ก็ว่าจะไม่ซื้อถ้ายังอ่านหนังสือเล่มเก่าไม่จบ แต่พองานสัปดาห์หนังสือเวียนมา คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองก็ไม่เป็นผล
The MATTER ชวนเหล่าคนทำหนังสือจากหลากหลายสำนักพิมพ์มาร่วมแนะนำว่า งานหนังสือคราวนี้มีปกใหม่ปกไหนที่น่าสนใจ ปกไหนที่ต้องมีไว้ครอบครอง ของมันต้องมีมั้ยไม่รู้ แต่เห็นแล้วบอกได้แค่ว่า ปกโน้นก็ดี เล่มนี้ก็น่าอ่าน
ลิสต์เอาไว้ในใจ เดินไปกดตังค์ แล้วโบกวินมอ’ไซค์ ต่อรถใต้ดินไปศูนสิริกิติ์นาว!
ปาลิดา พิมพะกร – Co Founder, Typhoon Studio
เบสเมนต์ มูน
เขียนโดย ปราบดา หยุ่น
นวนิยายเล่มใหม่ล่าสุดของปราบดา หยุ่น
3 ตุลาคม ค.ศ. 2016 , นักเขียนไทยวัยกลางคนชื่อปราบดา หยุ่น ได้รับข้อความประหลาดผ่านโทรศัพท์มือถือบงการให้เขาเดินทางไปยังตึกร้างในย่านเก่าของกรุงเทพฯ. แม้ไม่เข้าใจอะไรนัก, และมีความเป็นไปได้ที่จะเสียสติเพราะความหดหู่ของบรรยากาศสังคม, เขายอมทำตามคำสั่งลึกลับนั้น. การสื่อสารปริศนาเกลี้ยกล่อมให้ปราบดาคิดว่าการกระทำของเขาจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น.
ผลงานนวนิยายไซไฟ-แฟนตาซี เกี่ยวกับโลกอนาคตและเทคโนโลยีที่สามารถสร้างจิตสำนึกประดิษฐ์ได้ ทำให้เกิดการผจญภัยที่ซับซ้อนของตัวละครในฉากสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
Nagano Little Holiday
เขียนโดย ปาลิดา พิมพะกร
ปาลิดา พิมพะกร ชวนนักอ่านออกเดินทางไปเที่ยวในช่วงฤดูร้อนไม่ไกลจากโตเกียวที่ ‘นากาโน่’ จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘หลังคาญี่ปุ่น’ ห้อมล้อมด้วยภูเขาสูง และมีทัศนียภาพทางธรรมชาติงดงามในทุกฤดู แม้ว่าแต่ละเมืองในจังหวัดนากาโน่จะมีขนาดกะทัดรัดแต่ก็มีทุกอย่างครบ จนติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่คนญี่ปุ่นอยากย้ายมาอยู่มากที่สุด จากการสำรวจโดย Inaka Kurashi no Hon นิตยสารเกี่ยวกับการใช้ชีวิตต่างจังหวัดติดต่อกันถึง 12 ปีซ้อน
นากาโน่เป็นบ้านเกิดเจ้าแม่ลายจุด Polka dot ยาโยอิ คุซามะ (มัตสึโมโต้) มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะจิฮิโระ อิวาซากิ ห้องเรียนในตู้รถไฟของโต๊ะโตะจัง ฟาร์มวาซาบิขนาดใหญ่ของประเทศ (อะซุมิโนะ) ชวนหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่รีสอร์ททาวน์สุดชิล (คารุอิซาว่า) ตะลุยชิมอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อ (นากาโน่) และเรียนทำเส้นโซบะครั้งแรก (โทงะคุชิ)
คู่มืออยู่อย่างวิทย์ ฉบับติดบ้าน (Science for Life)
เขียนโดย ไบรอัน เคล็กก์ (Brian Clegg)
แปลโดย พินดา พิสิฐบุตร
เล่มเดียวที่คุณต้องการ เพื่อความเข้าใจเรื่องสุขภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และรู้ทันโฆษณาชวนเชื่อ
ไบรอัน เคล็กก์ นักเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ได้รวบรวมหลักฐานการวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ที่สุดเท่าที่มีเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย สมอง จิตวิทยา ฯลฯ ไว้ในหนังสือ ‘Science for Life’ หรือ ‘คู่มืออยู่อย่างวิทย์ ฉบับติดบ้าน’ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้ ที่หยิบใช้สะดวกและเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ด้วยหวังจะช่วยลดความเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่อง และเพิ่มภูมิคุ้มกันโฆษณาชวนเชื่อให้กับผู้ต้องการรู้เท่าทัน และดูแลสุขภาพตัวเองด้วยแนวทางที่เหมาะสมอย่างแท้จริง
ปฏิกาล ภาคกาย – บรรณาธิการบริหาร Salmon Books
THE HAPPINESS MANUAL พฤติกรรมความสุข
เขียนโดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
เล่มแรกเป็นความเรียงเชิง Self-Help โดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักเศรษฐศาสตร์ความสุขและศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ เขานำประสบการณ์ส่วนตัวและงานวิจัยจำนวนมาก มาย่อยเป็นเรื่องราวอ่านสนุก พร้อมทำให้เห็นว่าสิ่งนามธรรมอย่างความสุขเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วก็เกี่ยวข้องกับ ‘พฤติกรรม’ และ ‘การตัดสินใจ’ ในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย
ดรามา สุตรา
เขียนโดย กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
เล่มที่สอง เป็นหนังสือเนื้อหาเข้มข้นที่ถูกเล่าอย่างเพลิดเพลินโดย กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักศึกษาด้านการก่อการร้ายและการเมืองระหว่างประเทศ (รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ The MATTER ด้วย) ในเล่มนี้ เขาจะพาเราไปสำรวจแนวทางของความดราม่า ตั้งแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยจะเล่าผ่านวัตถุที่อยู่รอบตัวเรา อย่างเกลือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, หนังโป๊, การ์ตูนญี่ปุ่น ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง (หรือในช่วงเวลานี้) ข้าวของเหล่านี้เคยทำให้คนตบตีกันเลือดสาดและดราม่าขนาดไหน
โลกในนิทรรศการ
เขียนโดย สฤณี อาชวานันทกุล
เล่มที่สาม เป็นหนังสือที่จะทำให้เราอยากเดินดุ่มเข้าไปในนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์สักแห่งเมื่ออ่านจบ เพราะ สฤณี อาชวานันทกุล นำ 100 ชิ้นงานสุดโปรดจากการตระเวนเข้าออกนิทรรศการตามที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก มาเล่าได้อย่างละมุน ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้ทั้งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ได้ทั้งแง่มุมทางประวัติศาสตร์และสังคมที่อยู่รายรอบ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่เปรียบเสมือนการเดินทัวร์นิทรรศการที่มีสฤณีเป็นไกด์นำขบวน
สุพรรณี สงวนพงษ์ – บรรณาธิการสำนักพิมพ์ P.S.
Ultramarine : ทะเลมีสะอื้นเล็กน้อยถึงปานกลาง
รวมเรื่องสั้นโดย เพณิญ
การเขียนหนังสือคือการระบายความแค้นและการแก้แค้น ครอบครัวคือสิ่งรุงรัง
ความสัมพันธ์คือการเมือง และการนอกใจคือการเดินเหยียบขี้หมา
ถ้าคุณเคยรู้สึกโกรธแค้น เคยเขวี้ยงเหตุผลทิ้งแล้วใช้อารมณ์นำทาง นึกถึงความตายแบบทรมาน ไม่ได้อยากตายเอง แต่อยากให้อีนั่นตาย เคยใจสลายและอยากทำลายทุกอย่างที่อยู่ตรงนี้ให้พังพินาศย่อยยับ คุณเหมาะกับหนังสือเล่มนี้!
รวมเรื่องสั้นจากความแค้น น้ำตา และพายุอารมณ์ เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความโกลาหล ความชะนีๆ การตบตีแย่งชิง การเสแสร้ง ระราน ยอมแพ้ แย่งชิง สึนามิ แม่น้ำ ฤดูมรสุม ทะเล แผ่นดินไหว ความลับ วันเชงเม้ง ขี้หมาติดรองเท้า เพลงของพัชรา แวงวรรณ ความสัมพันธ์ที่มีคุณ เธอ อีนั่น เขาอีกคน และมัน โคจรร่วมกัน ฯลฯ ถาโถมด้วยความลุ่มหลง ปรารถนาบ้าคลั่ง ขาดและเกินจากความร้อนร้าวราวนรกหมกไหม้สู่ความเย็นเยียบไร้หัวใจ ตวาดคลื่นหัวใจให้ขึ้นลงเคว้งคว้างเต้นเร่าไปกับหลากคำถามเมื่อความสัมพันธ์ล้มเหลวและความไว้เนื้อเชื่อใจถูกทำลาย เสริมเรื่องราวให้เข้มข้นด้วยความอึดอัดคับข้องใจและความเกลียดชังต่อสิ่งรอบตัว ในบรรยากาศและบริบทของสังคมไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา
BLUE ท้องฟ้ามีน้ำตาเป็นส่วนมาก
นิยายโดย คิม เสาร์
ฉันไม่ใช่การสูบบุหรี่ในสิบห้านาทีของคุณ ฉันคือมะเร็งปอด ฉันจะทำลาย
และเมื่อคุณคิดว่าตัดฉันจากชีวิตได้ ฉันจะคืบคลานกลับเข้าไปหา ตอนคุณอายุสักสี่สิบห้าสิบหกสิบ
ฉันจะค่อยๆ ฆ่าคุณเหมือนกับตลอดเวลาที่ผ่านมา บอกภรรยาคุณด้วยว่าฉันขอโทษ
ถ้าคุณเคยมีอายุสิบเก้าเป็นของตัวเอง หนังสือล่มนี้จะทำให้คุณคิดถึงช่วงเวลานั้นอีกครั้ง นิยายขนาดสั้นที่มีส่วนผสมปร่าแปร่งของฝนตกต้องตามฤดูกาลและตกต้องตามแต่ใจ อายุสิบเก้าที่มีเพียงครั้งเดียว และจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย
ถ้าคุณกำลังอายุย่างเข้าสิบเก้าและติดอยู่ในพายุฝนกระหน่ำ เดินโซซัดโซเซโดยไม่สนใจว่าตอนนี้กำลังเดินตัวตรงสง่างามอย่างคนมีศักดิ์ศรีหรือเดินอย่างหมา หนังสือเล่มนี้คือสัญญาว่าคุณจะเจอทางออกและไม่ตาย ตัวหนังสือทั้งหมดจะคอยกอดคอคุณและตะโกนให้กำลังใจ
BLUE ท้องฟ้ามีน้ำตาเป็นส่วนมาก เรื่องราวของหญิงสาวที่พาตัวเองผจญกับทุกความเจ็บปวดของความรัก ความผูกพัน และความต้องการที่ไม่สิ้นสุดถ่ายทอดด้วยชิ้นส่วนของถ้อยคำ วลี ความรู้สึกนึกคิด คำพูดที่เก็บไว้ในใจไม่อาจเอื้อนเอ่ย เรื่องเล่าของผู้คน ซึ่งคุณต้องปะติดปะต่อด้วยตัวเอง
บุญชัย แซ่เงี้ยว – บรรณาธิการต้นฉบับสำนักพิมพ์ openworlds
ประวัติศาสตร์หยาดฝน (Rain: A Natural and Cultural History)
เขียนโดย Cynthia Barnett
แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ
เล่มนี้อ่านสนุก เป็น non-fiction ที่ดีอย่างที่ non-fiction ควรจะเป็น คนเขียนทำงานหนัก ทั้งงานเอกสารและงานเก็บข้อมูลภาคสนาม ที่เจ๋งไปอีกคือเธอหยิบกองข้อมูลมาปรุงได้อร่อย หนังสือเลยถึงพร้อม ครบเครื่องทั้งการเล่าเรื่อง ข้อมูล จินตนาการ ต้องขอบคุณนักแปลด้วยที่ถ่ายทอดออกมาได้สนุก
ตลอดเล่มสัมผัสได้ว่าคนเขียนรักฝน รักเรื่องที่เธอเล่า หากลองหยิบจับมาอ่าน บางทีคุณอาจตกหลุมรักเล่มนี้ก็ได้
ชมพูนุท ดีประวัติ – บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ a book
Life From Planet Work
เขียนโดย แพท บุญสินสุข
เขาวนเวียนอยู่แทบทุกบทบาทในวงการบันเทิงมา 19 ปี ชื่อแพท บุญสินสุข ไม่ได้ดังเหมือนใคร แต่ยังไงเขาก็ไม่ดับ และคนแบบเขาท่าจะไม่มีวันดับ นี่คือหนังสือบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของมนุษย์สายพันธุ์ที่ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้มไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็ยังคงโลดแล่นอยู่กับความฝันและความบันเทิงไม่เสื่อมคลาย ถามว่าอ่านแล้วคุณจะได้อะไร อย่างแรกเลยคือถ้าคุณไฟหมด เขาจะจุดไฟให้ ถ้าคุณไฟลุกแรงเกินไปจนไหม้มอด ความวายป่วงทั้งหลายในประสบการณ์ของเขาจะทำให้เรียนรู้และลดไฟลงได้เอง และเหนืออื่นใด คุณจะได้บันเทิง คุณจะได้หัวเราะท้องแข็งไปกับความห่ามของเขา และอาจมีน้ำตาซึม ณ ช่วงเวลาที่จ๋อยที่สุดของเขา แพท บุญสินสุข เกิดมาเป็นอะไรได้หลายอย่าง แต่เหนืออื่นใดเขาคือนักเล่าเรื่องที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย
นิทานบันดาลใจ : Twelve Tales from an Everlasting Icons
เขียนโดย สิริมา ไชยปรีชาวิทย์
นอกจากจะเป็นช่างภาพขาว-ดำ ที่คลาสสิกด้วยมุมมองของเธอเองแล้ว ผ้าป่าน-สิริมา ยังเป็นนักอ่านนิทานตัวยงมาแต่ไหนแต่ไร และนิทานที่เธอเขียนทั้ง 12 เรื่องก็ยังสะท้อนมุมมองคลาสสิกที่เธอมีต่อโลก ชีวิต ความฝัน และแรงบันดาลใจดีๆ ที่ได้จากอัจฉริยบุคคลผู้ล่วงลับ 12 คน อ่านเล่มนี้ให้ตัวเองฟัง มันจะทำให้คุณกลับมาเชื่อในเจ้าหญิง มังกร นางฟ้า และความฝันอีกครั้ง อ่านเล่มนี้ให้ลูกหลานฟัง พวกเขาจะเติบโตอย่างมีศรัทธา
ศิษฏา ดาราวลี – บรรณาธิการบริหาร Bunbooks
สามวันดี สี่วันเศร้า
เขียนโดย อินทิรา เจริญปุระ
เล่มนี้ประทับใจตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือพอเราบอกพี่วิชัย (วิชัย มาตุกุล) ว่า อยากชวนพี่ทรายมาเขียนเรื่องโรคซึมเศร้า พี่วิชัยก็หายไปประมาณ 3 นาที แล้วกลับมาพร้อมเบอร์โทร. บอกว่า โทร.ไปบอกให้ละ แกโทร.ไปคุยต่อได้เลย ที่ประทับใจก็คือ พี่วิชัยบอกว่าพี่ทรายฝากถามมาว่า “รู้ใช่มั้ยว่าเราไม่ใช่คนดี…”
คือ คนไม่เคยคุยกันมาก่อน โทร.ไปคุยด้วยครั้งแรกก็ชวนพี่เขาคุยเรื่องโรคซึมเศร้า คุยเรื่องปัญหาชีวิตเลย โคตรไม่มีมารยาท (ฮ่า)
พอถึงขั้นตอนการทำงาน ที่จริงก่อนจะเป็นเล่มนี้ เรามีต้นฉบับอีกชุดหนึ่งที่เขียนมาได้หลายบทแล้วต้องพับเก็บ เพราะเขียนต่อไม่ไหว อาจจะเพราะมันดีปเกินไปและดาวน์เกินไป ซึ่งส่วนตัวเราชอบต้นฉบับชุดนั้นมาก แต่ก็เข้าใจว่ามันยากเกินไปที่จะเขียนต่อ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พอปรับกันจนออกมาเป็น สามวันดีสี่วันเศร้า เล่มนี้แล้ว ก็ยังคงเป็นต้นฉบับที่เราชอบมากอยู่ดี และเราก็หวังว่า มันจะมีประโยชน์ทั้งกับคนที่ป่วยและไม่ป่วย ไม่ว่าจะเศร้าหรือไม่เศร้าก็ตาม
คำไหน-คำนั้น
เขียนโดย กองบรรณาธิการ
เล่มนี้เป็นการรวบรวมคำทับศัพท์ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมคำอธิบายตามหลักการของราชบัณฑิตยฯ ว่าทำไมต้องเขียนแบบนั้น
เราอยากเชียร์ เพราะว่ามันเริ่มต้นมาจากความตั้งใจของคนทำหนังสือตัวเล็กๆ ที่นับวันจะยิ่งเดือดเนื้อร้อนใจกับการเห็นคนเขียนคำทับศัพท์ผิดๆ ตามอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บข่าวหลายที่เขียนคำว่าเฟซบุ๊กเป็นเฟสบุ๊ค หรือเขียน ยูทูบ เป็น ยูทูป แล้วคนก็เห็นกันจนชินและคิดว่ามันถูก ทั้งที่จริงแล้วการเขียนผิดไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหรอก ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องมันควรจะเป็นยังไง
แล้วอีกอย่าง พอได้ทำเล่มนี้ทำให้พบว่า ถึงแม้เราจะมีหลักการของราชบัณฑิตยฯ เอาไว้ให้ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ตาม แต่ราชบัณฑิตยฯ เองก็ยังมีข้อยกเว้นต่างๆ ของตัวเองอีกทีอยู่ดี
The Boy Who Never Grows
เขียนโดย เจนมานะ
เล่มนี้เป็นหนังสือพิมพ์ซ้ำที่อยากพูดถึง เพราะเป็นเล่มที่กลับมาถูกถามหามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา (น่าจะเป็นผลมาจากการพักงานเขียนไปทำเพลงของ แม็กซ์ เจนมานะ นั่นแหละ) ทีนี้โดนถามเยอะเข้า หนังสือก็เริ่มหายาก ยิ่งหายากก็ยิ่งโดนถาม สรุปก็เลยต้องพิมพ์เพิ่ม
และที่จริงหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานอีกชิ้นที่ยืนยันความสามารถของคนเขียนได้เลยนะ ว่าเจนมานะไม่ใช่นักร้องที่อยากจะมาเป็นนักเขียนเท่านั้น แต่เขาเป็นนักเขียนที่ดีได้คนหนึ่งเลยทีเดียว
เชษฐกิฎา ชาติวิทยา – ซับเอดิเตอร์สำนักพิมพ์อมริ นทร์
กฎหมายให้ฆ่า
เขียนโดย โคะบะยะชิ ยุกะ
แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ
จะเป็นอย่างไรถ้าเรามีกฎหมายแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ อาชญากรรมจะลดน้อยลงเพราะคนร้ายหวาดกลัวการถูกลงโทษไหม หรือการได้ชำระแค้นอย่างสาสมจะช่วยบรรเทาความโกรธแค้นในใจครอบครัวผู้เป็นเหยื่อได้หรือเปล่า เรื่องสั้นเล่มนี้แอบเผยคำตอบให้เห็นผ่านสายตาของ ‘โทะริทะนิ’ เจ้าหน้าที่ติดตามการชำระแค้น ผู้เฝ้าดูเหตุการณ์ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวของเหยื่อชำระแค้นฆาตกรด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ฆาตกรทำ นอกจากเรื่องสั้นเล่มนี้จะตอบคำถามข้างต้นแล้ว ยังสะท้อนสภาพสังคมด้านมืดได้อย่างคมคาย เช่น ลัทธิชวนเชื่อที่ล้างสมองคน ความกดดันจากสถานภาพ (พ่อ แม่ ลูก) ที่สังคมคาดหวัง ฯลฯ เผยให้เห็นว่าทุกคนล้วนมีส่วนที่ทำให้อาชญากรลงมือ ทั้งชวนขบคิดเมื่อการชำระแค้นดำเนินไปจนถึงจุดสิ้นสุดว่า “ท้ายที่สุด ผู้ชำระแค้นแม้จะมีเหตุผลในการแก้แค้นมากเท่าใดก็ไม่ต่างจากฆาตกรเลย” #สายดาร์กต้องมีนะเล่มนี้
ดูห้องก็รู้อนาคต!
เขียนโดย มะสึดะ มิทสึฮิโระ
แปลโดย ไชยวัตร ลิ้มสมเกียรติ
หลายคนคงเคยได้ยินหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” หรือหนังสือทำนอง “รวยได้ใน 100 วันด้วยพลังแห่งการจัดระเบียบ” ก็คงสงสัยว่าเอ๊ะ แค่จัดบ้านจัดข้าวของชีวิตมันจะดีขึ้นได้ยังไง แต่มันมีวิธีทำนายอนาคตจากการดูห้องได้แบบไม่ต้องไปดูเวลาตกฟากหรือเลขผานาทีที่ไหนจ้า เพราะมะสึดะ มิทสึฮิโระ ผู้เชี่ยวชาญการทำความสะอาดห้องมานานกว่า 21 ปี ได้เผยเคล็ดลับการทำนายอนาคตจากการดูห้องและวิธีเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นได้ด้วยการจัด+ทำความสะอาดห้อง แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ แอบใบ้สักนิดก็ได้ว่า ที่ดูห้องก็รู้อนาคตเพราะห้องสะท้อนพฤติกรรมและความสามารถในการบริหารจัดการชีวิตของเรา เช่น บ้านไหนมีของไม่จำเป็นล้นออกมาจากห้องเก็บของก็แสดงว่าคุณอาจมีพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ซื้อของแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง สะท้อนให้เห็นการไร้ความสามารถในการบริหารจัดการชีวิตโดยเฉพาะเรื่องเงิน ว่าแล้วก็ไปสอยหนังสือมาอ่านแล้วจัดการห้องกันเถอะ!
ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ – บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape
วรรณกรรม : ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature)
เขียนโดย John Sutherland
แปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์
หนังสือที่จะพาเราไปท่องโลกวรรณกรรมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในมุมลึกและมุมกว้าง โดยเริ่มจากพาเราไปสำรวจเบื้องลึกของวรรณกรรมชื่อดังและเบื้องหลังชีวิตนักเขียนเอกทั้งหลาย ก่อนจะถอยออกมามองภาพกว้างของบริบทต่างๆ ที่รายรอบวรรณกรรม เช่น ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์วรรณกรรม เรื่องราวการยืนหยัดต่อสู้ของวรรณกรรมต้องห้ามภายใต้ระบบเซ็นเซอร์ ฯลฯ ถือเป็นหนังสือที่คอวรรณกรรมไม่ควรพลาด ส่วนคนที่ไม่ใช่คอวรรณกรรมยิ่งควรอ่าน แล้วคุณจะรู้ว่า เหตุใดมนตร์เสน่ห์ของวรรณกรรมจึงยืนยงไม่เคยเสื่อมคลาย
ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก (The Little Book of Lykke)
เขียนโดย Meik Wiking
แปลโดย ลลิตา ผลผลา
ผลงานเล่มใหม่ของผู้เขียน ฮุกกะ: ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก (จัดพิมพ์โดย สนพ. openworlds) ในเล่มนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขจะนำเราออกเดินทางไปไกลกว่าเดนมาร์ก โดยพาเราไป ‘ล่าสมบัติ’ เพื่อค้นหาชิ้นส่วนแห่ง ‘ความสุข’ (หรือ ‘ลุกกะ’ ในภาษาเดนมาร์ก) ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อไขปริศนาว่า ปัจจัยใดคือกุญแจสำคัญที่เป็นตัวกำหนดความสุขของผู้คน โดยอ้างอิงกรณีศึกษาและงานวิจัยสนุกๆ หลายชิ้น เช่น การวัดความถี่ของรอยยิ้มบนท้องถนนในประเทศต่างๆ นับเป็นหนังสือที่อ่านสนุก เปิดหูเปิดตา และมีเคล็ดลับหลายอย่างที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ และสร้างวิถีชีวิตที่เป็นสุขในแบบของเราเอง