำ แต่การนำภาพยนตร์หรือซีรีส์มาให้เช่า หรือ ฉาย ก็ใช้เงินทุนค่าลิขสิทธิ์อยู่ไม่น้อย ในปี 2006 ทาง Netflix จึงเริ่มเปิดบริษัทย่อยของตนเองอย่าง Red Envelope Entertainment ที่ทำหน้าที่ร่วมลงทุนในการสร้างภาพยนตร์อินดี้และซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์จากนอกอเมริกา แต่บริษัทนี้ได้ปิดตัวไปในเวลาไม่นานนักเนื่องจากNetflix ยังไม่ต้องการทำธุรกิจทับซ้อนกับคู่ค้าทั้งหลาย
เวลาผ่านมาจนปี 2011-2012 การแข่งขันบริการออนไลน์สตรีมมิ่งเริ่มดุเดือดขึ้น Netflix จึง ‘กลับคำสาหล่า’ กลับมาซื้อสิทธิ์ขาดในการฉายแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับการลงทุนสร้างสื่อบันเทิงเพื่อฉายบนช่องทางตัวเองเพียงที่เดียว โดยเริ่มด้วยการเอาซีรีส์ Lilyhammer จากประเทศนอร์เวย์ มาฉายในปี 2012
ก่อนที่จะปล่อยซีรีส์อย่าง House of Cards ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2013 ซึ่งนี่เป็นซีรีส์ที่ทาง NetFlix ออกทุนสร้างและผลิตเพื่อฉายลงทาง Netflix โดยเฉพาะ โดยทั้งสองเรื่องถูกฉายแบบปล่อยทั้งซีซั่นออกมาพร้อมกันในครั้งเดียว ไม่ใช่เพียงทีละตอนอย่างที่เคยเป็นมาในฟากโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนสไตล์การเสพของผู้บริโภคไปในตัว
จากนั้น Netflix ก็มีซีรีส์ตัวเองออกมาอีกไม่น้อย อย่างเช่น Orange Is the New Black ที่ตอนนี้ก็ยังฉายให้ชมอยู่ รวมไปถึงเริ่มมีซีรีส์ไอเดียจัดๆ อย่าง Sense8 ออกมา แต่ในช่วงที่ Netflix พยายามตีตลาดทั่วโลก ก็เกิดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพราะซีรีส์ดังเหล่านี้ ทาง Netflix ถือลิขสิทธิ์เฉพาะแค่การฉายในอเมริกาเท่านั้น แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ก็มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์อีกหลายเจ้ารับผิดชอบอยู่ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก ทาง Netflix จึงซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างให้ฉายไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา
ไม่ใช่แค่ซีรีส์ฝั่งจอเล็กเท่านั้นที่ Netflix ร่วมลงทุน เพราะพวกเขาเริ่มลงทุนในการสร้าง หรือซื้อสิทธิ์ขาดในการฉายภาพยนตร์เช่นกัน เริ่มต้นด้วยภาพยนตร์ Beasts Of No Nation ในปี 2015 ที่หลายคนอาจจะไม่สนใจมากนัก แต่ในงานเทศกาลหนัง เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ก่อนที่ทุกคนจะจับตาการสร้างภาพยนตร์ของทาง Netflix กับ The Weinstein Company ทั้งสองบริษัทได้ลงนามร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny ภาคต่อของ Crouhing Tiger Hidden Dragon ออกฉายในช่วงปี 2016 และจากนั้นก็เริ่มมีภาพยนตร์ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวที่ Netflix ร่วมผลิตหรือถือลิขสิทธิ์เป็นเจ้าเดียวออกมาเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีข่าวออกมาว่า Netflix ได้ลงทุนในการสร้างเนื้อหาสำหรับท้องถิ่น รวมถึงลงทุนในการซื้อสิทธิ์อนิเมชั่นฝั่งญี่ปุ่นเข้ามาฉายมากขึ้น จากที่ก่อนหน้าก็มีการร่วมลงทุนกับการสร้างอนิเมชั่นในอเมริกามาบ้างแล้ว
และด้วยจำนวนรายการที่ฉายเยอะขนาดนี้ทำให้ Netflix คว้ารางวัลมาไม่น้อย ซึ่งอาจไม่แปลกสำหรับในส่วนของซีรีส์ที่มีไอเดียสดใหม่ บวกกับได้นักแสดงที่ทรงพลัง รวมถึงการถ่ายทำแบบทีเดียวจบที่บังคับให้โครงเรื่องต้องมีความแข็งแรง ส่วนในฝั่งภาพยนตร์ที่แรกๆ Netflix ไม่สามารถสร้างหนังที่มีคุณภาพออกมาได้ แต่ในปี 2014พวกเขาก็ไปถึงเวทีออสการ์ได้ จนมาปีที่แล้วสารคดีสั้นเรื่อง The White Helmets ก็ได้รับรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 ในสาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยม ตามมาด้วยสารคดีเรื่อง Icarus ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด
จากประวัติโดยสังเขปด้านบน น่าจะทำให้หลายท่านเห็นภาพว่า Netflix กลายเป็นสื่อที่แข็งแกร่ง ระดับที่มีคนยินดีจ่ายเงินเพื่อรับชมรายการที่ฉายเฉพาะช่องทางของเขา ถึงกับเคยมีคนพูดว่า “Netflix กุมอำนาจต่อรองมากกว่าสถานีโทรทัศน์หลายช่องไปแล้ว” และเมื่องานที่ฉายลงในช่องนั้นสามารถไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ก็มีโอกาสไปยังเวทีการแข่งขันได้ง่ายขึ้น (อย่างกรณีของเวทีออสการ์ที่มีข้อกำหนดให้หนังต้องฉายในพื้นที่และวันเวลาที่กำหนด และถ้าต้องการฉายเพื่อให้กรรมการดูโดยเฉพาะก็ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ที่กำหนด ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้จัดจำหน่ายหนังขนาดเล็กๆ) เมื่อเป็นตัวแทนที่ใหญ่มากๆ ก็ทำให้มีหลายๆ เรื่องตามมาในฝั่งต่างๆ ตามนี้ครับ
เรื่องราวที่ตามมาหลังจาก Netflix กลายเป็นสื่อผู้ทรงอิทธิพล – ฝั่งซีรีส์
สำหรับฝั่งซีรีส์ น่าจะเป็นฝั่งที่ผู้สร้างหลายๆ คนดูแฮปปี้กันพอสมควรกับการมาถึงของ Netflix ที่เปิดโอกาสอะไรๆ มากกว่าที่เคย อย่าง พี่น้อง Wachowskis กับ Joseph Michael Straczynski เคยนำเสนอเรื่อง Sense8 ให้ค่ายหนังและสถานทีโทรทัศน์มาก่อน แต่มาทำงานร่วมกับ Netflix ด้วยเหตุผลหลายประการ นับตั้งแต่การที่ผู้บริหารที่อื่นไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ จนถึงจุดที่ยินยอมให้ถ่ายทำหลายประเทศ ซึ่งเจ้าอื่นๆ ไม่อยากให้ทำเพราะเปลืองงบ หรืออย่าง The Duffer Brothers ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรมีฝีมือในวงการแต่ยังไม่เก๋ามากนัก และถูกปฏิเสธจากเคเบิลหลายๆ ช่อง เพราะโชว์ในหัวของพวกเขาต้องการให้ตัวเอกเป็นเด็ก แต่ Netflix กลับสนใจและซื้อคอนเซ็ปต์ของพวกเขามาถ่ายทำจริงจนกลายเป็น Stanger Things ที่ดังคับโลกไป
และยังมีผู้สร้างอีกหลายๆ คนที่อยากจะผันตัวมาทำซีรีส์ให้กับทาง Netflix ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ที่อยากจะลองเปลี่ยนสไตล์การทำงานหรือความพึงพอใจที่ Netflix ให้อิสระกับผู้สร้างอยู่มากพอดู อาจจะมีปัญหาติดขัดกันนิดหน่อย กับการที่ Netflix ถูกทางคณะกรรมการ EU เรียกร้องให้สร้างเนื้อหาจากประเทศในฝั่งยุโรป แต่ส่วนนี้ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหามากนักเพราะซีรีส์เฉพาะกิจของ Netflix ในช่วงแรกก็เป็นรายการที่มาจากฝั่งยุโรปนั่นเอง
เรื่องราวที่ตามมาหลังจาก Netflix กลายเป็นสื่อผู้ทรงอิทธิพล – ฝั่งภาพยนตร์
ในฝั่งภาพยนตร์เองก็มีคนที่แฮปปี้กับการมาถึงของนายทุนรายใหม่ที่ดูจุ้นจ้านกับการถ่ายทำน้อยกว่าค่ายหนังใหญ่ๆ ในปัจจุบันหลายๆ เจ้า แถมยังดูเปย์เงินให้ไปผลิตหนังง่ายกว่าใครๆ จนทำให้ผู้กำกับมีฝีมือดีอย่าง Duncan Jones, Martin Scorsese, David Aye ฯลฯ ตบเท้าเข้าคิวสร้างหนังให้กับ Netflix แล้ว
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะแฮปปี้กับ Netflix อย่างครั้งที่ภาพยนตร์ Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny เข้าฉาย ก็มีการต่อต้านจากกลุ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ในอเมริกาอย่าง Regal กับทาง AMC ที่ออกตัวแรงๆ ว่า พวกเขาไม่ยินยอมที่จะฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในโรงภาพยนตร์ IMAX ของพวกเขา นักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นว่าเพราะพวกเขาไม่อยากเป็นทางผ่านเพื่อให้คนที่ดูหนังในโรงไปสมัครสมาชิกทาง Netflix อีกทอดหนึ่ง
Christopher Nolan เคยออกตัวแรงๆ ว่าเขาต่อต้านระบบออนไลน์สตรีมมิ่งแบบ Netflix และยืนยันทำหนังฉายในโรง ส่วนหนึ่งก็คือตัวเขาไม่ค่อยชื่นชอบแนวคิดแผนงานของ Netflix จนออกปากติเตียนว่า “Netflix มีความประหลาดในการสนับสนุนการทำหนัง เพราะพวกเขาไม่สนใจอะไรเลย นอกจากความต้องการปล่อยสตรีมภาพยนตร์ ซึ่งไม่เหมาะกับการนำเสนอหนังให้ผู้ชม” ถึงอย่างนั้น Nolan ก็มาขอโทษเล็กน้อยในภายหลังด้วยความที่ว่าออกตัวแรงเกินไป และตัวผู้กำกับก็ไม่ได้คิดจะเซย์โนกับการฉายหนังผ่านระบบออนไลน์สตรีมมิ่งแต่อย่างใด ประเด็นที่เขาไม่โอเคนั้นอยู่ที่จุดอื่น ซึ่งเราจะพูดถึงกันอีกครั้งครับ
ดราม่าอีกอันในฝั่งหนังก็คือฝั่ง สารคดี ที่ครั้งหนึ่ง Netflix เคยชูสารคดีเป็นเนื้อหาเด่น แต่จู่ๆ ก็เริ่ม Black List ผู้กำกับสายสารคดีเพียวๆ บางคนไป อาจเพราะพวกเขาอยากได้เนื้อหาสายบันเทิงมากขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งก็น่าแปลกเพราะรางวัลออสการ์ที่ Netflix ได้มาก็ล้วนแล้วแต่เป็นสารคดีทั้งสิ้น
เรื่องราวที่ตามมาหลังจาก Netflix กลายเป็นสื่อผู้ทรงอิทธิพล – ฝั่งอนิเมชั่น
กลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ส่งเสียงทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความแข็งแกร่งของ Netflix ก็คือธุรกิจอนิเมชั่นจากฝั่งญี่ปุ่น ที่ในปี 2017 Netflix ประกาศซื้อลิขสิทธิ์ในการฉายจำนวนมาก และมีการประกาศลงทุนร่วมผลิตอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นกว่า 30 เรื่อง จนทำให้โปรดิวเซอร์ของทาง Toei Animation อย่าง Josehpm Chou เคยให้สัมภาษณ์ว่า “Netflix กำลังฟื้นฟูธุรกิจอนิเมะให้เข้าสู่โครงสร้างธุรกิจปกติ คุณกำลังมองดูธุรกิจที่มี มาร์จิ้น 15% แทนที่จะเป็นการขาดทุน 5%”
แต่ฝั่งอนิเมเตอร์ กับ สื่อสายอนิเมชั่นญี่ปุ่นโดยตรงกับไม่เห็นพ้องกับเรื่องนี้มากนัก อย่างมุมมองของ Kevin Cirugeda ที่ได้พูดคุย Katsunori Shibata อนิเมเตอร์ชาวญี่ปุ่นซึ่งร่วมงานกับอนิเมชั่นเรื่อง Devilman Crybaby ที่ออกฉายเฉพาะบน Netflix ไปช้วงต้นเดือนที่ผ่านมา เขาได้บอกว่าสุดท้ายการผลิตงาน Netflix ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับการทำงานส่งช่องทางทีวีตามปกติ รวมถึงบางครั้งอาจจะลำบากกว่าด้วยเงื่อนไขเวลาในการทำงานของอนิเมชั่นแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งที่ฝั่ง Netflix แตกต่างจากทีวีทั่วไปก็คือการไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการทำภาพรุนแรง
Justin Sevakis ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Anime News Network ก็เคยออกความเห็นเกี่ยวกับ Netflix ในคอลัมน์ Answerman ของเขาเองว่า ตัวเขายังไม่เคยเห็นว่า Netflix ได้ร่วมเป็น คณะกรรมการผู้ผลิตอนิเมะ (Anime Production Comittee) ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตอนิเมชั่นอย่าง บริษัทสำนักพิมพ์ของหนังสือการ์ตูนต้นฉบับ, บริษัทของเล่น ฯลฯ ตรงกันข้ามกับทางเว็บไซต์ Crunchyroll ที่มีชื่ออยู่ในโต๊ะประชุมนั้นแล้วเป็นอาทิ หรือถ้าสรุปสั้นๆ ก็คือ Netflix ยังไม่ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมอนิเมชั่นญี่ปุ่นดีขึ้นในช่วงสั้นๆ นี้ แต่อาจกลายเป็นผู้ช่วยในระยะยาวซึ่งก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ
ดราม่าที่เกิดขึ้นกับ Netflix หลังเป็นสื่อเจ้าใหญ่ของโลก
พอเป็นแบรนด์ใหญ่ ก็ย่อมมีปัญหามาตามวิสัย ‘มากคนก็มากความ’ ส่วนที่เป็นดราม่ากันชัดๆ ก็คือความหวาดกลัวที่ Netflix จะกลายเป็นสื่อใหญ่ที่ผูกขาดทิศทางการทำสื่อบันเทิง ด้วยความที่กลายเป็นบริการที่ออกฉายทั่วโลกแล้ว แถม Algorithm ของ Netflix ยังอ่านใจผู้ใช้งานได้อย่างดี จนมีเจ้าหนึ่งที่กังวล จนถึงขั้นที่จะถอนตัวมาเปิดบริการของตัวเองนั่นก็คือ Disney เจ้าของเนื้อหาดังจำนวนมากอย่าง หนังซูเปอร์ฮีโร่ Marvel, อนิเมชั่นทั้งสำหรับเด็กและไม่ใช่สำหรับเด็ก เพื่อไปเปิดช่องทางการฉายของตัวเอง และจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ Disney จะไม่ได้จากไปแค่หนังโรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงซีรีส์ฮีโร่อย่าง Dare Devil, Punisher, Agent Of S.H.I.E.L.D. ฯลฯ ก็จะย้ายตามไปทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นจริง มันจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ด้ามใหญ่ของทาง Netflix แน่นอน ยกเว้นถ้า Disney จะซื้อ Netflix ไปล่ะนะครับ
ปัญหาอีกอย่างที่เกิดจากความเปิดกว้างของ Netflix ก็คือสุ่มเสี่ยงใน ‘การควบคุมคุณภาพ’ อย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny ที่เป็นภาคต่อของ Crouching Tiger, Hidden Dragons กลับมีทิศทางการกำกับภาพแตกต่างอย่างมาก อย่างที่เว็บไซต์ Jediyuth ได้ออกความเห็นว่า “แตกต่างกันราวกับมาจากพิภพคู่ขนาน งานสร้างและงานภาพก็ไม่ละเอียดและละมุนเท่า” และตัวหนังในภาคต่อนั้นตัวละครก็พูดอังกฤษแทนที่จะพูดด้วยภาษาจีนแบบในภาคแรก
ตัวอย่างหนังอีกเรื่องก็คือ Mute โดย Duncan Jones แม้ว่าการนำเสนอภาพนั้นจะออกมาสวยงาม แต่ตัวพล็อตก็เหมือนจะโฟกัสไม่อยู่จนมีเสียงวิจารณ์ออกมาไม่ดีนัก
อีกส่วนก็เป็นคำพูดของทางโรงภาพยนตร์ Regal กับ AMC ที่เห็นว่า การสร้างรายการและหนังใหม่ๆ แม้ว่าจะเปิดรับไอเดียอยู่มาก และยอมลงทุนสร้างโลกที่ยากจะสร้างขึ้นมา (อย่างกรณีของ Sense8 ที่ไปถ่ายหลายประเทศก หรือ Stranger Things ที่จำลองบรรยากาศ 1980 ได้ออกมาแล้วรู้สึกเลยว่าเป๊ะ) กระนั้นทางโรงหนังก็เชื่อว่า สิ่งที่ Netflix ไม่อาจจะสร้างได้คือ ‘บรรยากาศในการรับชมที่ไม่สามารถดูได้ที่บ้าน’ อย่างในกรณีของโรงภาพยนตร์ให้สัมภาษณ์ว่า ณ ตอนปี 2016 ว่าทาง Netflix อยากจะให้ Crouching Tiger, Hidden Dragon: Sword of Destiny ฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX ที่มีจอหนังขนาดสูงเท่าตึกสามชั้น ดีไซน์เสียงที่ออกแบบให้ออกในฝั่งต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งออกจะดูขัดแย้งกันเกินไปกับการโฆษณาหนังที่เน้นให้ดูที่บ้านหรือบนหน้าจอมือถือ
Christopher Nolan ก็ออกความเห็นในลักษณะใกล้เคียงกัน (ไม่แน่ใจเพราะว่า Nolan ชอบใช้กล้อง IMAX เป็นทุนอยู่แล้วด้วยไหม เลยเห็นด้วยในทิศทางเดียวกัน) แถม Nolan ยังพูดถึงคู่แข่งของ Netflix อย่าง Amazon ที่ยอมเอาหนังที่ถูกถ่ายทำเพื่อขึ้นฉายโรงภาพยนตร์ไปฉายตามโรงก่อน แล้วค่อยให้ฉายออนไลน์เฉพาะช่องทางของตนเอง (หรือถ้าอยากดูพร้อมกันในตอนที่โรงฉายก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น) หรืออย่างภาพยนตร์ Annihilation ของทาง Paramount Picture ก็ถูกนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในอเมริกาต่อว่า ว่าไม่รู้ทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจไม่เอาหนังที่เต็มไปด้วยภาพ Visual Effects ตระการตา และพล็อตที่เหมาะกับการไปดูในโรงมากกว่านั่งชิลแล้วดู Netflix ที่บ้าน
หาก Netflix ไม่คิดจะฉายหนังของตัวเองในโรงอีกเลย แล้วทางสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences) ก็ปรับเปลี่ยนกติกาให้หนังที่เข้าชิงได้จะต้องฉายโรงในวงกว้างเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ตอนนี้ นั่นก็จะทำให้หนังหลายๆ เรื่องในอนาคตไม่มีสิทธิ์คว้ารางวัลออสการ์โดยปริยาย
ถึงจะมีเรื่องหลากหลาย แต่แทบทุกภาคส่วนเห็นพ้องตรงกันว่า ณ ตอนนี้ Netflix เป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่ชาวโลกมองสินค้าต่างๆ ได้โดยง่าย ดังนั้นเราคงเห็นภาวะดราม่าตึงๆ กันระหว่าง ผู้สร้าง กับ ผู้ฉายรายการไปอีกระยะใหญ่แน่ๆ ส่วนหนึ่งเราคงมองได้ว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคและแพลตฟอร์ม กระนั้นถ้ามองในแง่ผู้บริโภคปลายทางแล้ว การแข่งขันกับการถกเถียงกันอย่างเสรีนี้นี่เองที่จะทำให้มีรายการดีๆ ที่เราพร้อมจะเปย์เงินกันล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก