งานหนังสือกลับมาอีกครั้ง คาดว่าหลายๆ คนอาจจะเดินทางไปตะลุยบูธต่างๆ เพื่อซื้อหนังสือใหม่กัน หนังสือกลุ่มหนึ่งที่หลายๆ สำนักพิมพ์จะหยิบยกมาเป็นไฮไลต์ในการขายก็คือหนังสือที่นำไปสร้างเป็นสื่ออื่นต่อ โดยเฉพาะหนังสือที่เอาไปทำต่อเป็นหนัง ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะหนังสือเหล่านี้มีคนรู้จักเยอะผ่านการโฆษณาในช่องทางอื่นด้วย
หนังที่สร้างจากหนังสืออาจจะเป็นตัวเรียกคนดูได้ดี ด้วยความที่ว่านิยายขายดีจะมีกลุ่มแฟนคลับเยอะอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันคนสร้างก็ค่อนข้างสบายใจ เพราะถือว่ามีเนื้อเรื่องต้นทางที่ดีพร้อมจะสร้างเป็นหนังที่น่าสนใจได้
แต่โลกก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป ทุ่งลาเวนเดอร์ไม่ได้เบิกบานกับหนังจากหนังสือทุกเรื่อง อาจจะด้วยสื่อบางอย่างก็ไม่เวิร์กในการดัดแปลงเป็นอีกสื่อ บางทีก็มีเหตุกระทันหันจนทำให้เราอดดูในโรงอย่างเรื่อง Annihilation ที่ตอนแรกมีการปล่อยตัวอย่างหนัง แถมยังมีชื่อไทยว่า ‘แดนทำลายล้าง‘ ออกมาให้คนดูได้เห็นกันแล้วก็ตาม จนกระทั่ง Netflix ซื้อสิทธิ์ขาดในการฉายแล้วก็จับมาลงแอพฯ ซะเลยโดยไม่ผ่านโรงภาพยนตร์ หรืออาจจะเพราะคนทำหนังทำมาไม่ดีพอ ค่ายหนังเลยถอดอกถอดใจ ยกโปรแกรมฉายหนีทั้งๆ ที่มีดาราดังในเรื่อง
เพราะงั้น The MATTER เลยหยิบหนังสือกลุ่มหนึ่งที่ขึ้นชื่อติดป้ายว่าเป็น best seller มาจากเมืองนอกเมืองนา แถมยังประกาศสร้างเป็นหนังแล้ว แต่หนังเหล่านั้นไม่เคยมาแตะโรงไทย ลองเช็กจาก Box Office Mojo กับ IMBb แล้วก็ไม่มีวีแววรายได้หรือวันฉาย มาอีกทีก็กลายเป็นแผ่น อรรถรสฉบับจอเงินก็หดหายไป จนน่าจะไปลองหยิบจับหนังสือต้นฉบับที่มีแปลเป็นฉบับภาษาไทย และมีให้คุณหาซื้อกันได้ในงานหนังสือ
The Snowman
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : แฮร์รี โฮล กับคดีฆาตกรรมมนุษย์หิมะ – Jo Nesbo
นิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่คนร้ายโหดเหี้ยมและฉลาดเฉลียว ทั้งยังเป็นซีรีส์ยาวหลายเล่ม จึงไม่แปลกที่จะถูกสร้างเป็นหนังแม้ว่าคดีนี้จะหนังสือเล่มที่ 7 ของชุดก็ตาม หนังเคยมีกำหนดเข้าฉายในช่วงปลายปีของบ้านเราอยู่ระยะหนึ่ง แต่อยู่ๆ ก็หายไปจากโปรแกรมฉาย ไม่ใช่แค่ของไทยเท่านั้นแต่แทบจะหายไปจากที่อื่นทั่วโลก
เรื่องราวในนิยายต้นฉบับพูดถึง แฮร์รี โฮล ที่ต้องเผชิญหน้ากับฆาตกรต่อเนื่องซึ่งอาจจะเป็นคดีแรกๆ ของประเทศนอร์เวย์ โดยฆาตกรจะทิ้ง ‘ตุ๊กตาหิมะ’ เอาไว้ในสถานที่ก่อเหตุ และเหตุที่เขาต้องการก่อคดีฆาตกรรมนั้นก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนและอาจจะพัวพันกับผลประโยชน์ขนาดใหญ่ โอ้โห อลังการชวนติดตามตั้งแต่ต้นเล่มจนจบเล่ม ด้วยความที่ไม่ได้เอาหนังสือเล่มแรกมาทำ จึงทำให้เนื้อหาส่วนหนึ่งชวนงงไปเล็กน้อย ตัวเรื่องยังเล่าแบบกระโดดไปมาชวนงง กับคุณภาพการถ่ายทำที่ไม่นิ่งเอาเสียเลย แม้จะมีนักแสดงแบบ Michael Fassbender มารับบทนำ ก็ไม่ทำให้หนังดูดีขึ้น จึงอาจเป็นผลที่ทำให้หนังโดนถอดโปรแกรมฉายออกไป
สำหรับท่านที่สนใจนิยายชุดนี้ หรือผลงานอื่นๆ ของ Jo Nesbo ทางบ้านเราก็มีนำมาแปลแล้วราวๆ 5-6 เล่ม
The Circle
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : เดอะ เซอร์เคิล – Dave Eggers
นี่เป็นนิยายอีกเล่มที่น่านำมาอ่านในช่วงที่ Facebook กำลังมีข่าวฉาวเกี่ยวกับประเด็นการขายข้อมูลส่วนตัว แต่ในนิยายเรื่องนี้ตีความให้ เดอะ เซอร์เคิล เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการสารพัดกิจกรรมไว้ในที่เดียวกัน เส้นเรื่องหลักพูดถึงตัว Mae Holland ที่ได้เข้าทำงานในบริษัทนี้ และยังได้เข้าทำงานในแผนกทดลองใช้บริการใหม่ ก่อนที่เนื้อเรื่องจะนำพาว่าเธอจะเป็นผู้ทดลองบริการใหม่ล่าสุดที่เป็นการติดตั้งกล้องเพื่อเปิดเผยทุกการกระทำของเธอให้โลกได้รู้ และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอันน่ากลัว
ด้วยโครงเรื่องที่อินเทรนด์เข้ากับยุคสุดๆ เลยไม่แปลกที่จะมีการสร้างเป็นหนังขึ้นมา และตัวหนังก็ได้ดารามากฝีมืออย่าง Emma Watson กับ Tom Hanks มารับบทเด่น สมทบด้วย John Boyega ที่เพิ่งสร้างชื่อตัวเองขึ้นมาจาก Star Wars ตัวหนังได้รับการฉายในอเมริกา แต่เหมือนประเทศอื่นๆ จะนำหนังเรื่องนี้ไปฉายไม่มากนักแม้ว่าจะมีนักแสดงดังขนาดนี้ก็ตาม ซึ่งมีคนคาดว่าตัวหนังได้ผู้จัดจำหน่ายที่ไม่ใช่รายใหญ่มากนัก รวมถึงว่าหนังดัดแปลงแก่นบางอย่างจากนิยายตัวต้นฉบับด้วย
The Lost City of Z
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : นครลับที่สาบสูญ – David Grann
หนังสือแนว non-fiction แต่งโดย David Grann นักข่าวของนิตยสาร The New Yorker ที่พยายามตามรอย Percy Fawcett นักสำรวจชื่อก้องจากอังกฤษ ซึ่งหายตัวไปพร้อมกับลูกชายในป่าอเมซอนระหว่างที่เขากำลังหาเมืองลับแห่งหนึ่ง ที่นักสำรวจเรียกขานกันว่า ‘Lost City Of Z’ โดยเชื่อกันว่ามีทองคำจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในที่แห่งนั้น หนังสือตามรอยนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์เพื่อตามหาหลักฐานว่า Percy Fawcett เสียชีวิต หรือเขาไปเจอเมือง ‘Z’ ที่ว่าแล้วแต่ไม่คิดจะกลับมา
ตัวภาพยนตร์จับมาเล่าเป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่แบบ non-fiction อย่างที่ปรากฎในหนังสือ อาจจะเพราะไม่ต้องการให้หนังเป็นสารคดีมากนัก และหนังก็ได้รับคำชื่นชมจากนิวิจารณ์ค่อนข้างดีไม่น้อย ระดับที่สื่อบางเจ้ายกให้เป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมของปี 2017 ที่ผ่านมา สวนทางโดยสิ้นเชิงกับรายได้ที่ถือว่าแป้กสนิทในอเมริกา จนอาจจะเป็นสาเหตุขั้นต้นให้ค่ายหนังในภูมิภาคอื่นๆ ตัดสินใจไม่ซื้อหนังเรื่องนี้เข้ามาฉาย
น่าเสียดายนิดหน่อยที่เราอดดูหนังเรื่องนี้ในแบบจอใหญ่ เพราะนานๆ ทีเราจะได้เห็นหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือไปไกลแล้วออกมาเป็นหนังฟอร์มดี
The Mountain Between Us
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : สองเราในความทรงจำ – Charles Martin
ความสัมพันธ์ของคู่รัก บางครั้งก็ยากที่จะสานให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดุจดั่งมีภูเขามากั้นกลาง และนิยายเรื่องนี้เอาคำพูดที่ว่ามาตีความแบบจริงจัง ฝ่ายชายคือ Ben Bass หมอศัลย์นิวโร ส่วนฝ่ายหญิงคือ Alex Martin ช่างภาพ ที่กำลังจะเดินทางไปแต่งงาน และทั้งสองคนต้องผจญทุกข์ร่วมกันบนภูเขาอันหนาวเหน็บเนื่องจากเครื่องบินที่พวกเขาเช่าเหมาลำเกิดตก และทั้งสองก็ค่อยๆ สร้างสัมพันธ์บนยอดเขาแห่งนั้น
หนังได้นักแสดงมากฝืมืออย่าง Idris Elba มาแสดงคู่กับ Kate Winslet มารับบทเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก แต่ตัวหนังไม่ได้มีกระแสตอบรับที่ดีมากนัก และแผนการนำหนังมาฉายในไทยก็เลยเงียบหายไปโดยปริยาย ไม่แน่ใจว่าประเด็นหลักที่ทำให้ไม่มีคนกล้านำหนังมาฉายบนโรงเพราะคู่พระ-นางดูไม่มีเคมีต่อกัน หรือบางทีอาจจะเป็นผลพวงจากความสัมพันธ์ของคู่รักต่างเชื้อชาตินั้นเป็นภาพแปลกตาเกินไป หนังเรื่องนี้จึงถูกวางจำหน่ายแต่แบบแผ่นไม่ได้ขึ้นฉายบนจอเงินแต่อย่างใด
Madame Bovary
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : มาดามโบวารี – Gustave Flaubert
วรรณกรรมคลาสสิกจากฝรั่งเศส แต่งโดย Gustave Flaubert เนื้อหาถือว่าทันสมัยเกินยุคด้วยการเล่าเรื่องของ Emma Bovary หญิงสาวผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตสมรมจนพยายามเพิ่มเติมสีสันให้ชีวิตของเธอด้วยการขยับขยายไปยังเมืองใหญ่ ด้วยความที่เธอเป็นคนนิยม ‘ความโรแมนติก’ หลงใหลในวรรณกรรมกับดนตรี จึงพยายามดำเนินชีวิตเพื่อสร้างชีวิตรักที่หรูหราเหมือนในนิยายที่เธอเคยอ่าน แต่โลกในนิยายเรื่องนี้ก็เหมือนกับความจริงที่เรื่องราวไม่หยุดอยู่ที่ความฝันแต่มีความจริงที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อไปจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมโดยปริยาย
นิยายถูกวิพากษ์มานับตั้งแต่สมัยที่ออกตีพิมพ์ใหม่ๆ และหลายๆ ท่านที่ศึกษาวรรณกรรมนานาชาติก็น่าจะได้เรียนเรื่องนี้มาบ้าง และการดัดแปลงเป็นสื่ออื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกนัก ไม่ว่าจะเป็นหนังในปี 1932 และปี 1949 หรือเป็นซีรีส์ออกฉายในปี 1964, 1975 และ 2000 กระนั้นที่จะพูดถึงคือภาพยนตร์รอบหลังสุดที่ออกฉายในปี 2014 ซึ่งมี Mia Wasikowska รับบท Madame Bovary ที่ฉายอยู่ในไม่กี่ประเทศ อาจจะเพราะหนังต้องรวบเรื่องราวหลายสิบปี จึงอาจจะทำให้เนื้อหาถูกขมวดปมเกินไป หรืออาจจะเพราะเทรนด์หนังย้อนยุคไม่ได้รับความนิยมนัก เช่นเดียวกับ Tulip Fever หรือ ‘ดอกชู้รัก‘ ที่เข้าฉายเมื่อปีก่อน
บางทีอาจจะต้องรอให้ทีมทำซีรีส์สไตล์ Game of Thrones กล้าหยิบเอาวรรณกรรมคลาสสิกที่เล่าเรื่องราวหลายชั่วอายุคนมาสร้างอีกทีหนึ่งละมั้ง เราถึงจะได้เห็นเรื่องนี้เข้ามาฉายในไทยให้สมศักดิ์ศรีกับวรรณกรรมต้นฉบับอีกทีหนึ่ง
John Dies at the End
ชื่อหนังสือฉบับแปลไทย : นายจอห์นตายตอนจบ – David Wong
หนังสือที่ชื่อเรื่องเกรียนเหมือนจะตั้งใจสปอยล์ตอนจบกันโต้งๆ เนื้อเรื่องก็โคตรเกรียนเพราะเล่าเรื่องของ John กับ David ที่ได้ ‘ซีอิ๊ว’ สารลึกลับมาฉีดเข้าตัวจนกลายเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีพลังพิเศษ สามารถเดินทางข้ามมิติและต่อสู้กับเหล่าปิศาจจากนรกได้ ความเกรียนเกินเยียวยานี่แหละมั้งที่ทำให้ถูกคนจับเอาไปสร้างเป็นหนังสเกลเล็กที่ได้ดาราเบอร์ใหญ่แบบ Paul Giamatti มารับบทเด่น แต่ด้วยความเพี้ยนสุดโต่งทำให้หนังฉายในกลุ่มไม่ใหญ่มากในอเมริกาเมื่อปี 2012 และแทบจะโบกมือลาไปเลยสำหรับตลาดต่างชาติ ถึงอย่างนั้นก็มีโอกาสฉายผ่านบริการรับชมออนไลน์บ้าง (และไม่แน่ใจนักว่ามีช่องไหนเอามาฉายบ้างไหม)
และก็เพิ่งเห็นจากทางสำนักพิมพ์ที่จัดทำนิยายเรื่องนี้ในฉบับภาษาไทยว่า เดิมทีแล้วเรื่องนี้ถูกเขียนบทเว็บไซต์ Cracked.com และได้กลายเป็นหนังฮาๆ เงิบๆ โหดๆ ขำๆ และเชิญชวนว่าถ้าชอบอะไรแนว โหดเลือดสาด แต่เกรียนและตลกใช่ย่อย ก็ให้ไปอ่านนิยายเรื่องนี้
อ้อ ถึงชื่อเรื่องจะชวนให้คิดว่าเป็นนิยายจบในเล่มเดียว แต่จริงๆ มีตอนต่อด้วย เกรียนสุดขีดจริงๆ นะเนี่ย